นครวัดหรืออังกอร์วัดนั้นมีชื่อเสียงระดับโลก ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันเข้าชมไม่ขาดสาย จนแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร มีหลายสิ่งหลายอย่างให้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน ส่วนมากเน้นที่ของเก่าของโบราณมีอายุยาวนานกว่าพันปี บางอย่างยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้ ส่วนบางอย่างสึกกร่อนไปตามกาลเวลา แต่ทว่ายังคงมีพลังยิ่งเพ่งดูยิ่งเหมือนมีมนต์ขลังดึงดูดให้หลงใหล โดยเฉพาะภาพหินนูนของเหล่านางอัปสราจำนวนมากรอบๆ ปรางค์ปราสาท บางนางถูกคนมือดีลูบจนขึ้นเงาแต่ก็ยังน่ามองยิ่งเพ่งมองเหมือนกำลังมีวิญญาณของเหล่านางอัปสราเหล่านั้นยิ้มรับอย่างน่าพิศวง
ตามกำหนดการเดิมของการประชุมจะต้องเปลี่ยนสถานที่จากพนมเปญไปยังนครวัดซึ่งอยู่ห่างไปอีกจังหวัดหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมต้องนั่งเครื่องบินภายในประเทศจากพนมเปญไปยังจังหวัดเสียมเรียบ แต่พอถึงเวลาเดินทางจริงๆกลับต้องนั่งรถยนต์ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานกว่าเจ็ดชั่วโมง กำหนดการของที่นี่ไม่มีอะไรแน่นอนเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม แต่ทว่าการเดินทางด้วยรถยนต์กลับได้อารมณ์แห่งการเดินทางไปอีกแบบ เพราะได้เห็นสภาพวิถีชีวิตของผู้คนตลอดสองข้างทาง ผ่านจังหวัดกำปงจาม กำปงธมและเข้าสู่เสียมเรียบก็มืดค่ำแล้ว
พิธีเปิดการประชุมจึงเริ่มขึ้นในตอนเช้ามีการกล่าวสุนทรพจน์ของตัวแทนจากประเทศต่างๆ งานดำเนินไปเรื่อยๆ ฉันเพลข้างๆเจดีย์ด้านหลังนครวัดนั่นเอง นั่งมองยอดเจดีย์ผ่านเวทีที่ตั้งอยู่หลังปราสาทนครวัด คิดว่าไม่นานคงมีโอกาสได้เข้าชม แต่กำหนดการกลับเปลี่ยนไปอีกครั้ง ผู้จัดบอกว่าจะต้องเดินทางไปประชุมกรรมการบางท่านในอีกที่แห่งหนึ่ง เวลาประมาณห้าโมงเย็นจึงจะกลับมาที่เวทีหลังปราสาทอีกครั้ง ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องรอในที่พัก ตอนนั้นจึงบอกกับผู้จัดงานว่าขอรออยู่ที่ปราสาท และจะกลับมาที่เวทีในเวลาที่ทุกคนพร้อม เมื่อได้รับอนุญาตจึงแบกกล้องเดินขึ้นปราสาทโดยมีเวลาร่วมสี่ชั่วโมง
ช่วงนี้เป็นเวลาที่สะดวกที่สุดในการเที่ยวชมนครวัดเพราะไม่ค่อยมีผู้คนเท่าใดนัก คนที่นี่บอกว่าหากจะดูปราสาทนครวัดในเวลาที่สวยที่สุดก็ต้องเป็นเวลาหลังบ่ายสามโมงเย็นไปแล้ว เพราะเงาจากพระอาทิตย์ในยามเย็นจะสะท้อนไปยังปราสาทเกิดเป็นความสวยงามที่สุด นครวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเวลาเดินจากด้านหน้าจึงหันหลังให้ดวงอาทิตย์ เหมาะกับการถ่ายภาพ แต่ผู้เขียนเดินขึ้นปราสาทจากด้านหลังมาด้านหน้าในเวลาบ่ายโมงแดดจึงส่องมาข้างหลัง นักท่องเที่ยวทั่วไปเดินจากประตูทางเข้ามาด้านหน้าและขึ้นสู่ยอดที่สูงที่สุดของพระปรางค์ที่เป็นปรางค์ประธาน
แต่ทว่าผู้เขียนเริ่มต้นจากยอดสูงสุดของพระปรางค์มีบันไดปีนขึ้นไปสูงมาก หากคนเป็นโรคหัวใจอาจเป็นลมพลัดตกลงมาได้ ปีนขึ้นจนถึงยอดบนสุดของปรางค์เหนื่อยหอบไปตามๆกัน มีนักท่องเที่ยวสี่ห้าคนปีนไปด้วยกัน พอไปถึงชั้นบนต่างก็มองหน้ากันในทำนองว่ามาบัดนี้ได้มาถึงยอดสูงที่สุดแล้ว ทางชั้นบนสุดนี้เรียกว่า “บากาน” ประกอบด้วยปรางค์ทั้งหมดห้าองค์ มีปรางค์สี่องค์ประจำทั้งสี่มุม ปรางค์องค์กลางเป็นปรางค์ประธานซึ่งมีความสูงประมาณ 65 เมตรมีระเบียงและมุขกระสันเชื่อมต่อกันหมด ตรงมุมระเบียงคดทั้งสี่มุมมีร่องรอยของสระสี่สระ แต่ปัจจุบันไม่มีน้ำเป็นสระแห้ง ปรางค์ทิศทั้งสี่มุมหมายถึงทวีปทั้งสี่ ส่วนสระน้ำหมายถึงมหาสมุทรล้อมรอบเขาพระสุเมรุซึ่งก็คือปรางค์องค์กลางนั่นแล ภายในซุ้มปรางค์มีรูปปั้นหินเป็นพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน เชื่อกันว่าระเบียงคดชั้นบนสุดนี้เมื่อสร้างครั้งแรกนั้นปรางค์ประธานมีรูปพระวิษณุประดิษฐ์อยู่ แต่เมื่อนครวัดเปลี่ยนมาเป็นพุทธศาสนสถานจึงประดิษฐ์ฐานพระพุทธรูปไว้ในซุ้มที่ฐานปรางค์ทั้งสี่ด้าน แต่คนเฝ้าปรางค์ด้านบนยืนยันว่ามีภาพหนึ่งเป็นภาพนางอัปสรา พยายามถ่ายภาพแต่ทว่าภายในค่อนข้างมืดจึงได้ภาพออกมาไม่ชัดเจนนัก แต่อีกทั้งสามด้านเป็นพระพุทธรูปยืนและมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ชัดเจน เรื่องของศาสนาและความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงศาสนสถานจากศาสนาหนึ่งมาเป็นอีกศาสนาหนึ่งได้
จากมุขกระสันมีบันไดขึ้นสู่โคปุระของระเบียงคดขั้นที่สอง เมื่อผ่านโคปุระออกไปจะเป็นลานกว้าง มีบรรณาลัย อยู่สองด้านกลางลานคือที่ตั้งของปรางค์ประธาน บนผนังของระเบียงคดมีรูปสลักนางอัปสราจำนวนมาก มีบันทึกไว้ว่ามีคนพยายามนับจำนวนนางอัปสราทั้งหมดในนครวัดว่ามีจำนวน 1600-1700 ตน(นาง) เหล่านางอัปสราที่อยู่บนผนัง ระเบียงคด และโคปุระมีลักษณะหลากหลายไม่ซ้ำแบบกันเลย (คู่มือนำเที่ยวนครวัด นครธม,หน้า 110)
วันนั้นถ่ายภาพนางอัปสราอย่างเดียวน่าจะมากกว่า 500 นาง ยิ่งดูยิ่งน่าพิศวง ส่วนภาพแกะสลักตามระเบียงคดก็ถ่ายไว้มากไม่แพ้กัน ตอนนั้นแยกไม่ออกว่าภาพไหนเป็นภาพอะไรบ้าง เพราะมากมายจนตาลาย แต่มีอยู่สองภาพคือพระวิษณุกวนเกษียรสมุทรมีเหล่าเทพฉุดนาคอยู่ทางหาง ฝ่ายอสูรฉุดนาคทางหัวนาค และมีนางอัปสราผุดขึ้นขณะกวนน้ำอมฤต และอีกภาพเป็นภาพพระวิษณุประทับบนหลังพญาครุฑ ล้อมรอบด้วยเหล่าเทวดาในวันที่มีชัยชนะเหนือพวกอสูร
ลงจากปรางค์ประธานที่สูงที่สุดจึงเดินวนรอบตามมุขกระสันโดยวนไปทางขวาจึงสวนทางนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินวนซ้าย ลงมาถึงชั้นที่สองจึงได้ชมภาพแกะสลักหินรอบๆระเบียง ไม่มีไกด์คอยแนะนำจึงได้แต่ถ่ายภาพอย่างเดียว แต่นานๆจึงจะเห็นนักท่องเที่ยวมากันเป็นกลุ่มมีไกด์คอยอธิบายจึงได้แต่คอยฟังอยู่ห่างๆแต่ก็จับประเด็นอะไรไม่ได้ เพราะไกด์พูดหลายภาษาตามสัญชาติของนักท่องเที่ยวทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ได้พบกับนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มหนึ่งเดินทางกันเองโดยไม่มีไกด์ เขาบอกว่ามาหลายรอบแล้วครั้งนี้มาถ่ายภาพอย่างเดียว จากนั้นก็แยกทาง บนยอดเจดีย์ในช่วงนั้นมีนักท่องเที่ยวไม่ถึงยี่สิบคนจึงถ่ายภาพได้สะดวก
มาถึงระเบียงชั้นแรกเริ่มมีนักท่องเที่ยวหนาตาขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเดินวนไปทางซ้าย แต่ผู้เขียนเดินเวียนไปทางขวาจึงเป็นการเดินสวนทาง ตอนนั้นไม่ได้สนใจอะไรอื่นนอกจากถ่ายภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะถ่ายได้ หากจะบรรยายภาพเหล่านี้ทุกภาพน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน พยายามหาหนังสือคำอธิบายภาพแกะสลักเหล่านี้ก็หาซื้อไม่ได้ มีหนังสือคู่มือนำเที่ยวนครวัดนครธมติดมือมาเล่มหนึ่งเปิดกลับไปกลับมาจนขาดแล้ว
จากหนังสือนำเที่ยวนครวัดนครธม ซึ่งซื้อที่สนามบินก่อนขึ้นเครื่องบินถือติดมือไปด้วยได้กล่าวถึงองค์ประกอบของปราสาทหินสรุปได้ว่า “ภายในอาณาบริเวณของปราสาทหินประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆดังนี้ (1)ปรางค์ประธาน ปรางค์องค์กลางที่สูงใหญ่และโดดเด่นที่สุดภายในห้องที่เรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” เป็นที่ตั้งของรูปเคารพสูงสุด (2) มณฑป ปราสาทสำคัญขนาดใหญ่มักสร้างมณฑปไว้ติดกับปรางค์ประธานด้านทิศตะวันออก ภายในมณฑปเป็นห้องโถงใหญ่ซึ่งเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ (3) มุขกระสัน คือทางเดินมีหลังคาคลุมเชื่อมระหว่างอาคารสองอาคารเช่นปรางค์กับมณฑป (4) โคปุระ คือกำแพงที่ล้อมรอบปราสาทจะมีช่องทางสำหรับเข้าออกเรียกว่าโคปุระมีอยู่ทั้งสี่ทิศ (5) เสนาเรียง เป็นเสาตั้งอยู่ลอยๆเรียงตามแนวทางเดินสู่ตัวปราสาท (6)ซานซาลา เป็นลานกว้างที่อยู่ด้านหน้าปราสาท (7) ระเบียงคด คือเฉลียงทางเดินตามแนวกำแพงรอบปราสาท (8) บรรณาลัยหรือห้องสมุด (9) บาราย คือสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นพร้อมกับการสร้างปราสาทมีทั้งอยู่ภายในกำแพงและนอกกำแพง (10) ทับหลังคือแผ่นหินที่ใช้ทับบนกรอบประตูเพื่อรองรับเครื่องบนหรือโครงสร้างหลังคา (11) หน้าบันคือพื้นที่รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วอยู่เหนือทับหลังขึ้นไป (12) เสาประดับกรอบประตู (13) ลูกมะหวดคือลูกกรงช่องหน้าต่างหรือช่องระเบียงหรือหินทรงกระบอกแกะกลึงเป็นปล้องๆ (14)บราลีคือแท่งหินแกะกลึงเป็นปล้องปลายแหลมมนเรียงกันเป็นแนวยาวประดับสันกลางของหลังคาอาคารและหลังคาระเบียงคด (15) เรือนยอดคือช่วงบนขององค์ปรางค์มักแกะสลักลวดลายเป็นกลีบซ้อนกันเรียกว่ากลีบขนุน (ศรัณย์ บุญประเสริฐ,ยอด เนตรสุวรรณ,คู่มือนำเที่ยวนครวัด นครธม,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สารคดี,2551,หน้า 47-48
บริเวณบารายหรือสระน้ำด้านในปรางค์เป็นมุมที่มีนักท่องเที่ยวถ่ายภาพจำนวนมากจึงแวะเข้าไปถ่ายภาพไปได้สักพักมีเด็กชายหญิงสองคนมาแนะนำว่าควรถ่ายมุมนั้นมุมนี้ยืนตรงนั้นจะได้ภาพสวยที่สุด แม้จะฟังภาษากัมพูชาไม่ออกแต่ก็สื่อสารกันได้ พี่น้องสองคนนั้นสงสัยว่าถ่ายภาพตรงไหนเห็นยืนอยู่เฉย ๆเพราะตอนนั้นใช้ขาตั้งกล้องไว้ไกล ในมือก็กดรีโมตคลอนโทลไปด้วย จึงเรียกให้เด็กทั้งคู่มาร่วมถ่ายภาพด้วย ได้บรรยากาศไปอีกแบบ การถ่ายภาพตนเองด้วยกล้องของตนเองนั้นบางครั้งก็ไม่ได้ภาพที่ดีนัก แต่ในยามที่มาคนเดียวแตกวงมาเช่นนี้ก็ต้องขอบคุณเทคโนโลยีและแอบชมตนเองอยู่ในใจว่าไม่เสียแรงที่อุตส่าห์นำขาตั้งกล้องมาด้วย เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่มีภาพตนเองเป็นที่ระลึก งานนี้จึงถ่ายภาพตนเองมากพอๆกับภาพปรางค์แห่งนครวัด
เดินจากด้านสูงสุดคือด้านหลังลงมาข้างล่างคือหน้าด้าน แสงอาทิตย์ก็ส่องมาทางด้านหน้า ปรางค์แห่งนครวัดเริ่มสะท้อนกับแสงอาทิตย์เกิดเป็นความอลังการที่ยากจะลืมเลือน พอถึงประตูด้านหน้าพักดื่มน้ำหายเหนื่อยแล้วก็เดินย้อนกลับมายังเวทีที่จัดประชุมซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระปรางค์ วันนั้นจึงได้เดินสองรอบเหนื่อยแทบจะเดินไม่ไหว แต่มนต์ขลังแห่งนครวัดยังตราตรึงในความทรงจำ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
20/12/54