คำสอนหลักเศรษฐกิจขั้นสูง
เมื่อได้กล่าวถึง การที่พระพุทธศาสนาได้สอนให้บุคคลสนใจทำตนให้เจริญในทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเหตุให้สะดวกในการที่จะปฏิบัติตามศีลธรรม อันนับได้ว่าเป็นคำสอนหลักเศรษฐกิจชั้นต่ำแล้ว ก็ควรจะได้กล่าวถึงหลักคำสอนเศรษฐกิจชั้นสูง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือสูงเกินเศรษฐกิจไว้ด้วย เพราะหลักคำสอนขั้นนี้ แทนที่จะให้เราคอยสนองความอยากได้ใคร่ดีต่าง ๆ กลับสอนให้เราเป็นนายเหนือความทะยานอยากนั้น ๆ รู้จักเอาชนะไม่เป็นทาสของความทะยานอยาก รู้ว่าแค่ไหนเป็นความจำเป็น แค่ไหนเกินความจำเป็น แค่ไหนเป็นความทะยานอยากที่มาเผาลนจิตใจของเราให้เร่าร้อน
ถ้าท่านผู้อ่านติดตามดูวิธีการของพระพุทธเจ้าในข้อนี้แล้ว จะรู้สึกน่าอัศจรรย์ใจในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจขั้นสูง โดยวิธีอันสุขุมฉลาดรอบคอบของพระองค์ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ซึ่งเป็นงานใหญ่มากเทียบดูกับการดำเนินงานต่าง ๆ ในทางโลกแล้ว เราก็เห็นได้เองว่าพระพุทธศาสนาอยู่มาได้กว่า 2,500 ปีแล้วอย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่น แต่องค์การทางโลกยังไม่ปรากฏว่า มีองค์การใดดำรงมั่นคงสืบต่อกันมาเป็นหลักฐานได้ยั่งยืนและแพร่หลายเท่านี้
วิธีการในทางโลกนี้ จะทำอะไรเกือบจะหนีปัญหาเรื่องเงินไม่พ้นจะกระทั่งบางคนกล่าวว่า มีปัญหาสำคัญในการดำเนินงานชิ้นใหญ่ ๆ อยู่เพียง 3 ข้อ คือ 1. เงิน 2. เงิน 3. เงิน รวมความว่า ถ้ามีเงินก็ทำอะไรสำเร็จหมด ถ้าไม่มีเงินก็เกือบจะเลิกพูดกันได้ทีเดียว
พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นมาแล้ว ถึงวิธีการของชาวโลก ซึ่งต้องใช้เงินเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงใช้วิธีตรงกันข้าม ซึ่งผู้เขียนใคร่เรียกว่าเป็นหลักเศรษฐกิจขั้นสูง หรือหลักการเหนือหลักเศรษฐกิจกล่าวคือไม่ใช้เงินเลย
ในพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระหยิบจับหรือรับเงินทอง ทรงปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้นคล้ายจะแสดงให้โลกดูว่า โดยไม่ใช้เงินทองเลยนี่แหละจะทำงานชิ้นใหญ่ให้ดู และก็ทำได้สำเร็จจริง ๆ ด้วย
หลักการที่เรียกว่าเศรษฐกิจขั้นสูงของพระองค์ก็คือพยายามเป็นนาย เหนือความทะยานอยากต่าง ๆ พยายามรู้ว่าเท่าไรจำเป็น เท่าไรเกินจำเป็นเท่าไรกลายเป็นความทะยานออกไป
พระองค์ได้อนุญาตสิ่งจำเป็นสำหรับภิกษุไว้ 4 ประการเรียกว่า ปัจจัย 4 หรือที่ตรงกับคำอังกฤษว่า Four Requisites คือ ผ้านุ่งห่ม (จีวร) อาหาร (บิณฑบาต) ที่อยู่อาศัย (เสนาสนะ) และยาแก้เจ็บไข้ (คิลานเภสัช) เครื่องอาศัยทั้ง 4 ประการนี้ มีการซ้อมความเข้าใจกันตั้งแต่แรกบวชว่า เอาพออาศัยเป็นไป ไม่มีผ้าดีผ้าใช้เก็บตกชิ้นเล็กชิ้นน้อยปะติดปะต่อกันก็ใช้ได้ ยารักษาโรคไม่มีดี เพียงยาดองน้ำมูตรก็ใช้ได้
นอกจากนั้นยังมีข้อบัญญัติอีกหลายประการไม่ให้ใช้ของที่ทำด้วยทองหรือเงิน หรือกาววาวสวยงามเกินไป ห้ามไม่ให้ขอของจากใครต่อใคร โดยเขามิได้อนุญาตให้ขอได้ ในเมื่อไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ไม่ให้มักมากสะสม แม้กระทั่งเก็บอาหารที่รับไว้แล้ว ให้ค้างคืนเพื่อจะได้บริโภคในวันรุ่งขึ้น ในที่สุดได้ทรงวางหลักใหญ่ไว้ว่า
1. ความทะยานอยาก เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ดับความทะยานอยากได้โดยไม่เหลือ เป็นการดับทุกข์ (พระวินัยปิฏก เล่ม 4 หน้า 18)
2. ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ตกเป็นทาสของความทะยานอยากที่เกิดขึ้นเพียงใด ก็ยังความเจริญได้ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น (พระสุตตันตปิฏก เล่ม 23 หน้า 21)
ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่า หลักเศรษฐกิจคือการสนองความต้องการของคน แต่หลักชั้นสูงของพระศาสนา มิใช่การสนอง หากเป็นการบรรเทาความต้องการที่ไม่จำเป็น และพยายามเป็นนายเหนือความต้องการนั้น ๆ ผู้ต้องการหาความสุขจึงควรจะได้พิจารณาดูด้วยความรอบคอบ
อนึ่งเพื่อที่จะให้พุทธศาสนิกชนได้ก้าวไปสูงกว่าเศรษฐกิจทางโลกอีกขั้นหนึ่ง ทางพระพุทธศาสนาได้เสนอเรื่องทรัพย์ประเสริฐ (อริยทรัพย์) หรือทรัพย์ภายในไว้ 7 ประการ คือ :-
1. เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ (ศรัทธา)
2. รักษากายวาจาให้เรียบร้อย (ศีล)
3. ละอายต่อบาปทุจริต (หิริ)
4. เกรงกลัวต่อบาปทุจริต (โอตตัปปะ)
5. สดับตรับฟังหรือเล่าเรียนมาก (พาหุสัจจะ)
6. รู้จักเสียสละ (จาคะ)
7. มีปัญญารอบรู้สิ่งที่เป็น ประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ (ปัญญา)
(พระสุตตันตปิฏก เล่ม 23 เล่ม 5)
ถ้ามีทรัพย์ภายในหรือทรัพย์ประเสริฐที่เรียกว่าอริยทรัพย์นี้แล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทรัพย์ภายนอกจะหลั่งไหลมาเองโดยอัตโนมัติ
โดยกลับกัน คนมีทรัพย์ภายนอกที่ไม่มีศีลธรรมประกอบ หรือไม่มีทรัพย์ภายใน 7 ข้อนี้ประกอบเลย ก็แน่นอนว่าทรัพย์ภายนอกนั้นจะยั่งยืนอยู่ไม่ได้
2. เรื่องแก้ความชั่วด้วยความดี
ในหัวข้อที่ 2 ของบทนี้ ที่ว่าพระพุทธศาสนาสอนให้แก้ความชั่วด้วยความดีนั้น มีปัญหาสำคัญที่พึงพิจารณาอยู่ไม่น้อย แต่ก่อนที่จะพิจารณาในรายละเอียดอื่น ๆ ขอให้เราพิจารณาหลักคำสอนซึ่งจะยกมาเป็นตัวอย่างก่อน
1. พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดเหละแหละด้วยคำสัตย์จริง (ธรรมบท สุตตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 45)
2. เวรไม่ระงับด้วยการจองเวรในที่ไหน ๆ เลย ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรต่างหาก ธรรมนี้เป็นของเก่า
(ธรรมบท สุตตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 15)
3. ความชั่วที่ทำแล้ว ผู้ใดปิดกั้นเสียด้วยความดี (คือเลิกทำชั่วเสีย ทำความดีแทนต่อไป) ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่าง เหมือนดวงจันทร์พ้นจากหมอกฉะนั้น (ธรรมบท สุตตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 45)
เหตุผลทางพระพุทธศาสนาที่ให้แก้ความชั่วด้วยความดีก็คือ ถ้าใช้ความชั่วแก้ความชั่ว จะไม่มีวันกลายเป็นความดีขึ้นมาได้เลย เปรียบเหมือนการล้างของโสโครกด้วยของโสโครก การซักเสื้อผ้าที่สกปรกด้วยน้ำ กระโถน จะยิ่งเพิ่มความสกปรกยิ่งขึ้น
จริงอยู่ มองในแง่หนึ่ง คล้ายเป็นการหัดเสียเปรียบคนที่คอบจะเอาชนะเขาด้วยความดี ปล่อยให้เขาเอาความร้ายมาใส่เราข้างเดียว และคล้ายกับเป็นการอ่อนแอด้วย แต่ถ้าเข้าใจความหมายในคำสอนให้ตลอดแล้ว จะรู้สึกว่าพระพุทธศาสนาได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว ที่จะไม่ให้ต้องเสียเปรียบ และไม่เป็นการอ่อนแอ
นั้นก็คือการสอนให้แก้ปัญหาตั้งแต่ยังไม่เกิดเรื่องร้ายขึ้น เช่น สอนไม่ให้ปลูกศัตรู สอนให้ปลูกมิตร ให้บำเพ็ญสังคหวัตถุ คือรู้จักผูกน้ำใจคนด้วยการให้ การพูดไพเราะ การบำเพ็ญประโยชน์ และการวางตัวให้เข้ากับเขาได้ สอนไม่ให้ยินดีในการหาเรื่องโต้เถียงอันเป็นการตัดทางทะเลาะวิวาท สอนให้มีเมตตากรุณาต่อคนอื่น อันเป็นการเตรียมตัวในทางดี แทนที่จะให้คนอื่นคิดเป็นศัตรูกลับให้คิดเคารพนับถือ การเตรียมตัวหรือวางตัวในทางดีไว้ให้เป็นนิสัยนี้ทำให้ไม่ต้องแก้ปัญหาร้าย ๆ ในภายหลัง มีคำถามว่าถ้าเราทำตนเป็นคนดี แต่คนอื่นเขายังร้ายต่อเราอยู่ เราจะทำอย่างไร ตอบว่าทำในทางที่เราจะเสียน้อยที่สุด นั้นก็คือให้พยายามต่อสู้ด้วยความดี
ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอบทความเรื่องความพยาบาท ซึ่งเคยเขียนไว้เพื่อประกอบพิจารณาต่อไป
ความพยาบาท ได้มีท่านผู้หนึ่งตั้งปัญหาขึ้นว่า คำว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรนั้น น่าจะอย่างไร ๆ อยู่ เพราะถ้าเราไม่จองเวรตอบ ก็จะเป็นการปล่อยศัตรูให้ได้ใจ และคิดอ่านข่มเหงเบียดเบียนเราหนักขึ้น ทางที่จะระงับเวรได้จึงควรใช้วิธีอาฆาตพยาบาทเพื่อให้ศัตรูรู้ว่า เมื่อเขาข่มเหงรังแกผู้อื่นเขาจะได้รับตอบแทนอย่างสาสม เพราะฉะนั้นการอาฆาตพยาบาท จึงเป็นเครื่องทำให้ศัตรูคิดหน้าคิดหลัง ไม่รังแกใครง่าย ๆ
ปัญหาเรื่องนี้นับว่าน่าพิจารณามาก เพราะเกี่ยวกับการตัดสินใจในการปฏิบัติตนให้เหมาะแก่เหตุการณ์ ซึ่งทุกคนอาจประสบได้ในวันใดวันหนึ่ง
คำว่า เวรระงับด้วยการไม่จองเวรนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามีทางพิจารณาได้เป็น 2 ประการ คือพิจารณาตามพยัญชนะ หรือเท่าที่ปรากฏเป็นถ้อยคำอย่างหนึ่ง พิจารณาตามความหมายชั้นในซึ่งเป็นเนื้อหาของพระพุทธศาสนาแท้ ๆ อีกอย่างหนึ่ง
ประการที่1 เวรจะระงับด้วยการไม่จองเวรหรือด้วยความพยาบาทกันแน่ ถ้ามองกันในแง่ศีลธรรมและความสงบแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่เราจะเห็นได้ว่า เวรนั้นระงับด้วยการไม่จองเวรแน่นอน เราอาจถูกคนพูดเสียดสีหรือด่าว่าให้เจ็บใจ เราอาจถูกคนพูดดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ถ้าเรามีความอดกลั่นพอ ไม่ตกเป็นทาสของความโกรธและความวู่วามแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็จะผ่านหายไปด้วยการทำเป็นไม่รู้เท่าทัน หรือทำเป็นไม่ได้ยินของเรา มองในแง่เสียเราอาจเสียหายบ้าง ในการถูกเขาว่าข้างเดียว แต่เป็นการเสียน้อยเพื่อแลกกับการไม่ต้องเสียมาก เพราะถ้าเราไม่อดทนปล่อยให้เกิดการประหัตประหารกันขึ้น เราจะต้องเสียมากแน่นอน คนที่ไม่ยอมเสียน้อยนั้น ได้เสียมากถึงขนาดเสียอวัยวะกลายเป็นคนพิการ หรืออย่างแรงถึงกับเสียชีวิตไปก็มี เราจะเห็นได้ว่าบุคคลบางคนดูจะเหมือนจะมีเรื่องกังวลอยู่แต่การแก้เผ็ดแก้แค้น หรือพูดจาโต้ตอบกับคนนั้นคนนี้อยู่เนืองนิตย์ ใครพูดจาแหลมมาเป็นต้องถูกโต้กลับไปอย่างสมใจ ถ้านึกไม่ออกในขณะนั้น ก็ต้องไตร่ตรองหาคำพูดที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บใจให้จงได้ บางครั้งถึงกับนอนไม่หลับ มีเรื่องเล่าว่าเคนแจวเรือไปได้ 2 คุ้งน้ำแล้ว เพิ่งนึกคำโต้ตอบได้ อุตส่าห์แจงเรือกลับมาตอบเขาอีกคำสองคำแล้วจึงจากไป ลองนึกดูว่าก็ได้ว่าบุคคลที่ทำดังนี้จะมีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อใจเต็มไปด้วยเรื่องโกรธเคืองขุ่นแค้นคนนั้นคนนี้ คอยแต่จะต่อความยาวสาวความยืดตลอดเวลา เมื่อเทียบดูบุคคลผู้พร้อมที่จะให้อภัยคนอื่น ผู้เกินบ้าง เลยบ้าง ก็ไม่ถือสาหาความ และบางทีก็อาจคิดสนุก ๆ ไปจนว่า การที่ทนให้คนอื่นเขาเสียดสีหรือว่ากล่าวเอาบ้าง ก็เป็นการช่วยให้เขามีความสุขได้อย่างหนึ่ง ได้ชื่อว่าทำประโยชน์แก่เขาโดยทางอ้อม จะว่าเป็นการถูกด่าเปล่า ๆ ก็ไม่เชิง เป็นการเสียสละเพื่อความสุขของคนที่ชอบด่าอยู่บ้างเหมือนกัน และถ้าคิดเทียบเคียงไปว่า คนขนาดเราก็ไม่ใช่วิเศษมาแต่ไหน จะถูกเสียดสีว่ากล่าวบ้างไม่ได้เทียวหรือ ก็คนขนาดประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจ ยังถูกด่ากันโครม ๆ แล้วเราเป็นอะไรมาจะถูกกระทบกระเทือนบ้างไม่ได้
แม้ในคดีโลก กฎหมายบ้านเมืองก็ไม่สนับสนุนความพยาบาทอาฆาต คนที่ลุอำนาจแก่โทสะประทุษร้ายร่างกายหรือชกต่อยตีรันกันกฎหมายก็ถือว่าเป็นคู่วิวาทมีตัวบทลงโทษด้วยกัน ทั้งคู่ไม่ได้ยกเว้นให้เอาความพยาบาทขึ้นมาแก้ตัวเลย จะยอมให้ แก้ตัวก็ต่อเมื่อเป็นการต่อสู้ป้องกันตัวเท่านั้น ยิ่งในการฆ่าคนตายยิ่งเห็นได้ชัดว่า กฎหมายลักษณะอาญาเก่าลงโทษไว้สถานหนักแก่ผู้ฆ่าคนด้วย “ความพยาบาทมาดหมาย” ด้วยประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกัน ส่วนประมวลกฎหมายอาญาที่ออกใหม่ พ.ศ. 2499 กล่าวว่าผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยไตรตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษประหารชีวิตอันแสดงว่าความพยาบาทหาได้ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ศัตรูของเราเท่านั้นไม่ แต่ได้กลับมาเป็นอาวุธประหัตประหารเจ้าของความพยาบาทนั้นเองด้วย
เมื่อคดีโลกไม่สนับสนุนความพยาบาทแล้ว คดีธรรมจะสนับสนุนได้อย่างไร เพราะเหตุนี้ผู้พยาบาทบรรเทาความอาฆาตพยาบาท จึงเท่ากับเป็นผู้หัดเสียน้อย จะได้ไม่ต้องเสียมาก และประสบความทุกข์ความเดือดร้อนอันเกิดจากกรรมที่ตนก่อขึ้นนั้น แม้จะไม่กล่าวถึงคนที่เสียชีวิต เพราะความพยาบาทของตนชักนำ เราก็จะเห็นตัวอย่างอื่นอีก เช่น คนผู้อยู่ในคุกตะราง ต้องจองจำทำโทษเป็นสิบ ๆ ปี หรือตลอดชีวิต เพราะทนต่อความพยาบาทอันเกิดขึ้นประเดี๋ยวเดียวไม่ได้ จึงต้องไปทนอยู่ในที่คุมขังอันร้ายแรงยิ่งกว่าการทนประเดี๋ยวเดียวอย่างเปรียบกันไม่ได้
ประการที่ 2 ที่ว่าเราอาจพิจารณาปัญหานี้ตามความหมายชั้นใน ซึ่งเป็นเนื้อหาของพระพุทธศาสนานั้น คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ไปคอยตัดเวรหรือระงับเวรเอาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ท่านสอนให้เรารู้จักระงับตั้งแต่ยังไม่มีเรื่อง หรือให้หาทางตัดไม่ให้เกิดเรื่องทีเดียวนั้น ก็คือสอนให้รู้จักวางตัวให้ดี ให้คนอื่นแทนที่จะคิดด่าว่าเสียดสีหรือข่มเหงรังแกเรา แต่ให้เขากลับมาเคารพนับถือรักใคร่ เพราะคุณงามความดีของเรา เช่น ท่านสอนให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจาน รู้จักช่วยเจรจาอ่อนหวานไพเราะ รู้จักช่วยขวนขวายทำประโยชน์แก่คนอื่นไม่เห็นแก่ตนถ่ายเดียว และรู้จักวางตัวให้เหมาะสมเสมอต้นเสมอปลาย ไม่กลับ ๆ กลอก ถ้าเราทำดีต่อเขาด้วยน้ำใสใจจริงเช่นนี้ก็เป็นการตัดมิให้เขาข่มเหงรังแกเรา หรือมุ่งร้ายเสียดสีด่าว่าเรา ซึ่งเป็นการระงับเวรได้อย่างแยบคายที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความพยาบาทอาฆาตเลย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะต้องตัดสินใจในการปฏิบัติตนให้เหมาะแก่เหตุการณ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าพระพุทธภาษิตที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรอันมีความหมายในทางให้บรรเทาความพยาบาทอาฆาต และมีความหมายในทางให้รู้จักทำตนให้เป็นที่รักใคร่ของคนทั่ว ๆ ไปนั้น ยังคงเป็นภาษิตที่ก่อให้เกิดความสงบความสดชื่น และความร่มเย็นเป็นสุขแก่มนุษย์ทุกกาลสมัย
ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องความพยาบาทเท่านั้นที่พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะด้วยความดี แม้ความไม่ดีอื่น ๆ จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ก็ควรเอาชนะด้วยความดีทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องสอนให้คนมีใจสูงไม่ปล่อยตัวไปตามอำนาจฝ่ายต่ำ