ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2553 เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าต่างแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระที่มีพระชนมายุครบ 83 พรรษา หน่วยงานราชการ เอกชน บริษัท ร้านค้า ประชาชนต่างก็ประดับตกแต่งธงทิวปลิวไสว พร้อมด้วยภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบรมฉายาลักษณ์ไปทั่วประเทศ โทรทัศน์ หนังสือพิพม์หรือสื่ออื่นๆต่างก็ได้นำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเผยแพร่ ไซเบอร์วนารามขอร่วมนำเอาแนวพระราชดำริของพระองค์ที่มีคนรู้จักไปทั่วโลกคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานำเสนอเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในปีนี้ด้วย
ในปัจจุบันกระแสแห่งเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รับรู้ของสังคมมากยิ่งขึ้น แม้แต่รัฐบาลเองก็ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญาในการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ โดยยึดหลักทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและการกระทำ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับนำหลักปรัชญาฯ ไปเป็นพื้นฐานและแนวทางในการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีความเข้มแข็ง และประเทศชาติมั่นคง เศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์ มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไรนั้น ก่อนอื่นควรรู้จักและทำความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเบื้องต้นก่อน
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นผลสืบเนื่องมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ต่างกรรมต่างวาระติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี จากพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 กรกฎาคม 2517 มีความตอนหนึ่งว่า “ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นเริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชาเมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้วจึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป…การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้นก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์”(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 กรกฎาคม 2517)
ต่อมาในวันที่ 4 ธันวาคม 2517 ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระองค์ก็ตรัสมีความตอนหนึ่งว่า “ทำงานเพื่ออะไร ก็ทำเพื่อความสุข ทุกคนต้องการความสุข แต่ถ้าความสุขเป็นเฉพาะบุคคล ก็เป็นความสุขที่โง่” (พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2517)
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวันที่ 28 สิงหาคม 2518 ความว่า “…ผู้มีปัญญาทุกระดับจึงต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องรู้จักรับรู้จักใช้ความรู้อย่างถูกต้องเพื่อสามารถพิจารณาการกระทำให้เหมาะสมแก่ทุกกรณี…”(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 28 สิงหาคม 2518)
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541 ความว่า “พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่งไม่โลภอย่างมากคนเราก็อยู่เป็นสุข” (พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541)
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรัสกับพสกนิกรนั้นได้กลายมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรียกว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม
ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
มีคำอยู่สามคำที่ถือเป็นสาระสำคัญในพระราชดำรัสคือ “ทางสายกลาง ความพอเพียง และความมีเหตุผล” อาจเทียบได้กับคำในภาษาบาลีได้ว่า “มชฺฌิมาปฏิปทา สนฺตุฏฐี เหตุปจฺจโย” ในส่วนของทางสายกลางมีผู้อ้างว่า ถ้าสามารถพัฒนาตาม “ทางสายกลาง”ไปสู่ความเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับได้แล้ว ผลที่จะเกิดตามมาก็คือการมีความแข็งแรงและ “ระบบภูมิคุ้มกันในตัวต่อผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน” เหมือนคนที่ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ กินอาหารที่มีคุณค่าอย่างพอดี ร่างกายก็จะมีความแข็งแรง และเกดระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นต้น (สุนัย แศรษฐ์บุญสร้าง, แนวทางปฏิบัติ 7 ขั้นสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง,กรุงเทพฯ:,มูลนิธิวิถีสุข,2549,หน้า 14)
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ด้วยกัน 5 ส่วนคือ
1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาและเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีลักษณะพลวัตร มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
2. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนา อย่างเป็นขั้นตอน
3. คำนิยาม ความพอเพียง (Sufficiency)จะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อมๆ กัน ดังนี้
- ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภค ที่อยู่ในระดับพอประมาณ
- ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่า จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆอย่างรอบคอบ
- การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
4. เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
- เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผน และ ความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
- เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มี ความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือการพัฒนาที่สมดุลและสามารถพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ ความรู้และเทคโนโลยี (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง,เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร, (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2547), หน้า 20)
5. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายถึงเศรษฐกิจพอเพียงไว้อีกครั้งหนึ่งว่า “ถ้าไม่มี
เศรษฐกิจพอเพียงเวลาไฟดับ…จะพังหมดจะทำอย่างไร. ที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ต้องแย่ไป. …หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ ถ้าเรามีเครื่องปั่นไฟ ก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียนคือมีทางแก้ไขปัญหาเสมอ …ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกันพอเพียงในทฤษฎีในหลวงนี้คือให้สามารถที่ดำเนินงานได้” (พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542)
หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการตัดสินใจ และการกระทำ “ถ้าพอมีพอกิน คือพอมีพอกินของตัวเองนั้น ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน
สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆพัฒนาขึ้นมา ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันมีการช่วยระหว่างหมู่บ้านหรือระหว่างจะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศจะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียงจึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียงเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้วจะใช้ได้.” (พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542)
เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยไม่ต้องกังวลกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ความเพียรและความอดทนสติปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี
เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่ โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ ในขณะที่แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ สามารถเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้สองแบบคือแบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า
ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว โดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ตรงกับ ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว จากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินในส่วนอื่นๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1ก็จำเป็นที่ทางเกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ มูลนิธิและภาคเอกชน ตามความเหมาะสม
ความพอเพียงในระดับชุมชน เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า และ ตรงกับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือสหกรณ์ กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวมีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้ว ก็จะทำให้ครอบครัวต่างๆ เหล่านั้นหันมารวมกลุ่ม เพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์เพื่อกลุ่มและส่วนรวม บนพื้นฐานของความแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามกำลังและความสามารถของตน ซึ่งจะสามารถทำให้ชุมชนโดยรวมเกิดความพอเพียงในการดำเนินชีวิตและมีชีวิตที่สมดุลอย่างแท้จริง
ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า และตรงกับ ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร และการสร้างเครือข่ายดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ สืบทอดภูมิปัญญาและบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันทำการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจ พอเพียงร่วมกัน ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่ที่ประกอบด้วยชุมชนต่างๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง กลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลักไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด “ฉะนั้นโครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ต้องมีความสอดคล้องกันดีที่ไม่ใช่เหมือนทฤษฎีใหม่ ที่ใช้ที่ดินเพียง 15 ไร่ และสามารถที่จะปลูกข้าวพอกินกิจการนี้ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันคนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสักก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันเขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียงแต่ที่จริงแล้ว เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน” (พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542)
การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้ริเริ่มการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสานต่อความคิดและเชื่อมโยงการขยายผล ที่เกิดจากการนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้อย่างหลากหลาย รวมทั้งเพื่อจุดประกายให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับ และการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างจริงจัง
ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้คนไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาตามหลัก เศรษฐกิจพอเพียง ตามคำชี้แนะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากขึ้น สศช. จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมกันกลั่นกรองพระราชดำรัสฯ สรุปเป็นนิยาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้อัญเชิญ มาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีความเข้าใจและนำไปประกอบการดำเนินชีวิต
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างกระแสสังคมให้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในทุกภาคส่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาชนทุกคนสามารถนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และปลูกฝังปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงตลอดจนนำไปสู่การปรับแนวทางการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
ยุทธวิธีในการขับเคลื่อน จะมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและชัดเจน โดยมีขอบเขตการดำเนินงาน 4 ด้านควบคู่กันไป คือ เชื่อมโยงเครือข่ายเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาวิชาการและศึกษาวิจัยสร้างกระบวนการเรียนรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นการเสริมพลังในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมในระดับรากหญ้าให้เข้มแข็ง การพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนไม่ก้าวกระโดดจนเกิดความเสี่ยงเกินไป ในขณะที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้มีเสถียรภาพในระดับระหว่างประเทศ สามารถปรับตัว เลือกรับสิ่งที่เป็นประโยชน์และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ และนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนไทยในที่สุด
การขับเคลื่อนจะเป็นในลักษณะเครือข่าย และระดมพลังจากทุกภาคส่วนแบ่งเป็น 2 เครือข่ายหลักตามกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น
1. เครือข่ายด้านประชาสังคมและชุมชน และ
2. เครือข่ายธุรกิจเอกชน
และมีเครือข่ายสนับสนุนที่ร่วมมือกันทำงาน ตามภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่
1. เครือข่ายพัฒนาวิชาการและส่งเสริมการวิจัย
2. เครือข่ายการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และ
3. เครือข่ายสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
มีแกนกลางขับเคลื่อน 3 ระดับ ได้แก่ คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และส่วนเศรษฐกิจพอเพียง ใน สศช. ซึ่งจะเป็นหน่วยปฏิบัติในการดำเนินงาน
การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง จะมีระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546-กันยายน 2550 โดยจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 – พฤษภาคม 2548 จะได้มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงาน จากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 1 โดยมีผลการดำเนินงานหลัก คือ การสร้างคน สร้างตัวอย่าง สร้างเครือข่ายที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมในการนำเสนอผลงาน การดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ ของเครือข่ายในงานมหกรรมทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2548 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบ 55 ปี
ระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548- ธันวาคม 2550 จะได้มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงาน และผลแห่งความสำเร็จจากการขับเคลื่อน ระยะที่ 2 โดยมีผลการดำเนินงานหลัก คือ การเผยแพร่ขยายผลให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในประชาชนทั่วไป ในทุกเครือข่าย ทุกอำเภอ ทั่วประเทศ และในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งจะในไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่มีพลัง เพื่อทูลเกล้า ถวายผลการดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระขนมพรรษาครบรอบ 80 พรรษา ในเดือนธันวาคม 2550
การดำเนินการตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) <www.nesdb.go.th./sufficiency> (14/022/2007) ได้อัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ โดยยึดหลักทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและการกระทำ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับนำหลักปรัชญาฯ ไปเป็นพื้นฐานและแนวทางในการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีความเข้มแข็ง และประเทศชาติมั่นคง
เนื่องจากในปัจจุบัน ยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนและมีการตีความที่หลากหลายเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเสนอให้ริเริ่มการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสานต่อ ความคิดและเชื่อมต่อการขยายผล แนวทางการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อจุดประกายให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การนำหลักปรัชญาฯไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างจริงจัง
สำนักงานฯ ได้เสนอ (ร่าง) การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 7/2546 เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2546 และคณะกรรมการฯ มีมติให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) ดังกล่าว ว่าเป็นเรื่องที่ดี ควรสนับสนุน โดยมีข้อเสนอแนะให้เน้นการมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม วิธีการที่หลากหลายในการสร้างความรู้ความเข้าใจ การวัดผลสำเร็จเชิงคุณภาพควบคู่ไปกับเชิงปริมาณ และให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้คณะกรรมการฯ เพื่อเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนฯต่อไป
สาระสำคัญ
เป้าหมายในการรสร้างขบวนการขับเคลื่อนฯ มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างกระแสสังคมให้มีการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิดหรือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ในหมู่ประชาชนทุกภาคส่วน และทุกระดับ โดยมีวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนประชาชนทุกภาคส่วนและทุกระดับให้สามารถนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ใช้ในลักษณะที่สอดคล้องกับหน้าที่และบทบาทของแต่ละบุคคลได้อย่างเหมาะสม และท้ายที่สุดนำไปสู่การปลูกฝังปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนนำไปสู่การปรับระบบ และโครงสร้างการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ยุทธวิธีในการขับเคลื่อนจะมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและชัดเจน
แผนการดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น การสร้างขบวนการขับเคลื่อนฯ จะมีขอบเขตการดำเนินงาน 4 แผนงาน ควบคู่กันไปดังนี้
1.แผนงานเชื่อมโยงเครือข่ายเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยสร้างแกนกลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำหน้าที่ขยาย เชื่อมโยง และพัฒนาเครือข่ายแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเครือข่าย ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ร่วมกัน เพื่อให้สามารถเผยแพร่ให้ประชาชนในภาคส่วนต่างๆ นำเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ และขยายผลได้อย่างต่อเนื่อง
2. แผนงานพัฒนาวิชาการและส่งเสริมการศึกษาวิจัย โดยพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในด้านต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นแนวทาง วิธีการ ตลอดจนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต การพัฒนาวิชาการจะเน้นการวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อให้มีแนวทางเลือกในการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ และการสร้างระบบเตือนภัยเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในสังคม
3.แผนงานสร้างหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ โดยสร้างรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น ผู้บริหาร ผู้นำชุมชน วิทยากรกระบวนการ ครู ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง เป็นต้น ให้มีโอกาสไตร่ตรองและเรียนรู้จากการปฏิบัติ จนสามารถตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ แล้วเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ น้อมนำเอาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป ทั้งนี้ การสร้างรูปบบกระบวนการเรียนรู้นี้ จะเน้นการร่วมคิด ร่วมทำเพื่อหารูปแบบ การหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม และเหมาะสม ตลอดจนสร้างความพร้อมของแต่ละกลุ่มเป้าหมายให้สามารถนำไปดำเนินการต่อได้เองอย่างต่อเนื่อง
4.แผนงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรณรงค์เพื่อสร้างกระแสสังคม โดยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้าง ปลูกฝังค่านิยม และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนคำนึงถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่จะต้องมีวิธีการและรูปแบบในการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งสอดคล้องกับเนื้อหาและแนวคิดของหลักปรัชญาฯ
กลไกการดำเนินการ
การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นต้องมีแกนกลางในการขับเคลื่อนฯ และเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ การจัดการควรจะอยู่ในรูปแบบมูลนิธิเพื่อความมีประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการระดมพลังและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน โครงสร้างการบริหารจัดการจะเป็นกลไก 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิเศรษฐกิจพอเพียง ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ เชิงแนวทาง และข้อพึงพิจารณาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
ระดับที่ 2 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานเครือข่ายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติให้เกิดการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆของสังคม กำหนดกลยุทธ์และกิจกรรมหลักๆของการดำเนินงาน ตลอดจนจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมภายใต้แผนงานในการสร้างขบวนการขับเคลื่อนฯ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน
ระดับที่ 3 ส่วนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งภายในสำนักงานฯ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเบื้องต้นของเครือข่าย ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ และรับผิดชอบการดำเนินงานในภาคปฏิบัติ ตลอดจนการบริหารจัดการทั่วไป
ระยะเวลาดำเนินการและงบประมาณ
การดำเนินการขับเคลื่อนฯ มีระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 4 ปี 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 ถึงเดือนธันวาคม 2550 โดยจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ เพื่อประเมินผลการดำเนินการและปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความก้าวหน้า โดยจะเผยแพร่ผลการดำเนินงาน ระยะที่หนึ่ง ในเดือนพฤษภาคม 2548 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบ 55 ปี ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลการดำเนินงานระยะที่สองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 80 พรรษา ในเดือนธันวาคม 2550 ทั้งนี้ ประมาณการงบประมาณในการดำเนินงานตาม 4 แผนงานข้างต้น ตลอดระยะเวลา 4 ปี 3 เดือน รวมทั้งสิ้น 120 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จะเป็นการเสริมพลังในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพึ่งตนเอง และการอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก เพราะแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับ การเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมในระดับรากหญ้าให้เข้มแข็ง ในขณะที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้มีเสถียรภาพในระดับระหว่างประเทศ สามารถปรับตัว เลือกรับสิ่งที่เป็นประโยชน์ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆจากทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ และนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนไทยในที่สุด
องค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในมิติของการประยุกต์ใช้ และพัฒนาองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีในการผลิตและการการเกษตร มีการสร้างองค์ความรู้ ด้านพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เน้นการประหยัดแต่ถูกหลักวิชาการ องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจ และกระบวนการให้เหตุผลต่อวิธีการผลิต การริเริ่มการผลิตที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้และบริโภคข่าวสาร ดังนั้นในเชิงหลักการเศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้กับทุกภาคส่วนของการผลิต (อภิชัย พันธเสน บรรณาธิการ,สังเคราะห์องค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง,(กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,2546), หน้า 15)
เป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียงก็เพื่อให้คนไทยตั้งแต่ครอบครัวชุมชนประเทศ สามารถใช้ชีวิตและดำรงอยู่ในสังคมอย่างสมดุลย์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก หลักใหญ่อยู่ที่ทางสายกลาง มีองค์ประกอบสำคัญคือยึดหลักสันโดษหรือความพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ดังพระดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเองสิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา)
ถ้ารากฐานมั่นคงแข็งแร็ง ชีวิตย่อมจะมั่นคงไปด้วย สาระสำคัญในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ที่ทางสายกลาง ความพอเพียงและความมีเหตุผล ดังนั้นการนำไปประยุกต์ใช้จึงต้องคำนึงถึงสาระสำคัญทั้งสามส่วนนี้ด้วย ทางสายกลางเป็นได้ทั้งแนวแห่งการปฏิบัติ เป็นได้ทั้งวิถีแห่งความคิด เดินตามทางสายกลายจะไม่สุดโต่งหรือเข้มงวดหรือเชื่องช้าจนเกินไป นอกจากนั้นในการดำเนินชีวิตต้องสร้างความพอเพียงไว้จิตวิญญาณด้วย ปัจจุบันสิ่งยั่วนยวนมีมากหากไม่มีภูมิคุ้มกันที่เข้ามแข็งจริงจะทนได้ยาก สุดท้านคือตัวเหตุผลสมมุติจะต้องซื้ออะไรสักอย่างหากตั้งปณิธานไว้ก่อนซื้อว่า “จำเป็นหรือไม่ สมควรหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่” ก่อนตัดสินใจซื้อ นั่นเป็นเหตุผลของการใช้สอยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
05/12/53
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2525.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2514.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับอรรถกถา.กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2533.
คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.มงคลัตถทีปนีแปล.กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2538.
พระพรหมคุณาภรณ์.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,พิมพ์ครั้งที่ 14,กรุงเทพฯ:เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์, 2548.
พระไพศาล วิสาโล.พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและ ทางออกจากวิกฤต.กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546.
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 กรกฎาคม 2517.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2517.
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 28 สิงหาคม 2518.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541.
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง,เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร,กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2547.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542.
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2545 – 2549.
สุนัย แศรษฐ์บุญสร้าง. แนวทางปฏิบัติ 7 ขั้นสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ:,มูลนิธิวิถีสุข,2549.
ราชบัณฑิตยสภา.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ:นานมีบุคส์จำกัด,2546.
วิชัย ธรรมเจริญ.คู่มือนักธรรมชั้นตรี.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,2545.
อภิชัย พันธเสน บรรณาธิการ.สังเคราะห์องค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,2546.
อภิชัย พันธเสน.พุทธเศรษฐศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 3,กรุงเทพฯ: อมรินทร์,2547.
http://www.fpo.go.th/fseg/Source/ECO/ECO3.htm 1/3/2006.
http://www.geocities.com/siamintellect/writings/b_small.htm.
http:/www.nesdb.go.th./sufficiency.