วันหนึ่งขณะที่ฝนตกพรำตลอดวัน บรรยายกาศในวัดมัลวัตตะ แคนดี้ ศรีลังกา เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่กำลังรอการประกอบพิธีอุปสมบทพระภิกษุภายในพระอุโบสถ ได้ไปยืนหลบฝนหลังพระอุโบสถหน้ากุฏิสงฆ์หลังเล็กๆแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งถามว่ามาจากเมืองไทยใช่ไหม จากนั้นท่านก็บอกว่าเชิญตามผมมาจะพาไปกราบหลวงพ่อที่มาจากประเทศไทยเหมือนกัน เมื่อเดินตามท่านไปในกุฏิเล็กๆหลังนั้น ท่านชี้ไปที่รูปปั้นสามรูปที่ยืนเรียงรายหน้ากุฏิ พลางบอกว่านั่นคือหลวงพ่อที่มาจากเมืองไทยซึ่งเป็นเพียงรูปหล่อด้วยทองเหลืองของพระสงฆ์รูปหนึ่งเท่านั้น หาใช่พระภิกษุที่มีลมหายใจแต่อย่างใด
พระสงฆ์รูปนี้แหละที่ทำให้คณะสงฆ์ศรีลังกาไม่สิ้นสมณวงศ์ เพราะได้เป็นพระอุปัชฌาย์ทำการอุปสมบทกุลบุตรชาวศรีลังกาเป็นพระภิกษุจำนวนมากและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน รูปปั้นนั่นคือพระอุบาลีพระธรรมทูตจากประเทศไทยที่ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังเมื่อปีพุทธศักรา 2295 นับเวลาถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 259 ปีล่วงมาแล้ว ส่วนรูปหล่ออีกสองรูปนั้นคือพระสรณังกร พระสังฆราชรูปแรกแห่งสยามนิกายและพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ องค์ศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา
ในขณะที่อยู่ตรงหน้ารูปหล่อพระอุบาลี ที่วัดมัลวัตตุหรือวัดบุปผารามหรือคนไทยนิยมเรียกว่าวัดอุบาลี เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา เกิดความรู้สึกว่าพระภิกษุที่ทำหน้าที่สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาจนกระทั่งต้องมรณภาพในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเองนั้น ช่างเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ยอมพลีชีพเพื่อพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ธรรมดานี่แหละไม่ใช่พระอรหันต์แต่ก็สามารถทำงานระดับชาติได้
กุฏิท่านพระอุบาลีและห้องพักของท่านได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีแม้จะเป็นเพียงห้องเล็กๆมีเพียงเตียงเก่าๆและโต๊ะเก้าอี้อีกหนึ่งชุดเท่านั้นเอง แต่ก็ได้สร้างคุณูปการแก่คณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ผลงานที่ยิ่งใหญ่ต่างหากที่ทำให้คนจดจำได้นาน หาใช่ทรัพย์สมบัติแต่อย่างใด มีกษัตริย์หรือเศรษฐีมหาศาลหลายหมื่นหลายพันคนที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกนี้และได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่จะมีใครสักกี่คนที่ยังมีคนจดจำได้บ้าง
ในขณะที่ประเทศศรีลังการับเอาพระพุทธศาสนาจากประเทศไทยจนกลายเป็นนิกายที่สำคัญนิกายหนึ่งในศรีลังกาในปัจจุบันเรียกว่า “สยามวงศ์”หรือ “สยามนิกาย”ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายที่สำคัญนิกายหนึ่งในสามนิกายของพระพุทธศาสนาในศรีลังกาปัจจุบัน ประเทศไทยก็รับเอาพระพุทธศาสนาจากศรีลังกาเข้ามาจนกลายเป็น “ลังกาวงศ์”
พระพุทธศาสนาเถรวาทในศรีลังกาปัจจุบันมีนิกายสำคัญสามนิกายคือสยามนิกาย รามัญนิกาย และอมรนิกาย มีพระสังราชที่เป็นประมุขสงฆ์แต่ละนิกายสี่องค์ สยามนิกายมีสังฆราชสององค์คือฝ่ายคามวาสีและฝ่ายอรัญญาวาสี
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทยครั้งแรกที่นครศรีธรรมราช พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช 1820 พระองค์ได้นิมนต์พระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชมาเผยแผ่ที่เมืองสุโขทัย ดังที่ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่หนึ่งว่า “เบื้องตะวันตกสุโขทัยมีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชเรียนจบปิฏกไตรย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา (ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1 กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2521,หน้า 22)
ฐากูร พานิชบันทึกไว้ว่า “พระสงฆ์ชาวลังกาที่เดินทางมานครศรีธราชครั้งแรกมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ที่ทรงฟื้นฟูพระธรรมวินัยและสยามก็ได้ส่งพระสงฆ์ไปบวชแปลงในลังกา ขากลับได้นิมนต์พระสงฆ์ลังกานามว่าราหุลมาจำพรรษาที่นครศรีธรรมราชด้วย และต่อมาก็ได้ตั้งลังกาวงศ์ขึ้นในสยามประเทศ (ฐากูร พานิช,ไทย-ศรีลังกา กัลยาณมิตร,กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,2545,หน้า 23)
ลังกาและไทยจึงมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่อยมา มีพระสงฆ์ไทยไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่ศรีลังกาหลายรูป บางรูปกลับมาแต่งคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในขณะที่พระสงฆ์จากศรีลังกาก็เดินทางมาพักจำพรรษาในประเทศไทย ปัจจุบันมีพระสงฆ์ไทยศึกษาที่ประเทศศรีลังกาหลายรูปและในขณะเดียวกันก็มีพระสงฆ์จากศรีลังกาเข้ามาศึกษาในประเทศไทยจำนวนมาก
จนกระทั่งศรีลังกาเกือบสูญสิ้นสมณวงศ์ทั้งประเทศมีสามเณรเพียงรูปเดียวนามว่าสามเณรสรณังกร สาเหตุที่พระสงฆ์ในศรีลังกาไม่มีนั้นมีสาเหตุสำคัญหลายประการ ดังที่ลังกากุมารเขียนไว้ในตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกาตอนหนึ่งว่า “ส่วนหนึ่งมาจากคณะสงฆ์เองนำเอาคติความเชื่อแบบมหายานและลัทธิฮินดูเข้ามาผสมผสานกับคำสอนแบบเถรวาท ความเชื่อเหล่านี้ได้กลืนเป็นเนื้อเดียวกับจารีตแบบพุทธ จนกระทั่งพิธีกรรมกลายเป็นคำสอนหลัก ส่วนหนึ่งมาจากการละเลยเพิกเฉยของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่สับสนวุ่นวายเกิดการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างราชวงศ์สิงหลด้วยกันเอง นอกจากนั้นนักล่าอาณานิคมตะวันตกคือโปรตุเกสเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้วเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธิลิกด้วยวิธีการที่รุนแรง เพื่อถอนรากถอนโคนพระพุทธศาสนา และสุดท้ายกษัตริย์สิงหลเองทำลายล้างพระพุทธศาสนาจนสูญสิ้นสมณวงศ์ เพราะทรงหันไปนับถือลัทธิฮินดูนิกายไศวะ” (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,กรุงเทพฯ: สาละ,2552,หน้า 119)
ในปีพุทธศักราช 2293 พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกามีความศรัทธาแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ศรีลังกาอีกครั้ง จึงได้ส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา ลังกากุมารบันทึกไว้ว่า “พ.ศ. 2293 คณะราชทูตออกเดินทางจากท่าเรือตรินโคมาลี โดยเรือของฮอลันดานามว่าเวลตรา การเดินทางครั้งนั้นผ่านเมืองอะแจ สุมาตราและแวะพักที่มละกาเป็นเวลาห้าเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูมรสุม จากนั้นคณะราชทูตได้เดินทางเข้ามายังปากน้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองบางกอกและนนทบุรี” (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,หน้า 122)
ปีพุทธศักราช 2294 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาโปรดให้คัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยประกอบด้วยพระสงฆ์ 24 รูป นำโดยพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระ พร้อมทั้งสามเณรอีกเจ็ดรูป ออกเดินทางด้วยเรือกำปั่นหลวงที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นพาหนะส่งคณะสงฆ์ไทยไปลังกา แต่การเดินทางในครั้งนั้นมิได้ราบรื่นเรือกำปั่นของพระสมณทูตถูกคลื่นใหญ่ซัดจนมาเกยตื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช คณะสงฆ์ชุดนั้นจึงไปไม่ถึงลังกา (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,หน้า 125)
ปีพุทธศักราช 2295 คณะสงฆ์ชุดเดิมออกเดินทางอีกครั้งโดยเรือกำปั่นฮอลันดา ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือตรินโคมาลี พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะรับสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่ต้อนรับและเชิญพระสงฆ์และคณะราชทูตไทยเข้ามายังเมืองแคนดี้ โปรดให้พระสงฆ์ไทยไปพักที่วัดบุปผาราม ปัจจุบันคือวัดมัลวัตตะ จากนั้นพระอุบาลีได้ทำการอุปสมบทภิกษุชาวสีงหลจำนวน 700 รูป และบรรพชาสามเณรอีก 3000 รูป (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,หน้า 129)
ในณะที่พระสาสนโสภณ(พิจิตร)ได้บันทึกถึงการอุปสมบทไว้ตอนหนึ่งว่า “วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระอุบาลีให้อุปสมบทแก่สามเณรไทยหนึ่งรูปก่อนในคามวาสี เวลาค่ำพระเจ้ากีรติศิริราชสิงหะเสด็จไปยังวัดบุปผารามพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงอาราธนาพระสงฆ์ไทยมีพระอุบาลีเป็นประธานให้อุปสมบทแก่สามเณรสิงหลผู้ใหญ่หกรูป มีสามเณรสรณังกรเป็นประธาน ในวันอุปสมบทสามเณรสรณังกรมีอายุ 54 ปี (พระสาสนโสภณ,พระธรรมทูตไทยไปศรีลังกาในสมัยอยุธยา(พิมพ์ครั้งที่ 5),กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์,2553,หน้า 66)
งานของพระธรรมทูตจากประเทศไทยนอกจากการให้การอุปสมบทพระสงฆ์ชาวสิงหลแล้ว ยังทำกิจวัตรของสงฆ์คือการสวดมนต์ดังที่ฐากูร พานิชบันทึกไว้ว่า “ทุกค่ำพระอุบาลี พระอริยมุนีและพระสงฆ์อันดับจะพร้อมกันสวดมนต์ สามเณรลังกาจะมานั่งฟังสวดพร้อมกันทุกวัน นอกจากนั้นพระอุบาลียังได้ผูกพัทธสีมาอีกหลายวัด" (ฐากูร พานิช,ไทย-ศรีลังกา กัลยาณมิตร,หน้า 43)
หน้าที่ของพระสงฆ์โดยทั่วไปนั้นสรุปได้สั้นๆว่า “ศึกษาเล่าเรียน พรากเพียรปฏิบัติ สันทัดในการสอน และไม่สั่นคลอนศรัทธา” หากทำได้ตามนี้ชีวิตพระก็ไม่เสียหาย ศาสนาก็สามารถสืบต่อไปได้อีกนาน
ส่วนหน้าที่ของพุทธศาษสนิกชนก็สรุปได้สั้นๆว่า “เกื้อกูลพระ กระทำบุญ คุ้นพระศาสนา เป็นอุบาสกอุบาสิกาชั้นนำ” ส่วนความหมายลองไปตีความเอาเอง
ก่อนที่สมณทูตชุดที่สองจะเดินทางไปถึงศรีลังกานั้น พระอุบาลีมรณภาพด้วยโรคหูอักเสบ ภายในกุฏิวัดบุปผารามเมื่อปีพุทธศักราช 2299 พระเจ้าแผ่นดิศรีลังกาให้จัดพิธีถวายเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ โดยจัดขึ้นที่สุสานหลวงนามว่าอาดาหะนะมะลุวะ ปัจจุบันคือวัดอัศคิริยะเคดิเควิหาร หลังเสร็จสิ้นพิธีถวายเพลิงศพแล้ว ทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฏฐิเพื่อสักการบูชาซึ่งมีปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบัน
ก่อนจากวัดมัลวัตตะได้ไปกราบพระสังฆราชสยามนิกายฝ่ายคามวาสีที่ท่านเมตตาให้ชาวคณะแสวงบุญจากประเทศไทยเข้าถวายสักการะ ฝนยังคงตกพรำเหมือนเทวดากำลังประพรมน้ำมนต์จากฟากฟ้า อากาศจึงเย็นสบาย ก่อนจะเดินทางไปสักการะเจดีย์บรรจุอัฏฐิพระอุบาลีและกราบสักการะพระสังฆราชมหานายกสยามนิกายฝ่ายอรัญวาสีที่วัดอัศคิริยะเคดิเควิหาร วันนั้นชาวคณะโชคดีได้กราบนมัสการพระสังฆราชแห่งสยามนิกายทั้งสององค์
วันนั้นแม้จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆในท่ามกลางสายฝนที่ตกพรำตลอดวัน ก็ยังมองเห็นความเด็ดเดี่ยวในดวงตาของพระอุบาลีผู้เสียสละตนเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งสามารถก่อให้เกิดสยามวงศ์ขึ้นในประเทศศรีลังกา แม้ว่าในวาระสุดท้ายจะไม่ได้กลับมามรณภาพที่บ้านเกิด แต่คุณูปการที่พระอุบาลีและคณะสงฆ์ที่เดินทางไปลังกาในครั้งนั้นทำให้พระพุทธศาสนากลับมาตั้งมั่นในเกาะลังกาอัญญมณีแห่งตะวันออกและเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
03/01/54
อ้างอิง
ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1 กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2521,หน้า 22
พระสาสนโสภณ,พระธรรมทูตไทยไปศรีลังกาในสมัยอยุธยา(พิมพ์ครั้งที่ 5),กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์,2553,หน้า 66
ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,กรุงเทพฯ: สาละ,2552,หน้า 119
ฐากูร พานิช,ไทย-ศรีลังกา กัลยาณมิตร,กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,2545,หน้า 23