วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง.......ได้ยินเพลงลอยกระทงมาหลายวันแล้ว เทศกาลลอยกระทงก็ใกล้เข้ามาทุกที ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553 บางแห่งได้เตรียมการต่างๆไว้แล้ว วัดไหนที่อยู่ติดแม่น้ำก็จะจัดงานวันลอยกระทง แต่วัดไหนที่อยู่ห่างไกลไม่มีแม่น้ำอาจจะจัดงานกระทงลอยฟ้าก็ได้ ชีวิตของคนไทยไม่เคยเงียบเหงา แม้จะเศร้าบ้างแต่ก็ยังมีงานเทศกาลให้ละเล่นเพื่อผ่อนคลายได้บ้าง ออกพรรษา หมดกฐินก็ได้กลิ่นวันลอยกระทงลอยมาตามกระแสลมหนาว
ประเพณีวันลอยกระทงนั้นมีมาแต่ครั้งใดไม่ทราบแน่ชัดแต่ส่วนมากเชื่อกันว่ามาจากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง คำว่า “พระร่วง” เปลื้อง ณ นครอธิบายไว้หนังสือประวัติวรรณคดีว่า อนึ่งคำว่า “พระร่วง” น่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ครองกรุงสุโขทัย เพราะไม่มีหลักฐานแสดงว่ากษัตริย์องค์หนึ่งองค์ใดมีพระนามว่าพระร่วงอย่างแน่ชัด กษัตริย์ที่ครองกรุงสุโขทัยมีดังนี้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบานเมือง พระขุนรามราช (รามคำแหง) พระยาเลอไท พระยางัวนำถม พระมหาธรรมราชาที่1 (ลิไท) พระมหาธรรมราชาที่ 2 พระมหาธรรมราชาที่3 (ไสลือไท) และพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)
สมัยสุโขทัยมีงานนักขัตฤกษ์ที่เรียกว่า “งานลอยพระประทีป หรือลอยโคม” เป็นนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมาท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลง เป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม เชื่อกันว่าการลอยกระทง หรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศนั้น กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที มีบันทึกไว้ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นหนังสือที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสมัยที่แต่ง นักวรรณคดีมีความเห็นตรงกันว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นหนังสือที่แต่งเติมหรือแต่งใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้เค้าเรื่องเดิม ทั้งนี้เพราะมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น การกล่าวถึงชนชาติอเมริกัน การกล่าวถึงปืนใหญ่ซึ่งไม่มีในสมัยนั้น ถ้อยคำสำนวนเป็นถ้อยคำใหม่คำกลอนซึ่งเกิดขึ้นหลังสมัยกรุงสุโขทัยอยู่ด้วย ผู้แต่งได้แก่นางนพมาศเป็นธิดาของพระศรีมโหสถและนางเรวดีมีรูปสมบัติและคุณสมบัติที่งดงาม ได้รับการอบรมจากบิดา มีความรู้ทางอักษรศาสตร์ พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การช่างของสตรี ตลอดจนการขับร้องดนตรี ถวายตัวเป็นสนมทำหน้าที่ขับร้องถวาย ได้เป็นพระสนมเอกของพระยาลิไท ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวถึงการประดิษฐ์โคมในพระราชพิธีจองเปรียงตอนหนึ่งว่า "ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่าเป็นนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระจันทร์แจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมประทุมมาลย์ มีแต่จะเบ่งบานกลีบรับแสงอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้วก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึงทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมทานที อันเป็นที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน" (เอกรัตน์ อุดมพร.วรรณคดีสมัยสุโขทัย:กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา.หน้า 96)
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ยังได้กล่าวถึงพิธีจองเปรียงไว้ตอนหนึ่งว่า "พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน 12เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอย บรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่ง โคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้น ต่างทำโคมประเทียบบริวาร วิจิตรด้วยลวดลาย วาดเขียนเป็นรูปสัณฐานต่างๆ ประกวดกันมาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบราบ ตามแนวโคมชัยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระราชอุทิศสักการ พระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันถวายได้ทรงอุทิศบูชาพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานยังนัมมทานทีแล ข้าน้อย(นางนพมาศ) ก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง
ครั้นเวลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมาน พร้อมด้วยอัครชายาพระบรมวงศ์และพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเป็นมงคล ชาวพนักงานก็ชักสายโคมชัยโคมประเทียบบริวารขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระจุฬามณี ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพี พระวงศานุวงศ์ โคมพระสนมกำนัล เป็นลำดับกันลงมา ถวายให้ทอดพระเนตรและลงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลาง ทางตรัสชมว่า โคมลอยอย่างนี้งามประหลาดยังหาเคยมีไม่ เป็นโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิโสภาก็กราบบังคมทูลว่า โคมของนางนพมาศธิดาท้าวศรีมโหสถ
ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงสดับก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมกับที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์ จึงมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) ก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้"
การจุดประทีปโคมไฟมิได้มีเฉพาะพิธีจองเปรียงเท่านั้นยังมีในเทศกาลอื่นเช่น "ถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใดก็สว่างไปด้วยแสงประทีป เทียน ดอกไม้เพลิง แลสล้างด้วยธงชายไสวไปด้วยพู่พวงดอกไม้ร้อยกรองห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ ซ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล" (เปลื้อง ณ นคร/อ.ปราณี บุญชุ่ม.ประวัติวรรณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์.หน้า 31)
คนในสมัยสุโขทัยคงมีความสุขเพราะมีงานเทศกาลให้สนุกสนานตลอดปี พอมาถึงยุคปัจจุบันประเพณีและพิธีกรรมบางอย่างก็เปลี่ยนไป ในอดีตเคยทำประทีปโคมลอยก็กลายมาเป็นกระทงที่ลอยเหนือลำน้ำ การทำโคมลอยเห็นมีอยู่ในประเพณียี่เป็งทางภาคเหนือคือการจุดประทีปโคมลอยขึ้นเหนือท้องฟ้า ในวันลอยกระทง นอกจากนั้นในแม้น้ำลำคลองต่างๆก็ยังมีการลอยกระทงไปพร้อมๆกันด้วย
การจุดประทีปโคมลอยเพื่อบูชารอยพระบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ตามที่นางนพมาศอ้างถึงนั้น ในอรรถกถาสองแห่งเขียนไม่เหมือนกันคือในอรรถกถาปุณโณวาทสูตร มัชฌิมนิกายเขียนเป็นนิมมทาและอรรถกถาปุณณสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เขียนเป็นนัมมทา พระไตรปิฎกฉบับอรรถกถาทั้งสองฉบับน่าจะแก้ไขให้เหมือนกันเพราะคำว่า “นิมมทา” ไม่คุ้นหู เรามักจะได้ยินว่า “นัมมทา” มากกว่า ปัจจุบันแม่น้ำแห่งนี้เชื่อกันว่าอยู่ในแคว้นทักขิณาของประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบัน เรียกว่า “แม่น้ำเนรพุททาหรือนิรพุททา” การที่ตำราเขียนไม่เหมือนกันเพราะเสียงอ่านจะเพี้ยนไปบ้างเช่นเมื่องราชคฤห์ ในอดีต ปัจจุบันเสียงเพี้ยนไปเป็น ราชเกียหรือราชคิร (Rajkir)อย่างไรก็ตามจะเป็นแม่น้ำนิมมทา นัมมทา เนรพุททา นิรพุททา ขอให้เข้าใจว่าคือแม่น้ำแห่งเดียวกันนั่นเอง
ในอรรถกถาได้กล่าวถึงรอยพระบาทไว้หลายแห่งและที่เกี่ยวข้องกับพิธีจองเปรียงที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์อ้างถึงมีปรากฏในอรรถกถาปุณโณวาทสูต มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ความตอนหนึ่งว่า “เพื่อสงเคราะห์มหาชน พระศาสดาประทับอยู่สองสามวัน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านพ่อค้าแล้วตรัสสั่งให้พระปุณณะเถระกลับ ในระหว่างทางมีแม่น้ำชื่อนิมมทา ได้เสด็จไปถึงฝั่งของแม่น้ำนั้น นิมมทานาคราชถวายการต้อนรับ พระศาสดาทูลเสด็จเข้าสู่ภพนาคได้กระทำสักการะพระรัตนตรัยแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่นาคราชนั้นแล้ว ก็เสด็จออกจากภพนาค นาคราชนั้นกราบทูลขอว่าได้โปรดประทานสิ่งที่พึงบำเรอแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบทเจดีย์รอยพระบาท ไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนิมมทา รอยพระบาทนั้นเมื่อคลื่นซัดมาก็ถูกปิด เมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด กลายเป็นรอยพระบาทที่ถึงสักการะอย่างใหญ่ เมื่อพระศาสดาทรงออกจากนั้นแล้วก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์ ตรัสกับพระสัจจพันธ์ว่ามหาชนถูกเธอทำให้จมลงในทางอบาย เธอต้องอยู่ในที่นี้แหละ แก้ลัทธิของพวกคนเหล่านี้เสีย แล้วให้พวกเขาดำรงอยู่ในทางพระนิพพาน แม้ท่านพระสัจจพันธ์นั้น ก็ทูลชื่อสิ่งที่จะต้องบำรุง พระศาสดาก็ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบเหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสด ๆ ฉะนั้น ต่อจากนั้นก็เสด็จไปถึงพระเชตวันที่เดียว
ส่วนในอรรถกถาปุณณสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคเล่ม 4 ภาค 1 - หน้าที่ 122แสดงไว้ว่า พระศาสดาประทับอยู่ในที่นั้นนั่นเองตลอดเจ็ดวัน เพื่อสงเคราะห์มหาชนพออรุณขึ้นก็ได้ปรากฏอยู่ในมหาคันธกุฏีนั้นเอง ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาเจ็ดวัน การตรัสรู้ธรรม ได้มีแก่สัตว์ 84,000 พระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั้นเจ็ดวัน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในวานิชคามให้พระปุณณเถระกลับด้วยตรัสสั่งว่าเธอจงอยู่ในที่นี้แล ได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีอันมีอยู่โดยลำดับ พระยานาคนัมมทากระทำการต้อนรับพระศาสดา ให้เสด็จเข้าไปสู่ภพนาค ได้กระทำสักการะต่อพระรัตนตรัย พระศาสดาแสดงธรรมแก่พระยานาคนั้น แล้วออกจากภพนาค พระยานาคนั้น อ้อนวอนว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงประทานสิ่งที่ควรสละแก่ข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเจดีย์คือรอยพระบาทไว้ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เจดีย์คือรอยพระบาทนั้น เมื่อคลื่นหลากมาๆ ย่อมปิด เมื่อคลื่นไปแล้วย่อมเปิดออก ความถึงพร้อมด้วยมหาสักการะได้มีแล้ว พระศาสดาเสด็จออกจากที่นั้นแล้วเสด็จไปยังสัจจพันธบรรพต ตรัสกะสัจจพันธภิกษุว่าเธอทำให้มหาชนหยั่งลงไปในทางอบาย เธอจงอยู่ในที่นี้แหล่ะ ให้ชนเหล่านั้นสละลัทธิเสียแล้วให้ดำรงอยู่ในทางแห่งพระนิพพาน ฝ่ายพระสัจจพันธภิกษุนั้น ทูลขอข้อที่ควรประพฤติ พระศาสดาแสดงพระเจดีย์ คือรอยพระบาทที่หลังแผ่นหินแท่งทึบ เหมือนรอยตรา ที่ก้อนดินเหนียวเปียก แต่นั้นก็เสด็จกลับพระวิหารเชตวันตามเดิม
เพราะปารภเหตุของพระปุณณะเถระ พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จไปยังแม่น้ำนัมมทา และได้แสดงเจดีย์คือรอยพระบาทที่ชายฝั่งแม่น้ำนัมมทาแก่นัมมทานาคราชจะได้สักการบูชา และประทานรอยพระบาทแก่สัจจพันธ์บนแผ่นหิน การจุดประทีปโคมไฟเพื่อบูชารอยพระบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทาตามที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์อ้างถึงนั้น จึงมีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาจริง
อานิสงส์การบูชารอยพระพุทธบาท
เมื่อบูชารอยพระบาทแล้วจะได้มีอานิสงส์อย่างไร คำตอบในเรื่องนี้มีปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาหลายแห่ง เช่นที่แสดงไว้ในอรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถาหน้า 168กล่าวถึงประวัติของพระสุคันธเถระในอดีตชาติว่า “เมื่อก่อนเรา(พระสุคันธเถระ) กับบิดาและปู่ เป็นคนทำการงานในป่า เลี้ยงชีพด้วยการฆ่าปศุสัตว์ กุศลกรรมของเราไม่มี ใกล้กับที่อยู่ของเราพระพุทธเจ้าผู้นำชั้นเลิศของโลกทรงพระนามว่าติสสะ ผู้มีพระปัญญาจักษุได้ทรงแสดงรอยพระบาทไว้สามรอย เพื่ออนุเคราะห์ เราได้เห็นรอยพระบาทของพระธรรมศาสดาผู้ทรงพระนามว่าติสสะที่พระองค์ทรงเหยียบไว้ เป็นผู้ร่าเริง มีจิตยินดี ยังจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาท เราเห็นต้นหงอนไก่ที่ขึ้นมาจากแผ่นดิน มีดอกบานแล้ว จึงเด็ดมาพร้อมทั้งยอด บูชารอยพระบาทอันประเสริฐสุด เพราะกรรมที่เราทำไว้ดีแล้วนั้นและเพราะความตั้งเจตนาไว้ เราละร่างมนุษย์แล้วไปสู่ดาวดึงสพิภพ เราเข้าถึงกำเนิดใด ๆ คือเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้น ๆ เรามีผิวกายเหมือนสีดอกหงอนไก่ มีรัศมี เป็นแดนซ่านออกจากตน ในกัปที่ 92 แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชารอยพระพุทธบาท เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว”
อีกแห่งหนึ่ง หน้า 253 พระรมณียวิหารีเถระได้แสดงอานิสงส์ของการบูชารอยพระพุทบาทไว้ว่า “เราได้เห็นรอยพระบาท อันประดับด้วยจักรและเครื่องอลังการ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าวิปัสสี ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ทรงเหยียบไว้ จึงเดินตามรอยพระบาทไป เราได้เห็นต้นหงอนไก่มีดอกบานจึงเก็บเอามาบูชาพร้อมทั้งราก เราร่าเริง มีจิตโสมนัสได้ไหว้รอยพระบาทอันอุดม ในกัปที่ 91 แต่ภัทรกัปนี้เราได้บูชารอยพระพุทธบาทด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชาในกัปที่ 57 ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าวีตมละ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้วเจ็ดประการมีพลมาก เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราทำสำเร็จแล้ว”
การบูชารอยพระบาทของพระพุทะเจ้าในอดีตทำให้พระเถระทั้งสองรูปไม่เกิดในทุคติ และมีผิวกายเหมือนดอกไม้ที่นำไปบูชา ในที่สุดก็ทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้ อานิสงส์ของการบูชาด้วยศรัทธาที่แน่วแน่มั่นคงย่อมให้ผลตามสมควรเสมอ
จุดมุ่งหมายของการลอยกระทง
การลอยกระทงนั้นตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวไทยตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นต้นมาพอจะสรุปจุดมุ่งหมายได้ดังนี้
1. เพื่อเป็นการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยใช้น้ำที่ไหลไปเป็นพาหนะนำกระทงดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะพระองค์ท่านโดยจินตนาการ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูน้ำหลากพระจันทร์เต็มดวงในคืนวันเพ็ญ เป็นบรรยากาศที่ทำให้คนในสมัยก่อนซึ่งยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น เกิดความสุขสงบเป็นพิเศษ จึงได้จัดพิธีบูชาพระพุทธคุณด้วยกระทงดอกไม้ธูปเทียนพร้อมกับงานรื่นเริงอื่น ๆ
2. เพื่อเป็นการลอยความทุกข์โศกของตนที่มีอยู่ให้ออกไปจากตัวกับสายน้ำที่ไหลไปนั้นพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ตนและครอบครัวได้รับแต่สิ่งที่ดี
3. เพื่อเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำลำคลองซึ่งมีคุณอย่างอเนกอนันต์ต่อคนสมัยก่อน ทั้งเรื่องใช้อาบชำระล้างสิ่งต่าง ๆ ประจำวัน รวมทั้งการเพาะปลูก การคมนาคมถือว่าเป็นการกระทำล่วงเกินให้น้ำสกปรก จึงได้ทำพิธีขอขมา อย่างเป็นพิธีการอย่างน้อยปีละครั้ง
4. เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เพื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมแก่นัมมทานาคราช
5. เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
6. เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
7. เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนพรหมโลก
8. เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระ ซึ่งเชื่อกันว่าบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
9. เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์
10. เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยไว้ มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา
11. เพื่อรู้ถึงคุณค่าของน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ การดำรงชีวิต
12. เพื่อให้ประชาชนได้สนุกสนานในงานนักขัตฤกษ์ประจำปี
วัตถุประสงค์ของการลอยกระทงจะทำเพื่ออะไรนั้น ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของท้องถิ่นๆนั้นด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการลอยกระทงต้องลอยในน้ำ แม้บางแห่งจะยังคงยึดถือการลอยโคมไฟหรือที่เรียกว่ากระทงลอยฟ้า แต่ส่วนมากจะเป็นการลอยในแม่น้ำ อันถือว่าเป็นเส้นโลหิตใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรมาเป็นเวลานาน ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับกระแสน้ำทำให้เกิดประเพณีเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูขึ้น ประเพณีนอกจากจะจัดเป็นงานรื่นเริงแล้ว ยังมีธรรมะสอดแทรกอยู่ในพิธีกรรมนั้นด้วย
วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง........ ลอยกระทงกันแล้วขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทงบุญจะส่งให้เราสุขใจ พอเดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำหลาก ชาวบ้านต่างก็มีความสนุกสนานมีการละเล่นในงานวันลอยกระทง บางแห่งจัดงานใหญ่เป็นงานประจำปีมีชาวต่างชาติมาชมจำนวนมาก บทเพลงวันลอยกระทงกำลังกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาวไทยไปแล้ว แม้แต่ในวันเปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศจีน เพลงที่นำนักกีฬาไทยลงสนามก็คือเพลงลอยกระทงนี่เอง ก่อนไปร่วมงานวันลอยกระทงก็อย่าลืมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์เพื่อความสุขใจและได้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ใจที่มีความสุขทำอะไรก็ได้บุญ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รวบรวม/เรียบเรียง
แก้ไขปรับปรุง 15/11/53