ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

              กรณีปราสาทเขาพระวิหารที่ประเทศกัมพูชาต้องการที่จะสเนอชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่รัฐบาลไทยไม่เห็นด้วยจึงเสนอคัดค้าน ในที่สุดมติที่ประชุมก็ได้เลื่อนการพิจารณาออกไปอีกเป็นเวลาหนึ่งปี ปราสาทเขาพระวิหารจึงยังคงเป็นปัญหาต่อไป ทำให้บริเวณชายแดนไทยและกัมพูชาร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง และมีแนวโน้มว่าเหตุการณ์จะไม่ยุติง่ายๆ สามชายแดนใต้ก็ร้อนระอุ อีสานใต้ก็ร้อนรุ่ม ไหนจะมีปัญหาเรื่องสีแดงสีเหลืองที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดความอาฆาต ในที่สุดก็กำลังจะกลายเป็นความพยาบาทจองเวรกันในสังคม 
             ในโลกมีคนที่ผูกความอาฆาตพยาบาทจองเวรกันโดยเจตนาเพราะความไม่พอใจ ไม่ได้อย่างที่ใจคิด เลยกลายเป็นคู่เวรกันหลายชาติ ความอาฆาตมักจะมาพร้อมกับความพยาบาท คนทั่วไปเมื่อพูดถึงอาฆาต จึงมักจะพูดว่าอาฆาตพยาบาทท่านให้ความหมายเชื่อมโยงไปถึงการผูกโกรธดังที่ปรากฏในอรรถกถา วินัยปิฎก มหาวิภังค์ว่า  “เมื่อให้ความผูกโกรธเกิดขึ้น   ชื่อว่าได้ผูกความโกรธของตนไว้ในบุคคลผู้นั้น อธิบายว่าให้ความอาฆาต เกิดขึ้น บ่อย ๆ (วิ. มหา.อ.  4/ 525) ความโกรธ การผูกโกรธ ความพยาบาทอาฆาตเป็นผลสืบเนื่องกัน
เหตุแห่งการผูกอาฆาต
             เหตุแห่งการผูกอาฆาตนั้นท่านแสดงไว้ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(ที. ปา11/ 351/ 237) แสดงถึงอาฆาตวัตถุไว้  9 ประการว่า
             1. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้ได้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แก่เราแล้ว
             2. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้กำลังประพฤติซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
             3. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้จักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา 
             4. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้ได้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของเราแล้ว   
             5. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้กำลังประพฤติสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์ก็บุคคลผู้เป็นที่รัก ป็นที่ชอบใจของเรา
             6. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้จักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของเรา
             7. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้ได้ประโยคพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่ชอบใจของเราแล้ว
             8. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้กำลังประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รัก   ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา
             9. ผูกอาฆาตด้วยคิดว่าผู้นี้จักประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา 

 

 

             ในช่วงแห่งการแข่งขันทางการเมืองคงมีคนผู้อาฆาตกันหลายคู่ เพราะแต่ละฝ่ายเพื่อจะยกความดีของตน  อย่าว่าแต่เรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เลยซึ่งเป็นเรื่องของการเมืองและปัญหาระหว่างประเทศที่คนยังเป็นปุถุชนยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส แม้แต่พระพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้ก็ยังมีคนผูกอาฆาตจองเวรมาหลายแสนชาติ บางครั้งการจองเวรเกิดขึ้นโดยที่เราก็ไม่ได้รู้สึกตัว กรรมเราทำเอง แต่เวรต้องมีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่สองคนขึ้นไป

พระเทวทัตผูกอาฆาตพระพุทธเจ้า
 
        ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีเรื่องของการผูกอาฆาตที่ชาวพุทธรู้จักกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือเรื่องพระเทวทัตผูกอาฆาตพระพุทธเจ้าเพราะพระพุทธองค์ไม่ให้พระเทวทัตปกครองสงฆ์ตามคำทูลขอ มีเรื่องปรากฏในพระวินัยปิฎก จุลวรรค(วิ. จุล. 7/ 361 / 283)ว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าอันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว   ประทับนั่งแสดงธรรมแก่บริษัทพร้อมทั้งพระราชา   ครั้งนั้นพระเทวทัตลุกจากอาสนะห่มผ้าเฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า  “พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระชราแล้ว เป็นผู้เฒ่าแก่หง่อมแล้ว ล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว  บัดนี้ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อย  ประกอบทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่เถิด  ขอจงมอบภิกษุสงฆ์แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองภิกษุสงฆ์เอง” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าเลยเทวทัต เธออย่าพอใจที่จะปกครองภิกษุสงฆ์เลย
           พระเทวทัตกราบทูลถึงสามครั้ง  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนเทวทัต  แม้แต่สารีบุตรและโมคคัลลานะเรายังไม่มอบภิกษุสงฆ์ให้  ไฉนจะพึงมอบให้เธอผู้เช่นซากศพผู้บริโภคปัจจัย เช่นก้อนเขฬะ(น้ำลาย)เล่า”
           พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรุกรานเรากลางบริษัทพร้อมด้วยพระราชา ด้วยวาทะว่าบริโภคปัจจัยดุจก้อนเขฬะ  ทรงยกย่องแต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ  จึงโกรธ  น้อยใจ  ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทำประทักษิณแล้วกลับไป   นี่แหละพระเทวทัตได้ผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นครั้งแรก
             การผูกอาฆาตของพระเทวทัตนำไปสู่บทสรุปที่น่าเศร้าใจคือถูกแผ่นดินสูบ ถ้าพระเทวทัตไม่ผูกอฆาตในพระพุทธเจ้าก็อาจจะได้รับอริยผลแทน 
             การผูกอาฆาตของพระเทวทัตกับพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลเกิดจากการต้องการอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ แต่หากย้อนไปในอดีตเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นนายวาณิชก็เคยผูกอาฆาตไว้ต่อกันดังมีเรื่องเล่าในอรรถกถาเสรีววาณิชชาดก เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้ละความเพียรแล้วได้ทรงนำเอาอดีตนิทานมาแสดงว่า  “ในอดีตกาล  ในกัปที่ 5 แต่ภัทรกัปนี้  พระโพธิสัตว์ได้เป็นพ่อค้าเร่ชื่อว่าเสรีวะ ในแคว้นเสริวรัฐ  เสรีววาณิชนั้นเมื่อไปเพื่อต้องการค้าขายกับพ่อค้าเร่ผู้โลเลคนหนึ่ง ข้ามแม่น้ำนีลพาหะ เข้าไปยังพระนครอริฏฐปุระ  แยกกันไปคนละทางกัน เที่ยวขายสินค้าในถนนที่มีคนมาชุมนุมกัน ฝ่ายวาณิชนอกนี้ยึดเอาถนนอีกสายหนึ่ง ในนครนั้นได้มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง เป็นตระกูลเก่าแก่  บุตรพี่น้องและทรัพย์สินทั้งปวงได้หมดสิ้นย่อยยับไปเหลืออยู่แต่เด็กหญิงคนหนึ่งอยู่กับยาย   ยายหลานกระทำการรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีวิต  ก็ในเรือน ได้มีถาดทองที่มหาเศรษฐีของยายกับหลานนั้น  เคยใช้สอยถูกเก็บไว้กับภาชนะอื่น ๆ   เมื่อไม่ได้ใช้สอยนานาน  เขม่าก็จับ  ยายและหลานเหล่านั้น  ย่อมไม่รู้แม้ความที่ถาดนั้นเป็นถาดทอง

            วาณิชโลเลคนนั้นเที่ยวร้องขายของว่าจงถือเอาเครื่องประดับ จงถือเอาเครื่องประดับ ได้ไปถึงประตูบ้านนั้น  กุมาริกานั้นเห็นวาณิชนั้นจึงกล่าวกะยายว่า ยาย ขอยายจงซื้อเครื่องประดับอย่างหนึ่งให้หนู  ยายกล่าวว่าหนูเอ๋ยเราเป็นคนจนจักเอาอะไรไปซื้อ  กุมาริกากล่าวว่าพวกเรามีถาดใบนี้อยู่  และถาดใบนี้ไม่เป็นอุปการะเกื้อกูลแก่พวกเรา  จงให้ถาดใบนี้แล้วถือเอาเครื่องประดับเถิด ยายจึงให้เรียกนายวาณิชมาแล้วให้นั่งบนอาสนะให้ถาดใบนั้นแล้ว กล่าวว่าเจ้านายท่านจงถือเอาถาดนี้แล้วให้เครื่องประดับอะไรก็ได้แก่หลานสาวของท่าน   นายวาณิชเอามือจับถาดนั่นแล   คิดว่าจักเป็นถาดทอง   จึงพลิกเอาเข็มขีดที่หลังถาดรู้ว่าเป็นทอง   จึงคิดว่าเราจักไม่ให้อะไรแก่สองคนนี้  จะนำเอาถาดนี้ไป แล้วกล่าวว่าถาดใบนี้จะมีราคาอะไร ราคาของถาดใบนี้แม้กึ่งมาสกก็ยังไม่ถึง จึงโยนไปที่ภาคพื้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

             พระโพธิสัตว์คิดว่า คนอื่นย่อมได้เพื่อจะเข้าไปยังถนนที่นายวาณิชนั้น เข้าไปแล้วออกไป   จึงเข้าไปยังถนนนั้นร้องขายของว่า   จงถือเอาเครื่องประดับได้ไปถึงประตูบ้านนั้น  นางกุมาริกานั้นกล่าวกะยายเหมือนอย่างนั่นแหละอีก  ลำดับนั้นยายได้กล่าวกะกุมาริกานั้นว่าหลานเอ๋ยนายวาณิชผู้มายังเรือนนี้  โยนถาดนั้นลงบนภาคพื้นไปแล้ว บัดนี้เราจักให้อะไรแล้วถือเอาเครื่องประดับ  กุมาริกากล่าวว่ายายนายวาณิชคนนั้น  พูดจาหยาบคายส่วนนายวาณิชคนนี้น่ารักพูดจาอ่อนยนคงจะรับเอา ยายกล่าวว่าถ้าอย่างนั้นจงเรียกเขามา  กุมาริกานั้นจึงเรียกนายวาณิชนั้นมา  จากนั้นยายและหลานได้ให้ถาดใบนั้นแก่พระโพธิสัตว์  พระโพธิสัตว์นั้น  รู้ว่าถาดนั้นเป็นถาดทอง   จึงกล่าวว่าแม่ถาดใบนี้มีค่าตั้งแสนสินค้าอันมีค่าเท่าถาด  ไม่มีในมือของเรา   ยายและหลานจึงกล่าวว่า   เจ้านายนายวาณิชผู้มาก่อนพูดว่า ถาดใบนี้มีค่าไม่ถึงแม้กึ่งมาสก  แล้วเหวี่ยงถาดลงพื้นไป   แต่ถาดใบนี้จักเกิดเป็นถาดทอง  เพราะบุญของท่าน   พวกเราให้ถาดใบนี้ แก่ท่าน  ท่านให้อะไรก็ได้แก่พวกเรา  แล้วถือเอาถาดใบนี้ไปเถิด  ขณะนั้นพระโพธิสัตว์จึงให้กหาปณะ  500    ซึ่งมีอยู่ในมือและสินค้าซึ่งมีราคา 500 กหาปณะทั้งหมดแล้วขอเอาไว้เพียงเท่านี้ว่า   ท่านทั้งหลายจงให้ตาชั่งนี้กับถุงและกหาปณะ  8  กหาปณะแก่ข้าพเจ้าแล้วถือเอาถาดนั้นหลีกไป พระโพธิสัตว์นั้นรีบไปยังฝั่งแม่น้ำให้นายเรือ  8  กหาปณะแล้วขึ้นเรือไป  ฝ่ายนายวาณิชพาลหวนกลับไปเรือนนั้นอีก   แล้วกล่าวว่าท่านจงนำถาดใบนั้นมา  เราจักให้อะไรบางอย่างแก่ท่าน   หญิงนั้นบริภาษนายวาณิชพาลคนนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านได้กระทำถาดทองอันมีค่าตั้งแสนของพวกเราให้มีค่าเพียงกึ่งมาสก แต่นายวาณิชผู้มีธรรมคนหนึ่งเหมือนกับ นายท่านนั่นแหละให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่พวกเราแล้วถือเอาถาดทองนั้นไปแล้ว    นายวาณิชพาลได้ฟังดังนั้น คิดว่าเราเป็นผู้เสื่อมจากถาดทองอันมีค่าตั้งแสน   วาณิชคนนี้ทำความเสื่อมอย่างใหญ่หลวงแก่เราหนอ เกิดความโศก ไม่อาจดำรงสติไว้ได้  จึงสลบไป   พอฟื้นขึ้นมาได้โปรยกหาปณะที่อยู่ในมือ   และสิ่งของไว้ที่ประตูเรือนนั่นแหละ  ทิ้งผ้านุ่งผ้าห่ม   ถือคันชั่งทำเป็นไม้ค้อน หลีกไปตามรอยเท้าของพระโพธิสัตว์    ไปถึงฝั่งแม่น้ำนั้น      เห็นพระโพธิสัตว์กำลังไปอยู่จึงกล่าวว่านายเรือผู้เจริญท่านจงกลับเรือ   พระโพธิสัตว์ห้ามไว้
             เมื่อนายวาณิชพาลเห็นพระโพธิสัตว์ไปอยู่นั้นก็เกิดความโศก  หทัยร้อน   เลือดพุ่งออกจากปาก  หทัยแตก   เหมือนโคลนในบึงฉะนั้น  วาณิชพาลนั้นผูกอาฆาตพระโพธิสัตว์   ถึงความสิ้นชีวิตลง  ณ ที่นั้นนั่นเอง  นี้เป็นการผูกอาฆาตในพระโพธิสัตว์ของพระเทวทัตเป็นครั้งแรก พระโพธิสัตว์การทำบุญมีทานเป็นต้นได้ไปตามยถากรรม
             พระศาสดาทรงถือเอายอดด้วยพระอรหัต  ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้    แก่ภิกษุนี้อย่างนี้แล้วทรงประกาศสัจจะทั้งสี่ ในเวลาจบสัจจะภิกษุผู้ละความเพียรดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ  แม้พระศาสดาก็ทรงตรัสเรื่องสองเรื่องสืบต่อกัน  แล้วทรงประชุมชาดกว่า   “วาณิชพาลในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัตในบัดนี้  นายวาณิชผู้เป็นบัณฑิตในกาลนั้นได้เป็นเราตถาคต”
             จะเห็นได้ว่ามิใช่แต่คนธรรมดาเท่านั้นที่ผูกอาฆาต แม้แต่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศในโลกยังมีผู้อาฆาตไว้ยาวนาน 

 

ลักษณะแห่งความอาฆาต
             ลักษณะแห่งความอาฆาตพระสารีบุตรเถระแสดงไว้ว่าอาฆาตเป็นหน้าที่ของความโกรธดังที่แสดงไว้ใน อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์เล่มหนึ่งภาคหนึ่ง(ม. มู.อ. 1/253) ว่า “ โกธะมีลักษณะเฉพาะ คือความเดือดดาลหรือความดุร้าย  มีหน้าที่คือผูกอาฆาตและผลที่ปรากฏออกมาคือความประทุษร้าย อุปนาหะ มีลักษณะเฉพาะคือความผูกโกรธ    มีหน้าที่คือไม่ยอมสลัดทิ้งการจองเวร     และผลที่ปรากฏออกมาคือโกรธติดต่อเรื่อยไป  สมด้วยคำที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้อย่างนี้ว่า  โกธะเกิดก่อน อุปนาหะจึงเกิดภายหลังเป็นต้น  มักขะมีลักษณะเฉพาะคือลบหลู่คนอื่นมีหน้าที่คือทำคุณของคนอื่นนั้นให้พินาศและผลที่ปรากฏออกมาคือการปกปิดคุณของคนอื่นนั้น 

วิธีบรรเทาความอาฆาต
             เมื่อความอาฆาตเกิดขึ้นท่านแสดงวิธีบรรเทาความอาฆาตไว้ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อาฆาตปฏิวินัย  9  ว่า
             1. บรรเทาความอาฆาตเสียด้วยคิดว่าเขาได้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราแล้วเพราะเหตุนั้นการที่จะไม่ให้มีการประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน 
              2. บรรเทาความอาฆาตเสียด้วยคิดว่าเขาประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราเพราะเหตุนั้นการที่จะไม่ให้มีการประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน
                3. บรรเทาความอาฆาตเสียด้วยคิดว่าเขาจักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้นการที่จะไม่ให้มีการประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน
               4.  บรรเทาความอาฆาตเสียด้วยคิดว่าเขาได้ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว  เพราะเหตุนั้นการที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้นจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน       
                  5.  บรรเทาความอาฆาตเสียด้วยคิดว่าเขาประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลเป็นที่รักที่ชอบใจของเรา  เพราะเหตุนั้นการที่จะไม่มีการประพฤติเช่นนั้นจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน
                 6. บรรเทาความอาฆาตเสียด้วยคิดว่า  เขาจักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคล  ผู้เป็นที่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ  เพราะเหตุนั้นการที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้นจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน
                   7. บรรเทาความอาฆาตด้วยคิดว่าเขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่ชอบใจของเราแล้ว  เพราะเหตุนั้นการที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้นจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน
                   8. บรรเทาความอาฆาตเสียด้วยคิดว่าเขาประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น การที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้นจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน 
                   9. บรรเทาความอาฆาตเสียด้วยคิดว่าเขาจักประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้นการที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้นจะหาได้ในบุคคลนั้นแต่ที่ไหน (ที. ปา. 11/352/ 246)



ธรรมระงับความอาฆาต
             ธรรมระงับความอาฆาตท่านแสดงไว้ในพระสูตรไว้ว่าในอาฆาตวรรคที่สอง ปฐมอาฆาตวินยสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจกว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาตห้าประการว่า   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้น แก่ภิกษุโดยประการทั้งปวงห้าประการนี้คือ  (1) ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น  (2)ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น (3)  ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด  พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น (4)  ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น  (5) ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ  ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่าท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม  มีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่ง  จักทำกรรมใดดีก็ตามชั่วก็ตามจักเป็นทายาท  (ผู้รับผล)   ของกรรมนั้น   ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้น   ด้วยประการฉะนี้   (องฺ ปญฺจก.14/161/338)
             ในอรรถกถาปฐมอาฆาตวินยสูตร  มีคำอธิบายว่าที่ชื่อว่า   อาฆาตวินยะ  เพราะอรรถว่า   สงบระงับอาฆาต   เมื่อความอาฆาตเกิดขึ้นแก่ภิกษุในอารมณ์ใด   พึงระงับความอาฆาตทั้งหมดนั้นในอารมณ์นั้นด้วยอาฆาตฏิวินัย ( ธรรมระงับอาฆาต)  5  เหล่านี้     พึงเจริญเมตตาด้วยติกฌาน(ฌานหมวด 3) และจตุกฌาน (ฌานหมวด 4)  แม้ในกรุณาก็นัยนี้เหมือนกัน. แต่อุเบกขาควรเจริญด้วยจตุกฌาน  (ฌานหมวด 4)  และปัญจกฌาน  (ฌานหมวด 5)   ก็เพราะจิต   (อาฆาต )  ของผู้ที่เห็นบุคคลใดยังไม่ดับ  มุทิตาจึงไม่ปรากฏในบุคคลนั้น  ฉะนั้นท่านจึงไม่กล่าวถึงมุทิตา      พึงตัดความระลึกถึงในบุคคลนั้นโดยอาการที่บุคคลนั้นไม่ปรากฏเป็นเหมือนเอาฝาเป็นต้น กั้นไว้ฉะนั้น  (องฺ ปญฺจก.อ.36/161/338)
             ท่านยังแสดงธรรมระงับความอาฆาตไว้ในทุติยอาฆาตวินยสูตร  ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาตอีก 5 ประการความว่าครั้งนั้น   ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า  ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว  ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่าดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต    ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวงห้าประการคือ(1)บุคคลบางคนในโลกนี้   เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่  เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์   ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ (2) อนึ่งบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์   ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ (3) อนึ่งบุคคลบางคนในโลกนี้    เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์   เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์   แต่ย่อมได้ทางสงบใจ   ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร  ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้   (4)อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้      เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์   เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์   และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร  ภิกษุพึงรู้งับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้  (5)อนึ่ง  บุคคลบางคนในโลกนี้   เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์     เป็นผู้มีความประพฤติวาจาบริสุทธิ์   และย่อมได้สงบทางใจ   ย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในบุคคล 5  จำพวกนั้น  บุคคลใด เป็นผู้ความประพฤติทางกายไม่ริสุทธิ์   (แต่)  เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์  ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร  เหมือนอย่างว่า   ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุล  เป็นวัตร  เห็นผ้าเก่าที่ถนน  เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย  เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวาส่วนใดเป็นสาระ     ก็เลือกถือเอาส่วนนั้นแล้วหลีกไปแม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์  (แต่)  เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์  ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น   ส่วนความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา   ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้นฉันนั้น   ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้น อย่างนี้            
           ดูก่อนอาวุโสทั้งหลายบุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์  (แต่)   เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์      ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร   เหมือนอย่างว่า  สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว  เหนื่อยอ่อน  ระหายน้ำ   เขาลงสู่สระน้ำนั้น    แหวก สาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้วกอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไปแม้ฉันใด บุคคลใด    เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์   (แต่)   เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์  ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขาภิกษุไม่พึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัยนั้น  ส่วนความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา   ภิกษุพึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัยนั้น    ฉันนั้น    ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนี้อย่างนี้                                                              
           ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์  แต่ย่อมได้ทางสงบใจได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร  เหมือนอย่างว่า  น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโค  บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าวเหนื่อยอ่อน  ระหายน้ำ   เขาพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า   น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคนี้   ถ้าเราจะกอบขึ้นดื่มหรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่มไซร้    เราก็จักทำน้ำนั้นให้  ไหวบ้าง   ให้ขุ่นบ้าง   ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง   ถ้ากระไรเราพึงคุกกเข่าก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด  เขาคุกเข่าก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วไปแม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มิความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์  เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์  แต่ย่อมได้ทางสงบใจได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร    ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา   ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นสมัยนั้น  แม้ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขาภิกษุก็ไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แต่การได้ทางสงบใจได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรส่วนใดของเขา    ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น  ฉันนั้นภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนั้น
          ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์  เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์และย่อมไม่ได้ทางสงบใจไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร   ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร  เหมือนอย่างว่า  บุรุษผู้อาพาธ  มีทุกข์   เป็นไข้หนัก    เดินทางไกลแม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล     แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ไกล  เขาไม่พึงได้อาหารที่สบายถูกโรค เภสัชที่สบาย   ผู้พยาบาลที่สมควร   และผู้นำทางไปสู่บ้าน   บุรุษบางคนผู้เดินทางไกลพึงเห็นเขา  บุรุษนั้นพึงเข้าไปตั้งความกรุณาความเอ็นดู     ควานอนุเคราะห์ในเขาว่า   โอคน  ๆ นี้พึงได้อาหารที่สบายเภสัชที่สบาย   ผู้พยาบาลที่สมควร   และผู้นำทางไปสู่บ้าน   ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะเหตุว่า     คน ๆ นี้อย่าถึงความพินาศฉิบหาย  ณ ที่นี้เลย      แม้ฉันใดบุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์     เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรภิกษุพึงเข้าไปตั้งความกรุณา   ความเอ็นดู   ความอนุเคราะห์  ในบุคคลแม้เห็นปานนี้ว่า   โอท่านผู้นี้พึงละกายทุจริตแล้ว  อบรมกายสุจริต  พึงละวจีทุจริตแล้วอบรมวจีสุจริต  พึงละมโนทุจริตแล้ว   อบรมมโนสุจริต     ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะเหตุว่า  ท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้ว   อย่าเข้าถึงอบาย   ทุคติ   วินิบาต  นรกฉันนั้น   ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้.
           ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด  เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์     ย่อมได้ทางสงบใจ    และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร       ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไรเหมือนอย่างว่า  สระน้ำที่มีน้ำใส  มีน้ำอร่อยดี  มีน้ำเย็น  มีน้ำขาว    มีท่าน้ำราบเรียบ      น่ารื่นรมย์ดาดาษไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่าง ๆ บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าว  เหนื่อย  อ่อน  ระหายน้ำ   เขาพึงลงสู่สระน้ำนั้น    อาบบ้าง   ดื่มบ้างแล้วขึ้นมานั่งบ้าง  นอนบ้าง     ที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้น    แม้ฉันใด    บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์     เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ      และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร     แม้ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา   ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น  แม้ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา     ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น    แม้การได้ทางสงบใจ   ได้ความเลื่อมใสโดยการอันสมควร    ส่วนใดของเขา  ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้นฉันนั้น     ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้.  ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  เพราะอาศัยบุคคลผู้เป็นที่น่าเลื่อมใสโดยประการทั้งปวง   จิตย่อมเลื่อมใส.
           ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง  5  ประการนี้แล   (องฺ.ปญจก. 22/ 162/ 342)
                    
เหตุกำจัดความอาฆาต
   
           เหตุกำจัดความอาฆาต 9 ประการมีแสดงไว้ในทุติยอาฆาตสูตรว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต  9  ประการนี้คือ (1) บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตได้ด้วยคิดว่าคนโน้นได้ประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เราแล้วเพราะเหตุนั้นที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์ในบุคคลนี้เล่า (2) คนโน้นย่อมประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้นที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชนในบุคคลนี้เล่า  (3) คนโน้นจักประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เรา    เพราะเหตุนั้น   ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์ในบุคคลนี้เล่า    (4)   บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาต  ด้วยคิดว่าคนโน้นได้ประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว     เพราะเหตุนั้น     ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้    (5)   คนโน้นย่อมประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา     เพราะเหตุนั้น    ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า    (6)    คนโน้นจักประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา    เพราะเหตุนั้น   ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในกาลนี้เล่า   (7)  บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยคิดว่า   คนโน้นได้ประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว  เพราะเหตุนั้น  ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า     (8)   คนโน้นย่อมประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราเพราะเหตุนั้น     ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า     (9)   คนโน้นจักประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราเพราะเหตุนั้น    ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต 9  ประการนี้แล  (องฺ.นวก. 23/ 234  / 818)

              
อุบายเป็นเครื่องกำจัดความอาฆาต

             การกำจัดความอาฆาตยังมีอุบายด้วยท่านแสดงไว้ในอาฆาตปฏิวินยสูตร      ว่าด้วยอุบายเป็นเครื่องกำจัดความอาฆาต10 ประการว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อุบายเป็นเครื่องจำกัดความอาฆาต  10  ประการนี้คือ(1)บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตว่าบุคคลได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เราแล้ว  การประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน  (2) บุคคลกำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา  การประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน  (3)  บุคคลจักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา  การประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน  (4)  ย่อมกำจัดความอาฆาตว่า  บุคคลได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว  การประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน  (5)  กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา  การประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน  (6) จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา  การประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน  (7)  ย่อมกำจัดความอาฆาตว่า  บุคคลได้ประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเราแล้ว  การประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน   (8)   กำลังประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็น ที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา     การประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน (9) จักประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา    การประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์จะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน (10) ย่อมไม่โกรธในที่อันไม่ควร  (องฺ ทสก.24/80/254)
             การกำจัดความอาฆาตจึงเป็นทั้งวินัยและธรรม อาฆาตเป็นไปทางเสื่อมการกำจัดอาฆาตเป็นธรรมฝ่ายดี   ดังคำที่แสดงในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ว่า “ธรรม  9  อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อมได้แก่เหตุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต   9    ธรรม  9 อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษได้แก่ ความกำจัดความอาฆาต  9   (ที.ปา. 11/459,460/446)

พระตถาคตพุทธเจ้าไม่มีความอาฆาต
             พระตถาคตไม่มีความอาฆาตในบุคคลใดๆเลยดังที่พระพุทธองค์ตรัสยืนยันไว้ในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 2 - หน้าที่ 297 ว่า   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติทุกข์   และความดับทุกข์  ทั้งในกาลก่อนและในกาลบัดนี้     ถ้าว่าบุคคล เหล่าอื่นย่อมด่า  บริภาส   โกรธ   เบียดเบียน กระทบกระเทียบตถาคต  ในการประกาศสัจจะ 4 ประการนั้น  ตถาคตก็ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความโทมนัส ไม่มีจิตยินร้าย  ถ้าว่าชนเหล่าอื่นย่อมสักการะ  เคารพ    นับถือ    บูชาตถาคต ในการประกาศสัจจะ  4  ประการนั้น  ตถาคตก็ไม่มีความยินดี  ไม่มีความโสมนัส ไม่มีใจเย่อหยิ่งในปัจจัยทั้งหลายมีสักการะเป็นต้นนั้น  ถ้าว่าชนเหล่าอื่น    ย่อมสักการะ  เคารพ  นับถือ  บูชาตถาคต    ในการประกาศสัจจะสี่ประการนั้นตถาคตมีความดำริ  ในปัจจัยทั้งหลายมีสักการะเป็นต้นนั้นอย่างนี้ว่า     สักการะเห็นปานนี้บุคคลกระทำแก่เราในขันธปัญจกที่เรากำหนดรู้แล้วแต่กาลก่อน  เพราะเหตุนั้นแลภิกษุทั้งหลายแม้ถ้าว่าชนเล่าอื่นพึงด่าบริภาส  โกรธ  เบียดเบียน  กระทบกระเทียบท่านทั้งหลาย    ท่านทั้งหลายไม่พึงกระทำความอาฆาต ไม่พึงกระทำความโทมนัส   ไม่พึงกระทำความไม่ชอบใจ  ในชนเหล่าอื่นนั้น    (ม.มู 12/287/297)
             การทำตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แต่ชาวพุทธควรทำ เพราะสิ่งที่ทำได้ยากเมื่อทำสำเร็จย่อมจะมีคุณค่ามากตามไปด้วย



             ความอาฆาตพยาบาทมีปรากฏทั้งในวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก จึงเป็นทั้งวินัย และอภิธรรมไปด้วย ในส่วนของการผูกความอาฆาตและกำจัดความอาฆาตนั้นพระพุทธองค์แสดงไว้ทั้งวิธีกำจัด วิธีระงับ มีทั้งธรรมระงับเหตุและอุบายสำหรับขจัดกิเลสตัวนี้ ดังนั้นหากได้ทราบความเป็นไปตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากความอาฆาตพยาบาทแล้วควรละเสียตามวิธีการที่นำเสนอมานี้ ธรรมะในหมวดนี้ หากศึกษาอย่างเป็นกระบวนการโดยค้นคว้าจากพระไตรปิฎกโดยตรงจะเห็นกระบวนการแห่งความอาฆาตพยาบาทได้อย่างชัดเจน
             ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไข มีคนเคยกล่าววว่า “ปัญหามีไว้แก้ รักแท้ต้องมีอุปสรรค” ในบ้านเมืองของแต่ละประเทศย่อมมีปัญหามากมายเกิดขึ้นในแต่ละวัน ส่วนหนึ่งมาจากมนุษย์นั่นเอง หากจะบอกว่ามนุษย์นั่นแหละคือตัวปัญหาน่าจะไม่ผิด ปราสาทเขาพระวิหารสร้างมาหลายพันปีแล้ว ปราสาทยังคงอยู่ หากร่วมมือกันอนุรักษ์ไว้น่าจะเป็นผลดีมากกว่า แต่ทำไมต้องมาแย่งกันแสดงความเป็นเจ้าของอันจะก่อให้เกิดความโกรธและอาฆาตพยาบาทต่อกันด้วยเล่า

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
เรียบเรียง
01/08/53

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2525.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2525.
กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทยพร้อมอรรถกถา.กรุงเทพ ฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2525.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก