ความรู้เรื่องกรรม 12 ประเภท
ในพระพุทธศาสนาจัดกรรม คือการกระทำที่มีลักษณะในทางให้ผลผิดแผกกันไว้ 12 ประเภท แบ่งออกเป็น 3 หมวด หมวดละ 4 ข้อ ดังนี้:-
1. ให้ผลตามกาลเวลา
1.1 กรรมให้ผลในชาตินี้ เรียก ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม
1.2 กรรมให้ผลในชาติหน้า เรียก อุปปัชชเวทนียกรรม
1.3 กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป เรียก อปราปรเวทนียกรรม
1.4 กรรมที่เลิกไม่ให้ผล คือ ให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือหมดโอกาส จะให้ผลได้ต่อไป เรียก อโหสิกรรม
2. ให้ผลตามหน้าที่
2.1. กรรมที่ให้ผลคล้ายเป็นบิดา คือ แต่งให้ดีเกิดมาดีชั่วต่างกัน เรียก ชนกกรรม
2.2 กรรมที่คอยตามสนับสนุนเหมือนพี่เลี้ยง คือ ถ้ากรรมเดิม หรือชนกกรรมแต่งดี ก็ส่งให้ดียิ่งขึ้น ถ้ากรรมเดิมแต่งให้ชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น เรียก อุปถัมภกรรม
2.3 กรรมบีบคั้นหรือขัดขวางกรรมเดิม คอยบีบชนกกรรม เช่นแต่งมาดีเบียนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่วเบียนให้ดี เรียก อุปปีฬกกรรม
2.4 กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น ชนกกรรมแต่งไว้ดีเลิศ กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายไปเลย เดิมชนกกรรมแต่งไว้เลวมาก กลับทีเดียว เป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐีไปเลย เรียกว่า อุปฆาตกกรรม
3. ให้ผลตามความหนักเบา
3.1 กรรมหนักทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาน ฝ่ายชั่ว เช่น ทำอนันตริยกรรม มีฆ่ามารดาบิดาเป็นต้น เป็นกรรมที่จะให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือมาสลับคั่นได้ เรียก ครุกรรม
3.2 กรรมที่สะสมไว้มากๆ เข้า กลายเป็นดินพอกหางหมู คือทำทีละเล็กละน้อย กลายเป็นกรรมมากไปได้ เรียก พหุลกรรม
3.3 กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือเอาจิตใจจดจ่อในเวลาใกล้ตายย่อมส่งผลให้ไปสู่คติที่ดี หรือชั่วได้ ซึงเปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอก แม้แรงจะน้อยสักเท่าไร เมื่อเปิดคอกก็ได้ออกก่อน เรียก อาสันนกรรม
3.4 กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์ อาจจะทำไปด้วยความประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายได้เหมือนกัน ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว เรียก กตัตตากรรม
ความรู้เรื่องกรรมทำให้ไม่หมดหวัง
เรื่องกรรม 12 ประเภทนี้ เมื่อแบ่งออกเป็น 3 หมวดแล้ว ในหมวดแรก ที่ให้ผลตามกาลเวลานั้น ก็เห็นได้ชัดว่า มีทั้งที่ให้ผลปัจจุบันทันตาเห็น ที่ให้ผลในชาติต่อไปและในชาติต่อๆ ไปอีก กับประการสุดท้ายที่ให้ผลเสร็จแล้ว หรือยังไม่ให้ผล แต่หมดโอกาสจึงเป็นอันพับไป การแบ่งให้หมวดนี้ว่า ให้ผลในชาตินี้ และในชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไปนั้น ถ้าจะอธิบายให้สั้นก็อาจจะอธิบายได้ถึงการที่กรรมให้ผลในวันรุ่งขึ้นและวันต่อๆ ไป ข้อสำคัญขอให้เข้าใจความหมายว่า ที่จัดไว้อย่างนี้เพื่อให้รู้ว่ามีกรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งระยะใกล้และระยะไกล กับประการสุดท้ายที่เป็นอันเลิกแล้วกันไป ในการเข้าใจเรื่องกรรมนี้ ถ้าเทียบด้วยเรื่องบัญชีรายรับจ่ายก็จะช่วยให้เข้าใจชัดขึ้น คนเราทำกรรมไว้ทั้งดีและชั่วจึงเท่ากับได้ขึ้นบัญชีรับจ่ายไว้ บัญชีย่อมไม่จำกัดเพียงวันเดียว เดือนเดียว หรือปีเดียว ย่อมมีการยกยอดไปใน วัน เดือน ปี อื่นๆ และมีการตัดบัญชี (หนี้สูญหรือชำระหนี้เสร็จแล้ว) ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราในวันนี้ อาจไม่ใช่การกระทำในชาตินี้ อาจเป็นยอดยกมาแต่ชาติก่อน นอกจากนั้นด้วยหลักกรรมนี้พระพุทธศาสนาอาจอธิบายได้ถึงความไม่เหมือนกันแห่งชีวิตของแต่ละคนว่า ไม่ใช่บังเอิญ แต่เป็นเพราะได้ประกอบกระทำกรรมดีกรรมชั่วไว้ต่างกัน จึงได้ประสบผลต่างๆ กัน เรื่องนี้ทำให้มีหวังก็คือ เราอาจบำเพ็ญคุณงามความดีในปัจจุบันเพื่อทำให้บัญชีของเราดีขึ้น ยอดที่ยกไปก็จะได้ดีตาม
อนึ่ง ในกรรมหมวดที่ 2 ที่ให้ผลตามหน้าที่นั้น เป็นการอธิบายให้เห็นว่ากรรมที่จัดสรรให้คนเกิดมาดีเลวต่างกันนั้น มิใช่ว่าจะคงที่อยู่อย่างตายตัว ยังมีกรรมอื่นซึ่งเป็นเหมือนพี่เลี้ยงมาคอยส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น หรือให้เลวยิ่งขึ้น ครั้นแล้วก็มีกรรมประเภทขัดจังหวะ คือ ควรจะดีมากทำให้ดีน้อย ควรจะชั่วมากทำให้ชั่วน้อย เป็นกรรมฝ่ายค้านที่คอยหักล้างของเดิมอยู่ก็มี และยิ่งกว่านั้นก็มีกรรมข้อที่ 4 ในประเภทที่ 2 นี้ อันเป็นกรรมที่เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ชนิดหน้ามือเป็นหลังมืออีก ดีอยู่แล้ว กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายเลย เป็นขอทานอยู่ กลับทีเดียวเป็นมหาเศรษฐีเลย หรือเป็นพระมหากษัตริย์เลย เป็นเรื่องของการหักบัญชีกันอย่างเห็นได้ชัดๆ เพราะฉะนั้น ถ้าทราบว่าอาจเพิ่มบัญชีฝ่ายดีให้มากๆ ได้ เพื่อให้ไปเป็นเครื่องขัดขวางกรรมเก่าที่ไม่ดี ก็เท่ากับเรารู้วิธีสะเดาะเคราะห์ทีถูกแบบที่สุด คือถ้าเกรงเหตุร้ายจะเกิดขึ้น ก็ควรเร่งทำความดีให้มากขึ้น จะเป็นความดีในการช่วยชีวิต หรือช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยากก็ตาม ก็จะช่วยลดเคราะห์ หรือช่วยขัดขวางกรรมฝ่ายไม่ดี หรือผ่อนร้ายให้เบาบางลง
ผู้เขียนเคยอธิบายเทียบด้วยน้ำกรด หรือยาพิษขนาดแรงที่อาจกินเข้าไปแล้วตายทันที แต่ถ้าเติมน้ำให้เจือจางยาพิษหรือน้ำกรดนั้นก็ไม่ทำอันตราย หรือกลายเป็นยาย่อยอาหารไป
ผลร้ายของกรรมชั่วบางอย่าง เทียบด้วยยาพิษหรือน้ำกรด ถ้าเราทำความดีให้มากๆ เข้า ความดีนั้นก็จะสร้างผลดีขึ้นมาคอยต้านทาน หรือขัดจังหวะกรรมชั่วได้เหมือนกัน คือคอยแทรกแซงไม่ให้โอกาสส่งผลสมบูรณ์ 100% เทียบด้วยกับคนที่ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่อ้างความดีโน่น ความดีนี่มาหักลบกลบเกลื่อนอาจจะเหลือเพียง 2 ปี แล้วรอการลงอาญาไว้ยังไม่ถึงกับติดคุกก็ได้ ในทางชั่วก็เช่นเดียวกัน ผู้สร้างความชั่วต่างๆ ก็ชื่อว่าพยายามขัดขวางความเจริญของตนเอง หรือสร้างความล่มจมให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผู้มีความรู้เรื่องกฎแห่งกรรมจึงไม่ค่อยต้องตีโพยตีพายกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต แต่จะรู้สึกเสมือนลูกหนี้ที่ยอมใช้หนี้อย่างไม่ปริปาก แล้วพยายามสร้างฐานะที่ดีขึ้นใหม่
ผู้เขียนเคยพบท่านผู้หนึ่งต้องโทษโดยศาลยังมิได้ระบุว่าทำความผิด ยังอยู่ในระหว่างไต่สวน แต่ในระหว่างไต่สวนนั้น ท่านผู้นั้น ถูกขังอยู่เป็นเวลาหลายปี ท่านผู้นั้นอธิบายได้ดีถึงกฎแห่งกรรม และเข้าใจดีว่า แม้ตนจะไม่ผิด แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นเรื่องของการยกยอดบัญชีมาแต่ชาติก่อน ทำให้หักห้ามใจไปได้ และพยายามสร้างความดีขึ้นใหม่อีกต่อไป
ในหมวดที่ 3 ที่แสดงถึงกรรมให้ผลตามความหนักเบานั้น มีข้อเตือนใจก็คือ อย่าดูหมิ่นความดีความชั่วเล็กๆ น้อยๆ เพราะมันอาจพอกพูนเป็นของมากขึ้นเหมือนน้ำทีละหยดเต็มตุ่มได้ น้ำทีละหยดเซาะหินให้เป็นร่องได้ หรือรากไม้ที่เจริญทีละน้อยๆ งัดหินให้แตกได้ และใจเย็นในการประกอบคุณงามความดี คือยังมองไม่เห็นผลอย่าเพิ่งเอะอะโวยวายว่า ทำดีไม่เห็นได้ดี ความเข้มข้นของความดีอาจจะยังไม่พอ ก็ต้องเวลาไปก่อน เทียบด้วยการเรียนหนังสือ เรียนเพียงวัน 2 วัน จะได้อ่านหนังสือออกนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร ก็ต้องรอความเข้มข้นของความรู้ทีละสองตัว รวมกันมากๆ เข้าก็อ่านออกได้ไปเอง ดูตัวอย่างของพระพุทธเจ้าก็จะเห็นได้ ว่าพระองค์ได้ประกอบคุณงามความดีสะสมไว้อย่างไม่ท้อถอย ตลอดเวลาที่ท่านพรรณนาว่าหลายอสงไขยชาติ ในที่สุด ก็ได้ประสบความสมบูรณ์ได้ด้วยการไม่ทอดทิ้งความพยายาม หรือไม่วางมือประกอบความดีเพราะท้อแท้
ตัวอย่างแห่งเหตุผลที่ให้เกิดผล
พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งเหตุที่ให้เกิดผล และเหตุที่ให้เกิดผลชั่วไว้ในจูฬกัมมวิภังสูตร เล่ม 14 หน้า 376 อันอาจแยกได้เป็นข้อๆ ดังนี้
เหตุผลฝ่ายชั่ว
1. มีอายุน้อย เพราะฆ่าสัตว์
2. มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์
3. มีผิวพรรณทราม เพราะมักโกรธแค้นพยาบาท
4. มีศักดิ์ต่ำ เพราะมักริษยา
5. มีโภคทรัพย์น้อย เพราะไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน
6. เกิดในตระกูลต่ำ เพราะกระด้างถือตัว ไม่รู้จักอ่อนน้อม
7. มีปัญญาทราม เพราะไม่ไต่ถามหรือแสวงหาความรู้
เหตุฝ่ายดี
1. มีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์
2. ไม่มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
3. มีผิวพรรณดี เพราะไม่มักโกรธแค้นพยาบาท
4. มีศักดิ์สูง เพราะไม่มักริษยา
5. มีโภคทรัพย์มาก เพราะเอื้อเฟื้อเจือจาน
6. เกิดในตระกูลสูง เพราะไม่กระด้างถือตัว รู้จักอ่อนน้อม
7. มีปัญญาดี เพราะรู้จักไต่ถามและแสวงความรู้
ตัวอย่างที่แสดงมานี้ เป็นเหตุผลทั้งฝ่ายอดีตและปัจจุบัน ทั้งเป็นตัวอย่างให้คนเข้าใจได้อย่างเกือบจะเรียกว่าโดยใช้สามัญสำนึก
กฎแห่งกรรมกับพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเองก็ทรงแสดงถึงเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตของพระองค์ เกิดขึ้นจากการกระทำต่างๆ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วของพระองค์ มิใช่มีอะไรเป็นของบังเอิญสักอย่างเดียว จากประวัติตรัสเล่าในอปทาน พระสุตตันตปิฎก เล่ม 32 ตั้งแต่หน้า 471 พระพุทธองค์ได้ตรัสเปิดเผยความชั่วในอดีตชาติของพระองค์เอง ที่เป็นเหตุให้พระองค์ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่ดี เช่น :-
(1) ในชาติหนึ่ง พระองค์เป็นนักเลงชื่อปุนาลิ กล่าวตู่ใส่ความพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีนามว่าสุรภิผู้ไม่ประทุษร้ายอะไรพระองค์เลย ผลของกรรมนั้นทำให้เวียนว่ายในนรกได้รับทุกขเวทนาตลอดกาลนาน ในชาติสุดท้ายจึงถูกนางสุนทรีใส่ความ คือ เมื่อทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นางสุนทรีได้รับสินจ้างจากผู้อื่น แกล้งใส่ความพระองค์ได้เสียกับนาง ขณะที่กำลังมีข่าวลืออยู่นั้น ผู้จ้างคือนักบวชพวกเดียรถีย์ได้จ้างคนฆ่านางสุนทรี เพื่อจะให้ความชัดยิ่งขึ้นว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้คนไปฆ่าเพื่อปิดปาก ภายหลังพระราชาใช้นักสืบไปสืบในร้านสุรา จึงจับได้ทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง เพราะพวกนักเลงที่รับจ้างนั้นปากอยู่ไม่สุข ในที่สุดก็ได้ลงโทษนักเลงและเดียรถีย์ฐานฆ่าคนตาย
(2) ในชาติหนึ่งพระองค์ได้กล่าวตู่ใส่สาวกของพระพุทธเจ้านามว่าสัพพาภิภู ผู้มีนามว่านันทะ ตกนรกอยู่เป็นเวลานาน ในชาติสุดท้ายที่เป็นพระพุทธเจ้ายังถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ความ แกล้งทำเป็นมีครรภ์กับพระองค์ โดยเอาไม้มาทาบที่ท้องแล้วเอาผ้าพันให้ดูเป็นมีครรภ์จริง แต่เผอิญไม้หลุดตกลงมา จึงถูกประชาทัณฑ์อย่างหนัก
(3) ในชาติหนึ่งพระองค์ทรงฆ่าน้องชายต่างมารดาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ โดยผลักลงซอกเขาเอาศิลาทุ่ม ในชาติสุดท้าย จึงมาถูกพระเทวทัตเอาศิลาทุ่ม แต่เพราะกรรมเบาบางมากจึงไม่ถูกอย่างจัง เพียงถูกสะเก็ดเล็กน้อยที่นิ้วพระบาท
ความจริงเรื่องที่ตรัสเล่าไว้ยังมีอีกมาก แต่ได้เลือกนำมาแปลไว้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าของเราท่านตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ใช่จะเล่าแต่คุณความดีของพระองค์เท่านั้น ความชั่วที่เคยทรงทำมามีอะไรบ้างก็ทรงเล่าด้วย ทั้งนี้ทำให้เราได้ประโยชน์และคติสอนใจทั้งในฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ผลดีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าเหลิงจนลืมตัว ผลชั่วอะไรที่เกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งเสียขวัญ ขอให้พิจารณาว่าเป็นผลของการกระทำในปัจจุบันหรือไม่ ถ้ามองไม่เห็นในปัจจุบันจะได้พิจารณาไปที่อดีตซึ่งมองไม่เห็น อันอาจมีกระเซ็นกระสายเหลือมาได้อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงประสบมาแล้ว ข้อสำคัญขอให้ทำความดีแก้ตัวให้มากที่สุดเท่าที่มีโอกาสจะทำได้ อย่าผัดวันประกันพรุ่งหรือรอไว้เมื่อนั้นเมื่อนี้ จนในที่สุดไม่ได้ทำความดีอะไร
บุคคลบางคนอยู่ดีๆ แต่มีคนใส่ความ ถูกหนังสือพิมพ์ช่วยกันรุมด่าอย่างผิดๆ เพราะไม่รู้ความจริง เรื่องเช่นนี้พิจารณาตามหลักกรรมแล้ว ก็ไม่ควรตื่นเต้นตกใจอะไร ทั้งผู้ด่าและผู้ถูกด่าจะต้องมีเหตุผลอะไรด้วยกัน ผู้ถูกด่าอาจเคยใส่ความคนอื่นเขามาในชาติก่อน ผู้ด่าในปัจจุบันซึ่งด่าคนส่งๆ ไปตามความพอใจนั้น ก็จะเก็บเกี่ยวผลแห่งการด่าของเขาเอง โดยที่ผู้ถูกด่าไม่ต้องดิ้นรนแจ้งความหรือด่าตอบ ภาษิตไทยเราเรียกว่า กงเกวียนกำเกวียน ถ้ารู้กฎแห่งกรรมอย่างนี้แล้วก็ควรระมัดระวังเหตุการณ์ในปัจจุบัน และอนาคตให้ดีว่า เราจะไม่สร้างกรรมชั่วขึ้นเพื่อยังความพินาศล่มจมให้แก่ตัวเราเอง ที่แล้วมาเราย้อนกลับไปแก้ไม่ได้ เราก็อาจแก้ที่ปัจจุบันและอนาคต
นายคริสตมัน ฮัมฟรีส์ นายกสมาคมลอนดอนกล่าวว่า พระพุทธศาสนา ต่างจากศาสนาประเภทเทวนิยมที่ตรงนี้เอง คือถือว่าคนเป็นผู้สร้างโชคดีโชคร้ายผลดีผลร้ายให้แก่ตนเอง ส่วนศาสนาประเภทเทวนิยมอ้างไปที่พระเจ้า
เพราะฉะนั้น การสอนให้พึ่งตน ให้ช่วยตน ให้ประกอบกระทำแต่ความดีโดยอาศัยตนเป็นผู้ทำ จึงนับว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษและคุณลักษณะโดยเฉพาะของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
คำสอนเรื่องตนและไม่ใช่ตน
ในบทนี้กล่าวถึงเรื่องควรพึ่งตนเอง ตลอดจนการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วติดต่อกันมาโดยตลอด ทำให้เกิดปัญญาขึ้นว่า พระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ คือลักษณะ 3 อย่าง ได้แก่ ความเป็นของไม่เที่ยง ความทนอยู่ไม่ได้ ความเป็นของไม่ใช่ตน ก็เมื่อพระพุทธศาสนาสอนปฏิเสธเรื่องตัวตน ไม่ยึดมั่นถือมั่นเช่นนี้ เหตุไฉนจึงมีคำสอนให้พึ่งตนเล่า จะมิขัดกันหรือ
ตอบว่าไม่ขัดกัน เพราะพระพุทธศาสนาสอนรับรองทั้งสมมติทั้งปรมัตถ์ สมมติ คือเรื่องที่ชาวโลกนัดหมายเรียกร้องกันอย่างไรก็รับรองตามนั้น ปรมัตถ์ คือการค้นหาสาระหรือแก่นความจริง ไม่ติดอยู่เพียงแค่สมมติ
ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่า พระพุทธศาสนารับรองสมมติและปรมัตถ์อย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักนับถือพี่น้อง ครูอาจารย์ มารดาบิดา เพศหญิงเพศชาย ผู้ใหญ่ผู้น้อย และให้วางตัวโดยเหมาะสมแก่บุคคลนั้นๆ ที่เรียกว่าปุริสัญญุตา รู้จักประชุมชน ปุคคลปโรปรัญญุตา รู้จักบุคคลเป็นการรับรองสมมติ
แต่ในการสอนใจให้พิจารณารู้เท่าทันสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้รู้ทันตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง พระองค์ทรงสอนให้มองเห็นสัตว์บุคคล และสรรพสิ่งว่ามีสภาพอันเดียวกัน คือ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เป็นสักว่าธาตุมารวมกัน ก็สมมติเป็นผู้นั้นผู้นี้ เป็นคนเป็นสัตว์ เมื่อแยกจากกันก็สมมติว่าตาย เป็นกระบวนการเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธศาสนาอยู่ได้เพราะรู้จักใช้สมมติ และรู้จักใช้ปรมัตถ์ถูกเรื่อง ชาวโลกซึ่งคุ้นอยู่กับการสมมติ ก็ชอบว่าพระพุทธศาสนาสอนไว้อย่างเหมาะสมแก่โลก ให้โลกอยู่เย็นเป็นสุข และในขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติธรรม ก็พิจารณารู้เท่าทันโลกไปในตัว ไม่ติดโลกหรือหลงโลกจนเกินไป
เรื่องอัตตาตัวตนก็ฉันนั้น ชาวโลกเขาเรียกร้องกันอย่างนั้น พระพุทธศาสนาก็ไม่ขัด และยอมรับเอาถ้อยคำนั้นมาใช้เพื่อสอนให้รู้จักช่วยตัวเอง พึ่งตนเอง แต่ในขณะเดียวกันในธรรมชั้นสูงก็สอนให้รู้เท่าทันว่า สิ่งที่สมมติเรียกกันว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นั้น แท้จริงไม่ใช่ตัวตนอะไรเลย เป็นเพียงกระบวนการปรุงแต่ง การรวมตัวกันอันหนึ่ง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้ว ก็มิใช่ตัวใช่ตน
ความรู้อย่างนี้เป็นความรู้ 2 ด้าน คือ สมมติและปรมัตถ์ หรือ ด้านนอกด้านใน ซึ่งไม่ขัดกันแต่ประการใดเลย.