ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

       ตรรกศาสตร์หรือตรรกวิทยาเป็นวิชาหนึ่งที่มีสอนในระดับปริญญาตรี บางมหาวิทยาลัยเป็นวิชาบังคับคือบังคับให้เรียน ส่วนบางมหาวิทยาลัยอาจเป็นเพียงวิชาเลือก แต่ในสาขาวิชาทางด้านปรัชญาและศาสนานักศึกษาทุกคนต้องเรียนวิชานี้ เนื้อหาว่าด้วยหลักการของเหตุผล การใช้เหตุผลอย่างไรจึงจะถูกต้องหรือใช้ไม่ถูกต้อง บางคนยกเหตุผลมาอ้างอย่างน่าเชื่อถือแต่อาจจะหลอกให้หลงก็ได้ วิชานี้มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณและได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นศาสตร์ที่สำคัญศาสตร์หนึ่ง พระพุทธศาสนามีวิชาหนึ่งเรียกว่าพุทธตรรกศาสตร์มีสอนในมหาวิทยาลัยมานานแล้ว อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพได้เขียนถึงพระพุทธศาสนากับตรรกวิทยาไว้ในคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจลองศึกษาดูด้วยความพินิจพิจารณา
 

บทที่ 11
พระพุทธศาสนากับตรรกวิทยา


          “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่กล้าปฏิเสธตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งชาวโลกถือกันว่าเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย (Science of Science) โดยให้เสนอหลักการอย่างอื่นที่สูงกว่าแน่นอนกว่า พร้อมทั้งให้เห็นผลไว้อย่างชัดเจน”
เพื่อความแจ่มแจ้งในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นการเหมาะสม ถ้าได้กล่าวถึงหน้าตาและเรื่องราวของตรรกวิทยาไว้ให้ละเอียดพอสมควร แล้วจึงพิจารณาว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธตรรกวิทยาอย่างไร ตรรกวิทยาใช้ได้ดีในขั้นไหน พ้นขั้นไหนไปแล้ว

พระพุทธศาสนาไม่รับรองตรรกวิทยา
ความรู้เรื่องตรรกวิทยา
          คำว่า “ตรรกวิทยา” เราใช้ในภาษาไทยโดยแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “Logic” และคำนี้ในภาษาอังกฤษก็มาจากคำคุณศัพท์ในภาษากรีกที่ว่า “Logike” ซึ่งตรงกับคำนามในภาษากรีก “Logos” อีกต่อหนึ่ง คำนี้ในภาษากรีกหมายได้ทั้ง ความคิด และถ้อยคำซึ่งเป็นเครื่องแสดงออกแห่งความคิด เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยรูปศัพท์ตามภาษาเดิม ตรรกวิทยา จึงเป็นศาสตร์ว่าด้วยความคิดอันแสดงออกมาด้วยภาษา (พูดหรือหนังสือ) ต่อมาได้มีผู้แสดงความเห็นว่า คำว่า ความคิดนั้น ถ้าจะให้ชัดขึ้นควรใช้คำว่า การหาเหตุผล จากข้อเสนอนี้ คำว่า ตรรกวิทยา จึงควรหมายความว่า ศาสตร์ว่าด้วยการคิดหาเหตุผล ซึ่งแสดงออกมาด้วยภาษา และกระบวนการประกอบอีกบางอย่าง
          อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งตำราตรรกวิทยา ต่างก็พยายามให้คำจำกัดความของตนเอง และค้านของคนอื่นว่ายังไม่สมบูรณ์ตกลงเมื่อประมวลความคิดเห็นแล้ว อาจแยกคำจำกัดความ (definition) ของคำว่าตรรกวิทยาได้เป็นข้อๆ ดังนี้:-
          (1) วอทิลี (Whately) ให้คำจำกัดความว่า ตรรกวิทยา คือ “ศิลปวิทยาว่าด้วยการหาเหตุผล” ซึ่งแสดงว่า การหาเหตุผลของตรรกวิทยานั้น เป็นทั้งศิลปและวิทยา ไม่ใช่ศิลปอย่างเดียว หรือวิทยาอย่างเดียว มีผู้ค้านว่า แคบไป
          (2) ทอมสัน (Thomson) กล่าวว่า “ตรรกวิทยา คือ วิทยาว่าด้วยกฎแห่งความคิด” ซึ่งมีผู้ค้านว่าไม่เหมาะสมมากรายด้วยกัน แต่ในที่นี้ไม่ประสงค์จะแสดงรายละเอียดของตรรกวิทยา ถึงขนาดเป็นตำราอีกเล่มหนึ่งจึงขอผ่านไป
          (3) แฮมิลตัน (Hamilton) กล่าวว่า “ตรรกวิทยา คือ วิทยาว่าด้วยกฎสมบูรณ์แบบแห่งการคิด” ซึ่งก็มีผู้ค้านอีก
          (4) อาโนลด์ (Arnauld) กล่าวว่า “ตรรกวิทยา คือ วิทยาว่าด้วยความเข้าใจในการติดตามหรือค้นหาความจริง” ซึ่งมีผู้ค้านตามเคย
          (5) มิลล์ (Mill) กล่าวว่า “ตรรกวิทยา คือ วิทยาว่าด้วยการดำเนินงานเกี่ยวกับความเข้าใจ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การคาดคะเนหลักฐานเป็นกระบวน การที่ก้าวหน้าไปจากความจริงที่รู้แล้ว สู่ความจริงที่ยังไม่รู้กับทั้งเป็นการดำเนินงานทางสติปัญญาทุกประการที่จะช่วยเหลือการคาดคะเนหลักฐานได้”  มีผู้พอใจในคำจำกัดความของมิลล์โดยให้เหตุผลว่า เป็นการแสดงทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแห่งตรรกวิทยา

ขอบเขตของตรรกวิทยา
          โดยเหตุที่ตรรกวิทยาว่าด้วย กระบวนการหรือวิธีคิดและผลของการคิด และเกี่ยวข้องถึง ความจริงโดยแบบแผนและความจริงโดยเนื้อหา ขอบเขตของตรรกวิทยาจึงคลุมถึงเรื่องนี้ทั้งหมด ความจริงโดยแบบแผน คือ การค้นความจริงให้เป็นไปถูกต้องตามแบบแผนหลักเกณฑ์ของการคิด แต่อาจจริงหรือไม่จริงโดยเนื้อหาก็ได้ เช่น พูดว่ามนุษย์ทุกคนมีนิ้วมือ 10 นิ้ว นาย ก. เป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น นาย ก. จึงมีนิ้วมือ 10 นิ้ว อย่างนี้เรียกว่าวิธีหาเหตุผลถูกแบบแผน ความจริงที่หาได้นั้นเป็นความจริงตามแบบแผน (formal truth) แต่อาจจริงหรือไม่จริงตามเนื้อหาก็ได้ เพราะถ้า นาย ก. มีนิ้วงอกออกมาเป็นพิเศษอีก 1 นิ้ว เป็น 11 นิ้ว ความจริงโดยเนื้อหาก็จะมีว่า นาย ก. มี 11 นิ้ว เรื่องขอบเขตของตรรกวิทยานี้ ยังเกี่ยวเฉพาะความรู้โดยทางอ้อมที่ต้องใช้วิธีอนุมานและการหาเหตุผลอีก ดังจะกล่าวข้างหน้า

ประเภทของตรรกวิทยา
          จากขอบเขตของตรรกวิทยาดังกล่าวแล้ว ทำให้จัดประเภทของตรรกวิทยาได้ 2 แบบ คือ:-
แบบที่ 1
          (1) ตรรกวิทยาแบบ (Formal Logic)เป็นตรรกวิทยาที่ให้หลักและวิธีหาเหตุไว้อย่างเป็นแบบสำเร็จ
          (2) ตรรกวิทยาเนื้อหา (Material Logic) เป็นตรรกวิทยาที่ช่วยให้ตรรกวิทยาแบบถูกต้องสมบูรณ์ตามเนื้อหาของความจริง
แบบที่ 2
          (1) ตรรกวิทยานิรนัย (Deductive Logic)เป็นตรรกวิทยาที่หาเหตุผลโดยตั้งหลักใหญ่ขึ้นก่อนแล้วพิสูจน์ไปถึงหลักย่อยว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เช่น :-
                              มนุษย์ทุกคนต้องตาย
                              นาย ก. เป็นมนุษย์
                              เพราะฉะนั้น นาย ก. ต้องตาย
          อันแสดงว่า ได้ตั้งหลักใหญ่ที่ว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องตายนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า นาย ก. ซึ่งเป็นเอกชน เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ในทุกคน นาย ก. จึงต้องตาย
          (2) ตรรกวิทยาอุปนัย (Inductive Logic) เป็นตรรกวิทยาที่พิสูจน์ส่วนปลีกย่อยเพื่อตั้งหลักใหญ่ขึ้น เช่น :-
                              เดือนมกราคมมีน้อยกว่า 32 วัน
                              เดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคมจึงมีน้อยกว่า 32 วัน
                              เพราะฉะนั้น เดือนทุกเดือนจึงมีน้อยกว่า 32 วัน
หรือ
                              ทวีปยุโรปมีแม่น้ำใหญ่
                              ทวีปเอเชียและอื่นๆ ก็มีแม่น้ำใหญ่
                              เพราะฉะนั้นทุกทวีปจึงมีแม่น้ำใหญ่

ความรู้และที่มาแห่งความรู้
          ในทางตรรกวิทยาได้กล่าวถึงความรู้ (knowledge) ไว้ว่ามีลักษณะ 3 ประการ คือ :-
          1. เป็นระบบความคิดในใจ
          2. ระบบความคิดนี้ขนานกับสิ่งที่มีอยู่จริงๆ คือ ไม่ใช่คิดลอยๆ
          3. มีความเชื่อในเรื่องนั้นด้วย
ขอยกตัวอย่างประกบลักษณะ 3 ประการดังนี้:-
                              เราเห็นฟ้าแลบ และรู้ว่ามีแสงสว่าง
                              เราได้ยินฟ้าร้อง และรู้เรื่องเสียง
                              เราลิ้มรสมะม่วง (สุก) และรู้ว่ามันมีรสหวาน
                              เราดมดอกกุหลาบ และรู้ว่ามันมีกลิ่นหอม
          ตัวอย่างเหล่านี้แสดงว่า อะไรก็ได้ที่เราเห็น, ได้ยิน, ได้ลิ้มรส, ได้ดมกลิ่น เราย่อมรู้ โดยนัยนี้ความรู้จึงมีลักษณะ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น พิจารณาความเข้าใจของตรรกวิทยาตรงนี้ ผู้เขียนเห็นสมควรแทรกคำอธิบายของพระพุทธศาสนาสักเล็กน้อย ความรู้ชนิดนี้ ไม่ใช่ความรู้ที่ต้องใช้ปัญญา เป็นความรู้ด้วยประสาทสัมผัส เรียกว่า วิญญาณ มีกระบวนการ 3 ทอดเหมือนกัน คือ 
          1. อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย) และธรรม (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) 
          2. ผ่านมาทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  
          3. เกิดความรู้ขึ้นเรียกว่าวิญญาณ กระบวนการตามที่พระพุทธศาสนาอธิบายนี้ อาจใช้คำอังกฤษได้ว่า Consciousness through six spheres of sense

ที่มาแห่งความรู้ ในทางตรรกวิทยาแสดงที่มาแห่งความรู้ไว้ 3 ประการคือ:-
          1. ความรู้โดยตรง หรือรู้ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากข้างนอก คือ รู้สิ่งที่พบเห็นหรือได้ยินได้ฟัง หรือความรู้จากข้างใน คือ ความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเองที่เรารู้ด้วยตัวเราเอง
          2. การอนุมาน คือ การคาดคะเน หรือหาเหตุผลโดยอาศัยสิ่งที่รู้ประจักษ์ เช่น เห็นควันก็อนุมานเอาว่าคงมีไฟ เห็นคนยิ้มก็อนุมานเอาว่าเขาคงพอใจ แต่การอนุมานนี้อาจจะผิดก็ได้ เพราะควันอาจจะเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี หรือการพ่นยา ดี.ดี.ที. เป็นฝอยละเอียดอย่างแรงจนแลดูเป็นควันฟุ้งไปก็มี หรือคนที่ยิ้มนั้นอาจยิ้มอย่างไม่สบายใจหรือยิ้มปลอบใจตัวเอง เมื่อเผชิญกับอุปสรรคก็ได้
          3. พยานหรือหลักฐาน พยานหรือหลักฐาน เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความรู้ได้อย่างดีทางหนึ่ง แต่ก็อาจจะมีทั้งพยานและหลักฐานที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เชื่อได้บ้าง เชื่อไม่ได้บ้าง
เมื่อประมวลที่มาแห่งรู้ 3 ประการเข้าด้วยกันแล้ว จึงอาจแบ่งประเภทตัวความรู้ได้เป็น 2 ประการ คือ:-
          1. ความรู้โดยตรง (Immediate knowledge) เป็นความรู้ซึ่งชัดเจนแจ่มแจ้งไม่ต้องเดา ไม่ต้องคาดคะเน
          2. ความรู้โดยอ้อม (Mediate knowledge) เป็นความรู้ซึ่งต้องใช้การอนุมาน คือ คาดคะเน ต้องใช้พยานหลักฐาน เพราะมิใช่ความรู้ประจักษ์

ตรรกวิทยาว่าด้วยความรู้โดยอ้อม
          โดยเหตุมีความรู้โดยตรงหรือความรู้ประจักษ์ไม่ต้องใช้วิธีการนึกเอา หรือคาดคะเน ส่วนตรรกวิทยาเป็นวิชาที่ต้องใช้การอนุมาน การหาเหตุผล การคาดคะเน ตรรกวิทยาจึงไม่เกี่ยวข้องกับความรู้โดยตรง หากเกี่ยวกับความรู้โดยอ้อม ซึ่งต้องอาศัยการอนุมาน โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการ
          ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตข้อความตอนนี้ไว้ให้ดีว่า ตรรกวิทยานั้นไม่เกี่ยวกับความรู้ประจักษ์ หรือความรู้โดยตรง แต่เกี่ยวกับความรู้โดยอ้อมซึ่งต้องใช้วิธีหาเหตุผลการอนุมาน หรือการคาดคะเน เพราะเมื่อเข้าใจขอบเขตตรงนี้ของตรรกวิทยาดีแล้ว ก็จะเห็นชัดขึ้นว่า เหตุไรพระพุทธศาสนา จึงไม่รับรองตรรกวิทยา

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก