เมื่อมีอุปสรรคหรือปัญหาเกิดขึ้น วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนต้องพึ่งพาอำนาจภายนอกจึงต้องบนบานศาลกล่าวขอให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนที่มองไม่เห็นให้มาช่วยเหลือ ศาลเจ้าทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้มีไม่น้อย เทพเจ้าจะมีอยู่จริงหรือไม่นั้นต้องหาคำตอบเอาเอง คนที่เชื่อก็ต้องบอกว่ามี ส่วนคนที่ไม่เชื่อในเทพเจ้าก็บอกว่าไม่มี ความเชื่อของแต่ละบุคคลอาจจะส่งผลต่อการกระทำด้วย พระพุทธศาสนายอมรับในเรื่องของเทพต่างๆ แต่ยอมรับในฐานะที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกับมนุษย์ เมื่อพบกับอุปสรรคปัญหาต่างๆจึงสอนให้พึ่งตนเองก่อน มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ แปลว่าตนแลเป็นที่พึ่งของตน"อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพอดีตเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยได้เขียนเรื่องการพึ่งตนเองและกฎแห่งกรรมไว้ในคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา แม้จะมีเนื้อหาค่อนข้างยาวแต่ค่อยๆอ่านเดี๋ยวก็จบเอง
บทที่ 10
การพึ่งตนเอง ยกระดับตนให้สูงขึ้นและกฎแห่งกรรม
“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้รู้จักพึ่งตัวเองในการประกอบคุณงามความดี ในการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น ไม่สอนให้คิด แต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลักเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม (Law of Karma) อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมมากขึ้น”
ในบทนี้ ถ้าจะกล่าวอย่างย่อที่สุด ก็คือคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาในข้อนี้ ได้แก่การสอนให้พึ่งตนเองไม่นิยมให้ทำการใดๆ อันเข้าลักษณะยืมจมูกคนอื่นหายใจดังที่คำโบราณว่าไว้
แต่โดยเหตุที่มีข้อปลีกย่อยอีกหลายประการ ซึ่งนำมากล่าวรวมไว้ในข้อนี้ด้วย จึงขอแยกแนวพิจารณาออกเป็น 4 ข้อ คือ:-
1. พระพุทธศาสนาสอนให้พึ่งตัวเองในการประกอบคุณงามความดี
2.พระพุทธศาสนา สอนให้พึ่งตัวเองในการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น(วัฒนธรรม)
3. พระพุทธศาสนาไม่สอนให้คิดได้ดี โดยวิธีอ้อนวอนบวงสรวง
4. พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจกฎแห่งกรรม ซึ่งจะได้แยกอธิบายเป็นข้อๆ ไป:-
1. พระพุทธศาสนาสอนให้พึ่งตัวเองในการประกอบคุณงามความดี
ก.พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความเพียรเป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายจะพึงทำเอง ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทางให้” พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 51
ข. พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าพึ่งเป็นที่พึ่งได้” พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 37
ค. พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นเกาะที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17 หน้า 53
พระพุทธภาษิตที่นำมากล่าวไว้พอเป็นสังเขปในที่นี้ แสดงว่าในพระพุทธศาสนาไม่มีการทำคุณงามความดีแทนกัน ทุกคนต้องทำเอาเอง แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงทำแทนใครไม่ได้ ทรงชี้ทางให้เท่านั้น เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนจะพึงปฏิบัติเอาเอง เปรียบเหมือนอาหารจะให้คนอื่นกินแทนกัน แล้วให้อีกคนหนึ่งอิ่ม ย่อมเป็นไปไม่ได้ฉะนั้น
ความจริงการสอนให้พึ่งตนเองนี้ เป็นการวางรากฐานจิตใจไม่ให้อ่อนแอคอยแต่จะเหลียวหาผู้อื่นช่วยเหลือตลอดเวลา คนคิดพึ่งตัวเองอยู่เสมอ ย่อมมีจิตใจเป็นอิสระและทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท กล่าวคือเมื่อไม่ค่อยคิดพึ่งคนอื่นย่อมเป็นผู้เตรียมการทุกอย่างไว้ เพื่อช่วยตัวเองให้ได้ เช่น:-
ก.ในเรื่องการเงิน ผู้คิดพึ่งตังเองย่อมระมัดระวังการใช้จ่ายไม่สุรุ่ยสุร่าย เพราะถ้าเงินหมดจะต้องรบกวนคนอื่น จะรู้จักเก็บออมไว้ใช้ยามที่ต้องการ บางครั้งความจำเป็นบังคับอาจต้องพึ่งผู้อื่น แต่ก็ไม่บ่อยครั้งนัก จะมีก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ และในกรณีเช่นนั้น ผู้คิดพึ่งตัวเองย่อมเปลื้องหนี้สินได้โดยเร็ว เพราะความไม่ประมาทในการครองชีวิต
ข.ในเรื่องการงาน ผู้คิดพึ่งตังเอง ย่อมหัดทำอะไรๆ เองได้ในสิ่งที่พอจะช่วยตัวเองได้ พึงสังเกตว่าภิกษุในพระพุทธศาสนามีข้อกำหนดให้มีด้ายมีเข็มไว้เป็นบริขารประจำตัว นี่ก็มิใช่อื่นไกลเพื่อให้รู้จักเย็บผ้าปะผ้าใช้เองบ้าง ไม่ใช่เป็นผู้สำรวยหยิบโหย่งทำอะไรเองไม่ได้เลย ยิ่งกว่านั้น ผู้คิดพึ่งตัวเอง ย่อมพยายามปลูกความรู้ความสามารถเอาดีที่การงาน ไม่ใช่คอยประจบแต่ผู้ใหญ่เอาตัวรอดไปวันหนึ่งๆ ผู้คิดพึ่งตัวเองย่อมเอาตัวรอดได้ในเมื่อจำเป็นต้องวิ่งเต้นต่อสู้กับชีวิตและการงานด้วยลำแข้ง ไม่ได้ทำงานอย่างนี้ ก็ไม่อดตาย เพราะรู้จักทำงานอย่างอื่นช่วยตัวเองได้
ค.ในเรื่องการศึกษา ผู้คิดพึ่งตัวเอง ย่อมไม่เกียจคร้าน ไม่ค่อยคิดหาวิธีลัด ด้วยการคอยถามคอยดูคำตอบของเพื่อน หรือคอยลอกคำตอบของเพื่อนเวลาสอบไล่ ไม่ต้องกังวลบนบานศาลกล่าวให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนช่วย เพราะอุ่นใจในความเพียรช่วยตัวเองอยู่แล้ว ผู้คิดพึ่งตัวเองเมื่อสนใจศึกษาศิลปวิชา ย่อมเจริญด้วยความรู้ความสามารถทำให้ชีวิตเป็นหลักฐานขึ้นได้ แม้ในเบื้องแรกจะตกต่ำไม่เจริญเหมือนคนทั้งหลาย
ง. ในเรื่องการครองชีวิต ผู้คิดพึ่งตัวเอง ย่อมเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ของตนเองไว้ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องหยิบยืมของผู้อื่น เตรียมการแก้ไข อุปสรรค แห่งชีวิต และเตรียมตัวเพื่อไม่ให้การครองชีวิตต้องล่มจมตกต่ำ ด้วยการรู้จักประมาณตัว จะเป็นคนครองชีพโดยเหมาะสมแก่ฐานะ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ลืมตัว หรือคอยหวังพึ่งผู้อื่นตลอดเวลาแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น ความคิดพึ่งตัวเองมีอยู่เป็นประจำ จะทำให้ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร มากเกินไป ถ้าเป็นเด็กก็เป็นเด็กที่รู้จักโต ไม่ต้องอยู่ในภาระรับผิดชอบของพ่อแม่ ชนิดไปไม่พ้นอกพ่อแม่ ต้องพึ่งท่านอยู่โดยไม่คิดตั้งตัวให้เป็นหลักฐานแล้วเลี้ยงท่านตอบแทนบ้างเลย
จ.ในเรื่องความประพฤติปฏิบัติ ผู้คิดพึ่งตัวเองย่อมไม่คิดจะได้ดีอะไรอย่างลอยๆ หากจะรู้จักประกอบเหตุเพื่อให้เกิดผลโดยการกระทำที่ถูกต้องของตน ฉะนั้น เมื่ออยากได้ดีก็ต้องประกอบคุณงามความดี และในการประกอบคุณงามความดีนี้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงชี้หนทาง และทรงประพฤติปฏิบัตินำทางไว้แล้ว หน้าที่ประพฤติปฏิบัติเป็นของผู้ปรารถนาจะเจริญก้าวหน้าในคุณความดีทั้งหลาย
เรื่องพึ่งตัวเองเป็นเรื่องธรรมชาติ
เราสังเกตได้ว่า เด็กเล็กๆ ช่วยตัวเองเหมือนผู้ใหญ่ไม่ค่อยได้ ธรรมชาติจึงได้สร้างกำลังต้านทานไว้ให้มากกว่าผู้ใหญ่ เช่นเด็กเป็นไข้ อุณหภูมิ ขึ้นถึง 104 และ 105 องศาฟาเรนไฮท์ เด็กพอทนได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่อุณหภูมิขึ้นถึงขนาดนั้น ก็กระสับกระส่ายหรือเพ้อ แม้ที่เกี่ยวกับโรคติดต่อ เช่นไข้หวัดใหญ่ เด็กเล็กๆ ที่ยังดื่มนมมารดามักมีกำลังต้านทานดีกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพราะการเตรียมอะไรต่ออะไรไว้ให้ธรรมชาติยังมีผลปรากฏอยู่ ครั้นโตขึ้น พอที่จะตักอาหารเข้าปากเองได้ เด็กจะแย่งผู้ใหญ่ทำเองเป็นการหัดช่วยตัวเองไปในขณะเดียวกัน
ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ เมื่อมีบาดแผลหรือเนื้อฉีกขาดหายไปบางตอน ก็จะมีการซ่อมแซมในตัวเองจนเต็มดังเก่า การรักษาบาดแผลนั้นแท้จริงคือ การรักษาความสะอาดมิให้เชื้อโรคอื่นจะเข้ามาเท่านั้น ส่วนการซ่อมแซมเป็นเรื่องของร่างกายเองที่จะเพิ่มเซลล์ตรงบาดแผลนั้นให้มากขึ้นจนเต็มเป็นปกติดังเดิม
การตัดต่อต้นไม้ เช่นใช้กิ่งพุทราพันธุ์ดีมาต่อกับพุทราพันธุ์ไม่ดีเขาก็ใช้ยาทา ใช้ผ้าพันพอช่วยให้ยึดกันได้ดีเท่านั้น ส่วนการส่งอาหารไปเลี้ยงกิ่งใหม่ การสมานเนื้อให้เข้ากันเป็นการช่วยตัวเองของต้นไม้นั้น
หลุยส์ปาสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ค้นพบวิธีป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดความต่อต้าน (Immunity) ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ ก็ใช้วิธีคิดโดยอาศัยหลักพึ่งตัวเองในธรรมชาติเป็นสำคัญ กล่าวคือ เมื่อฉีดเชื้อโรคอย่างอ่อนๆ เข้าไปในร่างกายของสัตว์ ร่างกายจะสร้างเครื่องต้านทานขึ้น เรียกว่า Antibody เมื่อมีเครื่องต้านแล้ว ฉีดเชื้อโรคเพิ่มเข้าไปมากขึ้นโดยลำดับ ร่างกายก็จะสร้างเครื่องต้านทานมากขึ้นโดยลำดับถึงขนาดต้านทานเชื้อโรคอย่างแรงได้ ครั้นแล้ว ก็เอาโลหิตหรือน้ำเหลืองจากสัตว์ที่มีความต้านทานนั้นมาทำเซรุ่ม สำหรับฉีดป้องกันโรคอหิวาต์ไก่อย่างได้ผล นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งของหลุยส์ปาสเตอร์ผู้นี้ (ดูหนังสือ Principles and Practice of Bacteriology หน้า 9)
เมื่อหลักการพึ่งตัวเองเป็นหลักในธรรมชาติเช่นนี้ การสอนให้รู้จักพึ่งตัวเอง จึงเป็นหลักคำสอนที่ถูกหลักธรรมชาติอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะการพึ่งผู้อื่นนั้นเป็นของไม่แน่นอนว่า จะพึ่งได้เสมอไป ชอบใจเขาก็จะให้พึ่ง ไม่ชอบใจเขาก็จะไม่ให้พึ่ง หรือแม้เขาอยากให้พึ่ง แต่ความไม่แน่นอนของโลกอาจทำให้เขาตกต่ำลงจนไม่สามารถให้เราพึ่งต่อไปก็ได้ หรือเขาอาจสิ้นชีวิตไปตามเหตุตามปัจจัยแห่งอายุก็ได้ ตกลงการเตรียมพึ่งตัวเองไว้ เป็นไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่คุณโดยส่วนเดียว
จริงอยู่คนที่เกิดมาในโลกนี้จำต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งนี้ เพราะพระพุทธศาสนาก็มิได้ห้ามการพึ่งพาอาศัยกัน เป็นแต่เตือนไว้ให้รู้จักช่วยตัวเอง เพื่อเวลาที่พึ่งคนอื่นไม่ได้ หรือไม่จำเป็นจริงๆ จะได้พึ่งตัวเองได้ ทำให้เป็นคนมีอิสระแก่ตนเอง ไม่ต้องเป็นคนอ่อนแอเหลียวหาที่พึ่งอยู่เนืองนิตย์ เด็กที่พ่อแม่โอ๋มาแต่เล็ก ทำอะไรไม่เป็นเลย จะเป็นเด็กที่ต้องมีพี่เลี้ยงช่วยเหลือตลอดเวลา และโตขึ้นก็จะทำให้เป็นคนอ่อนแอหยิบโหย่งทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เองไม่เป็น ทำให้มีความรู้สึกว่าในบางครั้งการถูกปล่อยให้เผชิญชีวิตตามลำพังนั้นเป็นภาระอันน่ากลัวอย่างยิ่ง
รวมความว่า ในการประกอบคุณงามความดีหรือการดำรงชีวิต ควรฝึกหัดช่วยตัวเองพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง
2.พระพุทธศาสนาสอนให้พึ่งตัวเองในการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น (วัฒนธรรม)
เรื่องนี้เป็นโอกาสให้ได้พูดถึงการที่พระพุทธศาสนาเป็นต้นตำรับแห่งวัฒธรรมที่เก่าแก่ของโลก เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้พยายามยกระดับของตนเองให้สูงขึ้นให้ประณีตขึ้นเสมอ ทั้งโดยการศึกษาและโดยการฝึกหัดไม่ให้ปล่อยชีวิตไปตามบุญตามกรรม พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ปรากฏในทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม 24 หน้า 101 ว่า“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! แม้แต่การหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายเรายังไม่สรรเสริญไฉนเราจะสรร เสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเล่า. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมสรรเสริญในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลายไม่สรรเสริญการหยุดอยู่หรือความเสื่อม.”
เมื่อทางพระพุทธศาสนาสอนให้ก้าวหน้าให้สร้างความเจริญรุ่งเรื่องไม่หยุดอยู่กับที่เช่นนี้ จึงส่งเสริมความพากเพียรความเข้มแข็งอดทน และความเป็นผู้ที่ได้สดับตรับฟังมากว่า เป็นคุณธรรมสำคัญแต่ละประการ
ในตอนนี้ เมื่อกล่าวถึงข้อที่พระพุทธศาสนาสอนให้ยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้นด้วยตนเอง จึงทำให้เราได้มีโอกาสพูดเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นต้นตำหรับแห่งวัฒธรรมอันเก่าแก่ของโลกสืบไป
วัฒนธรรมคืออะไร
วัฒนธรรมคือความเจริญขึ้น ความดีขึ้นหรือประณีตขึ้นกว่าเดิม โดยการศึกษาและการฝึกหัด ความเจริญขึ้นหรือดีขึ้นนี้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นทางไหน สุดแต่ที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่รวมกันเป็นหมู่แล้ว จัดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมทั้งสิ้น
วัฒนธรรมแบ่งออกเป็นหลายสาขา เช่นวัฒนธรรมทางวัตถุบ้าง วัฒนธรรมที่มิใช่วัตถุคือเกี่ยวด้วยขนบธรรมเนียมและศีลธรรมบ้าง ประเทศไทยเราเคยแบ่งงานวัฒนธรรมออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. คติธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมทางศีลธรรมหรือทางจิตใจ
2. เนติธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมทางกฎหมาย
3. วัตถุธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมทางวัตถุ
4 สหธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมทางสังคม
นอกจากนี้ ยังแบ่งงานวัฒนธรรมอีกหลายทาง เช่น วัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี ทางวรรณกรรม ทางศิลปกรรม เป็นต้น แม้จะแบ่งวัฒนธรรม ออกเป็นกี่อย่างก็ตาม พระพุทธศาสนาก็เชื่อว่า มีส่วนสงเสริมคนให้ดีขึ้นในทุกวิถีทางอยู่เสมอมา ในที่นี้จะแสดงหลักฐานว่า พระพุทธศาสนาส่งเสริมวัฒนธรรมทางไหนบ้าง ดังต่อไปนี้ :-
สมบัติผู้ดี
คุณธรรมหรือวัฒนธรรมเกี่ยวกับจรรยามารยาทหรือที่เราเรียกว่า สมบัติผู้ดีนั้น จะเห็นได้ในพระวินัยปิฎก เช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย ดังนี้
1. ให้ภิกษุนุ่งห่มให้เรียบร้อย ทั้งในขณะปรากฏกายในที่ชุมนุมชนในละแวกบ้าน และในขณะฉันอาหาร
2. ให้ภิกษุสำรวมมือเท้าด้วยดี ในขณะที่ไป หรือนั่งในบ้านสำรวมมือเท้า คือไม่เล่นคะนองด้วยมือเท้า
3. ให้ภิกษุไม่เลิกผ้า ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่เรียบร้อย ในขณะที่ไป หรือนั่งในบ้าน
4. ให้พระภิกษุไม่หัวเราะ หรือส่งเสียงดังจนน่าเกลียดในขณะที่ไป หรือนั่งในบ้าน
5. ให้ภิกษุไม่แสดงอาการน่ารังเกียจ เช่นโคลงกาย ไกวแขน สั่นศีรษะ เอามือค้ำกาย เอาผ้าคลุมศีรษะ เดินกระโหย่ง ( แบบคนย่องเบา ) หรือนั่งรัดเข่า ( ซึ่งถือกันว่าไม่สุภาพ ) ในขณะที่ไปหรือนั่งในบ้าน
6. ในการฉันอาหาร ให้ภิกษุฉันด้วยอาการอันเรียบร้อย ไม่พูดขณะข้าวเต็มปาก ไม่โยนคำข้าวเข้าปาก ไม่ฉันทำกะพุ้งแก้มให้ตุ่ย ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง ไม่ฉันแลบลิ้น ไม่ฉันมีเสียงดังจั๊บๆ หรือซู๊ดๆ ไม่ฉันเลียมือหรือเอามือสกปรกจับภาชนะน้ำเป็นต้น
7. มิให้ภิกษุเล่นซ่อนบริขาร คือเครื่องใช้ของภิกษุอื่น รวมทั้งเล่นจี้ภิกษุอื่น หรือหลอกภิกษุอื่นอื่นให้กลัวผี
8. มิให้ภิกษุพูดปด ใช้คำหยาบคายด่าว่า หรือยุยงให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน
9.มิให้ภิกษุแกล้งเข้าไปนอนเบียดภิกษุอื่น ในเมื่อรู้ว่าห้องนี้มีผู้นอนอยู่ก่อนแล้ว ด้วยคิดว่ารำคาญเข้าก็คงหลีกไปเอง
10. เขากำลังบริโภคอาหารกันอยู่ ภิกษุเข้าไปนั่งแทรกแซง หรือทำให้เขาต้องวุ่นวาย ก็ห้ามไว้ด้วย
11. ไม่บ้วนน้ำลายหรือทิ้งเศษอาหารทางหน้าต่าง
12. ไม่แสดงความมักได้ ขอของอะไรต่ออะไรจากผู้อื่นในเมื่อไม่มีเหตุผลสมควร
13. จะปิด เปิดประตูหน้าต่าง จะจุดไฟ ดับไฟ จะท่องบ่นสาธยาย ถ้าอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นจะต้องขอโอกาสหรือขออนุญาตพระภิกษุผู้แก่พรรษากว่าก่อน
14. การใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมให้ถือตามลำดับก่อนหลังไม่แย่งกัน
15. ไม่ให้ใส่ความหรือหาเรื่องกล่าวโทษผู้อื่นโดยปราศจากความจริง
ข้อความที่แสดงมาพอเป็นตัวอย่างเหล่านี้ คงพอทำให้ท่านผู้อ่านเห็นได้บ้างว่าความเป็นผู้ดีหรือคุณสมบัติของผู้ดีนั้น ได้มีสอนไว้อย่างถี่ถ้วนเพียงไร
วัฒนธรรมในการกินดีอยู่ดี
1.มีพระบัญญัติมิให้พระภิกษุเก็บอาหารไว้ค้างคืนในห้องนอน (ที่เรียกอันโตวุตถะ ) เพราะจะกลายเป็นเอาห้องนอนเป็นห้องเก็บอาหาร
2. มิให้ภิกษุหุงต้มอาหารในห้องที่อยู่ (ที่เรียกว่าอันโตปักกะ) เพราะจะกลายเป็นเอาห้องนอนเป็นห้องครัว
3. มิให้ภิกษุใช้ภาชนะน้ำ หรือภาชนะอาหารร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันทางอนามัยถือว่าป้องกันโรคติดต่อได้ดี ฉะนั้น ถ้าจะให้พระฉันอาหารเป็นวง จึงควรมีช้อนกลางภาชนะน้ำแยกองค์ละที่
4. มิให้ฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ( อาจเป็นนของบูดเน่าและแสดงอาการสะสม )
5. ผ้านุ่งผ้าห่มที่ตั้งใจไว้ใช้ประจำ ( อธิษฐาน ) จะต้องไม่ปล่อยให้ขาดเป็นช่องโตเท่าหลังเล็บก้อย จะต้องปะชุนให้ดี
6. จะต้องรู้จักรักษาความสะอาดร่างกาย ไม่ปล่อยเล็บให้ยาวเกินไป
7.ในการรับคนเข้าหมู่ ไม่ใช่สักแต่ว่าขอเข้ามาบวชก็อนุญาตให้บวช ต้องเลือกคนที่ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีหนี้สิน ไม่มีข้อผูกพันต่างๆ ได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาแล้ว เพื่อความผาสุกเมื่อบวชแล้ว
8.ในการใช้ห้องน้ำห้องส้วม จักต้องช่วยกันรักษาความสะอาดผู้ใดเห็นสกปรกไม่จัดเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำความสะอาด หรือน้ำชำระที่ใช้แล้วเหลือทิ้งไว้ในหม้อชำระด้วยความมักง่ายมีที่ปรับอาบัติไว้
9. ในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน หน้าที่ที่จะต้องช่วยกันทำก่อนประชุมคือปัดกวาดสถานที่ ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้ให้เรียบร้อย
10. ภิกษุไม่เป็นไข้ห้ามถ่ายอุจจาระปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะลงในน้ำ คำว่า เป็นไข้ หมายถึงมีเหตุจำเป็นเพราะอาพาธ หาที่อื่นไม่ได้จริงๆ
วัฒนธรรมในการรักษาของส่วนรวม
1. ภิกษุที่นำเตียง ตั่ง ฟูก เก้าอี้ของสงฆ์ออกมาใช้แล้ว เมื่อเลิกใช้ไม่เก็บเองหรือไม่มอบหมายให้ผู้อื่นเก็บ ปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้ง ต้องอาบัติ
2. ภิกษุเอาที่นอนของสงฆ์ปูนอนในกุฏิเมื่อจะไปที่อื่นไม่เก็บเองไม่มอบหมายให้ผู้อื่นเก็บ ต้องอาบัติ
3. ผนังที่ทาสี ภิกษุนั่งพิงโดยไม่มีผ้ารองรับคือพิงด้วยตัวเปล่าๆ คราบเหงื่อไคลอาจจับเกาะสกปรกได้
4.ทรัพย์สมบัติอันเป็นสงฆ์ ภิกษุใดภิกษุหนึ่งจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวไม่ได้ จะถืออำนาจแจกจ่ายให้ปันแก่ผู้อื่นโดยไม่มีเงื่อนไขอันสมควรไม่ได้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี ภิกษุผู้รักษาเรือนคลังของสงฆ์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าเจ้าอธิการแห่งคลังจะต้องรู้จักของที่ควรเก็บ ไม่ควรเก็บ ของใดควรจ่ายไม่ควรจ่ายให้แก่ภิกษุอื่น
วัฒนธรรมในการปฏิบัติตนต่อสังคม
1. ของคฤหัสถ์ตกนอกวัด ภิกษุเก็บเอาเป็นของตนก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นเก็บเอาก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นเก็บเอาก็ดี ต้องอาบัติ ของตกในวัดต้องเก็บไว้เพื่อคืนให้เจ้าของ ถ้าไม่เก็บต้องอาบัติ
2. ภิกษุเป็นแขกไปสู่อาวาสอื่น พึงถามถึงกติกา กฎข้อบังคับต่างๆของอาวาสนั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้เหมาะสม ไม่ล่วงละเมิดกติกาต่างๆ ที่วางไว้
3.ภิกษุรับนิมนต์ไว้ในที่หนึ่ง แล้วไปฉันเสียที่อื่น ต้องอาบัติเว้นแต่จะได้ตกลงมอบหมายให้ภิกษุอื่นรับแทน
4.ภิกษุให้ฉันทะคือ ยอมให้สงฆ์ทำกรรมอันใดอันหนึ่งแล้วกลับว่าติเตียนสงฆ์ในภายหลัง ต้องอาบัติ
5.เมื่อสงฆ์กำลังทำการประชุม ตัดสินข้อความข้อข้อหนึ่ง ภิกษุใดอยู่อยู่ในที่ประชุมนั้น จะออกจากที่นั้นไปในขณะที่ตัดสินข้อความนั้นยังไม่เสร็จ ต้องอาบัติ เว้นแต่จะมอบฉันทะคือยอมให้สงฆ์ทำไปด้วยความเห็นชอบของตน
6. ภิกษุรู้อยู่ว่า ของนี้เขาจะถวายไว้แก่ส่วนรวม คือสงฆ์ พูดให้เขาถวายแก่ตนต้องอาบัติ
7..ภิกษุขอของจากคฤหัสถ์ ผู้มิใช่ญาติ ผู้มิได้กล่าวอนุญาตไว้ ( มิได้ปวารณา ) ได้มา ต้องอาบัติเว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรตามหน้าที่กำหนดในพระวินัย
8. ภิกษุผู้จะโจทท้วงภิกษุอื่น พึงกล่าวขอโอกาสจำเลยก่อนจึงเสนอเรื่องต่อที่ประชุมสงฆ์
9. ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน เรียกว่า ปริสัญญุตา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ทำตนให้เหมาะสมที่จะเข้าสู่ชุมนุมชนโดยเรียบร้อย ชื่อว่ามีธรรมของสัตบุรุษคือคนดี
10 .ภิกษุเข้าประชุมสงฆ์ก็ดี โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี พยานก็ดี พึงเป็นผู้เจียมตน พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง ไม่เบียดภิกษุผู้เป็นเถระ ไม่กีดภิกษุผู้อ่อนกว่า พึงนั่ง ณ อาสนะอันสมควร ไม่พูดถึงเรื่องต่างๆ พึงรักษาดุษณีภาพ
ระเบียบวัฒนธรรมต่างๆ ที่กล่าวมานี้ คงจะพอทำให้เห็นเปรียบเทียบได้ตามสมควรว่า พระพุทธศาสนาสั่งสอนให้คนยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม พ้นจากความเป็นป่าเถื่อนอย่างดียิ่งเพียงไร เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นต้นตำหรับวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของโลกได้โดยแท้จริง
3. พระพุทธศาสนาไม่สอนให้คิดได้ดีโดยวิธีบวงสรวง
จากหลักพึ่งตัวเองทำให้เราก้าวมาถึงอีกขั้นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ การที่พระพุทธศาสนามิได้สอนให้คิดได้ดีโดยวิธีอ้อนวอนบวงสรวง ดังจะนำหลักธรรมมากล่าวเป็นข้อ ๆ คือ :-
1. ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม 18 หน้า 284 พระพุทธเจ้าตรัสเป็นใจความว่า “ เราเอาน้ำมันเทลงไปในน้ำแล้วจะอ้อนวอนให้จมลงอย่างไร น้ำมันก็จะคงลอยขึ้นเหนือน้ำเสมอไป เราทิ้งก้อนหินลงในน้ำ แม้จะอ้อนวอนให้ลอยอย่างไรมันก็ไม่ลอยขึ้น คงจมลงโดยส่วนเดียวฉันใด การทำความดีย่อมเป็นเหตูให้เฟื่องฟู การทำความชั่วย่อมเป็นเหตุให้จมลง เมื่อทำแล้วจะใช้วิธีอ้อนวอนให้เกิดผลตรงข้าม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันนั้น”
2. พระพุทธเจ้าตรัสเป็นใจความว่า “ แม่ไก่ไม่กกไข่ มีแต่ความปรารถนาจะให้ลูกไก่ออกจากฟองอย่างเดียว ย่อมไม่สำเร็จฉันใด ลำพังความปรารถนาจะทำให้จิตพ้นจากกิเลสอาสวะ ย่อมเป็นไปได้ฉันนั้น” ( สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม 17 หน้า 185 )
3. พระพุทธเจ้าตรัสสอนอนาถปิณฑิกคฤหบดี มีใจความว่า “สิ่งที่ปรารถนารักใคร่เจริญใจ 5 อย่าง คือ อายุ ผิวพรรณ ยศ สุข สวรรค์นั้น เราไม่กล่าวว่าจะได้มาด้วยเหตุความวิงวอนปรารถนา เพราะถ้าจะได้เพราะความวิงวอนปรารถนาแล้ว ใครเล่าจะขาดแคลนอะไร ดูก่อนคฤหบดี! อริยสาวกผู้ใคร่จะได้สิ่งเหล่านั้นไม่ควรจะวิงวอน และเพลิดเพลินสิ่งเหล่านั้น อริยสาวกนั้น พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น” ครั้นแล้วก็ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่จะให้สำเร็จผล (ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม 22 หน้า 185)
ข้อที่สอนให้ช่วยตนเองในการลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย โดยไม่ต้องอ้อนวอนขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนให้ช่วยเหลือนี้แหละ ออกจะเป็นคุณลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนาอย่างมาก เพราะเกือบจะเรียกว่า ตรงกันข้ามกับข้อปฏิบัติในศาสนาทั้งหลายอย่างสำคัญทีเดียว
เซอร์ เอ็ดวินอาโนด์ นักกวีชาวอังกฤษผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนาได้ประพันธ์บทกวีเรื่อง ประทีปแห่งเอเชียไว้ตอนหนึ่ง กล่าวถึงเรื่องการอ้อนวอนไว้อย่างไพเราะว่า:-
"จงอย่าอ้อนวอนเลย ความมืดจะสว่างขึ้นมาไม่ได้"
"จงอย่าขออะไรจากความเงียบเลย เพราะมันพูดไม่ได้"
"อย่ารบกวนจิตใจอันคร่ำครวญของท่านด้วยความเจ็บปวดอันระคนด้วยศรัทธาเลย"
"อา! พี่น้องทั้งหลาย"
"จงอย่าขออะไรจากเทพเจ้าที่จะช่วยอะไรท่านไม่ได้โดยของบนและคำสวดสรรเสริญเลย"
"จงอย่าติดสินบนด้วยเลือด หรือเลี้ยงเทพเจ้าด้วยผลไม้และขนม"
"ความหลุดพ้นจะต้องค้นภายในตัวท่านเอง"
"คนทุกคนสร้างคุกตะรางเครื่องจองจำให้แก่ตัวเองต่างหาก"
ผู้เขียนเคยอ่านบทกวีของเซอร์ รพินทรนาถ ฐากูรประมาณ 20 ปีมาแล้ว ในขณะนี้ค้นหาหนังสือนั้นไม่ได้ แต่จำใจความได้ว่า เซอร์ รพินทรนาถ ฐากูร ได้เขียนบทกวีอ้อนวอนพระเจ้าไว้อย่างประหลาด เป็นการอ้อนวอนโดยใช้หลักพึ่งตนเองของพระพุทธศาสนาดังมีเค้าดังนี้:-
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าท่านจะโปรดช่วยเหลือข้าพเจ้า ขอได้โปรดอย่ามายุ่งอะไรกับข้าพเจ้าเลย"
"จงปล่อยให้ข้าพเจ้าได้ใช้เรี่ยวแรงและสติปัญญาของข้าพเจ้า เพื่อต่อสู้กับความยากลำบากทั้งหลายไปตามลำพังเถิด"
ท่านเซอร์ผู้นี้ เป็นชาวอินเดียผู้เชี่ยวชาญในอักษรศาสตร์อังกฤษ ถึงกับได้รับรางวัลโนเบล ในทางวรรณกรรมแต่เขียนบทกวีเรื่องนี้อย่างตรงกันข้ามกับ ลอร์ด เทน นีสัน ของอังกฤษทีเดียว ลอร์ด เทนนีสัน ได้เขียนไว้ในเรื่อง The Morte D’ Arthur ปรากฏในหนังสือ Voice, Speech and Gesture หน้า 2164 ว่า :-
"เพราะคนเราจะดีกว่าแกะหรือแพะ ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตอันงมงายไว้ภายในสมองได้สักเท่าไร ถ้ารู้จักพระเจ้าแล้วไม่ยกมือขึ้นอ้อนวอน เพื่อตัวเองและเพื่อนผู้ที่ตนเรียกว่าเพื่อน เพราะรอบโลกทั้งสิ้นผูกพันอยู่ทุกวิถีทาง ด้วยโซ่ทองซึ่งผูกพันอยู่แทบพระบาทของพระเจ้า"
ผู้เขียนเสนอเหตุผลในบทกวีของทุกๆ ฝ่าย ทั้งในฝ่ายที่ให้อ้อนวอน และไม่อ้อนวอน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณตัดสินเอาเอง และในขณะเดียวกันจะได้มองเห็นคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาในข้อนี้ไปด้วยพร้อมกัน
ความรู้เรื่องกรรม 12 ประเภท
ในพระพุทธศาสนาจัดกรรม คือการกระทำที่มีลักษณะในทางให้ผลผิดแผกกันไว้ 12 ประเภท แบ่งออกเป็น 3 หมวด หมวดละ 4 ข้อ ดังนี้:-
1. ให้ผลตามกาลเวลา
1.1 กรรมให้ผลในชาตินี้ เรียก ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม
1.2 กรรมให้ผลในชาติหน้า เรียก อุปปัชชเวทนียกรรม
1.3 กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป เรียก อปราปรเวทนียกรรม
1.4 กรรมที่เลิกไม่ให้ผล คือ ให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือหมดโอกาส จะให้ผลได้ต่อไป เรียก อโหสิกรรม
2. ให้ผลตามหน้าที่
2.1. กรรมที่ให้ผลคล้ายเป็นบิดา คือ แต่งให้ดีเกิดมาดีชั่วต่างกัน เรียก ชนกกรรม
2.2 กรรมที่คอยตามสนับสนุนเหมือนพี่เลี้ยง คือ ถ้ากรรมเดิม หรือชนกกรรมแต่งดี ก็ส่งให้ดียิ่งขึ้น ถ้ากรรมเดิมแต่งให้ชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น เรียก อุปถัมภกรรม
2.3 กรรมบีบคั้นหรือขัดขวางกรรมเดิม คอยบีบชนกกรรม เช่นแต่งมาดีเบียนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่วเบียนให้ดี เรียก อุปปีฬกกรรม
2.4 กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น ชนกกรรมแต่งไว้ดีเลิศ กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายไปเลย เดิมชนกกรรมแต่งไว้เลวมาก กลับทีเดียว เป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐีไปเลย เรียกว่า อุปฆาตกกรรม
3. ให้ผลตามความหนักเบา
3.1 กรรมหนักทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาน ฝ่ายชั่ว เช่น ทำอนันตริยกรรม มีฆ่ามารดาบิดาเป็นต้น เป็นกรรมที่จะให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือมาสลับคั่นได้ เรียก ครุกรรม
3.2 กรรมที่สะสมไว้มากๆ เข้า กลายเป็นดินพอกหางหมู คือทำทีละเล็กละน้อย กลายเป็นกรรมมากไปได้ เรียก พหุลกรรม
3.3 กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือเอาจิตใจจดจ่อในเวลาใกล้ตายย่อมส่งผลให้ไปสู่คติที่ดี หรือชั่วได้ ซึงเปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอก แม้แรงจะน้อยสักเท่าไร เมื่อเปิดคอกก็ได้ออกก่อน เรียก อาสันนกรรม
3.4 กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์ อาจจะทำไปด้วยความประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายได้เหมือนกัน ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว เรียก กตัตตากรรม
ความรู้เรื่องกรรมทำให้ไม่หมดหวัง
เรื่องกรรม 12 ประเภทนี้ เมื่อแบ่งออกเป็น 3 หมวดแล้ว ในหมวดแรก ที่ให้ผลตามกาลเวลานั้น ก็เห็นได้ชัดว่า มีทั้งที่ให้ผลปัจจุบันทันตาเห็น ที่ให้ผลในชาติต่อไปและในชาติต่อๆ ไปอีก กับประการสุดท้ายที่ให้ผลเสร็จแล้ว หรือยังไม่ให้ผล แต่หมดโอกาสจึงเป็นอันพับไป การแบ่งให้หมวดนี้ว่า ให้ผลในชาตินี้ และในชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไปนั้น ถ้าจะอธิบายให้สั้นก็อาจจะอธิบายได้ถึงการที่กรรมให้ผลในวันรุ่งขึ้นและวันต่อๆ ไป ข้อสำคัญขอให้เข้าใจความหมายว่า ที่จัดไว้อย่างนี้เพื่อให้รู้ว่ามีกรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งระยะใกล้และระยะไกล กับประการสุดท้ายที่เป็นอันเลิกแล้วกันไป ในการเข้าใจเรื่องกรรมนี้ ถ้าเทียบด้วยเรื่องบัญชีรายรับจ่ายก็จะช่วยให้เข้าใจชัดขึ้น คนเราทำกรรมไว้ทั้งดีและชั่วจึงเท่ากับได้ขึ้นบัญชีรับจ่ายไว้ บัญชีย่อมไม่จำกัดเพียงวันเดียว เดือนเดียว หรือปีเดียว ย่อมมีการยกยอดไปใน วัน เดือน ปี อื่นๆ และมีการตัดบัญชี (หนี้สูญหรือชำระหนี้เสร็จแล้ว) ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราในวันนี้ อาจไม่ใช่การกระทำในชาตินี้ อาจเป็นยอดยกมาแต่ชาติก่อน นอกจากนั้นด้วยหลักกรรมนี้พระพุทธศาสนาอาจอธิบายได้ถึงความไม่เหมือนกันแห่งชีวิตของแต่ละคนว่า ไม่ใช่บังเอิญ แต่เป็นเพราะได้ประกอบกระทำกรรมดีกรรมชั่วไว้ต่างกัน จึงได้ประสบผลต่างๆ กัน เรื่องนี้ทำให้มีหวังก็คือ เราอาจบำเพ็ญคุณงามความดีในปัจจุบันเพื่อทำให้บัญชีของเราดีขึ้น ยอดที่ยกไปก็จะได้ดีตาม
อนึ่ง ในกรรมหมวดที่ 2 ที่ให้ผลตามหน้าที่นั้น เป็นการอธิบายให้เห็นว่ากรรมที่จัดสรรให้คนเกิดมาดีเลวต่างกันนั้น มิใช่ว่าจะคงที่อยู่อย่างตายตัว ยังมีกรรมอื่นซึ่งเป็นเหมือนพี่เลี้ยงมาคอยส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น หรือให้เลวยิ่งขึ้น ครั้นแล้วก็มีกรรมประเภทขัดจังหวะ คือ ควรจะดีมากทำให้ดีน้อย ควรจะชั่วมากทำให้ชั่วน้อย เป็นกรรมฝ่ายค้านที่คอยหักล้างของเดิมอยู่ก็มี และยิ่งกว่านั้นก็มีกรรมข้อที่ 4 ในประเภทที่ 2 นี้ อันเป็นกรรมที่เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ชนิดหน้ามือเป็นหลังมืออีก ดีอยู่แล้ว กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายเลย เป็นขอทานอยู่ กลับทีเดียวเป็นมหาเศรษฐีเลย หรือเป็นพระมหากษัตริย์เลย เป็นเรื่องของการหักบัญชีกันอย่างเห็นได้ชัดๆ เพราะฉะนั้น ถ้าทราบว่าอาจเพิ่มบัญชีฝ่ายดีให้มากๆ ได้ เพื่อให้ไปเป็นเครื่องขัดขวางกรรมเก่าที่ไม่ดี ก็เท่ากับเรารู้วิธีสะเดาะเคราะห์ทีถูกแบบที่สุด คือถ้าเกรงเหตุร้ายจะเกิดขึ้น ก็ควรเร่งทำความดีให้มากขึ้น จะเป็นความดีในการช่วยชีวิต หรือช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยากก็ตาม ก็จะช่วยลดเคราะห์ หรือช่วยขัดขวางกรรมฝ่ายไม่ดี หรือผ่อนร้ายให้เบาบางลง
ผู้เขียนเคยอธิบายเทียบด้วยน้ำกรด หรือยาพิษขนาดแรงที่อาจกินเข้าไปแล้วตายทันที แต่ถ้าเติมน้ำให้เจือจางยาพิษหรือน้ำกรดนั้นก็ไม่ทำอันตราย หรือกลายเป็นยาย่อยอาหารไป
ผลร้ายของกรรมชั่วบางอย่าง เทียบด้วยยาพิษหรือน้ำกรด ถ้าเราทำความดีให้มากๆ เข้า ความดีนั้นก็จะสร้างผลดีขึ้นมาคอยต้านทาน หรือขัดจังหวะกรรมชั่วได้เหมือนกัน คือคอยแทรกแซงไม่ให้โอกาสส่งผลสมบูรณ์ 100% เทียบด้วยกับคนที่ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่อ้างความดีโน่น ความดีนี่มาหักลบกลบเกลื่อนอาจจะเหลือเพียง 2 ปี แล้วรอการลงอาญาไว้ยังไม่ถึงกับติดคุกก็ได้ ในทางชั่วก็เช่นเดียวกัน ผู้สร้างความชั่วต่างๆ ก็ชื่อว่าพยายามขัดขวางความเจริญของตนเอง หรือสร้างความล่มจมให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผู้มีความรู้เรื่องกฎแห่งกรรมจึงไม่ค่อยต้องตีโพยตีพายกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต แต่จะรู้สึกเสมือนลูกหนี้ที่ยอมใช้หนี้อย่างไม่ปริปาก แล้วพยายามสร้างฐานะที่ดีขึ้นใหม่
ผู้เขียนเคยพบท่านผู้หนึ่งต้องโทษโดยศาลยังมิได้ระบุว่าทำความผิด ยังอยู่ในระหว่างไต่สวน แต่ในระหว่างไต่สวนนั้น ท่านผู้นั้น ถูกขังอยู่เป็นเวลาหลายปี ท่านผู้นั้นอธิบายได้ดีถึงกฎแห่งกรรม และเข้าใจดีว่า แม้ตนจะไม่ผิด แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นเรื่องของการยกยอดบัญชีมาแต่ชาติก่อน ทำให้หักห้ามใจไปได้ และพยายามสร้างความดีขึ้นใหม่อีกต่อไป
ในหมวดที่ 3 ที่แสดงถึงกรรมให้ผลตามความหนักเบานั้น มีข้อเตือนใจก็คือ อย่าดูหมิ่นความดีความชั่วเล็กๆ น้อยๆ เพราะมันอาจพอกพูนเป็นของมากขึ้นเหมือนน้ำทีละหยดเต็มตุ่มได้ น้ำทีละหยดเซาะหินให้เป็นร่องได้ หรือรากไม้ที่เจริญทีละน้อยๆ งัดหินให้แตกได้ และใจเย็นในการประกอบคุณงามความดี คือยังมองไม่เห็นผลอย่าเพิ่งเอะอะโวยวายว่า ทำดีไม่เห็นได้ดี ความเข้มข้นของความดีอาจจะยังไม่พอ ก็ต้องเวลาไปก่อน เทียบด้วยการเรียนหนังสือ เรียนเพียงวัน 2 วัน จะได้อ่านหนังสือออกนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร ก็ต้องรอความเข้มข้นของความรู้ทีละสองตัว รวมกันมากๆ เข้าก็อ่านออกได้ไปเอง ดูตัวอย่างของพระพุทธเจ้าก็จะเห็นได้ ว่าพระองค์ได้ประกอบคุณงามความดีสะสมไว้อย่างไม่ท้อถอย ตลอดเวลาที่ท่านพรรณนาว่าหลายอสงไขยชาติ ในที่สุด ก็ได้ประสบความสมบูรณ์ได้ด้วยการไม่ทอดทิ้งความพยายาม หรือไม่วางมือประกอบความดีเพราะท้อแท้
ตัวอย่างแห่งเหตุผลที่ให้เกิดผล
พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งเหตุที่ให้เกิดผล และเหตุที่ให้เกิดผลชั่วไว้ในจูฬกัมมวิภังสูตร เล่ม 14 หน้า 376 อันอาจแยกได้เป็นข้อๆ ดังนี้
เหตุผลฝ่ายชั่ว
1. มีอายุน้อย เพราะฆ่าสัตว์
2. มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์
3. มีผิวพรรณทราม เพราะมักโกรธแค้นพยาบาท
4. มีศักดิ์ต่ำ เพราะมักริษยา
5. มีโภคทรัพย์น้อย เพราะไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน
6. เกิดในตระกูลต่ำ เพราะกระด้างถือตัว ไม่รู้จักอ่อนน้อม
7. มีปัญญาทราม เพราะไม่ไต่ถามหรือแสวงหาความรู้
เหตุฝ่ายดี
1. มีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์
2. ไม่มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
3. มีผิวพรรณดี เพราะไม่มักโกรธแค้นพยาบาท
4. มีศักดิ์สูง เพราะไม่มักริษยา
5. มีโภคทรัพย์มาก เพราะเอื้อเฟื้อเจือจาน
6. เกิดในตระกูลสูง เพราะไม่กระด้างถือตัว รู้จักอ่อนน้อม
7. มีปัญญาดี เพราะรู้จักไต่ถามและแสวงความรู้
ตัวอย่างที่แสดงมานี้ เป็นเหตุผลทั้งฝ่ายอดีตและปัจจุบัน ทั้งเป็นตัวอย่างให้คนเข้าใจได้อย่างเกือบจะเรียกว่าโดยใช้สามัญสำนึก
กฎแห่งกรรมกับพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเองก็ทรงแสดงถึงเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตของพระองค์ เกิดขึ้นจากการกระทำต่างๆ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วของพระองค์ มิใช่มีอะไรเป็นของบังเอิญสักอย่างเดียว จากประวัติตรัสเล่าในอปทาน พระสุตตันตปิฎก เล่ม 32 ตั้งแต่หน้า 471 พระพุทธองค์ได้ตรัสเปิดเผยความชั่วในอดีตชาติของพระองค์เอง ที่เป็นเหตุให้พระองค์ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่ดี เช่น :-
(1) ในชาติหนึ่ง พระองค์เป็นนักเลงชื่อปุนาลิ กล่าวตู่ใส่ความพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีนามว่าสุรภิผู้ไม่ประทุษร้ายอะไรพระองค์เลย ผลของกรรมนั้นทำให้เวียนว่ายในนรกได้รับทุกขเวทนาตลอดกาลนาน ในชาติสุดท้ายจึงถูกนางสุนทรีใส่ความ คือ เมื่อทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นางสุนทรีได้รับสินจ้างจากผู้อื่น แกล้งใส่ความพระองค์ได้เสียกับนาง ขณะที่กำลังมีข่าวลืออยู่นั้น ผู้จ้างคือนักบวชพวกเดียรถีย์ได้จ้างคนฆ่านางสุนทรี เพื่อจะให้ความชัดยิ่งขึ้นว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้คนไปฆ่าเพื่อปิดปาก ภายหลังพระราชาใช้นักสืบไปสืบในร้านสุรา จึงจับได้ทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง เพราะพวกนักเลงที่รับจ้างนั้นปากอยู่ไม่สุข ในที่สุดก็ได้ลงโทษนักเลงและเดียรถีย์ฐานฆ่าคนตาย
(2) ในชาติหนึ่งพระองค์ได้กล่าวตู่ใส่สาวกของพระพุทธเจ้านามว่าสัพพาภิภู ผู้มีนามว่านันทะ ตกนรกอยู่เป็นเวลานาน ในชาติสุดท้ายที่เป็นพระพุทธเจ้ายังถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ความ แกล้งทำเป็นมีครรภ์กับพระองค์ โดยเอาไม้มาทาบที่ท้องแล้วเอาผ้าพันให้ดูเป็นมีครรภ์จริง แต่เผอิญไม้หลุดตกลงมา จึงถูกประชาทัณฑ์อย่างหนัก
(3) ในชาติหนึ่งพระองค์ทรงฆ่าน้องชายต่างมารดาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ โดยผลักลงซอกเขาเอาศิลาทุ่ม ในชาติสุดท้าย จึงมาถูกพระเทวทัตเอาศิลาทุ่ม แต่เพราะกรรมเบาบางมากจึงไม่ถูกอย่างจัง เพียงถูกสะเก็ดเล็กน้อยที่นิ้วพระบาท
ความจริงเรื่องที่ตรัสเล่าไว้ยังมีอีกมาก แต่ได้เลือกนำมาแปลไว้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าของเราท่านตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ใช่จะเล่าแต่คุณความดีของพระองค์เท่านั้น ความชั่วที่เคยทรงทำมามีอะไรบ้างก็ทรงเล่าด้วย ทั้งนี้ทำให้เราได้ประโยชน์และคติสอนใจทั้งในฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ผลดีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าเหลิงจนลืมตัว ผลชั่วอะไรที่เกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งเสียขวัญ ขอให้พิจารณาว่าเป็นผลของการกระทำในปัจจุบันหรือไม่ ถ้ามองไม่เห็นในปัจจุบันจะได้พิจารณาไปที่อดีตซึ่งมองไม่เห็น อันอาจมีกระเซ็นกระสายเหลือมาได้อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงประสบมาแล้ว ข้อสำคัญขอให้ทำความดีแก้ตัวให้มากที่สุดเท่าที่มีโอกาสจะทำได้ อย่าผัดวันประกันพรุ่งหรือรอไว้เมื่อนั้นเมื่อนี้ จนในที่สุดไม่ได้ทำความดีอะไร
บุคคลบางคนอยู่ดีๆ แต่มีคนใส่ความ ถูกหนังสือพิมพ์ช่วยกันรุมด่าอย่างผิดๆ เพราะไม่รู้ความจริง เรื่องเช่นนี้พิจารณาตามหลักกรรมแล้ว ก็ไม่ควรตื่นเต้นตกใจอะไร ทั้งผู้ด่าและผู้ถูกด่าจะต้องมีเหตุผลอะไรด้วยกัน ผู้ถูกด่าอาจเคยใส่ความคนอื่นเขามาในชาติก่อน ผู้ด่าในปัจจุบันซึ่งด่าคนส่งๆ ไปตามความพอใจนั้น ก็จะเก็บเกี่ยวผลแห่งการด่าของเขาเอง โดยที่ผู้ถูกด่าไม่ต้องดิ้นรนแจ้งความหรือด่าตอบ ภาษิตไทยเราเรียกว่า กงเกวียนกำเกวียน ถ้ารู้กฎแห่งกรรมอย่างนี้แล้วก็ควรระมัดระวังเหตุการณ์ในปัจจุบัน และอนาคตให้ดีว่า เราจะไม่สร้างกรรมชั่วขึ้นเพื่อยังความพินาศล่มจมให้แก่ตัวเราเอง ที่แล้วมาเราย้อนกลับไปแก้ไม่ได้ เราก็อาจแก้ที่ปัจจุบันและอนาคต
นายคริสตมัน ฮัมฟรีส์ นายกสมาคมลอนดอนกล่าวว่า พระพุทธศาสนา ต่างจากศาสนาประเภทเทวนิยมที่ตรงนี้เอง คือถือว่าคนเป็นผู้สร้างโชคดีโชคร้ายผลดีผลร้ายให้แก่ตนเอง ส่วนศาสนาประเภทเทวนิยมอ้างไปที่พระเจ้า
เพราะฉะนั้น การสอนให้พึ่งตน ให้ช่วยตน ให้ประกอบกระทำแต่ความดีโดยอาศัยตนเป็นผู้ทำ จึงนับว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษและคุณลักษณะโดยเฉพาะของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
คำสอนเรื่องตนและไม่ใช่ตน
ในบทนี้กล่าวถึงเรื่องควรพึ่งตนเอง ตลอดจนการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วติดต่อกันมาโดยตลอด ทำให้เกิดปัญญาขึ้นว่า พระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ คือลักษณะ 3 อย่าง ได้แก่ ความเป็นของไม่เที่ยง ความทนอยู่ไม่ได้ ความเป็นของไม่ใช่ตน ก็เมื่อพระพุทธศาสนาสอนปฏิเสธเรื่องตัวตน ไม่ยึดมั่นถือมั่นเช่นนี้ เหตุไฉนจึงมีคำสอนให้พึ่งตนเล่า จะมิขัดกันหรือ
ตอบว่าไม่ขัดกัน เพราะพระพุทธศาสนาสอนรับรองทั้งสมมติทั้งปรมัตถ์ สมมติ คือเรื่องที่ชาวโลกนัดหมายเรียกร้องกันอย่างไรก็รับรองตามนั้น ปรมัตถ์ คือการค้นหาสาระหรือแก่นความจริง ไม่ติดอยู่เพียงแค่สมมติ
ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่า พระพุทธศาสนารับรองสมมติและปรมัตถ์อย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักนับถือพี่น้อง ครูอาจารย์ มารดาบิดา เพศหญิงเพศชาย ผู้ใหญ่ผู้น้อย และให้วางตัวโดยเหมาะสมแก่บุคคลนั้นๆ ที่เรียกว่าปุริสัญญุตา รู้จักประชุมชน ปุคคลปโรปรัญญุตา รู้จักบุคคลเป็นการรับรองสมมติ
แต่ในการสอนใจให้พิจารณารู้เท่าทันสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้รู้ทันตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง พระองค์ทรงสอนให้มองเห็นสัตว์บุคคล และสรรพสิ่งว่ามีสภาพอันเดียวกัน คือ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เป็นสักว่าธาตุมารวมกัน ก็สมมติเป็นผู้นั้นผู้นี้ เป็นคนเป็นสัตว์ เมื่อแยกจากกันก็สมมติว่าตาย เป็นกระบวนการเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธศาสนาอยู่ได้เพราะรู้จักใช้สมมติ และรู้จักใช้ปรมัตถ์ถูกเรื่อง ชาวโลกซึ่งคุ้นอยู่กับการสมมติ ก็ชอบว่าพระพุทธศาสนาสอนไว้อย่างเหมาะสมแก่โลก ให้โลกอยู่เย็นเป็นสุข และในขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติธรรม ก็พิจารณารู้เท่าทันโลกไปในตัว ไม่ติดโลกหรือหลงโลกจนเกินไป
เรื่องอัตตาตัวตนก็ฉันนั้น ชาวโลกเขาเรียกร้องกันอย่างนั้น พระพุทธศาสนาก็ไม่ขัด และยอมรับเอาถ้อยคำนั้นมาใช้เพื่อสอนให้รู้จักช่วยตัวเอง พึ่งตนเอง แต่ในขณะเดียวกันในธรรมชั้นสูงก็สอนให้รู้เท่าทันว่า สิ่งที่สมมติเรียกกันว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นั้น แท้จริงไม่ใช่ตัวตนอะไรเลย เป็นเพียงกระบวนการปรุงแต่ง การรวมตัวกันอันหนึ่ง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้ว ก็มิใช่ตัวใช่ตน
ความรู้อย่างนี้เป็นความรู้ 2 ด้าน คือ สมมติและปรมัตถ์ หรือ ด้านนอกด้านใน ซึ่งไม่ขัดกันแต่ประการใดเลย.
4. พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักกฎแห่งกรรม
คำว่ากฎแห่งกรรม เมื่อจะถอดความง่ายๆ ก็คือ กฎแห่งเหตุและผล หรือที่เราเข้าใจกันว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เพราะเหตุที่พระพุทธศาสนา ถือว่า โลกย่อมเป็นไปตามกรรมคือการกระทำ ย่อมจำแนกหรือแยกประเภทให้มนุษย์และสัตว์ดีเลวต่างๆ กันจึงได้แสดงหลักธรรมไว้
ทางพระพุทธศาสนา ไม่ยอมซัดให้ไปอยู่ที่ควรบังเอิญหรืออำนาจลึกลับ ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน พระพุทธศาสนาพยายามสู้หน้ากับเหตุผลทุกอย่าง โดยไม่ยอมโยนเรื่องอะไรไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เลย เพราะฉะนั้น คำตอบของพระพุทธศาสนา จึงมีต่อเหตุการณ์ทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ว่าเกี่ยวเนื่องมาจากเหตุคือการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น เรื่องของกฎแห่งกรรม เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องการความเข้าใจอย่างถี่ถ้วนลึกซึ้ง ในการอธิบายเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยอุปมาอุปไมยประกอบ ตังต่อไปนี้:-
1. การปลูกพืชต่างชนิด จะเป็นข้าว ถั่วเขียว มะม่วง ทุเรียน หรือผลไม้อื่นใดก็ตาม มิใช่ว่าพอวางเมล็ดพืชลงไปที่ดินเอาน้ำรด แล้วพืชนั้นจะเจริญงอกงามให้ผลทันตาทันใจ ก็ต้องมีการกินเวลาบ้าง และการกินเวลาของพืชต่างชนิดก็ต่างกันไป เร็วบ้าง ช้าบ้าง ระหว่างข้าวกับทุเรียนทิ้งระยะเวลาให้ผลต่างกันเป็นเวลาหลายปี นี้เป็นตัวอย่างของกรรมที่ให้ผลเร็วช้าต่างกัน
2. คนที่ทำเมรัย เอาน้ำตาลสดจากต้นแช่ปนกับเปลือกไม้บางชนิด ในขณะที่แช่นั้น ยังไม่เป็นเมรัยทันที ต้องอาศัยเวลา 2-3 คืน ที่น้ำตาลสดจะทำปฏิกิริยากับเปลือกไม้นั้นจึงกลายเป็นเมรัยได้ นี้เป็นตัวอย่างของการกินเวลาในการให้ผล
3. การที่แกว่งลูกตุ้มนาฬิกา เมื่อแกว่งมาทางซ้ายมากเท่าไรเวลาเหวี่ยงกลับไปทางขวามากเท่านั้น ข้อนี้เป็นตัวอย่างของปฏิกิริยาหรือการให้ผลทันที ภายหลังประกอบเหตุ
4. เหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกัน อาจมีทั้งสายยาวและสายสั้น คนที่มองแต่เหตุผลสายสั้นไปพบเหตุผลสายยาวเข้าก็อ่านเรื่องราวไม่ออก พระพุทธศาสนาสอนให้มองทั้งเหตุผลสายยาวและเหตุผลสายสั้นตามประเภทที่เป็นจริงของมัน จึงมีทางอธิบายความได้อย่างละเอียดทุกแง่มุม เหตุผลสายสั้น เช่นเราด่าเขาเดี๋ยวนี้ เขาด่าตอบเรามาทันที เราทำร้ายร่างกายเขา เขาทำร้ายตอบเรามาทันที เราหุงข้าวตอนเช้าก็ได้กินข้าวตอนเช้า หุงกลางวันหรือเย็นก็ได้กินข้าวกลางวันหรือเย็น อันนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้ง่าย แต่เหตุผลสายยาวซึ่งข้ามวันข้ามเดือนข้ามปีนั้น บางครั้งคนก็มองข้ามไป เด็กชาย ก. เรียนหนังสือเมื่ออายุ 6 ขวบ เรียนไปๆ ก็อ่านหนังสือออก กาลเวลาล่วงไป เด็กชาย ก. กลายเป็น นาย ก. อายุ 50 ปี ผลการเรียนเมื่อหลาย 10 ปี ล่วงมาแล้วยังคงส่งให้ นาย ก. อ่านหนังสือได้อยู่ จากอายู่ 40 ถึง 50 นาย ก. ไม่ได้เรียนเลย แต่ นาย ก. ได้รับผลของเหตุการณ์เมื่อ 30-50 ปีมาแล้ว หรือในตัวอย่างอื่นอีก นาย ก. ไปพูดสบประมาทดูหมิ่น นาย ข. ไว้ในวันนี้ อีก 5 ปี หรือ 6 ปีต่อมา นาย ข. ได้โอกาสแก้แค้น เขาจึงลอบทำร้าย นาย ก. ถ้าเราคิดว่าเรื่องเท่านี้ ทำไมผลจึงแฝงอยู่ในระยะยาวนัก ขอตอบว่ายาวเท่าไรก็ได้ เปรียบเหมือนข้าวเปลือกที่เก็บไว้ เมื่อใดได้โอกาสและเหตุแวดล้อมที่จะให้งอกก็งอกได้เมื่อนั้น แม้จะเก็บไว้นานก็ยังปลูกขึ้น คนที่คิดแต่เหตุผลสายสั้นย่อมตอบปัญหาได้เฉพาะเหตุผลสายสั้น พอไปพบเหตุผลสายยาวก็งงไปหมด ถ้าเทียบวันหนึ่งกับชาติหนึ่งเหตุการณ์ในวันนี้อาจเกี่ยวข้องไปถึง 1,000 วันข้างหน้าก็ได้ เหตุการณ์เมื่อ 1,000 ชาติล่วงมาแล้ว อาจเกี่ยวมาถึงชาตินี้ก็ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลระยะยาวนี้ ถ้าเข้าใจดีแล้วอาจช่วยข้อข้องใจและทำให้ตอบปัญหาชีวิตได้ดีที่สุด
5. ปัญหาที่เรามักพูดกันอยู่เสมอก็คือ ทำดีไม่เห็นได้ดี คนชั่วคนโกงทำไมจึงกลับร่ำรวย เป็นเสมือนหนึ่งคนเอาเปลือกมะเกลือใส่ลงในน้ำตาลสดแล้วก็ลองชิมดู และกล่าวว่ามันก็รสน้ำตาลสดอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นเป็นน้ำตาลเมาเลย โดยมากเราใจร้อนจะดูอะไรให้เป็นเหตุผลสายสั้นหมด ไม่ยอมมองเหตุผลสายยาว คือระยะฟักตัวของความดี ความชั่วเลย เราจึงเข้าใจไขว้เขวไป ถ้าใจเย็นดูให้ตลอดสายสักหน่อยเพียงชั่วชีวิตนี้เท่านั้น เราก็คงได้เห็นคนที่ฉ้อโกงพินาศล่มจมกันมามากต่อมากแล้ว แต่เราเป็นโรคคอยอะไรนานไม่ได้ ตอนที่เขาพินาศล่มจมเราจึงหมดความสนใจเสียแล้ว
6. เหตุผล หรือกิริยา ปฏิกิริยานี้มี 2 ชั้น ขอให้เราพิจารณาให้ดี เหตุผล 2 ชั้นที่กล่าวนี้ก็คือ เหตุชั้นธรรมดาสามัญกับเหตุผลทางศีลธรรม เหตุผลชั้นธรรมดาสามัญนั้น จะไม่คำนึงถึงหลักความชอบธรรมหรือไม่ พอมีเหตุก็จะมีผลตามเรื่องของมัน ส่วนเหตุผลทางศีลธรรมนั้นเป็นชั้นที่ 2 คือการ กระทำต่างๆ นั้นถูกหรือผิด ชั่วหรือดี ผลดีผลร้าย ยังจะเกิดตามมาได้อีก ดังจะยกตัวอย่างให้เห็น นาย ก. ลอบเอาไฟเผาบ้าน นาย ข. เหตุผลชั้นธรรมดาสามัญก็คือ เมื่อนำไฟไปจุดบ้าน ถ้าบ้านนั้นมีเชื้อไฟหรือเป็นเชื้อไฟก็จะติดลุกขึ้น โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นบ้านของใคร ควรหรือไม่ควรผิดหรือชอบ นาย ก. ไปขโมยเพชรมาจากบ้าน นาย ข. ในขณะเจ้าของนอนหลับ นำเพชรมาไว้ในบ้านของตน เหตุผลชั้นธรรมดาสามัญก็คือเมื่อหยิบเพชรมามันก็เคลื่อนที่ตามมือที่หยิบมา มือนั้นพาไปวางไว้ที่ไหนมันก็อยู่ที่นั้น มันไม่มีการประท้วงว่าผิดศีลธรรม มันไม่คำนึงว่าเพชรนี้ นาย ข. ถนอมและหวงแหนมันมากน้อยเท่าไร เราดูคนโกงที่ได้ดีตอนแรกๆ ก็เพราะเราดูเพียงแค่เหตุผลธรรมดาสามัญข้อนี้ข้อเดียว เมื่อเขาโกงได้เงินมา เงินมันก็อยู่ในกระเป๋าเขาให้เขาใช้จ่ายได้ แต่เหตุผลขั้นที่ 2 คือขั้นศีลธรรม ที่ว่าการกระทำนั้นผิดหรือถูก ชอบธรรมหรือไม่ ยังจะมีมาตามมาอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือ นาย ก. ที่ไปเผาบ้าน นาย ข. นั้น ไม่ใช่เหตุผลระหว่างไฟเผาบ้านกับบ้านไหม้ไฟ จะหยุดอยู่เพียงนั้น เหตุขั้นต่อไปเกี่ยวกับศีลธรรมยังจะตามมาอีกว่า การทำเช่นนั้นควรหรือไม่ควร ถ้าไม่ควรก็กฎหมายลงโทษไว้หรือเปล่า คราวนี้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะสืบจับนาย ก. ไปฟ้องร้องโทษเป็นเรื่องของเหตุผลทางศีลธรรมต่อไป
แม้ในเรื่อง นาย ก. ไปขโมยเพชร นาย ข. ก็เช่นเดียวกัน เหตุคือการขโมย ผลคือการได้มา เป็นเพียงเหตุผลขั้นแรก หรือธรรมดาสามัญ แต่เหตุผลทางศีลธรรมขั้นที่ 2 ที่ตำรวจจะสืบจับ หรือนำตัวไปฟ้องร้องโทษ ยังมีอีกชั้นหนึ่ง เราจึงดูให้ตลอดสาย อย่าเพิ่งมองสายสั้นอย่างเดียว
7. ยังมีเหตุผลซ้อนระหว่างศีลธรรมขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของกรรมจัดสรรจริงๆ คือในกรณีที่การกระทำนั้นผิดศีลธรรม แต่เจ้าหน้าที่จับไม่ได้หรือไม่มีใครลงโทษได้เหตุผลก็มิได้หยุดลงแค่นั้น มันคงตามเผาจิตใจของผู้ทำผิดให้หวาดระแวงเป็นวัวสันหลังหวะตลอดเวลา เห็นใครแต่งตัวคล้ายตำรวจเดินผ่านไปมาก็ให้นึกไปว่าเขาจะมาจับกุมลงโทษ หรือบางทีผลยังแสดงให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายเป็นพยาน เป็นเครื่องเตือนใจอยู่ก็มีเป็นอันมาก ขอยกตัวอย่างทั้งที่ปรากฏในเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นเรื่องเล่าสืบกันมา และที่ได้เห็นเองคือ:-
(1) ไฟไหม้บ้านริมน้ำแห่งหนึ่ง คนในบ้านใกล้เคียงตกใจขนของกันเป็นการใหญ่ มีเรือลำหนึ่งเทียบเข้าไปแล้วเจ้าของเรือก็ร้องตะโกนให้เขาขนของลงเรือ พอเห็นว่าของเต็มเรือดีแล้ว เจ้าของเรือก็แจวออกไปเป็นการโกงซึ่งๆ หน้า ซึ่งผู้กำลังเดือดร้อนไม่รู้จะไปเรียกร้องเอากับใครได้ อยู่มาผู้ที่โกงนั้นเกิดอาการเจ็บไข้ไม่สบายในถิ่นของตน อาการที่ปรากฏคือ ต้องการกินแต่น้ำร้อนจัดๆ ยิ่งร้อนเท่าไรยิ่งพอใจเท่านั้น ในที่สุดไม่พอใจคนรินน้ำร้อน หาว่าเอาน้ำร้อนไม่จริงมาให้ จึงให้นำเอาถ่านและกาน้ำไปต้มในที่ใกล้กับที่นอนเจ็บอยู่ พอน้ำเดือดพล่านมีควันพลุ่งออกมาเต็มที่แล้ว ก็ลุกขึ้นยกกาน้ำร้อนนั้นดื่มทางพวยกา พอดื่มเสร็จร้องเฮ้อ คล้ายกับว่าชื่นใจเสียเหลือเกินแล้วก็ตายไป เรื่องนี้เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส เคยเล่ามีผู้ฟังรู้เห็นกันมาก
(2) มีชายคนหนึ่งมีฝีมือดีในทางแทงหัวใจหมู คือเมื่อทุบหมู แล้วใช้มีดคมปลายแหลมแทงให้ตรงหัวใจ หมูจะตายทันที ชายผู้นี้นำมีดคู่มือไปด้วย ในร้านจีนขายของใกล้ๆ ที่อยู่ วันหนึ่งผิดใจกับคนอื่น คนที่ไม่พอใจจับมีดจ้วงแทงถูกหัวใจล้มลงขาดใจตายในลักษณะเดียวกับหมูที่ตนฆ่านั้น เรื่องนี้นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนหนึ่งที่มาบวชในพระพุทธศาสนามาเล่าให้ฟัง
(3) มีชายคนหนึ่งชอบเล่นสนุก ชอบเห็นเหตุการณ์แปลกๆ จึงจับแมวตัวหนึ่งพร้อมทั้งเรียกสุนัขให้ติดตามไปด้วย ต้องการให้สุนัขกัดแมว แต่ ถ้านำไปในที่มีต้นไม้หรืออาคารบ้านเรือนแมวก็จะหนีได้ จึงอุ้มแมวไปในที่โล่งซึ่งกะว่าแมวจะไม่มีที่กำบังหรือปีนป่าย สุนัขก็ตามเห่าไปด้วย ข้างแมวก็กลัวขนพองแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร พอไปถึงที่โล่ง เขาก็ทุ่มแมวลงไปที่สุนัขทันที เพื่อจะได้ดูเหตุการณ์ที่สนุกตื่นเต้นที่สุด แต่ผลปรากฏว่าแมวนั้นวิ่งปราดมาที่ตัวชายผู้นั้น ตะกายพรวดเดียวขึ้นไปอยู่ที่คอ หน้าตาแขนขาของชายผู้นั้นถูกเล็บแมวตะกุยเลือดโทรมไปหมด เรื่องนี้ท่านมหาผิว วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งได้ย้ายไปอยู่วัดเสนาสนารามในภายหลังเป็นผู้เล่าว่าเป็นเรื่องจริงและเหตุผลก็น่าเชื่อว่าเป็นจริง
(4) จีนผู้หนึ่งมีอาชีพในทางเชือดไก่ขาย เวลาเช้าจะนำไก่ที่ฆ่าแล้ว ใส่ถังสังกะสีสำหรับตักน้ำ เอาไม้คานใส่เข้าไประหว่างหูหิ้วของถังผ่านวัดไปตลาดเสมอ ตอนบ่ายขายไก่ได้แล้วก็กินเหล้าเดินกลับ นานๆ ก็เชือดคอตนเองครั้งหนึ่งจนคอมีรอยแผลเป็น ผู้เขียนเป็นเด็กเรียนหนังสืออยู่ในวัดต่างจังหวัดได้เห็นและรู้จักเอง แกชื่อกัง ใครๆ เรียกแกว่าเจ็กกัง ครั้งหลังสุดดูเหมือนแกเชือดคอตัวเองจนตาย
(5) มีจีนคนหนึ่งที่ตลาดพลู ธนบุรี มีอาชีพฆ่าหมู คราวหนึ่งไม่สบายส่งเสียงร้องเหมือนหมู ร้องเรียกเมียซึ่งแต่งงานด้วยกันไม่ถึงเดือนให้เอาอ่าง (รองเลือด) มาให้ เอามีดหมูมา พอได้ของเหล่านี้มาพร้อมก็ขาดใจตาย ท่านผู้นี้เป็นที่เคารพของท่านผู้เขียนเป็นผู้เห็นเหตุการณ์นี้ด้วยตนเอง เพราะได้ยืนดูอยู่ด้วยเป็นผู้เล่า
(6) ในครั้งพุทธกาลมีชายคนหนึ่งชื่อจุนทะ เป็นคนฆ่าหมูขาย เวลาไม่สบายคลาน 4 เท้าเหมือนหมู ส่งเสียงร้องเหมือนหมูทรมานอยู่หลายวันจึงตาย มีเรื่องปรากฏในอรรถกถาธรรมบท
(7) มีชายคนหนึ่งชื่ออิ่ม เล่นโขนเก่ง แสดงเป็นตัวพระราม มีชื่อเสียงจนคนเรียกชื่ออิ่มพระราม เป็นคนชอบชนไก่มาก เวลาจะตายเอามือชนกันร้องโป๊กพ่อๆ จนมือเน่าแล้วในที่สุดก็ตายไป เหตุเกิดที่ตลาดโรงหมู อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งท่านเป็นที่เคารพของผู้เขียน ได้เห็นเหตุการณ์มาเอง
(8) ท่านผู้ชอบพอกันคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังเองถึงเหตุการณ์ในชีวิตของท่านว่า ท่านเคยนึกสนุกเอาไม้ขีดเผามดแดงเล่น ทันใดนั้นเองไฟที่ไม้ขีดได้ตกลงไปที่ขาพับของท่านไหม้เป็นแผลเห็นผลทันตา
(9) ในครั้งพุทธกาลมีเรื่องเล่าถึงภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเป็นผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเครื่องใช้หรือบริขารจะเป็นผ้านุ่งห่มเกิดขึ้น ท่านมักแบ่งปันให้เพื่อนพระด้วยกัน ด้วยการที่เป็นผู้ปรารถนาดีไม่สะสม บำเพ็ญสาราณิยธรรมอย่างนี้เสมอมา ท่านก็กลายเป็นผู้มีโชคดีอย่างประหลาดอยู่เสมอ มีพระหลายรูปไปบิณฑบาตไม่ได้เลยในบางแห่ง แต่พอท่านไปมีคนใส่บาตรเต็มนำมาเลี้ยงพระที่ไม่ได้อะไร คราวหนึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินมีประสงค์จะถวายผ้าแก่พระทั้งวัด เผอิญมีผ้าดีอยู่ 2 ผืน (คงเป็นผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่มผืนหนึ่ง) พระองค์นั้นทราบมีผ้าเนื้อดี 2 ผืน นอกนั้นเป็นผ้าเนื้อธรรมดา ท่านก็พูดไว้ล่วงหน้าว่าผ้าเนื้อดีมีทั้ง 2 ผืนนั้นแหละจะต้องตกมาถึงท่าน อำมาตย์ได้ยินก็นำเรื่องไปกระซิบบอกพระราชา พระราชาเป็นผู้ถวายผ้าเอง ก็สังเกตผ้าที่วางซ้อนๆ กันไว้นั้นพอมาถึงลำดับภิกษุหนุ่มรูปนั้น ก็เป็นผ้าเนื้อดีทั้ง 2 ผืนพอดี ทั้งอำมาตย์และพระราชาต่างมองหน้ากัน เมื่อทำพิธีถวายผ้าเสร็จแล้ว พระราชาจึงเข้าไปหาพระภิกษุหนุ่มรูปนั้น เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์มีญาณวิเศษ จึงถามว่า ท่านได้บรรลุโลกุตรธรรมตั้งแต่เมื่อไร ภิกษุหนุ่มรูปนั้นถวายพระพรว่า เปล่าเลยท่านมิได้บรรลุโลกุตรธรรม หรือธรรมวิเศษอะไรเลย พระราชาจึงตรัสถามว่า ถ้าอย่างนั้นท่านรู้ได้อย่างไรว่า ท่านจะได้ผ้าเนื้อดี ภิกษุหนุ่มถวายพระพระว่า ท่านเป็นผู้บำเพ็ญสาราณิยธรรมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่เนืองนิตย์ ตั้งแต่เริ่มบำเพ็ญมาก็ได้ผลประหลาดอยู่เสมอ อะไรที่ดีที่สุดจะต้องตกมาถึงมือท่าน พระราชาก็ทรงชื่นชมอนุโมทนา และตรัสชมเชยภิกษุรูปนั้นแล้วหลีกไป เรื่องนี้ปรากฏในอรรถกถาสาราณิยธรรมสูตร ภาค 3 หน้า110 ถึง 112
(10) ผู้ชอบพอกับผู้เขียนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 15-20 ปี มาแล้ว มีจีนคนหนึ่งเป็นผู้มีอาชีพทางต้มหอยแมลงภู่ใช้กระทะใบบัวขนาดใหญ่เป็นเครื่องต้ม เทหอยลงไปแล้วก็ตักขึ้น ทำดังนี้เสมอมา วันหนึ่งเมื่อตักหอยขึ้นหมดแล้ว แต่น้ำเดือดยังมีอยู่กว่าครึ่งกระทะ ไม่ทราบว่าจะล้างกระทะหรืออย่างไร จีนผู้นั้นกลับตกลงไปในกระทะนั้นเอง ดิ้นพรวดพราด มีผู้ช่วยเอาขึ้นมาได้นอนร้องโหยหวน ส่งเสียงดัง ชาวบ้านไม่เป็นอันหลับอันนอนกันตลอดคืน และในที่สุดก็ตาย
เรื่องต่างๆ ที่นำมาเล่านี้ พอจะเป็นตัวอย่างพิจารณาเหตุผลทางศีลธรรม อันเป็นเหตุผลขั้นที่ 2 จากเหตุผลธรรมดา ท่านผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่ เป็นสิทธิของท่านที่จะพิจารณาเอาเอง เพราะในทางพระพุทธศาสนา เราไม่นิยมให้เชื่ออะไรอย่างง่ายๆ หรืองมงาย เรื่องกฎแห่งกรรมนี้ยังมีเงื่อนแง่พิสดารต่อไปอีก การกระทำบางอย่างเพียงเล็กน้อย ทำไมผลที่ปรากฏจึงมากกว่าการกระทำหลายเท่าไม่ว่าความดีหรือความชั่ว ถ้าท่านลองเทียบเคียงดูก็จะเห็นได้ ขโมยคนหนึ่งลักบุหรี่ซองเดียว แต่ศาลตัดสินจำคุกตั้งเดือน ซึ่งไม่คุ้มกันเลย มะม่วงลูกเดียวที่นำไปปลูก พอมีผลก็ให้ผลปีละหลายร้อยลูก บางปีถึงพันๆ ลูก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
จากตัวอย่างเหล่านี้ บุคคลจึงไม่ควรดูหมิ่นคุณความดีแม้สักเล็กน้อยว่าไม่มีความหมายอะไร และโดยทำนองเดียวกัน ก็ไม่ควรดูหมิ่นความชั่วว่า เพียงเล็กน้อยไม่เป็นไร ไม้ขีดก้านเดียวอาจจะเผาผลาญหมู่บ้านทั้งหมู่ทำความพินาศให้ยิ่งกว่าที่จะคิดถึง ฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้พยายามหลีกเลี่ยงความชั่ว และพยายามประพฤติคุณงามความดีเท่าที่จะมีโอกาสกระทำได้โดยไม่มองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไป
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เรียบเรียง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน รวบรวม
13/12/53