ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             มหาวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้แก่นักศึกษาและบริการวิชาการแก่ประชาชน ปัจจุบันประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยทางด้านพระพุทธศาสนาสองแห่งคือมาหวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งจะครบรอบวันสถาปนาหกสิบสี่ปีในวันที่ 16 กันยายน 2553 ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนากล่าวถึงมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาไว้หลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงและกล่าวถึงมากที่สุดคือมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งถูกเผาโดยกองทัพโยกองทัพของผู้มีอำนาจในยุคนั้น สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีตปัจจุบันเป็นที่ตั้งของนวนาลันทามหาวิทยาลัย ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปเยือนและนอนพักข้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เขียนบันทึกการเดินทางไว้ ลองศึกษาประวัติของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาจากอดีตเพื่อสะท้อนถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ในปัจจุบัน
             พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางเบื้องปัจฉิมทิศไปไม่นาน แสงเรื่อเรืองจากขอบฟ้ายังเป็นสีหม่นอมแดง เสียงแมลงกลางคืนเริ่มบรรเลงบทเพลงแห่งธรรรชาติ ท่ามกลางท้องทุ่งที่เงียบสงัด นาน ๆ จะมีชาวบ้านนั่งรถม้าผ่านมาสักคัน พวกเขาเพียงแต่เอ่ยทักแต่มิมีรถคันใดรับพวกเราไปด้วย ชาวบ้านบางกลุ่มเดินสวนทางมาแต่พอรู้ว่าพวกเราเป็นพระภิกษุก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก เอ่ยทักตามธรรมเนียมแล้วก็เดินผ่านไป ในจำนวนนั้นถึงจะมีโจรอยู่ด้วย แต่คงไม่มีใครคิดจะปล้นจี้ เพราะสารรูปของเราห่มผ้าหม่นสีคล้ำบ่งบอกว่าเป็นภิกษุที่น่าจะจนแสนจนกระไรปานนั้น 
 

               ผู้เขียนกับท่านอาจารย์สมัย ประธานสงฆ์แห่งวัดป่าพุทธคยา จึงต้องเดินเท้าไปตามถนนจากสามแยกมุ่งสู่นาลันทามหาวิทยาลัย เป็นระยะทางประมาณ 2กิโลเมตร ด้วยความเพลิดเพลินตามบรรยาศรอบๆตัว เพราะจุดมุ่งหมายของเราอยู่ที่มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่รู้ว่าคืนนี้จะนอนที่ไหน มหาวิทยาลัยหรือวัดไทยนาลันทา เพราะเราทั้งสองไม่รู้จักใครเลยในดินแดนอันเคยยิ่งใหญ่ในอดีตของพระพุทธศาสนาคือมหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยแห่งแรกของพระพุทธศาสนา
               คืนนั้นนับว่าโชคเข้าข้างเราเพราะได้พบกับพระนักศึกษาเขมร ที่พูดภาษาไทยได้ ท่านจึงนิมนต์เราทั้งสองไปยังห้องพักในมหาวิทยาลัยได้ดื่มน้ำชา ฉันกาแฟ พอหายเหนื่อย เสียงสวดมนต์จากห้องสวดมนต์ดึงกระหึ่ม ประสานสอดคล้องออกสำเนียงพม่าผสมศรีลังกา ฟังแล้วเกิดความรู้สึกสงบสงัดอย่างประหลาด จากนั้นพระนักศึกษาชาวเขมรท่านนั้น(ผู้เขียนลืมชื่อท่าน) จึงได้พาไปยังวัดไทยนาลันทาซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยทางทิศตะวันออก อยู่กลางทุ่งมองเห็นนาข้าวเขียวขจี แสงเดือนสาดส่องต้องนาข้าวและน้ำในทุ่งนา เปล่งประกายระยิบระยับ เกิดความรู้สึกคิดถึงบ้านอย่างช่วยไม่ได้
               ท่านพระมหาสุนทร ซึ่งเป็นพระภิกษุไทยรูปเดียวรับภาระทุกอย่างในวัดไทยนาลันทา เพราะขณะนั้นเจ้าอาวาสจริงๆเกิดป่วยต้องกลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่เมืองไทย “เราปล่อยให้วัดว่าง ไม่มีพระอยู่ไม่ได้ ตามกฏหมายอินเดียถ้าสถานที่ของชาวต่างชาติไม่มีผู้ดูแลรักษาติดต่อกัน 2 ปี สถานที่แห่งนั้นต้องตกเป็นสมบัติของรัฐบาลอินเดียทันที ดังนั้นแม้จะอนาถาสักเพียงใด เราจะต้องรักษาวัดอันเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป”   ท่านพระมหาสุนทรบอกเหตุผลว่าทำไมต้องมาอยู่ที่นี่โดยไม่ยอมหนีไปไหน

               ถ้าจะนับอายุมหาวิทยาลัยที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในโลกแล้ว สำนักอคาเดมีของเพลโตน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก เกิดขึ้นในกรีกประมาณพุทธศตวรรษที่ 2 (เพลโตเกิดเมื่อปีพุทธศักราช 116 หรือก่อนคริสตศักราช 427 ปี ตาย 347) เพลโตนักปรัชญาชาวกรีกที่ได้ตั้งสำนักสอนปรัชญาอันเป็นผลมาจากโสเครตีส ในส่วนของดินแดนตะวันออกมหาวิทยาลัยนาลันทาอันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของพระพุทธศาสนาในอดีตน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มากที่สุด เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหราชประมาณพุทธศตวรรษที่ 2  
               พระเจ้าอโศกมหาราช ปรารภถึงสถานที่ประสูติและนิพพานของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า จึงให้สร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นสิ่งระลึก นาลันทาวิหารจึงได้เกิดขึ้น ตั้งแต่บัดนั้น แต่ยังมิได้มีรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัย เพียงแต่เป็นวัดหรือวิหาร โดยมีสถูปขนาดใหญ่เป็นที่บรรจุสารีริกธาตุของพระสารีบุตร นัยว่าในยุคแรกๆเริ่มมีการเรียนการสอนวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในส่วนที่พระสารีบุตรชำนาญนั่นคือพระสูตรและพระวินัย 
               นาลันทาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษวรรธนะ (พ.ศ. 1149-1190) นาลันทาวิหารได้กลายเป็นสถานที่มีชื่อเสียงเมื่อนาครชุนนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่เดินทางมาพักอาศัยที่นาลันทา พราหมณ์ชื่อสุวิษนุได้สร้างวิหารขึ้นถึง 108 หลัง

               ส่วนความสำคัญของนาลันทาเริ่มต้นขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ในสมัยราชวงศ์คุปตะ จากบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังระบุไว้ว่ามีกษัติริย์ถึง 6พระองค์ให้การอุปถัมภ์พระอารามแห่งนี้ แต่ละพระองค์ได้สร้างวิหารขนาดใหญ่ขึ้นและทรงให้การอุปถัมภ์ภิกษุที่อาศัยอยู่ในแต่ละวิหาร 
              พอมาถึงสมัยราชวงศ์ปาละ นาลันทาก็ได้เจริญจนถึงระดับสูงสุด ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและวัชรยาน บันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังได้กล่าวถึงนาลันทาวิหารไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ “พระเจ้าศักราทิตย์ ได้สร้างอารามขึ้น ณ ที่นี้ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทิวงคตแล้วราชโอรสผู้สืบราสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าพุทธคุปต์ ก็ได้สร้างอารามขึ้นอีกแห่งหนึ่งติดต่อกับทางด้านทิศใต้ สืบมาจนถึงพระโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่าพระเจ้าตถาคตราชา ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอีกทางด้านตะวันออก ครั้นเมื่อพระราชโอรสของพระราชาองค์นี้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าพาลาทิตย์ ก็ได้ทรงสร้างอารามขึ้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังทรงทราบว่ามีพระอริยสงฆ์จากประเทศจีนมารับบิณฑบาต จึงบังเกิดความเลื่อมใสสละราชสมบัติออกทรงผนวช ราชโอรสพระนามว่าวชิรราชาขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอีกทางด้านทิศเหนือ หลังจากนั้นยังมีกษัตริย์แห่งภาคกลางของอินเดีย ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอย่างต่อเนื่องกับข้างนี้อีกหลายแห่ง ฉะนั้นพระมหากษัตริย์ 6 พระองค์ จึงทรงมีส่วนร่วมสถาปนาต่อเนื่องสืบกันมา”
               ในขณะที่หลวงจีนเหี้ยนจังพักอยู่ที่นาลันทานั้นได้รับการอุปัฏฐากเป็นอย่างดีจากบันทึกตอนหนึ่งว่า “ของถวายประจำวันมีชัมพีระ(ส้มชนิดหนึ่ง) 120 ผล หมาก 20 ผล กะวาน 20 ผล การบูร 1 ตำลึง ข้าวมหาสาลี 1 เซ็ง ข้าวชนิดนี้เม็ดใหญ่กว่าถั่วดำ เมื่อหุงสุกแล้วมีกลิ่นหอม ไม่มีข้าวอื่นเสมอเหมือนและปลูกได้แต่ในแคว้นมคธแห่งเดียวไม่ปรากฎมีในแห่งอื่น ข้าวนี้เป็นของถวายพระราชาและผู้ทรงศีลชั้นสูง จึงได้ชื่อว่าเป็นข้าวถวาย นอกจากของถวายเหล่านี้ยังมีน้ำมันเดือนละ 3 เต๊าและเครื่องบริโภคอื่นๆเช่นนม เนย ก็มีมีเพียงพอแก่ความต้องการประจำวัน กับยังจัดให้มีอุบาสก 1 คนพราหมณ์ 1 คน เป็นผู้รับใช้ และเมื่อจะไปที่แห่งใดๆ ก็ขึ้นหลังช้างที่มีกูปพร้อม” ผู้ที่ได้รับความเคารพในระดับนี้ในเวลานั้นมีเพียง 10 รูป ส่วนภิกษุรูปอื่นๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ตามอัตภาพในฐานะนักศึกษา

               ภิกษุที่ศึกษาอยู่ที่นาลันทาวิหารนั้นมีทั้งอยู่ประจำและอาคันตุกะจากที่อื่นเป็นจำนวนนับหมื่น สถานที่เป็นที่พักของสงฆ์เป็นหอสูงจากบันทึกว่า “หอที่พำนักของสงฆ์ล้วนเป็นหอสูง 4 ชั้น ชายคาสูงตระหง่านเป็นนาคเลื้อย ขื่อโค้งเหมือนเส้นรุ้งมีเสารับสีแดงยอดและฐานเสามีลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม ซึ่งตรงกับกรอบหน้าต่างเครื่องประกอบหลังคาล้วนประดับประดาอย่างประณีต เมื่อแสงอาทิตย์ส่องต้องหลังคาแลระยับจับตางามยิ่งนัก”
              ในด้านการศึกษาหลวงจีนเหี้ยนบันทึกไว้ว่า “สังฆารามในอินเดียมีมากหลายนับด้วยจำนวนพันและหมื่น แต่กล่าวเฉพาะความงามและสูงแล้ว จัดว่าอารามนี้เป็นเด่นยิ่งกว่าแห่งอื่นทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์ในอารามสงฆ์ในอารามรวมทั้งที่มาจากที่อื่นมีจำนวนนับหมื่น ล้วนศึกษาในลัทธิมหายาน แต่ลัทธินิกายต่างๆ ทั้ง 18 นิกายก็ได้ศึกษาควบคู่กันไปด้วย”
               จำนวนนักศึกษาและอาจารย์ที่อยู่ในนาลันทาวิหาร เอ. โกส นักเขียนชาวอินเดียระบุไว้ใกล้เคียงกับหลวงจีนเหี้ยนจังคือ “นาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียในอดีตมีนักศึกษาจำนวน 9,500 รูป, อาจารย์ 1,510 รูป พักอาศัยอยู่ภายในวิหารในอารามเดียวกันนั่นเอง” (A. Ghosh,History of Nalanda, p.15)  
               จากสภาพปัจจุบันที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมนั้นต้องขอทำความเข้าใจคำว่า“วิหาร” “อาราม” และ “วัด” ให้ชัดเจนก่อน อารามหมายถึงสถานทั้งหมดที่เรียกว่าวัดเหมือนบ้านเรา ส่วนวิหารคล้ายๆกับคณะแต่คณะที่แยกปกครองภายในวัดหนึ่งๆ มีเจ้าคณะหรือหัวหน้าวิหาร แต่ก็อยู่ในการกำกับดูแลของเจ้าอารามหรือเจ้าอาวาสอีกทีหนึ่ง ส่วนวัดคืออารามหลายอารามมารวมกันเรียกว่าวัด ดังนั้นนาลันทาจึงน่าจะเรียกว่าวัดหนึ่ง แต่มีอารามเป็นร้อยอารามและมีวิหารเป็นพันแห่ง ผู้เขียนคิดถึงมหาวิทยาลัยในเมืองไทยซึ่งแบ่งเป็นคณะแต่ละคณะมีคณบดีเป็นหัวหน้า ในคณะยังแบ่งเป็นภาควิชา ในแต่ละมหาวิทยาลัยมีหลายคณะ แต่คณะก็ขึ้นตรงต่ออธิการบดี ถ้าจะเปรียบนาลันทาในอดีตแล้ว วิหารคือภาควิชา อารามคือคณะ ส่วนวัดคือมหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทาเรียกว่าอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทา การเปรียบเทียบนี้ผู้เขียนคิดเองจากหลักฐานตามที่ได้เห็นมา

               ในแต่ละวิหารจะมีกำแพงกั้นชัดเจน มีประตูใหญ่ทางเข้าหนึ่งประตู พอเดินเข้าไปสิ่งแรกที่เห็นคือบ่อน้ำขนาดใหญ่ 1 บ่ออยู่ตรงกลางวิหาร ล้อมรอบด้วยห้องพัก แต่ละห้องมีสองเตียง เตียงหนึ่งสำหรับนักศึกษารุ่นพี่ ส่วนอีกเตียงสำหรับนักศึกษารุ่นน้อง เป็นระบบของพี่สอนน้อง ภายในวิหารหนึ่งๆจะมีห้องสวดมนตร์หรือห้องประชุมกลางขนาดใหญ่ 1 ห้อง วิหารจึงเป็นเพียงที่พักและที่ประชุมสำหรับภิกษุในแต่ละนิกาย ในวิหารหนึ่งจะมีเจ้าคณะหรือหัวหน้าวิหารเป็นผู้รับผิดชอบดูแลหมู่คณะ น่าจะอยู่ได้ประมาณ 100 รูปขึ้นไป เพราะหลวงจีนบอกว่าวิหารแต่ละแห่งสูง 4 ชั้น แต่ละชั้นมีที่พักหลายสิบห้องๆหนึ่งๆ อยู่สองรูป
               วิหารแต่ละแห่งอยู่ติดกันเป็นแถวที่เหลือซากให้เห็นในปัจจุบันเรียงรายเป็นระเบียบยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีวิหารประมาณ 8 แห่งอยู่ติดกันรวมเรียกว่าหนึ่งอาราม ในแต่ละอารามก็จะมีหัวหน้าอารามอาจารย์เป็นผู้ดูแลอีกทีหนึ่ง อารามในอดีตที่นาลันทาจึงมีมาก แต่ก็อยู่ภายใต้การปกครองของอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทา ซึ่งเลือกมาจากหัวหน้าอารามต่างๆ นั่นเอง 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก