ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

              ศาสนากับปรัชญามักจะมีนักวิชาการมาพูดคู่กันเสมอ บางศาสนาเป็นปรัชญา แต่ปรัชญาบางลัทธิได้นำเอาหลักการทางศาสนามาอธิบาย แม้แต่พระพุทธศาสนาก็ยังมีนักปรัชญาหลายท่านพยายามนำหลักการทางปรัชญามาอธิบายหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาว่าเป็นหลักการของปรัชญา พระพุทธศาสนาเปรียบมหาสมุทรแห่งความรู้ ดูเหมือนว่าศาสตร์ใดๆก็ตามหากต้องการศึกษาแนวคิดของศาสตร์นั้นจากพระไตรปิฎกย่อมสามารถจะค้นพบได้ เพียงแต่ว่าพระไตรปิฎกอันที่เป็นที่บรรจุหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเป็นของเก่าแก่มีอายุสืบต่อยาวนาน ภาษาที่อยู่พระไตรปิฎกกับภาษาสมัยใหม่อาจจะแตกต่างกันบ้าง ผู้ที่ต้องการค้นหาต้องอาศัยการตีความเพื่อให้เข้ากับวิชาการที่ตนชำนาญ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีวิชาใหม่ๆเกิดขึ้นหลายสาขาวิชาเช่นพุทธเศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาเชิงพุทธ รัฐศาสตร์เชิงพุทธ พุทธนิเวศวิทยา พุทธปรัชญาเป็นต้น 
              ครั้งหนึ่งเคยวิเคราะห์พระสุตตันปิฎกเล่มที่ 25 ประกอบด้วย ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิตอวุตตก-สุตตนิบาต และเล่มที่ 26 ประกอบด้วยขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถระ-เถรีคาถา ว่ามีเรื่องที่จัดเป็นปัญหาทางปรัชญาได้หรือไม่ ถ้ามีอยู่ตรงไหน จัดเข้าตามเนื้อหาตามสาขาทางปรัชญาได้อย่างไร เขียนเสร็จเก็บไว้ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร การเขียนเป็นกิจกรรมทางปัญญาอย่างหนึ่งของเว็บมาสเตอร์ บางเรื่องเขียนแล้วก็ใช้ไม่ได้ก็ต้องโยนทิ้งไป บางเรื่องเขียนแล้วทิ้งไว้สักพักค่อยมาดัดแปลงแก้ไขทีหลังบางเรื่องอาจถูกลืมไปเลยก็มี เรื่องนี้อยู่ในประเด็นหลังเขียนแล้วเก็บไว้ พอกลับมาอ่านอีกทีเห็นว่าน่าจะนำมาเผยแผ่ให้กับคนที่สนใจได้ศึกษาเป็นการฝึกสมองประลองปัญญากันเล่นๆ อาจจะทำให้เกิดวิชาใหม่ๆที่มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนาก็ได้
              ในทางปรัชญาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ปรากฎอยู่ในขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิตอวุตตก-สุตตนิบาต วิมาน-เปตวัตถุ เถระ-เถรีคาถา มีแง่มุมทางปรัชญาอยู่บ้าง แต่ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องทางจริยศาสตร์  แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นคำสอนควรทราบข้อมูลเบื้องต้นของปรัชญาเสียก่อน เพื่อจะได้กำหนดกรอบในการศึกษาให้ชัดเจน 


ปรัชญง ปรัชญาอะไรกัน บ้านยังสร้างไม่เสร็จเลย

              คำว่า “ปรัชญา” (philosophy)  มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงความรู้อันประเสริฐ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า ปฺร ที่แปลว่าประเสริฐ กับ คำว่า ชฺญา ที่แปลว่ารู้ ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในภาษาอังกฤษคำว่า philosophy มีรากศัพท์มาจากคำ philo-sophia (Φιλοσοφία) ในภาษากรีก philos แปลว่าความรัก และ sophia แปลว่าความรู้ เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า "การรักในความรู้" หรือ ปรารถนาจะเข้าถึงความรู้หรือปัญญา    
              การศึกษาด้านปรัชญา มีเป้าหมายที่ความเข้าใจ ความรู้ หรือปัญญาบางอย่าง เกี่ยวกับแนวคิดรากฐาน เช่น สภาพความเป็นจริง ความรู้ ความหมาย ค่านิยม การมีอยู่ และ ความจริง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าควรใช้แนวทางใดควรเป็นแนวทางในการศึกษานี้ ซึ่งรวมไปถึงความถูกต้องของหลักการวิภาษวิธีแบบโบราณด้วย นอกจากนี้คำว่าปรัชญายังถูกเข้าใจในหลายๆ แบบโดยนักปรัชญาและผู้คนที่อยู่นอกวงการปรัชญา นักปรัชญาให้ความสนใจในเรื่องของ การมีอยู่(Existance) หรือการเป็นอยู่ คุณธรรม ความรู้ ความจริง และความงาม นักปรัชญาอาจตั้งคำถามอย่างเอาเป็นเอาตายกับแนวคิดเหล่านี้ ซึ่งมักเป็นเรื่องที่อยู่นอกขอบเขตของการเข้าถึงของวิทยาศาสตร์ ในอดีต นักปรัชญาส่วนมากมักวางแนวคิดของตนอยู่บนความเชื่อทางศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ ผลงานหลักๆ ในหลังยุคกลางเริ่มด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของปรัชญา  (
http://th.wikipedia.org/wiki)
              การถามว่า ปรัชญาคืออะไร ก็เป็นปัญหาทางปรัชญาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้ว นักปรัชญามักเริ่มต้นด้วยปัญหาเช่นการคิดที่ถูกต้องเป็นอย่างไรเมื่อใดที่เราสามารถระบุได้อย่างแน่นอนว่าบางอย่างไม่ถูกต้องเราจะคิดอย่างรอบคอบในเรื่องที่สลับซับซ้อนได้อย่างไร 
             ความรู้เป็นสิ่งที่มีจริงหรือไม่เป็นไปได้ที่จะมีความรู้หรือไม่ธรรมชาติของความรู้เป็นอย่างไรความรู้เป็นสิ่งที่อยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยใดบ้างอะไรคือกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้  
             การกระทำควรจะมีเป้าหมายขั้นสุดท้ายอยู่ที่อะไรมีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ชั่วหรือไม่อะไรคือเกณฑ์แบ่งแยกระหว่างดีและชั่วความถูกต้องเป็นสิ่งสัมบูรณ์หรือว่าเป็นสิ่งสัมพัทธ์เราควรจะใช้ชีวิตเช่นใด อะไรคือความจริงอะไรคือสิ่งที่มีอยู่ธรรมชาติพื้นฐานของสิ่งเหล่านั้นคืออะไรสรรพสิ่งมีอยู่ด้วยตัวของมันเองนอกเหนือการรับรู้ของเราหรือไม่ธรรมชาติของเนื้อที่และเวลาเป็นอย่างไรธรรมชาติของความคิดและการคิดเป็นอย่างไรการเป็นคนมีความหมายเช่นใดการมีสติรู้คืออะไรมีพระเจ้าหรือไม่ ความงามเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับผู้ที่รับรู้หรือไม่หรือว่าเป็นสิ่งสากลที่เป็นจริงในตัวเองแม้จะไม่ถูกรับรู้องค์ประกอบของความงามคืออะไรอะไรคือศิลปะ ปัญหาที่อยู่ในขอบข่ายทางปรัชญาจึงอยู่ที่ความจริง ความรู้ ความดีความชั่ว ความงามและเหตุผล
              ศาสตราจารย์วิทย์ วิศทเวย์ได้แสดงทัศนะไว้ว่า วิชาปรัชญาเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ บางทีความอยากรู้อยากเห็นนั้นเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการหาความรู้ เพื่อที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของชีวิตเช่นเราอยากรู้ว่าทำอย่างไรต้นข้าวที่ปลูกไว้จึงจะได้ผลิตผลมากๆ แต่บางทีความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์มิได้เกิดขึ้นเพราะต้องการอย่างนั้น ทาเลสบิดาแห่งปรัชญาอยากรู้ธาตุแท้ของโลกเพียงเพราะต้องการรู้โดยมิหวังผลอะไรเป็นกิจจะลักษณะ มนุษย์มีกำเนิดมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ความจริงที่ปรากฎอยู่ก็คือว่า ความอยากรู้อยากเห็นและการซักไซ้ไล่เลียงไปเรื่อยๆอย่างไม่มีสิ้นสุด เป็นธรรมชาติอันหนึ่งของคนเรา และวิชาปรัชญาก็เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้  (วิทย์ วิศทเวย์,ปรัชญาทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 17,กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์,2547หน้า 218)
              ปรัชญาอาจแบ่งได้หลายสาขา ขึ้นอยู่กับว่าเป็นปรัชญายุคไหนและใครเป็นคนแบ่ง แต่โดยทั่วไปสามารถจัดแบ่งออกเป็นอภิปรัชญา ญาณวิทยา จริยศาสตร์ ตรรกศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ในพระสุตตันติปิฎกเล่มที่ 25-26 จัดเป็นปัญหาทางปรัชญาได้ดังต่อไปนี้

อภิปรัชญา
              อภิปรัชญาเป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า Metaphysics หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะ (Reality Essence) มีปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Metaphysics คือ Ontology แปลว่า ภววิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมี (being) ศาสตร์ทั้งสองนี้มีความเกี่ยวข้องกันเพราะว่า Metaphysics คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะว่ามีจริงหรือไม่ Ontology ก็ศึกษาเรื่องความมีอยู่ของความแท้จริง หรือสารัตถะนั้นเป็นจริงอย่างไรโดยทั่วไปถือว่าศาสตร์ทั้งสองนี้ศึกษาเรื่องเดียวกัน คือ ความมีอยู่ของความแท้จริง หรือความแท้จริงที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศาสตร์ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน อภิปรัชญาเป็นการศึกษาปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเห็นทั่ว ๆ ไป หรือความรู้ที่อยู่นอกเหนือการรู้เห็นใด ๆ แต่สามารถรู้และเข้าใจด้วยเหตุผล  อภิปรัชญาสรุปสั้นๆว่า อภิปรัชญา (Metaphisics) หมายถึงปรัชญาสาขาที่ว่าด้วยสิ่งเป็นจริงเช่นพระเป็นเจ้า (God)โลก (world)  วิญญาณ (soul) สาระ (substance) เจตจำนงเสรี (free will) (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 63) 
              ในเรื่องของอภิปรัชญาพบได้ในกลหวิวาทสูตร พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า สมณพราหมณ์แต่ละพวก กล่าวทิฐิใดว่าเป็นความจริงแท้แม้สมณพราหมณ์พวกอื่นก็กล่าวทิฐินั้นว่า เป็นความเท็จไม่จริง สมณพราหมณ์ทั้งหลายมาถือมั่น (ความจริงต่างๆกัน) แม้ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ก็วิวาทกันเพราะเหตุไรสมณพราหมณ์ทั้งหลาย จึงไม่กล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลงไปได้ ฯ 
              พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าสัจจะมีอย่างเดียวเท่านั้น สัจจะที่สองไม่มี ผู้ที่ทราบชัดมาทราบชัดอยู่  จะต้องวิวาทกันเพราะสัจจะอะไรเล่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมกล่าวสัจจะทั้งหลายให้ต่างกันออกไปด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหลาย จึงไม่กล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลงไปได้  (ขุ. ธ. 25/418/337)  
              ในธรรมบท ปัญหาทางอภิปรัชญาปรากฎในคาถาธรรมบท ปุปผวรรคว่า    “ใครจักรู้แจ้งแผ่นดินนี้ ใครจักรู้แจ้งยมโลกและมนุษยโลกนี้พร้อมกับเทวโลก ใครจักเลือกสรรบทธรรมที่เราแสดงดีแล้วดุจนายมาลาการผู้ฉลาด เลือกสรรดอกไม้ ฉะนั้น พระเสขะจักรู้แจ้งแผ่นดิน พระเสขะจักรู้แจ้งยมโลกและมนุษยโลกนี้พร้อมกับเทวโลก พระเสขะจักเลือกสรรบทธรรมที่เราแสดงดีแล้วดุจนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกสรรดอกไม้ ฉะนั้นภิกษุทราบกายนี้ว่า เปรียบด้วยฟองน้ำ ตรัสรู้       พร้อมเฉพาะกายนี้ว่ามีพยับแดดเป็นธรรม ตัดดอกไม้อันเป็นประธานของมารแล้ว พึงไปสู่ที่ที่มัจจุราชไม่เห็น มัจจุย่อมจับนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลายนั่นเทียวไป  เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดบ้านอันหลับแล้วไป ฉะนั้น มัจจุผู้ทำซึ่งที่สุดย่อมทำนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้   ทั้งหลาย ไม่อิ่มแล้วในกามคุณนั่นแล ไว้ในอำนาจ  (ขุ.ธ .25/14/15)
              เรื่องโลกแสดงไว้ใน คาถาธรรมบท โลกวรรคว่า “บุคคลไม่พึงเสพธรรมอันเลว ไม่พึงอยู่ร่วมกับความประมาทไม่พึงเสพมิจฉาทิฐิ ไม่พึงเป็นคนรกโลก ภิกษุไม่พึงประมาทในบิณฑะที่ลุกพึงขึ้นยืนรับ พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติ ให้ทุจริต ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก ดุจบุคคลเห็นฟองน้ำเห็นพยับแดด ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันวิจิตรเปรียบด้วยราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ ก็ผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน ในภายหลังผู้นั้นย่อมไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้  สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ผู้ใดทำกรรมอัน        ลามกผู้นั้นย่อมปิด [ละ] เสียได้ด้วยกุศล บุคคลนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น โลกนี้มืดมน ในโลกนี้น้อยคนที่จะเห็นแจ้ง สัตว์ไปสวรรค์ได้น้อยดุจนกพ้นจากข่าย ฝูงหงส์ย่อมไปในทางพระอาทิตย์ ท่านผู้เจริญอิทธิบาทดีแล้ว ย่อมไปในอากาศด้วยฤทธิ์ นักปราชญ์ทั้งหลายชนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมออกไปจากโลก คนล่วงธรรมอย่างเอกเสียแล้ว เป็นคนมักพูดเท็จ ข้ามโลกหน้าเสียแล้ว ไม่พึงทำบาป ย่อมไม่มี คนตระหนี่ย่อมไปสู่  เทวโลกไม่ได้เลย คนพาลย่อมไม่สรรเสริญทานโดยแท้ส่วนนักปราชญ์ อนุโมทนาทาน เพราะการอนุโมทนาทานนั่นเอง ท่านย่อมเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นพระราชาเอกในแผ่นดิน กว่าความไปสู่สวรรค์ และกว่าความเป็นอธิบดีในโลกทั้งปวง (ขุ.ธ.25/23/26)

ญาณวิทยา
              ญาณวิทยา หรือเรียกอีกอย่างว่า ทฤษฎีความรู้ (Theory of  Knowledge)บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า Epistemology ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า Episteme (ความรู้)และ Logos (วิชา)มีความหมายว่า ทฤษฎีแห่งความรู้ ซึ่งญาณวิทยาจะอธิบายถึงปัญหาเกี่ยวกับที่มาของความรู้ แหล่งเกิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ และเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง    ในพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาได้ให้ความหมายว่า ญาณวิทยา (Epistemology) หมายถึงปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยบ่อเกิด ลักษณะ หน้าที่ ระเบียบวิธี และความสมเหตุสมผลของความรู้ บางที่ใช้คำว่าทฤษฎีความรู้ (Theory of  Knowledge) (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 34)
              ในพระพุทธศาสนาเมื่อกล่าวถึงความรู้คือต้องรู้ในสิ่งที่เป็นสาระดังข้อความที่ปรากฎในธรรมบท ยมกวรรคความว่า “ชนเหล่าใดมีความรู้  ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระ และมีปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้ธรรมอันหาสาระมิได้โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้ ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจรย่อมบรรลุธรรมอันเป็นสาระ
              ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่บุคคลมุงไม่ดีฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่บุคคลไม่อบรมแล้ว ฉันนั้น ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือนที่บุคคลมุงดี ฉันใด ราคะย่อมไม่รั่วรดจิตที่บุคคลอบรมดีแล้วฉันนั้น บุคคลผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเศร้าโศก บุคคลผู้ทำบาปนั้นเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเดือดร้อนผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ย่อมบันเทิงในโลกหน้า ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นย่อมบันเทิง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงอย่างยิ่ง บุคคล        ผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเดือดร้อนว่าบาปเราทำแล้ว บุคคลผู้ทำบาปนั้นไปสู่ทุคติแล้ว ย่อมเดือดร้อนโดยยิ่ง  ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้าย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินว่าบุญอันเราทำไว้แล้ว ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินโดยยิ่ง หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมอันการกบุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น หากว่านรชน    กล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อยย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว ไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกหน้า นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ฯ (ขุ.ธ.25/11/11)
              ทฤษฎีความรู้ในพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ต้องอิงอาศัยกันและกันดังที่ปรากฏในโพธิวรรค อปทานว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่โคนไม้โพธิ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเสวยวิมุติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียว ตลอด 7 วัน ครั้งนั้นแล พอสัปดาห์นั้นล่วงไปพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้น ได้ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทอันเป็นอนุโลมด้วยดีตลอดปฐมยามแห่งราตรี ดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทานเพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้  ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานี้ว่าในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไปเพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ ฯ  (ขุ.ธ. 25/38/51)

จริยศาสตร์
              จริยศาสตร์ (Ethics) มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคำว่า (Ethos) ที่หมายถึง อุปนิสัย หรือหลักของความประพฤติ ขนบธรรมเนียมที่เป็นความเคยชิน จริยศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์เราว่าคืออะไร อะไรควรทำหรือไม่ควรทำเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดนั้น และจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ดังนั้น เป้าหมายของชีวิต คือ ตัวที่จะกำหนดการกระทำของมนุษย์ว่าจะเป็นไปในแนวทางใด และเป้าหมายชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไปหลายแนวคิด สิ่งที่เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ซึ่งพระพุทธศาสนากล่าวถึงสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควร  จริยศาสตร์ (ethics) คือปรัชญาสาขาหนึ่งที่ว่าด้วยการแสวงหาความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ แสวงหาเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่าอย่างไหนถูก ไม่ถูก ดีไม่ดี ควรไม่ควร และพิจารณาปัญหาเรื่องสถานภาพของค่าทางศีลธรรม (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 34)
              หลักจริยศาสตร์มีแสดงไว้ใน คาถาธรรมบท ปัณทิตวรรคความว่า  “บุคคลพึงเห็นบุคคลใดผู้มักชี้โทษ เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ มักกล่าวข่มขี่ มีปัญญา พึงคบบุคคลผู้เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น มีแต่คุณที่ประเสริฐโทษที่ลามกย่อมไม่มี บุคคลพึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอนและพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ ก็บุคคลนั้น ย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย แต่ไม่เป็นที่รักของพวกอสัตบุรุษบุคคลไม่ควรคบมิตรเลวทราม ไม่ควรคบบุรุษอาธรรม์ ควรคบมิตรดี ควรคบบุรุษสูงสุด บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรมมีใจผ่องใสแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ ก็พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อมดัดลูกศร พวกช่างถากย่อมถากไม้บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกฝนตน ภูเขาหินล้วน เป็นแท่งทึบย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น ห้วงน้ำลึกใสไม่ขุ่นมัว แม้ฉันใด บัณฑิตย์ทั้งหลายฟังธรรมแล้วย่อมผ่องใสฉันนั้น สัตบุรุษทั้งหลายย่อมเว้นในธรรมทั้งปวงโดยแท้ สัตบุรุษทั้งหลายหาใคร่กามบ่นไม่ บัณฑิตทั้งหลายผู้อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดงอาการสูงๆ ต่ำๆ บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งตน ไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งผู้อื่น ไม่พึงปรารถนาบุตร ไม่พึงปรารถนาทรัพย์ ไม่พึงปรารถนาแว่นแคว้น ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จแก่ตนโดยไม่ชอบธรรม  บัณฑิตนั้นพึงเป็นผู้มีศีลมีปัญญา ประกอบด้วยธรรม ในหมู่มนุษย์ ชนผู้ที่ถึงฝั่งมีน้อย ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะไปตามฝั่งทั้งนั้น ก็ชนเหล่าใดแล ประพฤติตามธรรมในธรรมอันพระสุคตเจ้าตรัสแล้วโดยชอบ ชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมารที่ข้ามได้โดยยาก แล้วจักถึงฝั่ง บัณฑิตออกจากอาลัยแล้ว อาศัยความไม่มีอาลัยละธรรมดำแล้วพึงเจริญธรรมขาว บัณฑิตพึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้โดยยาก ละกามทั้งหลายแล้วไม่มีกิเลสเครื่องกังวล พึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองจิต ชนเหล่าใดอบรมจิตด้วยดีโดยชอบ ในองค์แห่งธรรมสามัคคีเป็นเครื่องตรัสรู้ ชนเหล่าใดไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในการสละคืนความถือมั่น  ชนเหล่านั้นมีอาสวะสิ้นแล้วมีความรุ่งเรืองปรินิพพานแล้วในโลก ฯ  (ขุ.ธ.25/16/19)
              ผลของการทำความดีนั้นย่อมได้ผลตามสมควรแก่การกระทำ บางครั้งแม้จะเป็นการกะรทำที่มองว่าอาจจะไม่สำคัญนัก แต่ก็ได้ผลมากเช่นในติลทักขิณวิมาน วิมานวัตถุตามที่พระมหาโมคคัลลานะได้ถามเทพธิดาตนหนึ่งถึงผลของการที่ทำให้เกิดในวิมานว่า “พระมหาโมคคัลลานะถามว่า  ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีรูปงาม มีรัศมีรุ่งเรืองส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ  เหมือนกับดวงดาวประกายพฤกษ์ฉะนั้น ท่านมีผิวพรรณเช่นนี้ เพราะบุญอะไร อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้เพราะบุญอะไร อนึ่ง โภคะอันเป็นที่รักแห่งใจ ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะบุญอะไร ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีรัศมีสุกใสไพโรจน์ล่วงเทวดาทั้งหลาย เพราะบุญอะไร ท่านมีอวัยวะทุกส่วนสัดส่องสว่างไปทั่วทุกทิศเพราะบุญอะไร  ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ อาตมาขอถามท่าน ครั้งท่านยังเป็นอยู่ ได้ทำบุญอะไรไว้ ท่านผู้มีอานุภาพรุ่งเรืองถึงเช่นนี้ และรัศมีกาย  ของท่านสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญอะไร
                นางเทพธิดานั้น อันพระมหาโมคคัลลานะซักถามแล้ว มีใจยินดี  ได้พยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกซักถามว่า ในชาติก่อน ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสธุลี มีน้ำพระหฤทัยใสสะอาดยิ่ง ดิฉันมีความเลื่อมใสขึ้น  อันมิได้ตั้งไว้เดิม ได้ถวายเมล็ดงาเป็นทาน แก่พระพุทธเจ้าผู้พระทักขิไณยบุคคลด้วยมือตนเอง ด้วยการถวายเมล็ดงาเป็นทานนั้น ดิฉันจึงมีผิวพรรณถึงเช่นนี้ อิฐผลจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้ อนึ่ง โภคทรัพย์ทั้งหลายอันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดแก่ดิฉันเพราะการให้เมล็ดงาเป็นทานนั้น ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดิฉันขอบอกแก่ท่าน ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่ได้ทำบุญ คือ ถวายเมล็ดงาเป็นทานอันใดไว้  เพราะการถวายเมล็ดงาเป็นทานนั้น ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งโรจน์ถึงอย่างนี้  (ขุ.วิมาน 26/11/11)

              ในปติพพตาวิมาน นางเทพธิดาองค์หนึ่งถูกพระมหาโมคคัลลานะซักถามแล้วมีใจยินดี ได้พยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกซักถามว่า ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ ได้เป็นอุบาสิกาของพระจักขุมาตถาคตเจ้า เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ ยินดีเฉพาะสามีของตน ไม่กล่าวคำเท็จและไม่ดื่มน้ำเมา อนึ่ง ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ให้ข้าวและน้ำอย่างดีเลิศเป็นทานโดยเคารพ ด้วยผลแห่งการถือสัจจะมั่นในสามีเป็นอาทินั้น ดิฉันจึงมีผิวพรรณถึงเช่นนี้ ด้วยผลแห่งการถือสัจจะมั่นในสามีเป็นเดิมนั้น อิฐผลจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้ และโภคทรัพย์ทั้งหลายอันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดิฉันขอบอกแก่ท่าน ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่ได้ทำบุญสิ่งใด ไว้ ดิฉันมีอานุภาพรุ่งเรืองถึงอย่างนี้ และรัศมีกายของดิฉันย่อมสว่างไสว  ไปทั่วทุกทิศ ก็เพราะบุญสิ่งนั้น (ขุ.วิมาน 26/12/13) 
             ในอุตตราวิมาน ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในอุตตราวิมาน  นางเทพธิดานั้น อันพระโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีใจยินดีได้พยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกซักถามว่าเมื่อครั้งดิฉันยังปกครองบ้านเรือนอยู่ ดิฉันไม่มีความริษยา ไม่มีความตระหนี่ ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ตีเสมอ ไม่โกรธ ไม่ประพฤตินอกใจสามี  ไม่ประมาทในวันอุโบสถและวันปกติ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์  8 ประการ ตลอดวัน 14 ค่ำ วัน 15 ค่ำ และวัน 8 ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ระมัดระวังในนิจศีลและอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัดตลอดกาลทุกเมื่อ ขณะที่อยู่ในวิมาน ดิฉันมีความสำรวมจำแนกทาน ยินดีในสิกขาบททั้ง 5 คือ งดเว้นจากปาณาติบาตอย่างเด็ดขาด  งดเว้นจากความเป็นขโมยอย่างห่างไกล  ไม่ประพฤติล่วงประเวณี  ระมัดระวังในการพูดเท็จ  สำรวมการดื่มน้ำเมาอย่างเด็ดขาด ดิฉันเป็นผู้ฉลาดในอริยสัจธรรม เป็นอุบาสิกาของพระโคดมผู้มีพระจักษุเปรื่องยศ ดิฉันนั้นผู้ยิ่งยศโดยยศได้ก็เพราะศีลของตนเอง ดิฉันได้เสวยผลแห่งบุญของตนอยู่ จึงสุขกายสุขใจปราศจากโรค เพราะการกระทำและการประพฤติอย่างนั้น ดิฉันจึงมีผิวพรรณถึงเช่นนี้ อิฐผลสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้ได้ ก็เพราะการกระทำและการประพฤติอย่างนั้น โภคทรัพย์อันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดแก่ดิฉันก็เพราะการกระทำอย่างนั้น ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดิฉันขอบอกแก่ท่าน ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่  ได้บำเพ็ญกิจและประพฤติสิ่งใดไว้ เพราะการกระทำและความประพฤตินั้นดิฉันจึงมีอานุภาพอย่างรุ่งโรจน์ถึงเช่นนี้ อนึ่ง รัศมีกายของดิฉันสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ ก็เพราะการกระทำและความประพฤตินั้น  

              นางเทพธิดาได้กราบเรียนต่อไปว่า ขอท่านได้กรุณานำไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคตามคำของดิฉันด้วยเถิดว่า นางอุตตราอุบาสิกา ขอถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่พระผู้มีพระภาคพึงทรงพยากรณ์ดิฉัน ในสามัญผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย แต่ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ดิฉันในสกทาคามิผล นั้นน่าอัศจรรย์  (ขุ.วิมาน 26/15/16)
              การทำชั่วมีผลกรรมที่จะได้รับคือกิดในกำเนิดเปรตเช่นสูกรเปรตความว่า        ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า  กายของท่านมีสีเหมือนทองคำทั่วทั้งกาย รัศมีกายของท่านสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ แต่ปากของท่านเหมือนปากสุกร เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ 
              เปรตนั้นตอบว่า  “ข้าแต่พระนารทะ เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้สำรวมกาย แต่ไม่ได้สำรวมวาจา เพราะเหตุนั้นรัศมีกายของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นกับที่ท่านเห็นอยู่นั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน สรีระของข้าพเจ้าท่านเห็นเองแล้ว ขอท่านอย่าทำบาปด้วยปาก อย่าให้ปากสุกรเกิดมีแก่ท่าน (ขุ 26/87/112) 
              ในปูตีมุขเปตวัตถุว่าด้วยบุพกรรมของเปรตปากเน่า  ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า  ท่านมีผิวพรรณงามดังทิพย์ ยืนอยู่ในอากาศ แต่ปากของท่านมีกลิ่นเหม็น หมู่หนอนพากันมาไชชอนอยู่ เมื่อก่อนท่านทำกรรมอะไรไว้ 
              เปรตนั้นตอบว่า  “เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นสมณะลามก มีวาจาชั่ว สำรวมกายเป็นปกติ ไม่สำรวมปาก ผิวพรรณดังทองข้าพเจ้าได้แล้ว เพราะพรหมจรรย์นั้น แต่ปากของข้าพเจ้าเหม็นเน่าเพราะกล่าววาจาส่อเสียด ข้าแต่ท่านพระนารทะรูปของข้าพเจ้านี้ท่านเห็นเองแล้ว ท่านผู้ฉลาดอนุเคราะห์กล่าวไว้ว่า ท่านอย่าพูดส่อเสียดและอย่าพูดมุสา ถ้าท่านละคำส่อเสียดและคำมุสาแล้ว สำรวมด้วยวาจา ท่านจักเป็นเทพเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าใคร่   (ขุ 26/88/123)

              ในติโรกุฑฑเปตวัตถุว่าด้วยบุพกรรมของเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสาร  พระผู้มีพระภาคตรัสกะพระเจ้าพิมพิสารว่า  เปรตทั้งหลายพากันมาสู่เรือนของตนแล้ว ยืนอยู่ภายนอกฝาที่ตรอกกำแพง และทาง 3 แพร่ง และยืนอยู่ที่ใกล้บานประตู เมื่อข้าว น้ำ ของกิน ของบริโภคเป็นอันมากเขาเข้าไปตั้งไว้แล้ว แต่ญาติไรๆ ของสัตว์เหล่านั้นระลึกไม่ได้ เพราะกรรมเป็นปัจจัย เหล่าชนผู้อนุเคราะห์  ย่อมให้น้ำและโภชนะอันสะอาด ประณีตสมควรแก่ญาติทั้งหลายตามกาล ดุจทานที่มหาบพิตรทรงถวายแล้วฉะนั้น ด้วยเจตนาอุทิศว่า ขอทานนี้แลจงสำเร็จผลแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายของเราจงเป็นสุขเถิด ส่วนเปรตผู้เป็นญาติเหล่านั้น พากันมาชุมในที่นั้น เมื่อข้าวและน้ำมีอยู่บริบูรณ์ ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพว่า เราได้สมบัติเพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติของเราเหล่านั้น จงมีชีวิตอยู่ยืนนาน การบูชาเป็นอันพวกญาติได้ทำแล้วแก่เราทั้งหลาย และญาติทั้งหลายผู้ให้ก็ไม่ไร้ผล เพราะในเปรตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม ไม่มีโครักขกรรม ไม่มีการค้าขายเช่นนั้น ไม่มีการซื้อการขายด้วยเงิน เปรตทั้งหลายผู้ไปในปิตติวิสัย ย่อมเยียวยาอัตภาพด้วยทานที่ญาติหรือมิตรให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้ น้ำฝนอันตกลงในที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้วในนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน ห้วงน้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังสาครให้เต็มเปี่ยมฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้ว แต่มนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า ญาติมิตรและสหายได้ให้สิ่งของแก่เรา ได้ช่วยทำกิจของเรา ดังนี้ พึงให้ทักษิณาแก่เปรตทั้งหลาย ความเศร้าโศก หรือความร่ำไรอย่างอื่น ไม่ควรทำเลย เพราะความร้องไห้เป็นต้นนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย ญาติทั้งหลายย่อมดำรงอยู่โดยปกติธรรมดา อันทักษิณานี้แลที่ท่านเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ ให้แล้ว ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรตนั้นโดยพลัน สิ้นกาลนาน ญาติธรรมมหาพิตรได้แสดงให้ปรากฏแล้ว การบูชาอันยิ่งเพื่อเปรตทั้งหลาย มหาพิตรทรงทำแล้ว และกำลังกายมหาบพิตรได้เพิ่มให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บุญมีประมาณไม่น้อยมหาบพิตรได้ทรงขวนขวายแล้ว   (ขุ 26/90/125)

สรุป
              ในพระสุตตันติฎกเล่มที่ 25 ประกอบด้วย ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิตอวุตตก-สุตตนิบาต และเล่มที่ 26 ประกอบด้วยขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถระ-เถรีคาถา มีเรื่องที่เป็นปัญหาทางปรัชญาที่สำคัญคืออภิปรัชญาว่าด้วยความจริงแท้ เรื่องโลก แต่ความหมายอาจจะไม่ตรงกับทรรศนะของปรัชญาตะวันตก แต่ก็เทียบเคียงกันได้ ในเรื่องญาณวิทยา พระไตรปิฎกทั้งสองเล่มแสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดมาจากอวิชชา (ความไม่รู้) แต่เมื่อใด้เกิดวิชชาขึ้นก็จะกลายเป็นกระบวนการแห่งการรู้น่าจะจัดเป็นทฤษฎีความรู้ของพระพุทธศาสนา  ในส่วนของจริยศาสตร์ มีปรากฎมากในพระไตรปิฎกทั้งสองเล่ม ทั้งปัญหาที่ว่าอะไรคือความดี มีหลักตัดสินอย่างไร และมีผลแห่งการทำดีทำชั่วอย่างไร ได้นำเสนอเพียงบางส่วนเท่านั้น เรื่องผลของกรรมมีปรากฏมากโดยเฉพาะในวิมานวัตถุ ที่นำเสนอในที่นี่เป็นเพียงส่วนน้อย ในส่วนของตรรกศาสตร์ซึ่งว่าด้วยเหตุผลนั้น และสุนทรียศาสตร์มิได้นำเสนอในที่นี้ เพราะไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็นนัก อีกอย่างหนึ่งการนำเสนอเรื่องต่างๆของพระพุทธเจ้าก็เป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้ว และมีความงามอยู่ในตัวดังคำที่เราได้ยินเสมอว่างามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด 
              อย่างไรก็ตามปรัชญากับพระพุทธศาสนามีพื้นฐานแตกต่างกัน ปรัชญาเป็นเรื่องของกิจกรรมทางความคิด บางครั้งนักปรัชญาคิดได้กลายเป็นศาสตร์ แต่คนคิดไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ตนคิด แต่พระพุทธศาสนาเกิดจากการคิดค้นด้วยการลงมือปฏิบัติจนเห็นผล และนำประกาศให้ผู้อื่นได้รู้ด้วย และผู้ที่คิดได้ต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนค้นพบ พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของจริยศาสตร์มากกว่าจะเป็นเรื่องของอภิปรัชญาและญาณวิทยา  โดยเฉพาะในวิมานวัตถุนั้นเป็นผลของการทำดีย่อมได้ผลดีคือเกิดในวิมานซึ่งมีลักษณะต่างๆกัน ขึ้นอยู่กับบุญกรรมของแต่ละบุคคล ส่วนในเปตวัตถุเป็นผลของการทำความชั่วย่อมได้รับผลคือเกิดในเปตวิสัย ซึ่งมีตัวอย่างเป็นจำนวนมาก ที่นำเสนอมาในที่นี้มีเพียงบางส่วนพอให้เห็นตัวอย่าง


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
25/09/53


บรรณานุกรม

กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2525.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2514.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทยพร้อมอรรถกถา.กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2525.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์. กรุงเทพ ฯ:สหธรรมิก,2545.
ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน.พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548.
วิทย์ วิศทเวย์.ปรัชญาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์.2547.
พระไตรปิฏกซีดีรอม ฉบับเรียนพระไตรปิฎก.
Website
http://th.wikipedia.org/wiki

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก