ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           วันหนึ่งขณะที่ฝนตกพรำตลอดวัน บรรยายกาศในวัดมัลวัตตะ แคนดี้ ศรีลังกา เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่กำลังรอการประกอบพิธีอุปสมบทพระภิกษุภายในพระอุโบสถ ได้ไปยืนหลบฝนหลังพระอุโบสถหน้ากุฏิสงฆ์หลังเล็กๆแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งถามว่ามาจากเมืองไทยใช่ไหม จากนั้นท่านก็บอกว่าเชิญตามผมมาจะพาไปกราบหลวงพ่อที่มาจากประเทศไทยเหมือนกัน เมื่อเดินตามท่านไปในกุฏิเล็กๆหลังนั้น ท่านชี้ไปที่รูปปั้นสามรูปที่ยืนเรียงรายหน้ากุฏิ พลางบอกว่านั่นคือหลวงพ่อที่มาจากเมืองไทยซึ่งเป็นเพียงรูปหล่อด้วยทองเหลืองของพระสงฆ์รูปหนึ่งเท่านั้น หาใช่พระภิกษุที่มีลมหายใจแต่อย่างใด     
          พระสงฆ์รูปนี้แหละที่ทำให้คณะสงฆ์ศรีลังกาไม่สิ้นสมณวงศ์ เพราะได้เป็นพระอุปัชฌาย์ทำการอุปสมบทกุลบุตรชาวศรีลังกาเป็นพระภิกษุจำนวนมากและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน รูปปั้นนั่นคือพระอุบาลีพระธรรมทูตจากประเทศไทยที่ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังเมื่อปีพุทธศักรา 2295 นับเวลาถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 259 ปีล่วงมาแล้ว ส่วนรูปหล่ออีกสองรูปนั้นคือพระสรณังกร พระสังฆราชรูปแรกแห่งสยามนิกายและพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ องค์ศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา
          ในขณะที่อยู่ตรงหน้ารูปหล่อพระอุบาลี ที่วัดมัลวัตตุหรือวัดบุปผารามหรือคนไทยนิยมเรียกว่าวัดอุบาลี เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา เกิดความรู้สึกว่าพระภิกษุที่ทำหน้าที่สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาจนกระทั่งต้องมรณภาพในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเองนั้น ช่างเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ยอมพลีชีพเพื่อพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ธรรมดานี่แหละไม่ใช่พระอรหันต์แต่ก็สามารถทำงานระดับชาติได้ 
 

           กุฏิท่านพระอุบาลีและห้องพักของท่านได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีแม้จะเป็นเพียงห้องเล็กๆมีเพียงเตียงเก่าๆและโต๊ะเก้าอี้อีกหนึ่งชุดเท่านั้นเอง แต่ก็ได้สร้างคุณูปการแก่คณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ผลงานที่ยิ่งใหญ่ต่างหากที่ทำให้คนจดจำได้นาน หาใช่ทรัพย์สมบัติแต่อย่างใด มีกษัตริย์หรือเศรษฐีมหาศาลหลายหมื่นหลายพันคนที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกนี้และได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่จะมีใครสักกี่คนที่ยังมีคนจดจำได้บ้าง
           ในขณะที่ประเทศศรีลังการับเอาพระพุทธศาสนาจากประเทศไทยจนกลายเป็นนิกายที่สำคัญนิกายหนึ่งในศรีลังกาในปัจจุบันเรียกว่า “สยามวงศ์”หรือ “สยามนิกาย”ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายที่สำคัญนิกายหนึ่งในสามนิกายของพระพุทธศาสนาในศรีลังกาปัจจุบัน ประเทศไทยก็รับเอาพระพุทธศาสนาจากศรีลังกาเข้ามาจนกลายเป็น “ลังกาวงศ์”           
           พระพุทธศาสนาเถรวาทในศรีลังกาปัจจุบันมีนิกายสำคัญสามนิกายคือสยามนิกาย รามัญนิกาย และอมรนิกาย มีพระสังราชที่เป็นประมุขสงฆ์แต่ละนิกายสี่องค์ สยามนิกายมีสังฆราชสององค์คือฝ่ายคามวาสีและฝ่ายอรัญญาวาสี
           ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทยครั้งแรกที่นครศรีธรรมราช พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช 1820 พระองค์ได้นิมนต์พระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชมาเผยแผ่ที่เมืองสุโขทัย ดังที่ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่หนึ่งว่า “เบื้องตะวันตกสุโขทัยมีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชเรียนจบปิฏกไตรย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา (ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1 กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2521,หน้า 22) 

           ฐากูร  พานิชบันทึกไว้ว่า “พระสงฆ์ชาวลังกาที่เดินทางมานครศรีธราชครั้งแรกมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ที่ทรงฟื้นฟูพระธรรมวินัยและสยามก็ได้ส่งพระสงฆ์ไปบวชแปลงในลังกา ขากลับได้นิมนต์พระสงฆ์ลังกานามว่าราหุลมาจำพรรษาที่นครศรีธรรมราชด้วย และต่อมาก็ได้ตั้งลังกาวงศ์ขึ้นในสยามประเทศ (ฐากูร พานิช,ไทย-ศรีลังกา กัลยาณมิตร,กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,2545,หน้า 23)
           ลังกาและไทยจึงมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่อยมา มีพระสงฆ์ไทยไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่ศรีลังกาหลายรูป บางรูปกลับมาแต่งคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในขณะที่พระสงฆ์จากศรีลังกาก็เดินทางมาพักจำพรรษาในประเทศไทย ปัจจุบันมีพระสงฆ์ไทยศึกษาที่ประเทศศรีลังกาหลายรูปและในขณะเดียวกันก็มีพระสงฆ์จากศรีลังกาเข้ามาศึกษาในประเทศไทยจำนวนมาก
           จนกระทั่งศรีลังกาเกือบสูญสิ้นสมณวงศ์ทั้งประเทศมีสามเณรเพียงรูปเดียวนามว่าสามเณรสรณังกร สาเหตุที่พระสงฆ์ในศรีลังกาไม่มีนั้นมีสาเหตุสำคัญหลายประการ ดังที่ลังกากุมารเขียนไว้ในตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกาตอนหนึ่งว่า “ส่วนหนึ่งมาจากคณะสงฆ์เองนำเอาคติความเชื่อแบบมหายานและลัทธิฮินดูเข้ามาผสมผสานกับคำสอนแบบเถรวาท ความเชื่อเหล่านี้ได้กลืนเป็นเนื้อเดียวกับจารีตแบบพุทธ จนกระทั่งพิธีกรรมกลายเป็นคำสอนหลัก  ส่วนหนึ่งมาจากการละเลยเพิกเฉยของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่สับสนวุ่นวายเกิดการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างราชวงศ์สิงหลด้วยกันเอง นอกจากนั้นนักล่าอาณานิคมตะวันตกคือโปรตุเกสเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้วเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธิลิกด้วยวิธีการที่รุนแรง เพื่อถอนรากถอนโคนพระพุทธศาสนา และสุดท้ายกษัตริย์สิงหลเองทำลายล้างพระพุทธศาสนาจนสูญสิ้นสมณวงศ์ เพราะทรงหันไปนับถือลัทธิฮินดูนิกายไศวะ” (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,กรุงเทพฯ: สาละ,2552,หน้า 119) 


           ในปีพุทธศักราช 2293 พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกามีความศรัทธาแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ศรีลังกาอีกครั้ง จึงได้ส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา ลังกากุมารบันทึกไว้ว่า “พ.ศ. 2293 คณะราชทูตออกเดินทางจากท่าเรือตรินโคมาลี โดยเรือของฮอลันดานามว่าเวลตรา การเดินทางครั้งนั้นผ่านเมืองอะแจ สุมาตราและแวะพักที่มละกาเป็นเวลาห้าเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูมรสุม จากนั้นคณะราชทูตได้เดินทางเข้ามายังปากน้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองบางกอกและนนทบุรี” (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,หน้า 122)
           ปีพุทธศักราช 2294 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาโปรดให้คัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยประกอบด้วยพระสงฆ์ 24 รูป นำโดยพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระ พร้อมทั้งสามเณรอีกเจ็ดรูป ออกเดินทางด้วยเรือกำปั่นหลวงที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นพาหนะส่งคณะสงฆ์ไทยไปลังกา แต่การเดินทางในครั้งนั้นมิได้ราบรื่นเรือกำปั่นของพระสมณทูตถูกคลื่นใหญ่ซัดจนมาเกยตื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช คณะสงฆ์ชุดนั้นจึงไปไม่ถึงลังกา (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,หน้า 125)
           ปีพุทธศักราช 2295 คณะสงฆ์ชุดเดิมออกเดินทางอีกครั้งโดยเรือกำปั่นฮอลันดา ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือตรินโคมาลี พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะรับสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่ต้อนรับและเชิญพระสงฆ์และคณะราชทูตไทยเข้ามายังเมืองแคนดี้ โปรดให้พระสงฆ์ไทยไปพักที่วัดบุปผาราม ปัจจุบันคือวัดมัลวัตตะ จากนั้นพระอุบาลีได้ทำการอุปสมบทภิกษุชาวสีงหลจำนวน 700 รูป และบรรพชาสามเณรอีก 3000 รูป (ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,หน้า 129) 


           ในณะที่พระสาสนโสภณ(พิจิตร)ได้บันทึกถึงการอุปสมบทไว้ตอนหนึ่งว่า “วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระอุบาลีให้อุปสมบทแก่สามเณรไทยหนึ่งรูปก่อนในคามวาสี เวลาค่ำพระเจ้ากีรติศิริราชสิงหะเสด็จไปยังวัดบุปผารามพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงอาราธนาพระสงฆ์ไทยมีพระอุบาลีเป็นประธานให้อุปสมบทแก่สามเณรสิงหลผู้ใหญ่หกรูป มีสามเณรสรณังกรเป็นประธาน ในวันอุปสมบทสามเณรสรณังกรมีอายุ 54 ปี (พระสาสนโสภณ,พระธรรมทูตไทยไปศรีลังกาในสมัยอยุธยา(พิมพ์ครั้งที่ 5),กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์,2553,หน้า 66) 
           งานของพระธรรมทูตจากประเทศไทยนอกจากการให้การอุปสมบทพระสงฆ์ชาวสิงหลแล้ว ยังทำกิจวัตรของสงฆ์คือการสวดมนต์ดังที่ฐากูร พานิชบันทึกไว้ว่า “ทุกค่ำพระอุบาลี พระอริยมุนีและพระสงฆ์อันดับจะพร้อมกันสวดมนต์ สามเณรลังกาจะมานั่งฟังสวดพร้อมกันทุกวัน นอกจากนั้นพระอุบาลียังได้ผูกพัทธสีมาอีกหลายวัด" (ฐากูร พานิช,ไทย-ศรีลังกา กัลยาณมิตร,หน้า 43) 
           หน้าที่ของพระสงฆ์โดยทั่วไปนั้นสรุปได้สั้นๆว่า “ศึกษาเล่าเรียน พรากเพียรปฏิบัติ สันทัดในการสอน และไม่สั่นคลอนศรัทธา” หากทำได้ตามนี้ชีวิตพระก็ไม่เสียหาย ศาสนาก็สามารถสืบต่อไปได้อีกนาน
           ส่วนหน้าที่ของพุทธศาษสนิกชนก็สรุปได้สั้นๆว่า “เกื้อกูลพระ กระทำบุญ คุ้นพระศาสนา เป็นอุบาสกอุบาสิกาชั้นนำ”  ส่วนความหมายลองไปตีความเอาเอง 
           ก่อนที่สมณทูตชุดที่สองจะเดินทางไปถึงศรีลังกานั้น พระอุบาลีมรณภาพด้วยโรคหูอักเสบ ภายในกุฏิวัดบุปผารามเมื่อปีพุทธศักราช 2299 พระเจ้าแผ่นดิศรีลังกาให้จัดพิธีถวายเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ โดยจัดขึ้นที่สุสานหลวงนามว่าอาดาหะนะมะลุวะ ปัจจุบันคือวัดอัศคิริยะเคดิเควิหาร หลังเสร็จสิ้นพิธีถวายเพลิงศพแล้ว ทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฏฐิเพื่อสักการบูชาซึ่งมีปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบัน

           ก่อนจากวัดมัลวัตตะได้ไปกราบพระสังฆราชสยามนิกายฝ่ายคามวาสีที่ท่านเมตตาให้ชาวคณะแสวงบุญจากประเทศไทยเข้าถวายสักการะ ฝนยังคงตกพรำเหมือนเทวดากำลังประพรมน้ำมนต์จากฟากฟ้า อากาศจึงเย็นสบาย ก่อนจะเดินทางไปสักการะเจดีย์บรรจุอัฏฐิพระอุบาลีและกราบสักการะพระสังฆราชมหานายกสยามนิกายฝ่ายอรัญวาสีที่วัดอัศคิริยะเคดิเควิหาร วันนั้นชาวคณะโชคดีได้กราบนมัสการพระสังฆราชแห่งสยามนิกายทั้งสององค์
           วันนั้นแม้จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆในท่ามกลางสายฝนที่ตกพรำตลอดวัน ก็ยังมองเห็นความเด็ดเดี่ยวในดวงตาของพระอุบาลีผู้เสียสละตนเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งสามารถก่อให้เกิดสยามวงศ์ขึ้นในประเทศศรีลังกา แม้ว่าในวาระสุดท้ายจะไม่ได้กลับมามรณภาพที่บ้านเกิด แต่คุณูปการที่พระอุบาลีและคณะสงฆ์ที่เดินทางไปลังกาในครั้งนั้นทำให้พระพุทธศาสนากลับมาตั้งมั่นในเกาะลังกาอัญญมณีแห่งตะวันออกและเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
  


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
03/01/54


อ้างอิง

ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1 กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2521,หน้า 22
พระสาสนโสภณ,พระธรรมทูตไทยไปศรีลังกาในสมัยอยุธยา(พิมพ์ครั้งที่ 5),กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์,2553,หน้า 66
ลังกากุมาร,ตามรอยพระอุบาลีไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา,กรุงเทพฯ: สาละ,2552,หน้า 119
ฐากูร พานิช,ไทย-ศรีลังกา กัลยาณมิตร,กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,2545,หน้า 23

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก