ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

        ความเชื่อพื้นฐานของชาวพุทธคือเชื่อในพระรัตนตรัยได้แก่พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ นอกจากนั้นยังมีพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวพุทธในแต่ละพื้นที่ พิธีกรรมเหล่านี้ย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละแห่ง แม้แต่การกราบไหว้ก็ยังต่างกัน ชาวพุทธในบางประเทศใช้วิธีกราบแบบเบญจคประดิษฐ์เป็นการกราบด้วยงองค์ห้า แต่ชาวพุทธในบางประเทศใช้วิธีกราบแบบอัฏฐางคประดิษฐ์คือการกราบด้วยองค์แปด การนุ่งห่มของพระสงฆ์ในแต่ละนิกายก็แตกต่่างกัน พระสงฆ์ในประเทศที่มีอากาศร้อนมักจะน่งห่มด้วยผ้าจีวรที่บางๆ ส่วนพระสงฆ์ในเขตหนาวจะห่มจีวรที่มีขนาดหนา สีจีวรก็แตกต่างกัน แต่ชาวพุทธมีความเชื่อ ขนบธรรมเนียมและคุณลักษณะทั่วไปที่แสดงออกถึงการเป็นชาวพุทธซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ แม้จะแตกต่างกันแต่มีเอกภาพอย่างเดียวกันเป็นเอกภาพบนความแตกต่าง เป็นคุณลักษณะทั่วไปของชาวพุทธ ในหนังสือพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคใหม่ได้รวบรวมไว้ดังต่อไปนี้

 

1. พระพุทธเจ้า    

          พระพุทธเจ้าหมายถึง  ผู้ตรัสรู้โดยชอบ  ผู้ตื่น โดยทั่วไปอ้างถึงพระโคตมะพุทธะ  ผู้เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์และศาสนาในอินเดียมานานกว่า 2,500 ปี พระพุทธเจ้ามักจะรู้จักกันดีในชื่อว่าตถาคต- ผู้สมบูรณ์, ภควา –ผู้บริสุทธิ์,สัมพุทธะ-ผู้ตรัสรู้โดยสมบูรณ์, สัมมาสัมพุทธะ-ผู้ตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ ,ศักยมุนี-เผ่าพันธุ์แห่งศักยะ,สุคต-ผู้มีความสุขหรือผู้สมบูรณ์ ตามวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา ยังระบุไว้ด้วยว่าพุทธในอนาคตคือพระพุทธเมตไตรยะ ซึ่งกล่าวกันว่าจะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในโลกนี้ในอนาคตกาล

2. พระรัตนตรัย
          พระพุทธศาสนามีเสาหลักที่สำคัญสามประการคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระโคตมพุทธะ ผู้ตรัสรู้โดยบริบูรณ์ เป็นผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา หลักคำสอนทางจริยศาสตร์และปรัชญาของพระองค์คือพระธรรม และภิกษุและภิกษุณีผู้ปฏิบัติตามคือพระสงฆ์ เมื่อรวมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าด้วยกันจึงเรียกว่าพระรัตนตรัย (ไตรรัตนะ)

3.พุทธศาสนิกชน
          ชาวพุทธคือผู้ที่นับถือพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ ว่าเป็นเครื่องนำทางทางวิญญาณอันสูงสุด และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ด้วยความเพียรพยายาม ชาวพุทธแบ่งออกเป็นสองระดับคืออุบาสกและภิกษุ คำว่าอุบาสก (ผู้ชาย อุบาสก) ตามตัวอักษรหมายถึง “ผู้เข้าไปนั่งใกล้” ฆราวาสผู้ประพฤติตาม,ผู้อุทิศตน หรือสาวกผู้มีศรัทธาอันลึกล้ำในพระพุทธศาสนาและปฏิญาณตนต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ผู้สละชีวิตครองเรือนและยึดถือชีวิตที่สมถะโดยเข้าร่วมกับหมู่สงฆ์คือพระ(ภิกษุ) ในพระพุทุศาสนา สตรีก็มีลักษณะเท่าเทียมกัน สามารถเข้าร่วมในศาสนาได้ ทั้งพฤติกรรมทางสังคมหรือการเมือง  ถ้าปรารถนา ก็สามารถร่วมกับหมู่สงฆ์และบรรลุคุณธรรมอันสูงสุดได้

 

4.ภิกขุ
          ภิกขุหรือภิกษุคือพระหรือสงฆ์ที่ปฏิบัติตามกฎวินัยของพระพุทธศาสนา คำว่า “ภิกขุ” หมายถึงผู้ขอหรือพระที่มีชีวิตอยู่ด้วยผู้อื่นด้วยการบิณฑบาต ภิกขุมิใช่ผู้ประกอบพิธีในความรู้สึกของศาสนาเทวนิยม เป็นเพียงผู้บอกทาง(ผู้บอกแสงสว่าง)ในการปฏิบัติธรรมในฐานะกัลยาณมิตร นักปรัชญาและผู้แนะนำฆราวาสในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและสังคม พระภิกษุในพระพุทธศาสนาต้องบวชเป็นสามเณรก่อนที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุในท่ามกลางสงฆ์ การบวชที่สูงกว่าของภิกขุเรียกว่าอุปสัมปทา การอุปสมบทกระทำได้ด้วยหมู่แห่งภิกขุ

5.ที่พึ่งสามประการ
          พุทธศาสนิกชนยึดถือเอาพระพุทธ,พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง บุคคลผู้ถือเอาที่พึ่งในพระรัตนตรัย (ไตรรัตนะ) ไม่เพียงแต่เคารพในพระพุทธเจ้าเท่านั้น ยังรับเอาธรรมะมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันอีกด้วย และยังสนับสนุนภิกษุสงฆ์ ที่พึ่งสามประการตามภาษาบาลีว่า
                    พุทธัง  สรณัง   คัจฉามิ
                    ธัมมัง   สรณัง  คัจฉามิ
                    สังฆัง   สรณัง  คัจฉามิ
คำแปล
          ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
          ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง
          ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง
6. ศีลห้า
          ที่พึ่งสามประการตามปรกติแล้วมักจะตามด้วยศีลห้า (ปัญจศีล) ซึ่ง
เป็นวิถีปฏิบัติในชีวิตของชาวพุทธที่สำคัญ ศีลห้าคืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์,การลักทรัพย์,การประพฤติในกาม,การพูดเท็จและการดื่มของมึนเมา
          ที่พึ่งพร้อมด้วยศีลห้าเป็นสูตรที่ใช้สวดมนต์ในภาษาบาลีโดยชาวพุทธผู้อุทิศตนทุกวันในเวลาเช้าและเย็น เป็นการสวดมนต์ทางศาสนาและเงื่อนไขทางสังคม สูตรที่สมบูรณ์มีดังต่อไปนี้

วันทนา
          นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
          นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
          นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
          ทตุยัมปิ พุทธัม สรณัม คัจฉามิ
          ทตุยัมปิ ธัมมัม สรณัม คัจฉามิ
          ทตุยัมปิ สังฆัม สรณัม คัจฉามิ
          ตติยัมปิ พุทธัม สรณัม คัจฉามิ
          ตติยัมปิ ธัมมัม สรณัม คัจฉามิ
          ตติยัมปิ สังฆัม สรณัม คัจฉามิ
ปัญจศีล
          1. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ
          2. อทินนาทานา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ
          3. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ
          4. มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ
          5. สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ
คำแปล
          ขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ผู้ตรัสรู้โดยชอบ
ที่พึ่งสามประการ
          ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
          ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง
          ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง
          แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
          แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง
          แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง
          แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
          แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง
          แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง

ศีลห้า
          1. ข้าพเจ้าของดเว้นจากการฆ่าสัตว์
          2. ข้าพเจ้าของดเว้นจากการลักทรัพย์
          3. ข้าพเจ้าของดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
          4. ข้าพเจ้าของดเว้นจากการพูดเท็จ
          5. ข้าพเจ้าของดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยที่เป็นเหตุแห่งความมึนเมาและเหตุแห่งความประมาท

 

 

7. สัญลักษณ์และสิ่งเคารพบูชา
          พระพุทธศาสนาผูกพันกับพิธีและพิธีกรรมที่สำคัญ แต่พิธีกรรมไม่มีความจำเป็นในการบรรลุนิพพาน เป็นเพียงความสุขภายนอก ยิ่งกว่านั้นยังเน้นไปที่สิ่งที่เคารพและความกตัญญูต่อพระพุทธเจ้าผู้แสดงหนทางแห่งอิสรภาพ พวกเขาบูชาด้วยดอกไม้ ของหอม เป็นต้น และประทีปและธูปเทียนก่อนที่จะระลึกถึงพระพุทธเจ้าในวิหารหรือในบ้านในวันสำคัญทางศาสนา ดอกไม้ที่สวยงามจะเหี่ยวเฉาในเวลาไม่นานเป็นสัญลักษณ์ระบุถึงสรรพสิ่งไม่ยืนยงถาวร โชคชะตาจะแห้งเหี่ยวสู่สภาวะที่ถูกลืม แสงสว่างจากตะเกียง,เปลวเทียนหมายถึงสิ่งที่ปัดเป่าความมืด (แห่งอวิชชา)

8. วันสำคัญที่ควรถวายสักการะในศาสนา
          ชาวพุทธมีวันสำคัญที่ควรสักการะในศาสนาเดือนหนึ่ง 4 วัน ซึ่งเป็นวันที่ควรปฏิบัติอย่างเข้มงวด วันเหล่านี้คือวันพระจันทร์ข้างแรม(เดือนมืด),วันพระจันทร์ข้างขึ้น(เต็มดวง),และวันครึ่งเดือนอีกสองวัน เรียกว่าวันอุโบสถหรือวันปฏิบัติธรรม ในธัมมิกสูตรยังเสนอวันปฏิบัติในวันแรม 14 ค่ำในวันเดือนดับและวัน 15 ค่ำในวันเดือนเต็มดวงคือวันปฏิบัติธรรม วันอุโบสถ ชาวพุทธผู้อุทิศตนจะรักษาศีลแปดและงดเว้นจากความสุขทางโลก พวกเขาจะไปที่วิหารถวายทานต่อภิกษุ สมาทานศีล ภิกษุจะลงอุโบสถ และสวดปาฏิโมกข์ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญของวันอุโบสถหรือวันโปยะ

9. สถานที่เคารพสักการะ
          ในอินเดียสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าและสถานที่ทางพระพุทธศาสนาหลายแห่งคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่สำคัญ 4 แห่งคือลุมพินี,โพธคยา,สารนาถและกุสินาคาร์(กุสินารา) เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติคือ ที่ประสูติ,ตรัสรู้,แสดงปฐมเทศนาและมหาปรินิพพาน โดยถือเอาสถานที่ที่เป็นที่เคารพอย่างสำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าเองตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า “ สถานที่ 4 แห่งที่ชาวพุทธผู้มีศรัทธาควรจะไปเยี่ยมสักการะมองดูด้วยความเคารพสักการะ สี่แห่งเป็นไฉน คือสถานที่ตถาคตประสูติ,ตรัสรู้ไร้เครื่องผูกพัน ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม, สถานที่หมุนกงล้อแห่งธรรมอันยอดเยี่ยมและสถานที่ดับขันธ์ปรินิพพาน” มีสถานที่เพิ่มเข้ามาอีกสี่แห่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าคือสรัวัสตี,สังกัสยะ,ราชคฤห์และไวศาลี สถานที่ทั้งแปดได้รับการรับพิจารณาว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีการเฉลิมฉลองของชาวพุทธในเรื่องราวในอดีตและศิลปะ

10. ต้นโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์
          ต้นโพธิ์คือต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุอนุตตรสัมโพธิญาณจนกลายเป็นพระพุทธเจ้าโดยประทับนั่งภายใต้ต้นโพธิ์ที่โพธคยา  ต้นไม้นี้จึงเรียกว่าต้นโพธิ์หรือต้นไม้แห่งการตรัสรู้ ได้รับความเคารพและปลูกในพิธีฉลองในโอกาสพุทธชยันตี เพราะความน่าเคารพสักการะและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หน่อต้นโพธิ์มีอยู่เกือบทั่วไปภายในบริเวณวิหาร ใบโพธิ์ยังใช้ในพิธีทางสังคมและศาสนาอีกด้วย

11. ธรรมทาน
          ทานหมายถึงการบริจาค,ความมีใจโอบอ้อมและการสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายถึงความเป็นคนใจบุญและสละเพื่อเกื้อหนุนภิกขุ ชาวพุทธทุกคนเชื่อว่าการสละบางสิ่งออกไปด้วยความซื่อสัตย์จะเป็นการเพิ่มพูนต่อการประกาศและรักษาพุทธธรรมไว้ จึงเรียกว่าธรรมทาน การให้สัจจะ เหนือกว่าการให้ทุกอย่าง ทานมีสามชนิดคือ ธรรมทาน,อภัยทานและวัตถุทาน การประกาศและแสดงธรรมเรียกว่า “ธรรมทาน”  การให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่คุ้มครองตัวเองไม่ได้เพื่อช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความโศกเศร้าคืออภัยทาน การให้สิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเช่นอาหาร,เสื้อผ้า,ยารักษาโรคและหนังสือตำราเป็นต้น เรียกว่าอภิขาหรือวัตถุทาน ทานที่ให้เฉพาะบุคคลเรียกว่าปุคคลิกทาน การถวายอาหารบิณฑบาตและวัตถุอย่างอื่นต่อภิกษุอย่างน้อย 5 รูปเรียกว่า “สังฆทาน” (ตามประเพณี อย่างน้อยต้อง 10 รูปสำหรับสงฆ์ที่อยู่ในเมืองและ 5 รูปสำหรับสงฆ์ในชนบท) ในท่ามกลางเรื่องพิเศษของการให้ทานต่อภิกขุ ระบุไว้ว่าบางทีอาจจะถวายวัตถุแปดประการคือจีวร,บาตร,มีดโกน,เข็ม,สายประคตเอว,ฟูกหมอน,อาหารและยารักษาโรค

 

12. พุทธศักราช
          พุทธศักราชเป็นการระลึกถึงวันมหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  ปีใหม่ของชาวพุทธคือวันแรกของเดือนวิสาขะ เป็นวันเริ่มต้นศักราชพุทธศาสนา ตามปฏิทินจึงเริ่มต้นโดยชาวพุทธในยุคแรก  และใช้เวลาคำนวณเป็นวัน เดือน ปีตามวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ศักราชนี้ใช้ในอินเดีย,พม่าและอีกหลายประเทศ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ พระพุทธเจ้าปรินิพพาน 544 ปีก่อนคริสตศักราช ดังนั้นปีพุทธศักราช 2500 จึงเป็นปีคริสตศักราช 1956 ในปีนั้น ได้มีงานฉลองพุทธชยันตีในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลกด้วยความกระตือรือร้น,ความคลั่งไคล้ในศาสนาและความสุขที่ยิ่งใหญ่

13. ธงของชาวพุทธ
          ธงสำหรับชาวพุทธมี 5 สีหมายถึงรัศมีของพระพุทธเจ้าคือสีน้ำเงินเข้ม, สีเหลืองทอง,สีแดงเข้ม,สีขาวและสีส้มแกมม่วง เป็นผืนยาวๆ 6 แผ่นใช้แทนสีทั้งห้าข้างบนเพื่อเป็นเส้นตรงทั้ง 5 เส้นๆแรกและตำแหน่งทั้งห้าในผืนต่อมา ผืนสีน้ำเงินอยู่ใกล้เสาและอยู่ตรงข้ามประกอบกันขึ้นเป็นขอบ
          เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่โพธคยา รัศมีทั้งห้าสีเปล่งประกายออกจากพระวรกายของพระองค์ สีน้ำเงินเข้มออกจากเกศา,สีเหลืองทองออกจากผิวหนัง,สีแดงออกจากเนื้อและเลือด,สีขาวออกจากฟันและกระดูก,สีส้มออกจากชัยชนะ,เส้นเท้าและริมฝีปาก รังสีทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน สีที่หกประกอบกันขึ้นเป็นอีกสี รังสีทั้งหกเหล่านี้เปล่งประกายแวดล้อมพระวรกายของพระพุทธเจ้า สีทั้งห้าคือน้ำเงิน,เหลือง,แดง,ขาวและส้มประกอบเข้าด้วยกันใช้แทนคุณลักษณะอันสูงส่งของกายสีน้ำเงินของพระพุทธเจ้าด้วยความเชื่อมั่น,สีเหลืองสำหรับความศักดิ์สิทธิ์,สีแดงคือปัญญา,สีขาวคือความบริสุทธิ์และสีส้มหมายถึงการหมดสิ้นความอยาก ดังนั้น ธงของชาวพุทธจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงรังสีแห่งจิตวิญญาณของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
          ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังเป็นเครื่องระลึกถึงสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในสมัยใหม่ด้วย ธงนี้ชักขึ้นครั้งแรกในวันที่ 28 เมษายน 2428 ในวันพุทธปุรนิมา ที่โกตเหนะในศรีลังกา โดยภิกษุผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือพระเอ็ม.คุณานันทะ ถึงแม้ธงนี้จะเกิดขึ้นในศรีลังกา แต่ก็เป็นที่นิยมใช้ตามปรกติโดยมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดียตั้งแต่ยุคเริ่มต้น การประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งครั้งแรกที่เมืองแคนดี้ ศรีลังการใปีพุทธศักราช  2493 ก็ได้ยอมรับธงสำหรับพุทธศาสนาแห่งโลกนี้ ดังนั้น ธงหกสีจึงเป็นสัญลักษณ์ แห่งศรัทธาในจักรวาล

14. คำทักทาย,อวยพร
          ชาวพุทธเมื่อพบปะกันจะทักทายด้วยการจับมือหรือเช็คแฮนด์และกล่าวว่า “นโม พุทธายะ” หรือรูปแบบในการทักทายตามปรกติที่ใช้กันโดยทั่วไปในประเทศที่พักอาศัย อุบาสกจะทักทายพระภิกษุที่เคารพได้ด้วย 2 วิธีคืออัญชลีและปัญจางค์(เบญจางค์) ทักทายพระภิกษุด้วยการแตะที่มือแล้วยกขึ้นสัมผัสที่หน้าผาก แล้วยกมือโน้มตัวไปข้างหน้าเรียกว่าอัญชลี การทักทายด้วยการคุกเข่าและสองมือประนมที่หน้าผากและวางมือในลักษณะของปัญจางค์
          ชาวพุทธฆราวาสกล่าวทักทายภิกษุที่เคารพว่า “ภันเต” ในเขตหิมาลัย โดยมากเป็นชาวพุทธในฝ่ายมหายาน ภิกษุนิยมเรียกว่าลามะ และก็ทักทายด้วยคำว่า “ภันเต” ด้วย

 

15. งานเทศกาล
         ในทุกวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงเป็นวันที่ถือเป็นศุภมงคลฤกษ์ของชาวพุทธ จะปฏิบัติในวันเช่นนี้ด้วยความเกี่ยวเนื่องกับโอกาสที่สำคัญโดยการไปที่วิหาร ฟังธรรมเทศนาและถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ ในวันเทศกาล ชาวพุทธที่เป็นฆราวาสทั้งหญิงและชายจะมารวมกันที่วิหารสมาทานศีลจากพระภิกษุ  บูชาพระพุทธเจ้าด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ในระหว่างเทศกาลของชาวพุทธจะมีการจุดประทีปโคมไฟตามแต่โอกาส
งานเทศกาลที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้ามีดังนี้ 
          1. พุทธชยันตี:  งานเทศกาลที่สำคัญมากที่สุดสำหรับชาวพุทธคือวันวิสาขะ ปุรนิมา ชาวอินเดียรู้จักว่าพุทธะ ปุรนิมาหรือพุทธชยันตี งานนี้กำหนดขึ้นในวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนวิสาขะอยู่ประมาณเดือนมีนาคม  วันนี้เป็นวันคล้ายวันครบรอบวันประสูติของพระพุทธเจ้า(ที่ลุมพีนี)ตรัสรู้(ที่โพธคยา)และดับขันธปรินิพพาน(ที่กุสินารา) ในวันนี้ ในเหตุการณ์ทั้งสามนั้น  การตรัสรู้เป็นเครื่องหมายที่สำคัญที่สุดในฐานะของ “การเกิด” และ “การปรินิพพาน” เป็นเหตุการณ์ที่ธรรมดาสามัญสำหรับมนุษย์ทั่วไป แต่การตรัสรู้เป็นการรู้อันสูงสุด  เกือบจะเกิดขึ้นครั้งเดียวในล้านปี ไม่ต้องสงสัย นักจาริกแสวงบุญหลายพันคนจากอินเดียและต่างประเทศจะมาชุมนุมกันที่โพธคยาในวันวิสาขะปุรนิมา หรือวันพุทธเจ้าเพื่อสักการะบูชาวัชรอาสน์  ที่ประทับนั่งตรัสรู้ ส่วนพระองค์ ในโอกาสที่เป็นศุภมงคลสมัยนี้ พุทธศาสนิกชนจะมีความยินดีที่ได้บริจาคอาหารแก่คนยากจน ช่วยเหลือคนป่วย และปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อปลูกฝังความเมตตาและความรักเพื่อพิจารณาคุณธรรมที่สูงขึ้นไป พุทธศาสนิกชนยังพบปะทักทายด้วยมิตรภาพในวันวิสาขะ ปุรนิมา
          2. อาสาทิ ปุรนิมา:   ในวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนอาสาทะ ในเดือนกรกฎาคม รู้จักกันว่าวันธัมมจักร ปรวารตนะ ในวันอันเป็นศุภมงคลนี้เป็นวันที่พระเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกที่สวนกวางที่อิสิปตนะ ปัจจุบันคือสารนาถ ธรรมเทศนานี้เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรหรือการหมุนกงล้อแห่งธรรม เป็นการเกิดพุทธศาสนาขึ้นครั้งแรก และเป็นการสถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นครั้งแรกด้วย พฤติกรรมของการเผยแผ่ของพระพุทธองค์เริ่มต้นขึ้นในวันนี้ พิธีเฉลิมฉลองที่สารนาถในโอกาสนี้เป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุดตามธรรมชาติ
          3. สรวนา ปุรนิมา: วันเพ็ญเดือนสรวนา เดือนสิงหาคม เป็นโอกาสที่ระลึกถึงการประชุมคณะสงฆ์ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นภายหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าไม่นาน การประชุมนี้จัดขึ้นที่สปัตปารนีคูหา เมืองราชคฤห์(ราชคิร) มีพระมหากัสปะเป็นประธาน และได้รวบรวมพุทธธรรม ซึ่งพระอุบาลีและพระอานนท์เป็นผู้สาธยายที่สำคัญ
          4. มธุ ปุรนิมา: วันเพ็ญเดือนเดือนภัทร์ ตามปรกติอยู่ในเดือนกันยายน เรียกว่ามธุ ปุรนิมา  ตามคัมภีร์ระบุว่ากาลครั้งหนึ่งหมู่ภิกษุได้ก่อการทะเลาะวิวาทและแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่าย พระพุทธเจ้าและสาวกอาวุโสพยายามไกล่เกลี่ยให้เกิดความสงบ พระพุทธองค์จึงตัดสินใจสอนบทเรียนแก่พวกภิกษุ พระองค์ผู้เดียวเสด็จออกจากวัดเข้าสู่ป่า ในที่นั่นพระองค์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยหมู่สัตว์ สัตว์ร้ายในป่าคือช้าง ลิงและนกแก้ว ได้นำอาหารมาถวายพระองค์ทำให้พระพุทธองค์อยู่อย่างสงบซึ่งหมู่มนุษย์ปฏิเสธพระองค์ มธุ น้ำผึ้งเป็นอาหารขั้นดีที่หมู่สัตว์จัดเตรียมมาถวายพระพุทธเจ้า  มธุ ปุรนิมาเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์นี้และแม้ในปัจจุบันจึงเป็นธรรมเนียมเพื่อการถวายน้ำผึ้งในวันเช่นนี้ต่อพระภิกษุสงฆ์
          5. ปวารณา ปุรนิมา:  วันเพ็ญเดือนอัสวินา ตรงกับเดือนตุลาคม อ้างถึงวันปวารณา ปุรนิมาของชาวพุทธ เป็นการระบุถึงวันสิ้นสุดวัสสาวาโส วันเข้าพรรษาของชาวพุทธ คำว่า “ปวารณา” หมายถึง “พอใจในความปรารถนา” “เต็มเปี่ยมด้วยความต้องการ” หรือ “วันแห่งความสำเร็จของการศึกษาและปฏิบัติสมาธิ” ในช่วงระหว่างฤดูฝน (ช่วงเข้าพรรษา) ซึ่งเริ่มต้นในวันเพ็ญเดือนอาสาทหะ ภิกษุอาศัยอยู่ด้วยความสันโดษ งดเว้นจากการพักแรมในวัดอื่น ใช้เวลาทั้งหมดในช่วงนี้เพื่อพัฒนาตนเองและปฏิบัติสมาธิ,การศึกษา, การฝึกฝนทางจิตและการพัฒนาปัญญา ในวันเพ็ญสุดท้ายของวัสสา(พรรษา) ชาวพุทธฆราวาสก็จะถือเอาเทศกาลแห่งเกียรติยศของภิกษุที่อยู่จำพรรษาในวัด  พวกเขาพากันถวายอาหารและจีวร  พิธีนี้รู้จักกันว่ากฐิน สำหรับภิกษุปวารณามีความขึ้งโกรธในวันนี้จะได้สารภาพผิดในบาปที่ได้กระทำโดยการแก้ไข
          กฐิน หรือ “กฐินจีวรทาน” เป็นพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติในช่วงเวลาระหว่างอัสวินา ปุรนิมา และการติกะ ปุรนิมา ในอดีตกาลจีวรทำด้วยผ้าฝ้าย  จึงเรียกว่ากฐิน ตามประเพณีผ้าจีวรสนับสนุนให้ทำจากวัสดุที่ยังสด(ดิบ) ,ย้อมและเย็บในวันเดียวกัน และในหลายพื้นที่ประเพณีนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่ เทศกาลปวารณา-กฐินมีความสวยงามมากและเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมประเพณี วิหารประดับตกแต่งในลักษณะที่โอ่โถงงดงามด้วยตะเกียง,ดอกไม้,บัลลูนและพวงมาลัยหลายหลากสี บางครั้งก็จัดขึ้นที่ “ต้นโพธิ์”ด้วย ตามตำนาน “กัลปรุกกะ” คือต้นไม้จากสวรรค์ซึ่งให้ทุกสิ่งตามที่ตนปรารถนา ต้นกัลปะหรือต้นไม้แห่งความโชคดีประดับตกแต่งด้วยสิ่งที่น่ายินดีทุกประการ
          6.มาฆ ปุรนิมา:  วันเพ็ญเดือนมาฆะ(มกราคม-กุมภาพันธ์) ระบุว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศในชปาละเจดีย์ที่ไวศาลีที่สุดสามเดือนที่พระองค์จะเสด็จปรินิรวาน คำประกาศของพระพุทธเจ้านี้ยืนยันต่อบรรดาสาวกว่าชีวิตทั้งมวลเป็นอนิจจตา สรรพสิ่งทั้งมวลต้องเสื่อมสลายไปตามเงื่อนไขคืออนิจจา,ทุกขาอนัตตา ในเรื่องของความทุกข์และการหลีกเลี่ยงจากความจริง พระพุทธเจ้าตรัสว่าจากนี้ไปอีกสามเดือนพระองค์จะดับขันธ์ปรินิพพานหลังจากที่ได้เผยแผ่คำสอนและพระองค์ได้เสนอคำสอน(พระธรรมะ)ของพระองค์สู่มหาชน ดังนั้นวันมาฆปุรนิมาจึงเป็นฉลองด้วยวิญญาณของการปฏิบัติและการประกาศธรรม
          7. วันเพ็ญอื่นๆ: ความสำคัญของวันเพ็ญทั้งหกคือวิสาขะ,อาสาทหะ,สรวนา,ภัทร์,อัสวินาและมาฆะได้อธิบายไว้เรียบร้อยแล้ว ยังคงมีวันอื่นๆอีกคือไชสถะ ปุรนิมาที่เกี่ยวข้องกับมหินทะ ราชโอรสของของพระเจ้าอโศก ในวันนี้พระองค์ได้เดินทางมาถึงศรีลังกาและได้พบกับพระเจ้าเทวนัมปิยะกษัตริย์แห่งเกาะนั้นที่มหินตเล ประมาณ 8 ไมล์ไปทางทิศตะวันออกของอนุราธปุระ การติกะ ปุรนิมา เกี่ยวข้องกับสาวกสำคัญของพระพุทธเจ้าคือโมคคัลลานะ ท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนการติกา ฟัลกุนา ปุรนิมาเกี่ยวข้องกับวันที่พระพุทธเจ้าเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกหลังจากที่ตรัสรู้ ในโอกาสนี้ ราหุลได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลขอขุมทรัพย์มรดกโดยคำแนะนำของพระราชมารดาคือยโสธรา พระพุทธเจ้าจึงให้ราหุลบรรพชาเป็นสามเณร

 

 

 

งานเทศกาลอื่นๆ

          1. เอ็มเบ็ดการ์ ชยันตี: ตรงกับวันที่ 14 เมษายน 2434 ตรงกับวันเกิดของดร. บี.อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นพระโพธิสัตว์สมัยใหม่ ท่านเป็นผู้บุกเบิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ดังนั้น ชาวพุทธในอินเดียจึงจัดงานฉลองวันเกิดของท่านเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ผู้ปลดเปลื้องและปลดปล่อย
          2. ธัมมวิจัย: วันวิจัย ทสมี ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 2  พระเจ้าอโศกมหาราชได้รับเอาพระพุทธศาสนาและประกาศว่าตั้งแต่นี้ต่อไปพระองค์จะเอาชนะประชาชนด้วยความรักและเมตตา แทนที่จะใช้กำลัง ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า “ธัมมวิจัย” ในวันอันเป็นศุภมงคลฤกษ์นี้ได้เลือกเอาวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2499 โดยดร. บาบาสาเหบ เอ็มเบ็ดการ์ได้รับเอาพระพุทธศาสนาและนำหมู่มหาชนให้ยึดเอาพุทธธรรมเป็นที่พึ่ง ดังนั้นวิจัย ทสมี จึงเป็นงานฉลองในเทศกาลธรรมสองครั้ง ดีกสะ ภูมี สถานที่ที่ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ได้เกิดปะทะกับชนท้องถิ่นเพื่อยึดเอาพุทธศาสนาเป็นวิถีในการดำเนินชีวิต จึงได้กลายเป็นสถานที่สำหรับชาวพุทธในอินเดีย ในเดือนตุลาคมของทุกปี วันวิจัย ทสมี ถนนทุกสายจะมุ่งสู่นาคปูร์ ประชาชนหลายแสนคนจากทุกส่วนของอินเดียจะมาชุมนุมกันที่ทีกสะ ภูมีเพื่อสวดมนต์และเฉลิมฉลองเทศกาลธัมมวิจัย

 

16. พิธีการทางสังคม
          มนุษย์คือสัตว์สังคม มีการเสพความสนุกหรือระบายความโศกเศร้า จึงสร้างพิธีการ,พิธีกรรมและพิธีทางศาสนาขึ้น โดยการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกัน ในส่วนของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ศาสนาที่อยู่เหนือธรรมชาติและศรัทธาที่มืดบอดเพราะเป็นศาสนาแห่งปัญญา,เหตุผลและความรู้สึกตามธรรมชาติ  ความเรียบง่ายเป็นหลักสำคัญในคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นชาวพุทธจึงเข้าร่วมในพิธีที่เป็นองค์ประกอบทางสังคมของพวกเขาในวิธีที่เรียบง่ายและสง่างามในวันที่เหมาะสมสะดวกสบายในการเข้าร่วมงาน

 

พิธีการทางสังคมที่สำคัญ 2 ประการที่เกี่ยวเนื่องกับวันเกิดและวันแต่งงาน
          1. พิธีตั้งชื่อ:  หลังจากที่เด็กเกิด พิธีนี้ถือเป็นพิธีการแรกที่ถือปฏิบัติ จัดขึ้นในวันที่ 5 หลังจากที่เด็กเกิดหรือวันอื่นๆภายหลังจากนั้น ในปัจจุบันกระทำโดยภิกขุหรืออุบาสก(ฆราวาส)ที่ได้รับความเคารพ วัตถุประสงค์ของพิธีนี้คือเพื่อให้การคุ้มครองเด็กเกิดใหม่ตั้งชื่อตามความรู้สึกและคิดว่าสำคัญ วัตถุประสงค์อย่างอื่นคือเพื่อให้พรทารกแรกเกิดและสวดมนต์เพื่อให้มีชีวิตที่ยืนยาวและดูแลรักษาพุทธธรรม
          2. พิธีแต่งงาน:  การแต่งงานคือพื้นฐานของชีวิตครองเรือน ถ้าไม่มีครอบครัวก็จะไม่สามารถดำรงรักษาเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมไว้ได้ ดังนั้น พิธีแต่งงานจึงเป็นพิธีที่สำคัญในทุกสังคม ในบางด้านของการแต่งงานในพุทธศาสนามีคำอธิบายดังต่อไปนี้
          2.1. รูปแบบของการแต่งงาน โดยทั่วไป ในระหว่างชาวพุทธพ่อแม่จะเป็นผู้จัดเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแต่งงานตามรูปแบบของพราหมณ์  เจ้าสาวจะให้การบริจาคกัลยาทานโดยพ่อแม่จะเลือกเจ้าบ่าว เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมของการแต่งงานมากที่สุด
          2.2. คุณลักษณะของการจัดงาน  ชาวพุทธไม่มีการกีดกันทางวรรณะ ดังนั้นคุณลักษณะและสิ่งที่มิใช่คุณสมบัติจึงระบุอยู่ที่เจ้าสาวและเจ้าบ่าวก่อนการแต่งงานจึงระบุไว้ดังต่อไปนี้
                    1. คุณสมบัติ
                    2. การศึกษา
                    3. ไม่มีโรคติดต่อ
                     4. อายุและลักษณะทางกายภาพ
                    5. หน้าที่การงานของเจ้าบ่าว
                    6. วงศ์สกุล
                    7. ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับเจ้าสาว
          2.3. คำสาบานในการแต่งงาน ในพระพุทธศาสนา ไม่มีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง สามีและภรรยามีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครพิเศษเหนือกว่าใคร แต่ละคนปฏิบัติตามหน้าที่ของแต่ละบุคคล  ผู้หญิงคือคฤห์-ลักษมี “ทรัพย์สมบัติและเกียรติยศหรือบ้าน” มีความหมายพิเศษคือเป็นแม่บ้าน ส่วนผู้ชายเป็นคฤหปติ “ผู้นำครอบครัว” คือการสนับสนุนจัดหาเงินทองสิ่งที่จำเป็นเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น  ส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีแต่งงานสำหรับชาวพุทธคือการให้คำสาบานหรือการยอมรับคำสอนโดยคนทั้งสองซึ่งมีคำอธิบายไว้โดยพระพุทธเจ้าเอง คำสอนเหล่านี้ได้กำหนดหน้าที่สามีและภรรยาไว้ดังนี้
หน้าที่ของสามีที่มีต่อภรรยา
                    1. เลี้ยงดูภรรยาด้วยความยกย่อง
                    2. เลี้ยงดูภรรยาด้วยความเมตตา
                    3. เชื่อมั่นในภรรยา
                    4. ดูแลภรรยาด้วยการให้สิ่งของที่เพียงพอ
                     5. จัดหาเครื่องประดับและเสื้อผ้าตามสมควร
หน้าที่ของภรรยาที่มีต่อสามี
                    1. จัดการสิ่งของที่สามีหามาได้ด้วยความถูกต้องสมบูรณ์
                      2. เลี้ยงดูญาติพี่น้องให้มีความสุข
                    3. เป็นภรรยาที่มีศรัทธา
                    4. ประหยัดรักษาทรัพย์
                    5. แสดงทักษะและความวิริยอุตสาหะเพื่อปลดเปลื้องภาระตามหน้าที่
2.4. พิธีแต่งงาน ผู้ประกอบพิธีจะไม่แสดงบทบาทที่สำคัญในพิธีแต่งงานของชาวพุทธ  ภิกขุก็ไม่สามารถจะประกอบพิธีแต่งงานได้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติพระภิกษุมักจะได้รับนิมนต์เสมอเมื่อถึงเวลาแต่งงานและจะอวยพรให้กับคู่หนุ่มสาว และจะสวดพระสูตรตามที่จัดไว้เท่านั้น พิธีแต่งงานที่เป็นอยู่จริงได้ปฏิบัติโดยฆราวาสผู้ที่มีความสามารถพอเพียงที่ได้รับเลือกจากที่ประชุม

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
แปลจาก D.C. Ahir, Buddhism in Modern India, Sri Satguru Publications,Delhi,1991. (บทที่ 7)
11/06/55

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก