สิบสองปันนาเป็นชื่อที่คุ้นหูของคนไทย เพราะดินแดนแห่ง นี้มีคนไทลื้ออาศัยอยู่และมีพระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบ สังคมนิยม ทำให้พระพุทธศาสนาได้รับผลกระทบปัจจุบันพระพุทธศาสนากำลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง
ร้อยโค้งพันคดลดหลั่น ภูดอยหมื่นจันทร์กั้นขวาง
“ร้อยโค้งพันคดลดหลั่น ภูดอยหมื่นจันทร์กั้นขวาง ห่างไกลหมู่ญาติยายตา ดูอ่อนบางแปลกตา
ร้อยคดพันเคี้ยวเลี้ยวหลั่น น้ำตานั้นกั้นกางของ น้ำตาหลั่งมาเนืองนอง พ้นแม่ของล่องเรือ
โอ้หนอสิบสองปันนา อยู่ห่างไกลตาสุดหล้าฟ้าเหลือง บ้านเกิดเมืองเก่า หมู่เฮาฮุ่งเฮือง
ร้อยโค้งพันเคี้ยวเลี้ยวล่อง แม่ของร่องไหลไปเหนือ จากหมู่จากมาอยู่เมิน หวนคืนสิบสองปันนา”
เสียงบทเพลงจากคำหล้า ธัญญาพร แว่วมาจากร้านขายเทปท่าเรือเมืองเชียงของ บทเพลงนี้ทำให้ต้องหยุดฟังว่าเนื้อหากล่าวถึงอะไร คนขายบอกว่าอีนางคำหล้าร้องเพลงนี้ได้เพราะมาก ในช่วงนี้นักท่องเที่ยวที่กลับจากสิบสองปันนามักจะซื้อติดไม้ติดมือเสมอ
“ร้อยโค้งพันคดลดหลั่น ภูดอยหมื่นจันทร์กั้นขวาง” ช่างเป็นวลีที่อธิบายเส้นทางการเดินทางจากเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของประเทศลาว บางเส้นทางเลาะเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่ลาวนิยมเรียกแม่น้ำของ เส้นทางบนดอยนั้นคงไม่มีใครสนใจนับเพราะมีจำนวนมากเหลือเกิน นอกจากนั้นยังมีอุโมงค์ลอดภูเขาจากเมืองหลวงน้ำทาไปสู่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของจีนที่เมืองหล้า อุโมงค์ที่ตัดผ่านภูเขาทำให้ภูมิทัศน์สองข้างทางได้รับผลกระทบน้อยมาก ทิวทัศน์ยังคงมีความงามและเสน่ห์น่าชม ตามไหล่เขาชาวบ้านปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
สองข้างทางจะมีหมู่บ้านของคนไทหลายเผ่าปลูกเรียงรายกันไปตามสันดอย ซึ่งบุญยงค์ เกตุเทศได้ระบุไว้หลายเผ่าเช่นไทนุง ไทไส ไทโท้ ไทดำ ไทขาว ไทใหญ่ ไทเขิน ไทพวน ไทลื้อ ไทเหนือ ไทหย่า ไทย้อ ไทแสก คนไทยเหล่านี้ตั้งถิ้นฐานกระจายอยู่ในประเทศต่างๆคือไทย ลาว เวียตนาม จีน โดยเฉพาะไทลื้อในจังหวัดน่านของไทยและในสิบสองปันนา ประเทศจีน (บุญยงค์ เกตุเทศ,ไทแคมของ,กรุงเทพฯ:บริษัทหลักพิมพ์จำกัด,๒๕๔๙,หน้า ๓๘) คนไทเหล่านี้สังเกตได้ง่ายที่สุดคือไทลื้อจีนนิยมเรียกว่าไทน้ำ ส่วนพวกที่อยู่บนดอยนิยมเรียกว่าไทลาย ไทลื้อมีเอกลักษณ์พิเศษคือจะทำฉางข้าวไว้รวมกันเล็กบ้างใหญ่บ้างตามฐานะ บริเวณภายในหมู่บ้านจะมีหมูดำหากินกันเป็นหมู่พร้อมกับเป็ดไก่ดูแล้วเพลินตา สัตว์เหล่านี้เหมือนเป็นเพื่อนกัน แต่ผู้คนในตอนกลางวันมักจะไม่อยู่บ้านเพราะออกไปทำไร่ หรือทำมาหากินกันตามภูดอยต่างๆซึ่งน่ามีจำนวนมากอาจเป็นจำนวนพันหรือหมื่นภู
กว่ารถจะวิ่งเข้าสู่สิบสองปันนาจริงก็ปาเข้าไปห้าทุ่ม ต้องใช้เวลาในการเดินทางครั้งนี้จากสนามบินสุวรรณภูมิเครื่องบินออกเวลา ๐๖.๓๐ น ถึงเชียงราย ๐๘.๐๐ น. จากนั้นนั่งรถไปที่เชียงของข้ามเรือไปห้วยทรายประเทศลาวเวลาประมาณเที่ยงวัน ระยะทางจากห้วยทรายไปสิบสองปันนาต้องเปลี่ยนรถสองครั้ง ดังนั้นเวลาในการเดินทางยาวนานด้วยสาเหตุสำคัญคือถนนคดเคี้นยว และรถไม่ค่อยดีต้องวิ่งไปจอดซ่อมไปตอดทาง บางครั้งต้องสวดมนต์ไปด้วยเพื่อไม่ให้มีอุปสรรคมากกว่านี้ บทสวดอิติปิโส...ใช้ได้ผลที่สุดเพราะเมื่อสวดเมื่อใด รถจะวิ่งต่อไป เรื่องนี้ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ บางครั้งรถมีปัญหาเปิดประตูไม่ได้ต้องอาราธนาพระคาถาชินนบัญชรเข้ามาช่วยจึงทำให้การเดินทางไปที่หมายโดยปลอดภัย
โอ้หนอสิบสองปันนาอยู่ห่างไกลตาสุดหล้าฟ้าเหลือง
สถานที่ท่องเที่ยวของสิบสองปันนาไม่มีอะไรที่แตกต่าง เพราะเมืองนี้กำลังอยู่ในช่วงการสร้างบ้านแปงเมือง ถนนกำลังทำ ต้นไม้ก็ปลูกใหม่ เหมือนกับพึ่งปลูกมาได้ไม่กี่วัน สิ่งที่ไกด์พาไปเที่ยวชมจึงเป็นแหล่งขายของที่ระลึกโดยเฉพาะร้านขายชาและกาแฟ ที่สิบสองปันนาถือว่ามีสรรพคุณที่ยอดเยี่ย โดยเฉพาะชาผูเอ่อหรือชาขงเบ้งนั้นมีสรรพคุณในการถอนพิษอย่างดีเยี่ยม มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อครั้งที่ขงเบ้งยกทัพมารบที่ดินแดนแถบนี้ ทหารไม่คุ้นเคยพื้นที่ต้องล้มป่วยลงเป็นจำนวนมาก ขงเบ้งจึงให้นำใบไม้ชนิดหนึ่งมาต้มให้ทหารกินในที่สุดก็หายเป็นปกติ แถมมีกำลังวังชาเพิ่มขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงนิยมนำใบของต้นไม้ดังกล่าวมาซงดื่มกลายเป็นชาที่เรียกว่าชาขงเบ้งหรือผูเอ่อในปัจจุบัน ชาชนิดนี้แปลกกว่าที่อื่นเพราะมีลำต้นสูงใหญ่เหมือนไม้ยืนต้น เวลาซงจะออกสีแดงๆเหมือนที่ใครบางคนเรียกว่าชาสังฆทานในบ้านเรานั่นเอง ดังนั้นก่อนที่จะไปเป็นของฝากผู้ใหญ่ต้องแจ้งสรรพคุณให้ทราบก่อน มิฉะนั้นตัวเราเองจะถูกด่าว่าอุตส่าห์ไปถึงสิบสองปันนายังเอาชาสังฆทานมาฝาก
อีกวันหนึ่งเราแวะเข้าไปที่สวนสาธารณะมีรูปปั้นท่านประธานเหมาเจ๋ตุงตั้งตระหง่านบริเวณทางเข้า ท่านประธานยังเป็นที่เคารพของคนจีนอย่างไม่เสื่อมคลาย ในสวนสาธารณะมีหลายอย่างให้ชมส่วนมากจะเน้นที่ธรรมชาติ มีนกยูงเป็นจำนวนมาก มีโบราณสถานก่อเป็นเจดีย์เล็กๆ นัยว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ข้างๆ เจดีย์มีวัดชื่อเจติยารามหรือวัดป่าเจ เคยเป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งสิบสองปันนา โดยสมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำเป็นผู้อุปถัมภ์ในการก่อสร้างอาคารเรียน แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้วเพราะได้ย้ายไปที่วัดหลวงไทลื้อแทน ข้างๆวัดมีร้านขายกาแฟอันขึ้นชื่อของเมืองนี้ พร้อมที่จะดูดเงินของนักท่องเที่ยวได้ทุกเมื่อ เพราะการบริการที่ยอดเยี่ยมทุกคนที่เดินเข้าร้านจะได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม มีบริการดื่มกาแฟฟรีทุกขั้นตอน เมื่ออิ่มกาแฟได้ที่แล้วจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนในการขาย ไม่ซื้อไม่ว่าแต่ส่วนมากมักจะสูญเงินกันเป็นแถว กาแฟก็ธรรมดา คนขายก็ธรรมดา แต่การบริการเป็นเยี่ยม คนที่นี่เน้นการต้อนรับและการให้บริการพร้อมกับสินค้าที่บรรจุหีบห่ออย่างสวยงาม ทำให้สินค้าธรรมดากลายเป็นสินค้าที่มีราคาขึ้นมา คนจีนนี่บริหารจัดการเก่งจริงๆ แม้แต่คนที่ไม่คิดจะซื้อก็ยังต้องซื้อ
วัดหลวงไทลื้อ
ในวันที่คณะเราเดินทางไปถึงท่านเจ้าอาวาสคือพระครูบาหลวงจอมเมือง ติดภารกิจไปประชุมที่เมืองอื่น จึงเหลือรองเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์อื่นๆให้การต้อนรับ วัดแห่งนี้จากคำบอกเล่าของพระแสง สุปัญโญ รองเจ้าอาวาสได้ให้ข้อมูลว่า “ที่สิบสองปันนาปัจจุบันมีวัดของพระพุทธศาสนนาเถรวาทจำนวน ๕๘๘ วัด มีพระสงฆ์ประมาณ ๑๐๐๐ รูป สามเณรประมาณ ๔๐๐๐รูป จัดการศึกษาเฉพาะนักธรรมชั้นตรี โท เอก โดยใช้หลักสูตรของประเทศไทย พระสงฆ์ส่วนหนึ่งมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกาณราชวิทยาลัย และวัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน มีพระสงฆ์จากสิบสองปันนาสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคจากหลักสูตรของคณะสงฆ์ไทย ในอนาคตก็หวังว่าสิบสองปันนาจะสามารถจัดการศึกษาแผนกบาลีได้เอง”
เหตุที่มีสามเณรมากกว่าภิกษุเพราะคนในสิบสองปันนานิยมบวชตั้งแต่อายุน้อยดังที่บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ได้กล่าวไว้ว่า “ชาวไทลื้อนิยมให้บุตรหลานของตนบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย โดยถือว่าผู้มีอายุน้อยไร้เดียงสาเป็นผู้บริสุทธิ์ การบวชย่อมได้บุญมากกว่าบาป ส่วนผู้ที่บวชอายุมากนั้นชาวไทลื้อไม่ค่อยนิยมนับถือเข้าใจไปในทำนองบวชขณะที่เต็มไปด้วยกิเลส มีสภาษิตของไทลื้อแห่งแคว้นสิบสองปันนาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เก้าขาว ป๋ายขาวคือกลางก่ำ” หมายถึงคนเราเมื่อยามเด็กไร้เดียงสามีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ยามชราก็ให้มุ่งทำบุญ ในวัยกลางคนนั้นล้วนเต็มไปด้วยกิเลส (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, ไทยสิบสองปันนา,พิมพ์ครั้งที่ ๒,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ศยาม,หน้า ๑๒๙)
พระคำถิ่น อนาลโย รองเจ้าอาวาสอีกรูปหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า “สิ่งที่พระสงฆ์ในสิบสองปันนาอยากได้มากที่สุดในปัจจุบันคือ(๑)พระครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี (๒) แปลพระไตรปิฎก หนังสือธรรมะ ประวัติครูบาอาจารย์ฝ่ายเถรวาทเป็นภาษาจีน เพราะปัจจุบันคนจีนหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทมากขึ้น แต่ขาดตำราและวิทยากรผู้มีความรู้ที่จะให้คำแนะนำแก่คนเหล่านั้น
ดร.เสน่ห์ เตชะวงศ์ได้ถามคำถามที่น่าสนใจคำถามหนึ่งว่า “ภายหลังที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมพระสงฆ์ในสิบสองปันนามีบทบาทอย่างไร”
พระคำถิ่น อนาลโย ได้ให้คำตอยว่า “รัฐบาลประเทศจีนมีข้อห้ามเพียงสองประการคือห้ามทำผิดกฎหมายและห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นมิได้จำกัดบทบาทของคณะสงฆ์แต่อย่างใด ให้สิทธิเสรีในการปฏิบัติศาสนกิจทุกอย่าง เท่าที่จะทำได้ มีการช่วยเหลือสังคม อบรมประชาชน และปัจจุบันกำลังสร้างศูนย์ปฎิบัติธรรมอีกหลายแห่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่กำลังมากขึ้นเรื่อยๆ วัดหลวงไทลื้อกำลังสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมที่เมืองงำ อีกแนวโน้มหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนคือเอกชนจะลงทุนสร้างวัดแล้วเก็บค่าผ่านประตูสำหรับผู้ที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดซึ่งขณะนี้ได้ทำไปหลายแห่งแล้ว แม้แต่วัดหลวงไทลื้อเองก็เก็บเงินค่าผ่านประตู คนจีนคนใดจะเข้าวัดไปสวดมนต์ไหว้พระต้องเสียค่าผ่านประตู แม้ถึงอย่างนั้นประชาชนก็ยังเข้าวัดมีจำนวนมากทุกวัน
ร้อยโค้งพันเคี้ยวเลี้ยวล่อง แม่ของล่องไหลไกลเหลือ
แม่น้ำโขงเกิดจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต ไหลผ่านหลายประเทศ ตรงที่ไหลผ่านสิบสองปันนาเรียกว่า “แม่น้ำล้านช้าง” หลันซาง หรือหลานซางเจียง” สถานที่แห่งหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจมากคือกระเช้าข้ามแม่น้ำหลานซาง เพื่อไปชมภูเขาลิง ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์วิจัยลิง ที่ภูเขาลิงแห่งนี้สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือสองผู้เฒ่าที่เฝ้าบ่อน้ำเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ใครได้อาบ ดื่มหรือนำมาล้างหน้าจะทำให้เกิดความโชคดี หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ผู้เฒ่าคนแรกเป็นหญิงชราคอยตักน้ำให้กับนักท่องเที่ยว ผู้เฒ่าอีกคนเป็นชายแก่นั่งบริกรรมคาถาและปั่นพรแก่ผู้ที่เดินผ่านไป ภาษาปั่นพรหากฟังดีๆแล้วจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกับการปั่นพรที่เมืองน่านของคนไทลื้อไม่ผิดเพี้ยน ผู้เฒ่าทั้งสองสนทนากับนักเดินทางด้วยภาษาไทลื้อ สามารถสื่อความหมายได้
การนั่งกระเช้าทั้งไปและกลับได้บรรยายการศที่น่าตื่นตาตื่นใจ มองลงไปยังแม่น้ำหลานซางที่ไหลเอื่ยทอดยาวอย่างไม่ขาดสาย จีนพัฒนาป่าที่ไม่น่าจะมีอะไรให้น่าสนใจให้เกิดความน่าสนใจได้อย่างน่าพิศวง เหมือนกับที่แห่งหนึ่งคือสวนม่านทิง เป็นเพียงป่าธรรมดาที่ปลูกต้นสมุนไพรนานาชนิด และนำต้นไม้มาแปรสภาพให้เป็นสมุนไพร แม้จะมีวิทยากรที่อธิบายรายละเอียดทุกอย่างให้ฟัง แต่สิ่งสุดท้ายที่วิทยากรต้องการก็คือการขายยาสมุนไพรที่มีราคาแพงลิบลิ่ว โรคหนึ่งๆ ถ้าจะให้หายขาดตั้งสองพันหยวนขึ้นไป (อัตราแลกเปลี่ยนในวันนั้น ๑ หยวนเท่ากับ ๕.๘๐ บาท) ดูเหมือนจะเป็นนโยบายจากเบื้องบนที่ต้องขายสินค้ากับนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด
หมู่บ้านกาหลั่นป้า
หมู่บ้านแห่งนี้หากมองอย่างผิวเผินก็คือหมู่บ้านธรรมดา ไม่มีอะไรน่าสนใจเหมือนดอยปุยที่จังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง มีชาวบ้านมาขายสินค้าของที่ระลึก เป็นชุมชนเล็กๆ มีวัดประจำหมู่บ้านได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีพระภิกษุสามเณรเรียนหนังสือ นี่คือความธรรมดา แต่เมื่อเดินลึกเข้าไปภายในหมู่บ้านจึงจะได้เห็นความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะบ้านเรือนแต่ละหลังบ่งบอกถึงอายุกาลน่าจะมีอายุสืบต่อมาหลายชั่วอายุคนหลายพันปี ลักษณะของเรือนมีบันไดทางขึ้นอยู่กลางบ้าน บนรือนเป็นห้องโถงใหญ่คล้ายห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขก มีห้องอยู่สองฝากแบ่งเป็นห้องนอน และห้องครัวอยู่บนเรือน หลังตามีหงส์อยู่สองข้างมีรูปเจดีย์อยู่ตรงกลาง หลังคามุงด้วยไม้ สามารถซ่อมแซมได้ ใต้ถุนใช้เป็นที่ทำงานบางเรือนทอผ้า บางเรือนแกะสลัก บางเรือนทำของที่ระลึก ลักษณะบ้านเรือนเช่นนี้นัยว่ามีอายุยาวนานหลายพันปีแล้ว ในหมู่บ้านกาหลั่นป้าไม่มีเรือนหลังไหนที่สร้างด้วยอิฐหรือปูนเลย ทุกอย่างทำด้วยไม้ แม้ว่าบางเรือนจะมีรถยนต์จอดอยู่ใต้ถุนแทนวัวควายในอดีตก็ตาม แต่ทุกอย่างยังคงรักษาคุณสมบัติของความเป็นโบราณได้เป็นอย่างดี ประเทศไทศไทยไม่มีหมู่บ้านโบราณอย่างนี้ให้เห็นแล้ว พื้นที่แถบหมู่บ้านกาหลั่นป้าส่วนใหญ่ทำการเกษตรโดยเฉพาะที่พบเห็นได้แทบทุกแห่งคือสวนผลไม้โดยเฉพาะกล้วยที่นี่ปลูกกันมาก ที่นี่เขาห่อกล้วยไว้ด้วยดูแปลกตา
ผู้เขียนได้พบกับแม่เฒ่าคงอายุน่าจะเลยเจ็ดสิบปีแล้ว เราพบกันที่หน้าบ้านหลังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเคยมาเยือน บนเรือนยังมีภาพถ่ายของคนสำคัญๆอีกหลายตน ไม่เว้นแม้แต่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร แม่เฒ่าขายลูกประคำที่ทำจากลูกยางพาราพวงละหนึ่งหยวน แม่เฒ่าสนทนาด้วยภาษาไทลื้อจึงสื่อกันรู้เรื่อง วันนั้นแม่เฒ่าขอรับเป็นเงินไทยเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกสามพวงยี่สิบบาท ทั้งๆที่ตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ซื้อแต่เมื่อเห็นแววตาและเสียงสนทนาของแม่เฒ่าทำให้นึกถึงแม่อุ้ยที่บ้านขึ้นมาทันใด สินค้าไม่มีความจำเป็นมากไปกว่าอัธยาศัยไมตรีของแม่เฒ่าคงชาวไทลื้อคนนั้น
แม่เฒ่าอีกคนกำลังหุงหาอาหาร เมื่อ ดร.ธีรัตน์ แสงแก้ว ขอถ่ายภาพ แม่เฒ่ารีบอนุญาตทันที พอเห็นภาพตนเองแม่เฒ่าบอกไม่สวยขออนุญาตแต่งหน้าเสียก่อน แต่เราไม่มีเวลาพอเลยได้ภาพแม่เฒ่าตนทานมาเท่าที่จะถ่ายได้ การไปหมู่บ้านกาหลั่นป้าในครั้งนี้ไม่ได้สนทนากับสาวๆคนใดเลย มีเพียงสองแม่เฒ่าที่สนทนาเหมือนคนคุ้นเคยกันมานานแสนนาน ดร.ธีรัตน์บอกว่าภาษาไทลื้อที่สนทนากันนั้นฟังออกแทบทุกถ้อยคำโดยไม่ต้องตีความแต่อย่างใด วัฒนธรรมของหมู่บ้านกาหลั่นป้าแม้จะเป็นเพียงสิ่งธรรมดา สินค้าก็ธรรมดา ผู้คนก็ธรรมดา แต่การมีความเป็นธรรมดานี่เองที่กลายเป็นเสน่ห์ของชาวไทลื้อที่กาหลั่นป้า
"โอ้หนอสิบสองปันนาอยู่ห่างไกลตาสุดหล้าฟ้าเหลือง บ้านเกิดเมืองเก่า หมู่เฮาฮุ่งเฮือง ร้อยโค้งพันเคี้ยวเลี้ยวล่อง แม่ของร่องไหลไปเหนือ จากหมู่จากมาอยู่เมิน หวนคืนสิบสองปันนา” บทเพลงขับบานด้วยสำเนียงอ่อนช้อยอ้อยอิ่ง บรรยายถึงความอยู่ไกลไปมาลำบาก แต่ที่นั่นคนไทลื้อยังยึดถือวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าไว้ไอย่างดียิ่ง คนเฒ่าคนแก่ยังพูดภาษาไทลื้อได้ ส่วนคนหนุ่มสาวหันไปพูดภาษาจีนกันหมดแล้ว ในส่วนของพระพุทธศาสนาเถรวาทกำลังเจริญรุ่งเรืองได้รับการพัฒนา มีพระภิกษุจากสิบสองปันนาเข้ามาศึกษาที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หลวงพี่อินวง พระที่วัดหลวงไทลื้อบอกว่าปัจจุบันมีพระสงฆ์จากสิบสองปันนามาจำพรรษาที่วัดปากน้ำภาษีเจริญประมาณ ๒๐ รูป หลวงพี่อินวงเรียนจบเปรียญธรรมสี่ประโยค กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีที่เมืองไทย อีกไม่นานจะกลับไปพื้นฟูการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีให้เจริญก้าวหน้า
การไปทัศนศึกษาศิลปวัฒนธรรมที่สิบสองปันนาในครั้งนี้แม้จะมีเวลาเพียงน้อยนิด แต่สิ่งที่ได้พบเห็นที่ติดตาตรึงใจไม่ลืมเลือนนั้นยากที่จะบรรยาย จีนมีประชากรมากที่สุดในโลก มีระบบการปกครองแบบสังคมนิยม ซึ่งน่าจะเหมาะกับประเทศที่มีพลเมืองมากๆ ในอนาคตจีนกำลังก้าวไปสู่ความเป็นประเทศมหาอำนาจ เพราะสินค้าทุกอย่างจีนผลิตได้หมดแล้ว บางอย่างแม้จะเป็นของเลียนแบบ แต่บางอย่างจีนผลิตได้เองอย่างมีคุณภาพ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒