ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

        การบำเพ็ญกุศลในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพพระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม วงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ได้รับนิมนต์ให้แสดงธรรมเทศนาวันสุดท้าย ก่อนพิธีพระราชเพลิงศพจะเริ่มขึ้น โดยมีกองทุนเพื่อพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต) เป็นเจ้าภาพ เนื้อหาในพระธรรมเทศนาเรื่อง “มรณกถา”  มีอรรถาธิบาย ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้


          นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
          นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
          นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส

          ทหรา จ มหนฺตา จ  เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
          สพฺเพ มจฺจุวสํ ยนฺติ สพฺเพ มจฺจุปรายนา..ติ

         มนุษย์ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่และฉลาด ทั้งหมด ย่อมไปสู่อำนาจมัจจุ มีมัจจุสกัดอยู่ข้างหน้า ฯ

      ณ วโรกาสกาลบัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนาใน “มรณกถา”พรรณนาถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงสภาวะอันเรียกว่าความตายคือธรรมชาติของชีวิต เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาเพิ่มพูนกุศลบุญราศรี ในส่วนทักขิณานุปทานกิจ ซึ่งคณะสงฆ์วัดมัชฌันติการาม พร้อมทั้งอุบาสกอุบาสิกา ศรัทธาสาธุชนผู้มีความเคารพในพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระพุทธิสารโสภณ เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระเดชพระคุณ
      ในวาระนี้เป็นพิธีพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งมีพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรมงคล เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร พระเดชพระคุณพระพรหมมุนี เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุฯ กรรมการมหาเถรสมาคม พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรญาณ วัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าคณะกรุงเทพมหานครประธานกองทุนเพื่อพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต) เป็นต้น เป็นประธาน พร้อมด้วยเจ้าคณะพระสังฆาธิกาทุกรูป ในส่วนของเจ้าภาพมีพระราชธีรสารมุนี เจ้าคณะเขตุดุสิต(ธรรมยุต)รักษาการเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม ในฝ่ายของบ้านเมืองมีนายโกศล สุนทรพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ เป็นต้น เป็นประธาน ซึ่งก็มีพระมหาเถรานุเถระ เจ้าคณะ พระสังฆาธิการ ได้มาร่วมในการบำเพ็ญกุศลในคราวครั้งนี้ เป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นผู้มีน้ำใจในคราวที่พระเดชพระคุณพระพุทธิสารโสภณ(เดช กตปุญฺโญ) ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ ก็ได้มาบำเพ็ญกุศลถวายท่านโดยตลอด เป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นผู้มีน้ำใจ และมีความเชื่อมั่นว่า การบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานถวายพระเดชพระคุณนั้น ถือว่าเป็นการทำบุญที่นำความสุขมาให้และอุทิศส่งไปให้ผู้วายชนม์ เป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมในชนสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต( 20/491/198) ความว่า  “ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ” ควรทำบุญทั้งหลายอันนำความสุขมาให้
      พระเดชพระคุณพระพุทธิสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม มีนามเดิมว่า เดช ศาลา ถือกำเนิดเกิดวันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2493  ปีขาล ณ บ้านสมดี ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี พอท่านอายุได้ 4 ขวบ พ่อและแม่ได้พาท่าน พร้อมพี่น้อง อพยพมาอยู่ที่ บ้านหนองบัวสิม อำเภอคำตระกล้า จังหวัดสกลนคร ต่อมาโยมมารดาได้เสียชีวิต โยมบิดาคิดจะพากลับอุบลราชธานี แต่ได้แวะพักที่อำเภอพังโคน แต่ลูก ๆ ไม่อยากกลับอุบลฯ เลยตัดสินใจตั้งหลักปักฐานที่อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ท่านเจ้าคุณฯ จึงเป็นคน 2 จังหวัดคือเกิดที่อุบลราชธานี และเติบโตที่สกลนคร
      บิดาชื่อ นายทอก ศาลา  มารดาชื่อ นางใบ ศาลา  มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 6 คน เสียชีวิตแล้ว 4 คน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ 2 คน เด็กชายเดช ศาลา ได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนจำปาสามัคคีวิทยา (ปัจจุบันคือโรงเรียนพังโคนจำปาสามัคคีวิทยา) จนจบประถมศึกษาปีที่ 4 และได้ออกมาทำนา ทำไร่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ช่วยบิดามารดา ซึ่งในช่วงเช้า ๆ ของทุกวันจะมีพระมารับบิณฑบาตที่หน้าบ้านเป็นประจำ จนอายุ 13 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดสุทธิมงคล ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมี พระพิศาลศาสนกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2506  จากนั้นในปี พ.ศ. 2509 ก็ย้ายมาจำพรรษาที่วัดมัชฌันติการาม จากเด็กชาวบ้านมีอาชีพทำนาทำไร่ ก็เข้าสู่เส้นทางธรรม ดังบทกลอนที่ว่า
                  จากเด็ก ชาวบ้านป่า ทำนาข้าว       
                  ท่านก็ก้าว เท้าย่าง บนทางใหม่
                  ทุกข์ก็ทน บนเส้นทาง ก้าวย่างไป    
                  ชีวิตใหม่ ในระหว่าง เส้นทางธรรม

      เมื่ออายุได้ อายุ 21 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2514 ณ วัดสามัคคีบำเพ็ญผล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูพุฒิวราคม วัดคามวาสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมสาร วัดมัชฌันติการาม เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวิทิตคุณาภรณ์ (เกิ่ง วิทิโต) วัดสามัคคีบำเพ็ญผล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์  พ.ศ. 2540 ได้รับการแต่งตั้งเป็น เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม และได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อ วันจันทร์ที่ 6 เดือน กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 17.09 น. ด้วยโรคมะเร็งท่อทางเดินน้ำดี ระยะแพร่กระจาย ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร สิริอายุรวมอายุ 71 ปี พรรษา 50 เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม 20 ปี
      การจากไปของพระเดชพระคุณเป็นไปตามสัจจธรรมที่ว่า จะอยู่ที่ไหนก็ต้องพานพบกับความจริงของชีวิต ดังที่พระพุทธองค์แสดงไว้ในชราสุตตนิทเทส ขุททกนิกาย มหานิเทส (29/185)  ความว่า       
           “ทหรา จ มหนฺตา จ  เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
            สพฺเพ มจฺจุวสํ ยนฺติ สพฺเพ มจฺจุปรายนา

      แปลความว่ามนุษย์ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่และฉลาด ทั้งหมด ย่อมไปสู่อำนาจมัจจุมีมัจจุสกัดอยู่ข้างหน้า
     ข้อความในบาลีนี้แสดงว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด บางคนเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก บางคนเป็นผู้ใหญ่ บางคนแม้จะเป็นคนโง่ หรือคนฉลาดเพียงใดก็ตาม  เมื่อถึงเวลาก็จะต้องตายไปตามสภาวะ นั่นคือความเป็นธรรมดาของชีวิต คนเรานั้นจะเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่วก็อยู่ที่ตัวเราเป็นคนเลือกสรร
     ชีวิตและความตายเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน โดยไม่เลือกเพศ วัย หรืออายุ ชีวิตจึงมีความไม่แน่นอนเป็นธรรมดา นักปราชญ์ท่านจึงเขียนกลอนไว้สอนตนคนทั้งหลายว่า
                   ชีวิตเรา เอาอะไร ไม่ได้แน่    
                   ไม่ทันแก่ อาจตายดับ อย่าสับสน
                   เด็กผู้ใหญ่ ก็ไม่ว่า ถึงคราจน  
                   ตายไม่พ้น ทุกผู้ ไม่รู้วัน

    ชีวิตจึงไม่มีอะไรที่แน่นอน คาดเดาไม่ได้ว่าใครจะอายุยืนหรืออายุสั้น อาจเข้าถึงมรณภัยได้ทุกเวลา การที่ท่านทานบดีทั้งหลายได้มาร่วมงานบำเพ็ญกุศลทักฺษิณานุปทาน พระพุทธิสารโสภณ วันนี้เป็นวันสุดท้าย ก่อนที่จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันพรุ่งนี้ แม้ว่าจะมาจากถิ่นฐานที่ต่างกัน ฐานะที่ต่างกัน อายุที่ต่างกัน แต่ในพระพุทธศาสนามีคำสอนที่บ่งบอกถึงมนุษย์ทุกคนต่างก็มีความผูกพันกัน มีส่วนเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค (16/450) ความว่า “สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่ชายน้องชาย ไม่เคยเป็นพี่หญิงน้องหญิง  ไม่เคยเป็นบุตรธิดา โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น” สงสารวัฏนี้ยาวไกลนักจนหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้
     วันนี้ท่านทั้งหลายมาร่วมงานบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ท่านเจ้าคุณพระพุทธิสารโสภณอย่างน้อย 4 ประการคือ 1. ต้องการมาทำบุญทำกุศลให้ท่าน 2. มาแต่งจิตให้กตัญญู 3. มาบูชาผู้มีพระคุณ 4 มาเพิ่มบุญให้กับชีวิต    
     และยังมีโอกาสได้ระลึกถึงคุณของท่านเจ้าคุณพระพุทธิสารโสภณ อีก 4 ประการคือ 1.ระลึกถึงคุณงามความดี 2.ระลึกถึงคำพูด 3.ระลึกถึงการกระทำ 4. ระลึกถึงผลงานของท่าน  
    พระพุทธิสารโสภณได้ดำเนินชีวิตในสมณเพศ เป็นสามเณร 7 ปี เป็นพระภิกษุ 50 พรรษารวม 57 ปี ชีวิตจึงอยู่ในเส้นทางแห่งความดี บำเพ็ญคุณงามความดีมาทั้งชีวิต หากจะพูดถึงความดีของพระเดชพระคุณฯ นั้นพอสรุปความดีได้ 3 อย่าง คือ 1.ท่านเป็นผู้เกิดมาดี 2.ท่านอยู่ดี และ 3.ท่านไปดี เรียกว่า “ดีเมื่อมา ดีเมื่ออยู่ และดีเมื่อไป”
    ประการแรก พระเดชพระคุณพระพุทธิสารโสภณ ท่านเกิดมาดีเพราะมีบุญ เรียกว่า “ปุพเพกตปุญญตา” บุญเก่ากุศลก่อน ที่สนับสนุนให้ท่านเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา และมีโอกาสได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนา เป็นการเพิ่มบุญบารมีธรรมในภพชาตินี้ เรียกว่า ชีวิตของท่านมีแต่คุณงามความดี มีแต่บุญกุศล นี้เรียกว่า “เกิดดีเพราะมีบุญ” ในช่วงที่เราท่านทั้งหลายยังมีชีวิต มีลมหายใจ จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท เร่งสร้างบุญกุศลไว้ให้พร้อมเพื่อจะได้เป็นเสบียงติดตามตนไปในสัมปรายภพ ดังคำประพันธ์ว่า
                 มีชีวา อย่าประมาท ขาดสติ               
                 เร่งดำริ เรื่องกุศล ผลสร้างสรรค์
                 เกรงกลัวบาป ปราบกิเลส ทุกเภทพันธุ์ 
                 ชีวิตนั้น เมื่อตายดับ ไปกับบุญ

     เมื่ออยู่ได้พึ่งบุญตน เมื่อวายชนม์ได้พึ่งบุญคนอื่น ที่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้ ร่างกายก็ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน ส่วนวิญญาณไปตามทุนบุญและบาป
    ประการที่ 2 พระเดชพระคุณพระพุทธิสารโสภณ ท่านอยู่ดีเพราะมีคุณ คำว่า “คุณ” ในที่นี้คือคุณธรรมหรือคุณความดี คุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมไว้เอง เรียกว่า “อัตตหิตสมบัติ” หรือคุณงามความดีเฉาะตน ตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทจนถึงวาระสุดท้าย ท่านได้สร้างความดีไว้อเนกประการ นอกจากนั้นท่านยังได้บำเพ็ญความดีเพื่อประโยชน์เพื่อผู้อื่นเรียกว่า “ปรหิตสมบัติ” คือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม นี้เรียกว่า “อยู่ดีเพราะมีคุณ”
    พระพุทธิสารโสภณ ท่านดีเมื่ออยู่ เนื่องเพราะท่านได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่วัดและศาสนา ในสมัยที่ท่านได้ไปศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปัญจาบ เมืองจันดิการ์ รัฐปัญจาบนั้น ท่านได้เล็งเห็นว่ามีชาวพุทธจำนวนหนึ่งยังไม่มีสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จึงได้มีแนวคิดริเริ่มในการสร้างวัด ซื้อที่ดิน สร้างกุฏิ สร้างศาลา จนกลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนาคือวัดอโศกพุทธวิหาร เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ วัดอโศกพุทธวิหารตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา มีบรรยายกาสร่มรื่น แม้จะแวดล้อมไปด้วยศาสนสถานของศาสนาอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นภัยต่อกัน เนื่องเพราะในเวลาที่ศาสนาอื่นมีงาน ท่านเจ้าคุณฯ ก็จะไปร่วม โดยนำสิ่งของเครื่องใช้เท่าที่มีไปร่วมบริจาคด้วย นอกจากนั้นวัดอโศกพุทธวิหารยังเป็นสถานที่พักสำหรับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่เดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยปัญจาบ
    เมื่อศึกษาจบตามหลักสูตรแล้วก็กลับมาทำงานที่สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สมัยนั้นตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษยานุศิษย์จำนวนมาก จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ และรองอธิการบดีฝ่านกิจการนักศึกษา
    ในขณะเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม ได้พัฒนาวัดและสร้างเสนาสนะไว้หลายอย่างอาทิซ่อมแซมพระอุโบสถที่สร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2417 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีบันทึกตามราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 31 พฤษภาคม 122 (พุทธศักราช 2446) เล่มที่ 20 หน้า 133 ความว่า “พระราชทานวิสุงคามสีมาสามัญ พระราชทานพระบรมราชานุญาต วันที่ 29 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 122 ลำดับที่ 5 วัดน้อย แขวงกรุงเทพ ฯ ยาว 13 วา กว้าง 8 วา เจ้าจอมมารดาเที่ยง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระเดชพระคุณฯ ได้ปรับปรุงซ่อมแซมพระอุโบสถที่สร้างมาร้อยกว่าปี ให้มีสภาพที่มีความพร้อมในการประกอบศาสนกิจของพระภิกษุสามเณร
    งานอีกอย่างหนึ่งที่พระเดชพระคุณพระพุทธิสารโสภณ ท่านได้ริเริ่มในการสร้างคือ “สวนป่าและศาลาปฏิบัติธรรมวัดมัชฌันติการาม ที่เราท่านทั้งหลายเห็นอยู่นี้ สืบเนื่องด้วยในปีพุทธศักราช 2561 มีผู้มีจิตศรัทธา นำโดยนางสาวพิไลลักษณ์ นาคเจริญ และนายศิริ-นางอารีย์ กองสิทธิผล ได้ถวายที่ดินจำนวนหนึ่ง และคณะศรัทธาญาติโยมโดยรอบและใกล้เคียงพื้นที่วัด พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดจนสถานประกอบการ สถาบันการศึกษา ได้จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา อาทิ ผ้าป่าสามัคคี กฐินสามัคคี ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์จัดซื้อที่ดินถวายวัดมัชฌันติการามเพิ่ม รวมได้ประมาณ 7 ไร่ ผู้ที่สร้างสวนป่าและอารามชื่อว่า “คนมีบุญ” ดังพุทธภาษิตอารามโรปสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/146/46) ความว่า   
          “อารามโรปา วนโรปา  เย ชนา เสตุการกา
           ปปญฺจ อุทปานญฺจ    เย ททนฺติ อุปสฺสยํ
           เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ   สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ
           ธมฺมฏฺฐา สีลสมฺปนฺนา เต ชนา สคฺคคามิโน
        แปลความว่า "ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้ผล) ปลูกหมู่ไม้ (ใช้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทานและบ่อน้ำ ทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ

    พุทธดำรัสในพระบาลีนี้แสดงให้เห็นว่าการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อคนหมู่มาก เช่นสร้างอารามสวนป่า ปลูกป่า สร้างสะพาน ขุดบ่อน้ำ ให้ที่พักอาศัยเช่นสร้างกุฏิวิหาร ที่ผู้สร้างก็ได้ชื่อว่าเป็นคนมีบุญ ยามอยู่ก็สุขใจ ยามจากไปก็มีสุข คนส่วนมากได้รับประโยชน์ สวนป่าวัดมัชฌันติการามเกิดจากการดำริของพระเดชพระคุณพระพุทธิสารโสภณ สร้างไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ประพฤติปฏิบัติธรรม มีสถานที่สำหรับสวดมนต์ ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ท่านแสดงอานิสงส์ไว้ 4 ประการ คือ
         ธมฺจารี สุขํ เสติ     ให้ความสุขกายสุขใจ
         นิยฺยานิโก จ ทุกฺขสฺมา  นำเวรภัยออกจากตน
         ธมฺโม กุโลกปตนา ตทธาริธารี เป็นคนไม่ตกต่ำ
         ธมฺโม ปทีโป วิย ตสฺส สตฺถุโน ส่องทางนำให้พ้นทุกข์

      ประการที่ 3 พระเดชพระคุณพระพุทธิสารโสภณท่านไปดีเพราะมีทุน ทุนในที่นี้คือบุญกุศล บุญที่ท่านได้สั่งสมไว้ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ มีบุญเป็นต้นทุน ที่จะนำไปสู่สัมปรายภพภายหน้า ส่วนบุญที่เราทั้งหลายทำอุทิศให้ในภายหลังเรียกว่า บุญสมทบทุน จะเป็นเสบียงหล่อเลี้ยงวิญญาณของท่านในสัมปรายภพ บุญเป็นเหมือนเงาตามตัว เป็นมิตรเมื่อยามยาก บุญเป็นผู้รักษา เป็นเทวดาคุ้มครอง ดังคำประพันธ์ว่า
                 บุญเป็นเหมือน เงาเฝ้า ตามติด    
                 บุญเป็นมิตร ติดตามไป ในทุกที่
                 คอยอุดหนุน ช่วยเหลือ เอื้ออารี    
                 ทุกนาที พ้นโศก ปราศโรคภัย
                 บุญคือ ผู้พิทักษ์ เฝ้ารักษา         
                 บุญนำพา ให้ไกลทุกข์ สุขสดใส
                 เมื่อชีพดับ ลับชีวา ลาโลกไป     
                 บุญส่งให้ ไปสู่ฟ้า นิราลัย

      พระเดชพระคุณฯ จึงมีดีครบวงจรคือ “เกิดดี อยู่ดี และไปดี”
                 เกิดมาดี เพราะมีบุญ ช่วยหนุนส่ง    
                 ช่วยธำรง รักษาชาติ ศาสนา
                 อยู่ดี เพราะมีคุณ หนุนนำพา    
                 เมื่อจากลา ก็มีทุน บุญส่งทาง

    แต่ทว่าการมีชีวิตของมวลมนุษย์นั้นมีเวลาจำกัด บางคนเสียชีวิตตั้งแต่ยังน้อย บางคนอาจจะมีชีวิตยืน นักปราชญ์จึงบอกว่าชีวิตนี้น้อย แต่ก็สำคัญ เพราะการได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยาก เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตายภายในร้อยปี หรืออาจจะเกินไปบ้าง แต่ต้องถึงแก่มรณะทุกคน ดังภ่ษิตที่แสดงไว้ในชราสุตตนิทเทส ขุททกนิกาย มหานิทเทส (29/141/181) ความว่า
                 อปฺปํ วต ชีวิตํ อิทํ   
                 โอรํ วสฺสสตาปิ มิยฺยติ
                 โย เจปิ อติจฺจ ชีวติ  
                 อถโข โส ชรสาปิ มิยฺยติ
      แปลความว่า "ชีวิตนี้น้อยหนอ มนุษย์ย่อมตายภายในร้อยปี แม้หากว่ามนุษย์ใดย่อมเป็นอยู่เกินไป มนุษย์ผู้นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล"

    การทำความดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา จะหวังพึ่งใครได้ไม่มาก ทุกคนต้องทิ้งร่างกายไว้ในโลก เมื่อขึ้นสู่เชิงตะกอนก็ไม่เหลืออะไร ธาตุทั้งหลายก็หวนคืนกลับสู่สภาพแห่งธรรมชาติ ช่วงชีวิตหนึ่งจึงเป็นเหมือนสิ่งของที่หยิบยืมมา เมื่อถึงเวลาก็ต้องส่งคืน เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ดังพุทธภาษิตในอัยยิกาสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/401/142) ความว่า “สพฺเพ สตฺตา มริสฺสนฺติ  มรณนฺตํ หิ ชีวิตํ.
     สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงต้องตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด กรรมดีและกรรมชั่วจะติดตามตนไปในสัมปรยภพ จะพึ่งใครก็ไม่ได้ ในเวลาที่เจ็บป่วยถึงจะมีแพทย์ดีอย่างไร ก็ช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น พยานาคเทวดาหมอผีจะดีดังอย่างไรก็ช่วยไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องจากไปเหมือนกัน ดังคำประพันธ์ว่า
                ถึงหมอผี ดีดัง อย่าหวังพึ่ง         
                เวลาถึง จำต้องพราก จากเคหา
                ทิ้งร่างกาย ไว้ให้ กับโลกา         
                สิ่งนำพา ติดตัว ชั่วกับดี

     มนุษย์ทุกคนในที่สุดก็ต้องทิ้งร่างวางขันธ์เข้าถึงมรณะทุกรูปทุกนาม ดังพุทธภาษิตที่ได้ยกเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า
          “ทหรา จ มหนฺตา จ  เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา   
           สพฺเพ มจฺจุวสํ ยนฺติ สพฺเพ มจฺจุปรายนา 

    มนุษย์ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่และฉลาด ทั้งหมด ย่อมไปสู่อำนาจแห่งความตาย(มัจจุ) มีความตาย(มัจจุ) สกัดอยู่ข้างหน้า ฯ สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือผู้มีกรรมเป็นบาป จักไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญ จักไปสู่สุคติ ดังบาลีสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า
            “ยถากมฺมํ คมิสฺสนฺติ  ปุญฺญปาปผลูปคา.
            นิรยํ ปาปกมฺมนฺตา  ปุญฺญกมฺมา จ สุคตึ

      เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมงามอันจะนำไปสู่สัมปรายภพ สั่งสมไว้ บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก ดังบาลีว่า "ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินนฺติ"  นักปราชญ์จึงประพันธ์ไว้ว่า
           บาปบุญอยู่ที่ใจ     พาเราไปในทุกที่         
           ทรัพย์อื่นที่เรามี     ทิ้งทันทีเมื่อเราตาย    
           ทรัพย์อื่นต้องรักษา กลัวคนมาลักเอาไป  
           มีมากก็ทุกข์ใจ       กลัวคนร้ายมาแย่งชิง
           บุญไม่ต้องกลัวหาย เป็นหรือตายก็อยู่จริง    
           ไม่มีการแย่งชิง   เพราะความจริงเราสร้างเอง

      ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ อิมินา กตปุญเญน ขออำนาจกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ที่กองทุนเพื่อพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต) นำโดยพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรมงคล เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร พระเดชพระคุณพระพรหมมุนี เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุฯ กรรมการมหาเถรสมาคม พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรญาณ วัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าคณะกรุงเทพมหานครประธานกองทุนเพื่อพระสังฆาธิการ กรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต) เป็นต้น เป็นประธาน พร้อมด้วยเจ้าคณะพระสังฆาธิกาทุกรูป  เจ้าคณะพระสังฆาธิการ ตลอดจนถึงบรรดาศรัทธาสาธุชนทั้งหลายมีนายโกศล สุนทรพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อเป็นประธาน ได้บำเพ็ญให้เป็นไปและตั้งอยู่ด้วยดีในสงฆ์แล้ว จงมีผลสัมฤทธิ์ผลิตวิปากสุข วิบูลมนูญผลสมบัติอันวิเศษ น้อมส่งดวงวิญญาณ พระเดชพระคุณพระพุทธิสารโสภณ (เดช กตปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม ไปสู่สุคติโลกสวรรค์หรือภพภูมิที่เป็นสุคติสูงๆขึ้นไป หากมีบุญญาธิการ ปรารถนาสมบูรณ์แล้วไซร้ ก็ขอให้พระเดชพระคุณฯ ได้เข้าสู่นิพพานในอนาคตกาล สมดังอุทิศเจตนาโดยฐานะนิยมทุกประการ แสดงพระธรรมเทศนาใน “มรณกถา” มีอรรถนิยมดังรับประทานวิสัชนามา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
 

 

แสดงพระธารมเทศนาโดย
พระมหาบุญไทย  ปุญฺญมโน ป.ธ. 7, ศน.ด.
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม
วงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร


 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก