3. เรื่องไม่มองข้ามตนเองในการแก้ปัญหาศีลธรรม
โดยปกติคนมักจะเรียกหาศีลธรรม เมื่อตนเองเผชิญเรื่องยุ่งยากที่คนอื่นก่อให้ เช่น ถูกข่มเหงเบียดเบียน ถูกลวงล่อฉ้อโกงเป็นต้น พอเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ก็จะเรียกหาความเป็นธรรม เรียกหาศีลธรรม เรียกหาความยุติธรรมเป็นการใหญ่ ทั้ง ๆ ที่โดยปกติตนไม่เคยเห็นความสำคัญหรือความจำเป็นของศีลธรรมและความเป็นธรรมแต่อย่างไรเลย
เคยมีอยู่สมัยหนึ่งในระหว่างสงคราม เราได้ยินเสียงบ่นกันมากว่าศีลธรรมเสื่อมโทรม และเสียงที่บ่นนั้นก็ล้วนแต่ซัดไปที่คนอื่นทั้งสิ้น ตกลงจึงเกิดปัญหาว่าเราจะแก้ความเสื่อมโทรมของศีลธรรมที่ใครดี
ถ้าพิจารณาดูหลักการทางพระพุทธศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่าท่านสอนไม่ให้ลืมตัวเราเอง หรือมองข้ามตัวเราเองไป หากได้พิจารณาจัดการที่ตนเราเองก่อน โดยไม่ค่อยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้วเราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย
มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “บุคคลพึงตั้งตนเองนั่นแหละไว้ในทางที่ควรก่อน” (อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏรูเป นิเวสเย) ธรรมบท สุตตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 36 อันแสดงว่าอย่างเกี่ยงให้คนอื่นดีโดยเราไม่สนใจจะจัดการกับตัวเราเองเลย
ข้อควรคิดพิจารณาในการส่งเสริมศีลธรรม หรือในการแก้ปัญหาเรื่องศีลธรรมเสื่อมนั้น ผู้เขียนได้เคยเสนอไว้เป็น 2 ทาง คือ :-
1. จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจให้เรียบร้อย ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น
2. จัดการกับตัวเราเอง และช่วยกันเผยแผ่ความรู้สึกประทับใจ รังเกียจความชั่วช้าต่าง ๆ และนิยมในคุณงามความดี ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
เฉพาะข้อหนึ่งจะขอผ่านไป เพราะได้กล่าวไว้แล้ว ส่วนข้อหลังที่ให้ปลูกฝังความรู้สึกประทับใจ รังเกียจความชั่วช้าทุจริต นิยมในคุณความดีต่าง ๆ นั้น ความจะชัดขึ้นเมื่อเราสอบสวนดูความฝังใจของเราทั้งหลายในเรื่องอื่น ๆ
ในหมู่อิสลามิกชน เขาไม่เดือดร้อนเลยที่ไม่มีเนื้อหมูขายในท้องตลาด เพราะเขามีประเพณีทางศาสนาไม่รับประทานเนื้อหมูกันโดยทั่วไปในหมู่คนไทยทั่วไป ไม่มีใครรับประทานเนื้อแมวหรือเนื้อสุนัข เพราะฝังใจกันมาแต่โบราณ โดยหาเหตุผลเพราะแมวและสุนัขใกล้ชิดกับคนและเป็นสัตว์เลี้ยง จึงไม่มีใครคิดจะกิน แต่คนรุ่นปัจจุบันแม้บางคนไม่เลี้ยงสุนัขหรือเลี้ยงแมวก็เลยพลอยไม่เกินเนื้อสัตว์ทั้งสองนี้ไปด้วย คือพลอยฝังใจไปตามชนหมู่ใหญ่ และถ้าถามเหตุผลก็คงตอบได้เพียงว่า นึกรังเกียจเพียงแต่พูดถึงก็อยากจะอาเจียนเสียแล้ว เพราะถ้าจะตอบว่าสุนัขและแมวสกปรก เราก็จะเห็นได้ว่า ในบางกรณีหมูสกปรกไม่แพ้สุนัขเลย เพราะกินอุจจาระคนเหมือนสุนัข และปลาบางชนิดเช่นปลาหมอที่คนไทยนิยมกินกันนักนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นปลาที่ชอบกินอุจจาระคนเป็นอันมาก แต่เราก็ไม่รังเกียจกัน ตกลงเมื่อสาวหาเหตุผลกันหนักเข้าก็ต้องโยนให้แก่ความฝังใจความประทับใจว่าอย่างนั้นกินได้ อย่างนี้กินไม่ได้ และเมื่อเกิดความประทับใจอย่างนี้แล้ว ก็ไม่เกินทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เมื่อความฝังใจอาจเกิดได้ในกรณีเนื้อสุนัขหรือเนื้อแมวฉะนี้แล้ว เราก็อาจหัดหรือปลูกฝังให้เกิดความฝังใจในเรื่องรังเกียจความชั่วและนิยมความดีได้ แต่เรื่องนี้จะต้องทำให้เป็นมติมหาชนโดยการช่วยขยายวงออกไปจากเอกชน และโดยเฉพาะก็คือตัวเราเองก่อน
การจะยอมปลูกความฝังใจหรือความประทับใจชนิดนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการพิจารณาถึงเหตุผล ในเรื่องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เทียบเคียงกันและกัน คนที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้นั้น มักจะเทียบเคียงอกเขาอกเราเสมอ คนเช่นนี้มักไม่ลืมตน และเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั้งหลาย
คนบางคนถึงคราวตนเป็นเบี้ยล่างหรือเป็นฝ่ายเดือดร้อนแล้ว จะพยายามวิ่งเต้นอย่างเต็มความสามารถไม่เป็นอันกินอันนอน ไม่เลือกว่าจะผิดจะถูก จะเสียความยุติธรรมหรือไม่ สุดแต่ให้พ้นความทุกข์ร้อนได้ก็แล้วกัน แต่พอถึงคราวตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ เป็นฝ่ายเหนือผู้อื่น ก็จะข่มขู่หรือเหยียบคนอื่นอย่างปราศจากความปรานี
เพราะเหตุนั้น ทางพระพุทธศาสนาเมื่อสอนให้คนรู้สึกฝึกจิตใจให้ประกอบด้วยเมตตากรุณา จึงได้จัดลำดับในการแผ่เมตตาไว้ 4 ลำดับ คือ:-
1.ให้แผ่เมตตาไปในตัวเองก่อน นึกปรารถนาให้ตนมีความสุขพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพื่อจะได้ตนเองเป็นพยานว่าเรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็รักสุดเกลียดทุกข์ฉันนั้น การแผ่เมตตาในตัวเองนี้ ทำได้ง่ายที่สุด แม้ไม่หัด คนก็มีความรู้สึกกันอยู่โดยปกติแล้ว แต่ถ้าหักแผ่เมตตาในตนเองก็จะเป็นการก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นแรก เพื่อก้าวไปยังขั้นอื่นต่อไป
2.เมื่อแผ่เมตตาในตนเองจนเห็นประจักษ์แก่ใจถึงความรู้สึกรักตนของเราแล้ว ในลำดับต่อไปให้หัดแผ่เมตตาในคนที่เรารัก เช่น พ่อแม่ บุตร ภริยา สามี หรือคนที่เป็นญาติมิตร ซึ่งแผ่ได้ง่าย เป็นลำดับที่ 2
3. แล้วจึงเมตตาไปในบุคคลที่เรารู้สึกเฉย ๆ ไม่รักไม่ชัง หรือเป็นผู้ที่เราไม่ค่อยมีความสนใจเท่าไรนัก
4.ต่อจากนั้นจึงหัดแผ่เมตตาขั้นยากที่สุด คือแผ่เมตตาในคนที่เป็นศัตรู เพราะตามปกติคนเรามักจะคิดแต่ให้ศัตรูพินาศย่อยยับ พอใจที่จะเห็นศัตรูมีอันเป็นไปต่าง ๆ แม้เช่นนั้นทางพระพุทธศาสนาก็สอนให้มีใจสูงพอที่จะหัดให้อภัย และให้มีความปรารถนาดีต่อศัตรู ใครไม่เคยหักจะลอง หัดดูบ้างก็จะเป็นการดี เพราะเรามักจะได้ยินแต่ว่า ถ้าเป็นคน ๆ นั้นแล้วก็จะขอผูกพยาบาลหรือผูกโกรธตลอดไป ยากที่จะมีใครหัดยกระดับจิตใจให้สูงโดยให้อภัยแก่ศัตรู และแผ่ความปรารถนาดีไปยังบุคคลเหล่านั้นได้
เป็นอันขอสรุปไว้ในท้ายบทนี้ อันว่าด้วยคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาว่าด้วยการส่งเสริมศีลธรรมว่า การนึกถึงอกเขาอกเรา หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่ง คู่เคียงกับหลักเศรษฐกิจส่วนบุคคล ในที่ใดไม่มีการเห็นอกเห็นใจกัน ในที่นั้นจะมีการแบ่งแยกเป็นพวกเขาพวกเรา คอยจ้องจับผิดหาความกัน และคอยปกปิดความผิดของตนขยายความผิดของคนอื่นเพียงเล็กน้อยให้ดูใหญ่โตขึ้น ความเมตตากรุณา แม้จะเป็นคุณธรรมชั้นสูง ละเอียดอ่อน ยังความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดขึ้น แต่ถ้าคนเรายังไม่ยอมเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ยอมเอาใจเขามาใส่ใจเราแล้ว ก็ยากที่คนจะปลูกฝังความเมตตากรุณานั้นในจิตใจของตนเองได้ จะปลูกฝังได้ก็เฉพาะความเมตตากรุณาต่อตนเองฝ่ายเดียว แล้วเหยียบย่ำผู้อื่นให้แหลกลาญลงไป เรื่องควรจะเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ควรจะให้อภัยได้ กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายไป เพราะฉะนั้น คุณลักษณะข้อนี้ของพระพุทธศาสนา จึงช่วยเผยแผ่สันติสุขให้แพร่หลายไปอย่างแท้จริง...
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เขียน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน รวบรวม
09/11/53
หมายเหตุ:ภาพประกอบจิตรกรรมฝาผนังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม