พระสงฆ์ที่ชอบท่องเที่ยวตามป่าตามเขามีมาทุกยุคทุกสมัย แม้ปัจจุบันป่าเขาลำเนาไพรจะเหนือน้อยเต็มที พระสงฆ์ส่วนหนึ่งจึงต้องเข้ามาพักอยู่ตามเมืองใหญ่ แต่ก็ยังมีพระสงฆ์ส่วนหนึ่งไม่ชอบอยู่ในเมือง ยังหาที่สงบเพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนาตามป่าตามเขาเท่าที่จะพอหาได้ ในเขตภาคเหนือยังมีพระสงฆ์ที่ชอบแนวทางการปฏิบัติแบบนี้อีกมาก ป่าไม้ให้ความร่มเย็นและประสบการณ์ในวัดป่ามักจะมีอะไรที่แปลกๆให้เห็นเสมอ แต่พระสงฆ์ที่มีประสบการณ์ในทำนองนั้นมักจะไม่ค่อยเล่าให้ใครฟัง นอกจากจะเล่าสู่กันฟังเฉพาะในหมู่ภิกษุด้วยกัน ปัจจุบันป่าไม้เมืองไทยเหลือน้อย พระสงฆ์ส่วนหนึ่งจึงมักจะมีผู้นิมนต์ไปอยู่จำพรรษาในต่างประเทศที่ยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์
ผู้เขียนมีเพื่อนที่ยังชอบอยู่ตามป่าตามเขาอีกหลายท่าน นานๆได้พบกันก็มักจะมีประสบการณ์ในการเดินธุดงค์มาเล่าให้ฟัง ปุญญราโมเป็นพระอีกรูปหนึ่งที่มักจะพบกันอยู่บ่อยๆ ท่านมักจะมีประสบการณ์ที่โลดโผนมาเล่าให้ฟัง ครั้งหนึ่งเราพบกันที่จังหวัดเชียงใหม่ บนรอยต่อระหว่างดอยปุยและดอยสุเทพซึ่งมีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งตั้งอยู่กลางป่าเขา เราพบกันโดยบังเอิญ คือบังเอิญมาพบกัน จึงได้สนทนาฟื้นความหลังในการเดินธุดงค์ สนทนาไปได้สักพักท่านบอกว่าพึ่งเดินทางมาจากสำนักสงฆ์น้ำบ่อนก อยู่ในเขตอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก ผมกลับไปเยี่ยมเพื่อนเก่า คือพวกพระจีวรแดงว่ายังอยู่ที่บริเวณนั้นหรือไม่
เมื่อเห็นผู้เขียนทำหน้างงๆจึงบอกว่าก็ที่ผมเคยถามท่านเรื่องเจ้าพระฝางเมื่อหลายปีก่อนนั่นแหละ จึงนึกได้ว่าเคยหาข้อมูลเรื่องสมบัติเจ้าพระฝางว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีอยู่ที่ใด ทำไมเจ้าพระฝางจึงตั้งตนเป็นเจ้า เป็นแม่ทัพออกรบทัพจับศึกในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่สอง และพ่ายแพ้แก่กองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างไร แต่นั่นมันนานมาแล้วก็ชักจะเลือนๆไป เคยไปอำเภอฝางก็หลายครั้ง เคยไปพักที่วัดหนองผักหนาม ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆบ่อน้ำมันฝางก็หลายหน เคยไปพักที่สำนักสงฆ์น้ำบ่อนกก็หลายครั้ง แต่ไม่มีประสบการณ์เหมือนกับท่านปุญญราโม เมื่อสืบหาข้อมูลแล้วไม่มีอะไรคืบหน้าจึงหยุดและลืมเลือนไปในที่สุด พอพบท่านปุญญราโมอีกครั้งภาพในอดีตผุดขึ้นมาเหมือนภาพร่างของจิตกรที่ยังไม่ได้ระบายสี
สำนักสงฆ์น้ำบ่อนกแทรกตัวอยู่ภายใต้หมู่แมกไม้ บนเนินเขาเหมือนซ่อนตัวหลบความสับสนวุ่นวายจากภายนอก ที่จริงจากถนนใหญ่ทางเข้าอำเภอสะเมิงหากแหงนหน้าขึ้นสักนิดก็จะเห็นร่มไม้ใบบังร่มรื่นที่แปลกตากว่าที่อื่น มีต้นไม้ขนาดใหญ่หลายคนโอบที่หายากอีกจำนวนมาก เพราะที่นี่เป็นสำนักสงฆ์ เป็นที่พักพิงของพระภิกษุที่ชอบความเงียบสงัด นานๆจึงจะมีผู้คนแวะเวียนมาเยือนสักครั้ง
ปุญญราโมทอดสายตาเหม่อมองไปยังหมู่แมกไม้ที่เรียงรายอย่างไร้ระเบียบ ใต้แสงเดือนที่ส่องกระทบยอดไม้เกิดเป็นเหมือนภาพวาดแห่งธรรมชาติบนที่พักสงฆ์แม่เหี๊ยะหรือนามเต็มว่าสำนักสงฆ์พิรุณกรสาริกภูติมงคล จากนั้นจึงค่อยๆทบทวนความหลังและเริ่มต้นเล่าอย่างช้าๆว่า “ปีนั้นผมจำพรรษาที่วัดสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ปุญญราโมสายตาเพ่งมองออกไปเหมือนอยู่ไกลโพ้น ช่วงนั้นหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ยังจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดสันติธรรมในขณะนั้นคือพระครูสันตยาธิคุณ (ทองอินทร์)มักจะเดินทางไปแสดงธรรมแทนหลวงปู่สิมในวันธรรมสวนะเสมอ เพราะช่วงนั้นสุขภาพของหลวงปู่ไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว ผมมักจะถูกเรียกให้เดินทางไปวัดถ้ำผาปล่องกับหลวงพ่อพระครูสันตายาธิคุณบ่อยๆ
หลวงปู่สิมมีวิธีนั่งสมาธิที่ไม่เหมือนใคร ครั้งหนึ่งพอไปถึงวัดถ้ำผาปล่องหลวงปู่กำลังนั่งบนอาสน์สงฆ์ พอกราบสักการะเสร็จสักพักหลวงปู่ก็เอ่ยปากสั้นๆว่า อ้าวต่อไปนั่งสมาธิเพชร ซึ่งขาทั้งสองข้างจะต้องไขว้กัน จากนั้นหลวงปู่ก็ทำให้ดู แต่หลายคนต่างก็พยายามทำตามวิธีที่หลวงปู่บอก ได้บ้างไม่ได้บ้าง การนั่งขัดสมาธิเพชรนั้นผู้ที่ไม่คุ้นเคยจะรู้สึกปวดมาก แม้ว่าอากาศที่ถ้ำผาปล่องจะหนาวเย็นและชื้นด้วยม่านหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งเหนือหมู่แมกไม้หนาทึบสูงใหญ่เหนือยอดดอย แต่หลายคนมีเหงื่อซึมให้เห็นชัดเจน หลวงปู่พูดจบก็นั่งขัดสมาธิเพชรนิ่งเหมือนไม่มีใครอยู่ต่อหน้าเลย เหมือนกับว่าในโลกใบนี้มีเพียงหลวงปู่รูปเดียว แต่บรรดาพระสงฆ์และญาติโยมต่างก็ค่อยๆทยอยหนีหายไปทีละคนสองคน เวลาผ่านไปประมาณสามสิบนาที บริเวณในถ้ำเล็กๆแห่งนั้นจึงเหลือเพียงพระสงฆ์สามรูปคือหลวงปู่สิม หลวงพ่อมหาทองอินทร์และผมปุญญราโม การนั่งขัดสมาธิเพชรตามแนวของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร แห่งถ้ำผาปล่องนั้นแม้จะรู้สึกทรมานมากในครั้งแรกๆแต่หากฝึกจนชำนาญแล้วจะรู้สึกสบาย แต่คนส่วนมากทนไม่ค่อยไหว
ปุญญราโมยังคงเล่าความหลังต่อไปด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า “ในช่วงออกพรรษาผมมักจะออกเดินทางไปยังวัดป่าต่างๆในเขตจังหวัดเชียงใหม่ พักอยู่วัดละสองสามวันหรือหากเหมาะแก่การทำสมาธิจิตผมก็จะพักอยู่นานเป็นเดือนก็ได้ ครั้งหนึ่งผมเดินทางไปถึงอำเภอสะเมิงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจังหวัดเชียงใหม่นัก แต่ฟังดูเหมือนอยู่ไกลมาก ผมพักที่สำนักสงฆ์น้ำบ่อนก ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเขามองเห็นตัวอำเภอสะเมิงสลัวในม่านหมอก อากาศที่นี่ในฤดูหนาวค่อนข้างหนาว
ช่วงนั้นเจ้าอาวาสมีพระภิกษุพักอยู่ด้วยเพียงสองสามรูป ผมเห็นว่าเป็นสถานที่เงียบสงบและเหมาะกับการภาวนาจึงพักอยู่ที่นี่นานหน่อย ผมไม่รู้ประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้มากนัก ซึ่งก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องรู้ คืนแรกเดือนหงายในคืนข้างขึ้นใกล้วันเพ็ญ เดือนหงายแม้แต่ตอนกลางคืนก็ยังมองเห็นภูมิทัศน์ทั่วอาณาบริเวณได้ชัดเจน เจ้าสำนักสงฆ์จัดให้พักที่กุฏิเก่าๆหลังหนึ่ง อยู่ใกล้ต้นไม้ขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร ข้างๆกุฏิจะมีทางเดินจงกรมขนาดความยาวประมาณยี่สิบห้าก้าว พอเดินกลับไปกลับมาได้สะดวก เนื่องจากเป็นคืนข้างขึ้น ผมจึงเดินจงกรมโดยไม่ได้จุดเทียนบอกทางไว้เลย ผมเดินจงกรมนานพอสมควร กำลังเพลินๆกับการเดินอยู่นั้นมองกลับไปที่ต้นทางเดินที่อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เหมือนกับมีพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังนั่งมอง ท่านใส่จีวรสีแดงเหมือนพระพม่าที่นิยมใส่ในปัจจุบัน พอเอ่ยปากจะถามภาพนั้นก็หายไป
นึกว่าตัวเองคงตาฝาดไป จึงไม่ได้ใส่ใจ เดินต่อไปอีกสักพัก ในช่วงที่เดือนบนฟ้ากำลังถูกเมฆบัง เหมือนกับว่าพระภิกษุรูปนั้นจะเดินตามหลังมาห่างๆ แต่เมื่อกลับไปมองก็ไม่เห็นมีอะไร เริ่มมีลางสังหรณ์ว่าน่าจะมีอะไรผิดปรกติแล้ว เราคงไม่ตาฝาดถึงสองสามครั้งเป็นแน่ จึงยืนกำหนดจิตแผ่เมตตาว่าหากเป็นวิญญาณของพระภิกษุท่านใดก็ตามขอให้รับรู้ว่าข้าพเจ้ามาดี มาเพื่อบำเพ็ญเพียรไม่ได้มาเพื่อหวังสมบัติใดๆทั้งนั้น หากอยากจะบอกอะไรก็ขอให้มาบอกได้เลย อย่ามารบกวนการบำเพ็ญอย่างนี้เลย หรือหากอยากจะร่วมภาวนาด้วยกันก็ขอให้ไปเดินที่ทางอื่น กำหนดจิตเสร็จก็เดินต่อไปสักพัก ภาพนั้นก็ไม่ได้ปรากฎอีกเลย
ก่อนพักผ่อนก็ยังสวดมนต์ก่อนนอน สวดมนต์ไปได้สักพักเหมือนได้ยินเสียงสวดมนต์อยู่ข้างนอกกุฏิ พอเราหยุดเสียงนั้นก็หยุดและเงียบหายไปด้วย ยังอดขำตัวเองไม่ได้ว่าเรานี่ท่าจะเป็นเอามากหรือว่าจิตคอยหลอกหลอนก็ไม่รู้จึงตัดสินใจนอนพัก พอหลับไปได้สักพักก็เหมือนกับมีพระภิกษุห่มจีวรสีแดงพากันถือดาบเหมือนกำลังฝึกเตรียมพร้อมในการสู้รบกันอยู่หน้ากุฏิเก่าๆแห่งนั้น ภาพในฝันกับภาพที่ปรากฎกลายเป็นสถานที่เดียวกัน ไม่นานก็ได้ยินเสียงม้าวิ่งมาจากทางเบื้องล่างหุบเขา และเกิดการต่อสู้พันตูกันอย่างหนัก มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก แม้แต่พระภิกษุหลายรูปก็ถูกฆ่าตายไปด้วยทั้งๆที่ในมือยังถือดาบ สะดุ้งตื่นกลางดึกมองดูรอบๆอาณาบริเวณเหมือนกับมีดวงตาของเหล่าวิญญาณกำลังจ้องมอง คืนนั้นหลับต่อไม่ได้จึงเดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไปจนสว่างได้เวลาออกบิณฑบาต
ภาพในความฝันในคืนที่ผ่านมายังติดตาตรึงใจไม่หาย ปุญญราโมหันมาถามว่า “ในอดีตมีอยู่หรือที่พระสงฆ์ต้องถือดาบรบทัพจับศึกเหมือนกับที่ผมฝันเห็น”
จึงบอกท่านว่าสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาประมาณปีพุทธศักราช 2310 หลังเสียกรุงให้พม่านั้น มีผู้ตั้งตนเป็นก๊กเป็นเหล่าหลายกลุ่ม ในดินแดนแถบนี้น่าจะมีเจ้าพระฝางซึ่งเป็นพระภิกษุนัยว่าเป็นผู้ทรงวิทยาคมตั้งตนเป็นเจ้ารวบรวมผู้ศรัทธาเลื่อมใสออกรบกับพม่า จนกลายเป็นก๊กหนึ่งที่พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องยกทัพมาปราบ เล่ากันว่าเจ้าพระฝางมีทหารที่เป็นพระสงฆ์ด้วยโดยใส่จีวรสีแดง สถานที่แห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากอำเภอฝางมากนัก หากจะมีกองทัพพระเข้ารบกับทหารพม่าก็น่าจะมีส่วนเป็นไปได้
ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า “เจ้าพระฝางนั้นมีตำแหน่งเป็นสังฆราชหรือพระครูของเมืองสวางคบุรี ตำแหน่งนี้ในสมัยอยุธยาเป็นสมณศักดิ์ที่ตั้งโดยส่วนกลาง เพราะฉะนั้นเจ้าพระ(คือสังฆราชหรือพระครู) แห่งสวางคบุรีน่าจะเป็นภิกษุที่มีวิทยาคุณอยู่บ้าง จึงได้รับแต่งตั้งจากรับบาลกลางได้ถึงตำแหน่งนี้ เจ้าพระฝางอาศัยเหตุที่หัวเมืองเหนือว่างผู้ปกครอง เพราะเจ้าเมืองต้องมาติดศึกในกรุงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า แต่งตั้งญาติโยมและสานุศิษย์ให้เป็นเจ้าเมืองและตุลาการตลอดทั่วหัวเมืองเหนือ ทั้งยังจัดทัพไว้ป้องกันตนเองจากพม่าด้วย แต่เจ้าพระฝางยังคงนุ่งห่มเป็นพระเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนที่อยู่มาอยู่ที่วัดพระฝาง อันเป็นที่ซึ่งมีพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ (นิธิ เอียวศรีวงศ์,การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี,กรุงเทพฯ:บริษัทพิมพ์ดีจำกัด,2529, หน้า 171)
วันต่อๆมาเหตุการณ์นั้นก็ยังคงวนเวียนมารบกวนผมอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ภาพพระห่มจีวรสีแดงรูปนั้นก็ค่อยชัดเจนขึ้น บางครั้งถึงขนาดเดินตามหลังมาติดๆ หรือนั่งสมาธิตรงหน้าผมเลย ผมแผ่เมตตาก็แล้วสวดมนต์ก็แล้วภาพนั้นยังไม่ยอมหายไป พระจีวรแดงรูปนั้นยังคงวนเวียนอยู่แถวๆนั้นไม่ยอมหนีไปไหน บางครั้งเหมือนกับมีเสียงม้าวิ่งขวักไขว่เป็นกองทัพ สอบถามเจ้าอาวาสท่านก็บอกว่า มีชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าในป่าบริเวณแถบนี้เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งทัพของเจ้าพระฝาง ที่แอบซุ่มโจมตีทหารพม่า แต่บอกไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน ทหารเจ้าพระฝางส่วนหนึ่งเป็นพระสงฆ์นิยมนุ่งห่มด้วยจีวรสีแดง” เจ้าอาวาสบอกว่าอันนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าขานกันเท่านั้นไม่มีหลักฐานใดๆมายืนยันได้
ผมเชื่อว่าพระสงฆ์เหล่านั้นคงเป็นทหารจริงๆ คืนวันหนึ่งพระจีวรแดงรูปนั้นมาเข้าฝันพาผมไปดูที่ถ้ำแห่งหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ใต้แมกไม้ใต้ชะง่อนผา หากมองดูภายนอกเหมือนหน้าผาธรรมดาไม่น่าจะถ้ำปรากฏอยู่เลย แต่พอเข้าไปจะมีช่องเล็กพอคนลอดผ่านได้ แต่พอเดินผ่านเข้าไปข้างจะกลายเป็นถ้ำขนาดพอประมาณไม่ใหญ่มากนัก แต่มีช่องเล็กช่องน้อยตามบริเวณถ้ำเหมือนเป็นห้องจำนวนหลายห้อง ในแต่ละห้องจะมีสมบัติที่ทำด้วยทองคำ เพชร นิล จินดา จำนวนมาก ในความฝันนั้นพระจีวรสีแดงรูปนั้นยังบอกให้ปุญญราโม เลือกถือเอาได้ตามชอบใจ แต่ในนิมิตนั้นพอผมยื่นมือไปยังมงกุฏเพชรอันหนึ่งที่สวยงามมากคล้ายมุงกุฏของพระราชินี ผมก็พลันตื่นจากภวังค์นั้น
วันต่อมาๆผมพยายามค้นหาถ้ำในนิมิตนั้น แทบไม่น่าเชื่อว่าภูเขาที่มองดูแสนธรรมดาใกล้ๆกับตัวอำเภอสะเมิงนั้นจะมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยจำนวนมาก ถ้ำบางแห่งมีร่องรอยของการพักอาศัยของพระภิกษุ บางถ้ำเห็นเพียงจีวรขาดวิ่น บางถ้ำเห็นบริขารของพระหลงเหลืออยู่ ผมค้นหาถ้ำในนิมิตเป็นเวลาหลายวัน ผมเพียงแต่อยากพิสูจน์ว่าถ้ำนั้นมีอยู่จริงหรือไม่สมบัตินั้นเป็นสมบัติของเจ้าพระฝางตามที่เคยได้ยินมาหรือไม่ เจ้าพระฝางจะมีสมบัติทิ้งไว้ตามถ้ำตามป่าจริงหรือไม่เท่านั้นเอง แต่ก็ไม่พบเห็นถ้ำตามที่ต้องการเลย จึงเลิกค้นหา ในคืนวันต่อๆมาพระจีวรสีแดงรูปนั้นก็พลันหายสาบสูญไปด้วย
ทุกวันนี้ผมก็ยังสงสัยว่าสมบัตินั้นเป็นเพียงภาพมายาหรือว่ามีอยู่จริง หากมีอยู่จริงก็ไม่น่าจะรอดพ้นสายตาของชาวบ้านไปได้ เมื่อสอบถามชาวบ้านก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีอยู่จริง แต่เคยเห็นทั้งพระธุดงค์ชาวบ้านพากันค้นหาอะไรสักอย่าง ส่วนมากมักจะเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
ผู้เขียนจึงบอกว่า “จะมีอยู่จริงหรือไม่นั้น เมื่อถึงเวลาจะรู้ได้เอง ในอินเดียมีถ้ำที่เป็นอารามเป็นวัดขนาดใหญ่โตมากคือถ้ำอชันตา อโลราที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ภูเขาหลายร้อยปี มองดูภายนอกแสนธรรมดา แต่ภายในกลับกลายเป็นถ้ำที่พิเศษพิสดารเป็นมหาวิหารอันอลังการ บางทีถ้ำอันวิจิตรของพระพุทธศาสนาอาจซ่อนตัวอยู่ในบริเวณหุบเขาแห่งใดแห่งหนึ่งของประเทศไทยก็ได้”
ผมออกจากสำนักสงฆ์น้ำบ่อนกโดยได้บอกพระจีวรแดงรูปนั้นว่าหากอยากจะไปด้วยก็ขอเชิญได้ แต่ถ้ายังอยากอยู่ที่นี่ต่อไปหากมีโอกาสจะกลับมาเยือนใหม่ ค่อยพบกันใหม่เมื่อมีโอกาส ผมเดินทางไปตามป่าเขาต่อไป ไม่มีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน วันนี้ผมมาชวนท่านไปค้นหาถ้ำมหาสมบัติซึ่งน่าจะเป็นสมบัติเจ้าพระฝาง เราไปพิสูจน์กันอีกสักครั้งด้วยกันไหม
ผู้เขียนจึงบอกท่านไปว่า “สมบัตินั้นหากไม่ใช่ของเรา ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ของเรา แม้จะได้มาก็อยู่ได้ไม่นาน หากเป็นสมบัติของเราถึงไม่ค้นหาก็จะมาหาเราเอง ผมก็มีถ้ำคือร่างกายกว้างคืบ ยาววา หนาศอกให้ค้นหาทุกวัน ก็ยังหาความจริงไม่พบเลย ถ้ำอยู่กับเราแท้ๆยังมีความพิเศษขนาดนี้ ถ้ำภายนอกและถ้ำมหาสมบัติแม้จะมีอยู่จริงผมก็ยังไม่อยากเสี่ยง ขอค้นหาความจริงจากถ้ำคือกายนี้ให้พบก่อน ส่วนถ้ำภายนอกค่อยว่ากันอีกที
ปุญญราโมยังคงเดินทางที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด ท่านจะค้นหาสมบัติหรือค้นพบถ้ำภายในหรือไม่ยังตอบไม่ได้ แต่แว่วมาว่าได้ยินข่าวว่าท่านปุญญราโมเดินทางไปเป็นพระธรรมทูตเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่ทางทวีปยุโรปมาหลายปีแล้ว จะเป็นเพียงข่าวลือหรือข่าวจริงไม่มีใครยืนยัน ผู้เขียนก็ไม่ได้พบหน้าท่านปุญญราโม ภิกษุผู้มักจะมีประสบการณ์แปลกๆท่านนั้นมาหลายปีแล้ว
ยังมีความหวังฝังอยู่ในใจเสมอว่าจะได้พบหน้าท่านอีกสักครั้งและอยากถามว่าท่านค้นพบถ้ำมหาสมบัติแห่งนั้นหรือยัง บังเอิญผู้เขียนกำลังจะออกเดินทางไปประชุมพระสงฆ์ไทยในสหภาพยุโรปที่จัดประชุมที่วัดดอลาร์น่าวนาราม เมืองบูเลงเง่ ประเทศสวีเดนซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 19-30 พฤษภาคม 2554 นี้ แต่จะออกเดินทางไปร่วมงานวิสาขบูชาที่เมือฮัมบูรค ประเทศเยอรมันก่อน หากท่านปุญญราโมอยู่ที่ยุโรปจริงตามข่าวคงได้พบกัน ได้เวลาออกเดินแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/05/54