ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai


ความหมายของหลักธรรมในปฏิจจสมุปบาท

1.อวิชชา

            อวิชชาคือความไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาวะเป็นจริงตามสภาวะธรรมของทุกข์และการดับทุกข์  ความไม่รู้นี้ครอบคลุมถึง "ไม่รู้เท่าทันหรือสติ และการไม่นำไปปฏิบัติด้วย" ด้วย  หรือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดและไม่ปฏิบัติในอริยสัจ4 และปฏิจจสมุปบาท หรือ อวิชชาทั้ง8 ตามความเป็นจริง สรรพสัตว์ทั้งหลายกำเนิดเกิดขึ้นมาพร้อมด้วยอวิชชา(ความไม่รู้,รวมทั้งไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง)โดยธรรมชาติอันมีพร้อมกับการเกิด  จึงย่อมต้องดำเนินและเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทล้วนสิ้น   เพราะวิชชาเป็นสิ่งที่ต้องสังขาร(ต้องปรุงขึ้น)ทำให้เกิดขึ้น  ต้องสั่งสม   ต้องทำให้เจริญยิ่งๆขึ้น   มิใช่เกิดขึ้นมาได้เอง   จึงเป็นการสังขารสั่งสมทั้งทางด้านปัญญา ศีล สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จนเกิดสัมมาญาณ  จึงจะเกิดสัมมาวิมุตติขึ้นได้ 
            อวิชชา อันคือ ไม่มีความรู้ ความไม่เข้าใจ และไม่รู้เท่าทันในเหตุปัจจัยอันเป็นสภาวธรรมของทุกข์ และการดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ตามความเป็นจริง  อันคือความไม่รู้  ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอด ไม่รู้เท่าทันในการดับทุกข์ เพราะอวิชชา 8 อันมีดังนี้
            1.ไม่รู้จักทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ดับสนิทอันหมายถึง อุปาทานทุกข์ อันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลน หรือก็คือ อุปาทานขันธ์ทั้ง5 อันเกิดแต่เหตุปัจจัยที่อาศัยกันและกันจึงยังให้เกิดขึ้นได้    จึงทําให้การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเป็นจริง  เช่น พยายามในสิ่งที่ยึดแต่เข้าใจผิดๆ อันทําให้ไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่น เข้าใจผิดว่าทำบุญทำกุศลหรือปฏิบัติธรรมแล้วจักไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีโรค ไม่มีภัยใดๆ มีแต่โชค ลาภ วาสนา มีเทวดา บุญกุศลคอยคํ้าจุนเกื้อหนุน,   แต่ตามความเป็นจริงแล้วกลับเป็น เหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่เพราะเป็นสภาวะธรรม  แต่ไม่มีผู้รับ ผลทุกข์นั้น  หรือที่เรียกว่าสภาพ "เหนือกรรม" จึงจักเป็นการเข้าใจที่ถูกต้องดีงาม
            หรือความไม่เข้าใจว่าทุกข์นั้น   มีทั้งที่เป็นทุกข์ธรรมชาติที่เป็นสภาวะธรรม จึงมีความเที่ยงเป็นธรรมดา ดังเช่น  ความเกิด  ความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  การพลัดพรากจาดสิ่งอันเป็นที่รัก  การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก  การปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น  เหล่านี้เป็นทุกข์  รวมทั้งเวทนาต่างๆ ยังคงต้องเกิดมีเป็นเช่นนั้นเองเป็นธรรมดา จึงไม่สามารถดับให้สูญไปได้  แต่กลับไปพยายามปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ธรรมชาติเหล่านั้น จึงย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ,   ตามความเป็นจริงและถูกต้องนั้น ต้องปฏิบัติอย่างไร อย่าให้ทุกข์เหล่านั้นแปรปรวนไปเป็นอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน  ได้แก่การมีสติระลึกรู้เท่าทันอย่างต่อเนื่อง  และยังต้องมีปัญญาเข้าใจในสิ่งต่างๆเหล่านั้นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงในธรรมนั้นๆ
           ทุกข์ธรรมชาติเหล่านั้นอันรวมทั้งทุกขเวทนาทั้งหลายนั้นก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่งจริงๆเช่นกัน   เพียงแต่ว่าธรรมชาติเดิมแท้ของทุกข์ธรรมชาตินั้นไม่มีความเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายด้วยไฟของกิเลสตัณหาอุปาทาน  เมื่อเกิดขึ้น  ตั้งอยู่อย่างจางคลายไป  และเนื่องจากขาดเหตุปัจจัยให้เกิดสืบเนื่องต่อไปอีก จึงดับไปในขณะจิตหนึ่ง   แต่ที่ปุถุชนมีความรู้สึกเป็นทุกข์กันอยู่นี้ อันแท้จริงแล้วล้วนเป็นอุปาทานทุกข์ทั้งสิ้น  แต่เพราะอวิชชาจึงไม่รู้ว่าเป็นอุปาทานทุกข์  กลับไปคิดว่าเป็นทุกข์ธรรมชาติเสียอีก (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
            2.ไม่รู้จักสมุทัย ว่าเหตุให้เกิดทุกข์มาจาก ตัณหา3, หรือในแนวทางปฏิจจสมุปบาท คือ อาสวะกิเลส  ไม่เห็นเป็นไปอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอด  กลับไปคิดนึกค้นหาเหตุปัจจัยอื่นๆว่าเป็นเหตุ เช่น พยายามดับรูป ดับนาม ดับเวทนา กันไปต่างๆนาๆเพราะคิดว่าเป็นเหตุ,   หรือโทษกรรมเก่าในชาติก่อน(กรรมวิบาก)อันแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆไม่ได้แล้ว อันไม่มีคุณประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น อันรังแต่ก่อให้เกิดอุปาทานขันธ์5 อันเป็นอุปาทานทุกข์ (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
            3.ไม่รู้จักนิโรธ เป็นเช่นใด ไม่เคยสัมผัสสภาวะว่างจากกิเลสตัณหาอันยังให้ใม่เกิดอุปาทานทุกข์,  หรือเข้าใจผิดคิดว่าผลอันเกิดแต่สมาธิหรือฌานเป็นสภาวะนิโรธ,  ไม่ทราบว่าดับทุกข์ได้แล้ว จักเป็นสุข(ในธรรม)เยี่ยงใด?  คุ้มค่าให้ปฏิบัติไหม?   มีจริงหรือเปล่า?   ทําให้มีความสงสัยอยู่ลึกๆแบบแอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิตตลอดมา  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
            4.ไม่รู้จักมรรค ควรปฏิบัติอย่างไร?, ศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ,  ปฏิบัติไม่ถูก, ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน?,  ทําตัวไหนก่อน? (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา จึงยังให้เกิด ศีล - สัมมาสติ - สัมมาสมาธิ อย่างถูกต้องดีงาม)
            5.ความไม่รู้อดีต คือ การไม่รู้ระลึกชาติหรือภพที่เคยเกิดเคยเป็นในปัจจุบันชาติ หรือก็คือการย้อนระลึกขันธ์5ที่เคยเกิดเคยเป็น กล่าวคือไม่รู้ไม่เข้าใจขันธ์5ที่เคยเกิดๆดับๆ อันก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์นั้นมีเหตุปัจจัยจากอะไร?  เพื่อเป็นเครื่องเตือน เครื่องรู้ เครื่องระลึก อันก่อให้เกิดปัญญา อันยังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)
            6.ความไม่รู้อนาคต คือ การไม่รู้อนาคต คือไม่รู้ไม่เข้าใจในการอุบัติ(เกิด) การจุติ(ดับ) ของขันธ์ทั้ง5ว่าล้วนเป็นไปตามกรรมคือตามการกระทําที่มีเจตนาทั้งสิ้น   หรืออนาคตนั้นก็จักเป็นไปตามเหตุปัจจัยอันคือกรรมการกระทํานั่นเอง   และความทุกข์ในภายหน้าก็ล้วนเกิดดับอันเกิดแต่กรรมการกระทํา อันจักยังให้เกิดอุปาทานขันธ์5เช่นเดิมหรือเกิดความทุกข์ขึ้นเฉกเช่นเดียวกับอดีตเพราะความไม่รู้จึงมิได้แก้ไข  กล่าวคือการรู้อนาคตเพราะการเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง คือเมื่อเหตุเป็นเช่นนี้  ผลเยี่ยงนี้จึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  อันเกิดขึ้นจากความเข้าใจในสภาวะธรรมอย่างแจ่มแจ้ง  
            7.ความไม่รู้ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต  
            8.ความไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่ทราบ,ไม่รู้ธรรมชาติของทุกข์ คือ ไม่รู้กระบวนธรรมการเกิดขึ้น และการดับไปแห่งทุกข์ คือ ไม่รู้ในธรรมข้อที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกัน อาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้ตามหลักอิทัปปัจจยตา  เมื่อกําจัดเหตุปัจจัยบางประการเสียได้ ย่อมทําให้ธรรมนั้นไม่ครบองค์หรือขาดสมดุลย์ที่จะประชุมปรุงแต่งกันขึ้นมาได้   อุปาทานทุกข์หรือธรรมนั้นๆก็ย่อมไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้  
         อวิชชาเกิดจากปัจจัยอันมีอาสวะกิเลสที่เกิดจากความทุกข์และสุขทั้งหลายที่ทิ้งผลร้ายหรือแผลเป็นเอาไว้ อันทําให้จิตขุ่นมัวและเศร้าหมอง เป็นตัวกระตุ้น เร่งเร้า กล่าวคือเป็นเหตุเป็นปัจจัยร่วมกันกับอวิชชา คือเมื่อไม่รู้ในความเป็นจริง กล่าวคือจึงไปยึดอาสวะกิเลสนั้นว่าเป็นเราของเราอยู่ลึกๆในจิต จึงไปขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือเต้นไปตามอาสวะกิเลสนั้นๆ

 

2.สังขาร
         สังขาร หมายถึง สิ่งปรุงแต่ง,   สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น,  หมายถึง  สิ่งที่เกิดแต่เหตุมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นมา กล่าวคือ ธรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้น จากเหตุต่างๆหรือสิ่งต่างๆมาเป็นปัจจัยแก่กันและกันหรือปรุงแต่งกัน   จึงยังผลให้เกิดสังขารขึ้น  ดังนั้นจึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรมอย่างครบถ้วน   ดังนั้นจึงมีความหมายที่กว้างขวางครอบคลุมแทบล้วนทุกสรรพสิ่ง   อันยกเว้นแต่อสังขตธรรมเท่านั้น ดังเช่น นิพพาน และสภาวธรรมทั้งหลาย
         ฝ่ายรูปธรรมนั้น  จึงหมายถึงสิ่งที่สัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยอายตนะทั้ง 5 อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย  จึงหมายถึงสิ่งที่เป็นวัตถุธาตุทั้งหลายทั้งปวง  ต่างก็ล้วนเป็นสังขารเกิดจาการปรุงแต่งทั้งสิ้น  ตั้งแต่สิ่งที่ใหญ่โตเช่นจักรวาล ครอบคลุมลงไปถึงแม้แต่สิ่งที่เล็กละเอียดเช่นอะตอม ฯลฯ.  ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องพระไตรลักษณ์
         ฝ่ายนามธรรมนั้น  หมายถึงสิ่งที่สัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยใจ  ไม่มีตัวตนแก่นแกนแท้จริง  เป็นการสัมผัสรู้ได้ด้วยจิตหรือใจนั่นเอง  เช่น ขันธ์5  ความคิด  จิต  สมาธิ  ฌาน  องค์ฌานต่างๆ ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น  ดังที่ได้กล่าวไว้บ่อยๆครั้งแล้วในเรื่องอื่นๆ
         ดังนั้นบางครั้งจึงเกิดการสับสนขึ้น  เนื่องจากความหมายที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางแทบทุกสรรพสิ่งนี่เอง   ดังนั้นจึงจำแนกให้เห็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาธรรม
          1. สังขาร ในความหมาย พระไตรลักษณ์  อันหมายถึง  สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย ทั้งรูปธรรม นามธรรม ได้แก่ขันธ์ 5  และ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันพึงยกเว้นแต่อสังขตธรรม(ธรรมหรือสภาวะธรรม อันมิได้เกิดแต่เหตุปัจจัย)เท่านั้น   จึงครอบคลุมความหมายของสังขารทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้น จึงรวมทั้งสังขารในข้อ2และข้อ3ด้วย
         2. สังขาร ในขันธ์5  หรือ สังขารขันธ์  อันเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของขันธ์ทั้ง4 คือ รูป(กาย) เวทนา สัญญา วิญญาณ  จึงเกิดสังขารขันธ์การกระทำชนิดต่างๆขึ้น  โดยอาศัยเจตนาเป็นปัจจัย หรือทางพุทธศาสน์เรียกว่าสัญเจตนา กล่าวคือ มีเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำต่างๆ  อันมี 3
                   1. กายสังขาร    สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา
                   2. วจีสังขาร   สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา
                   3. จิตตสังขาร   จิตสังขาร หรือ มโนสังขาร  สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา
         3. สังขาร อันเป็นองค์ธรรมหนึ่งในวงจรปฏิจจสมุปบาท  อันเป็นสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งเช่นเดียวกัน แต่มีความหมายเฉพาะหรือเน้นลงไปว่า  การกระทำหรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นชนิดที่ทำให้เกิดความทุกข์ อันเกิดขึ้นจากการสั่งสม หมายถึง สิ่งที่ได้เคยประพฤติ ปฏิบัติ อบรมมาแต่อดีตตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบันหรือนานจนไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้นอันเนื่องมาจากการสั่งสมของอาสวะกิเลสที่ทำให้จิตขุ่นมัวจะด้วยสุขหรือทุกข์ก็แล้วแต่ อันเนื่องมาจากอดีตนั่นเอง และร่วมด้วยกับอวิชชาความไม่รู้ จึงทำให้ไม่เห็นและไม่ปฏิบัติไปตามความเป็นจริง จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันจึงเกิดองค์ธรรมสังขารอันก่อทุกข์ในวงจรปฏิจจสมุปบาทขึ้น    ดังนั้นองค์ธรรมสังขารในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง สังขารอันเกิดจากการสั่งสมมาแต่อดีตอันล้วนแฝงด้วยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ที่ก่อให้เป็นความทุกข์นั่นเอง    สังขารเหล่านี้ล้วนเนื่องกับอดีตอันคือเนื่องมาจากอาสวะกิเลสนั่นเอง  ดังเช่น ความคิด คิดนึกปรุงแต่ง การกระทำต่างๆ  จิตหดหู่  จิตฟุ้งซ่าน  จิตโมหะ  โทสะ  โลภะ  ที่ผุดขึ้นด้วยอาการธรรมชาติต่างๆของชีวิต หรือถูกกระตุ้นเร่งเร้าจากการกระทบผัสสะ   แล้วย่อมดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทตามวิสัยปุถุชน จนยังให้เกิดเวทนา  ถ้าเป็นสุขเวทนาก็ติดใจอยากหรือหมกใจต่อเวทนาความรู้สึกนั้นๆอันคือตัณหา    ถ้าสังขารนั้นยังให้เกิดทุกขเวทนาก็หมกมุ่นหรือหมกใจไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้เป็น ไม่อยากรับรู้  อันล้วนเป็นวิภวตัณหา   จึงดำเนินไปตามวงจรของทุกข์ปฏิจจสมุปบาทต่อไป    
          องค์ธรรมสังขารในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายรวมทั้งการกระทำทางจิต ทางกาย และทางวาจา  แต่ที่กล่าวโดยทั่วๆไปมักแสดงถึงสังขารอันเกิดแต่จิตเป็นส่วนใหญ่   
          เมื่อสังขารที่สั่งสมไว้อันเนื่องจากอาสวะกิเลสและอวิชชาเป็นเหตุปัจัจยแก่กันและกันเกิดขึ้นมาแล้ว โดยอาการผุดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ หรือโดยเจตนาก็ตามที  อันเป็นสภาวะธรรมของผู้มีชีวิต ที่ย่อมต้องเกิดวิญญาณหรือระบบประสาทรับรู้ในสังขารที่เกิดขึ้นมานั้น   วิญญาณนี้เป็นวิญญาณที่เกิดขึ้นเฉพาะกิจหรือเฉพาะสังขารนั้นๆ  มิได้หมายถึงวิญญาณธาตุหรือวิญญาณของชีวิตหรือปฏิสนธิวิญญาณที่เป็นมวลรวม   ดังนั้นเมื่อมีสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นตามที่สั่งสมอบรมไว้ ที่หมายถึง การกระทำต่างๆไม่ว่าจะทางใจคิด หรือทางกาย หรือทางวาจาก็ตามที  วิญญาณนั้นๆหรือระบบประสาทรับรู้นั้นๆย่อมเกิดขึ้นโดยสภาวะธรรมของชีวิต

3. วิญญาณ

         เมื่อสังขารที่สั่งสมไว้อันเนื่องจากอาสวะกิเลสและอวิชชาเป็นเหตุปัจัจยแก่กันและกันเกิดขึ้นมาแล้ว โดยอาการผุดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ หรือโดยเจตนาก็ตามที  อันเป็นสภาวะธรรมของผู้มีชีวิต ที่ย่อมต้องเกิดวิญญาณหรือระบบประสาทรับรู้ในสังขารที่เกิดขึ้นมานั้น   วิญญาณนี้เป็นวิญญาณที่เกิดขึ้นเฉพาะกิจหรือเฉพาะสังขารนั้นๆ  มิได้หมายถึงวิญญาณธาตุหรือวิญญาณของชีวิตหรือปฏิสนธิวิญญาณที่เป็นมวลรวม   ดังนั้นเมื่อมีสังขารสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นตามที่สั่งสมอบรมไว้ ที่หมายถึง การกระทำต่างๆไม่ว่าจะทางใจคิด หรือทางกาย หรือทางวาจาก็ตามที  วิญญาณนั้นๆหรือระบบประสาทรับรู้นั้นๆย่อมเกิดขึ้นโดยสภาวะธรรมของชีวิต
         คิด หรือ โทสะ  ที่เกิดแต่อาสวะกิเลสและอวิชชา > วิญญาณจึงเกิดขึ้น
         คิด หรือ โทสะ  ที่เกิดแต่อาสวะกิเลสและอวิชชาที่จะกระทำทางกาย  > วิญญาณจึงเกิดขึ้น
         คิด หรือ โทสะ  ที่เกิดแต่อาสวะกิเลสและอวิชชาที่จะกระทำทางวาจา > วิญญาณจึงเกิดขึ้น



4.นามรูป
          เมื่อวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้นาม-รูป หรือองค์ประกอบของชีวิตที่เน้นหมายถึงการทำงานขององค์แห่งชีวิต  ที่แม้มีวิญญาณของชีวิตหรือปฏิสนธิวิญญาณอยู่แล้วก็จริงอยู่  แต่เป็นไปอย่างนอนเนื่อง กล่าวคือ ยังไม่ได้ทำงานอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน  เพียงคงสภาพของความมีชีวิตอยู่   ยังไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะกิจใดๆ  เมื่อวิญญาณของสังขารนั้นๆเกิดขึ้น  นาม-รูปจึงตื่นตัวทำหน้าที่ของชีวิตในกิจนั้นๆอย่างบริบูรณ์

5.สฬายตนะ
          เมื่อนามรูปตื่นตัว จึงเป็นเหตุปัจจัยให้สฬายตนะทำงาน  อันหมายถึง อายตนะภายใน ที่ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  อันเป็นองค์ประกอบของชีวิตหรือนาม-รูปหรือกายอยู่แล้วโดยธรรมชาติ   ย่อมต้องตื่นตัวตามนาม-รูปอันเป็นองค์รวม   โดยเฉพาะสฬายตนะส่วนใจที่รับผิดชอบต่อสังขารนั้นๆ ก็ย่อมทำงานตามหน้าที่ตนอย่างสมบูรณ์  อายตนะส่วนอื่นๆก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ของตนด้วยเช่นกันในการรับการกระทบสัมผัสในสิ่งอื่นๆที่ย่อมยังคงต้องเกิดขึ้นร่วมด้วยเป็นธรรมดาตามธรรมชาติของชีวิตในการรับรู้ในอายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ  ยังคงทำหน้าที่ร่วมไปด้วย

6.ผัสสะ
          สฬายตนะเมื่อเข้าทำหน้าที่แห่งตนแล้ว  ย่อมเกิดครบองค์ของการกระทบสัมผัสที่จะทำให้กระบวนธรรมของชีวิตดำเนินต่อไป คือ  สังขารนั้น + วิญญาณ + ใจ  กล่าวคือ เกิดการผัสสะ  ครบองค์ที่จะดำเนินไปตามกระบวนธรรมของชีวิต  กล่าวคือ เกิดเวทนา ความรู้สึกรับรู้พร้อมความจำเข้าใจในสิ่งนั้นขึ้น

7.เวทนา  
         เวทนา หมายถึง การเสวยอารมณ์   เสวยที่แปลว่าลิ้มรสหรือรับรู้รส  จึงหมายความว่าลิ้มรสหรือรับรู้รสของอารมณ์,   อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยวในขณะนั้นๆหรือจิตกำหนดอยู่ในสิ่งนั้นๆ   ดังนั้น
         เวทนา จึงหมายถึง ความรู้สึกรับรู้ในสิ่งที่มาผัสสะ(กระทบสัมผัส) พร้อมความจำได้และเข้าใจ(สัญญา)ในสิ่งนั้นๆ
         เวทนาในปฏิจจสมุปบาทนั้น  ตามความเป็นจริงแล้วล้วนเป็นเวทนามีอามิส   หมายถึง เวทนาที่มีกิเลสแอบแฝงอยู่ด้วย  เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะล้วนเนื่องมาจากอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตอันเป็นสัญญาจำได้อย่างหนึ่งนั่นเองเป็นเหตุปัจจัย
         เวทนาในปฏิจจสมุปบาทเป็นสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงมากเป็นที่สุด เพราะมีความสำคัญยิ่งในการเข้าใจธรรมหรือสภาวธรรมต่างๆให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม สมดั่งพระพุทธประสงค์  ดังเช่น เห็นธรรมหรือสภาวธรรมว่าเที่ยง ไม่แปรปรวน เป็นเช่นนั้นเอง   อันเนื่องจากไปเห็นสภาวธรรมของเวทนาว่ามันเที่ยง เป็นธรรมชาติ กล่าวคือ เห็นธรรมชาติของผู้มีชีวิตที่มีการผัสสะแล้วย่อมเกิดเวทนาขึ้นเป็นธรรมดา  เป็นกระบวนของธรรมชาติแห่งชีวิตโดยแท้ๆในการดำรงชีวิต  จึงเกิดขึ้นกับทุกผู้คนแม้ในพระอริยเจ้า

8.อุปาทาน 
         อุปาทาน  ความยึดมั่น,  ความถือมั่นยึดมั่นด้วยอำนาจของกิเลส   มี 4 ประการ คือ
                 1. กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือ ยึดมั่นใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในสิ่งต่างๆเหล่านั้นด้วยอำนาจของกิเลส  ลืมไปว่าสังขารเหล่านั้นทั้งหลายทั้งปวงล้วนอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา เป็นธรรมดา
                 2. ทิฏฐุปาทาน  ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ คือในความเห็น ความเชื่อ ความคิดของตน  จึงไม่เชื่อหรือต่อต้านในสิ่งต่างๆที่ขัดแย้งหรือไม่ลงรอยไปกับความคิด ความเห็น ความเชื่อของตัวของตนเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว  ดังนั้นจึงไม่ยอมศึกษาหรือพิจารณาอย่างจริงจังในความคิดความเห็นอื่นๆที่ถูกต้องและดีงามแต่ขัดแย้งกับความเชื่อความเห็นเดิมๆของตน   เกิดความรู้สึกต่อต้านขัดแย้งไม่พอใจในสิ่งต่างๆที่ไม่ตรงความเชื่อความเข้าใจของตัวของตนโดยไม่รู้ตัว   จึงทำให้ไม่สามารถเห็นหรือเข้าใจในสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงของธรรมหรือสิ่งนั้นๆได้อย่างถูกต้องดีงาม
                 3. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีล(ข้อสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด) และพรต(ข้อที่พึงถือปฏิบัติ)  แต่เป็นการยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลส ดังเช่น ตามความเชื่อหรือตามการปฏิบัติที่ทำตามๆกันต่อมาแต่ไม่ถูกต้องโดยงมงาย  เช่น พ้นทุกข์ได้โดยถือศีลแต่ฝ่ายเดียวไม่ต้องปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญา,  ปฏิบัติแต่สมาธิแล้วจะบรรลุมรรคผลต่างๆจากสมาธิโดยตรงจึงขาดการวิปัสสนา,  อ้อนวอนบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนาๆ,  ทรมานตนเพื่อบรรลุธรรม,  คล้องพระเพื่อคงกระพัน
                 4. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในคำพูด(วาทะ)ที่ใช้แสดงความเป็นของตัวเป็นของตน  จึงเกิดการไปหลงคิดหลงยึดเอาอย่างเป็นจริงเป็นจังว่าเป็นของตัวของตนอย่างแท้จริงโดยไม่รู้ตัว  กล่าวคือ เกิดความหลงยึดเนื่องจากวาทะการพูดจาเพื่อใช้สื่อสารกันให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันในสิ่งต่างๆในทางโลกโดยไม่รู้ตัวและเป็นไปอย่างประจำสมํ่าเสมอ จึงเกิดการไปยึดไปหลงในคำพูดต่างๆเหล่านั้นว่าเป็นจริงเป็นจังอย่างจริงแท้แน่นอน เช่น คำพูดในการแสดงความเป็นเจ้าของ  เช่น บ้านฉัน  รถฉัน  แฟนฉัน  สมบัติฉัน  นี่ของฉัน  จิตจึงไปหลงยึดในคำพูดที่แสดงความเป็นตัวของตนเหล่านั้นที่ใช้สื่อสารแสดงความเป็นเจ้าของทางโลกๆเข้าโดยไม่รู้ตัว
         สิ่งต่างๆทั้ง4 เหล่านี้  ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว  เริ่มเป็นไปตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน หรือเป็นไปดังนี้เสียนานจนไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น  โดยไม่เคยคิดที่จะหยุดยั้งกระบวนการจิตเหล่านี้เลย เนื่องเพราะความไม่รู้(อวิชชา)นั่นเอง จึงปล่อยให้เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติของปุถุชนหรือสรรพสัตว์ทั่วไป
         อุปาทานนี้จึงมีอยู่แล้วตามที่ได้สั่งสมมาแต่ช้านานดังข้างต้น  แต่ในสภาพที่นอนเนื่องอยู่ ยังไม่ได้ถูกกระตุ้นเร่งเร้าด้วยเหตุปัจจัยใดๆ จึงอยู่ในสภาพที่เรียกว่าดับอยู่
         เมื่ออุปาทานเกิดถูกกระตุ้นเร่งเร้า อันเป็นผลที่เกิดมาแต่เหตุปัจจัยโดยตรงคือตัณหา  กล่าวคือ  เมื่อเกิดตัณหาความอยากหรือไม่อยากในสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นในจิตแล้ว  สิ่งเหล่านั้นยังเป็นเพียงแค่ความปรารถนาอันเกิดมาแต่เวทนา แต่ยังไม่เกิดขึ้นหรือเป็นเพียงนามธรรมอยู่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล   โดยธรรมชาติของจิต จึงต้องเกิดปฏิกริยาต่อตัณหาเหล่านั้นตามอุปาทานที่สั่งสมไว้ดังข้างต้น โดยการตั้งเป้าหมายหรือการที่ต้องยึดมั่นเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายหรือสัมฤทธิ์ผลให้เป็นไปตามตัณหาความปรารถนาของตัวของตนนั้นๆที่เกิดขึ้น  เพื่อให้ตัวตนของตนได้รับความพึงพอใจจากการได้รับการตอบสนองอันเป็นไปตามตัณหาความอยากนั่นเอง   อันเป็นพื้นฐานโดยธรรมชาติในการดำรงคงชีวิตอย่างหนึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย    และในทางธรรมะก็จัดว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมชาติของฝ่ายที่ก่อทุกข์ขึ้นของสรรพสัตว์โดยถ้วนหน้าด้วยเช่นกัน

9.ภพ
         ภพ  แปลว่าโลกอันเป็นที่อยู่ของสัตว์,  ภาวะชีวิตของสัตว์   ภพ ในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง ภาวะของชีวิตหรือภาวะของจิตที่อยู่ภายใต้การครอบงำของอุปาทาน ณ.ช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ กล่าวคือ  เมื่อกระบวนจิตดำเนินไปตามวงจรการเกิดขึ้นแห่งทุกข์หรือปฏิจจสมุปบาทจนถึง อุปาทาน แล้ว  คือเกิดความยึดมั่นถือมั่นที่จะให้เป็นไปหรือเกิดขึ้นตามความพึงพอใจของตัวของตนแล้ว  จึงเกิดภพของจิตขึ้นนั่นเอง  กล่าวคือ จิตตกลงใจในภาวะชีวิตของตนในเรื่องนั้นๆที่จะให้ดำเนินและเป็นไป  แต่ล้วนอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยอำนาจของอุปาทาน อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นนั่นเองภพแบ่งออกเป็น3ประการคือ        
         1.กามภพ สภาวะหรือบทบาทต่างๆในแบบทางโลกๆทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษย์พึงมี อันเนื่องมาจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์  อันล้วนก่อให้เกิดปฏิฆะ-ความขุ่นเคือง ขัดข้อง, ราคะ-ความรัก ความใคร่, โลภ, โมหะ-ความหลง,ความไม่เข้าใจ,ความไม่เห็นตามความเป็นจริง, โทสะ-ความโกรธ ความขุ่นเคือง ฯลฯ. ดังเช่น ภพของความเป็นพ่อเป็นแม่,   ภพของความเป็นลูก,  ภพความเป็นเจ้าของ,  ภพของความเป็นเจ้านาย, ภพของความเป็นลูกน้อง ฯลฯ. หรือแบ่งออกตามความความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่น ภพของความโลภ(ราคะ),  ภพของความขุ่นเคือง(ปฏิฆะ),  ภพของความหลง(โมหะ), ภพของความโกรธ(โทสะ).....เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภพย่อยของกามภพทั้งสิ้น ฯลฯ.   ดังนั้นเมื่อเกิดภพที่ใด ย่อมเกิดทุกข์ที่นั่นในที่สุด
         2.รูปภพ สภาวะหรือสถานะที่ยังยึดติดยึดถือในรูปอันวิจิตรสวยงามหรือต้องใจ คือ ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันวิจิตร, และรูปฌานหรือสมาธิ อันมักเกิดจากตัณหาที่แอบซ่อนนอนเนื่องโดยไม่รู้ตัวอันคือการติดเพลิน(นันทิ)อันคือตัณหานั่นเอง เป็นข้อสังเกตุสําหรับนักปฏิบัติที่ยึดติดเน้นแต่การปฏิบัติในรูปแบบสมถะสมาธิหรือฌานอันเป็นสุข โดยไม่ดำเนินในวิปัสสนาอย่างถูกต้อง
         3.อรูปภพ สภาวะหรือสถานะในอรูปอันวิจิตรอันสัมผัสได้ด้วยใจ เช่นใน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, และอรูปฌานอันมักเกิดแต่ตัณหาที่แอบซ่อนนอนเนื่องโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับรูปภพ  
         ภพ ที่อยู่ของสัตว์หรือของจิต จึงเป็นดั่งเช่นโลกภพเช่นกัน  อันเมื่อได้ถือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกภพแล้ว ถือว่าเป็นภพใหญ่เป็นแก่นเป็นแกนของความเป็นมนุษย์   และยังมีภพย่อยๆเกิดแฝงอยู่เนื่องสัมพันธ์กันอีกด้วย ดังเช่น เกิดมาในภพย่อยลงไป คือ ภพคนไทย  อันหมายถึง  ชีวิตหรือจิตเมื่อเป็นไปตามกรรมเกิดเป็นมนุษย์ ก็จักมีการกระทำพื้นฐาน ตลอดจนความต้องการเช่นมนุษย์โลกทั้งหลาย   และมีแรงบีบเค้นให้เป็นไปดังเช่นภพย่อยที่ตนได้อาศัยเกิด อาศัยอยู่  ดังนั้นจึงเป็นไปตามกำลังอิทธิพลของภพและภพย่อย ดังเช่น ประเทศที่อาศัยอยู่ด้วยอย่างควบคู่กัน   ดังนั้นการกระทำ การประพฤติปฏิบัติใดๆล้วนมีอิทธิพลและแนวโน้มเอียงหรือบีบเค้นให้เป็นไปตามภพมนุษย์นั้นๆที่ได้เกิดมาและยังต้องเป็นไปตามภพย่อย  เช่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ การแต่งกาย การทานอาหาร ความเชื่อ ความยึด ตามที่ยึดถือปฏิบัติกันในภพย่อยๆหรือในสังคมนั้นๆด้วย  ดังนั้นการกระทำใดของผู้อาศัยในภพนั้นๆจึงโน้มเอียงไปตามที่อยู่ที่อาศัยคือภพนั้นๆด้วยเช่นกัน แต่ก็ล้วนแฝงความเป็นภพมนุษย์ อันเป็นภพใหญ่อยู่เต็มปรี่ เช่น เดิน2ขา มีตัณหา มีความต้องการพื้นฐานเฉกเช่นมนุษย์ทั้งปวง




10.ชาติ
          ชาติ แปลว่า การเกิด  ดังเช่น การเกิดเป็นตัวตนจากท้องแม่ที่มีพ่อเป็นเหตุปัจจัยร่วม,  การเกิดของสิ่งต่างๆ
          ชาติ  ในวงจรปฏิจจสมุปบาทก็แปลว่าการเกิดเหมือนกัน  แต่มีความหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไปว่า หมายถึง การเกิดขึ้นของกองทุกข์หรือความทุกข์  จึงมีความหมายเฉพาะตัว        ความทุกข์ที่หมายนี้ หมายถึง อุปาทานทุกข์เท่านั้น   
         จึงมิได้หมายครอบคลุมไปในสารพัดทุกข์ทั้งหลายที่เป็นไปตามสภาวะธรรมหรือก็คือทุกข์อริยสัจ อันมี ความเกิด  ความเจ็บ  ความแก่  ความตาย  ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก  ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก  ความปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น  เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะธรรมหรือเป็นจริงเช่นนี้เอง  คือยังคงต้องเกิด ต้องมี ต้องเป็น ในทุกหมู่เหล่าแม้แต่ในองค์พระอริยเจ้าท่าน
         ถึงทุกขอริยะสัจดังกล่าวเป็นสภาวะธรรมที่ต้องเกิดขึ้นและไม่สามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ก็จริงอยู่   จึงเป็นธรรมอันเที่ยงแท้  ไม่แปรปรวน(ไม่เป็นอนิจจัง)  คงอยู่ได้(ไม่เป็นทุกขัง)  และก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่งเช่นกันแต่เป็นทุกข์ธรรมชาติ จึงมิสามารถหลีกเลี่ยงหรือไปควบคุมจัดการกับเขาเหล่านั้นได้  วันหนึ่งจึงต้องประสบพบกันอย่างแน่นอน เพียงรอเหตุปัจจัยต่างๆเท่านั้นเอง   จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีปัญญาทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย
          แต่สิ่งเหล่านี้โดยธรรมชาติแล้วแม้จะเป็นก่อเป็นความรู้สึกรับรู้ที่เป็นทุกข์ก็จริงอยู่   แต่ตามธรรมชาติเดิมของมันแท้ๆ แล้วไม่เป็นทุกข์รุนแรงเสียจนเร่าร้อน เผาลน กระวนกระวายอย่างที่ปุถุชนรู้สึก และกำลังดำเนินเป็นไปกันอยู่
          แต่สภาวะธรรมหรือทุกขอริยสัจเหล่านี้นี่เอง  แม้ตัวมันเองไม่ได้เป็นอุปาทานทุกข์ตรงๆ   แต่ก็เขานี่แหละที่เป็นเหตุปัจจัย  ให้เกิดอุปาทานทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายขึ้นเช่นกัน  กล่าวคือ  ทุกขอริยสัจเหล่านั้นที่แม้เป็นทุกข์แต่ก็เป็นทุกข์ธรรมชาติจึงยังคงต้องเกิดเป็นเช่นนั้นเองแต่ไม่รุนแรงเร่าร้อนเผาลนจนกระวนกระวายราวกับมีไฟมาเผาลนใจดังอุปาทานทุกข์ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ดับไป
          กล่าวคือ ทุกข์ธรรมชาติเหล่านี้นั่นเองเป็นต้นเหตุให้ดำเนินและเป็นไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท  คือ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมมีกระบวนธรรมของชีวิต เช่น สัญญาจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอาสวะกิเลสต่างๆขึ้นตามวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง  แล้วร่วมเป็นเหตุเป็นปัจจัยกับอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงยังให้ดำเนินไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์
         อาสวะกิเลส อวิชชาเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงมีสังขารๆเป็นเหตุปัจจัย จึงมี วิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นเหตุปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นเหตุปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นเหตุปัจจัยจึงมีผัสสะเพราะผัสสะเป็นเหตุปัจจัย จึงมีเวทนา 
         ดังนั้นเมื่อกระบวนจิตดำเนินมาถึงเวทนาแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัย จึงมี ตัณหา เพราะตัณหาเป็นเหตุปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นเหตุปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นเหตุปัจจัย จึงมี ชาติเกิดขึ้น
         หมายความว่า  เมื่อกระบวนจิตดำเนินมาถึงเวทนาแล้ว   มีกระบวนการของการเกิดขึ้นของทุกข์เข้าไปแทรกอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในปุถุชน จนเกิดภพ หรือที่อาศัยของจิตหรือภาวะการตกลงใจของจิตหรือภพของจิต
         ดังนั้นขันธ์ที่ตามปกติไม่เป็นทุกข์หรือเป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติอันยังไม่เผาลนใจ   ที่ควรเกิดสัญญาหมายรู้ขึ้นตามความเป็นจริง   ก็เกิดการแปรปรวนไปหมายรู้ตามภาวะของจิตที่ตกลงใจ(ภพ)คือหมายรู้ไปตามกำลังของอุปาทานความยึดมั่นในความพึงพอใจของตัว หรือยึดมั่นว่าเป็นของของตนโดยไม่รู้ตัว
         เหตุที่ผู้เขียนเน้นอยู่เสมอๆว่าโดยไม่รู้ตัว  นั้น  เพราะเป็นดังนั้นจริงๆ   ดูแต่อัตตวาทุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในคำพูด(วาทะ)ที่ใช้แสดงความเป็นของตัวเป็นของตน เพียงเพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจกันตามสมมุติโลก   จิตยังเอาไปยึดว่าเป็นตัวตนหรือของตนอย่างยึดมั่นถือมั่นโดยไม่รู้ตัว  อันจัดเป็นหนึ่งในอุปาทาน4 อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานทุกข์
         ดังนั้นสัญญาหมายรู้ที่ควรจักดำเนินต่อไป  จึงแปรปรวนและเป็นไปหมายรู้ชนิดที่แอบแฝงให้ตัวตนของตนพึงพอใจอยู่ในที  หรือเกิดการหมายรู้ตามกำลังอุปาทานนั่นเอง  ที่เรียกเฉพาะเจาะจงว่า สัญญูปาทานขันธ์   เป็นขันธ์แรกที่ถูกครอบงำด้วยอุปาทาน  จึงกล่าวได้ว่าสัญญูปาทานขันธ์นี้แหละคือชาติ หรือการเกิด ขึ้นของกองทุกข์เรื่องนั้นๆแล้ว   แล้วย่อมดำเนินต่อไปในกระบวนธรรมของจิตปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสังขารูปาทานขันธ์(อุปาทานสังขารขันธ์)  กล่าวคือ เกิดความคิดการกระทำต่างๆที่เป็นไปในทางก่อทุกข์ต่อไป....ขึ้นแล้ว   แล้วจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปรุงแต่งเหล่าอุปาทานขันธ์5อันเป็นทุกข์เร่าร้อนรุนแรงเผาลนใจกว่าทุกข์ธรรมชาติขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานในชรานั่นเอง

11.ชรามรณะ 
         ชรา ที่จะกล่าวในที่นี้ เป็น ชรา ในองค์ธรรม ชรา-มรณะและอาสวะกิเลสอันมี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปปายาส อันเป็นองค์ธรรมเดียวกันในวงจรปฏิจจสมุปบาท
         ชรา โดยความหมายทั่วไป มีความหมายแปลว่า ความแก่ ความทรุดโทรม,  อันล้วนเกิดขึ้นเพราะความไม่เที่ยง จึงมีการเปลี่ยนแปลง หรืออาการแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
         ดังนั้น ชรา ในวงจรปฏิจจสมุปบาท  จึงมีความหมายถึง  ความแปรปรวน ความไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นเช่นกัน   และความแปรปรวนนี้ หมายถึง ความแปรปรวนของอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 อันเป็นอุปาทานทุกข์  คือเป็นทุกข์ชนิดที่มีอุปาทานความพึงพอใจของตัวของตนเข้ามามีอำนาจครอบงำ ดำเนินและเป็นไปโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาตลอดชีวิต (ไม่ได้เป็นทุกข์ธรรมชาติเหมือนดังเวทนา)   เป็นความทุกข์ชนิดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเพียรพยายามสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้ดับมันลงไป  อันคืออุปาทานทุกข์  อันก่อให้เกิดความรู้สึกรับรู้ที่เร่าร้อนเผาลนด้วยไฟของอุปาทานเวทนา  (เวทนูปาทานขันธ์) อันดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างยาวนานอยู่ในชรา  นี้นี่เอง
         ตามปกตินั้น  กระบวนจิตที่ดำเนินไปในวงจรปฏิจจสมุปบาทจนถึงองค์ธรรมชาติใช้เวลาชั่วขณะจิต หรือเร็วกว่าสายฟ้าแลบเสียอีก จึงต้องใช้ทั้งสติและปัญญาในการรู้เท่าทันเท่านั้น   แต่เมื่อดำเนินไปอยู่ในองค์ธรรมชรา อันเป็นที่เกิดดับของอุปาทานขันธ์5อันยังให้เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน กลับอ้อยอิ่งวนเวียนแบบเกิดๆดับๆวนเวียนอยู่เยี่ยงนั้น จนกว่าจะมีสติรู้เท่าทันและให้ปัญญาจัดการต่อปัญหานั้น   หรือเบี่ยงเบนบดบังด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดจึงดับไป   จึงเป็นที่เกิดของสภาวะการรับรู้ความรู้สึก(เวทนูปาทานขันธ์)เป็นทุกข์หรือสุขอันยาวนาน  แต่ก็ล้วนเผาลน และเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ในภายหน้าด้วยอาสวะกิเลส
         ตามที่กล่าวอยู่เสมอๆว่า ตามธรรมชาติแล้วปุถุชนดำเนินชีวิตเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท แต่เป็นไปโดยไม่รู้ตัวและเพราะความไม่รู้(อวิชชา)   และองค์ธรรม ชรา นี้นี่เอง ที่ปุถุชนรู้สึกทั้งเป็นสุขและเป็นทุกข์  หรือทั้งสุขทั้งทุกข์คละเคล้ากัน แต่ก็่ล้วนแฝงด้วยความกระวนกระวาย เร่าร้อน เผาลน ด้วยอำนาจของอุปาทาน   กล่าวได้ว่าเป็นองค์ธรรมที่ปุถุชนดำเนินและเป็นไปใน ชรา  นี้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นไปด้วยความไม่รู้  ดังที่แสดงชราไว้แล้วใน "ตัวอย่าง การเกิดปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวัน"  เมื่อโยนิโสมนสิการก็จะเห็นความคิดปรุงแต่งอันล้วนแฝงอุปาทานที่เกิดขึ้นวนเวียน เกิดๆดับๆ ได้อย่างยาวนาน จนกว่าจะเกิดการเบี่ยงเบนหรือบดบังจนเกิดการแยกพรากโดยสภาวะธรรมอื่นๆ และยังเก็บสั่งสมเป็นอาสวะกิเลส ดังที่กล่าวมาแล้ว   และที่ชรานี้นี่เอง เป็นที่ดำเนินไปของอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ในรูปความคิดนึกปรุงแต่ง อันเป็นทุกข์ ที่ปุถุชนทั้งหลายพากันร้อนลุ่มเผาลน  อยู่กันเป็นระยะเวลานานๆ  และเมื่อดับไปเพราะการแยกพรากด้วยเหตุอันใดก็ดี  ก็กลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆเพราะอาสวะกิเลสและอวิชชาเป็นปัจจัยแก่กันและกันนั่นเอง 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก