ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          ดร.โสภณ ขำทัพ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ส่งบทความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักแห่งไตรสิกขามาให้อ่านนานมาแล้ว แต่ติดขัดที่แผภูมิที่ให้มานั้นนำเสนอไม่ได้ จึงไม่ได้นำเผยแผ่ เกรงว่าบทความจะไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อพบหน้ากันอีกครั้งเขาบอกว่านำเสนอได้สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้แม้จะไม่มีแผนภูมิก็ตาม ลองอ่านดูแม้จะอ่านแล้วเข้าใจยาก แต่หากอ่านโดยพิเคราะห์จะทำให้เข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักไตรสิกขาได้ ตามมุมมองของผู้เรียบเรียงบอกว่าเศรษฐกิจและธรรมไปด้วยกันได้ ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย

 

         โดยความหมายของคำว่า “พัฒนา” แปลว่า เจริญหรือทำให้เจริญ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  คำศัพท์ในภาษาบาลีเดิมทางพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้ใช้คำว่า “พัฒนา”  แต่ปัจจุบันนี้ใช้กันมาก  โดยมีคำว่า “ภาวนา” แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า เจริญ เช่น สามารถภาวนา แปลว่า เจริญสมถะ  ดังนั้นคำว่า“พัฒนา” ในภาษาไทยปัจจุบันมีความหมายตรงกับคำภาษาบาลีว่า “ภาวนา” การจะพัฒนาตนของบุคคลตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จะต้องตั้งอยู่บนหลักภาวนา ๓  คือ กายภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา  ซึ่งถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลได้พัฒนาอย่างมีบูรณาการและพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ ดังนี้                                
          ๑.ศีลเป็นเรื่องของการฝึกในด้านพฤติกรรม โดยเฉพาะกับพฤติกรรมที่เคยชิน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการฝึกศีล คือ วินัย  อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องเข้าใจในกระบวนการศึกษาและพัฒนาตน เพราะวินัยเป็นตัวการจัดเตรียมชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนา โดยจัดระเบียบการเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคมให้เหมาะกับการพัฒนาและเอื้อโอกาสที่จะพัฒนา และเมื่อฝึกได้ผลจนผู้ฝึกมีพฤติกรรมที่ดีตามวินัยนั้นแล้วจะเกิดเป็นศีล  จึงกล่าวได้ว่าวินัยจะจัดสภาพแวดล้อมที่ป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดี และเอื้อต่อการมีพฤติกรรมที่ดีให้เกิดขึ้น              
          ๒.สมาธิเป็นเรื่องของการฝึกในด้านจิตหรือระดับจิตใจได้แก่การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจิตทั้งในด้านคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคง ความพากเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ ความมีสติสมาธิ และในด้านความสุข เช่น ความอิ่มใจสดชื่น ความร่าเริงเบิกบานใจ ความรู้สึกพอใจ หรืออาจเรียกได้ว่าเมื่อเข้าถึงระดับจิตใจที่มีสันโดษธรรมเป็นที่ตั้งแล้ว ย่อมเป็นการพัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพและสุขภาพจิต
          ๓.ปัญญาเป็นเรื่องของการฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อ ความเห็น  ความรู้ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล การรู้จักวินิจฉัย ไตร่ตรอง และคิดการต่างๆ อย่างสร้างสรรค์  เฉพาะอย่างยิ่งเน้นการรู้ตรงตามความเป็นจริง  ตลอดจนรู้แจ้งความจริงที่เป็นสากลของสิ่งทั้งปวง จนถึงขั้นรู้เท่าทันธรรมดาของโลก  และชีวิตที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดปัญหา ไร้ทุกข์ และเข้าถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์                                                                                              
          สำหรับบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขานั้นย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ ๓ ประการ คือ
          ๑.ทำให้บุคคลเป็นคนดีของสังคม เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย และอยู่ในกรอบวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของสังคม  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้บุคคลงดเว้นกายทุจริต วจีทุจริต และประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริต อันเป็นไปตามหลักของศีล เรียกว่า กายภาวนา เป็นวิธีการพัฒนาบุคคลด้านพฤติกรรมที่แสดงออกมาทางกายและวาจา  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมเฉพาะพฤติกรรมในด้านดี
          ๒.ทำให้บุคคลมีจิตใจและอารมณ์มั่นคง เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงสอนให้บุคคลงดเว้นจากความโลภ ความพยาบาท แล้วให้ประพฤติในมโนสุจริต ไม่โลภ ไม่พยาบาท มีจิตใจเสียสละและยินดีให้อภัย  เป็นการพัฒนาจิตใจตามหลักของสมาธิที่เรียกว่า จิตภาวนา
๓. ทำให้บุคคลรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง อันเป็นสัมมาทิฏฐิ  เป็นการพัฒนาบุคคล ตามหลักของปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา การปฏิบัติข้อนี้เป็นการพัฒนาบุคคลให้เข้าใจชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง จนถึงสัมมาญาณและบรรลุสัมมาวิมุตติ  คือหลุดพ้นจากกิเลสได้โดยสิ้นเชิง (บรรลุนิพพาน)
              ในการพัฒนาจิตของบุคคลตามแนวทางของพระพุทธศาสนานี้สามารถใช้วิธีการปฏิบัติตนตามหลักไตรสิกขาและมรรคมีองค์ ๘ ได้เป็นอย่างดี  เพราะหากบุคคลใดปราศจากไตรสิกขาและอริยมรรคแล้ว จิตใจของบุคคลนั้นก็ไม่อาจจะพัฒนาหรือยกระดับให้สูงขึ้นได้  หลักไตรสิกขาและอริยมรรคนี้จึงถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาจิตใจของบุคคลตามแนวทางในพระพุทธศาสนา ซึ่งสามารถแสดงเป็นแผนภูมิให้เข้าใจได้ง่าย และสะดวกในการพิจารณาได้ดังนี้
          ๑. อธิศีลสิกขา                                 ๒.  อธิจิตตสิกขา                              ๓.  อธิปัญญาสิกขา
                สัมมาวาจา                                      สัมมาวายามะ                                    สัมมาทิฎฐิ
                สัมมากัมมันตะ                                 สัมมาสติ                                           สัมมาสังกัปปะ
                สัมมาอาชีวะ                                     สัมมาสมาธิ
    

          อย่างไรก็ตามการที่จะปลูกฝังให้คนในสังคมเข้าถึงปัญญา หรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้นั้น จำต้องมีกระบวนการของการเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการสั่งสมภูมิปัญญาเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และใช้เป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติโดยอาศัยหลักคุณธรรม ๔ ประการ ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีพระราชดำรัสในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางปัญญาได้ด้วยคุณธรรม ๔ ประการ ประกอบด้วย
          ๑.  การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
          ๒.  การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น
          ๓.  การอดทนอดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด
          ๔.  การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต  และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
          จะเห็นได้ว่าพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการนี้  เริ่มต้นประการแรกด้วยการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม  สิ่งที่เป็น “ประโยชน์” และเป็น “ธรรม”  ก็คือสิ่งที่เป็นความพอเพียง พอเหมาะ ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป เราควรวิเคราะห์ว่า เราควรเลือกปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมในเรื่องไหนก่อน ถึงจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ปัญหาของเรา ภายใต้องค์ประกอบของ“ความรู้” และ“คุณธรรม”  อันเป็นสิ่งเดียวกับ “ทางสายกลางตามวิถีทางแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
          โดยเฉพาะในเรื่องของการรับรู้ ความเข้าใจ และการนำไปใช้เพื่อพัฒนาตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธนั้น จะเห็นได้ว่าการรับรู้เป็นการแสวงหาความรู้ที่เป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์และเป็นความจริงที่เป็นไปเพื่อความอยู่รอด  ฉะนั้นการรับรู้จึงเป็นไปเพื่อการค้นหาความจริงนั่นเอง  เพราะเหตุมาจากตัวมนุษย์ได้กำหนดความต้องการ วางแผน ดำเนินกิจกรรมตามความต้องการ และเกิดผลสำเร็จตามความต้องการนั้น  และทำให้เกิดวัฏจักรของความต้องการสิ่งใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ในขณะเดียวกันที่จิตมีการรับรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง  ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีตามธรรมชาติ  อันเป็นส่วนสำคัญของการทำให้เกิดปํญญา ที่ทำให้มนุษย์มีการนำไปใช้เพื่อดำเนินชีวิตและพัฒนาในทุกๆ ด้าน  จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าการรับรู้เป็นการบันทึกและเก็บรวบรวมข้อมูล  ความเข้าใจเป็นกระบวนการสะสมความรู้ให้เท่าทันสถาวะธรรมชาติ  และการนำไปใช้เป็นกระบวนการทางปัญญาซึ่งเกิดมาจากการคิด โดยใช้เหตุผลตามสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ โดยอาศัยการรับรู้และความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ  ฉะนั้นปัญญาจึงเป็นผลมาจากการรับรู้และความเข้าใจ  ทั้งยังเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการคิดต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

          วิธีการแห่งปัญญานี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญญา โดยมีศรัทธาหรือความเชื่อซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่ในสิ่งนั้น  ดังนั้นศรัทธาจึงเป็นวิธีการของปัญญาที่มีอยู่ในตัวเอง  เพื่อที่มนุษย์จะได้อาศัยพลังความเชื่อนั้นเป็นหนทางในการเพิ่มพูนปัญญา ทำให้เกิดการคิดมากขึ้น  ซึ่งเมื่อจิตมีกระบวนการคิดย่อยๆ มากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความคล่องแคล่วและมีพัฒนาการมากขึ้น  ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ที่ทำให้เกิดความคิดที่เป็นระบบ มีระเบียบ เหตุผล วิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้องตามสัมมาปฏิบัติ  ทำให้มีสติและสัมปชัญญะที่สามารถควบคุมตนเองได้ตลอด เวลา  จึงกล่าวได้ว่าเป็นความพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธ โดยมีรากฐานสำคัญที่รองรับให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนทางปัญญานี้คือ หลักไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา 

         เนื่องเพราะพระพุทธศาสนายึดหลักไตรสิกขาเป็นหลักการที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ และไม่ตกอยู่ในความประมาท แต่มนุษย์จะทำอย่างไรในเมื่อยังไม่มีความรู้  อะไรที่จะเป็นตัวนำพาพฤติกรรม  ในทางพระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์มีตา หู ลิ้น กาย ที่เรียกว่า  อายตนะหรืออินทรีย์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวนำทางชีวิตมนุษย์  อายตนะเหล่านี้เป็นทางรับรู้ของประสบการณ์  หรือเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลของวิถีชีวิตและความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะบุคคลที่มองประโยชน์ของอายตนะหรืออินทรีย์ แต่ในแง่ของความรู้สึก  ย่อมจะใช้ในการเสพรส  เป็นเครื่องมือหาเสพสิ่งต่างๆ  หรือสนองตัณหาของตนอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นการให้ตัณหามาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของตน  และถ้ามนุษย์มีการรับรู้พร้อมกับรู้ว่าต้องการอะไร ระดับไหน สิ่งใดเป็นคุณค่าต่อชีวิตของตนแล้ว  และทำตามความรู้ที่เกิดขึ้นนั้น  นั่นหมายถึงการที่บุคคลใช้ความรู้มาเป็นตัวนำพฤติกรรม  เช่น การบริโภคอาหารไม่ใช่เอาแต่ความอร่อยของรสชาดที่เป็นสุขเวทนา  แต่ต้องบริโภคอาหารด้วยความรู้ในคุณค่าของอาหารนั้น  ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้ามาสู่การพัฒนามนุษย์  เพราะเมื่อมีปัญญาทำให้รู้ถึงคุณค่าที่แท้จริง  ที่ต้องการ  และจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว  ก็จะเกิดคุณสมบัติใหม่ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคู่กับปัญญา เป็นความอยากที่อาศัยความรู้ คือปัญญาเป็นฐาน  และเป็นกุศลอันเกื้อกูลต่อชีวิต เรียกว่า “ฉันทะ” คือความพอใจ นั่นเอง
          สรุปได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขานั้นเป็นบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก  เป็นการพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดีตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตามแผนภูมิการปฏิบัติตนที่แสดงออกทางกายเป็นความเข้าใจ โดยมีศีลกับอริยมรรค อันได้แก่ สัมมา วาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นวิธีการพัฒนาที่สมดุล  การปฏิบัติตนที่แสดงออกทางใจเป็นความเข้าถึง โดยมีสมาธิกับอริยมรรค อันได้แก่ สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ  เป็นวิธีการกำกับที่ยั่งยืน  และการปฏิบัติตนที่แสดงออกทางปัญญาเป็นการพัฒนา โดยมีปัญญากับอริยมรรค อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ เป็นวิธีการสนับสนุนที่มั่นคง  ซึ่งเป็นองค์ประกอบของหลักธรรมที่มุ่งในการพัฒนาส่วนย่อยของสังคมเข้าหาส่วนรวมบนทางสายกลาง  เพื่อความสมดุล ยั่งยืน และมั่นคง พร้อมทั้งอรรถประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับมวลมนุษย์ด้วยสัมมาชีพเพื่อการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ  อันเป็นจิตที่ประกอบด้วยหลัก มัตตัญญตา คือ รู้จักประมาณ รู้จักพอใจ และรู้จักพอดี  ฉะนั้นเมื่อมีความพอและทำได้เช่นนี้แล้ว  การครองเรือนครองสุขย่อมจะบังเกิดขึ้น   เพราะจิตได้ตระหนักถึงความสันโดษอันเป็นทรัพย์ที่ยอดเยี่ยมด้วยความพอใจ

 

 

 

ดร.โสภณ ขำทัพ 
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐/๐๕/๕๔  

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก