หลักฐานทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงตรรกวิทยา
(1) พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระสุตตันปิฎก เล่ม 20 หน้า 243 ว่า “มา ตกฺกเหตุ” “อย่าถือโดยตรรก คือ โดยนึกเดาเอา”
(2) มีพุทธศาสนาสุภาษิต ในชาดก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 27 หน้า 1 ว่า
อปณฺณกฏฺฐานเมก ทุติยํ อาหุ ตกฺกิกา
เอตทญฺญาย เมธาวี ตํ คณฺเห ยทปณฺณกํฯ
แปลว่า คนบางพวกกล่าวฐานะที่ไม่ผิด นักตรรกวิทยากล่าวฐานะที่ 2 ผู้มีปัญญารู้ความข้อนั้นแล้ว พึงถือเอาฐานะที่ไม่ผิด
ความในพระพุทธศาสนสุภาษิตนี้ ยังไม่ชัด ถ้าอธิบายอีกเล็กน้อยจะชัดขึ้น กล่าวคือ เมื่อแบ่งความจริงหรือความรู้ หรือฐานะออกเป็น 2 อย่าง อย่างหนึ่งความจริงที่ประจักษ์ชัดแล้ว กับอีกอย่างหนึ่งความจริงที่ต้องอาศัยการอนุมาน การหาเหตุผล หรือคาดคะเน ซึ่งตรงกับความรู้โดยตรงกับความรู้โดยอ้อมดังกล่าวข้างต้น บางคนถือความรู้ที่ประจักษ์หรือความรู้โดยตรงเป็นประมาณ ส่วนนักตรรกวิทยา วิชาบังคับให้จำเป็นต้องกล่าวเฉพาะฐานะที่ 2 คือ ความโดยอ้อม ซึ่งต้องใช้วิธีอนุมานหรือการหาเหตุผล ในที่สุดทางพระพุทธศาสนาได้สรุปให้ถือเฉพาะฐานะที่ 1 คือฐานะที่ไม่ผิดหรือความจริงอันไม่ต้องเดา
เหตุที่พระพุทธศาสนาไม่ยอมเดา
เพราะพระพุทธศาสนาค้นพบความจริงถึงที่สุดแล้ว คือ พระพุทธเจ้าได้ทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ผ่านการค้นคว้าทดลอง ผ่านการลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานานจนในที่สุดได้ตรัสรู้ความจริงแจ้งประจักษ์ไม่ต้องเดาอีกต่อไป จึงเชื่อว่าอยู่ในฐานะอันสูงกว่าตรรกวิทยา เพราะตรรกวิทยายังค้นหาความจริงอยู่
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบความจริง พร้อมทั้งได้พบวิธีปฏิบัติเพื่อให้พบความจริงตามที่ได้ทรงผ่านมาเอง พระองค์จะย้อนไปสอนถึงวิธีเดาความจริงทำไมกัน ตราบใดคนเดาที่เดาอยู่ ยังคาดคะเนอยู่ ยังอนุมานอยู่ยังหาเหตุผลอยู่ ตราบนั้นก็แสดงว่าเขายังมิได้ค้นพบความจริงหรือความจริงที่ค้นพบโดยวิธีคาดคะเนนั้นอาจไม่จริงดังที่คาดคะเนก็ได้ พระพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับนับถือความจริงนี้ ยืนยันแต่อย่างเดียวในความจริงที่ไม่ต้องเดา เป็นอันว่าทางพระพุทธศาสนาไม่มีการเสี่ยงว่าถ้าถูกก็ดี ถ้าไม่ถูกก็ชั่งปะไร มีแต่ทางแน่ใจอย่างเดียว ถ้ายังไม่ประสบความจริงตราบใด ตราบนั้นก็ต้องถือว่ายังไม่รู้จริง และยังต้องค้นต่อไป ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองต่อไป และการค้นความจริงทางพระพุทธศาสนานั้น จะค้นโดยวิธีอนุมานไม่ได้ ต้องลงมือปฏิบัติให้ความจริงปรากฏแก่ตนเอง
ตรรกวิทยาไม่มีประโยชน์เลยหรือ?
เมื่อทางพระพุทธศาสนาปฏิเสธตรรกวิทยาเช่นนี้ ก็มีปัญหาว่าตรรกวิทยาไม่มีประโยชน์เลยหรือ เสียแรงที่ในทางโลกเขาถือกันว่าเป็นศาสตร์ของศาสตร์ทั้งหลาย เป็นทั้งศิลปะและวิทยา ปัญหาข้อนี้ทางพระพุทธศาสนาจะเฉลยอย่างไร
คำตอบที่ว่า ตรรกวิทยามีประโยชน์มากในคดีโลก และมีประโยชน์ในการแสดงความคิดให้ผู้อื่นฟัง ซึ่งช่วยในการเผยแผ่ศาสนา แต่ในความจริงชั้นสูง พระพุทธศาสนาถือว่าตรรกวิทยาใช้วิธีคาดคะเนจึงไม่ยอมรับฟัง และไม่ถือเอาเป็นแบบแนวทางของพระพุทธศาสนา
ที่ว่าตรรกวิทยาเป็นประโยชน์ในคดีโลกนั้น ก็เพราะว่าในคดีโลกยังมีความจริงที่ต้องค้น ต้องคาดคะเนอีกมากมายหลายร้อยหลายพันเรื่องถ้าไม่อาศัยการคาดคะเนก็ไม่รู้จะใช้วิธีไหนจึงจะพูดถึงเรื่องนั้นๆได้ แต่ในทางธรรมริดรอนเรื่องไม่จำเป็นต่างๆ ออกเสีย ตั้งแนวไว้ให้ค้นพบความจริงที่จำเป็นและสำคัญอย่างเดียว คือ ความจริงเป็นเหตุดับความทุกข์ได้เป็นความจริงค้นพบจะคลายความติดความยึด ไม่เข้าใจผิดหลงผิดทะยานอยากอีกต่อไป เป็นความจริงที่รู้เรื่องนี้เรื่องเดียวก็พอ เพราะครอบคลุมถึงสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด ส่วนความจริงในทางโลกเป็นเรื่องต้องค้นและเดากันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ตรรกวิทยาจึงจำเป็นสำหรับโลก สมควรที่โลกจะยกย่องดังกล่าวแล้ว
ส่วนข้อที่ว่าตรรกวิทยาช่วยในการเผยแผ่ศาสนานั้น มีอธิบายว่าผู้เรียนรู้ตรรกวิทยาเป็นผู้พูดผู้คิดอย่างมีหลักมีระเบียบแบบแผนได้ จึงนับว่าเป็นอุปการะในการเผยแผ่ แต่ไม่เป็นอุปการะในการค้นหาความจริงอันเป็นเหตุพ้นทุกข์ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง และซึ่งต้องลงมือปฏิบัติตรง ไม่ใช่เพียงนึกคิดเอา
เมื่อรู้ทางตรรกวิทยาและรู้ทั้งพระพุทธศาสนาเช่นนี้ก็จะไม่ดูหมิ่นตรรกวิทยา เพราะเป็นประโยชน์ของตรรกวิทยาก็มีอยู่ในโลก ทำให้เห็นใจว่า ตรรกวิทยามีขอบเขตหรือมีหน้าที่บังคับให้ต้องหาความจริงโดยวิธีอนุมานเป็นการจำเป็นการจำกัดขอบเขตเฉพาะความจริงที่ต้องคาดคะเน และในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นใจทางพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องการความที่แน่นอน ไม่ต้องเดา ไม่ต้องลังเล ก็จำเป็นอยู่เองที่จะรับรองตรรกวิทยาไม่ได้ เมื่อกล่าวโดยรวบรัดก็คือ แนวทางของแต่ละฝ่ายไม่ใช่แนวทางเดียวกัน จึงมิใช่วิสัยที่จะอันเดียวกันได้
รู้อย่างนี้แล้วก็ไม่เหยียดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะแต่ละฝ่ายก็จำเป็นด้วยกัน และจำเป็นไปคนละทาง การรู้ทั้งสองฝ่ายแล้วเข้าใจความจริงนั้นเป็นประโยชน์มาก พระพุทธเจ้าตรัสเทียบเหมือนว่า ตาดีทั้ง 2 ตา การรู้ฝ่ายเดียวแต่ไม่รู้อีกอย่างหนึ่ง วินิจฉัยไปฝ่ายเดียวตามที่ตนรู้เท่านั้น เปรียบเหมือนคนตามัวไปข้างหนึ่ง ซึ่งอย่างไรก็สู่ตาดี 2 ตาไม่ได้
เรื่องนี้ยังมีปัญหาต่อไปอีกในการพิจารณาพระพุทธศาสนาเทียบวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะได้กล่าวในลำดับต่อไป
อย่างไรก็ดี คุณลักษณะพิเศษข้อนี้ของพระพุทธศาสนาส่วนที่เกี่ยวกับตรรกวิทยา ก็ควรได้รับการสนใจศึกษาพิจารณาอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าจะมีปัญหาว่า วิชาตรรกวิทยาเกิดในประเทศกรีซ(กรีก) ไฉนพระพุทธศาสนาจึงรู้จักวิชานี้และปฏิเสธได้ ขอตอบว่าวิชาตรรกวิทยาได้เกิดขึ้นในอินเดียมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงศึกษาและปฏิเสธหลักการของวิชานี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการค้นหาความจริงทางธรรม วิชาความรู้ที่นักปราชญ์คนละส่วนของโลกคิดค้นคว้าได้นี้ ความจริงก็น่าประหลาด เช่น ความคิดของเล่าจื้อเรื่องเต๋าไปตรงกับหลักปรมาตมันของพราหมณ์ได้อย่างมิได้นัดกัน ตรรกวิทยามาเจริญมากในลัทธินยายะ และไวเศษิกะของอินเดีย ภายหลังพุทธปรินิพพาน มีวีสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่งว่า ชนชาติอารยันมีภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนอย่างเดียวกัน แต่เมื่อแยกย้ายกันไปก็กลายเป็นคนต่างชาติต่างภาษา แต่เค้าเดิมของภาษาและศาสนาก็ยังพอมีให้เห็นร่องรอยเดียวกันได้ เช่น ภาษาส่วนใหญ่ของชาวยุโรปเรียกว่าสายอารยันฝ่ายยุโรป (European Aryan)ภาษาบาลีสันสกฤตปรากฤตซึ่งเป็นภาษาของอารยันที่ยกเข้ามาในอินเดียเรียกว่าอินโดอารยัน (Ido-aryan) ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า ดอร์ (Door ) ในภาษาอังกฤษ ใกล้คำว่า ทวาร (อ่านว่า ดวาร) ในบาลีและสันสกฤต แปลว่าประตูอย่างเดียวกัน คำว่า Palanquin ที่แปลว่าบรรลังก์ ตรงกับคำว่า ปลฺลงฺก ในภาษาบาลีเป็นต้น ส่วนศาสนา นั้นเห็นได้เช่นว่า ทั้งศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกแบบเดียวกัน เป็นประเภทเทวนิยม (Theism)อย่างเดียวกัน ก็เพราะเป็นศาสนาฝ่ายอารยันซึ่งมีมูลรากอันเดียวกัน มาถึงสมัยพระพุทธเจ้า ทรงปฏิบัติความเชื่อแบบเดิมแล้วตั้งศาสนาพุทธขึ้นใหม่
เพราะฉะนั้น วิชาตรรกวิทยาที่มีแพร่หลายอยู่ในกรีซและอินเดียนั้น อาจเป็นสมบัติดั้งเดิมของอารยันก็ได้ ต่อเมื่อมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิเสธ และเสนอหลักการใหม่เรื่องค้นความจริงขั้นที่จะได้ดับทุกข์ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเข้าใจว่าวิชาตรรกวิทยาคือวิชาเดา เมื่อเจริญขึ้นก็เดาอย่างมีหลักเกณฑ์ขึ้นดังนี้แล้ว ก็จะเห็นชัดว่า เหตุไรพระพุทธศาสนาจึงปฏิเสธการเดาทุกชนิด
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เรียบเรียง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน รวบรวม
20/12/53