ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

        สังคมไทยมีความเชื่อเรื่องพระเครื่อง เครื่องราง ของขลังมาตั้งแต่สมัยไหนไม่อาจจะระบุแน่ชัดลไปได้ คงมีมานานแล้วเพราะมีการสร้างพระเครื่องไว้ในสมัยโบราณจำนวนหนึ่ง แต่พระเครื่องที่มีผู้นิยมและเสาะแสวงหามากที่มีอายุมากที่สุดสุดองค์หนึ่งคือ พระรอด วัดมหาวัน ลำพูน หรือในวงการพระเครื่องนิยมเรียกว่า “พระรอดลำพูน” มีอายุพันกว่าปี นอกจากนั้นในบรรดาพระเครื่องที่มีผู้นิยมสูงสุดในปัจจุบันยังคงเป็นพระเบญจภาคีประกอบด้วยพระสมเด็จฯ พระนางพญาพิษณุโลก พระรอดวัดมหาวัน พระกำแพงซุ้มกอ และพระผงสุพรรณบุรี ซึ่งนับวันจะหาของจริงยากขึ้นทุกวัน หรือหากจะมีก็มีการเช่าซื้อกันราคาแพงมาก นัยว่าพระสมเด็จบางองค์หลายหลายสิบล้านบาท คนทั่วไปคงยากที่จะมีสิทธิ์ในการครอบครอง เพราะเพียงแค่จะหาเช้ากินค่ำก็ลำบากพอแล้ว จะมีปัญญาที่ไหนที่จะไปเช่าซื้อราคาแพงขนาดนั้นได้ พระเครื่องในสังคมไทยปัจจุบันได้กลายเป็นพุทธพาณิชย์มีการซื้อขาย มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ มีการเก็งกำไร หากพระเครื่องรุ่นไหนมีประสบการณ์ในการใช้ ราคาก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
       จากแนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปองค์เล็กๆเพื่อเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนหนึ่งมักจะนิยมบรรจุไว้ในเจดีย์ แต่เมื่อพระเครื่องมีราคาในการซื้อขายก็เกิดขบวนการในการขุดค้นเจดีย์และแหล่งโบราณสถานเพื่อหาพระเครื่องตลอดจนวัตถุโบราณเพื่อนำมาขายเป็นทรัพย์สิน เจดีย์ส่วนหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่จึงมักจะถูกขุดค้นทำลายกลายเป็นซากหักพัง พระพุทธรูปที่บรรจุในเจดีย์ก็กลายเป็นสินค้าในตลาดพระเครื่องไป  
พระเครื่องในสังคมไทย
    พระเครื่องเกิดจากความเชื่อที่ว่าการมีตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่สามารถนำติดตัวไปด้วย จะทำให้รอดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลาย ครั้งจะนำพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ไปก็จะยากแก่การถือ จึงเกิดแนวคิดในการย่อขนาดของพระพุทธรูปให้มีขนาดเล็กที่สามารถห้อยที่คอไปได้โดยสะดวก ภายหลังแม้แต่พระเกิจิอาจารย์ที่มีผู้เคารพศรัทธาก็นิยมทำรูปเหมือนสามารถนำติดตัวไปด้วย พระเครื่องในยุคแรกจึงมีไว้เพื่อป้องกันอันตรายและจะได้เป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำความชั่ว
          ในสังคมไทยจึงมีพระเครื่องที่ได้รับความนิยมหลายประเภทเช่นพระปิดตา พระหลวงพ่อทวด เป็นต้นราคาพอหาเช่าซื้อกันได้บ้าง ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีข่าวว่ามี “พระกริ่ง” องค์หนึ่งมีการเช่าซื้อกันในราคาสูงถึงสามสิบล้านบาท เป็นพระกริ่งปวเรศ สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
         เนื่องจากเคยเรียนและทำงานที่วัดบวรนิเวศมานาน ได้รับแจกพระเครื่องแทบทุกปี จึงแอบคิดในในว่าน่าจะมีพระกริ่งสักรุ่นที่อาจจะเป็น “พระกริ่งปวเรศ”บ้าง จึงลองค้นหาตามหิ้งพระ ตามกระเป๋าที่เก็บไว้  ก็พบกับพระกริ่งปวเรศองค์หนึ่งจริงๆ แต่เป็นพระที่สร้างใหม่ พุทธศักราช 2536 เป็นพระกริ่งปวเรศรุ่น 100 ปีมหามกุฏฯ คงได้รับแจกหรืออาจจะเช่าซื้อมาตั้งแต่สมัยนั้น เพราะช่วงนั้นยังเป็นนักศึกษาชั้นศาสนศาสตรบัณฑิต เรียนที่วัดบวรนิเวศวิหาร นอกจากนั้นก็ยังมีพระผง พระพิมพ์ เหรียญที่สร้างในสมัยเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช อีกจำนวนหนึ่ง
          สมัยที่อุปสมบทใหม่ๆเคยเห็นพระอุปัชฌาย์เวลาทำน้ำพุทธมนต์ก็จะมีพระกริ่งองค์หนึ่งใส่ลงไปในบาตรน้ำมนต์ แต่ไม่รู้ว่าเป็นพระกริ่งอะไร รุ่นไหน เมื่อท่านมรณภาพก็ไม่ได้เห็นพระกริ่งองค์นั้นอีกเลย ไปไหน อยู่ที่ใครก็ไม่ได้สนใจใคร่รู้อะไรมากนัก
          พระกริ่งมาจากไหน มีแนวคิดและความเป็นมาอย่างไร ลองศึกษาประวัติและความเป็นมาดูสักหน่อย ในหนังสือ “สุดยอดพระกริ่งยอดนิยม” มีบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “พระกริ่ง” นั้นทราบกันดีโดยทั่วไปว่า  เป็นพระพุทธปฏิมาเนื้อโลหะขนาดย่อม ในองค์พระบรรจุเม็ดกริ่ง เมื่อเขย่าจะมีเสียงดัง พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปลอยองค์ ประทับนั่งบนฐานบัวสองชั้น เนื้อโลหะผสม สีออกแดง เหลือง ดำ เรียกกันว่าเนื้อสำริด หรือนวโลหะ 
พระไภสัชยคุรุพุทธเจ้า
          แนวคิดในการสร้างพระกริ่งนั้น เสถียร  โพธินันทะ อดีตอาจารย์สอนที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระกริ่งไว้ว่า “พระกริ่งคือพระไภสัชยคุรุพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่นิยมนับถือของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน เมื่อความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของพระพุทธรูปไภสัชยคุรุปรากฎ พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานจึงเคารพนับถือเป็นยิ่งนัก พระพุทธปฏิมาของพระไภสัชยคุรุบูชากันทั่วไปในวัดประเทศจีน ญี่ปุ่น ธิเบต เกาหลี และเวียดนาม ที่สุดในประเทศเขมรและประเทศไทย สำหรับประเทศไทยแม้จะนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์ลัทธิสาวกยาน แต่ก่อนนั้นขึ้นไปเราก็เคยเอาลัทธิมหายานมานับถืออยู่ระยะหนึ่ง เป็นลัทธิมหายานซึ่งแพร่ขึ้นมาจากอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้และที่แพร่หลายมาจากเขมร ไทยพึ่งเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์เมื่อยุคสุโขทัยนี้เท่านั้น” (ม.ร.ว. อภิเดช  อาภากร,สุดยอดพระกริ่งยอดนิยม,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์กรุงเทพ จำกัด, 2557 หน้า 11)
        ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “มหายาน” นั้นมีแนวความคิดที่แตกต่างไปจากพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทพระราชธรรมนิเทศ(ระแบบ ฐิตญาโณ)ได้สรุปดังนี้ “มหายานได้แต่งพระสูตรเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก การปฏิบัติตามพระสูตรง่ายและมากด้วยอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ทำนองยาขมเคลือบน้ำตาล มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการปลุกเสก อาคม เครื่องรางของขลัง พิธีบวงสรวงต่างๆ พิธีอำนวยโชค สะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ พิธีอาพาธพินาศ เป็นต้น  พระพุทธเจ้าของมหายานมีพระกายสามประการเรียกว่า “ตรีกาย” คือ(1) สัมโภคกาย คือพระกายที่เป็นทิพยภาวะ ประทับอยู่ ณ พุทธเกษตรของพระองค์ (2) นิรมานกาย คือพระกายที่พระองค์นิรมิตขึ้น ทำนองอวตารลงมา อาการมีทรงพระชรา ประสูติ เปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางพระกายนั้น ล้วนแต่เป็นมายาทั้งสิ้น (3) ธรรมกาย คือสุญญตภาวะหรือพระนิพพานนั่นเอง  พระพุทธเจ้าในความเชื่อของมหายานมีเป็นจำนวนมาก มีพระโพธิสัตว์จำนวนนับอสงไขยที่คอยช่วยเหลือคนทั้งหลาย
          เสถียร โพธินันทะ กล่าวถึงมหายานว่าได้จำแนกยานออกเป็นสามประการคือ (1) สาวกยาน คือยานของพระสาวกที่มุ่งเพียงอรหันตภูมิ ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจสี่ ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า (2) ปัจเจกยาน คือยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ และ (3) โพธิสัตวยาน คือยานของพระโพธฺสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีใจกว้างขวางประกอบมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหันตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิเพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่าสองยานแรก และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม (เสถียร  โพธินันทะ,ปรัชญามหายาน(พิมพ์ครั้งที่ 6),กรุงเทพฯ:,มหามกุฏราชวิทยาลัย,2555,หน้า 3)
       ในขณะที่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมุ่งเพื่อบรรลุอรหันตภูมิจึงเรียกว่า “สาวกยาน” แต่ฝ่ายมหายานปรารถนาพุทธิภูมิตามมหาจตุรปณิธานสี่ประการคือ (1) เราจะละกิเลสทั้งหลายให้หมด (2) เราจะศึกษาธรรมทั้งหลายให้เจนจบ (3) เราจัดโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น และ (4) เราจะต้องบรรลุพุทธภูมิ (เสถียร  โพธินันทะ,ปรัชญามหายาน,หน้า 11)
          ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติจึงต่างกันเถรวาทปรารถนาจะบรรลุพระอรหันต์ แต่มหายานปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ใครคิดผิดหรือใครคิดถูกโปรดใช้วิจรณญาณพิจารณาโดยแบคายเถิด ส่วนปัจเจกยานไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงเพราะถึงแม้จะสิ้นกิเลสแต่ก็สอนใครไม่ได้นั่นเอง
        พระไภสัชยคุรุคือใคร เป็นเรื่องที่น่าค้นหา ในหนังสือ “พระชินพุทธะห้าพระองค์ ว่าด้วยพระพุทธเจ้าในรูปกายทิพย์ตามคติของมหายานและวัชรยานระบุไว้คือพระอักโษภยพุทธะ พระรัตนสัมภวพุทธะ พระอมิตาภะพุทธะ พระอโมฆสิทธิพุทธะ และพระไวโรจนะพุทธะ(สุมาลี  มหณรงค์ชัย,พระชินพุทธห้าพระองค์,กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2547, หน้า 8)
          น่าสังเกตว่าพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ตามคติความเชื่อของธิเบตไม่มีนามของพระไภสัชยคุรุพุทธะ
          ในหนังสือพระพุทธศาสนาแบบธิเบต มีระบุพระนามของพระพุทธเจ้าไว้หลายพระองค์เช่นพระศากยมุนีพุทธะ  พระไวโรจนพุทธะ พระอักโษภยะ พระอมิตาภะพุทธะ  พระอโมฆสิทธิพุทธะ  พระรัตนสัมภวะพุทธะ  พระไภสัชยคุรุพุทธะ(ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์, พระพุทธศาสนาแบบธิเบต,กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2554, หน้า 118)
          มีคำอธิบายเกี่ยวกับพระไภสัชยคุรุพุทธะไว้ว่า “พระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งที่ชาวธิเบตให้ความเคารพมากเป็นพิเศษ คือพระไภสัชยคุรุพุทธะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาพยาบาล ทรงรักษาโรคทุกชนิด รวมทั้งโรคสำคัญคืออวิชชา ในไภสัชยคุรุไวฑูรนประภาตถาคตสูตร ได้กล่าวถึงปณิธานของพระองค์ที่ขอให้สรรพสัตว์ปราศจากโรคภัยทั้งปวง ในรูปสักการะ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าสามพระองค์ มักประทับอยู่เบื้องซ้ายของพระศากยมุนีพุทธะ และเสด็จประทับทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับพระอมิตาภะพุทธะ มีพระวรกายสีน้ำเงิน (ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์, พระพุทธศาสนาแบบธิเบต,กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2554, หน้า 131)
          เมื่อครั้งที่ไปเยี่ยมชมวัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่ ได้ถามพระภิกษุจีนว่าพระประธานทั้งสามองค์มีพระนามว่าอย่างไรบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า องค์กลางคือพระศรีศากยมุนี  องค์ด้านขวา(ของพระศรีศากยมุนี แต่อยู่ด้านซ้ายเรา)คือพระอมิตาภะ ส่วนองค์ที่อยู่ทางด้านซ้ายคือพระไภสัชยคุรุพุทธะ หากจะนับจากซ้ายไปขวาก็จะเป็นพระอมิตาภะ พระศรีศากยะและพระไภสัชยคุรุ
แนวคิดพระพุทธศาสนามหายาน
          แนวคิดฝ่ายมหายาน มีปรากฎตามที่ท่านนาครชุน ได้กล่าวไว้ในทวาทศนิกายศาสตร์ ความว่า “มหายาน เป็นยานอันประเสริฐกว่ายานทั้งสองคือสาวกยานและปัจเจกยาน เหตุนั้น จึงชื่อว่ามหายาน พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอาศัยยานนี้  และยานนี้เองจะนำเราเข้าถึงพระพุทธองค์ มหาบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงอาศัยยานนี้เข้าถึงธรรมอันสูงสุด เพราะฉะนั้นยานนี้จึงชื่อว่า “มหายาน” (วศิน  อินทสระ,สาระสำคัญแห่งพุทธปรัชญามหายาน,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ธรรมดา,2549,หน้า 12)
          พระสูตรเกี่ยวกับพระไภสัชยคุรุพุทธะ เท่าที่มีอยู่ตอนนี้มีสองพระสูตรคือไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตสูตร(ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ แปล)  และพระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร (วิศวภัทร  มณีปัทมเกตุ แปล,
        พระสูตรทั้งสองมีเนื้อความใกล้เคียงกัน ขึ้นต้นด้วยคำใกล้เคียงว่า ฉบับแรกความว่า“ดังได้สดับมา” อีกฉบับหนึ่งความว่า “ดั่งที่ข้าพเจ้าได้สดับมา” หากเป็นภาษาบาลีน่าจะมาจากคำเดียวกันว่า “เอวมฺเม สุตํ” แปลได้ทั้งสองความหมาย
          จากนั้นก็มีข้อความแตกต่างกัน ฉบับแรกมีข้อความว่า “ขณะที่ได้ท่องเที่ยวในดินแดนต่างๆ เพื่อเทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์ พระภควันต์เสด็จมาถึงเมืองไวศาลี พระองค์ประทับภายใต้เงาไม้ ” อีกฉบับว่า “สมัยหนึ่งพระภควันต์ทรงจาริกไปยังเมืองต่างๆ จนถึงมหานครไวศาลี แล้วทรงประทับอยู่ภายใต้ร่มเงาพฤกษา” ข้อความใกล้เคียงกัน เมืองไวศาลีเหมือนกัน ดังนั้นจึงขอใช้หนังสือพระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร เป็นหลักฐานอ้างอิง
        พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้กราบทูลให้ทรงแสดงธรรมความว่า “ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมตามพระประสงค์เถิดพระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีความยินดีในการฟังธรรมนี้
          พระพุทธเจ้าจึงได้เริ่มแสดงธรรม โดยได้ทรงตรัสเล่าถึงสมัยที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์มีพระนามว่า “ไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า ได้แสดงปณิธานไว้ 12 คือ
          มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 1 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ณบัดนั้น ขอให้กายของบังเกิดมีรัศมีสว่างไสวโชติช่วงประดุจเปลวเพลิง ฉายแสงประภาสอันหาประมาณมิได้ส่องสว่างไปทั่วทั้งบริเวณโดยรอบไร้ขอบเขต ไม่ติดขัดในโลกธาตุทั้งปวง ถึงพร้อมด้วย พุทธลักษณะที่สำคัญ ทวัตติงสะมหาบุรุษลักษณะ 80 ประการอันเป็นที่หน้าเลื่อมใส่แลอลังการ จงได้สำเร็จแก่เรา และจะยังให้สรรพสัตว์ทั้งปวงได้เสมอเหมือนโดยไม่มีผิดเพี้ยนหรือแตกต่างจากเราเลยแม้แต่น้อย
           มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 2 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว บัดนั้น ขอให้กายของเราว่างไสวสุกใสทอแสงรัศมีเสมือนดั่งรัตนไพฑูรย์ มีรัศมีอันปราศจากมลทินและความเศร้าหมอง ทั้งภายในภายนอก เป็นรัศมีแห่งกุศลบารมีอันยิ่งใหญ่ มีแสงรังสีสว่างไสวรุ่งเรืองยิ่งกว่าดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ แลแสงรัศมีนี้ จงฉายแสงไปถึงนิริยะภูมิ เบิกถอนความโง่เขลา ความมืดบอดของสรรพสัตว์ให้สิ้นไป เพื่อให้สรรพสัตว์ได้ดำเนินชีวิตไปตามความประสงค์ของแต่ละบุคคล
          มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 3 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว บัดนั้นด้วยอภิสัมโพธิปัญญาอันไม่มีประมาณ ที่ซึ่งไมข้องขัดในสิ่งปวงนั้น ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงได้พ้นจากความยากจนค่นแค้น พ้นจากความยากไร้ และจะไม่ต้องปราศไปจากสิ่งของต้องประสงค์ทั้งปวง
         มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 4 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากมีสรรพสัตว์เหล่าใด ที่ประพฤติธรรมอันเป็นอกุศล เราจะเป็นผู้ทำให้เขาเหล่านั้น หันกลับมาประพฤติปฏิบัติจริยาอันเป็นแนวทางสู่โพธิมรรค รวมทั้งผู้ที่ปฏิบัติจริยาในสาวกยานปักเจกยาน เราก็จะทำให้เขาทั้งหลายนั้น หันกลับมาประพฤติจริยา ตามปฏิปทาแห่งมหายานเช่นเรา
         มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 5 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากสรรพสัตว์ทั้งหลายอันไม่มีประมาณ ได้ประพฤติพรหมจรรย์ ตามคำสอนของเราและประพฤติปฏิบัติได้อย่างบริสุทธิ์ ถึงพร้อมในตรีวิธานิศีลแล้ว ถ้าหากได้ละเมิลในศีลนั้น ทำให้บังเกิดมีมลทินด่างพร้อย หากได้สดับนามแห่งเราแล้ว เขาผู้นั้นก็จะกลับคืนสู่ภาวะบริสุทธิ์ในทันทีและจะไม่ตกไปสู่ห้วงแห่งอบายภูมิอีกต่อไป
           มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 6 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากแม้นว่ามีสรรพสัตว์ที่ทุพพลภาพพิกลพิการ และอายตนะทั้งหลายไม่สมบูรณ์ มีร่างกายอัปลักษณ์ สัญญาวิปลาส สติไม่สมปะดี ตาบอก หูหนวก บ้าใบ้ ง่อยเปลี้ย เสียสติ ได้รับทุกขเวทนาจากโรคภัยต่างๆ หากได้สดับนามแห่งเราแล้วขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น จงกลับกลายเป็นผู้มีร่างกายที่งดงามสง่า มีอายตนะครบถ้วนบริบูรณ์ อวัยวะต่างๆสมบูรณ์และปราศจากโรคภัยทั้งปวง
           มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 7 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากมีสรรพสัตว์ที่ประสพโรคร้ายต่างๆ แต่ปราศจากผู้ชี้แนะปราศจากแพทย์ผู้รักษา ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีแม้นกระทั่งที่พักพิงอาศัย ต้องผจญกับความลำบากทุกข์เข็ญนานัปการ หากเขาเหล่านั้นได้สดับนามแห่งเราแล้วโรคาพาธ และทุกข์ที่มีอยู่ก็จะสูญสี้นไปจักมีความสุขทั้งกายและใจ วงศ์ตระกูลจะสุขสมบูรณ์พูนผล อุดมด้วยโภคสมบัติ และเขาผู้นั้นก็จะได้บรรลุถึงพระอนุตตรส้มมาสัมโพธิญาณในที่สุด
             มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 8 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากมีสตรีเพศใดที่ประสพกับความทุกข์มีความกลัดกลุ้มใจ เบื่อหน่าย มีจิตที่ปรารถนาต้องการจะหลุดพ้นจาดลักษณาการแห่งอิสัตรี หากเธอผู้นั้นได้สดับนามแห่งเราแล้ว ขอให้รูปกายและสิ่งต่างๆ ที่เป็นหญิงจงกลับกลายบุรุษ สภาพโดยสมบูรณ์ และเธอผู้นั้นก็จะได้บรรลุพระอนุตรส้มโพธิญาณในที่สุด
              มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 9 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากมีสรรพสัตว์เหล่าใดที่เข้าสู่กระแสข่ายแห่งมาร เราจะช่วยให้เขาพ้นจากกระแสข่ายแห่งมารนั้นให้ได้พ้นจากความหลงผิดอวิชชาทั้งปวงหากแม้นผลแห่งอกุศลกรรมที่สรรพสัตว์เหล่านั้นด้วยกระทำไว้จะเป็นเหตุให้ไปสู่นรกภูมิเราจะขอเป็นผู้ระงับมิจฉาทิฐิของสรรพสัตว์ทั้งหลายเอง แลจะช่วยให้เหล่าสรรพสัตว์นั้น ได้บังเกิดมีสัมมาทิฐิหันมาบำเพ็ญจริยาของพระโพธิสัตว์และจะช่วยให้สำเร็จถึงพร้อมในพระโพธิญาณได้โดยไว
             มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 10 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากมีสรรพสัตว์เหล่าใดที่ต้องคดีอาญาหลวง ถูกจ้องจำ ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน ถูกโบยตี หรือคดีประหารชีวิตด้วยอาญาใหญ่น้อย ต้องประสพภยันตราย ถูกข่มเหง ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ได้รับความกรุณาได้รับทุกขเวทนาทั้งกายและใจเป็นที่ยิ่งหากเมื่อได้สดับนามแห่งแล้ว ด้วยคุณธรรมบารมีอันยิ่งใหญ่ของเรานั้นขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงได้หลุดพ้นสิ้นจากความทุกข์ทรมานทั้งปวง
             มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 11 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากมีสรรพสัตว์เหล่าใดที่ได้รับทุกข์ทรมาน จากทุพภิกขภัยคือยุคข้าวยากหมากแพง อดยากหิวกระหาย อีกทั้งผู้ที่ต้องกระทำกรรมชั่วเพื่อเลี้ยงชีพของตน เมื่อเราได้สดับนามแห่งเราแล้วและตั้งจิตอธิษฐานภาวนาถึงเราในเบื้องแรกทิพยบริภัณฑ์และทิพย์สุธาโภชน์ ก็จะได้สำเร็จแก่เขาผู้นั้นอย่างบริบูรณ์ และในเบื้องอันเป็นที่สุดนั้น เขาจะได้เสวยอมฤตธรรมจะเป็นผู้ที่ถึงพร้อมในบรมสุขอันเยี่ยมยอดจำนวนอประมาณ
             มหาปณิธานประการที่หนึ่ง 12 เมื่อเรามาอุบัติยังโลกและได้บรรลุถึงโพธิญาณแล้ว หากมีสรรพสัตว์ ผู้อนาถา ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มได้รับโรคภัยจากแมลงต่างๆ ผจญอากาศหนาวร้อนทุกวันคืน ได้รับแต่ความทุกข์ทรมาน เมื่อได้สดับนามแห่งเราแล้วและตั้งจิตภาวนาสาราณียะด้วยความยึดมั่น ความทุกข์ทรมานทั้งหลายนั้นก็จะมลายหมดสิ้นไป เขาจะได้รับวัตถาภรณ์แพรพรรณ อันเป็นทิพย์ในทันทีอีกจะพรั่งพร้อมไปด้วยรัตนมณีอันมีค่าทั้งปวง เครื่องหอม เครื่องสังคีตดนตรีทั้งหลาย ก็จะได้สำเร็จแก่เขาผู้นั้นอย่างบริบูรณ์ (วิศวภัทร มณีปัทมเกตุ แปล,พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร,กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2544, หน้า 11)
          หากพิจารณาตามมหาปณิธานทั้ง 12 ประการแล้ว พอจะสรุปได้ว่าพระไภสัชยคุรุพุทธะปรารถนาเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ต้องการให้คนอื่นหายจากโรคภัย หายจากความพิกลพิการ พ้นจากความทุกข์ทรมานให้ดำรอยู่ในความสุข ผู้ที่มีปณิธานเช่นนี้สมควรแล้วที่จะมีรูปไว้เคารพสักการะ แต่พระปฏิมาส่วนมากมักจะมีขนาดใหญ่ แนวคิดในการทำพระปฏิมาย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลง พระไภสัชยคุรุฯจึงกลายมาเป็นพระกริ่ง
          พระกริ่งในประเทศไทยนั้นมีหลักฐานพอที่จะสืบเสาะได้ มีข้อความระบุไว้ว่า “ ประวัติการสร้างพระกริ่งในประเทศไทยมีแน่ชัดในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มด้วยการสรางพระกริ่งวัดบวรฯ โดยสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ต่อมาสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศน์ทพวรารามได้ทรงสร้างพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯ อันมีชื่อเสียงมาก เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2441 จนถึงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2487 เป็นเวลายาวนากว่า 45 ปี จึงมีพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯ หลายรุ่น หลังจากนั้นมีการสร้างขึ้นที่วัดอื่นๆ อีกหลายวัดตลอดมาจนถึงปัจจุบัน(ม.ร.ว. อภิเดช  อาภากร,สุดยอดพระกริ่งยอดนิยม, หน้า 12)
          ปัจจุบันพระกริ่งมีการสร้างมากมายหลายวัด หลายรุ่นจนแยกไม่ออกว่าเป็นวัดไหนสร้าง แต่ที่เป็นที่นิยมของผู้สนใจยังเป็น “พระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศวิหาร” และ “พระกริ่งวัดสุทัศน์ฯ” สร้างหลายรุ่นแล้ว
          การบูชาพระกริ่งก็คือการบูชาต่อพระไภสัชยคุรุพุทธะ ในไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตสูตรความว่า “นะโม ภควเต ไภสัชยคุรุ ไวฑูรยประภา ราชัยยะ ตถาคตยะ อรหเต สัมยักสัมพุทธายะ ตัทยถา โอม ไภสัชเย ไภสัชเย ไภสัชเย สมุทกเต สวาหะ”(ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ แปล, ในไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตสูตร,กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2548,หน้า 12)
          เนื่องจากเป็นคาถาจึงไม่นิยมแปลความหมาย เพราะคงแปลลำบากเป็นภาษาผสมผสานทั้งบาลี สันสกฤต ทั้งพุทธและพราหมณ์
          คาถาบทนี้นิยมใช้บูชาพระกริ่งต่างๆ ชาวพุทธจีนใช้เป็นบทสวดมนต์เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก่อนกินยา ใช้มนต์นี้ท่องไว้ในใจถือเป็นมงคลสูตร เป็นสมถะวิธีอย่างหนึ่ง ทำใจให้สงบเย็นว่างลงก่อนกินยาโรคภัยจะหายเร็ว อายุยืน
บทสรุป         
          พระกริ่งเกิดจากความเชื่อเรื่องของการรักษาโรค เป็นตัวแทนของพระไภสัชยคุรุพุทธะหรือพระไภสัชยไวฑูรยประภาพุทธะ ซึ่งเป็นคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ได้กระจายมายังพุทธศาสนิกชนชาวไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมานานแล้ว มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว มาในรูปของพระเครื่อง ในรูปลักษณ์ของเครื่องรางของขลัง จนกลายเป็นพุทธพาณิชย์ในสังคมไทยในปัจจุบัน การมีพระไภสัชยพุทธไว้ประจำตัว บวกกับความเชื่อว่าสามารถจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บและป้องกันอันตรายได้ ทำให้มีการสร้างพระกริ่งขึ้นมาหลายสำนัก แต่การที่จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนนั้น อาศัยเพียงคติความเชื่อเรื่องพระกริ่งเพื่อคุ้มครองคงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะการมีสุขภาพดีต้องมีองค์ประกอบอื่นๆด้วย มีพระไว้กับตัวอย่างน้อยก็จะได้เป็นเครื่องเตือนใจให้ไม่หลงไหลไปกับพลังฝ่ายต่ำที่จะซักนำไปในทางที่ผิด โบราณว่ามีพระอยู่กับคอพอช่วยได้ มีพระอยู่กับใจได้กุศล
 
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน,ดร.
เรียบเรียง
บรรณานุกรม
ฉัตรสุมลย์  กบิลสิงห์. พระพุทธศาสนาแบบธิเบต.กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2554.
ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ แปล. ไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตสูตร.กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2548.
พระราชธรรมนิเทศ(ระแบบ ฐิตญาโณ).ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา.กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2536.
ม.ร.ว. อภิเดช  อาภากร.สุดยอดพระกริ่งยอดนิยม.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์กรุงเทพ จำกัด, 2557
วศิน  อินทสระ.สาระสำคัญแห่งพุทธปรัชญามหายาน.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ธรรมดา,2549.
วิศวภัทร มณีปัทมเกตุ แปล.พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร.กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2544.
เสถียร  โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน(พิมพ์ครั้งที่ 6).กรุงเทพฯ:,มหามกุฏราชวิทยาลัย,2555.
สุมาลี  มหณรงค์ชัย.พระชินพุทธห้าพระองค์.กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2547.
 

	
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก