อารามเวฬุวนารามตั้งอยู่ชายป่าใกล้เมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายอารามแห่งนี้แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้กลายเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา “เวฬุ”แปลว่าไม้ไผ่ “วน”แปลว่าป่า ส่วนคำว่า“อาราม”แปลว่าสวน เมื่อนำมารวมกันได้ชื่อว่า “เวฬุวนาราม”จึงหมายถึง สวนป่าไผ่ ในอดีตคงเป็นที่ร่มรื่นเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมและเป็นที่พักของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แม้ในปัจจุบันก็ยังได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดี พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าไปสักการะสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ได้ทุกวัน
ห่างออกไปไม่ไกลนักจะมีบ่อน้ำที่เรียกว่า “ตโปทาราม” ซึ่งเป็นที่สำหรับอาบน้ำของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้นวรรณะ พวกวรรณะกษัตริย์และวรรณะพราหมณ์จะอาบน้ำบนที่สูงสุดหรือน้ำแรกที่ไหลมาจากภูเขา จากนั้นน้ำก็จะค่อยๆไหลลงไปสู่ที่ต่ำตามลำดับ พวกวรรณะแพศย์และศูทรก็จะอาบน้ำที่ไหลมาจากการชำระล้างของพวกพราหมณ์และกษัตริย์ น้ำสุดท้ายจึงมีสีดำคล้ำเพราะได้ถูกชำระล้างเหงื่อไหลของพวกที่อยู่ในวรรณะสูง พวกที่ไม่มีวรรณะหรือพวกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะกันคือพวกจัณฑาลก็จะดำผุดดำว่ายในสายน้ำที่มองดูเหมือนน้ำครำ แต่ทว่าพวกเขาดูเหมือนจะไม่ได้แสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์แต่ประการใดยังอาบน้ำอย่างมีความสุข เพราะต่างก็มีความเชื่อว่าน้ำแห่งนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้น้ำจากแม่น้ำคงคาเท่าใดนัก
ดูเหมือนว่าในเรื่องของความเชื่อนั้นอินเดียจะเป็นชนชาติที่มีความเชื่อมั่นคงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ในอดีตเมื่อสองพันกว่าปีเคยกระทำอย่างไร แม้ในปัจจุบันก็ยังมีคนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศเพื่ออาบน้ำที่ตโปทารามแห่งเมืองราชคฤห์ เนืองแน่นแทบทุกวัน แม้เหตุการณ์จะแปรเปลี่ยนหรือโลกจะเจริญด้วยเทคโนโลยีอย่างไรก็ตาม แต่ทว่าความเชื่อเรื่องชนชั้นวรรณะและการอาบน้ำที่ตโปทารามแห่งนี้จะไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ยังรักษาวัฒนธรรมการเปิบข้าวด้วยมือให้เห็นแทบทุกแห่งในดินแดนแห่งพุทธภูมิแห่งนี้
วันมาฆบูชามักจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี อีกวันหนึ่งที่ตรงกันกับวันมาฆบูชาคือวันศิวาราตรีในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ บางแห่งนิยมเรียกว่า “วันมหาศิวาราตรี” เป็นวันสำคัญทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ฮินดู คำว่า “ศิวาราตรี” แปลว่าราตรีหรือค่ำคืนแห่งการบูชาพระศิวะเจ้า ศิวาราตรีเป็นเทศกาลสำคัญยิ่งวันหนึ่งในรอบปีของชาวฮินดู โดยพิธีศิวาราตรีจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสาม ตามปฏิทินจันทรคติของไทย หรือเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของฮินดู คือพิธีนี้จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี โดยวันสำคัญที่สุดของเทศกาลนี้อยู่ในคืนวันเพ็ญ กฤษณปักษ์ เดือนสาม ชาวฮินดูจะประกอบพิธีบูชาพระศิวะเจ้าด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งคือ “ตโปทาราม”ชานเมืองราชคฤห์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก “เวฬุวนาราม” เดินไปไม่นานก็ถึง
วันเพ็ญเดือนมาฆะเมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้วนั้น มีพระสงฆ์อรหันต์กลุ่มหนึ่งที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวนาราม จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็เพื่อจะสอบถามพระพุทธองค์ว่า ในพิธีศิวาราตรีของพราหมณ์ ในฐานะพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติตนอย่างไร เพราะพระอรหันต์เหล่านี้ล้วนเป็นพราหมณ์มาก่อนที่จะได้รับการอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ต่างก็เคยเข้าร่วมพิธีศิวาราตรีมาแล้วทั้งนั้น
พระพุทธองค์จึงได้ถือเอาวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นวันประกาศหลักการแห่งพระพุทธศาสนาโดยประกาศต่อหน้าสาวกซึ่งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์จำนวน 1250รูป ทุกรูปล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้หรือพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์) แต่ละรูปต่างฝ่ายต่างมามาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายกันไว้ก่อน และวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นการประกาศหลักการสำคัญอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ซึ่งมีใจความที่ปรากฏใน ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/54/43)ความว่า “ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต หกอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
หลักสำคัญอันถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาจึงอยู่ที่คำว่า “การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส”
จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ "ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง"
จุดยืนของชาวพุทธในการดำรงอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดอยู่ที่คำว่า "ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย และบทสรุปในคำสอนบทสุดท้ายว่า “ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต หกอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
โอวาทปาฏิโมกข์จึงสรุปเป็นสามส่วนคือ (1)ประกาศหลักการสำคัญ (2)ประกาศจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา (3)แสดงจุดยืนของชาวพุทธ
วันมาฆบูชาเป็นการประกาศหลักการที่สำคัญของพระพุทธศาสนาและหลักธรรมสำหรับนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาภายใต้กาละและเทศะในยุคนั้นคือ
ในด้านกาละนั้น พระพุทธเจ้าเลือกแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งเป็นวันศิวาราตรีหรือวันกระทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือในสมัยนั้น แม้ในสมัยปัจจุบันพระพุทธศาสนาจะหายไปหจากดินแดนแห่งนี้แล้ว เหลือไว้เพียงหลักฐานว่าเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูยังคงอยู่คู่กับสังคมอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน
พระพุทธศาสนามีความเห็นต่างจากศาสนาพราหมณ์หลายเรื่องเช่นเสนอคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่เป็นการปฏิเสธอำนาจพรหมลิขิตและระบบวรรณะ เสนอคำสอนใหม่เรื่องอนัตตาที่ขัดกับความเชื่อเรื่องอัตตา และยังปฏิเสธการลอยบาปในแม่น้ำคงคาตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ความเห็นแตกต่างเหล่านี้ ก็ได้ดำเนินไปด้วยความชัดเจนในความจริงและเหตุผล ที่นำเสนอบนจุดยืนที่จะไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างไปจากตน
ส่วนในด้านเทศะ พระพุทธองค์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ณ สวนไผ่หรือเวฬุวนารามที่พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งมคธรัฐ ได้ถวายให้เป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนานาม นครราชคฤห์ ในขณะนั้นมีศาสดาเจ้าลัทธิ ประกาศลัทธิความเชื่อของตนอยู่จำนวนมาก และอยู่ใกล้กับตโปทาราม บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์มาประกอบพิธีศิวาราตรี
เนื้อความแห่งโอวาทปาฏิโมกข์ ที่ย้ำการไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่กล่าวร้าย ที่พระพุทธองค์แสดงแก่พระอรหันต์ 1,250 องค์ ประกอบด้วยพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระคยากัสสปเถระรวม 1,000 องค์ รวมกับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระอีก 250องค์ รวมทั้งสองคณะเป็น 1,250องค์ ภิกษุเหล่านี้ในอดีตก่อนจะมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เคยสังกัดลัทธิความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ และเข้าใจบรรยากาศแห่งความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ในยุคนั้นดีอยู่แล้ว จึงเป็นการประกาศจุดยืนของชาวพุทธ ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับฝ่ายที่มีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน
ในวันนั้นตรงกับวันศิวาราตรี ภิกษุที่มาประชุมกันในวันนั้นในอดีตเคยมาทำพิธีลอยบาปในวันศิวาราตรี พออุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้วด้วยความเคยชิน พอถึงวันสำคัญก็มีเจตนาจะมาทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะให้ทำอย่างไรในพิธีศิวาราตรี พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์อันเป็นหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนกลายมาเป็นหลักธรรมประจำใจของพระธรรมทูตในยุคปัจจุบัน
แม้ทุกวันนี้โลกได้พัฒนามาไกลจากกาละและเทศะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์สองพันกว่าปีแล้วก็ตาม แต่ทว่าโลกยังคงมีความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ และแนวปฏิบัติแตกต่างกันออกไปเป็นจำนวนมาก บางครั้งผสมผสานหลายความเชื่อเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นวิถีและความเชื่อใหม่ในสังคม ที่บางครั้งความเชื่อทางศาสนาได้ผนึกรวมเป็นความเชื่อใหม่ที่มาจากศาสนาแต่อาจจะไม่ขึ้นอยู่กับศาสนา เฉกเช่นวันศิวาราตรีและวันมาฆบูชา แม้จะต่างกันในด้านกาละ และเทศะ แต่ก็มาอยู่ร่วมในช่วงเดือนเดียวกัน
จุดยืนของชาวพุทธตามโอวาทปาฏิโมกข์ที่ว่าผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ที่นั่งที่นอนอันสงัด ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าจะทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่สร้างเงื่อนไขแห่งความรุนแรง แต่เป็นศาสนาแห่งสันติภาพและสร้างความรักแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
จากความเชื่อเก่าที่เชื่อในการลอยบาปว่าบาปสามารถชำระล้างได้ด้วยการอาบน้ำชำระกายในวันพระจันทร์เต็มดวงแห่งเดือนมาฆะเรียกว่าศิวาราตรีนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงความเชื่อใหม่ว่าการไม่ทำบาปทั้งหลายทั้งปวงดีกว่าการทำบาปแล้วมาลอยบาป เรียกว่าถ้าเหตุเริ่มต้นดีผลก็ย่อมจะดีไปด้วย บาปและบุญอยู่ที่เหตุ ถ้าไม่ทำความชั่วแล้ว บาปจะมาจากไหน ดังนั้นบาปจึงไม่ต้องลอยในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทีไหน แต่อยู่ที่การตั้งจิตคิดงดเว้นไม่กระทำ
นักเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องมีหลักการ ดำเนินตามแนวทางที่พระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว เมื่อเจอกับสภาวะที่กดดันต้องฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ทุกอย่างต้องใช้ใช้ความอดทนอดกลั้นเป็นคุณธรรมประจำ หลักธรรมของนักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาหรือธรรมสำหรับนักการทูตอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าแสดงมีปรากฎในทูตสูตร อังคุตตรนิกาย อฏฐกนิบาต (23/106/149) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรมแปดประการ ควรไปเป็นทูตได้คือเป็นผู้รับฟัง ให้ผู้อื่นรับฟัง เรียนดี ทรงจำไว้ดี รู้เอง ให้ผู้อื่นรู้ เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ และไม่ก่อการทะเลาะ”นักการทูตทั้งหลายจึงควรพิจารณา ไม่ใช่ไปชวนเขาทะเลาะไม่เว้นแต่ละวันเหมือนนักการทูตของบางประเทศ
มาฆบูชาในแต่ละปีจึงเป็นโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ทบทวนหลักการ อุดมการณ์และวิธีการของผู้จะทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาหรือพระธรรมทูต ผู้ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ต้องมั่นคงในหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ในวันเพ็ญเดือนมาฆะเมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้ว กาลเวลาเปลี่ยนแต่หลักการคงเดิม หากดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ปัญหาหนักก็จะกลายเป็นเบา ส่วนปัญหาน้อยก็จะพลอยหมดไป
ในปีพุทธศักราช 2554 วันมาฆบูชาตรงกับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 วัดในพระพุทธศาสนาทุกแห่งจะมีพิธีเวียนเทียนและการปฏิบัติธรรมเพื่อระลึกถึงคุณูปการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพุทธสาวกที่ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนทำให้ชาวโลกได้รู้จักพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน วัดมัชฌันติการาม วงศ์สว่าง บางซื่อ จะเริ่มพิธีในวันมาฆบูชาเวลา 19.00 น. เป็นต้นไปใครอยู่ใกล้ขอเชิญได้ตามสะดวก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
แก้ไขปรับปรุง
18/02/54