ได้ข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามวิถีทางแห่งระบบอบประชาธิปไตย พอปี่กี่เมืองเริ่มขึ้นนักการเมืองทั้งหลายจึงเริ่มหาเสียงกันอีกครั้ง บางพรรคการเมืองหาเสียงผ่านโทรทัศน์ เช่น “ผมไปพบปะพี่น้องประชาชนมาแล้วทั่วประเทศ...........ผมจะเดินหน้าต่อไปด้วยนโยบายเพื่อประชาชน การเลือกตั้งที่จะมีมาถึงโปรดเลือกพรรคผมเป็นผู้บริหารประเทศอีกครั้ง” จำเป็นต้องฟังมาหลายวันแล้ว เปิดโทรทัศน์เมื่อไหร่ก็มักจะเห็นหน้าหัวหน้าพรรคท่านนี้ ออกมาพูดและยิ้มออกโทรทัศน์ ส่วนพรรคอื่นๆมีบ้างที่เสนอนโยบาย แต่ไม่บ่อยเท่ากับพรรคนี้
การหาเสียงของนักการเมืองมีจุดมุ่งหมายคือให้ได้รับชนะในการเลือกตั้งเข้ามาเพื่อจะได้มาบริหารประเทศตามนโยบายของแต่ละพรรค นั่นคือจุดมุ่งหวังของนักการเมือง แต่เมื่อนักการเมืองแต่ละพรรคต่างก็มุ่งหวังว่าจะได้รับชัยชนะ บางเขตมีสิทธิ์เพียงสามคน แต่มีผู้สมัครถึงสี่สิบคน การแข่งขันจึงเข้มข้นเป็นพิเศษ เมื่อเริ่มต้นอาจหาเสียงตามกติกา แต่เมื่อใกล้วันเวลาเลือกตั้งเข้ามา ต่างก็หวังว่าจะได้ชัยชนะ วิธีการต่างๆจึงถูกนำมาใช้ บางคนขุดรากเหง้าโคตรตระกูลขึ้นมาประจานเพื่อให้คู่แข่งเกิดความเสียหาย ซ้ำร้ายบางคนก็แจกเงินเพื่อให้ประชาชนลงคะแนนให้ เมื่อพฤติกรรมของนักการเมืองเป็นอย่างนี้ จะให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่านักการเมืองเหล่านี้จะเข้าไปบริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ยุติธรรม
นักการเมืองประเภทไหนที่เราควรเลือก ถ้าหากว่าตามอุดมคติก็ต้องมีครบทั้งสามคือ “คนเก่ง คนดี คนมีความรู้” หากได้ไม่ครบจะตัดอะไรออก ประเด็นแรกน่าจะเป็น “คนมีความรู้” เหลือไว้ระหว่าง “คนเก่งกับคนดี” ระหว่างคนเก่งกับคนดีจะตัดใครออกเป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณพอสมควร การเลือกคนผิดอาจจะต้องทำให้เกิดความเสียใจไปนาน เหมือนลูกสาวเศรษฐีเลือกรักคนผิด
เรื่องนี้เกิดขึ้นในมัยพุทธกาลปรากฏในอรรถกถาวีณาถูณชาดกความว่า ครั้งหนึ่งพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารได้เล่าเรื่องลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่งว่า “ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐีในตำบลหนึ่ง ครั้นเจริญวัยแล้วมีครอบครัว เจริญด้วยบุตรธิดาทั้งหลายจึงได้ขอธิดาของเศรษฐีกรุงพาราณสีให้แก่บุตรของตน ได้กำหนดวันกันไว้แล้ว
ฝ่ายธิดาเศรษฐีเห็นเครื่องสักการะสัมมานะของโคอุสภราชที่เรือนของตนจึงถามพี่เลี้ยงว่าสัตว์นี้ชื่ออะไร ได้ฟังว่าโคอุสภราช ครั้นเห็นชายค่อมเดินอยู่ระหว่างถนน จึงได้คิดว่าชายนี้คงเป็นบุรุษอุสภราช จึงถือห่อของมีค่าหนีไปกับชายค่อมนั้น
ฝ่ายพระโพธิสัตว์คิดว่าจักนำธิดาเศรษฐีมาเรือน จึงไปยังกรุงพาราณสีกับบริวารเป็นอันมาก เดินทางไปทางนั้นเหมือนกัน ชายค่อมกับธิดาเศรษฐีเดินทางกันตลอดคืน ชายค่อมซึ่งถูกความหนาวเบียดเบียนตลอดคืน ได้เกิดโรคลมกำเริบขึ้นในร่างกาย ในเวลาอรุณขึ้นเกิดทุกขเวทนาสาหัส เขาจึงแวะลงจากทางทนทุกขเวทนานอนขดตัวงอมีธิดาเศรษฐีก็นั่งเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิด
พระโพธิสัตว์เห็นธิดาเศรษฐีนั่งอยู่ที่ใกล้เท้าชายค่อมจำได้จึงเข้าไปหา เมื่อจะสนทนากับธิดาเศรษฐี ได้กล่าวคาถาแรกว่า “เรื่องนี้เจ้าคิดคนเดียว บุรุษเตี้ยค่อมผู้โง่เขลานี้จะนำทางไปไม่ได้แน่ ดูก่อนเจ้าผู้เจริญ เจ้าไม่สมควรจะไปกับบุรุษเตี้ยค่อมผู้นี้เลย
ธิดาเศรษฐีฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้วกล่าวตอบว่า “ดิฉันเข้าใจว่าบุรุษค่อมเป็นผู้องอาจ จึงได้รักใคร่กับบุรุษค่อมผู้นี้นอนตัวงออยู่ ดุจคันพิณที่มีสายขาดแล้วฉะนั้น”
ลูกชายเศรษฐีโพธิสัตว์ทราบว่า นางปลอมตัวหนีมา จึงให้อาบน้ำตกแต่งตัวให้ขึ้นรถไปยังเรือนของตน ลูกสาวเศรษฐีเลือกคนหลังค่อมเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้องอาจ แต่ภายหลังกลับตัวได้เพราะได้เห็นธาตุแท้และความจริงของคนหลังค่อมว่าไม่อาจจะเลี้ยงดูตนให้มีความสุขได้ จึงได้ไปกับลูกชายเศรษฐีที่มีชาติตระกูลเสมอกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
นักการเมืองย่อมปรารถนาจะชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นวิธีการต่างๆจึงต้องนำมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อให้ถูกใจประชาชนมากที่สุด บางคนมิได้คำนึงถึงอนาคตว่าตนเองจะทำได้ตามที่ได้รับปากไว้หรือไม่ การเลือกผู้แทนจึงต้องพิจารณาก่อนเลือกอย่าให้เป็นเหมือนลูกสาวเศรษฐีที่คาดคะเนเอาเองว่าโคมีหนอกคือโคที่ดีคนมีหนอกก็ย่อมเป็นคนดี ในที่สุดก็จะพบกับความผิดหวัง
ที่ใดไม่มีความสงบที่นั่นไม่เรียกว่าสภา เมื่อนักการเมืองได้รับการเลือกตั้งแล้วก็ต้องเดินเข้าสภา พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงสภาไว้ในโขมทุสสสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค อุปาสกวรรค (15/724/224) มีความตอนหนึ่งว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมชื่อว่าโขมทุสสะของเจ้าศากยะ ในแคว้นสักกะเวลาเช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังโขมทุสสนิคม ในขณะนั้น พวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคมกำลังประชุมอยู่ในสภาด้วยกรณียกิจบางอย่างและฝนกำลังตกอยู่ประปราย พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังสภานั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงได้กล่าวขึ้นว่า คนพวกไหนชื่อว่าสมณะโล้น และคนพวกไหนรู้จักธรรมของสภา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิค ด้วยพระคาถาว่า “ในที่ใดไม่มีคนสงบ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา คนเหล่าใดไม่กล่าวธรรม คนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าคนสงบ คนสงบละราคะโทสะ และโมหะแล้ว กล่าวธรรมอยู่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น พวกข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึงท่านพระโคดมผู้เจริญกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพุทธกาล หันมามองสภาของนักการเมืองไทยในปัจจุบัน ท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ที่มาจากการปฏิวัติยังคงตั้งหน้าประชุมเพื่อออกกฎหมาย บางวันรีบเร่งผ่านถึง 20ฉบับ อย่างนี้น่านับถือ แต่ที่น่าสนใจคือกฎหมายเหล่านั้นมีสารประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่หรือไม่ หรือว่ามุ่งเพื่อคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ถ้าเป็นประเด็นหลังก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง
เมื่อนักการเมืองที่ควรเลือกอยู่ในกรอบคือ “เก่ง ดี มีความรู้” ก็ควรเลือกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุด ถ้าหากจะเลือกโดยที่สุดแล้วน่าจะเหลือคุณสมบัติไว้ข้อสุดท้ายคือควรเป็นคนดี ตามที่พุทธภาษิตในอานันทสูตร ขุททกนิกาย (ขุ. ธ. 25/124/117)และวินัยปิฎก จุลวรรคตอนหนึ่งว่า ( วิ.จุ.7/388/130) ว่า “ความดี คนดีทำง่าย ความดีคนชั่วทำยาก ความชั่วนั้นคนชั่วทำง่าย แต่อารยชนทำความชั่วได้ยาก” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหล่าคนดีย่อมสรรเสริญความกลัวต่อบาป ไม่สรรเสริญความกล้าในบาปเลย
การจะเลือกคนดีเข้าสภาที่ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาว่าจะต้องมีความสงบและคนพูดความจริงที่ถูกต้องตามธรรมะนั้น แม้จะมิใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ นักการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชนย่อมมีความผูกพัน ประชาชนสามารถจะแยกแยะได้ว่าควรจะเลือกใครเป็นตัวแทน เพราะถ้าเราตัดสินใจเลือกผิดอาจจะคิดจนตัวตายก็ได้ หรือไม่ก็อาจจะมีปฏิวัติร่างธรรมนูญใหม่ไม่รู้จบสักที ขอได้แต่หวังว่าหากจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ ก็ขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้คนดี คนเก่งและคนมีความรู้เข้าไปบริหารบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤติเสียที แต่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า “มีการยุบสภา แต่ไม่มีการเลือกตั้ง”ถ้าเป็นอย่างที่เขาเล่าลือจริง ประเทศไทยก็จะมีการแข่งขันกีฬาสีตลอดปี....สีเหลืองและสีแดง....
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/05/54