ลัทธิความเชื่อเรื่องการอาบน้ำชำระบาปมีมานานหลายพันปี มีมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้น บรรดาผู้ที่มีความเชื่อว่าหากได้อาบน้ำในแม่น้ำศักดิสิทธิ์ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้แล้วก็สามารถที่จะชำระบาปกรรมทั้งหลายให้หมดจดได้ ดังนั้นในแม่น้ำที่สำคัญในชมพูทวีปจึงมีผู้คนพากันมาอาบน้ำขำระบาป โดยเฉพาะแม่น้ำที่เรียกว่า “ปัญจมหานที” ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงแม่น้ำที่สำคัญในชมพูทวีปที่เรียกว่าปัญจมหานทีประกอบด้วยแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหิ คนโบราณมีความเชื่อว่าใครได้อาบน้ำในแม่น้ำทั้งห้าสายสามารถจะชำระบาปกรรมทั้งหลายได้ โดยเฉพาะที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือแม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลผ่านเมืองพารณสีถือว่าเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดใครได้อาบถือว่าได้ชำระล้างบาป ส่วนแม่น้ำที่มีผู้คนนิยมอาบน้ำชะระบาปมากที่สุด และมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการชำระบาปมากที่สุด กระทำติดต่อกันมานานหลายพันปีจากอดีตจนถึงสมัยปัจจุบันคือ “แม่น้ำคงคา” เมืองพาราณสี
แม่น้ำคงคาแห่งเมืองพารณสี ประเทศอินเดียไม่เคยเหือดแห้งยังคงทำหน้าที่ไปตามธรรมชาติ หน้าฝนน้ำก็หลาก หน้าแล้งน้ำก็น้อยแต่ยังคงเอื่อยไหลไม่เคยหยุดนิ่ง ริมฝั่งแม่น้ำคงคามีผู้คนจากทุกสารทิศพากันมาสักการะบูชา ทำพิธีบวงสรวง จากนั้นก็ลงอาบน้ำดำผุดดำว่ายริมฝั่งเพื่อชำระบาป มีหลายคนพากันเหมาเรือเพื่อที่จะได้ลงไปอาบกลางแม่น้ำ บางคนทั้งอาบทั้งดื่มกินด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุขเหมือนประหนึ่งกำลังพบปะสนทนากับเทพเจ้าจากแดนสวรรค์
ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในแต่ละวันจึงคราคร่ำไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัย มีทั้งนักบวช พ่อค้า ประชาชนพากันมาอาบน้ำมิได้ขาด บางคนเดินทางไกลมาจากต่างเมืองก็เพื่อที่จะได้อาบน้ำชำระล้างบาปที่แม่น้ำคงคาแห่งนี้ แต่ที่ริมฝั่งน้ำนอกจากจะมีสรรพร้านค้าทุกประเภทแล้ว ยังมีสถานที่ที่เชื่อกันว่าเปลวไฟไม่เคยดับติดต่อกันกันหลายพันปีแล้ว เพราะที่นั่นคือที่เผาศพ จะมีอุปกรณ์ต่างๆให้บริการลูกค้าเช่นฟืน น้ำมัน เป็นต้น คนตายท่านใดที่ญาติมีเงินก็สามารถซื้อฟืนได้มากและเผาศพจนเหลือแต่เถ้ากระดูกจากนั้นก็นำไปลอยอังคารในแม่น้ำคงคาเชื่อกันว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ คนอินเดียจะเกิดที่ไหนก็ตามขอให้ได้ตายหรือเผาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั่นเป็นนับเป็นความปรารถนาอย่างหนึ่ง
ส่วนคนที่มีเงินน้อยหรือศพอนาถาไม่มีญาติก็จะเผาตามมีตามเกิดใช้ฟืนน้อย บางครั้งไหม้ไปได้ครึ่งเดียวก็จะถูกเขี่ยลงแม่น้ำลอยหายไปกับกระแสน้ำ บางครั้งอาบน้ำอยู่ดีๆก็จะมีศพที่เผาได้ครึ่งเดียวลอยผ่านมา คนที่นี่ก็เพียงแต่ใช้มือเขี่ยให้ศพลอยต่อไปจากนั้นก็อาบน้ำและดื่มน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ต่อไป คนที่นี่ไม่ได้รังเกียจ เพราะความตายคือสิ่งธรรมดาที่มีให้เห็นทุกวัน ขบวนแห่ศพและขบวนแต่งงานแห่สวนกันไปมา ริมฝั่งยังเป็นที่บรวงสรวงเทพเจ้าต่างๆ มีทั้งขี้วัวอันถือเป็นตัวแทนเทพเจ้า นอกจากนั้นยังเป็นสุขาธรรมชาติใครปวดหนักปวดเบาก็ใช้ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั่นแล
การอาบน้ำชำระบาปในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้หลายแห่ง มีพระสูตรหลายสูตรที่กล่าวถึงการชำระบาปด้วยการอาบน้ำ ที่ชัดเจนที่สุดคือที่แสดงไว้ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลลปริยายวรรค ซึ่งนอกจากจะกล่าวถึงการอาบน้ำชำระบาปแล้วมีสาระสำคัญอีกหลายเรื่องดังจะได้สาธยายเป็นลำดับไป
สาระสำคัญในวัตถูปมสูตร
วัตถูปมสูตร แม้จะเป็นพระสูตรที่บ่งความถึงเรื่องของผ้าตามคำแปลในพระสูตรคือ “วัตถ” แปลว่า ผ้า แต่มีเนื้อหาที่สำคัญหลายเรื่องที่แสดงไว้ในพระสูตรนี้เช่นเรื่องของจิตที่เศร้าหมอง จิตที่บริสุทธิ์ กถาปรารภพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ นอกจากนั้นยังได้เรื่องเกี่ยวกับการอาบน้ำชำระบาปที่ถูกต้องตามวิธีการของพระพุทธศาสนา สาระสำคัญพอจะจำแจกได้ดังต่อไปนี้
1.จิตเศร้าหมองและจิตบริสุทธิ์มีที่หวังต่างกัน
สถานที่เกิดของพระสูตรคือพระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว “พระผู้มีพระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมองมลทินจับ ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น
ผ้าที่บริสุทธิ์สะอาด ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลืองสีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมดี มีสีสด ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะผ้าเป็นของบริสุทธิ์ ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น (ม.มู. 12/92/64.)
ในข้อนี้มีข้อที่น่าสนใจคือเรื่องของความเศร้าหมองของจอตและความบริสุทธิ์ของจิต ดังคำบาลีที่แสดงไว้ว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา”เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น.
และเมื่อจิตเศร้าหมองก็มีผลตรงกันข้ามดังคำว่า “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา” เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น.
จิตเป็นธรรมชาติที่มีอยู่คู่กับกายหรือในพระพุทธศาสนาจัดเป็นขันธ์อย่างหนึ่งในขันธ์ห้าประการคือรูปรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ หากจะกล่าวโดยย่อก็ได้แก่รูปกับนาม รูปขันธ์คือรูป ส่วนขันธ์อีกสี่อย่างรวมเรียกว่านาม
ในพระสูตรนี้เน้นไปที่จิต จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสดังที่แสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหน เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต (คือ) อภิชฌาวิสมโลภะ (ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง) พยาบาท (ปองร้ายเขา) โกธะ (โกรธ) อุปนาหะ (ผูกโกรธไว้) มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ยกตนเทียบเท่า) อิสสา (ริษยา)มัจฉริยะ (ตระหนี่) มายา (มารยา) สาเฐยยะ (โอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มทะ (มัวเมา) ปมาทะ (เลินเล่อ) เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต.(ม.มู. 12/93/65.)
การชำระจิตให้ผ่องใสจึงเป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงแนะนำให้กระทำ ดังข้อความที่แสดงไว้ในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ความว่า “การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อมการทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” (ที.มหา.10/54/57)
มนุษย์เกิดมาตามผลของกรรมมีจิตเป็นนายที่จะนำพาไปสู่แหนทางที่ดีหรือไม่ได้เหมือนผ้าที่เศร้าหมองหากได้รับการชำระด้วยน้ำที่สะอาด ผ้าก็จะงดงามมีสีสันและกลายเป็นผ้าที่น่าใช้สอยได้ ภิกษุก็เช่นกันหากหมั่นชำระจิตให้ผ่องใสไว้ตลอดเวลา สุคติก็เป็นทางที่หวังได้ ดังพระดำรัสที่แสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้าอันเศร้าหมอง มลทินจับ ครั้นมาถึงน้ำอันใส ย่อมเป็นผ้าหมดจดสะอาด อีกอย่างหนึ่ง ทองคำครั้นมาถึงปากเบ้า ย่อมเป็นทองบริสุทธิ์ ผ่องใส ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ ถึงแม้จะฉันบิณฑบาตข้าวสาลีปราศจากเมล็ดดำ มีแกงมีกับมิใช่น้อย การฉันบิณฑบาตของภิกษุนั้น ก็ไม่มีเพื่ออันตรายเลย (ม.มู. 12/96/68.)
ผ้าขาวบริสุทธิ์ที่ถูกย้อมด้วยสีอะไรก็จะจะแปรเปลี่ยนไปตามสีที่ย้อมนั้น จิตของมนุษย์ก็ในทำนองเดียวกันหากถูกย้อมด้วยอุปกิเลสประเภทใดก็จะเป็นไปตามอำนาจของกิเลสนั้นๆ พื้นฐานของจิตเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ผ่องใส แต่เมื่อถูกกิเลสครอบงำก็จะแปรเปลี่ยนไปตามอำนาจของกิเลส
2. ว่าด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ
ในวัตถูปมสูตร พระพุทธองค์ยังแสดงกถาว่าด้วยคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรมและคุณของพระสงฆ์ ดังที่แสดงพุทธคุณไว้ว่า ไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุรู้ชัดว่า อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ละอภิชฌา วิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสียได้แล้ว ในกาลนั้น เธอเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม (ม.มู. 12/95/66)
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้จำแนกพุทธคุณออกเป็น 9 ประการ มีคำอธิบายไว้ดังนี้
1. อรหํ เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา เป็นต้น
2. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง
3. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชา คือความรู้ และจรณะ คือความประพฤติ
4.สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว คือ ทรงดำเนินพระพุทธจริยาให้เป็นไปโดยสำเร็จผลด้วยดี
พระองค์เองก็ได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพุทธกิจก็สำเร็จประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ชน
ทั้งหลายในที่ที่เสด็จไป และแม้ปรินิพพานแล้ว ก็ได้ประดิษฐานพระศาสนาไว้เป็นประโยชน์แก่
มหาชนสืบมา
5.โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก คือ ทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย
ทรงหยั่งทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตวโลกทั้งปวง ผู้เป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยถ่องแท้
เป็นเหตุให้ทรงดำเนินพระองค์เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่
พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลกได้
6. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า คือ ทรงเป็นผู้ฝึกคนได้ดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า
7. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
8.พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว คือ ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่
ถือกันมาผิดๆ ด้วย ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่ง เพราะไม่ติด ไม่หลง ไม่ห่วง
กังวลในสิ่งใดๆ มีการคำนึงประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น จึงมีพระทัยเบิกบาน บำเพ็ญพุทธกิจได้
ถูกต้องบริบูรณ์ โดยถือธรรมเป็นประมาณ การที่ทรงพระคุณสมบูรณ์เช่นนี้ และทรงบำเพ็ญพุทธกิจ
ได้เรียบร้อยบริบูรณ์เช่นนี้ ย่อมอาศัยเหตุคือความเป็นผู้ตื่นและย่อมให้เกิดผลคือทำให้ทรงเบิก
บานด้วย
9. ภควา ทรงเป็นผู้มีโชค คือ จะทรงทำการใด ก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ หรือ เป็นผู้จำแนกแจกธรรม (คณะกรรมการแผนกตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย,วิสุทธิมรรคแปล,มหามกุฏราชวิทยาลัย,2557,หน้า 247.)
ในพุทธคุณทั้ง 9 ประการนั้นสามารถย่อลงเป็นพุทธคุณสองประการดังนี้
1. อัตตหิตสมบัติ ความถึงแห่งประโยชน์ตน, ทรงบำเพ็ญประโยชน์ส่วนพระองค์เอง เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว พระคุณข้อนี้มุ่งเอาพระปัญญาเป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จพุทธภาวะ คือ ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นอัตตนาถะ คือพึ่งตนเองได้
2. ปรหิตปฏิบัติ การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น, ทรงบำเพ็ญพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น พระคุณข้อนี้มุ่งเอาพระกรุณาเป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จพุทธกิจ คือ หน้าที่ของพระพุทธเจ้า และความเป็นโลกนาถ คือ เป็นที่พึ่งของชาวโลกได้
พุทธคุณ 9 ย่อลงแล้วเป็น 2 อย่างข้อ 1-2-3-5 เป็นส่วนอัตตหิตสมบัติ ข้อ 6-7 เป็นส่วนของปรหิตปฏิบัติ ข้อ 4-8-9 เป็นทั้งอัตตหิตสมบัติ และปรหิตปฏิบัติ (วิสุทธิ.ฎีกา. 1/258/381)
ในส่วนของธรรมคุณได้แสดงไว้ว่า “เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเองไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน (ม.มู. 12/95/66)
ในวิสุทธิมรรคได้อธิบายธรรมคุณไว้ 6 ประการดังนี้
1. สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว คือ ตรัสไว้เป็นความจริงแท้ อีกทั้งงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
2.สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง คือ ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดบรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเองไม่ต้องเชื่อตามคำของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุ ผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้
3.อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล คือ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา พร้อมเมื่อใด บรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใด เห็นผลได้ทันที อีกอย่างว่า เป็นจริงอยู่อย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่จำกัดด้วยกาล
4.เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู คือ เชิญชวนให้มาชม และพิสูจน์ หรือท้าทายต่อการตรวจสอบเพราะเป็นของจริงและดีจริง
5.โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา คือ ควรเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึง ด้วยการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในใจ หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น หมายความว่า เชิญชวนให้ทดลองปฏิบัติดู อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่นำผู้ปฏิบัติให้เข้าไปถึงที่หมายคือนิพพาน
6.ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน คือ เป็นวิสัยของวิญญชนจะพึงรู้ได้ เป็นของจำเพาะตน ต้องทำจึงเสวยได้เฉพาะตัว ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ประจักษ์ที่ในใจของตนนี่เอง(คณะกรรมการแผนกตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย,วิสุทธิมรรคแปล,มหามกุฏราชวิทยาลัย,2557,หน้า 287)
ส่วนสังฆคุณนั้นได้แสดงไว้ว่า “เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง คือ คู่บุรุษ 4 บุรุษบุคคล 8 พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ควรรับเครื่องสักการะ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรทักขิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า (ม.มู. 12/95/66.)
ในวิสุทธิมรรคได้อธิบายสังฆคุณทั้ง 9 ประการไว้ดังนี้
1.สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี
2. อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง
3. ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง
4. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา ได้แก่ คู่บุรุษ 4 ตัวบุคคล 8
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
5.อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือควรรับของที่เขานำมาถวาย
6. ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ
7. ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา, ควรแก่ของทำบุญ
8. อญฺชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี, ควรแก่การกราบไหว้
9.อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก, เป็นแหล่งปลูกฝังและเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยมของโลก (คณะกรรมการแผนกตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย,วิสุทธิมรรคแปล,มหามกุฏราชวิทยาลัย,2557,หน้า 300)
ผู้ที่ชำระจิตให้ผ่องใสด้วยการห่างไกลจากอุปกิเลสย่อมเป็นการปลูกความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ย่อมได้อานิสงส์ดังที่แสดงไว้ว่า “ก็เพราะเหตุที่ส่วนแห่งกิเลสนั้นๆ อันภิกษุนั้นสละได้แล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละเสียแล้ว สละคืนแล้วเธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ย่อมได้ความรู้แจ้งธรรมย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่าเราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระธรรม เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสงฆ์ และเพราะส่วนแห่งกิเลสนั้นๆ อันเราสละได้แล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละเสียแล้ว สละคืนแล้ว ดังนี้ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. (ม.มู. 12/95/66)
สาระสำคัญของการชำระจิตให้ห่างไกลจากอุปกิเลสและการปลูกความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ย่อมได้ความปราโมทย์ ได้ความสุขและจิตตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นสุคติก็เป็นอันหวังได้ ตรงกันข้ามหากจิตยังตกอยู่ในอำนาจของกิเลสทุคติก็เป็นหนทางไปของผู้นั้น
3.ความเชื่อเรื่องการอาบน้ำชำระบาป
ในวัตถูปมสูตร ได้แสดงถึงการอาบน้ำในพระศาสนาไว้ความว่า “ครั้งหนึ่ง สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้บอกกับพระพุทธเจ้าว่า “ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าให้ความบริสุทธิ์ได้ ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นบุญ อนึ่ง ชนเป็นอันมาก พากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า “คนพาล มีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ผัคคุณฤกษ์ ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถ ก็ย่อมถึงพร้อม แก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาดย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำในท่าคยา ก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้” (ม.มู.12/98/70)
การอาบน้ำในคำสอนของพระพุทธศาสนาคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่
การอาบน้ำชำระบาปยังมีแสดงไว้ในสังครวสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ความว่า สังครวพราหมณ์อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี มีลัทธิถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ประพฤติการลงอาบน้ำชำระร่างกายทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าเป็นนิตย์
ครั้งหนึ่งสังครวพราหมณ์ ได้กล่าวแสดงความเชื่อของตนกับพระพุทธเจ้าว่า “ท่านพระโคดม บาปกรรมใดที่ข้าพระองค์ทำในเวลากลางวัน ข้าพระองค์ลอยบาปกรรมนั้นเสียด้วยการอาบน้ำในเวลาเย็น บาปกรรมใดที่ข้าพระองค์ทำในเวลากลางคืน ข้าพระองค์ลอยบาปกรรมนั้นเสียด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า ท่านพระโคดม ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์นี้แหละ จึงได้ชื่อว่า มีลัทธิถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ถือการลงอาบน้ำชำระร่างกาย ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าเป็นนิตย์”(สํ.ส.15/721/222)
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบพราหมณ์ไปว่า “ดูกรพราหมณ์ ห้วงน้ำคือธรรมมีศีลเป็นท่าไม่ขุ่น สัตบุรุษสรรเสริญต่อสัตบุรุษ เป็นที่ที่บุคคลผู้ถึงเวทอาบแล้ว บุคคลผู้มีตัวไม่เปียกเท่านั้นจึงจะข้ามถึงฝั่งได้
คำว่า “ห้วงน้ำคือธรรมมีศีลเป็นท่าไม่ขุ่น” นั้นอธิบายได้ว่า คำว่า “ห้วงน้ำคือธรรม” หากจะพิจารณาเป็นเครื่องชำระล้างธรรมนั้นหมายถึงตบะและพรหมจรรย๋แม้จะไม่ใช้น้ำแต่เป้นเครื่องชำระล้าง ดังที่แสดงไว้
ในอุปปถสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ความว่า “ตบะและพรหมจรรย์นั้น มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง” (สํ.ส. 15/173/52)
ความเชื่อที่ปรากฎในพระไตรปิฎกแม้จะไม่ได้กล่าวถึงแม่น้ำคงคา แต่ก็เทียบเคียงกันได้ เพราะปัจจุบันคนอินเดียเชื่อว่าแม่น้ำคงคาไหลมาจากสรวงสวรรค์ เหตุหนึ่งที่ทำให้เชื่ออย่างนั้นเพราะน้ำจากแม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลผ่านเมืองพารณสีนั้น แม้จะมีสีขุ่นในบางครั้งแต่มีผู้ยืนยันว่าสะอาดปราศจากเชื้อโรค แม้จะมีการเผาศพริมฝั่งติดต่อกันมานานก็ตาม
ในปุณณิกาเถรีคาถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ได้แสดงถึงการอาบน้ำชำระบาปไว้ว่า “ก็เมื่อบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จักพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน พวกคนฆ่าเนื้อทรายเลี้ยงชีวิต คนฆ่าสุกร พวกชาวประมง พวกพรานเนื้อ พวกโจรพวกนายเพชฌฆาต และคนที่มีกรรมอันเป็นบาปเหล่าอื่น แม้คนเหล่านั้นก็พึงพ้นจากบาปกรรมเพราะการอาบน้ำ ถ้าแม้น้ำเหล่านี้ พึงนำบาปที่ท่านทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม้น้ำเหล่านี้ก็พึงนำบุญมาให้ท่านบ้างเพราะเหตุนั้น ท่านพึงเป็นผู้เหินห่างจากพระศาสนา ดูกรพราหมณ์ท่านกลัวต่อบาปกรรมอันใด จึงลงอาบน้ำทุกเมื่อ ท่านอย่าได้ทำบาปกรรมอันนั้นเลย ความหนาวอย่าได้เบียดเบียนผิวของท่าน.(ขุ.เถรี. 26/466/473)
คำตอบของพระปุณณิกาเถรีชัดเจน เพราะถ้าหากการอาบน้ำในแม่น้ำใดแม่น้ำหนึ่งสามารถชำระบาปได้จริง สัตว์ที่อยู่ในแม่น้ำนั้นก็จะไม่มีบาป เพราะสัตว์เหล่านั้นอาศัยอยู่ในแม่น้ำนั้นอยู่แล้ว ส่วนการกระทำบาปกรรมทั้งหลายหากสามารถหลุดพ้นได้ด้วยการอาบน้ำชำระบาปแล้ว คนเหล่านั้นก็จะไม่มีบาปบาปอีกเลย คำสอนกรรมและการกระทำ วิบากและผลของกรรมก็จะไม่มีผล
บทสรุป
การอาบน้ำชำระบาปแม้จะเป้นความเชื่อที่มีมานานหลายพันปีและปัจจุบันกยังมีผู้ที่เชื่อตามลัทธินี้อยู่ โดยเฉพาะที่แม่น้ำคงคาบริเวณที่ไหลผ่านเมืองพาราณสี ช่วงเวลาเช้าและช่วงเวลาเย็นยังมีผู้คนจำนวนมากแออัดกันเพื่อที่จะได้ลงอาบน้ำชำระบาปตามคติความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิม แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะพยายามปฏิวัติแนวความเชื่อนั้น แต่ทว่าก็เป็นไปเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อกาลเวลาก้าวผ่านไป คติความเชื่อก็ย้อนกลับมามีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำคงคา และผู้คนจากทุกสารทิศที่พยามจะได้มีโอกาสมาอาบน้ำชำระบาปที่แม่น้ำคงคาอันศักดิสิทธิ์สักครั้งหนึ่งในชีวิต
วัตถูปมสูตร เป็นพระสูตรในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เป็นพระสูตรที่ 7 ในมูลลปริยายวรรค เป็นพระสูตรขนาดกลางมีเนื้อหาไม่ยาวเกินไป ไม่สั้นเกินไป เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นในการศึกษาพระสุตตันตปิฏก เพราะเนื้อหาไม่ยากเกินไป
ในวัตถูปมสูตรพระพุทธองค์ได้แสดงตามพระประสงค์ของพระองค์เอง เป็นพระสูตรประเภท “อัตตัชฌาสยะ” คือเป็นไปตามพระอัธยาศัยของพุทธพระองค์ โดยได้เรียกภิกษุมาประชุมกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็เริ่มแสดงพระสูตร ในส่วนช่วงสุดท้ายของพระสูตรพระพุทธองค์ได้ตอบคำถามของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์เรื่องของการอาบน้ำชำระบาป จึงเป็นพระสูตรประเภท “ปุจฉาวสิกะ” เป็นไปด้วยอำนาจการถามส่วนการตอบคำถามนั้นเป็นการตอบแบบ “เอกังสพยากรณ์” คือทรงพยากรณ์ไปโดยส่วนเดียว
เรื่องของจิตที่เศร้าหมองหรือบริสุทธิ์เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติโยตรงพระพุทธเจ้าก็ทำแทนใครไม่ได้ จะให้ใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล แต่หากใครก็ตามได้ระลึกถึงพุทธคุ ธรรมคุณและสังฆคุณ ด้วยจิตที่เลื่อมใสแล้ว จิตย่อมตั้งมั่นได้เร็ว มั่นคง ไม่หวั่นไหว ผู้ที่มีจิตไม่หวั่นไหว มีจิตใจที่แน่วแน่ จะคิดหรือทำกิจการงานอันใดย่อมสำเร็จได้ดังที่ตั้งความปรารถนา
บทสรุปแห่งวัตถูปมสูตรคือสุนทริกพราหมณ์ ได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะและได้ขออุปสมบทในพระพุทธศาสนาต่อมาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตต์ เป็นพระอรหันต์อีกองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
4/8/62
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2525.เล่มที่ 10,12,15,26.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2514. เล่มที่ 10,12,15,26.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทยพร้อมอรรถกถา.กรุงเทพฯ:
มหามกุฏราชวิทยาลัย,2525.
คณะกรรมการแผนกตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย.วิสุทธิมรรคแปล.มหามกุฏราชวิทยาลัย,2557,หน้า 247.
วิสุทธิ.ฎีกา. 1/258/381.