เมื่อมีอุปสรรคหรือปัญหาเกิดขึ้น วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนต้องพึ่งพาอำนาจภายนอกจึงต้องบนบานศาลกล่าวขอให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนที่มองไม่เห็นให้มาช่วยเหลือ ศาลเจ้าทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้มีไม่น้อย เทพเจ้าจะมีอยู่จริงหรือไม่นั้นต้องหาคำตอบเอาเอง คนที่เชื่อก็ต้องบอกว่ามี ส่วนคนที่ไม่เชื่อในเทพเจ้าก็บอกว่าไม่มี ความเชื่อของแต่ละบุคคลอาจจะส่งผลต่อการกระทำด้วย พระพุทธศาสนายอมรับในเรื่องของเทพต่างๆ แต่ยอมรับในฐานะที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกับมนุษย์ เมื่อพบกับอุปสรรคปัญหาต่างๆจึงสอนให้พึ่งตนเองก่อน มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ แปลว่าตนแลเป็นที่พึ่งของตน"อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพอดีตเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยได้เขียนเรื่องการพึ่งตนเองและกฎแห่งกรรมไว้ในคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา แม้จะมีเนื้อหาค่อนข้างยาวแต่ค่อยๆอ่านเดี๋ยวก็จบเอง
บทที่ 10
การพึ่งตนเอง ยกระดับตนให้สูงขึ้นและกฎแห่งกรรม
“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้รู้จักพึ่งตัวเองในการประกอบคุณงามความดี ในการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น ไม่สอนให้คิด แต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลักเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม (Law of Karma) อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมมากขึ้น”
ในบทนี้ ถ้าจะกล่าวอย่างย่อที่สุด ก็คือคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาในข้อนี้ ได้แก่การสอนให้พึ่งตนเองไม่นิยมให้ทำการใดๆ อันเข้าลักษณะยืมจมูกคนอื่นหายใจดังที่คำโบราณว่าไว้
แต่โดยเหตุที่มีข้อปลีกย่อยอีกหลายประการ ซึ่งนำมากล่าวรวมไว้ในข้อนี้ด้วย จึงขอแยกแนวพิจารณาออกเป็น 4 ข้อ คือ:-
1. พระพุทธศาสนาสอนให้พึ่งตัวเองในการประกอบคุณงามความดี
2.พระพุทธศาสนา สอนให้พึ่งตัวเองในการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น(วัฒนธรรม)
3. พระพุทธศาสนาไม่สอนให้คิดได้ดี โดยวิธีอ้อนวอนบวงสรวง
4. พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจกฎแห่งกรรม ซึ่งจะได้แยกอธิบายเป็นข้อๆ ไป:-
1. พระพุทธศาสนาสอนให้พึ่งตัวเองในการประกอบคุณงามความดี
ก.พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความเพียรเป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายจะพึงทำเอง ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทางให้” พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 51
ข. พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าพึ่งเป็นที่พึ่งได้” พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 หน้า 37
ค. พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นเกาะที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17 หน้า 53
พระพุทธภาษิตที่นำมากล่าวไว้พอเป็นสังเขปในที่นี้ แสดงว่าในพระพุทธศาสนาไม่มีการทำคุณงามความดีแทนกัน ทุกคนต้องทำเอาเอง แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงทำแทนใครไม่ได้ ทรงชี้ทางให้เท่านั้น เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนจะพึงปฏิบัติเอาเอง เปรียบเหมือนอาหารจะให้คนอื่นกินแทนกัน แล้วให้อีกคนหนึ่งอิ่ม ย่อมเป็นไปไม่ได้ฉะนั้น
ความจริงการสอนให้พึ่งตนเองนี้ เป็นการวางรากฐานจิตใจไม่ให้อ่อนแอคอยแต่จะเหลียวหาผู้อื่นช่วยเหลือตลอดเวลา คนคิดพึ่งตัวเองอยู่เสมอ ย่อมมีจิตใจเป็นอิสระและทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท กล่าวคือเมื่อไม่ค่อยคิดพึ่งคนอื่นย่อมเป็นผู้เตรียมการทุกอย่างไว้ เพื่อช่วยตัวเองให้ได้ เช่น:-
ก.ในเรื่องการเงิน ผู้คิดพึ่งตังเองย่อมระมัดระวังการใช้จ่ายไม่สุรุ่ยสุร่าย เพราะถ้าเงินหมดจะต้องรบกวนคนอื่น จะรู้จักเก็บออมไว้ใช้ยามที่ต้องการ บางครั้งความจำเป็นบังคับอาจต้องพึ่งผู้อื่น แต่ก็ไม่บ่อยครั้งนัก จะมีก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ และในกรณีเช่นนั้น ผู้คิดพึ่งตัวเองย่อมเปลื้องหนี้สินได้โดยเร็ว เพราะความไม่ประมาทในการครองชีวิต
ข.ในเรื่องการงาน ผู้คิดพึ่งตังเอง ย่อมหัดทำอะไรๆ เองได้ในสิ่งที่พอจะช่วยตัวเองได้ พึงสังเกตว่าภิกษุในพระพุทธศาสนามีข้อกำหนดให้มีด้ายมีเข็มไว้เป็นบริขารประจำตัว นี่ก็มิใช่อื่นไกลเพื่อให้รู้จักเย็บผ้าปะผ้าใช้เองบ้าง ไม่ใช่เป็นผู้สำรวยหยิบโหย่งทำอะไรเองไม่ได้เลย ยิ่งกว่านั้น ผู้คิดพึ่งตัวเอง ย่อมพยายามปลูกความรู้ความสามารถเอาดีที่การงาน ไม่ใช่คอยประจบแต่ผู้ใหญ่เอาตัวรอดไปวันหนึ่งๆ ผู้คิดพึ่งตัวเองย่อมเอาตัวรอดได้ในเมื่อจำเป็นต้องวิ่งเต้นต่อสู้กับชีวิตและการงานด้วยลำแข้ง ไม่ได้ทำงานอย่างนี้ ก็ไม่อดตาย เพราะรู้จักทำงานอย่างอื่นช่วยตัวเองได้
ค.ในเรื่องการศึกษา ผู้คิดพึ่งตัวเอง ย่อมไม่เกียจคร้าน ไม่ค่อยคิดหาวิธีลัด ด้วยการคอยถามคอยดูคำตอบของเพื่อน หรือคอยลอกคำตอบของเพื่อนเวลาสอบไล่ ไม่ต้องกังวลบนบานศาลกล่าวให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนช่วย เพราะอุ่นใจในความเพียรช่วยตัวเองอยู่แล้ว ผู้คิดพึ่งตัวเองเมื่อสนใจศึกษาศิลปวิชา ย่อมเจริญด้วยความรู้ความสามารถทำให้ชีวิตเป็นหลักฐานขึ้นได้ แม้ในเบื้องแรกจะตกต่ำไม่เจริญเหมือนคนทั้งหลาย
ง. ในเรื่องการครองชีวิต ผู้คิดพึ่งตัวเอง ย่อมเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ของตนเองไว้ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องหยิบยืมของผู้อื่น เตรียมการแก้ไข อุปสรรค แห่งชีวิต และเตรียมตัวเพื่อไม่ให้การครองชีวิตต้องล่มจมตกต่ำ ด้วยการรู้จักประมาณตัว จะเป็นคนครองชีพโดยเหมาะสมแก่ฐานะ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ลืมตัว หรือคอยหวังพึ่งผู้อื่นตลอดเวลาแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น ความคิดพึ่งตัวเองมีอยู่เป็นประจำ จะทำให้ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร มากเกินไป ถ้าเป็นเด็กก็เป็นเด็กที่รู้จักโต ไม่ต้องอยู่ในภาระรับผิดชอบของพ่อแม่ ชนิดไปไม่พ้นอกพ่อแม่ ต้องพึ่งท่านอยู่โดยไม่คิดตั้งตัวให้เป็นหลักฐานแล้วเลี้ยงท่านตอบแทนบ้างเลย
จ.ในเรื่องความประพฤติปฏิบัติ ผู้คิดพึ่งตัวเองย่อมไม่คิดจะได้ดีอะไรอย่างลอยๆ หากจะรู้จักประกอบเหตุเพื่อให้เกิดผลโดยการกระทำที่ถูกต้องของตน ฉะนั้น เมื่ออยากได้ดีก็ต้องประกอบคุณงามความดี และในการประกอบคุณงามความดีนี้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงชี้หนทาง และทรงประพฤติปฏิบัตินำทางไว้แล้ว หน้าที่ประพฤติปฏิบัติเป็นของผู้ปรารถนาจะเจริญก้าวหน้าในคุณความดีทั้งหลาย
เรื่องพึ่งตัวเองเป็นเรื่องธรรมชาติ
เราสังเกตได้ว่า เด็กเล็กๆ ช่วยตัวเองเหมือนผู้ใหญ่ไม่ค่อยได้ ธรรมชาติจึงได้สร้างกำลังต้านทานไว้ให้มากกว่าผู้ใหญ่ เช่นเด็กเป็นไข้ อุณหภูมิ ขึ้นถึง 104 และ 105 องศาฟาเรนไฮท์ เด็กพอทนได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่อุณหภูมิขึ้นถึงขนาดนั้น ก็กระสับกระส่ายหรือเพ้อ แม้ที่เกี่ยวกับโรคติดต่อ เช่นไข้หวัดใหญ่ เด็กเล็กๆ ที่ยังดื่มนมมารดามักมีกำลังต้านทานดีกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพราะการเตรียมอะไรต่ออะไรไว้ให้ธรรมชาติยังมีผลปรากฏอยู่ ครั้นโตขึ้น พอที่จะตักอาหารเข้าปากเองได้ เด็กจะแย่งผู้ใหญ่ทำเองเป็นการหัดช่วยตัวเองไปในขณะเดียวกัน
ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ เมื่อมีบาดแผลหรือเนื้อฉีกขาดหายไปบางตอน ก็จะมีการซ่อมแซมในตัวเองจนเต็มดังเก่า การรักษาบาดแผลนั้นแท้จริงคือ การรักษาความสะอาดมิให้เชื้อโรคอื่นจะเข้ามาเท่านั้น ส่วนการซ่อมแซมเป็นเรื่องของร่างกายเองที่จะเพิ่มเซลล์ตรงบาดแผลนั้นให้มากขึ้นจนเต็มเป็นปกติดังเดิม
การตัดต่อต้นไม้ เช่นใช้กิ่งพุทราพันธุ์ดีมาต่อกับพุทราพันธุ์ไม่ดีเขาก็ใช้ยาทา ใช้ผ้าพันพอช่วยให้ยึดกันได้ดีเท่านั้น ส่วนการส่งอาหารไปเลี้ยงกิ่งใหม่ การสมานเนื้อให้เข้ากันเป็นการช่วยตัวเองของต้นไม้นั้น
หลุยส์ปาสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ค้นพบวิธีป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดความต่อต้าน (Immunity) ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ ก็ใช้วิธีคิดโดยอาศัยหลักพึ่งตัวเองในธรรมชาติเป็นสำคัญ กล่าวคือ เมื่อฉีดเชื้อโรคอย่างอ่อนๆ เข้าไปในร่างกายของสัตว์ ร่างกายจะสร้างเครื่องต้านทานขึ้น เรียกว่า Antibody เมื่อมีเครื่องต้านแล้ว ฉีดเชื้อโรคเพิ่มเข้าไปมากขึ้นโดยลำดับ ร่างกายก็จะสร้างเครื่องต้านทานมากขึ้นโดยลำดับถึงขนาดต้านทานเชื้อโรคอย่างแรงได้ ครั้นแล้ว ก็เอาโลหิตหรือน้ำเหลืองจากสัตว์ที่มีความต้านทานนั้นมาทำเซรุ่ม สำหรับฉีดป้องกันโรคอหิวาต์ไก่อย่างได้ผล นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งของหลุยส์ปาสเตอร์ผู้นี้ (ดูหนังสือ Principles and Practice of Bacteriology หน้า 9)
เมื่อหลักการพึ่งตัวเองเป็นหลักในธรรมชาติเช่นนี้ การสอนให้รู้จักพึ่งตัวเอง จึงเป็นหลักคำสอนที่ถูกหลักธรรมชาติอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะการพึ่งผู้อื่นนั้นเป็นของไม่แน่นอนว่า จะพึ่งได้เสมอไป ชอบใจเขาก็จะให้พึ่ง ไม่ชอบใจเขาก็จะไม่ให้พึ่ง หรือแม้เขาอยากให้พึ่ง แต่ความไม่แน่นอนของโลกอาจทำให้เขาตกต่ำลงจนไม่สามารถให้เราพึ่งต่อไปก็ได้ หรือเขาอาจสิ้นชีวิตไปตามเหตุตามปัจจัยแห่งอายุก็ได้ ตกลงการเตรียมพึ่งตัวเองไว้ เป็นไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่คุณโดยส่วนเดียว
จริงอยู่คนที่เกิดมาในโลกนี้จำต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งนี้ เพราะพระพุทธศาสนาก็มิได้ห้ามการพึ่งพาอาศัยกัน เป็นแต่เตือนไว้ให้รู้จักช่วยตัวเอง เพื่อเวลาที่พึ่งคนอื่นไม่ได้ หรือไม่จำเป็นจริงๆ จะได้พึ่งตัวเองได้ ทำให้เป็นคนมีอิสระแก่ตนเอง ไม่ต้องเป็นคนอ่อนแอเหลียวหาที่พึ่งอยู่เนืองนิตย์ เด็กที่พ่อแม่โอ๋มาแต่เล็ก ทำอะไรไม่เป็นเลย จะเป็นเด็กที่ต้องมีพี่เลี้ยงช่วยเหลือตลอดเวลา และโตขึ้นก็จะทำให้เป็นคนอ่อนแอหยิบโหย่งทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เองไม่เป็น ทำให้มีความรู้สึกว่าในบางครั้งการถูกปล่อยให้เผชิญชีวิตตามลำพังนั้นเป็นภาระอันน่ากลัวอย่างยิ่ง
รวมความว่า ในการประกอบคุณงามความดีหรือการดำรงชีวิต ควรฝึกหัดช่วยตัวเองพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง
2.พระพุทธศาสนาสอนให้พึ่งตัวเองในการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น (วัฒนธรรม)
เรื่องนี้เป็นโอกาสให้ได้พูดถึงการที่พระพุทธศาสนาเป็นต้นตำรับแห่งวัฒธรรมที่เก่าแก่ของโลก เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้พยายามยกระดับของตนเองให้สูงขึ้นให้ประณีตขึ้นเสมอ ทั้งโดยการศึกษาและโดยการฝึกหัดไม่ให้ปล่อยชีวิตไปตามบุญตามกรรม พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ปรากฏในทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม 24 หน้า 101 ว่า“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! แม้แต่การหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายเรายังไม่สรรเสริญไฉนเราจะสรร เสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเล่า. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมสรรเสริญในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลายไม่สรรเสริญการหยุดอยู่หรือความเสื่อม.”
เมื่อทางพระพุทธศาสนาสอนให้ก้าวหน้าให้สร้างความเจริญรุ่งเรื่องไม่หยุดอยู่กับที่เช่นนี้ จึงส่งเสริมความพากเพียรความเข้มแข็งอดทน และความเป็นผู้ที่ได้สดับตรับฟังมากว่า เป็นคุณธรรมสำคัญแต่ละประการ
ในตอนนี้ เมื่อกล่าวถึงข้อที่พระพุทธศาสนาสอนให้ยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้นด้วยตนเอง จึงทำให้เราได้มีโอกาสพูดเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นต้นตำหรับแห่งวัฒธรรมอันเก่าแก่ของโลกสืบไป
วัฒนธรรมคืออะไร
วัฒนธรรมคือความเจริญขึ้น ความดีขึ้นหรือประณีตขึ้นกว่าเดิม โดยการศึกษาและการฝึกหัด ความเจริญขึ้นหรือดีขึ้นนี้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นทางไหน สุดแต่ที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่รวมกันเป็นหมู่แล้ว จัดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมทั้งสิ้น
วัฒนธรรมแบ่งออกเป็นหลายสาขา เช่นวัฒนธรรมทางวัตถุบ้าง วัฒนธรรมที่มิใช่วัตถุคือเกี่ยวด้วยขนบธรรมเนียมและศีลธรรมบ้าง ประเทศไทยเราเคยแบ่งงานวัฒนธรรมออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. คติธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมทางศีลธรรมหรือทางจิตใจ
2. เนติธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมทางกฎหมาย
3. วัตถุธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมทางวัตถุ
4 สหธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมทางสังคม
นอกจากนี้ ยังแบ่งงานวัฒนธรรมอีกหลายทาง เช่น วัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี ทางวรรณกรรม ทางศิลปกรรม เป็นต้น แม้จะแบ่งวัฒนธรรม ออกเป็นกี่อย่างก็ตาม พระพุทธศาสนาก็เชื่อว่า มีส่วนสงเสริมคนให้ดีขึ้นในทุกวิถีทางอยู่เสมอมา ในที่นี้จะแสดงหลักฐานว่า พระพุทธศาสนาส่งเสริมวัฒนธรรมทางไหนบ้าง ดังต่อไปนี้ :-
สมบัติผู้ดี
คุณธรรมหรือวัฒนธรรมเกี่ยวกับจรรยามารยาทหรือที่เราเรียกว่า สมบัติผู้ดีนั้น จะเห็นได้ในพระวินัยปิฎก เช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย ดังนี้
1. ให้ภิกษุนุ่งห่มให้เรียบร้อย ทั้งในขณะปรากฏกายในที่ชุมนุมชนในละแวกบ้าน และในขณะฉันอาหาร
2. ให้ภิกษุสำรวมมือเท้าด้วยดี ในขณะที่ไป หรือนั่งในบ้านสำรวมมือเท้า คือไม่เล่นคะนองด้วยมือเท้า
3. ให้ภิกษุไม่เลิกผ้า ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่เรียบร้อย ในขณะที่ไป หรือนั่งในบ้าน
4. ให้พระภิกษุไม่หัวเราะ หรือส่งเสียงดังจนน่าเกลียดในขณะที่ไป หรือนั่งในบ้าน
5. ให้ภิกษุไม่แสดงอาการน่ารังเกียจ เช่นโคลงกาย ไกวแขน สั่นศีรษะ เอามือค้ำกาย เอาผ้าคลุมศีรษะ เดินกระโหย่ง ( แบบคนย่องเบา ) หรือนั่งรัดเข่า ( ซึ่งถือกันว่าไม่สุภาพ ) ในขณะที่ไปหรือนั่งในบ้าน
6. ในการฉันอาหาร ให้ภิกษุฉันด้วยอาการอันเรียบร้อย ไม่พูดขณะข้าวเต็มปาก ไม่โยนคำข้าวเข้าปาก ไม่ฉันทำกะพุ้งแก้มให้ตุ่ย ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง ไม่ฉันแลบลิ้น ไม่ฉันมีเสียงดังจั๊บๆ หรือซู๊ดๆ ไม่ฉันเลียมือหรือเอามือสกปรกจับภาชนะน้ำเป็นต้น
7. มิให้ภิกษุเล่นซ่อนบริขาร คือเครื่องใช้ของภิกษุอื่น รวมทั้งเล่นจี้ภิกษุอื่น หรือหลอกภิกษุอื่นอื่นให้กลัวผี
8. มิให้ภิกษุพูดปด ใช้คำหยาบคายด่าว่า หรือยุยงให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน
9.มิให้ภิกษุแกล้งเข้าไปนอนเบียดภิกษุอื่น ในเมื่อรู้ว่าห้องนี้มีผู้นอนอยู่ก่อนแล้ว ด้วยคิดว่ารำคาญเข้าก็คงหลีกไปเอง
10. เขากำลังบริโภคอาหารกันอยู่ ภิกษุเข้าไปนั่งแทรกแซง หรือทำให้เขาต้องวุ่นวาย ก็ห้ามไว้ด้วย
11. ไม่บ้วนน้ำลายหรือทิ้งเศษอาหารทางหน้าต่าง
12. ไม่แสดงความมักได้ ขอของอะไรต่ออะไรจากผู้อื่นในเมื่อไม่มีเหตุผลสมควร
13. จะปิด เปิดประตูหน้าต่าง จะจุดไฟ ดับไฟ จะท่องบ่นสาธยาย ถ้าอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นจะต้องขอโอกาสหรือขออนุญาตพระภิกษุผู้แก่พรรษากว่าก่อน
14. การใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมให้ถือตามลำดับก่อนหลังไม่แย่งกัน
15. ไม่ให้ใส่ความหรือหาเรื่องกล่าวโทษผู้อื่นโดยปราศจากความจริง
ข้อความที่แสดงมาพอเป็นตัวอย่างเหล่านี้ คงพอทำให้ท่านผู้อ่านเห็นได้บ้างว่าความเป็นผู้ดีหรือคุณสมบัติของผู้ดีนั้น ได้มีสอนไว้อย่างถี่ถ้วนเพียงไร
วัฒนธรรมในการกินดีอยู่ดี
1.มีพระบัญญัติมิให้พระภิกษุเก็บอาหารไว้ค้างคืนในห้องนอน (ที่เรียกอันโตวุตถะ ) เพราะจะกลายเป็นเอาห้องนอนเป็นห้องเก็บอาหาร
2. มิให้ภิกษุหุงต้มอาหารในห้องที่อยู่ (ที่เรียกว่าอันโตปักกะ) เพราะจะกลายเป็นเอาห้องนอนเป็นห้องครัว
3. มิให้ภิกษุใช้ภาชนะน้ำ หรือภาชนะอาหารร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันทางอนามัยถือว่าป้องกันโรคติดต่อได้ดี ฉะนั้น ถ้าจะให้พระฉันอาหารเป็นวง จึงควรมีช้อนกลางภาชนะน้ำแยกองค์ละที่
4. มิให้ฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ( อาจเป็นนของบูดเน่าและแสดงอาการสะสม )
5. ผ้านุ่งผ้าห่มที่ตั้งใจไว้ใช้ประจำ ( อธิษฐาน ) จะต้องไม่ปล่อยให้ขาดเป็นช่องโตเท่าหลังเล็บก้อย จะต้องปะชุนให้ดี
6. จะต้องรู้จักรักษาความสะอาดร่างกาย ไม่ปล่อยเล็บให้ยาวเกินไป
7.ในการรับคนเข้าหมู่ ไม่ใช่สักแต่ว่าขอเข้ามาบวชก็อนุญาตให้บวช ต้องเลือกคนที่ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีหนี้สิน ไม่มีข้อผูกพันต่างๆ ได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาแล้ว เพื่อความผาสุกเมื่อบวชแล้ว
8.ในการใช้ห้องน้ำห้องส้วม จักต้องช่วยกันรักษาความสะอาดผู้ใดเห็นสกปรกไม่จัดเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำความสะอาด หรือน้ำชำระที่ใช้แล้วเหลือทิ้งไว้ในหม้อชำระด้วยความมักง่ายมีที่ปรับอาบัติไว้
9. ในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน หน้าที่ที่จะต้องช่วยกันทำก่อนประชุมคือปัดกวาดสถานที่ ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้ให้เรียบร้อย
10. ภิกษุไม่เป็นไข้ห้ามถ่ายอุจจาระปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะลงในน้ำ คำว่า เป็นไข้ หมายถึงมีเหตุจำเป็นเพราะอาพาธ หาที่อื่นไม่ได้จริงๆ
วัฒนธรรมในการรักษาของส่วนรวม
1. ภิกษุที่นำเตียง ตั่ง ฟูก เก้าอี้ของสงฆ์ออกมาใช้แล้ว เมื่อเลิกใช้ไม่เก็บเองหรือไม่มอบหมายให้ผู้อื่นเก็บ ปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้ง ต้องอาบัติ
2. ภิกษุเอาที่นอนของสงฆ์ปูนอนในกุฏิเมื่อจะไปที่อื่นไม่เก็บเองไม่มอบหมายให้ผู้อื่นเก็บ ต้องอาบัติ
3. ผนังที่ทาสี ภิกษุนั่งพิงโดยไม่มีผ้ารองรับคือพิงด้วยตัวเปล่าๆ คราบเหงื่อไคลอาจจับเกาะสกปรกได้
4.ทรัพย์สมบัติอันเป็นสงฆ์ ภิกษุใดภิกษุหนึ่งจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวไม่ได้ จะถืออำนาจแจกจ่ายให้ปันแก่ผู้อื่นโดยไม่มีเงื่อนไขอันสมควรไม่ได้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี ภิกษุผู้รักษาเรือนคลังของสงฆ์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าเจ้าอธิการแห่งคลังจะต้องรู้จักของที่ควรเก็บ ไม่ควรเก็บ ของใดควรจ่ายไม่ควรจ่ายให้แก่ภิกษุอื่น
วัฒนธรรมในการปฏิบัติตนต่อสังคม
1. ของคฤหัสถ์ตกนอกวัด ภิกษุเก็บเอาเป็นของตนก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นเก็บเอาก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นเก็บเอาก็ดี ต้องอาบัติ ของตกในวัดต้องเก็บไว้เพื่อคืนให้เจ้าของ ถ้าไม่เก็บต้องอาบัติ
2. ภิกษุเป็นแขกไปสู่อาวาสอื่น พึงถามถึงกติกา กฎข้อบังคับต่างๆของอาวาสนั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้เหมาะสม ไม่ล่วงละเมิดกติกาต่างๆ ที่วางไว้
3.ภิกษุรับนิมนต์ไว้ในที่หนึ่ง แล้วไปฉันเสียที่อื่น ต้องอาบัติเว้นแต่จะได้ตกลงมอบหมายให้ภิกษุอื่นรับแทน
4.ภิกษุให้ฉันทะคือ ยอมให้สงฆ์ทำกรรมอันใดอันหนึ่งแล้วกลับว่าติเตียนสงฆ์ในภายหลัง ต้องอาบัติ
5.เมื่อสงฆ์กำลังทำการประชุม ตัดสินข้อความข้อข้อหนึ่ง ภิกษุใดอยู่อยู่ในที่ประชุมนั้น จะออกจากที่นั้นไปในขณะที่ตัดสินข้อความนั้นยังไม่เสร็จ ต้องอาบัติ เว้นแต่จะมอบฉันทะคือยอมให้สงฆ์ทำไปด้วยความเห็นชอบของตน
6. ภิกษุรู้อยู่ว่า ของนี้เขาจะถวายไว้แก่ส่วนรวม คือสงฆ์ พูดให้เขาถวายแก่ตนต้องอาบัติ
7..ภิกษุขอของจากคฤหัสถ์ ผู้มิใช่ญาติ ผู้มิได้กล่าวอนุญาตไว้ ( มิได้ปวารณา ) ได้มา ต้องอาบัติเว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรตามหน้าที่กำหนดในพระวินัย
8. ภิกษุผู้จะโจทท้วงภิกษุอื่น พึงกล่าวขอโอกาสจำเลยก่อนจึงเสนอเรื่องต่อที่ประชุมสงฆ์
9. ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน เรียกว่า ปริสัญญุตา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ทำตนให้เหมาะสมที่จะเข้าสู่ชุมนุมชนโดยเรียบร้อย ชื่อว่ามีธรรมของสัตบุรุษคือคนดี
10 .ภิกษุเข้าประชุมสงฆ์ก็ดี โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี พยานก็ดี พึงเป็นผู้เจียมตน พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง ไม่เบียดภิกษุผู้เป็นเถระ ไม่กีดภิกษุผู้อ่อนกว่า พึงนั่ง ณ อาสนะอันสมควร ไม่พูดถึงเรื่องต่างๆ พึงรักษาดุษณีภาพ
ระเบียบวัฒนธรรมต่างๆ ที่กล่าวมานี้ คงจะพอทำให้เห็นเปรียบเทียบได้ตามสมควรว่า พระพุทธศาสนาสั่งสอนให้คนยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม พ้นจากความเป็นป่าเถื่อนอย่างดียิ่งเพียงไร เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นต้นตำหรับวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของโลกได้โดยแท้จริง
3. พระพุทธศาสนาไม่สอนให้คิดได้ดีโดยวิธีบวงสรวง
จากหลักพึ่งตัวเองทำให้เราก้าวมาถึงอีกขั้นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ การที่พระพุทธศาสนามิได้สอนให้คิดได้ดีโดยวิธีอ้อนวอนบวงสรวง ดังจะนำหลักธรรมมากล่าวเป็นข้อ ๆ คือ :-
1. ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม 18 หน้า 284 พระพุทธเจ้าตรัสเป็นใจความว่า “ เราเอาน้ำมันเทลงไปในน้ำแล้วจะอ้อนวอนให้จมลงอย่างไร น้ำมันก็จะคงลอยขึ้นเหนือน้ำเสมอไป เราทิ้งก้อนหินลงในน้ำ แม้จะอ้อนวอนให้ลอยอย่างไรมันก็ไม่ลอยขึ้น คงจมลงโดยส่วนเดียวฉันใด การทำความดีย่อมเป็นเหตูให้เฟื่องฟู การทำความชั่วย่อมเป็นเหตุให้จมลง เมื่อทำแล้วจะใช้วิธีอ้อนวอนให้เกิดผลตรงข้าม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันนั้น”
2. พระพุทธเจ้าตรัสเป็นใจความว่า “ แม่ไก่ไม่กกไข่ มีแต่ความปรารถนาจะให้ลูกไก่ออกจากฟองอย่างเดียว ย่อมไม่สำเร็จฉันใด ลำพังความปรารถนาจะทำให้จิตพ้นจากกิเลสอาสวะ ย่อมเป็นไปได้ฉันนั้น” ( สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม 17 หน้า 185 )
3. พระพุทธเจ้าตรัสสอนอนาถปิณฑิกคฤหบดี มีใจความว่า “สิ่งที่ปรารถนารักใคร่เจริญใจ 5 อย่าง คือ อายุ ผิวพรรณ ยศ สุข สวรรค์นั้น เราไม่กล่าวว่าจะได้มาด้วยเหตุความวิงวอนปรารถนา เพราะถ้าจะได้เพราะความวิงวอนปรารถนาแล้ว ใครเล่าจะขาดแคลนอะไร ดูก่อนคฤหบดี! อริยสาวกผู้ใคร่จะได้สิ่งเหล่านั้นไม่ควรจะวิงวอน และเพลิดเพลินสิ่งเหล่านั้น อริยสาวกนั้น พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น” ครั้นแล้วก็ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่จะให้สำเร็จผล (ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม 22 หน้า 185)
ข้อที่สอนให้ช่วยตนเองในการลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย โดยไม่ต้องอ้อนวอนขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนให้ช่วยเหลือนี้แหละ ออกจะเป็นคุณลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนาอย่างมาก เพราะเกือบจะเรียกว่า ตรงกันข้ามกับข้อปฏิบัติในศาสนาทั้งหลายอย่างสำคัญทีเดียว
เซอร์ เอ็ดวินอาโนด์ นักกวีชาวอังกฤษผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนาได้ประพันธ์บทกวีเรื่อง ประทีปแห่งเอเชียไว้ตอนหนึ่ง กล่าวถึงเรื่องการอ้อนวอนไว้อย่างไพเราะว่า:-
"จงอย่าอ้อนวอนเลย ความมืดจะสว่างขึ้นมาไม่ได้"
"จงอย่าขออะไรจากความเงียบเลย เพราะมันพูดไม่ได้"
"อย่ารบกวนจิตใจอันคร่ำครวญของท่านด้วยความเจ็บปวดอันระคนด้วยศรัทธาเลย"
"อา! พี่น้องทั้งหลาย"
"จงอย่าขออะไรจากเทพเจ้าที่จะช่วยอะไรท่านไม่ได้โดยของบนและคำสวดสรรเสริญเลย"
"จงอย่าติดสินบนด้วยเลือด หรือเลี้ยงเทพเจ้าด้วยผลไม้และขนม"
"ความหลุดพ้นจะต้องค้นภายในตัวท่านเอง"
"คนทุกคนสร้างคุกตะรางเครื่องจองจำให้แก่ตัวเองต่างหาก"
ผู้เขียนเคยอ่านบทกวีของเซอร์ รพินทรนาถ ฐากูรประมาณ 20 ปีมาแล้ว ในขณะนี้ค้นหาหนังสือนั้นไม่ได้ แต่จำใจความได้ว่า เซอร์ รพินทรนาถ ฐากูร ได้เขียนบทกวีอ้อนวอนพระเจ้าไว้อย่างประหลาด เป็นการอ้อนวอนโดยใช้หลักพึ่งตนเองของพระพุทธศาสนาดังมีเค้าดังนี้:-
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าท่านจะโปรดช่วยเหลือข้าพเจ้า ขอได้โปรดอย่ามายุ่งอะไรกับข้าพเจ้าเลย"
"จงปล่อยให้ข้าพเจ้าได้ใช้เรี่ยวแรงและสติปัญญาของข้าพเจ้า เพื่อต่อสู้กับความยากลำบากทั้งหลายไปตามลำพังเถิด"
ท่านเซอร์ผู้นี้ เป็นชาวอินเดียผู้เชี่ยวชาญในอักษรศาสตร์อังกฤษ ถึงกับได้รับรางวัลโนเบล ในทางวรรณกรรมแต่เขียนบทกวีเรื่องนี้อย่างตรงกันข้ามกับ ลอร์ด เทน นีสัน ของอังกฤษทีเดียว ลอร์ด เทนนีสัน ได้เขียนไว้ในเรื่อง The Morte D’ Arthur ปรากฏในหนังสือ Voice, Speech and Gesture หน้า 2164 ว่า :-
"เพราะคนเราจะดีกว่าแกะหรือแพะ ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตอันงมงายไว้ภายในสมองได้สักเท่าไร ถ้ารู้จักพระเจ้าแล้วไม่ยกมือขึ้นอ้อนวอน เพื่อตัวเองและเพื่อนผู้ที่ตนเรียกว่าเพื่อน เพราะรอบโลกทั้งสิ้นผูกพันอยู่ทุกวิถีทาง ด้วยโซ่ทองซึ่งผูกพันอยู่แทบพระบาทของพระเจ้า"
ผู้เขียนเสนอเหตุผลในบทกวีของทุกๆ ฝ่าย ทั้งในฝ่ายที่ให้อ้อนวอน และไม่อ้อนวอน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณตัดสินเอาเอง และในขณะเดียวกันจะได้มองเห็นคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาในข้อนี้ไปด้วยพร้อมกัน