ในช่วงนี้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)รุ่นที่ 18/2555 ทำให้ระลึกถึงเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม(ประยูร สนฺตงฺกุโร) อดีตประธานที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) จึงพยายามค้นหาภาพและไฟล์ข้อมูลเก่าๆได้พบกับข้อเขียนที่ถอดจากการประชุมสามัญประจำปีของพระธรรมทูตในสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2546 นานมาแล้ว จึงมานั่งอ่านดูอีกครั้ง ข้อมูลนี้ได้มาจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ นานมาแล้ว ช่วงนั้นข้อมูลนี้ตั้งใจว่าจะรวบรวมไว้เพื่อนำลงพิมพ์ในวารสาร “สยามธรรมทูต” แต่จนแล้วจนรอดวารสารฉบับนั้นก็ไม่ได้ออกสู่บรรณพิภพ แต่ข้อมูลในการทำหนังสือยังเก็บรักษาไว้มีหลายเรื่องหลายคนเขียน วันนี้ขออนุญาตนำเผยแผ่ “ภารกิจของพระธรรมทูตในต่างประเทศ” ของเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดมเป็นเรื่องแรก
กำลังอ่านภารกิจของพระธรรมทูตในต่างประเทศยังไม่จบเสียงโทรศัพท์จากเจ้าอาวาสวัดอลาสก้า แทรกเข้ามาจึงได้คุยและสนทา วัดอลาสก้าญาณวราราม สหัรัฐอเมริกา เป็นวัดหนึ่งในหลายวัดที่เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดมได้ก่อตั้ง ปัจจุบันนี้ยังอยู่และมีโครงการที่จะฉลองพระอุโบสถฝังลูกนิมิตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของเจ้าประคุณสมเด็จฯเป็นที่ปรากฎแก่พระธรรมทูต เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดมมรณภาพและมีพิธีพระราชเพลิงศพเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2553 เวลา 17.00 น.ที่เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เกือบสองปีแล้ว วันนี้คิดคุณูปการที่เจ้าประคุณสมเด็จได้สร้างไว้แก่พระธรรมทูตในต่างประเทศ ช่วงนี้อยู่ในระหว่างการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 18/2555 ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขนขอเชิญอ่าน “ภารกิจของพระธรรมทูตในต่างประเทศ”ด้วยความเคารพและระลึกถึง
ภารกิจของพระธรรมทูตในต่างประเทศ
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนตงกุโร)
อดีตประธานที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)
ในการประชุมสามัญประจำปีพระธรรมทูต(ธรรมยุต)ในสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2546พระญาณวโรดม ประธานกรรมการที่ปรึกษาได้กล่าวถึงภารกิจของพระธรรมทูตไว้ว่า “ ผมรู้สึกว่า เป็นที่ประทับใจมาก ในการที่ได้มาอยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลายเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจส่วนนี้ และผมก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลของผมที่ได้มีโอกาสมาร่วมการประชุมกับท่านทั้งหลาย เพราะว่าโอกาสของผมเหลือน้อยแล้ว ไม่กี่วันผมก็ไปแล้ว แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ท่านทั้งหลายยังเห็นว่าผมมีประโยชน์ ยังจะพอทำประโยชน์ได้อยู่เพื่อพระพุทธศาสนาเรียกว่ามีเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย เป็นพวกที่คุ้นเคยหรือเคยรู้จัก เป็นลูกศิษย์ลูกหากันมาก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อมาพบกันก็เท่ากับว่ามาพบญาติพบพี่น้อง พบศิษย์ จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน พวกท่านทั้งหลายก็คงจะรู้สึกว่าการที่ท่านทั้งหลายได้มีโอกาส ได้พบปะผู้หลักผู้ใหญ่ของท่าน ได้พบปะครูบาอาจารย์ของท่านในต่างแดนอย่างนี้ ก็คงจะเกิดความรู้สึกที่ดี เพราะฉะนั้น ขอให้การประชุมของเราครั้งนี้ เป็นไปอย่างเรียบร้อย ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ขอให้เรามีการประชุมเพื่อการสร้าง ไม่ใช่ทำลาย เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ไมใช่ช่วยกันสร้างปัญหา จุดมุ่งหมายขอการประชุมเป็นอย่างนี้ คือช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่มาสร้างปัญหา ให้เกิดความยุ่งยาก และสร้างสิ่งที่ดีงามให้เกิดความเจริญ ไม่ใช่ว่ามาประชุมเพื่อมาทำลาย แต่รู้สึกว่าการประชุมขอเราในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะที่สหภาพยุโรปนี้ ก็เป็นไปเพื่อการสร้างมากว่าเป็นไปเพื่อการทำลาย เป็นไปเพื่อแก้ปัญหามากว่าที่จะมาสร้างปัญหาซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาสาธุการมาก
พระธรรมทูตที่มาในต่างแดน เราเห็นใจ เพราะว่าท่านอยู่ด้วยความเสียสละไม่ใช่ว่าอยู่ไปเฉยๆ ท่านมีความเสียสละมาก ในการที่จะอยู่เพื่อประกาศพระศาสนา ถ้าท่านไม่มีความเสียสละก็อยู่ไม่ได้ อีกข้อหนึ่งก็คือว่า มีความอดทนมาก ทั้งภายนอกและภายใน ทางภายนอกก็คือ เหตุการณ์ต่างๆ ภายนอก รวมทั้งดินฟ้าอากาศที่ผิดไปจากบ้านเมืองเรามาก ท่านก็สามารถทนได้ เรื่องการอดทนภายในก็คือเกี่ยวกับเรื่องการปฏิฆะบ้าง เรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง เรื่องยุ่งยากลำมากใจบ้าง แต่ท่านก็ทนอยู่ได้เพราะท่านมีความประสงค์ที่จะอยู่ที่นี้จะได้นำพระพุทธศาสนามาประดิษฐาน ณ ที่นี้ เป็นการบูชาพระรัตนตรัย คือ พุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ไม่ได้หวังสิ่งอื่นสิ่งใดนัก หวังเพื่อผู้อื่น เป็นการทำความดีเพื่อความดี ไม่ใช่เป็นการทำความดีเพื่อหวังผลตอบแทน เหมือนอย่างพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย เป็นการทำความดีเพื่อความดีโดยแท้ ซึ่งเป็นปฏิปทาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งพระองค์เป็นผู้ทรงทำความดีเพื่อความดี แม้ตรัสรู้แล้วพระองค์จะประทับอยู่เฉย ๆ ก็ได้ ก็ไม่เป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงใช้เวลาของชีวิตถึง 45 ปี ในการที่ช่วยประชาชนทั้งหลายให้เขาพ้นทุกข์ ด้วยการแสดงวิธีการ วิธีดำเนินเพื่อให้เขาพ้นทุกข์ โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำความดีเพื่อความดี
พวกเราที่อยู่ที่นี้ก็เหมือนกันแบบเดียวกัน ได้ชื่อว่าดำเนินตามปฏิปทาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องขออนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง อีกอย่างหนึ่งการต่อสู้ทางภายในคือทางใจนั้น อันนี้รู้สึกว่าจะเป็นอันตรายใหญ่หลวง สำหรับพระธรรมทูตต่างประเทศ คือความคิดถึงบ้าน ความรู้สึกว้าเหว่ ความรู้สึกอ้างว้าง มองซ้ายมองขวา หน้า หลัง ไม่พบพ่อแม่ พบพี่น้องเลย ต้องมาอยู่ท่ามกลางของคนที่ไม่รู้จัก ท่ามกลางของคนต่างชาติต่างภาษาแต่ทำไมเราถึงทนอยู่ได้ ก็เพราะว่าเราต้องการปฏิบัติเพื่อพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา นำศาสนธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานที่นี่ เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนทั้งหลาย เพราะฉะนั้นท่านจึงทนอยู่ แม้ว่าจะรู้สึกคิดถึงบ้านเหลือเกิน ก็อุตส่าห์ทนอยู่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่พวกเราเห็นใจ เห็นความเสียสละของท่าน เราจึงพร้อมเสมอที่จะให้ความร่วมมือกับท่าน ท่านเป็นผู้เสียสละอย่างนี้ เป็นผู้ที่ทนทุกข์ทนยากอย่างนี้ ยังทนได้แล้วพวกเราอยู่ในเมืองไทยไม่มีปัญหาอย่างนี้ทำไมเราจะเห็นใจพวกท่านไม่ได้ ก็ย่อมจะมีความเห็นใจท่านเป็นธรรมดา
เมื่อท่านอยู่ที่นี้ก็อยากเสนอข้อคิดเห็น สำหรับให้ท่านได้ปฏิบัติคือพิจารณาตามควรว่า ควรจะปฏิบัติหรือไม่ผมจะนำเสนอเพียงเพื่อให้ท่านได้พิจารณาแล้วปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้
ข้อแรกคือ ขอให้ท่านมีการริเริ่มจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งนี้เป็นรูปธรรมและนามธรรม ทั้งนี้เป็นศาสนสถานและศาสนวัตถุ และศาสนธรรม เมื่อมีการริเริ่มแล้วก็ขอให้มีความตั้งใจ มีสัจจะในการที่จะทำให้สำเร็จลุล่วงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ต่างๆ มาทำให้เราเกิดความท้อใจ ก็อย่าท้อ อาศัยขันติ และความตั้งใจจริง ทำให้สำเร็จให้ได้ ขอให้เข้าใจว่าเรื่องที่จะนำพุทธศาสนามาประดิษฐาน ณ ที่นี้ พวกเราที่อยู่ในเมืองไทยนั้น มอบความไว้วางใจให้ท่าน เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ท่านก็ความคิดว่าท่านเป็นคนมีความดี มีความสามารถ เก่งพอสมควร ผู้ใหญ่ท่านจึงให้มาที่นี่ ถ้าท่านไม่มีฝีมือไม่มีความสามารถ หรือไม่เก่งพอ ใครเขาจะให้มา ที่ท่านได้มาที่นี่ก็แสดงว่า ผู้ใหญ่ท่านไว้ใจในความสามารถของท่าน ท่านจึงให้ท่านทั้งหลายมาเป็นตัวแทนของพวกเราซึ่งอยู่ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นจึงขอให้ท่านตระหนักในข้อนี้ด้วย คิดว่าท่านทั้งหลายก็คงตระหนักเช่นนี้เหมือนกันแต่ที่ผมมาพูดอีกทีก็เพื่อเป็นการทบทวนความรู้สึก
อีกข้อที่สองคือ ขอให้มีความสมัครสมานสามัคคีกันทั้งภายใน ภายนอก ภายนอกระหว่างญาติโยมทั้งหลาย ที่เป็นคนไทย และชาวต่างชาติ ต้องสร้างความสมัครสมานสามัคคีเอาไว้ เพราะสร้างมิตรเอาไว้ดีกว่าสร้างศัตรู ถ้าสร้างศัตรูก็จะทำให้เราอยู่ไม่ได้ หรือว่างานของเราก็จะไม่สำเร็จ ความสามัคคีภายในก็คือ เริ่มตั้งแต่ภายในวัด เวลาอยู่กันหลายองค์ ก็ต้องมีความสมัครสมานสามัคคี เห็นอกเห็นใจกันในฐานะที่ว่าจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ในที่นี้ ทนทุกข์ยากลำบากด้วยกันอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็ควรจะปรึกษาหารือกันจะได้ข้อมูลหรือ ข้อตกลงที่มีสารประโยชน์ และส่วนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ขอให้คิดดูว่าถ้ามาอยู่กันหลายรูป หรือ 2 รูป ก็แล้วแต่ เราก็เห็นหน้ากันอยู่เท่านี้ เพราะฉะนั้นมีอะไรก็ควรจะปรึกษาหารือ ในอเมริกานั้นบางทีอยู่เพียงรูปเดียว ไม่รู้จะไปปรึกษาหารือกับใคร วัน ๆ ก็นั่งเหงา ถ้าไม่มีใครไปก็อยู่องค์เดียว แสนเหงา แสนหว้าเหว่และคิดถึงบ้าน คอยฟังเสียงประตูจะเปิดเมื่อไหร่ ถ้าประตูเปิดแอ๊ด ก็รู้สึกชื่นใจ รู้ว่ามีคนมาหาแล้ว น่าสงสาร แต่ท่านก็อยู่ได้เพราะความเสียสละ พวกเราก็เหมือนก้น ขอให้มีความเสียสละโดยเฉพาะเสียสละความรู้สึก เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องกระจุกกระจิกต่าง ๆ อย่าไปคิดต้องมีการให้อภัยกันต้องเมตตา สงสารซึ่งกันและกันเพราะท่านก็จากบ้านเกิดเมืองนอนจากพ่อ จากแม่ จากครูบาอาจารย์ ต้องมีการอภัยกัน ต้องเมตตาสงสารซึ่งกันและกัน เพราะมาอยู่ในท้องถิ่นที่ไม่รู้จักใครอย่างนี้ ควรจะมีความเสียสละ เมตตาในระหว่างกันและกันโดยเฉพาะการเสียสละนั้น นอกจากจะเสียสละเพื่อเรื่องของเราแล้ว ก็จะมีความเสียสละตรงที่มีความเมตตาผู้อื่นเช่นคนไทยด้วยกันที่อยู่ที่นี่ ซึ่งอยู่ในสภาพอันเดียวกัน คือ จากบ้านเกิดเมืองนอนมาเหมือนกัน จากพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาเหมือนกัน ควรจะมีความเมตตา รู้สึกเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในระหว่างกันและกัน
เรื่องการทำงานนั้นในฐานะที่พวกเรามาที่นี่ จะต้องทำงานเพราะว่าเราเป็นผู้ริเริ่มมาเริ่มต้น เราก็ต้องทำงานไม่ใช่วัดในเมืองไทย ซึ่งเป็นวัดที่เขาสร้างไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และก็แวดล้อมไปด้วยชาวพุทธ แต่ในที่นี้ไม่ใช่อย่างนี้ เราต้องมาสร้างขึ้นใหม่ทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่ศาสนสถานแล้วก็ศาสนบุคคล ที่เราจะต้องเกี่ยวข้องด้วย พร้อมทั้งศาสนธรรมซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยความจริงใจ ความอดทน ความเสียสละของพวกเราทั้งหลาย ขอให้คำนึงอยู่เสมอว่า เรามานี้เพื่อพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา มาเพื่อนำพุทธศาสนาของไทยมาประดิษฐาน ณ ที่นี้ มาในฐานะเป็นตัวแทนของหมู่ของคณะ โดยเราได้รับความไว้วางใจจากผู้หลักผู้ใหญ่ให้มาแทนตัวท่าน เมื่อคำนึงอย่างนี้อยู่อย่างเสมอแล้ว ก็เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นไปโดยเรียบร้อย ปัญหาที่ได้ยินอยู่เสมอขณะอยู่เมืองไทยก็คือความไม่เข้าใจระหว่างญาติโยมกับทางวัด ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าญาติโยมเขาไม่ค่อยรู้เรื่องของพระ เช่น เขาต้องการให้พระทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ พระทำไม่ได้ก็ไม่เป็นที่ถูกใจของเขา เขาจะต้องรู้หรือว่าพระในเมืองไทยนั้น มี 2 คือฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ
พระฝ่ายปฏิบัตินั้นท่านก็ไม่รู้เรื่องของการปกครอง ฝ่ายปริยัติที่รู้เรื่องการปกครองก็ไม่รู้เรื่องของฝ่ายปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเป็นอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็เป็นการลำบาก เรื่องนี้ชาวบ้านทั้งหลายไม่เข้าใจ ว่าพระท่านต้องเก่งทางด้านวิชาการ ทางด้านปฏิบัติ นึกว่าอย่างนั้นจะเป็นความผิดของเขาก็ไม่ถูก เพราะว่าควรจะให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นมันก็ไม่ได้ ก็ต้องมีรู้บ้าง ไม่รู้บ้างเป็นธรรมดา อย่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่ทางคณะรัฐบาลที่แล้วออกมา เพื่อให้พระปฏิบัติก็เห็นชัด ๆ เลยว่าเขาไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนาดีพอ
พระราชบัญญัตินั้นจะมาบังคับให้พระประพฤติผิดพระวินัย นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาไม่รู้เรื่องพระวินัย เขาไม่ค่อยรู้เรื่องของพระ และบางทีก็แสดงหลักฐานออกมาชัดเจน เลยว่าเขาไม่รู้เรื่องของพระ นอกจากจะเรื่องพระวินัยแล้ว คือมีข้อหนึ่งเขาพูดถึงเรื่องแม่ชี คืออุบาสิกาที่ถือศีล 8 จากพระโดยไม่ต้องคำนึงถึงเครื่องแบบ แต่งตัวขาวโกนผม โกนคิ้วนี้ไม่พูดถึงเลย ก็เลยกลายเป็นว่าพวกอุบาสิกา กลายเป็นแม่ชีทั้งนั้น แล้วใครจะไปแนะนำเขาก็ไม่ฟัง เพราะเขาถือว่าเขาเป็นคนมีความรู้ เมื่อเป็นอย่างนี้จึงได้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเขาก็เฉย เช่น องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เรียกว่าคนทั่วไปในโลกมาเป็นสมาชิกเขาก็เฉย พุทธสมาคม ยุวพุทธิกสมาคม เขาก็เฉย หมดไม่มีใครจะออกมาทำหน้าที่แทนพระ แล้วถ้าขืนปล่อยให้ออกมาพระก็แย่ เพราะต้องประพฤติผิดพระวินัย พระก็ต้องช่วยตัวเองไม่มีทางเลือก
เพราะฉะนั้นพระจึงจำเป็นจะต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบเพราะไม่มีทางเลือก แล้วถ้า พ.ร.บ. อันนั้นถ้าออกมาแล้วก็จะวุ่นวายมาก พระก็จะต้องประพฤติผิดพระวินัย แต่ระหว่างพระวินัยกับกฎหมาย พระก็ต้องเอาวินัยก่อน เมื่อเอาวินัยก็ผิดกฎหมาย ถ้ากฎหมายเป็นคดีอาญา เดี๋ยวก็ได้มีการสึกพระทั่วประเทศกันเท่านั้น วุ่นวายไปหมด ดูตัวอย่างง่าย ๆ เช่น พระลาว และ พ.ร.บ. อันนี้ก็จะทำให้พระไทยเป็นพระลาว จะเทศน์ก็ไม่ได้ จะศึกษาก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลก่อน จะเทศน์ก็ต้องให้เขาบอกว่าให้เทศน์เรื่องนั้นเรื่องนี้ จะเทศน์เอาอย่างใจแบบบ้านเรานั้นไม่ได้ จะศึกษาก็ต้องแอบหลบไปเรียน อย่างพวกเวียงจันทร์ก็แอบมาเรียนฝั่งไทย แต่พวกหลวงพระบางนั้นไม่มีทางเลย ไปดูสภาพแล้วน่าสงสารมาก และพระไทยเราก็จะเป็นแบบนั้น ถ้า พ.ร.บ. นั้นออกมา จะบวชก็ต้องขออนุญาตจากชาวบ้านก่อน จากนายอำเภอ และเขาจะกำหนดว่าปีนี้บวชได้เท่านั้นเท่านี้
ต่อไปในอนาคตไม่นานศาสนาพุทธก็จะไม่มีพระเหลือแต่วัดวาอาราม โบราณสถานให้นักท่องเที่ยวมาดูเท่านั้น เวลานี้หลวงพระบางก็เป็นแบบนี้ พระในวัดทำหน้าที่เป็นคนเฝ้าศาลเจ้า ด้วยเหตุนี้พระจึงจำเป็นจะต้องทำในสิ่งที่ตัวไม่อยากทำ เพื่อปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา เพื่อความเสียสละท่านเหล่านั้นแม้แต่ชีวิตเขาก็สละได้ เพื่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา ในประเทศไทยจึงขอให้ท่านทั้งหลายรับทราบไว้ด้วย ในฐานะที่ท่านมาอยู่ในต่างแดนอย่างนี้ มีผมพอจะรู้เรื่องเพราะว่าถ้าเขาจะทำอะไรกันเขาก็มาบอกกับผมก่อน ส่วนท่านทั้งหลายที่อยู่ทางนี้ก็ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติศาสนกิจให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ถ้าเมืองไทย พลาดพลั้งไปแล้วที่นี่ยังอยู่ อย่างศาสนาพุทธหมดไปจากอินเดียแต่ในต่างประเทศยังมีอยู่ เช่น ลังกา เป็นต้น ถ้าไม่มีต่างประเทศรับพุทธศาสนาไว้แล้ว พุทธศาสนาก็หมดไปจากโลก
ประเทศที่รับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไว้อย่างเต็มที่ก็คือ ลังกา ฝ่ายมหายานก็คือประเทศจีน ประเทศไทยเรารับมาเมื่อ พ.ศ. 238 สมัยพระโสณและพระอุตระมา คราวเดียวกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเข้าสู่ประเทศศรีลังกา แต่ฝ่ายจีนเข้าไปเมื่อ พ.ศ. 610 เมื่อสมัยราชวงศ์ฮั่น ถ้าไม่มีศาสนาพุทธที่มาอยู่ในต่างประเทศ เป็นหลักไว้บ้างแล้ว ศาสนาพุทธคงจะหมดไปเลย เพราะฉะนั้นท่านที่มาที่นี้จึงได้ชื่อว่ามาทำหน้าที่สำคัญ คือ ถ้าในเมืองไทยเกิดอะไรขึ้นมาแล้ว ที่นี่ยังมี ยังไม่หมดไปจากโลก เพราะฉะนั้นพวกท่านจึงทำหน้าที่สำคัญมาก ในการรักษาพุทธศาสนาให้อยู่ในโลกนี้ ผมหวังว่าการประชุมของพวกเราในครั้งนี้คงจะสำเร็จผลสมดังวัตถุประสงค์
ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายที่มาและไม่ได้มาทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มาดูแลพระในที่นี้ และต้องขออนุโมทนาสาธุการเป็นพิเศษกับท่านพระครูปลัด สมศักดิ์ ที่ได้จัดให้มีสถานที่ และเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ และญาติโยมทั้งหลายที่มาร่วมกันถวายภัตราหารและดูแลให้ความสะดวกแก่ภิกษุที่มาร่วมประชุม ขอทุก ๆ ท่านจงมีความสุขกาย สุขใจ ปราศจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ คิดอะไรก็ขอให้ได้สมดังความมุ่งหมาย ทำอะไรก็ขอให้สำเร็จโดยปราศจากอุปัทวันตราย และขอทุก ๆ ท่านจงเข้าถึงความแท้จริงในพุทธธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว จงทุกท่าน ทุกประการเทอญ”
หมายเหตุ: คัดจากเอกสารสรุปรายงานการประชุมพระธรรมทูต(ธรรมยุต) ในสหภาพยุโรป
ร่วมกับคณะกรรมการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
ครั้งที่ 3/2546 วันที่ 20 เมษายน 2546
ณ วัดป่าโคเปนเฮเกน กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รวบรวม
24/01/55