ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

              หลายวันมาแล้วมีพระภิกษุรูปหนึ่งมาถามหาหนังสือมิลินทปัญหา ค้นหาทั่วห้องก็ไม่พบ วันหนึ่งเดินเข้ามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยหน้าวัดบวรนิเวศวิหารได้มาสามเล่ม แต่เป็นสำนวนเก่าอ่านแล้วเพลินดี ส่วนอีกเล่มเป็นภาษาอังกฤษอ่านได้ไม่กี่หน้าต้องรีบวางเพราะเข้าใจยาก ส่วนอีกเล่มเป็นฉบับย่ออ่านแล้วรู้เรื่องทันที จำได้ว่าเคยเขียนเรื่องพระนาคเสนเถระพระภิกษุผู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเป็นงานที่เขียนแล้วยังไม่เคยเผยแผ่ที่ใดมาก่อน วันนี้ลองอ่านเพื่อศึกษาดูว่าพระพุทธศาสนาเคยเสื่อมไปจากดินแดนที่เป็นถิ่นกำเนิด แต่นับว่าพระพุทธศาสนายังไม่ถึงคราวที่จะต้องจางหายไปจากสากลโลกนี้ จึงทำให้ในแต่ละยุคมีพระเถระผู้ทรงภูมิปัญญาได้ปกป้องพระพุทธศาสนาและสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไปได้อีกหลายร้อยปี  


              ภายหลังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชผู้ปกครองประเทศอินเดียในสมัยนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระองค์ได้ทรงให้ความอุปถัมภ์โดยทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ขึ้นในปี พ.ศ.236 ณ วัดอโศการาม นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ (ปัจจุบันคือ เมืองปัตนะ เมืองหลวงของรัฐพิหาร) ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน หลังจากสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยเสร็จสิ้นแล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้จัดคณะพระธรรมทูตออกเป็น 9 คณะแล้วส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆดังนี้ 
              สายที่ 1 มีพระมัชฌันติกเถระเป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นกัษมิระ คือ รัฐแคชเมียร์ ประเทศอินเดียปัจจุบัน และแคว้นคันธาระ ในปัจจุบัน คือ รัฐปัญจาป ทั้งของประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน
              สายที่ 2 พระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมหิสมณฑ,ปัจจุบัน ได้แก่ รัฐไมเซอร์และดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งอยู่ในตอนใต้ประเทศอินเดีย
              สายที่ 3 พระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ในปัจจุบันได้แก่ดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย
              สายที่ 4 พระธรรมรักขิตเถระ หรือพระโยนกธรรมรักขิตเถระ (ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นฝรั่งคนแรกในชาติกรีกที่ได้เข้าบวชในพระพุทธศาสนา)เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปรันตกชนบทปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือดินแดนแถบชายทะเลเหลือเมืองบอมเบย์
              สายที่ 5 พระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฎร์ปัจจุบันได้แก่รัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย
              สายที่ 6 พระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเอเซียกลาง ปัจจุบันได้แก่ดินแดนที่เป็นประเทศอิหร่านและตูรกี
              สายที่ 7 พระมัชฌิมเถระ พร้อมด้วยคณะ คือพระกัสสปโคตรเถระ พระมูลกเทวเถระ พระทุนทภิสสระเถระ และพระเทวเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย สันนิษฐานว่าคือประเทศเนปาล
              สายที่ 8 พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันคือ ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว เขมร เป็นต้น
              สายที่ 9 พระมหินทเถระ (โอรสพระเจ้าอโศกมหาราช) พร้อมด้วยคณะ คือพระอริฏฐเถระ พระอุทริยเถระ พระสัมพลเถระ และพระหัททสารเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป ปัจจุบันคือประเทศศรีลังกา  (พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ), ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2542, หน้า  162) 

 

              พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา จนกระทั่งพระเจ้าเมนันเดอร์ปกครองอินเดียซึ่ง พุทธศักราชที่เกิดขึ้นของพระยามิลินท์ผู้มีส่วนสำคัญทำให้เกิดมิลินทปัญหามีแตกต่างกันดังที่ วศิน อินทสระอ้างไว้ว่า “ประมาณ พ.ศ.500 พระยามิลินท์หรือเมนันเดอร์ พระราชาเชื้อสายกรีกมีอำนาจเหนือลุ่มแม่น้ำคงคา พระองค์เป็นนักปราชญ์ได้ประกาศโต้วาทีกับนักบวชในลัทธิต่าง ๆ ในเรื่องศาสนาและปรัชญาจนไม่มีใครสู้ได้  เวลานั้นพระเจ้ามิลินท์พักอยู่ที่นครสาคละ พระภิกษุสามเณรต่างครั่นคร้ามในวาทะของพระเจ้ามิลินท์ อยู่ไม่เป็นสุขในเมืองสาคละพากันอพยพไปอยู่ที่เสียหมดสิ้น เมืองสาคละว่างจากพระสงฆ์สามเณรอยู่ถึง12ปี  (วศิน  อิทสระ,อธิบายมิลินทปัญหา, กรุงเทพ ฯ:  สำนักพิมพ์บรรณาคาร,2528, หน้า 16)  
             ส่วนเสถียร  โพธินันทะบอกว่า “พุทธศักราช 392 ราชากรีกองค์หนึ่งมีพระนามว่าเมนันเดอร์ ล่างวงศ์ของยูเครตีสลงแล้วยกทัพตีแว่นแคว้นใหญ่เล็กในปัญจาป คันธาระตกอยู่ในอำนาจ สถาปนา “สาคละ” ขึ้นเป็นราชธานี พระเจ้าเมนันเดอร์พระองค์นี้ภาษาบาลีเรียกว่า “มิลินทะ”  (เสถียร  โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2541,หน้า 199)
              พระนาคเสนเถระเชื่อกันว่าเป็นพระในนิกายสรวาสติกวาท ผู้โต้วาทะกับพระเจ้าเมนันเดอร์กษัตริย์เชื้อสายกรีก หรือนิยมเรียกกันว่าพระยามิลินทร์  ประวัติของพระนาคเสนนั้นมีปรากฏในมิลินทปัญหา อันเป็นบันทึกการโต้วาทะกับพระยามิลินทร์ ในช่วงพุทธศตวรรษ์ที่ห้า ซึ่งช่วงนั้นนิกายมหายานกำลังถือกำเนิดขึ้น ดังนั้นเนื้อหาในมิลินทปัญหาจึงมีบางส่วนกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ การสร้างบารมีของมหายานด้วยข้อความเหล่านี้ปรากฎในนาคเสนภิกขุสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรในนิกายมหายาน    นิกายสรวาส ติกวาทิน มีทัศนะใกล้เคียงกับเถรวาทเช่น มองเห็นสภาวธรรมทุกสิ่งเป็นของมีจริงไปหมด สภาวธรรมทั้งสามดำรงอยู่ตลอด พระโสดาบัน สกิทาคามี พระอนาคามี ไม่เสื่อมจากมรรคผล  นิกายสรวาสติวาทเป็นฝ่ายสัจจนิยม  
               ความเชื่อนิกายสรวาสติวาทินนั้น อภิชัย  โพธิประสิทธ์ศาสต์ อ้างไว้ว่า”นิกายสรวาสติวาทิน บาลีเรียกว่าสัพพมัตถีติกวาทมีความเชื่อสำคัญอยู่ 3 ข้อคือ
                            1.พระอรหันต์อาจเสื่อมจากอรหันตมรรคได้
                            2.สิ่งทั้งหลายมีอยู่และเป็นอยู่ในลักษณะสืบต่อ
                            3.ความที่จิตสืบเนื่องกันอยู่เสมอเป็นสมาธิได้
              คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงเคยสังกัดนิกายนี้คืออสังคและวสุพันธุบวชเรียนในนิกายสรวาสติวาท ภายหลังจึงแปลงเป็นมหายาน ช่วยกันตั้งลัทธิโยคาจารย์ขึ้น มีกำเนิดในศตวรรตที่ 8 อสังคร้อยกรองปกรณ์ที่สำคัญคือโยคาจารย์ภูมิศาสตร์ ส่วนวสุพันธุร้อยกรองวิชญาณมาตราศาสตร์และตรีทศศาสตร์  (อภิชัย  โพธิประสิทธ์ศาสต์,พระพุทธศาสนามหายาน, กรุงเทพ ฯ: สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย,2534,หน้า 99) 
              หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่พระนาคเสนน่าจะสังกัดนิกายสรวาสติวาทคือ อิทธิพลของนิกายสรวาสติวาทินได้ครอบงำทั่วไปในอินเดียภาคกลางและภาคเหนือ มีแคว้นมถุรา แคว้นกาศมีระ แคว้นคันธาระเป็นศูนย์รวม และได้แผ่ขยายออกไปจากอินเดียสู่ดินแดนอาเซียกลางและจีนในยุคตติยสังคายนา นิกายนี้ได้รุ่งเรืองมากแถบอาณาบริเวณมถุราสังฆเถระองค์หนึ่งของนิกายนี้คือพระอุปคุปต์ ได้รับความเคารพจากพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพิเศษ ความจริงของนิกายนี้ ได้รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ยังผลให้นิกายอื่นอับรัศมีลง ที่สารนาถปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า นิกายสรวาสติวาทินได้ชัย   (พระราชธรรมนิเทศ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,(กรุงเทพฯ:,มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2542, หน้า 194)  

 

ประวัติพระนาคเสน
              ประวัติพระนาคเสนในหนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียนเขียนไว้สั้นๆว่า “ พระนาคเสน ท่านนับว่าเป็นผู้ทำให้พระเจ้ามิลินท์กลับมานับถือพุทธศาสนา และสนับสนุนเป็นอย่างดี ในมิลินทปัญหากล่าวว่า พระนาคเสนเกิดที่เมืองกชังคละ แถบภูเขาหิมาลัย บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อว่าโสณุตตระ ในวัยเด็กอายุ 7 ขวบได้ศึกษาไตรเพทและศาสตร์อื่น จนเจนจบ จึงถามบิดาว่ามีศาสตร์อื่นที่จะต้องเรียนบ้างไหม บิดาตอบว่ามีเท่านี้ ต่อมาวันหนึ่งได้พบพระโรหนะมาบิณฑบาตที่บ้านบิดา เกิดความเลื่อมใสจึงให้บิดานิมนต์มาที่บ้านถวายภัตตาหารและคิดว่าพระรูปนี้ต้องมีศิลปวิทยามาก จึงขอศึกษากับพระเถระ พระเถระกล่าวว่า ไม่อาจสอนผู้ที่ไม่บวชได้ จึงของบิดาบวชที่ถ้ำรักขิตได้ศึกษาพุทธศาสนากับพระโรหนเถระ 
              ต่อมาเมื่ออายุ 20 ปีก็ได้รับการอุปสมบท วันหนึ่งเกิดตำหนิอุปัชฌาย์ในใจว่าอุปัชฌาย์ของเราช่างโง่จริง ให้เราศึกษาพระอภิธรรมก่อนเรียนสูตรอื่น ๆ พระโรหณะผู้อุปัชฌาย์ทราบกระแสจิตจึงกล่าวว่า พระนาคเสนคิดอย่างนี้หาถูกต้องไม่ พระนาคเสนทราบว่าพระอุปัชฌาย์รู้วาระจิตของตน จึงตกใจและขอขมาแต่พระเถระกล่าวว่าเราจะให้อภัยได้ง่ายๆไม่
            พระนาคเสนต้องไปทำภารกิจอย่างหนึ่งที่สำคัญคือต้องไปโปรดพระเจ้ามิลินท์ที่เมืองสาคละ ให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยก่อนจึงจะอภัยให้ และแล้วพระโรหนะก็ส่งไปศึกษาเพิ่มเติมกับพระอัสสคุตตะ ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหารเมืองสาครพักอยู่ 7 วัน พระเถระจึงยอมรับเป็นศิษย์ ต่อมาได้แสดงธรรมเทศนาให้เศรษฐีท่านหนึ่งฟังจนทำให้เขาบรรลุโสดาบัน และเมื่อมาไตร่ตรองคำสอนที่ตนสั่งสอนอุบาสกก็บรรลุโสดาบันตาม ต่อมาไม่นานจึงเดินทางจากสาคละไปสู่ปาฎลีบุตร พักที่อโศการามแล้วศึกษาธรรมกับพระธรรมรักขิตจนจบภายใน 6 เดือนพระนาคเสนเดินทางไปบำเพ็ญเพียรที่รักขิตคูหาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหันต์ คณะสงฆ์ทั้งหลายจึงอนุโมทนาแล้วประกาศให้ท่านไปโต้วาทะกับพระยามิลินท์ พระนาคเสนจึงเดินทางไปนครสาคละ แล้วพบพระเจ้ามิลินท์ที่นั้น เมื่อได้ตอบโต้ปัญหากับพระเจ้ามิลินท์แล้ว ทำให้พระองค์เกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาขึ้นมา และเปล่งว่าจาถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต  (พระมหาดาวสยาม  วชิรปญฺโญ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย,กรุงเทพฯ:พิมพ์สวย,2546,หน้า 89)  
              ส่วนประวัติพระนาคเสนในมิลินทปัญหา ฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้นมีที่มาคล้ายประวัติพระพุทธโฆษาจารย์คือย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยพุทธกล ตามที่ปรากฎในมิลินทปกรณ์เริ่มนับถอยหลังไปถึงพุทธพยากรณ์ในวันปรินิพพาน 


              พระพุทธองค์ทรงบรรทมบนบัลลังก์ หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ในระหว่างนางรังทั้งคู่ อันมีอยู่ในพระราชอุทยานของพวกมัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารา จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  "ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งปวงมีความสิ้นความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำกิจทั้งปวงด้วยความไม่ประมาทเถิด ธรรมวินัยอันใด เราบัญญติไว้แล้ว เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยนั้นแหละ จะเป็นครูของพวกเธอ” (มหาปรินิพพานสูตร 10/143/124) 
              เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปจะระลึกถึงถ้อยคำที่ไม่ดีของ สุภัททภิกขุผู้บวชเมื่อแก่ แล้วจะกระทำสังคายนา เพื่อรักษาพระพุทธวจนะไว้มิให้คลาดเคลื่อน 
              จากนั้นมาอีก 100 ปี พระยสกากัณฑกบุตร ผู้จะย่ำยีซึ่งถ้อยคำของพวก ภิกษุวัชชีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ สังคายนาครั้งที่ 2 ต่อไปอีกได้ 218 ปี พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ สังคายนาครั้งที่ 3  ต่อมาภายหลัง พระมหินทเถระจะไปประดิษฐานศาสนาของเรา ลงไว้ที่ตามพปัณณิทวีป (ลังกา) ต่อจากเราปรินิพพานไปล่วงได้ 500 ปี จักมีพระราชาองค์หนึ่ง ชื่อว่า "มิลินท์" ผู้ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ดีแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาอันละเอียดขึ้น ด้วยอานุภาพปัญญาของตน จะย่ำยีเสียซึ่งสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยปัญหาอันละเอียด 
               จะมีภิกษุองค์หนึ่ง ชื่อว่า "นาคเสน" ไปทำลายถ้อยคำของ มิลินทราชา ทำให้มิลินทราชาเกิดความร่าเริงยินดีด้วยอุปมาเป็นเอนก จะทำศาสนาของเราให้หมดเสี้ยนหนามหลักตอ จะทำศาสนาของเราให้ตั้งอยู่ตลอด 5000 พรรษา" ดังนี้
เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดเกิดในตระกูลในเวลาล่วงได้ 500ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วนั้น ผู้นั้นจักได้ชื่อว่า "มิลินทราชา" เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนคร อันเป็นเมืองอุดม 
              มิลินทราชานั้น จักได้ถามปัญหาต่อพระนาคเสน มีอุปมาเหมือนกับน้ำในแม่น้ำคงคาไหลไปสู่มหาสมุทรสาครฉะนั้น
พระองค์เป็นผู้มีถ้อยคำอันวิจิตร ได้เสด็จไปหาพระนาคเสนในเวลาราตรี มีคบเพลิงจุดสว่างไสว แล้วถามปัญหาล้วนแต่ละเอียดลึกซึ้ง ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจไว้ด้วยดี ฟังปัญหาอันละเอียดในคัมภีร์มิลินท์นั้นเถิด จะเกิดประโยชน์สุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนานดังนี้ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการกำเนิดของคนมีปัญญานั้นมิใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกาลเวลาและการสั่งสมบารมีจนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จึงจะแก้ปัญหาของผู้มีปัญญาได้  
              เป็นที่น่าสังเกตว่าตำราได้พรรณาคำพยากรณ์ไว้อย่างน่าเชื่อถือและทำให้เชื่อว่าคำพยากรณ์นั้นเป็นจริง แต่หลักฐานจากพระไตรปิฎกไม่มีคำพยากรณ์เช่นนี้ พระอรรถกถาจารย์น่าจะแต่งเติมเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือโดยใช้สำนวนพรรณาโวหาร ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุคพุทธศตวรรตที่ 9 จึงไม่น่าแปลกว่าพระพุทธโฆษาจารย์ได้แต่งเป็นผู้แต่งนิทานกถาและนิคมคาถา




บุพพกรรมของพระนาคเสนและพระยามิลินท์
              พระนาคเสนและพระยามิลินท์กระทำกรรมร่วมกันมาตั้งแต่อดีตชาติ ในศาสนาของสมเด็จพระพุทธกัสสป  มีพระราชพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิชิตาวี เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนครราชธานี พระองค์ทรงอนุเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ 4 สร้างมหาวิหารลงไว้ที่ริมแม่น้ำคงคา ถวายพระเถระทั้งหลายที่ทรงคุณธรรมต่าง ๆ กัน มีทรงพระไตรปิฎก เป็นต้น ทั้งทรงบำรุงด้วยปัจจัย 4 
              เมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดเป็น พระอินทร์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานิสงค์นั้น และมหาวิหารที่ท้าวเธอทางสร้างไว้ ถึงพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ดี ก็มีพระภิกษุอาศัยอยู่เป็นอันมาก ในพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น พระภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยข้อวัตรเป็นอันดี เช้าขึ้นก็ได้ถือเอาไม้กวาดด้ามยาว แล้วนึกถึงพระพุทธคุณ แล้วจึงพากันกวาดบริเวณพระเจดีย์ กวาดเอาหยากเยื่อไปรวมเป็นกองไว้ มีพระภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลองค์หนึ่ง เรียกสามเณรองค์หนึ่งว่า "จงมานี่…สามเณร! จงหอบเอาหยากเยื่อไปเททิ้งเสีย" 
              สามเณรนั้นก็เฉยอยู่ เหมือนไม่ได้ยิน พระภิกษุองค์นั้นเรียกสามเณรองค์นั้น 3 ครั้ง เห็นสามเณรนั่งนิ่งเฉยเหมือนไม่ได้ยินก็คิดว่า สามเณรองค์นี้หัวดื้อ จึงไปตีด้วยด้ามไม้กวาด สามเณรก็ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด แล้วหอบเอาหยากเยื่อไปทิ้งด้วยความกลัว เมื่อหอบเอาหยากเยื่อไปทิ้งนั้น ได้ปรารถนาว่า "ด้วยผลบุญที่เราหอบหยากเยื่อมาทิ้งนี้ หากเรายังไม่ถึงนิพพานเพียงใด เราจะเกิดในภพใด ๆ ก็ตาม ขอให้เรามีเดชเหมือนกับดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงวันฉะนั้นเถิด" 
              สามเณรตั้งความปรารถนาดังนี้แล้ว ก็เดินไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา ดำผุดดำว่ายเล่นตามสบายใจ เมื่อสบายใจแล้วก็ได้เห็นละลอกคลื่นในแม่น้ำนี้มากมายนักหนา ยินดีปรีดาจะใคร่มีปัญญาเฉลียวฉลาดไม่รู้สุดรู้สิ้น ดุจลูกคลื่นในแม่น้ำนั้น และได้คิดว่าอาจารย์ได้ใช้ให้เราหอบเอาหยากเยื่อมาทิ้งนี้ ไม่ใช่เป็นกรรมของเรา ทั้งไม่ใช่เป็นกรรมของอาจารย์ แต่เป็นการอนุเคราะห์เราให้ได้บุญเท่านั้น ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงปรารถนาขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า "ข้าพเจ้ายังไม่ถึงนิพพานตราบใด ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปเกิดในชาติใด ๆ ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาไม่รู้จักสิ้นสุด เหมือนกับลูกคลื่นในแม่น้ำคงคานี้เถิด" 
              ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์นั้น เมื่อเอาไม้กวาดไปเก็บไว้ที่โรงเก็บไม้กวาดแล้ว ก็ลงไปที่ท่าน้ำคงคาเพื่อจะอาบน้ำ ก็ได้ยินเสียงสามเณรตั้งความปรารถนา จึงคิดว่า ความปรารถนาของสามเณรนี้ เป็นความปรารถนาใหญ่ จะสำเร็จได้เพราะอาศัยพระพุทธคุณ คิดดังนี้แล้ว จึงหัวเราะขึ้นด้วยความดีใจว่า สามเณรนี้ถึงเป็นผู้ที่เราใช้ก็ยังปรารถนาอย่างนี้ ความปรารถนาของสามเณรนี้ จักสำเร็จเป็นแน่แท้ คิดดังนี้แล้ว จึงตั้งความปรารถนาว่า "ข้าพเจ้ายังไม่สำเร็จนิพพานตราบใด ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาหาที่สุดมิได้ เหมือนกับฝั่งแม่น้ำคงคานี้ ให้เป็นผู้สามารถแก้ไขปัญหาปฏิภาณทั้งปวง ที่สามเณรนี้ไต่ถามได้สิ้น ให้สามารถชี้แจงเหตุผลต้นปลายได้เหมือนกับบุรุษที่ม้วนกลุ่มด้าย สางด้ายอันยุ่ง ให้รู้ได้ว่า ข้างต้นข้างปลายฉะนั้น ด้วยอำนาจบุญที่ข้าพเจ้าได้กวาดวัด และใช้สามเณรให้นำหยากเยื่อมาเททิ้งนี้เถิด" 
              ในฉบับภาษาจีน กล่าวถึงอดีตชาติของพระนาคเสนและพระยามิลินท์ว่า “พราหมณ์ผู้เคยเป็นช้างในอดีต และพราหมณ์ผู้เคยเป็นฤาษีและเป็นเพื่อนของพราหมณ์คนแรก ต่างก็ได้ตั้งความปรารถนาและทั้งสองก็ได้มาเกิดเป็นนาเซียน(นาคเสน) และมีลัน(พระเจ้ามิลินท์) ตามความปราถนาของทั้งสอง (คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย,มิลินทปัญหา : ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย,กรุงเทพ ฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2543, หน้า 542) 

 

              ต่อมาสามเณรนั้น ก็ได้มาเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์ ในสาคลนคร อันมีในชมพูทวีป มีคำเล่าลือปรากฏมาว่า "เมืองสาคลนคร" ของชาวโยนก เป็นเมืองที่งดงามด้วยธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ อุทยานอันมีสระน้ำ สวนดอกไม้ผลไม้ ตกแต่งไว้อย่างดี มีหมู่นกมากมายอาศัยอยู่ ป้อมปราการก็แข็งแรง ปราศจากข้าศึกมารบกวน ถนนหนทางภายในพระนครเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างม้ารถอันคล่องแคล่ว อีกทั้งหมู่สตรีล้วนมีรูปร่างสวยงาม ต่างเที่ยวสัญจรไปมา ทั้งเป็นที่พักพาอาศัยของ สมณพราหมณ์ พ่อค้าสามัญชนต่าง ๆ เมืองสาคลนครนั้น สมบูรณ์ด้วยผ้าแก้วแหวนเงินทอง ยุ้งฉาง ของกินของใช้ มีตลาดร้านค้าเป็นที่ไปมาแห่งพ่อค้า ข้างนอกเมืองก็บริบูรณ์ด้วยพืชข้าวกล้า อุปมาเหมือนข้าวกล้าในอุตตรกุรุทวีป หรือไม่ก็เปรียบเหมือนกับ "อารกมัณฑาอุทยาน" อันสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชฉะนั้น" 
              พระเจ้ามิลินท์นั้นเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาดมีความคิดดี สามารถรู้เหตุการณ์อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันได้ เป็นผู้ใคร่ครวญในเหตุการณ์ถี่ถ้วนทุกประการ เป็นผู้ได้ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ถึง 18 ศาสตร์ด้วยกัน รวมเป็น 19 กับทั้งพุทธศาสตร์
ศิลปศาสตร์ 18 ประการ คือ 
                            1. รู้จักภาษาสัตว์ มีเสียงนกร้อง เป็นต้น ว่าร้ายดีประการใดได้สิ้น 
                            2. รู้จักกำเนิดเขาและไม้ เป็นต้น ว่าชื่อนั้น ๆ 
                            3. คัมภีร์เลข 
                            4. คัมภีร์ช่าง 
                            5. คัมภีร์นิติศาสตร์ รู้ที่จะเป็นครูสั่งสอนท้าวพระยาทั้งปวง 
                            6. คัมภีร์พาณิชยศาสตร์ รู้ที่จะเลี้ยงฝูงชนให้เป็นสิริมงคล 
                            7. พลศาสตร์ รู้นับนักขัตฤกษ์ รู้ตำราดวงดาว 
                            8. คัมธัพพศาสตร์ รู้เพลงขับร้องและดนตรี 
                            9. เวชชศาสตร์ รู้คัมภีร์แพทย์ 
                            10. ธนูศาสตร์ รู้ศิลปะการยิงธนู 
                            11. ประวัติศาสตร์ 
                            12. ดาราศาสตร์ รู้วิธีทำนายดวงชะตาของคน 
                            13. มายาศาสตร์ รู้ว่านี่เป็นแก้ว นี่มิใช่แก้ว เป็นต้น 
                            14. เหตุศาสตร์ ผลศาสตร์ รู้จักเหตุ รู้จักผลจะบังเกิด 
                            15. ภูมิศาสตร์ รู้จักที่จะเลี้ยงโคกระบือ รู้การที่จะหว่านพืชลงในนาไร่ให้เกิดผล 
                            16. ยุทธศาสตร์ รู้คัมภีร์พิชัยสงคราม 
                            17. ลัทธิศาสตร์ รู้คัมภีร์โลกโวหาร 
                            18. ฉันทศาสตร์ รู้จักคัมภีร์ผูกบทกลอนกาพย์โคลง 
              พระเจ้ามิลินท์นั้น มีถ้อยคำหาผู้ต่อสู้ได้ยาก ปรากฏยิ่งกว่าพวกเดียรถีย์ทั้งปวง ไม่มีใครเสมอเหมือนในทางสติปัญญา ทั้งประกอบด้วยองค์ 3 ประการ คือ 1. มีเรี่ยวแรงมาก  2. มีปัญญามาก 3. มีพระราชทรัพย์มาก 
              ในกาลคราวหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์ได้เสด็จออกจากพระนครด้วยพลนิกรเป็นอันมาก หยุดพักนอกพระนครแล้ว ตรัสแก่พวกอำมาตย์ว่า " เวลายังเหลืออยู่มาก เราจะทำอะไรดีเราจะกลับเข้าเมืองก็ยังวันอยู่ สมณพราหมณ์เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ที่ยืนยันว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดหนออาจสนทนากับเราได้ อาจตัดความสงสัยของเราได้ " 
              เมื่อตรัสอย่างนี้ พวกโยนกข้าหลวงทั้ง 500 ก็กราบทูลขึ้นว่า  " ข้าแต่มหาราชเจ้า บัณฑิตที่จะพอสนทนากับพระองค์ได้นั้นมีอยู่ คือครูทั้ง 6 อันได้แก่ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล นิคัณฐนาฏบุตร สญชัยเวฬฏฐบุตร อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ พระเจ้าข้า ครูทั้ง 6 นั้น เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวารมีผู้คนนับถือมาก ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปไต่ถามปัญหา ต่อคณาจารย์เหล่านั้นเถิด คณาจารย์เหล่านั้นจะตัดความสงสัยของพระองค์ได้ พระเจ้าข้า " 
              พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาครูทั้ง 6 ลำดับนั้นพระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าหลวงโยนกทั้ง 500 ขึ้นทรงราชรถเสด็จไปหา ปูรณกัสสป ทรงปราศรัยแล้วประทับนั่งลงตรัสถามว่า " ท่านกัสสป อะไรรักษาโลกไว้  " 
              ปูรณกัสสปตอบว่า " ขอถวายพระพร แผ่นดินรักษาโลกไว้ " 
              พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า "ถ้าแผ่นดินรักษาโลกไว้ เหตุไรผู้ทำบาปจึงล่วงเลยแผ่นดินลงไปถึงอเวจีนรกล่ะ "
เมื่อตรัสอย่างนี้ ปูรณกัสสปก็ไม่อาจโต้ตอบได้ ได้แต่นั่งนิ่งกลืนน้ำลายอยู่เท่านั้น ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงทรงดำริว่าชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว เพราะไม่มีสมณพราหมณ์เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ ผู้อวดอ้างตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปหา มักขลิโคสาล ตรัสถามว่า  " ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่หรือเปล่า "
มักขลิโคสาลตอบว่า " ขอถวายพระพร ไม่มี…คือพวกใดเคยเป็นกษัตริย์ หรือพราหมณ์ เวศย์ ศูทร จัณฑาล คนเทหยากเยื่ออยู่ในโลกนี้ เวลาไปถึงโลกหน้าก็จะเกิดเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ เวศย์ ศูทร จัณฑาล คนเทหยากเยื่ออีกการทำบุญไม่มีประโยชน์อะไร "
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสอีกว่า " ถ้าอย่างนี้ พวกใดที่มีมือด้วนเท้าด้วนในโลกนี้ พวกนั้นไปเกิดในโลกหน้า ก็จะต้องมีมือด้วนเท้าด้วยอีกน่ะซี " 
              มักขลิโคสาลตอบว่า  " อย่างนั้น มหาบพิตร คือผู้ใดได้รับโทษถูกตัดมือเท้าในโลกนี้ เวลาผู้นั้นไปเกิดในโลกหน้า ก็จะถูกตัดมือตัดเท้าอีก" 
              พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า " โยมไม่เชื่อ " 
              มักขลิโคสาลก็นิ่ง พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า  " นี่แนะ มักขลิโคสาล ข้าพเจ้าถามท่านว่าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่หรือ ท่านก็แก้เสียอย่างนี้ ท่านเป็นคนโง่เขลา พวกใดทำกรรมที่จะให้เกิดไว้อย่างใด ๆ พวกนั้นก็ต้องไปเกิดด้วยกรรมอย่างนั้น ๆ "
ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสแก่พวกอำมาตย์ขึ้นว่า " นี่แน่ะ ท่านทั้งหลาย เวลานี้ก็ค่ำแล้วเราจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใด ๆ อีก ผู้ใดจะอาจสนทนากับเราได้ อาจตัดความสงสัยของเราได้" 
              ตรัสอย่างนี้หลายหน แต่พวกอำมาตย์ก็พากันนิ่งอยู่ ไม่รู้ว่าจะกราบทูลอย่างไร ท้าวเธอก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร ต่อจากนั้นไป พระองค์ก็ได้ไปเที่ยวไต่ถามสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ ในที่นั้น ๆ ไม่เลือกหน้า พวกใดแก้ปัญหาของท้าวเธอไม่ได้ พวกนั้นก็หนีไป พวกที่ไม่หนีก็สู้ทนนิ่งอยู่ แต่โดยมากได้พากันหนีไปสู่ป่าหิมพานต์  เมืองสาคลนครจึงเป็นเหมือนกับว่างจากสมณพราหมณ์อยู่ถึง 12 ปี 
              พระยามิลินท์ถามปัญหาอย่างไร จึงไม่มีนักบวชตอบโต้ได้  ดูจากคำถามน่าจะเป็นปัญหาที่ใช้ตรรกศาสตร์นำหน้า เหมือนกับที่โสเครตีสนักปรัชญากรีกเที่ยวถามปัญหากับผู้ที่อ้างตนว่าเป็นนักปราชญ์ พระยามิลินท์คงจะได้ศึกษาตรรกศาสตร์อย่างแตกฉานและเชี่ยวชาญทุกสาขา นักบวชมิใช่นักปรัชญาจึงไม่อยากยุ่งด้วย  แต่ที่น่าคิดคือ 12 ปี จะไม่มีนักบวชเลยหรือ ไม่น่าจะเป็นไปได้ น่าจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ว่า นักบวชยังมีอยู่แต่ไม่มีใครโต้วาทีสู้พระยามิลินท์  
              ในสัมยนั้นอ้างว่ามีพระอรหันต์ 100 โกฏิ จะไม่มีผู้สนทนาธรรมกับพระยามิลินท์ได้เลยหรืออย่างไร  พระอรหันต์ต้องขึ้นไปเชิญมหาเสนะเทพบุตรที่อยู่ในเกตุมดีวิมาน ทางด้านตะวันออกแห่งเวชยันตวิมานของพระอินทร์ ดังคำของพระอัสสคุตต์ที่ทูลกับพระอินทร์ว่า " เวลานี้มหาราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า " มิลินท์ " อยู่ในชมพูทวีป เป็นผู้ได้เรียนศาสตร์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ฉลาดเจรจา ไม่มีใครสู้ได้ ได้เที่ยวเบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์ ด้วยการถามปัญหาตามลัทธิเดียรถีย์ ขอถวายพระพร" พระอัสสคุตตเถระยังกล่าวกับมหาเสนเทพบุตรว่า " ท่านผู้หาทุกข์มิได้ พวกเราได้พิจารณาดูตลอดมนุษยโลกเทวโลกแล้ว ไม่เห็นมีผู้อื่นนอกจากท่าน ที่จะสามารถทำลายถ้อยคำของพระเจ้ามิลินท์ได้ สามารถเชิดชูพุทธศาสนาไว้ได้ พระภิกษุสงฆ์จึงได้ขึ้นมาอ้อนวอนท่าน ขอท่านจงลงไปเกิดในมนุษยโลก ยกย่องพระพุทธศาสนาไว้เถิด "  
              การเตรียมการของคณะสงฆ์ต้องพึ่งพาพระอินทร์และมหาเสนเทพบุตร ไม่มีใครตอบปัญหาได้นอกจากมหาเสน นี่อะไรกัน ทำไมจึงกลายเป็นนิทานไป ทั้งๆที่เนื้อหาในมิลินทปัญหาก็คือเรื่องทั่วไปในพระพุทธศาสนา พระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาก็น่าจะตอบได้อยู่แล้ว ทำไมต้องมหาเสนเทพบุตร แต่เอาเถอะพระอรรถกถาจารย์ท่านแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นเป็นอุปมาว่า แม้พระอรหันต์ท่านก็ไม่ตอบปัญหาบางประการ ต้องอาศัยคนคู่เวรกันอย่างมหาเสนเทพบุตรและพระยามิลินท์ที่เคยเป็นศิษย์และอาจารย์กันมาก่อน

สงฆ์ลงทัณฑกรรมพระโรหนเถระ
              เมื่อมาถึงแล้วพระอัสสคุตตเถระจึงถามพระภิ กษุสงฆ์เหล่านั้นว่า " ดูก่อนท่านทั้งหลาย ภิกษุที่ไม่ได้มาในที่ประชุมสงฆ์นี้มีอยู่หรือ " 
              มีพระภิกษุองค์หนึ่งตอบว่า " มีอยู่ขอรับ คือพระโรหนเถระท่านไปเข้านิโรธสมาบัติ อยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ได้ 7 วันแล้ว พวกเราควรจะใช้ทูตไปหา " 
              พอดีในขณะนั้นพระโรหนเถระ ก็ออกจากนิโรธสมาบัติ นึกรู้ความประสงค์พระอรหันต์ทั้งหลายว่าต้องการพบเรา จึงได้หายวับจากภูเขาหิมพานต์ มาปรากฏที่ถ้ำรักขิตเลณะ ต่อหน้าพระอรหันต์ 100 โกฏิ จึงกล่าวขึ้นว่า " นี่แน่ะ ท่านโรหนะ เมื่อพระศาสนากำลังถูกกระทบกระเทือน เหตุไรท่านจึงไม่รู้จักช่วยเหลือไม่เหลียวแลกิจเหมือนสงฆ์ " 
              พระโรหนะจึงตอบว่า " เป็นเพราะข้าพเจ้ามิได้กำหนดจิตไว้ " 
              พระสงฆ์จึงบอกว่า " ถ้าอย่างนั้น พวกเราจะลงทัณฑกรรมท่าน เพราะเหตุที่ท่านไม่ได้ใส่ใจในกิจของพระศาสนา " 
              พระโรหนะจึงถามอีกว่า " จะลงทัณฑกรรมข้าพเจ้าอย่างไร  " 
              พระสงฆ์ตอบว่า " นี่แน่ะ ท่านโรหนะ มีบ้านพราหมณ์ตำบลหนึ่งชื่อว่า ชังคละ ข้างป่าหิมพานต์มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า โสนุตตระ อยู่ในบ้านนั้น เขาจะมีบุตรชื่อว่า นาคเสนกุมาร ท่านจงพยายามไปบิณฑบาตที่ตระกูลนั้น ให้ตลอด 7 ปีกับ 10 เดือน นำเอานาคเสนกุมารออกบรรพชาให้ได้ เมื่อนาคเสนกุมารได้บรรพชาแล้วท่านจึงจะพ้นจากทัณฑกรรมนั้น" 
              ท่านแสดงอุปมาในเรื่องนี้ไว้อย่างไร เพราะเข้าฌานจนไม่สนใจภาระของสงฆ์ ในปัจจุบันเรามีพระสายวิปัสสนาธุระ และคันถธุระ พระวิปัสสนาไม่ค่อยสนใจความเป็นไปของคณะสงฆ์มุ่งแต่ความสงบสุขส่วนตน การบริหารกจการปล่อยให้เป็นภาระของพระคันถธุระ แต่พระโรหณะท่านก็ยอมรับการลงฑัณฑ์

มหาเสนะเทพบุตรจุติจากเทวโลก
              ฝ่ายมหาเสนะเทพบุตร ก็ได้จุติจากเทวโลกลงมาถือกำเนิดในครรภ์ของนางพราหมณี ในขณะนั้นก็มีอัศจรรย์ 3 ประการปรากฏขึ้น คือ
                            1. บรรดาอาวุธทั้งหลาย ได้รุ่งเรืองเป็นแสงสว่าง 
                            2. ฝนตกใหญ่นอกฤดูกาล
                            3. เมฆใหญ่ตั้งขึ้น 
              (ตอนนี้ใน ฉบับพิศดาร กล่าวว่า อัศจรรย์ทั้งนี้ด้วยบารมีของมหาเสนะเทพบุตรที่ได้กระทำมา บอกเหตุที่เกิดมานี้ว่า จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ไปถ้วน 5000 พระวัสสา)
              ฉบับส.ธรรมภักดี ได้บรรยายต่อไปว่า  “ลำดับนั้น พระโรหนเถระก็ไปเที่ยวบิณฑบาตที่ตระกูลนั้น เริ่มแต่วันนั้นไปตลอด 7 ปี กับ 10 เดือน แต่ไม่ได้อะไรเลย เพียงแต่การยกมือไหว้ หรือการแสดงความเคารพก็ไม่ได้ ได้แต่การด่าว่าเท่านั้น เมื่อล่วงมาจาก 7 ปีนั้น จึงได้เพียงคำไต่ถามเท่านั้นคือ อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพราหมณ์นั้นกลับมาจากดูการงานนอกบ้าน ก็ได้พบพระเถระเดินสวนมา จึงถามว่า " นี่แน่ะ บรรพชิต ท่านได้ไปที่บ้านเรือนของเราหรือ " 
              พระเถระตอบว่า " ได้ไป " พราหมณ์จึงถามต่อไปว่า " ท่านได้อะไรบ้างหรือ " 
              ตอบว่า " ได้ " พราหมณ์นั้นนึกโกรธ จึงรีบไปถามพวกบ้านว่า "พวกท่านได้ให้อะไรแก่บรรพชิตนั้นหรือ"
เมื่อพวกบ้านตอบว่า ไม่ได้ให้อะไรเลย พราหมณ์ก็นิ่งอยู่ 
              เวลารุ่งขึ้นวันที่สองพราหมณ์นั้นจึงไปยืนอยู่ที่ประตูบ้านด้วยคิดว่าวันนี้แหละบรรพชิตนั้นมา เราจักปรับโทษมุสาวาทให้ได้ พอพระเถระไปถึง พราหมณ์นั้นก็กล่าวขึ้นว่า "นี่แน่ะ บรรพชิต เมื่อวานนี้ท่านไม่ได้วัตถุสิ่งใดไปจากบ้านเรือนของเราเลย ทำไมจึงบอกว่าได้ การกล่าวมุสาวาทเช่นนี้ สมควรแก่ท่านแล้วหรือ " 
              พระโรหนะจึงตอบว่า " พราหมณ์ เราเข้าสู่บ้านเรือนของท่านตลอด 7 ปีกับ 10 เดือนแล้วยังไม่เคยได้อะไรเลย พึ่งได้คำถามของท่านเมื่อวานนี้เพียงคำเดียวเท่านั้น เราจึงตอบว่าได้"
              เมื่อพราหมณ์ได้ฟังดังนี้ก็ดีใจ จึงคิดว่า พระองค์นี้เพียงแต่ได้คำปราศรัยคำเดียวเท่านั้น ก็ยังบอกในที่ประชุมชนว่าได้ ถ้าได้ลาภอย่างใดอย่างหนึ่งไป จะไม่สรรเสริญหรือ นี่เพียงแต่ได้คำถามคำเดียวเท่านั้น ก็ยังสรรเสริญ เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงสั่งพวกบ้านว่า พวกท่านจงเอาข้าวของเราถวายบรรพชิตนี้ วันละ 1 ทัพพีทุกวันไป ต่อนั้นพราหมณ์ก็เลื่อมใสต่ออิริยาบถ และความสงบเสงี่ยมของพระเถระยิ่งขึ้นเป็นลำดับไป จึงขอนิมนต์ว่า " ขอท่านจงมาฉันอาหารประจำ ที่บ้านเรือนของข้าพเจ้าทุกเช้าไป"
พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่พราหมณ์ก็ได้ถวายอาหารคาวหวาน อันเป็นส่วนของตนแก่พระเถระทุกเช้าไป พระเถระฉันแล้วเวลาจะกลับ ก็กล่าวพระพุทธพจน์วันละเล็กน้อยทุกวันไป 
              คราวนี้จะย้อนกล่าวถึงนางพราหมณีนั้นอีก กล่าวคือ นางพราหมณีนั้นล่วงมา 10 เดือน ก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า"นาคเสน"


 

นาคเสนกุมารศึกษาไตรเพท

              เมื่อนาคเสนกุมารเติบโตขึ้นอายุได้ 7 ขวบ มารดาบิดาก็ให้ศึกษาไตรเพททั้ง 3 กับศิลปศาสตร์อื่น ๆ สำหรับตระกูลพราหมณ์ร่ำเรียนสืบๆ กันมา ส่วนว่าโสนุตตรพราหมณ์ผู้เป็นบิดา จึงให้เชิญพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์มาที่เรือนแล้วก็ให้ทรัพย์ประมาณ 1 พันกหาปณะเป็นค่าจ้าง 
              ฝ่ายนาคเสนกุมารฟังพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกวิชาเพียงครั้งเดียว ก็สามารถจำได้จบครบทุกประการ จึงได้มีวาจาถามว่า " ข้าแต่บิดา คำสอนสำหรับสกุลพราหมณ์สิ้นสุดเท่านี้หรือ..หรือว่ายังมีอีกประการใดเล่า " 
              พราหมณ์ผู้เป็นบิดาจึงตอบว่า " นี่แน่ะนาคเสน คำสอนสำหรับพราหมณ์มาแต่ก่อนเก่านั้น ก็จบเพียงแค่นี้ "
เมื่อนาคเสนร่ำเรียนศึกษาจากสำนักพราหมณาจารย์แล้ว ก็ให้ทรัพย์ค่าจ้างบอกวิชาแล้ว ได้รับเอาซึ่งกำใบลานที่อาจารย์ให้เป็นกำใบลานหนังสือพราหมณ์ สำหรับที่จะได้ดูและอ่านการไตรเพท และศิลปศาสตร์ทุกสิ่งอัน
              อยู่มาวันหนึ่ง นาคเสนกุมารจึงลงจากปราสาท ไปยืนพิจารณาเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุด แห่งไตรเพททั้ง 3 กับศิลปศาสตร์ทั้งปวง อยู่ที่ศาลาข้างประตูทุกวันไปจนตลอดถึง 3 วัน เมื่อไม่เห็นมีแก่นสารอันใด จึงเกิดความไม่สบายใจว่า สิ่งเหล่านี้เปล่าทั้งนั้นไม่มีสาระประโยชน์อันใดเลย

พระโรหนะไปนำนาคเสนกุมารเพื่อจะให้บรรพชา
              ในคราวนั้น พระโรหนเถระ นั่งอยู่ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ได้ทราบความคิดของนาคเสนกุมาร จึงหายวับไปปรากฏขึ้นข้างหน้านาคเสนกุมารทันที พอนาคเสนกุมารได้แลเห็น ก็เกิดความร่าเริงดีใจว่าบรรพชิตองค์นี้คงรู้จักสิ่งที่เป็นสาระเป็นแน่ จึงถามขึ้นว่า" ผู้มีศีรษะโล้นนุ่งเหลืองเช่นนี้เป็นอะไร " 
              พระเถระตอบว่า " เป็นบรรพชิต " 
              " เหตุไรจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต "
              " เหตุว่าเว้นเสียซึ่งบาป เว้นเสียซึ่งโทษจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต" 
              " ท่านรู้จักศิลปศาสตร์บ้างหรือ  "  พระเถระตอบว่า " รู้จัก "
              " ศิลปศาสตร์อันใดที่สูงสุดในโลกมีอยู่ท่านจะบอกศิลปศาสตร์อันนั้นให้แก่กระผมได้หรือ "
              " นี่แน่ะ พ่อหนู บรรพชิตทั้งหลายเห็นความกังวล 16 ประการ จึงได้โกนผมโกนหนวดเสีย ความกังวล 16 ประการนั้นคือ
                            1. กังวลด้วยอาภรณ์ คือเครื่องประดับ 
                            2. กังวลด้วยช่างทอง 
                            3. กังวลด้วยการขัดสี
                            4. กังวลด้วยการเก็บเครื่องประดับ
                            5. กังวลด้วยการฟอกผมสระผม
                            6. กังวลด้วยดอกไม้
                            7. กังวลด้วยของหอม
                            8. กังวลด้วยเครื่องอบ
                            9. กังวลด้วยสมอ
                            10. กังวลด้วยมะขามป้อม 
                            11. กังวลด้วยดินเหนียว ( สมอ มะขามป้อม ดิน ทั้ง 3 ประการนี้ ทำเป็นยาสระผม )
                            12. กังวลด้วยเข็มปักผม
                            13. กังวลด้วยผ้าผูกผม
                            14. กังวลด้วยหวี
                            15. กังวลด้วยช่างตัดผม
                            16. กังวลด้วยการอาบน้ำชำระผม 
              รวมเป็น 16 ประการด้วยกัน ในเส้นผมแต่ละเส้นย่อมมีหมู่หนอนอาศัยอยู่ที่รากผม ทำให้รากผมเศร้าหมอง คนทั้งหลายได้เห็นผมเศร้าหมองก็เศร้าใจ เสียใจ ไม่สบายใจ เมื่อมัวแต่ยุ่งอยู่กับผมด้วยเครื่องกังวล 16 อย่างนี้ ศิลปศาสตร์ที่สุขุมยิ่งก็เสียไป เพราะฉะนั้นแหละ บรรพชิตทั้งหลายจึงต้องโกนผมโกนหนวดทิ้งเสีย "

              "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อนี้น่าอัศจรรย์เพราะเมื่อคนทั้งหลายกังวลอยู่กับเครื่องกังวล 16 ประการอย่างนี้ ศิลปศาสตร์ที่สุขุมยิ่ง ตัองไม่ปรากฏเป็นแน่ ข้อนี้กระผมเชื่อ แต่ขอถามอีกทีว่า เหตุไรผ้านุ่งผ้าห่มขอท่านจึงไม่เหมือนกับคนอื่นๆ" 
              " อ๋อ..การที่ผ้านุ่งผ้าห่มของเราไม่เหมือนคนอื่น ๆนั้น เพราะว่าผ้านุ่งผ้าห่มอย่างพวกคฤหัสถ์ทำให้เกิดความกำหนัดยินดีในสังขารร่างกายได้ง่าย ทำให้มีภัยอันตรายบังเกิดขึ้น เครื่องนุ่งห่มของเราจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ " 
              " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่ง ให้แก่กระผมได้หรือ "
              " ได้…พ่อหนู ! "
              " ถ้าได้ขอได้โปรดสอนให้เดี๋ยวนี้เถิด "
              " เออ…พ่อหนู เวลานี้เรายังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้าน ยังสอนให้ไม่ได้หรอก " 
              ลำดับนั้น นาคเสนกุมารจึงรับเอาบาตรของพระโรหนเถระ แล้วนิมนต์ให้ขึ้นไปฉันที่เรือน เมื่อฉันแล้วจึงกล่าวว่า
              " ขอท่านจงบอกศิลปศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผมเดี๋ยวนี้เถิด"
              " โอ…พ่อหนู ! ตราบใดที่พ่อหนูยังมีกังวลอยู่ ตราบนั้นเรายังสอนให้ไม่ได้ ต่อเมื่อพ่อหนูขออนุญาตมารดาบิดาแล้ว ถือเพศอย่างเรา คือโกนผมนุ่งเหลืองห่มเหลืองเหมือนเรา เราจึงจะสอนให้ได้"
              นาคเสนกุมารจึงไปขออนุญาตต่อมารดาบิดา เมื่อมารดาบิดาไม่อนุญาต จึงนอนอดอาหาร ต่อเมื่อมารดาบิดาอนุญาต จึงบอกพระเถระว่า " กระผมจักถือเพศอย่างท่าน ขอท่านจงสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผม"
พระโรหนเถระจึงพานาคเสนกุมารกลังไปที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ค้างอยู่คืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงพาไปหาพระอรหันต์ 100 โกฏิ ที่อยู่ที่ถ้ำรักขิตเลณะ

นาคเสนกุมารบรรพชา
              ในคราวนั้น พระอรหันต์ 100 โกฏิก็ได้ให้นาคเสนกุมารบรรพชาอยู่ที่ถ้ำรักขิตเกณะ  นาคเสนกุมารบรรพชาแล้ว จึงกล่าวต่อพระโรหนเถระว่า " กระผมได้ถือเพศเหมือนท่านแล้ว ขอท่านจงสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งให้กระผมเถิด"
พระโรหนเถระจึงคิดว่า เราจะสอนอะไรก่อนดีหนอ นาคเสนนี้มีปัญญาดี เราควรจะสอนอภิธรรมปิฏกก่อน ครั้งคิดแล้วจึงบอกว่า " นาคเสน เธอจงตั้งใจเรียนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งของเรา" 
              กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เริ่มแสดงอภิธรรมทั้ง 7 พระคัมภีร์คือคัมภีร์อภิธรรมสังคิณี ว่า " กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา " เป็นต้น และ คัมภีร์วิภังค์ ธาตุกถาปุคคลบัญญติ กถาวัตถุ ยมกะ ปัฏฐาน เป็นลำดับไป นาคเสนสามเณรก็สามารถจำได้สิ้นเชิง 
              ตอนนี้ฉบับพิสดาร พรรณนาว่า “ในขณะที่ฟังเพียงครั้งเดียว จึงได้กล่าวว่า ขอได้โปรดบอกเพียงเท่านี้ก่อนเถิด เมื่อกระผมท่องจำได้แม่นยำแล้ว จึงค่อยบอกให้มากกว่านี้อีก  ต่อมานาคเสนสามเณรก็ได้นำความรู้ที่เรียนมาพิจารณา เช่นในบทว่า กุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อกุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อัพยากตา ธัมมา ได้แก่อะไร ดังนี้ เป็นต้น
              ท่านได้พิจารณาเพียงครั้งเดียวก็คิดเห็นเป็นกรรมฐานว่ามีความหมายอย่างนั้นๆ ด้วย ปัญญาบารมีที่ได้บำเพ็ญไว้มาแต่ชาติก่อนโน้น เมื่อคิดพิจารณาธรรมะอย่างถ้วนถี่แล้วนาคเสนสามเณรจึงได้เข้าไปกราบนมัสการพระอรหันต์ทั้งหลาย พร้อมกับกล่าวว่า" กระผมจะขอแสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ตามที่ได้เรียนมาจากพระอุปัชฌาย์โดยขออธิบายความหมายให้ขยายออกไปขอรับ" 
              พระอรหันต์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ จึงอนุญาตให้สามเณรแสดงได้ตามความประสงค์ 
              สามเณรได้วิสัชนาอยู่ประมาณ 7 เดือนจึงจบ ในขณะนั้น เหตุอัศจรรย์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นคือ แผ่นดินใหญ่ก็เกิดหวั่นไหว เทพดานางฟ้าทั้งหลายก็แสดงความชื่นชมยินดี พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ ทุกท่านต่างก็ร้องซ้องสาธุการ สรรเสริญปัญญาบารมีของสามเณร ได้โปรยปรายผงจันทน์ทิพย์และดอกไม้ทิพย์ บ้างก็เลื่อนลอย บ้างก็ปรอย ๆ เป็นฝอยฝนตกลงมา หอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วบริเวณนั้น พระอรหันต์ 100 โกฏิก็ให้สาธุการแสดงความชื่นชมยินดีว่า
แต่นี้ไปศาสนาขององค์สมเด็จพระจอมไตร จะรุ่งเรืองวัฒนาถาวรตลอดไป

นาคเสนอุปสมบท
              เมื่ออยู่นานมาจนกระทั่งนาคเสนสามเณรมีอายุครบอุปสมบทแล้ว พระอรหันต์ 100 โกฏิ ก็ให้อุปสมบทเป็น พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาในเวลาเช้า พระนาคเสนครองบาตรจีวร จะเข้าไปบิณฑบาตก็นึกขึ้นว่า พระอุปัชฌาย์ของเราเห็นจะเปล่าจากคุณธรรมอื่น ๆ คงรู้แต่อภิธรรมเท่านี้ อย่างอื่นคงไม่รู้
              ขณะนั้นพระโรหนเถระ จึงออกมากล่าวขึ้นว่า  " นี่แน่ะ นาคเสน การนึกของเธอไม่สมควรเลย เหตุไรเธอจึงนึกดูถูกเราอย่างนี้ " 
              ฝ่ายพระนาคเสนก็นึกอัศจรรย์ใจว่าพระอุปัชฌาย์ของเราเป็นบัณฑิตแท้ เพียงแต่เรานึกในใจก็รู้ เราจักต้องขอโทษ ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวขึ้นว่า " ขอจงอดโทษให้กระผมด้วยเถิด กระผมจะไม่นึกอย่างนี้อีก จะไม่ทำอย่างนี้อีก " 
              "นาคเสน เรายังอดโทษให้ไม่ได้ ต่อเมื่อเธอทำให้พระเจ้ามิลินท์ ผู้เสวยราชย์อยู่ในสาคลนครเลื่อมใสได้ ด้วยการแก้ปัญหานั้นแหละ เราจึงจะอดโทษให้ "
              " ท่านขอรับ อย่าว่าแต่พระเจ้ามิลินท์เพียงองค์เดียวเลย ต่อให้พระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้นเรียงตัวกันมาถามปัญหา กระผมก็จะทำให้เลื่อมใสได้สิ้น ขอท่านจงได้อดโทษให้กระผมเถิด" 
              เมื่ออ้อนวอนอย่างนี้ถึง 3 ครั้งก็ไม่เป็นผล จึงถามว่า " ในพรรษานี้ ท่านจะให้กระผมอยู่ที่สำนักนี้ หรือว่าจะให้กระผมไปอยู่ในสำนักผู้ใดขอรับ " 
              พระโรหนเถระจึงบอกว่า " เธอจงไปหา พระอัสสคุตตเถระ ถามถึงความสุขของท่าน และบอกความทุกข์สุขของเราแทนเรา แล้วอยู่ในสำนักของท่านเถิด"
              พระนาคเสนจึงอำลาพระอุปัชฌาย์ ออกเดินทางไปหาพระอัสสคุตตเถระ กราบไหว้แล้วก็ถามถึงทุกข์สุขตามคำสั่งของพระอุปัชฌาย์ แล้วขออาศัยอยู่ พระอัสสคุตตเถระจึงถามว่า" เธอชื่ออะไร "
              " กระผมชื่อนาคเสนขอรับ "
              พระอัสสคุตต์ใคร่จะลองปัญญา จึงถามว่า " ก็ตัวเราล่ะ ชื่ออะไร "
              " พระอุปัชฌาย์ของกระผม รู้จักชื่อของท่านแล้วขอรับ" 
              " อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร "
              " อุปัชฌาย์ของกระผมท่านรู้อยู่แล้ว "
              " ดีละ ๆ นาคเสน "
              พระอัสสคุตต์จึงรู้ว่า พระภิกษุองค์นี้มีปัญญา จึงคิดว่า พระนาคเสนนี้ปรารถนาจะเรียนพระไตรปิฎก เราได้สำเร็จมรรคผลก็จริงแหล่ แต่ทว่าฝ่ายพระไตรปิฎกรู้เป็นเพียงกลางๆ ก็อย่าเลย เราจะกระทำกิริยาไม่เจรจาด้วย ทำทีเหมือนจะลงพรหมทัณฑ์ด้วยภิกษุรูปนี้ ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงได้ลงพรหมทัณฑ์คือไม่พูดกับพระนาคเสนถึง 3 เดือน 
              แต่พระนาคเสนก็ปรนนิบัติได้ปัดกวาดบริเวณ และตักน้ำใช้น้ำฉันไว้ถวาย ตลอดทั้ง 3 เดือน ส่วนพระอัสสคุตต์จึงกวาดบริเวณด้วยตนเอง และล้างหน้าด้วยน้ำอื่น

พระนาคเสนแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
              พระอัสสคุตต์นั้น มีอุบาสิกาคนหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐาก มาประมาณ 30 เดือนนั้นไปแล้ว อุบาสิกานั้นจึงออกไปถามพระเถระว่า
" ในพรรษานี้มีภิกษุอื่นมาอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าบ้างหรือ "
              พระเถระก็ตอบว่า " มี คือพระนาคเสน "
              อุบาสิกานั้นจึงกล่าวว่า " ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้เช้า ขอพระผู้เป็นเจ้ากับพระนาคเสน จงเข้าไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านของโยมด้วย"
              พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่
              พระอัสสคุตตเถระมิได้สนทนากับพระนาคเสน จนตลอดถึงวันปวารณาออกพรรษา 
              เช้าวันนั้นพระเถระจำต้องเจรจากับพระนาคเสน จึงกล่าวว่าอุบาสิกาเขามานิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าด้วยกัน แล้วจึงพา

พระนาคเสนเข้าไปฉันที่บ้านของอุบาสิกา
              ครั้นฉันแล้ว จึงบอกให้พระนาคเสนอนุโมทนา ส่วนตัวท่านเองขอกลับไปก่อน ฝ่ายอุบาสิกานั้นจึงกล่าวต่อพระนาคเสนว่า" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมแก่แล้ว ขอท่านจงอนุโมทนาด้วยคาถาที่ลึกซึ้งเถิด" 
              พระนาคเสนก็อนุโมทนาด้วยคาถาอันลึกซึ้ง เมื่อจบคำอนุโมทนาลง อุบาสิกานั้นก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล ในขณะนั้น พระอัสสคุตตเถระกำลังนั่งอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ในวิหาร ได้ทราบความเป็นไปด้วยทิพจักขุญาณ จึงให้สาธุการว่า" สาธุ..สาธุ..นาคเสน! ในที่ประชุมชนทั้งสอง คือมนุษย์และเทวดา เธอได้ทำลายให้คลายจากความสงสัย ด้วยลูกศรเพียงลูกเดียว กล่าวคือได้แสดงธรรมเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้ผู้รับฟังบรรลุมรรคผลได้ สาธุ..เราขอชมสติปัญญาของเธอนี้ประเสริฐนักหนา "
              ในเวลาเดียวกันนั้น เหล่าเทพยดานางฟ้าอีกหลายพัน ต่างก็ได้ตบมือสาธุการ ผงจันทน์ทิพย์ในสวรรค์ ก็โปรยปรายลงมาดังสายฝน ขณะเมื่อจบลงแห่งพระสัทธรรมเทศนานั้น
              ฝ่ายพระนาคเสนก็กลับไปกราบพระอัสสคุตตเถระแล้วนั่งอยู่ พระอัสสคุตตเถระจึงกล่าวว่า" ตัวเธอมาอยู่ที่นี่นานแล้ว จงไป              ขอเรียนพระพุทธวจนะจากพระธรรมรักขิต ผู้อยู่ในอโศการามด้านทิศอุดร แห่งเมืองปาตลีบุตรนครเถิด"
              พระนาคเสนจึงเรียนถามว่า " ท่านขอรับ เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลจากนี้สักเท่าใด? "
              " ไกลจากนี้ประมาณ 100 โยชน์ "
              " เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลมาก อาหารในระหว่างทางก็จะหาได้ยาก กระผมจะไปได้อย่างไรขอรับ "
              " เธอจงไปเถิด ในระหว่างทางเธอจะได้อาหารล้วนแต่ข้าวสาลีไม่มีเมล็ดหักพร้อมทั้งกับข้าวอีกเป็นอันมาก"
              พระนาคเสนจึงกราบลาพระอัสสคุตต์แล้วออกเดินทางไปตามลำดับ
              พระนาคเสนไปศึกษาพระไตรปิฏกกับพระธรรมรักขิต
              ในคราวนั้นมีเศรษฐีชาวเมืองปาตลีบุตรคนหนึ่ง ได้เดินทางมาค้าขายตามชนบททั้งหลาย ครั้นขายของแล้วก็บรรทุกสินค้าใหญ่น้อยลงในเกวียน 500 เล่ม ออกเดินทางกลับเมืองปาตลีบุตรได้เห็นพระนาคเสนออกเดินทางไป จึงให้หยุดเกวียนไว้ แล้วเข้าไปกราบนมัสการไต่ถามว่า " พระคุณเจ้าจะไปไหนขอรับ "
              พระนาคเสนตอบว่า " อาตมาจะไปเมืองปาตลีบุตร "
              เศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงกล่าวว่า" ถ้าอย่างนั้นนิมนต์ไปกับโยมเถิดจะสะดวกดี "
              " ดีแล้ว คหบดี "
              ลำดับนั้น เศรษฐีจึงจัดอาหารถวายเวลาฉันเสร็จแล้ว เศรษฐีจึงถามว่า" พระคุณเจ้าชื่ออะไรขอรับ "
              " อาตมาชื่อนาคเสน "
              " ท่านรู้พระพุทธวจนะหรือ "
              " อาตมารู้เฉพาะอภิธรรม "
              " เป็นลาภอันดีของโยมแล้ว โยมก็ได้เรียนอภิธรรม ท่านก็รู้อภิธรรม ขอท่านจงแสดงอภิธรรมให้โยมฟังสักหน่อย "
              เมื่อพระนาคเสนแสดงอภิธรรมจบลงเศรษฐีก็ได้สำเร็จพระโสดาบัน แล้วพากันออกเดินทางต่อไป ครั้งไปถึงที่ใกล้เมืองปาตลีบุตร เศรษฐีจึงกล่าวว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ทางนั้นเป็นทางไปสู่อโศการาม พระผู้เป็นเจ้าจงไปทางนี้เถิด แต่ทว่าอย่าเพิ่งไปก่อน ขอนิมนต์ให้พรแก่โยมสักอย่างหนึ่งเถิด "
              พระนาคเสนตอบว่า " อาตมาเป็นบรรพชิต จักให้พรอะไรได้ "
              " พรใดที่สมควรแก่สมณะ ขอท่านจงให้พรนั้น "
              " ถ้ากระนั้นโยมจงรับเอาพร คือการกุศล อย่าประมาทลืมตนในการกุศล พรอันนี้มีผลโดยสุจริต "
              ขณะนั้นเศรษฐีจึงถวายผ้ากัมพลพร้อมกับบอกว่า" ขอท่านจงกรุณารับกัมพลอันยาว 16 ศอก กว้าง 8 ศอก ของโยมนั้นไปนุ่งห่มเถิด "
              พระนาคเสนจึงรับเอาผ้านั้นไว้ ส่วนว่าเศรษฐีถวายนมัสการแล้ว จึงกราบลามาสู่ปาตลีบุตรนคร ส่วนพระนาคเสนก็ออกเดินทางไปสู่สำนักพระธรรมรักขิตที่อโศการาม กราบไหว้แล้วจึงเรียนว่า" ขอท่านได้โปรดสอนพระพุทธวจนะให้กระผมด้วยเถิดครับ"

ศึกษาร่วมกับภิกษุชาวลังกา
              ในคราวนั้น ยังมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าพระติสสทัตตะ ได้เรียนพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ในเมืองลังกาจบแล้วปรารถนาจะเรียนพระพุทธวจนะอันเป็นภาษามคธ จึงโดยสารสำเภามาสู่สำนักพระธรรมรักขิตนี้ เมื่อกราบไหว้แล้วจึงกล่าวว่า"กระผมมาจากที่ไกล ขอท่านจงบอกพระพุทธวจนะให้แก่กระผมด้วยเถิด"
              " เธอกับพระติสสทัตตะควรเรียนพระพุทธวจนะด้วยกัน จะได้เป็นเพื่อนสาธยายด้วยกัน อย่าร้อนใจไปเลย "
พระนาคเสนจึงกล่าวว่า" กระผมมิอาจที่จะเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกันด้วยคำภาษาสิงหลได้ ด้วยพระติสสทัตตะนี้เจรจาเป็นภาษาสิงหล "
              เป็นคำถามว่าเหตุไฉนเมื่อพระอาจารย์ว่า จะให้พระติสสทัตตะกับพระนาคเสน เรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน พระนาคเสนนั้นว่า ไม่เรียนพร้อมกัน ด้วยพระติสสทัตตะกล่าวคำภาษาสิงหล (อันเป็นภาษาชาวลังกา)
              แก้ความนั้นว่า พระนาคเสนเข้าใจว่า อาจารย์คงจะบอกพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ด้วยภาษาสิงหลนี้เป็นคำวิเศษ กลัวว่าชาวประเทศสาคลราชธานีจะไม่เข้าใจ พระนาคเสนนั้นตั้งใจจะเรียนพระพุทธวจนะที่จะให้เข้าใจของชาวสาคลนคร มีพระเจ้ามิลินท์เป็นประธาน
              พระธรรมรักขิตจึงบอกขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า
              " เธอจงเรียนพร้อมกับพระติสสทัตตะเพราะพระติสสทัตตะเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ผู้ไม่รู้จักภาษา "
              พระนาคเสนจึงคิดได้ว่าอาจารย์คงไม่บอกเป็นภาษาสิงหลดอก อาจจะบอกเป็นภาษามคธ เราผิดเสียแล้ว จะต้องขอโทษพระติสสทัตตะ
              เมื่อพระนาคเสนคิดได้อย่างนั้น จึงกราบขอโทษแล้วเริ่มเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน โดยเรียนอยู่ 3 เดือนก็จบพระไตรปิฎก ซักซ้อมอีก 3 เดือนก็ชำนาญ

พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์
              ฝ่ายพระธรรมรักขิตเห็นพระนาคเสนยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงมีเถรวาจาเป็นทางจะให้รู้ โดยคำอุปมาว่า " นี่แน่ะ นาคเสน ธรรมดาว่า นายโคบาลได้แต่เลี้ยงโค ไม่ได้รู้รสแห่งนมโค มีแต่ผู้อื่นได้ดื่มรสแห่งนมโคฉันใด ปุถุชนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ถึงแม้จะทรงพระไตรปิฎก ก็มิได้รู้รสแห่งสามัญผลคือมรรคผลอันควรแก่สมณะ เปรียบเหมือนกับนายโคบาล ที่รับจ้างเลี้ยงโคและรีดนมโคขาย แต่มิได้เคยลิ้มชิมรสแห่งนมโค ฉันนั้น "
              พระนาคเสนได้ฟังคำเช่นนั้นก็เข้าใจ จึงมีวาจาว่า " คำสั่งสอนของท่านเท่านี้พอแล้วขอรับ "
              ท่านกล่าวเพียงเท่านี้แล้วก็ลามาสู่อาวาส ต่อมาก็ได้พยายามเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ในเวลากลางคืน อันเป็นวันที่พระธรรมขิตให้นัยนั้นเอง ในขณะที่พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์นั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินอันใหญ่นี้ก็บันลือลั่นหวั่นไหว ทั้งมหาสมุทรสาครก็ดีฟองนองละลอก ยอดภูเขาก็โอนอ่อนโยกคลอนไปมา เทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ ห่าฝนทิพย์จุณจันทน์และดอกไม้ทิพย์ ก็ตกลงมาบูชาในกาลนั้น



 

พระอรหันต์ให้ทูตไปตามพระนาคเสน

              เมื่อพระนาคเสนได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ 100 โกฏิก็ไปประชุมกันที่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาหิมพานต์ แล้วส่งฑูตไปตามพระนาคเสน เมื่อพระนาคเสนทราบแล้ว ก็หายวับจาก อโศการาม มาปรากฏข้างหน้าพระอรหันต์ 100 โกฏิ ที่ถ้ำรักขิตเลณะ ในภูเขาเขาหิมพานต์ กราบไหว้พระอรหันต์ทั้งหลายแล้วจึงถามว่า" เพราะเหตุไรขอรับ จึงให้ทูตไปตามกระผมมา "
              พระอรหันต์ผู้เป็นหัวหน้าตอบว่า " เป็นเพราะมิลินทราชาเบียดเบียนพวกเราด้วยการไต่ถามปัญหา เธอจงไปทรมานมิลินทราชานั้นเถิด "
              พระนาคเสนจึงเรียกว่า " อย่าว่าแต่มิลินทราชาเลยบรรดาพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่มีปัญหาเหมือนมิลินทราชานี้ จะซักถามปัญหาตื้นลึกประการใด กระผมจะแก้ให้สิ้นสงสัย ให้มีพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหา ขอพระเถรเจ้าทั้งหลายจงไปสู่สาคลนคร ด้วยความไม่สะดุ้งกลัวเถิด"

พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถามปัญหาพระอายุบาล
              ในคราวนั้น ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่งมีชื่อว่าพระอายุบาล ท่านเป็นผู้ชำนาญในนิกายทั้ง 5 (ฑีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตนิกาย ขุททกนิกาย)ได้อาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณ
              ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ทรงดำริว่า ราตรีนี้ดีมาก เราควรจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใดดีหนอ ใครหนอจะสามารถสนทนากับเราได้ ใครหนอจะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดำริแล้วก็โปรดมีพระราชโองการตรัสถาม พวกราชบริพารโยนกทั้ง 500 ก็กราบทูลว่า" มีพระเถระอยู่องค์หนึ่งชื่อว่าพระอายุบาล ท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีการแสดงธรรมวิจิตรมีปฏิภาณดี ชำนาญในนิกายทั้ง 5 อยู่ที่อสงไขยบริเวณ ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปถามปัญหาต่อพระอายุบาลเถิด พระเจ้าข้า "
              " ถ้าอย่างนั้นขอจงไปแจ้งให้พระผู้เป็นเจ้าทราบก่อน"
              ลำดับนั้นเนมิตติยอำมาตย์จึงใช้ให้คนไปแจ้งแก่พระอายุบาลว่า พระเจ้ามิลินท์จะเสด็จมาหาพระอายุบาลตอบว่า เชิญเสด็จมาเถิด

              ต่อจากนั้นพระเจ้ามิลินท์พร้อมกับหมู่โยนกเสนา 500 ก็เสด็จขึ้นรถไปที่อสงไขยบริเวณ เมื่อไปถึงจึงตรัสสั่งให้หยุดรถทรงไว้ เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่าเข้าสู่สำนักพระอายุบาล นมัสการแล้วกระทำปฏิสันถารโอภาปราศรัยกันไปมา จึงมีพระราชดำรัสตรัสถามว่า " ข้าแต่พระอายุบาล บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์เยี่ยมของท่าน "
              พระอายุบาลตอบว่า " ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร การบรรพชามีประโยชน์เพื่อจะได้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย"
              " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คฤหัสถ์ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ จะมีคุณวิเศษบ้างหรือไม่ "
              " ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ที่ประกอบไปด้วยความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยทรงศีล 5 หรือศีล 8 ไว้มั่นคง ให้ท่านและภาวนาอุตส่าห์ฟังธรรม ก็จัดว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่ตนเอง ดังตัวอย่างเมื่อครั้งองค์สมเด็จพระทศพรยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองพาราณสี โปรดประทานธรรมเทศนาพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ในป่าอิสิปตนมิคทายวัน
              ครั้นจบลงแล้วพรหมทั้ง 18 โกฏิได้สำเร็จมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พรหมทั้งหลายล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้
              ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เวสสันดรชาดก ขทิรังคชาดกราหุโลวาทสูตร และทรงแสดงธรรมที่ประตูสังกัสสครมีผู้สำเร็จมรรคผลประมาณ 20 โกฏิ คนทั้งหลายนั้น กับเทพยดาและพรหมทุกชั้น ล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น ไม่ใช่บรรพชิตเลย"กรรมของพระที่ถือธุดงค์
              เมื่อพระอายุบาลแก้ไขดังนี้ พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า " ข้าแต่ท่านอายุบาล ถ้าอย่างนั้นบรรพชาก็ไม่มีประโยชน์อะไร พวกสมณะทั้งหลายที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ที่ได้บรรพชารักษาธุดงค์ต่างๆ ทำให้ลำบากกายใจนั้น ล้วนเป็นด้วยผลแห่งบาปกรรมในปางก่อนทั้งนั้น 
              นี่แน่ะ ท่านอายุบาล พวกพระที่ถือ " เอกา " ฉันจังหันหนเดียว แต่ชาติก่อนเป็นโจรเที่ยวปล้นชาวบ้าน ไปแย่งชิงอาหารเขาครั้งชาตินี้เล่าผลกรรมนั้นดลจิตใจฉันหนเดียว ดูบรรพชานี้ไม่มีผล ถึงจะรักษาศีลรักษาตบะ รักษาพรหมจรรย์ ก็ไม่มีผลอันใดประการหนึ่งเล่า 
              พวกที่ถือธุดงค์ " อัพโพกาส " คืออยู่ในกลางแจ้งนั้น เมื่อชาติก่อนต้องได้เป็นพวกปล้นบ้านเผาเรือนชาตินี้จึงไม่มีที่กินที่อยู่ ส่วนพวกถือ " เนสัชชิกธุดงค์ " คือถือไม่นอนเป็นกิจวัตร ได้แต่เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น พวกนั้นต้องเป็นโจรปล้นคนเดินทางไว้เมื่อชาติก่อน จับคนเดินทางได้แล้วก็ผูกมัดให้นั่งจับเจ่าอยู่เท่านั้น
              โยมคิดดูซึ่งธุงดค์นี้ไม่มีผล จะเป็นศีล จะเป็นตบะ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้ ก็จะบรรพชารักษาธุดงค์ไปเพื่ออะไร ปฏิบัติในเพศคฤหัสถ์ก็ได้มรรคผลเหมือนกัน เป็นคฤหัสถ์อยู่มิดีกว่าหรือ พระผู้เป็นเจ้า "
              เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้ พระอายุบาลก็ขี้คร้านที่จะตอบจึงนั่งนิ่งไป มิได้ถวายพระพรโต้ตอบต่อข้อปัญหานั้น พวกโยนก 500 จึงกราบทูลขึ้นว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า พระภิกษุองค์นี้เป็นนักปราชญ์ ได้สดับเล่าเรียนมาก แต่ไม่แกล้วกล้าที่จะวิสัชนา จึงมิได้โต้ตอบต่อคำถามของพระองค์"
              พระเจ้ามิลินท์ได้ฟังคำข้าราชบริพารทูลเฉลยก็หาสนใจไม่ ทอดพระเนตรดูแต่พระอายุบาล เห็นพระอายุบาลนิ่งอยู่ก็ทรงพระสรวล (หัวเราะ) พร้อมกับตบพระหัตถ์ตรัสเย้ยว่า " ชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว ไม่มีสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ใด ๆ อาจสนทนากับเราได้ อาจแก้ความสงสัยของเราได้เลย เห็นทีจะสิ้นสุดครั้งนี้แล้วหนอ… "
              ฝ่ายหมู่โยนกได้ฟังก็มิได้ตอบคำสนองพระราชโองการ 
              ส่วนพระอายุบาลได้เห็นอาการของพระเจ้ามิลินท์อย่างนั้น จึงคิดว่าเราเป็นสมณะไม่สมควรทะเลาะโต้เถียงกับใคร ที่จริงปัญหานี้จะวิสัชนาให้ฟังอีกก็ได้ แต่เป็นเพราะพระราชาถามปัญหาที่ไม่ควรถาม คิดอย่างนี้แล้ว จึงเก็บอาสนะลุกไปเสีย
หลังจากพระเจ้ามิลินท์เสด็จเข้าสู่พระนครแล้ว จึงทรงดำริว่า จะต้องมีภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งอาจสนทนากับเราได้อย่างไม่สงสัย จึงตรัสถามเนมิตติยอำมาตย์ขึ้นอีกว่า " นี่แน่ะ เนมิตติยะ ภิกษุผู้จะโต้ตอบกับเราได้ ยังมีอยู่อีกหรือไม่ "

กิตติศัพท์ของพระนาคเสน
              พระนาคเสนผู้ห้อมล้อมด้วยหมู่สมณะ ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวารชำนาญในพระไตรปิฎก สำเร็จไตรเพท มีความรู้แตกฉาน มีอาคมพร้อม สำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรมในศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาอันประกอบด้วยองค์ 9 ถึงแล้วซึ่งบารมีญาณ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งปวง เหมือนกับพญาเขาสิเนรุราช องอาจดั่งราชสีห์ มีใจสงบระงับเป็นอันดี มีปรีชาญาณล้ำเลิศ ย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์แก่พระพุทธศาสนาได้อย่างเด็ดขาด เป็นผู้ฉลาดในอุบายแนะนำ ชำนาญในอรรถธรรมทั้งปวง ไม่มีผู้ต่อสู้ ไม่มีผู้กั้นกางได้ ไม่มีผู้ล่วงเกินได้ ละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งปวง กระทำซึ่งแสงสว่างให้เกิด กำจัดเสียซึ่งความมืด เป็นผู้มีถ้อยคำประเสริฐ แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ล่วงลุถึงซึ่งบารมีญาณ มีปรีชาญาณเปรียบดังลูกคลื่นในท้องมหาสมุทร เป็นผู้สูงสุดกว่าหมู่คณะทั้งหลาย ล่วงรู้ลัทธิของหมู่คณะที่ไม่ดีทั้งหลาย ย่ำยี่เสียซึ่งลัทธิเดียร์ถีย์ทั้งปวงเป็นผู้ฉลาดเฉียงแหลมแกล้วกล้าสามารถ มากไปด้วยความสุขกายสบายใจเป็นผู้ทำสงฆ์ให้งดงาม เป็นพระอรหันต์ผู้ล้ำเลิศ เป็นที่สักการบูชาของพุทธบริษัททั้งสี่ เป็นผู้ที่จะแสดงบาลี อรรถกถา อันทำให้เกิดความเลื่อมใสแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้มีความรู้ ผู้ประกาศคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรเจ้า อันประกอบด้วยองค์ 9 ผู้จะเชิดชูซึ่งแก้วอันประเสริฐในพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ เป็นผู้จะยกขึ้นซึ่งเครื่องบูชาพระธรรมผู้จะตั้งขึ้นซึ่งยอดพระธรรม ผู้จะยกขึ้นซึ่งธงชัยคือพระธรรมผู้จะเป่าสังข์คือพระธรรม ผู้จะตีกลองคือพระธรรมให้นฤนาท ผู้จะดีดกระจับปี่สีซอ โทน รำมะนา ดนตรี อันได้แก่อริยสัจ 4เป็นผู้ที่จะบันลือเสียงดังพญาช้าง พญาอุสุภราช พญาราชสีห์ ผู้จะทำให้โลกเอิบอิ่มด้วยห่าฝนอันใหญ่ คือพระธรรมให้พิลึกกึกก้อง เรืองรองดังสายฟ้าด้วยญาณปรีชา

พระนาคเสนไปถึงอสงไขยบริเวณ
              เมื่อพระนาคเสนได้กราบลาพระอรหันต์ 100 โกฏิแล้ว ก็ได้จาริกไปตามคามนิคมชนบท เทศน์โปรดประชาชนทั้งหลายโดยลำดับ ก็บรรลุถึงซึ่งสาคลนครอันเป็นที่ประทับของพระเจ้ามิลินท์ ผู้เป็นปิ่นแห่งโยนก พระผู้เป็นเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ อันเป็นที่อยู่แห่งพระอายุบาลในกาลนั้น 
              เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า  “พระนาคเสนเถระผู้เป็นพหูสูต มีการแสดงธรรมประเสริฐ มีสติปัญญาสุขุมคัมภีรภาพ แกล้วกล้าสามารถในที่ประชุมชนฉลาดในเหตุผลทั้งปวง มีปฏิภาณว่องไวหาผู้เปรียบมิได้ ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกอันประเสริฐ มีหมู่พระภิกษุสงฆ์ล้วนแต่ทรงพระไตรปิฎกห้อมล้อมเป็นบริวาร ได้ไปถึงอสงไขยบริเวณ แล้วพักอยู่ในที่นั้น
พระนาคเสนเถระนั้น ห้อมล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม เที่ยงตรงดังตาชั่ง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด เหมือนกับพญาไกรสรราชสีห์ในป่าใหญ่ฉะนั้น 
              พระนาคเสนนั้นเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มีความฉลาดรอบคอบในสิ่งที่ควรและไม่ควรทั้งปวงเป็นผู้ประกาศซึ่งอรรถธรรมอันล้ำเลิศ มีคุณธรรมปรากฏไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น เป็นพหูสูตทรงพระไตรปิฎก ไม่มีผู้เสมอเหมือนดังนี้
ในคราวนั้น เทวมันติอำมาตย์ก็ได้ฟังข่าวเล่าลือ ซึ่งเกียรติคุณของพระนาคเสนดังแสดงมา จึงกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า"ขอได้โปรดก่อนเถิดมหาราชเจ้า บัดนี้มีข่าวเล่าลือว่า มีพระภิกษุองค์หนึ่งชื่อว่านาคเสน เป็นผู้แสดงธรรมอันวิเศษ มีสติปัญญาเฉียบแหลม แกล้วกล้าสามารถในที่ทั้งปวงเป็นผู้สดับเล่าเรียนมาก มีถ้อยคำไพเราะเสนาะโสต มีปฏิภาณดี แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ถึงซึ่งบารมีญาณ ไม่มีเทพยดาอินทร์พรหม ผู้ใดผู้หนึ่งจะสู้ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ พระเจ้าข้า "
              เมื่อพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสดับคำว่า " พระนาคเสน " เท่านี้ก็ตกพระทัยกลัว มีพระโลมาลุกชันขึ้นทันที พระบาทท้าวเธอจึงตรัสถามเทวมันติยอำมาตย์ว่า" เวลานี้พระนาคเสนอยู่ที่ไหน เราใครเห็น ขอให้พระนาคเสนทราบ "
              เทวมันติยอำมาตย์จึงใช้ให้ทูตไปแจ้งแก่พระนาคเสนว่า พระเจ้ามิลินท์มีพระราชประสงค์จะพบเห็น เมื่อทูตไปแจ้งแก่พระเถระแล้ว พระเถระจึงตอบว่า ถ้าอย่างนั้นขอจงเสด็จมาเถิด

พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสน
              พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพารชาวโยนก 500 เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลนิกายเป็นอันมากเสด็จไปหาพระนาคเสนที่อสงไขยบริเวณ คราวนั้นพระนาคเสนกับพระภิกษุ 8 หมื่นองค์ ได้นั่งพักอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ พอพระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล จึงตรัสถามขึ้นว่า" บริวารเป็นอันมากนั้นของใคร "
              เทวมัติยะทูลตอบว่า" บริวารเป็นอันมากนั้น เป็นบริวารของพระนาคเสน พระเจ้าข้า"
              พอพระเจ้ามิลินท์ได้แลเห็นพระนาคเสนแต่ที่ไกลเท่านั้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นในพระทัย มีพระโลมชาติชูชัน(ขนลุก) เสียแล้วคราวนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงสะดุ้งตกพระทัยยิ่งนักหนา อุปมาดังพญาช้างถูกห้อมล้อมด้วยดาบและขอ และเหมือนกับนาคถูกครุฑห้อมล้อมไว้ เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่ถูกงูเหลือมล้อมไว้ เหมือนกับหมีถูกฝูงกระบือป่าห้อมล้อม เหมือนกับคนถูกพญานาคไล่ติดตาม เหมือนกับหมู่เนื้อถูกเสือเหลืองไล่ติดตาม เหมือนกับงูมาพบหมองู เหมือนกับหนูมาพบแมว เหมือนกับปีศาจมาพบหมอผี เหมือนกับพระจันทรเทพบุตรตกอยู่ในปากราหู เหมือนกับนกอยู่ในกรงเหมือนกับปลาอยู่ในลอบในไซ เหมือนกับบุรุษที่ตกเข้าไปในป่าสัตว์ร้าย เหมือนกับยักษ์ทำผิดต่อท้าวเวสสุวัณ เหมือนกับเทพบุตรผู้จะสิ้นอายุรู้ว่าตัวจะจุติ สุดที่จะกลัวตัวสั่นฉันใด  พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกล ให้รู้สึกหวาดกลัวอยู่ในพระทัยฉันนั้น
              แต่พระบาทท้าวเธอทรงนึกว่า อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูถูกเราได้เลย จึงได้ทรงแข็งพระทัยตรัสขึ้นว่า " นี่แน่ะ เทวมันติยะ เธออย่าได้บอกพระนาคเสนให้แก่เราเลยว่าเป็นองค์ใด เราจะให้รู้จักพระนาคเสนเอง "
              เทวมันติยะอำมาตย์จึงกราบทูลว่า " ขอให้โปรดทรงทราบเองเถิดพระเจ้าข้า "
              ในคราวนั้น พระนาคเสนเถระได้นั่งอยู่ในท่ามกลางของพระภิกษุ 8 หมื่นองค์ คือ นั่งอยู่ข้างหน้าของพระภิกษุ 4 หมื่นองค์ที่มีพรรษาอ่อนกว่า แต่นั่งอยู่ข้างหลังของพระภิกษุผู้แก่กว่าอีก 4 หมื่นองค์
              ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ก็ทอดพระเนตรดูไปทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ท่ามกลางของภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ก็ได้เห็นพระนาคเสนนั่งอยู่ท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ มีกิริยาองอาจดังราชสีห์ จึงทรงทราบว่าองค์นั้นแหละเป็นพระนาคเสน จึงตรัสถามขึ้นว่า " เทวมันติยะ องค์นั่งในท่ามกลางนั้น หรือ..เป็นพระนาคเสน" เทวมันติยะกราบทูลว่า" ถูกแล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบ พระนาคเสนได้ดีแล้ว" 
              พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงดีพระทัยว่า เรารู้จักพระนาคเสนด้วยตนเอง แต่พอพระบาทท้าวเธอแลเห็นพระนาคเสนเท่านั้น ก็เกิดความกลัว ความหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชัน เพราะฉะนั้นพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า พระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสน ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณธรรม ผู้ได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอันดีแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า " เราได้พบเห็นสมณพราหมณ์และบัณฑิตมาเป็นอันมาก ได้สนทนากับคนทั้งหลายมาเป็นอันมากแล้วไม่เคยมีความสะดุ้งกลัวเหมือนในวันนี้เลย วันนี้ความปราชัยพ่ายแพ้จักต้องมีแก่เราเป็นแน่ไม่สงสัย ชัยชนะจักมีแก่พระนาคเสนแน่ เพราะจิตใจของเราไม่ตั้งอยู่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อนเลย"
การพบกันระหว่างพระนาคเสนและพระยามิลินท์ เป็นเหตุให้เกิดคัมภีร์มิลินทปัญหา 
              มิลินทปัญหา ที่มีมาในคัมภีร์ใบลานนี้มี 262 ปัญหา มีวรรค 22 วรรค แบ่งเป็น 6 กัณฑ์ ส่วนที่ไม่ได้มีมาในคัมภีร์ลานนี้ 42 ปัญหา รวมทั้งสิ้นเป็น 304 ปัญหา
              เกิดเหตุอัศจรรย์ในวันปุจฉาวิสัชนาจบแล้ว ในเวลาจบการปุจฉาวิสัชนา ของพระราชาและพระเถระแล้ว แผ่นดินอันใหญ่ อันหนาได้ 8 หมื่น 4 พันโยชน์ ก็ได้แสดงอาการหวั่นไหว มีสายฟ้าแลบแปลบปลาบลงมา เหล่าเทพยดานางฟ้าทั้งหลาย ต่างก็ไม้โปรยปรายทิพยบุปผาลงมาบูชา ท้าวมหาพรหมได้เปล่งเสียงสาธุการกึกก้อง ดังเสียงฟ้าร้องในท้องมหาสมุทรฉะนั้น พระเจ้ามิลินท์พร้อมด้วยข้าราชบริพารจึงพร้อมกันประนมอัญชลีถวายมนัสการพระองค์มีพระราชหฤทัยเบิกบานยิ่ง เป็นผู้ทรงเล็งเห็นสาระประโยชน์ในพระพุทธศาสนาสิ้นความสงสัยในพระรัตนตรัย จึงทรงเลื่อมใสยิ่งในคุณของพระเถระคุณในบรรพชา คุณในข้อปฏิบัติ และอิริยาบถของพระเถระ เป็นผู้หมดทิฏฐิมานะ เหมือนพญานาคที่ถูกถอนเขี้ยวแล้ว พระองค์จึงทรงตรัสขึ้นว่า " สาธุ...สาธุ...พระนาคเสน ปัญหาอันเป็นพุทธวิสัย พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ไขแล้ว ผู้อื่นยก พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ เสียแล้ว ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระเถระในการแก้ปัญหา ขอพระผู้เป็นเจ้า จงอดโทษให้แก่โยม ในการที่โยมได้ล่วงเกินด้วยเถิด ขอจงจำโยมไว้ว่าเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
              พระราชาเสด็จออกบรรพชา แล้วได้สำเร็จพระอรหันต์ ในคราวนั้น พระเจ้ามิลินท์พร้อมกับพลนิกาย ก็เข้าห้อมล้อมพระมหาเถระแห่กลับไปสู่ "มิลินทวิหาร" มอบมหาวิหารถวายพระมหาเถระแล้วก็ปฏิบัติพระมหาเถระกับพระอรหันต์ 100 โกฏิ ด้วยปัจจัย 4 ตลอดกาลเป็นนิจ อยู่มาภายหลัง สมเด็จพระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ผู้ปราชญ์เปรื่อง แห่งสาคลนครจอมบพิตรอดิศรจึงทรงมอบราชสมบัติ ให้แก่พระราชโอรส แล้วเสด็จออกบรรพชา เจริญสมถวิปัสสนาจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
              มีคำกล่าวไว้ว่า " ปัญญาเป็นของประเสริฐในโลก ปัญญาทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ บัณฑิตทั้งหลายกำจัดความสงสัยด้วยปัญญาแล้วย่อมถึงความสงบ สติไม่บกพร่องในขันธ์ใด ปัญญาก็ตั้งอยู่ได้ในขันธ์นั้น ผู้ประกอบด้วยปัญญา เป็นผู้ควรรับบูชาอันวิเศษ และเป็นผู้เลศประเสริฐหาผู้ใดจะเสมอเหมือนมิได้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เล็งเห็นความสุขของตน จึงควรบูชา " ท่านผู้มีปัญญา " เหมือนกับบูชา" พระเจดีย์ " ฉะนั้น 




บทวิเคระห์มิลินทปัญหา
              มิลินทปัญหาไม่ปรากฏว่าผู้ใดแต่งไว้ แต่เป็นปกรณ์ที่เก่าแก่ เชื่อกันว่าแต่งขึ้นประมาณพุทธศักราช 500 ดังที่ปรากฎตามพระติปิฏกจุฬาภัย เป็นผู้รจนา มธุรัตถปกาสินี ฎีกาแห่งมิลินทปัญหา ส่วนพระพุทธโฆษาจารย์ แต่งนิทานกถา และนิคมคาถา มิลินทปัญหา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าพระปิฎกจุฬาภัยเป็นผู้รจนา
 มีนักปราชญ์บางท่านอ้างว่ามิลินทปัญหาต้นฉบับเดิมเป็นภาษาสันสกฤต แต่ได้แปลงเป็นบาลีในภายหลังดังคำว่า “เมื่อประมาณ พ.ศ. 500 ได้มีการกล่าวถึงวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งคือมิลินทปัญหา ซึ่งต้นฉบับเป็นภาษาสันสกฤต แต่งในอินเดียภาคเหนือ  ต่อมาลังกาได้แปลงต้นฉบับเดิมเป็นภาษาบาลี  (พัฒน์  เพ็งผลา,ประวัติวรรณคดีบาลี, กรุงเทพฯ:รามคำแหง,2541, หน้า 103) แต่ไม่ได้ระบุไว้ว่าใครเป็นคนแปลงเป็นบาลี
              พระอานันท์  เกาศัลยายนะเถระ  ชาวอินเดีย กล่าวว่ามิลินทปัญหารวบรวมขึ้นโดยพระนาคเสนมหาเถระ เป็นคัมภีร์ที่มีหลักฐานดีเล่มหนึ่ง คงรจจนาขึ้นในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์หรือหลังจากนั้น แต่ต้องแต่งขึ้นก่อนสมัยพระพุทธโฆษาจารย์  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในช่วง พ.ศ. 392   ทางตอนเหนือของแม่นํ้าคงคา   ระหว่างพระเจ้ามิลินท์ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก   เป็นผู้ตั้งปัญหาธรรมะที่ยากจะตอบได้ และมีพระนาคเสนผู้รอบรู้ในสภาวะธรรมเป็นผู้เฉลยปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติรอบตัวมาเปรียบเทียบให้ฟังได้อย่างแจ่มแจ้ง  มีนักปราชญ์หลายท่านเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องมิลินทปัญหาเช่น 
              ออนเนอร์อ้างว่าแต่งขึ้นในแคชเมียร์ประมาณพ.ศ.300-400
              ริส เดวิดส์  บอกว่า แต่งขึ้นที่อินเดียตอนเหนือ (ปัญจาป)  รจนาขึ้นหลังกถาวัตถุ (โมคคัลลีติสสะ) ประมาณ พ.ศ. 235  เมื่อประมวลจากสถานที่สำคัญ และแม่น้ำสำคัญที่กล่าวถึงในคัมภีร์แล้ว จึงสรุปว่า ผู้รจนาคัมภีร์นี้อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียหรือรัฐปัญจาปในปัจจุบัน   รจนาขึ้นหลังกถาวัตถุ เพราะมีข้อความหลายตอนมาจากคัมภีร์กถาวัตถุ เช่นปัญหาเรื่องทิพยจักษุเป็นได้จริงหรือไม่ เรื่องคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตแล้วจะบวชด้วยวิธีอย่างไร  
              มิลินทปัญหาได้รับความนิยมในหมู่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนามาก จนมีผู้แปลเป็นภาษาต่างหลายสำนวนเช่น 
                            พุทธศักราช  2290 พระหีนฏกุมพุเรสุมังคลเถระ แปลเป็นภาษาสิงหล
                            พุทธศักราช 2433  ริส เดวิดส์ แปลเป็นอังกฤษ
                            พุทธศักราช 2448  เอ็ฟ อ็อตโต ชราเดอร์  แปลเป็นเยอรมัน แต่แปลไม่จบ
                            พุทธศักราช 2462   พระญาณติโลก (เยอรมัน) แปลต่อจนจบ
                            พุทธศักราช  2466   หลุยส์  ฟีโนต์  แปลเป็นภาษาฝรั่เศส
                            พุทธศักราช 2467   ปอล เดอมีวิลล์  แปลเป็นฝรั่เศสจากภาษาจีน
                            พุทธศักราช 2504   นางสาวไอ.บี.ออนเนอร์  แปลเป็นอังกฤษ อีวานอฟสกี  แปลเป็นรัสเซีย โซเงน  ยามากามิ  แปลเป็นญี่ปุ่น
              ในประเทศไทยมิลินทปัญหาได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชานี แต่มีเนื้อหายังไม่สมบูรณ์นัก  ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 กรมศิลปากรได้รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้น ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มหามกุฏราชวิทยาลัยได้แปลจนจบเรียกว่าฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัย  ในปีพุทธศักราช 2483 ยิ้ม  ปัณฑยางกูร ได้จัดพิมพ์ ปัญหาพระยามิลินท์ขึ้นเผยแผ่  ตั้งแต่นั้นมาก็มีผู้จัดพิมพ์หนังสือมิลินทปัญหาขึ้นอีกหลายสำนวน จนกลายเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีเผยแพร่ทางเว็ปไชด์ต่างๆ อีกมากมาย  สำนวนก็แตกต่างกันออกไป บางฉบับต่อเติมในส่วนของประวัติพระนาคเสนเสียจนเลิศลอย เกินความเป็นจริงไปบ้าง เช่นพระอรหันต์ประชุมกันจำนวน 100 โกฏิเป็นต้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้พระอรหันต์ที่ไหนจะมีมากขนาดนั้น แต่ในส่วนของเนื้อหาออกมาคล้ายๆกัน และเราสามารถตรวจสอบได้จากพระไตรปิฎก หากผิดหลักธรรมก็ต้องพิจารณาต่อไป

 

สรุป
              พระนาคเสนเถระที่ปรากฏในมิลินทปัญหานี้  ไม่มีหลักฐานยืนยันไว้ว่ามีพระเถระชื่อนี้อยู่จริงๆ ในยุคสมัยนั้น แต่พระเจ้าเมนันเดอร์หรือพระยามิลินท์มีหลักฐานปรากฏ มีเหรียญเป็นรูปพระเจ้าเมนันเดอร์ที่จารึกอักษรไว้ว่า “Basileus  Soteros Menandros” ค้นพบในที่ต่างๆ 22 แห่งในลุ่มแม่น้ำกาบูลและสินธ์ และในบริเวณภาคตะวันตกของมณฑลอุตตรประเทศ   ต่อมาพระยามิลินท์ยังได้สร้างวิหารชื่อ “มิลินทวิหาร” ถวายพระนาคเสน ภายหลังผนวชเป็นภิกษุ และบรรลุพระอรหันต์ ที่เหรียญตราของพระองค์ยังมีตราธรรมจักรด้วย  (คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย,มิลินทปัญหา : ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย,กรุงเทพ ฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2543, หน้า 528) 
              อย่างไรก็ตามพระนาคเสนเถระ จะมีตัวตนหรือไม่ มิใช่ประเด็นปัญหาเพราะมิลินทปัญหาได้ให้ความรู้ทางด้านศาสนาแก่ผู้ศึกษาอย่างดีเยี่ยม และกษัตริย์กรีกอย่างพระยามิลินท์ยอมนับถือพระพุทธศาสนาก็เพราะได้สนทนาธรรมกับพระนาคเสน น่าจะเป็นที่น่าศึกษาว่า การที่กษัตริย์ผู้เชี่ยวชาญปรัชญากรีกต้องมายอมรับพระพุทธศาสนานั้น พุทธศาสตร์และปรัชญาน่าจะไปด้วยกันได้ไม่ขัดแย้งกัน  
              รูปแบบการนำเสนอมิลินทปัญหามีส่วนคล้ายกับการนำเสนอปรัชญาของโสเครตีสเช่นไครโต เฟรโด เป็นต้น คือเป็นการสนทนาโต้ตอบกัน ไม่ใช่การนำเสนอในรูปแบบของการแสดงธรรมซึ่งแสดงคนเดียว ไม่มีโอกาสให้ซักถาม แต่ในมิลนทปัญหา มีการโต้ตอบ ซักถาม ยกอุปมาอุปไมยเป็นการเปรียเทียบในปัญหาบางอย่างที่ไม่อาจหาตัวอย่างทางรูปธรรมได้ 
              พระยามิลินท์เป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีกและชำนาญเชี่ยวชาญในศิลปะสิบแปดแขนง ย่อมเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา ที่สำคัญได้ใช้หลักการของตรรกศาสตร์ที่ว่าด้วยการใช้เหตุผลมาใช้ในการสนทนา ถ้าคนที่ไม่เคยศึกษาตรรกศาสตร์มาก่อนย่อมไม่อาจจะแก้ปัญหาทางตรรกะได้ แต่พระนาคเสนน่าจะเคยศึกษาตรรกมาอย่างชำนาญ จึงตอบปัญหาของพระยามิลินท์ได้
              มิลินทปัญหาเป็นตัวอย่างของการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับคนต่างชาติต่างศาสนาได้เป้นอย่างดี เมื่อเราเข้าไปอยู่ในสังคมใด ก็ย่อมจะต้องศึกษาความเป็นอยู่ พื้นเพทางลัทธิปรัชญาความเชื่อเก่าของคนในสังคมนั้นให้เข้าใจ แล้วจึงนำเสนอหลักการของพระพุทธศาสนา เพื่อให้เขาพิจารณา ไม่ใช่ไปบังคับให้เขาศรัทธา พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งความใจกว้าง ใครจะนับถือหรือไม่ ไม่ได้บังคับ แต่ถ้าสนใจต้องศึกษาเรียนรู้ จากนั้นจึงนับถือ ดังกรณีของพระยามิลินท์ที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนามาก่อน แต่ภายหลังเมื่อได้ศึกษาโดยการสนทนากับพระนาคเสนจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา พระนาคเสนจึงเป็นเสมือนตัวแทนแห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่กำลังตกต่ำเพราะต้องแข่งขันกับศาสตร์สมัยใหม่ให้พลิกฟื้นคืนมามีพลังต่อมวลมหาชนอีกครั้ง ปัจจุบันยิ่งมีศาสตร์ใหม่ๆมากขึ้น พระพุทธศาสนาก็ต้องถูกท้าทายจากศาสตร์เหล่านั้น หากภูมิคุ้มกันไม่แน่นหนาพออาจจะต้องถูกกลืนหายไปพร้อมกับความเจริญของโลกยุคใหม่ก็ได้
 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
เรียบเรียง
22/09/53

ภาพประกอบ:พระมหาสมศรี ปญฺญาสิริ
ผศ.ดร.ธวัช หอมทวนลม

 

   
บรรณานุกรม

คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.มิลินทปัญหา : ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย.กรุงเทพ ฯ: 
              มหามกุฏราชวิทยาลัย,2543.
พัฒน์  เพ็งผลา.ประวัติวรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ:รามคำแหง,2541.
พระราชธรรมนิเทศ(ระแบบ ฐิตญาโณ)เ.ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา.กรุงเทพฯ:  มหามกุฏราชวิทยาลัย,2542.  
พระมหาดาวสยาม  วชิรปญฺโญ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย.กรุงเทพฯ:พิมพ์สวย,2546.
วศิน  อิทสระ.อธิบายมิลินทปัญหา. กรุงเทพ ฯ:  สำนักพิมพ์บรรณาคาร,2528.
เสถียร  โพธินันทะ.ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา.กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2541.
อภิชัย  โพธิประสิทธ์ศาสต์.พระพุทธศาสนามหายาน.กรุงเทพ ฯ: สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย,2534.
www.geocities.com/sakyaputto/mbuddhism1.htm

 


เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก