พอได้ยินคำว่าปรัชญาหลายท่านอาจเริ่มปวดหัว เพราะปรัชญาถูกทำให้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก คนที่เรียนมาทางปรัชญามักจะพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ถ้าบอกว่าปรัชญาก็คือคำเดียวกับปัญญานั่นเอง ปรัชญาตามความหมายดั้งเดิมคือการแสวงหาหรือแสดงความรักปัญญาหรือความรู้ นักปรัชญาก็คือผู้ดำเนินชีวิตในระบบปรัชญาหรืออีกนัยหนึ่งนักปรัชญาคือผู้เผชิญความยุ่งยากด้วยความสุขุมคันภีรภาพด้วยจิตใจที่สงบ ปัญหาของนักปรัชญาในยุคแรกๆมักจะถกเถียงกันในเรื่องของความจริง ความรู้เป็นต้น วิธีการที่ใช้คือเหตุผลหรือตรรกศาสตร์ ปัญหาทางปรัชญาในปัจจุบันก็คือเรื่องที่ยังหาคำตอบได้ไม่ชัดเจนหรือยังหาทางออกไม่ได้
มีหลายปัญหาเกิดขึ้นในแต่ละวัน ความขัดแย้งทางความคิดมีให้เห็นตามสื่อต่างๆ สถานการณ์ในแต่ละวันเหมือนกับจะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องเลือกข้างว่าจะยืนอยู่ข้างไหนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พวกที่อยู่ตรงกลางเริ่มจะวางตัวอยู่ในสังคมได้ยากเต็มที แม้แต่การนั่งรถแท็กชีก็ต้องระวังว่าคนขับรถอยู่ข้างไหนอยู่ฝ่ายเสื้อแดงที่กำลังกดดันให้รัฐบาลยุบสภา หรืออยู่ข้างฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บางครั้งการเสนอความเห็นกับอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจเป็นอันตรายได้ เห็นด้วยกับเสื้อแดงก็ลำบากใจ เห็นใจท่านนายกให้อยู่ต่อก็อึดอัด สถานการณ์แบบนี้ประชาชนคนไทยกำลังประสบสภาวะที่ใกล้บ้าเข้าไปทุกที
การที่จะอธิบายปัญหานี้ ควรทราบแนวคิดของคนซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม กลายเป็นแนวคิดของคนทั้งห้ากลุ่ม ขอเรียกตามแนวปรัชญาว่า “ปรัชญาห้ากระบวนทัศน์” ซึ่งเป็นแนวความเชื่อและความคิดพื้นฐานของคนในโลก
มนุษย์อาจมีความเชื่อ ความคิดเห็นแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย หรือแม้แต่ในยุคสมัยเดียวกันก็อาจจะมีความเชื่อ ความคิดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการศึกษา สภาพสังคม และกระบวนทัศน์ของแต่ละคน พัฒนาการความคิดของมนุษย์แบ่งออกเป็นห้ากระบวนทัศน์มีรายละเอียดแห่งกระบวนทัศน์ดังนี้
กระบวนทัศน์ที่ ๑ กระบวนทัศน์ดึกดำบรรพ์ เกิดขึ้นในยุคแรก มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อเผชิญภัยภัยธรรมชาติจึงแสวงหาที่พึ่ง แต่หาคำตอบไม่ได้จึงเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดอันตรายต่างๆ การแก้ปัญหาจึงยึดน้ำพระทัยเบื้องบนเป็นหลักปฏิบัติ การแก้ปัญหาต้องทำให้ถูกพระทัยของเบื้องบน ความเชื่อว่าโลกมีกฎ เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาจากน้ำพระทัยของเบื้องบน การปฏิบัติจึงเป็นการกระทำให้ถูกพระทัยมากที่สุด การปฏิบัติจึงเป็น การทำดีในโลกนี้ไว้ โลกหน้าจะดีไปเอง
แม้ยุคดึกดำบรรพ์จะผ่านพ้นไปนานแล้วก็ตาม แนวคิดของคนในยุคนี้ยังคงมีอยู่ ยังมีการอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้เทพเจ้าพอพระทัยจะได้ดลบันดาลให้ประสบกับสิ่งที่ตนต้องการ ในทางการเมืองมีคนบางกลุ่มพยายามอ้อนวอนขอให้ผู้มีอำนาจเบื้องบนเช่นพระอินทร์ พระนารายณ์เป็นต้นลงมาช่วยเหลือ
กระบวนทัศน์ที่ ๒ กระบวนทัศน์โบราณ ยึดเอากฎเกณฑ์ของโลกเป็นหลัก จึงพยายามค้นคว้าให้รู้กฎเกณฑ์ของโลกมากที่สุด และพยายามปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้จะไม่เข้าใจเหตุผลมากนัก การปฏิบัติมุ่งเพื่อความสุขในโลกนี้ การนับถือศาสนามาจากความเชื่อว่าเทพเจ้าก็ต้องเดินตามกฎและช่วยเหลือมนุษย์ตามกฎ
คนในกระบวนทัศน์นี้ยังคงยึดกฎและกติกาของโลก คือทุกอย่างต้องมีกฎเกณฑ์ แม้การทำงานหรือการดำเนินชีวิตก็พยายามเดินตามกฎและรักษากติกาให้มากที่สุด ปัจจุบันมีระบบกฎหมายเพื่อคอยควบคุมสังคมให้เป็นไปตามกติกา หากประเทศไม่มีกฎหมายความวุ่นวายย่อมจะตามมา แต่ก็มีคนบางกลุ่มพยายามทำผิดกฎหมาย ยิ่งทำผิดได้มากเท่าไหร่ดูเหมือนจะเป็นเหมือนกับได้รับชัยชนะ
กระบวนทัศน์ที่ ๓ กระบวนทัศน์ยุคกลาง เชื่อว่าโลกมีกฎเกณฑ์ แต่ยึดเอาความสุขในโลกหน้า โลกนี้จะอยู่อย่างไรไม่ค่อยเน้นความสำคัญนัก มุ่งปฏิบัติเพื่อผลในโลกหน้าเช่นการบำเพ็ญพรต การทรมานตนของนักบวช จึงทำให้เกิดลัทธิศาสนาขึ้นมากมาย
คนที่มีแนวคิดในกระบวนทัศน์นี้ไม่ค่อยคำนึงถึงปัจจุบันมากนัก แต่หวังผลในอนาคตมากกว่า ชีวิตการเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นแทบไม่มีความหมาย เพราะผลที่หวังในชาติหน้ามากกว่า แม้ว่าบางคนจะพิกลพิการ ก็มิได้มีความทุกข์แต่ประการใด ยังคงมุ่งหน้าทำบุญ ทำความดีเพื่อที่จะได้รับผลคือความสุขในชาติหน้า พระพุทธศาสนามีแนวคิดแบบนี้มาก โดยเฉพาะในนิทานชาดกต่างๆ มักจะเห็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีด้วยความลำบากเช่นพระเวสสันดรเป็นต้น ต้องถูกเนรเทศไปอยู่ป่า ทนลำบากตรากตรำในฐานะนักบวชผู้บำเพ็ญพรต เพราะมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณในชาติต่อไป ชาตินี้ลำบากไม่เป็นไร ชาติหน้าจะสบายไปเอง