อะไรคือศิลปะ ศิลปะคืออะไร คงตอบได้ไม่ง่ายนัก งานประเภทไหนที่รียกว่าศิลปะ มีองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะทำให้งานนั้นจัดเป็นงานศิลปะ ศิลปะมีประโยชน์ต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน มนุษย์ไม่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะเลยจะได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาหลายวันแล้ว เพราะมีหัวข้อบรรยายเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรมในพระพุทธศาสนา จึงต้องศึกษาค้นคว้าซื้อตำราทางด้านศิลปะมาอ่านหลายเล่ม อ่านจบแล้วก็ยังคงหาคำตอบไม่ได้ว่าศิลปะคืออะไร มีขอบข่ายมากน้อยแค่ไหน
เย็นวันหนึ่งมีเสียงโทรศัพท์มาจากคนที่ไม่เคยรู้จัก ชายคนนั้นบอกว่าผมกำลังจะสร้างสวนศิลปะที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในวัดแห่งหนึ่ง อยากขอคำปรึกษาและขอภาพถ่ายเกี่ยวกับสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนาว่าสถานที่แต่ละแห่งนั้นปัจจุบันเป็นอย่างไร มีการสร้างศิลปะใหม่ๆขึ้นมาหรือไม่ มีการดูแลรักษาอย่างไร ศิลปะนั้นมีอายุยืนนาน แต่ชีวิตคนนั้นสั้นนัก อย่างน้อยในช่วงชีวิตหนึ่งควรสร้างงานศิลปะฝากไว้เป็นสมบัติของโลกบ้าง
จึงตอบไปว่าในส่วนของการสร้างนั้นไม่ขอออกความเห็น หากมีสถานที่ มีทุนทรัพย์ก็สร้างได้เลย ศิลปะนั้นเอื้อเพื่อชีวิตอยู่แล้ว ผู้ใดมีศิลปะในจิตใจย่อมจะมีสุนทรียะแห่งอารมณ์ไปด้วย หากผู้ใดไม่มีศิลปะในหัวใจ ชีวิตคงแห้งแล้งเกินไป แต่ในด้านภาพถ่ายนั้นจะจัดส่งไปให้เท่าที่จะพอรวบรวมได้
เรื่องของภาพถ่ายนั้นเนื่องจากถ่ายภาพไว้มาก หากมีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆก็มักจะมีกล้องถ่ายภาพติดมือไปด้วย เมื่อคิดอะไรไม่ออกอธิบายไม่ได้ก็จะถ่ายภาพวัตถุและคำอธิบายที่ปรากฏอยู่ตามป้ายชื่อของสถานที่นั้นๆ เก็บไว้ศึกษาในภายหลัง ดูภาพไปเลือกภาพไปก็เกิดคำถามผุดขึ้นมาในใจว่าหรือว่าเราเองก็น่าจะพอเข้าใกล้ความเป็นศิลปินประเภทหนึ่งอยู่บ้าง เป็นศิลปินประเภทถ่ายภาพ
ศิลปะคืออะไรนั้น คงตอบได้ไม่ง่ายนัก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตให้ความหมายของ “ศิลปะ” ไว้ว่า “ศิลป ศิลป์ ศิลปะ” (สินละปะ สิน สินละปะ) น. ฝีมือ ฝีมือทางการช่าง การทำให้วิจิตรพิสดาร เช่น เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์ การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆอย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร วิจิตรศิลป์. (ส. ศิลฺป ป. สิปฺป ว่ามีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม) (ราชบัณฑิตยสภา,พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต,กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสภา,2525)
คำว่า “ศิลปะ” ในหนังสือศิลปะวิชาการ หัวข้อเรื่อง “อะไรคือศิลปะ”ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “ศิลป” หมายความถึงการงานอันเป็นความพรากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิดเห็น เช่นตัดเสื้อ สร้างเครื่องเรือน ปลูกต้นไม้ เป็นต้น อย่างนี้เป็นศิลปะมีความหมายอย่างกว้าง ดั่งทราบกันอยู่แล้วว่าวิจิตรศิลป์นั้นแบ่งเป็นการแสดงออกแห่งศิลปะ 5 ลักษณะ กล่าวคือ วรรณคดี ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม (พระยาอนุมานราชธน แปลวันศิลป์ พีรศรี 15 กันยายน 2525 มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ปรากฏเลขหน้า พิมพ์เผยแพร่ในชื่อเรื่อง “อะไรคือศิลปะ” รวมพิมพ์ใน (ศาสตราจาย์ศิลป์ พีรศรี,ศิลปะวิชาการ,กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีรศรี อนุสรณ์,2546 หน้า 1)
เปิดพจนานุกรมบาลี-ไทย ก็ได้ความหมายของคำว่า “ศิลปะ” ในภาษาบาลีใช้คำว่า “สิปฺป” คำนามนปุงสกลิงค์(ไม่ชายไม่หญิง) แปลว่า ศิลปะ ฝีมือ หากเป็นผู้ที่ทำงานด้านศิลปะก็จะใช้คำว่า“สิปฺปิก หรือสิปฺปี” หมายถึงคนมีฝีมือ (พระอุดรคณาธิการ,จำลอง สารพัดนึก,พจนานุกรมบาลีไทย(พิมพ์ครั้งที่ 4),กรุงเทพฯ: เรืองปัญญา,2546,หน้า 447)
ผู้ที่สร้างงานศิลปะ เรียกว่า “ศิลปิน” หรือช่างฝีมือ ศิลปินไทยส่วนใหญ่นิยมสร้างศิลปะขึ้นจากแรงบันดาลใจทางธรรมชาติ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากศาสนา และความเชื่อทางไสยศาสตร์เป็นประการสำคัญ (วาสนา บุญสม,ศิลปวัฒนธรรมไทยสายใยจากอดีต,กรุงเทพฯ:ปิรามิด,2548,หน้า 8)
ศิลปะมีหลายแขนง ได้มีผู้จัดกลุ่มแห่งศิลปะออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์
1.วิจิตรศิลป์ เป็นการถ่ายทอดงานศิลปะที่มุ่งเน้นประโยชน์ด้านความงาม ความพึงพอใจ ความสุขใจเป็นหลัก หรืออาจจะถ่ายทอดออกมาโยปราศจากการคาดหวัง อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง หรืออาจจะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้เลย วิจิตรศิลป์ในตำราทางศิลปะแบ่งออกเป็น 8 ประเภทคือ
1.จิตรกรรม คืองานเขียนภาพลงบนวัตถุต่างๆ เป็นงานสองมิติคือมองเห็นเพียงด้านกว้างและด้านยาว
2. ประติมากรรม คือการสร้างงานที่เป็นรูปทรงสามมิติ เช่นงานปั้นต่างๆ ที่มองเห็นทั้งด้านกว้าง ยาว และหนา
3. สถาปัตยกรรม คือศิลปะที่สร่างสรรค์อยู่บนสิ่งก่อสร้าง อาคารรูปแบบต่างๆ ให้มีความสวยงามลงตัวอย่างมีคุณค่าตามยุคสมัย
4. ภาพพิมพ์ ลักษณะคล้ายจิตรกรรมเพราะมีเพียงสองด้าน แต่สิ่งที่แตกต่างคือเป็นการสร้างงานบนแม่พิมพ์
5. สื่อผสม คือศิลปะที่สามารถนำวิจิตรศิลป์หลายๆแบบมาผสมผสานกัน อาจจะกลายเป็นสองมิติหรือสามมิติก็ได้
6.ศิลปะภาพถ่าย คือการถ่ายภาพเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ทำให้เกิดประโยชน์ทางสติปัญญาอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่า
7.วรรณกรรม คืองานเขียนบทประพันธ์ต่างๆ ที่มีศิลปะการใช้ภาษาอย่างไพเราะสวยงาม
8. ดนตรีและนาฏศิลป์ ดนตรีคือการเรียบเรียง การผสมผสานเสียงสูงต่ำผ่านเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ให้เกิดความไพเราะในการรับฟัง ส่วนนาฏศิลป์คือการแสดงออกทางลีลาท่าทางที่อ่อนช้อยสวยงาม
2. ศิลปะประยุกต์ คือการถ่ายทอดผลงานทางศิลปะที่มุ่งเน้นประโยชน์ด้านการนำไปใช้งาน เพื่อความต้องการทางร่างกายเป็นหลัก และมุ่งเน้นความสวยงามเป็นรอง โดยสรุปมี 4 ประเภทคือ
1.พาณิชยศิลป์ คือศิลปะที่สร้างสรรค์เพื่อธุรกิจ สร้างความตื่นตื่นใจเพื่อดึงดูดโดยหวังผลด้านการค้า เช่นภาพสื่อโฆษณาแบบต่างๆ
2.มัณฑนศิลป์ คือศิลปะที่เกี่ยวกับการออกแบบตกแต่งภายใน เครื่องใช้ต่างๆให้เกิดความงามสอดคล้องลงตัวกับประโยชน์ใช้สอยกับอาคารสถานที่
3.ศิลปหัตถกรรม คือศิลปะที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยมือ เพื่อประโยชน์ในการทำงานด้วยประเพณีหรือวิถีชีวิตพื้นบ้าน จนสารมารคนำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่า เช่นการจักสาน การทอผ้าลายต่างๆ
4. อุตสาหกรรมศิลป์ คือศิลปะที่มุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยและความงาม เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์โดยใช้เครื่องจักรในการสร่างงานออกมา (สุรพงษ์ บัวเจริญ,องค์ประกอบศิลป์สำหรับนักถ่ายภาพ,กรุงเทพฯ:เอ็มไอเอส,2554,หน้า 4)
หากดูตามขอบข่ายเนื้อหาของศิลปะแล้ว ก็ต้องบอกว่าจะอยู่ที่ไหนจะ เดินไปทางไหนก็ต้องพบกับศิลปะจนได้ แม้แต่อาคารบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ประจำก็เป็นศิลปะแขนงสถาปัตยกรรม หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านสักเล่มนั่นก็กำลังเสพงานศิลปะแขนงวรรณกรรม เปิดโทรทัศน์ดูข่าว ดูละครนั่นก็เป็นศิลปะประเภทนาฏศิลป์และดนตรี ใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพสักภาพก็กลายเป็นการสร้างศิลปะแขนงภาพถ่าย ดังนั้นในแต่ละวันมนุษย์จึงหนีงานศิลปะไม่พ้น ต้องอยู่กับคำว่าศิลปะอยู่แทบจะตลอดทุกเวลานาทีอยู่แล้ว
ศิลปะจึงแยกออกจากวิถีชีวิตมนุษย์ไม่ได้ เพราะมนุษย์มีการสร้างสรรค์ศิลปะตามที่ตนถนัด หรือบางคนอาจจะถนัดหลายทาง ทำงานศิลปะไปพร้อมๆกันหลายอย่าง งานศิลปะบางอย่างขายได้มีราคาหลายแสนหลายล้านบาท เช่นงานประเภทภาพวาดหรือจิตรกรรมของศิลปินบางคนมีราคาหลายล้านบาท บางคนจ่ายเงินก่อนเพื่อให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานออกมา
สมัยโบราณมีศิลปะอยู่เพียงไม่กี่แขนง อาจจะมีอยู่เฉพาะในส่วนของทัศนศิลป์หรือวิจิตรศิลป์ งานที่สร้างในยุคแรกๆจึงเป็นงานประเภทสถูปเจดีย์ซึ่งเป็นงานประเภทสถาปัตยกรรม ส่วนงานด้านประติมากรรม วรรณกรรม นาฏศิลป์และดนตรีคงมีมานานแล้ว อาจจะมีงานทางด้านจิตรกรรมแทรกอยู่บ้าง ภาพเขียนบนผนังถ้ำบางภาพมีอายุกว่าห้าพันปี
งานศิลปะในสมัยพุทธกาลคือสถูปและเจดีย์ ซึ่งเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญ ดังที่แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/134/137) ความว่า “ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล 4 จำพวก คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง สาวกของพระตถาคตเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง”
คำว่า “ถูป” เป็นคำนามภาษาบาลีปุงลิงค์(เพศชาย) แปลว่า “สถูป อนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญ เจดีย์ ยอด (พระอุดรคณาธิการ,จำลอง สารพัดนึก,พจนานุกรมบาลี-ไทย(พิมพ์ครั้งที่ 4),กรุงเทพฯ: เรืองปัญญา,2546,หน้า 239)
ส่วนคำว่า “เจดีย์” มาจากภาษาบาลีว่า “เจติย” คำนามนปุงสกลิงค์(ไม่หญิงไม่ชาย)หมายถึง เจดีย์ สิ่งที่ระลึกซึ่งควรแก่การเคารพบูชา สิ่งก่อสร้างสำหรับบรรจุสิ่งที่นับถือ หากเป็นคำนามปุงลิงค์ก็จะมีความหมายว่า ชื่อมหาชนบทหนึ่งในสิบหกของอินเดียโบราณ แคว้นเจติยะ (พจนานุกรมบาลี-ไทย,หน้า 208)
ถูปารหบุคคล หมายถึงผู้ควรแก่สถูป ผู้สมควรแก่การที่ประชาชนจะสร้างสถูปไว้บูชา ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยรับสั่งให้ก่อสถูปแก่ชายคนหนึ่งชื่อ “พาหิยะทารุจีริยะ” ดังข้อความที่ปรากฏในพาหิยสูตร ขุททกนิกาย อุทาน (25/50/72) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอกับท่านทั้งหลายทำกาละแล้ว”
พาหิยทารุจีริยะยังไม่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแต่บรรลุพระอรหันต์มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระผู้มีพระภาคเจ้าความว่า “ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้งในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้าย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน แม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงจนสิ้นชีวิต ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีเสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมากได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยทารุจีริยะทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอกับท่านทั้งหลายทำกาละแล้ว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ช่วยกันยกสรีระของพระพาหิยทารุจีริยะขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา และทำสถูปไว้แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีระของพาหิยทารุจีริยะข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของพาหิยทารุจีริยะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายทำไว้แล้วคติของพาหิยทารุจีริยะนั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะเป็นบัณฑิตปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรมดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว” แม้ผู้ที่ยังไม่ได้อุปสมบทก็บรรลุอรหันต์ได้ แต่ทว่าคติของผู้บรรลุธรรมหากยังอยู่ในเพศคฤหัสถ์มักจะอยู่ได้ไม่นาน แต่สถูปบรรจุพระธาตุของพาหิยทารุจีริยะ หากทำการขุดค้น ศึกษาคงมีโอกาสได้พบ เมื่อกาลเวลาผ่านไปคงถูกแผ่นดินถมทับอยู่ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
ในส่วนของพระพุทธศาสนาศิลปะยุคหลังพุทธกาลที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพระพุทธศาสนาคืองานด้าน ประติมากรรม เช่นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะก็นิยมสร้างประติมากรรมรูปดอกบัวหรือรอยพระพุทธบาทไว้เป็นสัญลักษณ์
สถานที่ตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ก็สร้างประติมากรรมรูปบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์
สถานที่แสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันหรือปัจจุบันคือสารนาถก็สร้างประติมากรรมรูปธรรมจักรกับกวางหมอบ
สถานที่ปรินิพพานที่กุสินารา ก็สร้างมหาปรินิพพานสถูปไว้เป็นอนุสรณ์ ภายหลังจึงมีประติมากรรมรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าสถิตอยู่ภายในสถูป
ในหนังสือศิลปะวิชาการ หัวข้อ “คิดกันคนละอย่าง” ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของศิลปะกับศาสนาไว้ว่า “ศิลปะมีจุดมุ่งหมายปลายทางเช่นเดียวกับศาสนา กล่าวคือมุ่งหมายเพื่อยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้ขึ้นสู่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เมื่อกล่าวว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ก็ดูเป็นเรื่องเหลวไหลสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ในยุคปัจจุบัน โบราณนั้นสร้างศิลปะเพื่อประโยชน์ของประชาน มิใช่เพื่อประโยชน์ของศิลปิน ศิลปินจำต้องให้ประโยชน์แก่สังคม มิฉะนั้นเขาก็ประสบผลล้มเหลวในความมุ่งหมายส่วนใหญ่(เขียน ยิ้มศิริ แปลจาก Extremites สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ซึ่งแสดง ณ หอศิลป กรมศิลปากร ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 15 มีนาคม 2503)
เลือกภาพสถานที่ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติและสถานที่ที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ในปัจจุบันในสถานที่เคยมีประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนา บางภาพก็ยังนึกไม่ออกว่าเป็นศิลปะสมัยใด เมื่อสร้างครั้งแรกในยุคแรกเป็นอย่างไร มีการปรับปรุงต่อเติมเสริมแต่งขึ้นใหม่หรือไม่ ใครเป็นคนทำ ทำเพื่ออะไร คงต้องศึกษาหาคำตอบต่อไป
เรื่องของศิลปะเป็นเรื่องของมนุษย์ เพราะมนุษย์คือผู้สร้างศิลปะ แต่ละคนอาจจะเป็นผู้สร้างศิลปะโดยไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองเป็นศิลปิน เพราะศิลปะบางแขนงกำลังยึดครองคำว่า “ศิลปิน” ไว้ในสาขาที่กำลังได้รับความนิยมเช่นนาฏศิลป์ ดนตรี การละครเป็นต้น ส่วนผู้สร้างศิลปะในสาขาอื่นๆก็ไม่อาจจะไม่อยากใช้คำว่า “ศิลปิน” อย่างไรก็ตามมนุษย์ก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานศิลปะอยู่บ้าง แม้ไม่ใช่ในฐานะผู้สร้างก็อยู่ในฐานะผู้เสพงานศิลปะมนุษย์จึงหนีจากงานศิลปะไม่พ้น แต่จะทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนจากผู้เสพมาเป็นผู้สร้างงานศิลปะ
มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ไม่นานเกินร้อยปี หรือหากจะเกินบ้างก็มีส่วนน้อย แต่งานศิลปะนั้นบางอย่างมีอายุยืนยาวหลายปีพัน เป็นสมบัติของโลกที่มีเรื่องราวให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ศิลปะบางอย่างทำให้เกิดสุนทรียะทางอารมณ์ ทำให้จิตใจสงบ ศิลปะบางอย่างมีเหตุการณ์มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ซ่อนเร้นอยู่ ศิลปะบางอย่างมีหลักคำสอนทางศาสนาปรากฏอยู่ มีระบบการปกครอง มีหลักฐานทางโบราณคดี อาณาจักรบางแห่งล่มสลายหายสาบสูญไปนานแล้ว แต่ศิลปะยังมีปรากฏให้เห็น อาจจะกล่าวได้ว่าชีวิตคนนั้นสั้น แต่ศิลปะยืนยาว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
09/03/58
อ้างอิง
พระอุดรคณาธิการ,จำลอง สารพัดนึก.พจนานุกรมบาลีไทย(พิมพ์ครั้งที่ 4).กรุงเทพฯ: เรืองปัญญา,2546.
ราชบัณฑิตยสภา.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต.กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสภา,2525.
วาสนา บุญสม.ศิลปวัฒนธรรมไทยสายใยจากอดีต.กรุงเทพฯ:ปิรามิด,2548.
สุรพงษ์ บัวเจริญ.องค์ประกอบศิลป์สำหรับนักถ่ายภาพ.กรุงเทพฯ:เอ็มไอเอส,2554.
ศาสตราจาย์ศิลป์ พีรศรี.ศิลปะวิชาการ.กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีรศรี อนุสรณ์,2546.