มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะ ไม่อาจจะดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวคนเดียวได้ จากสังคมเล็กๆกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่และกลายเป็นสังคมโลกในที่สุด สิ่งที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้มีปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้สังคมสงบสุขได้นั่นคือเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี คนในสังคมก็จะอยู่ร่วมอย่างมีความสุข ความเป็นปัจเจกบุคคลและความเป็นสังคมถูกเชื่อมโยงด้วยความเป็นอยู่ พระพุทธศาสนามีคำสอนที่ไม่มองข้ามเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องของตนเอง ทั้งปัจเจกและสังคมจะต้องอิงอาศัยกันและกัน ในเรื่องนี้อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพได้เขียนไว้ในหนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา ขอเชิญศึกษาได้ตามสมควร
บทที่ 7
ไม่มองข้ามเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องตนเอง
โดย....อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้แก่ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ สอนให้แก้ความชั่วด้วยดี และสอนให้แก้ที่ตัวเองก่อนโดยไม่คอยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้ว เราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิต ก็ให้หัดแผ่เมตตาในตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น”
เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านแยกพิจารณาหัวข้อเรื่องนี้เป็นประเด็น ๆ ไป จะขอแยกเนื้อความในบทนี้เป็น 3 ประเด็น คือ :-
1. เรื่องคำสอนที่ไม่มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ
2. เรื่องแก้ความชั่วด้วยความดี
3. เรื่องไม่มองข้ามตนเอง ในการแก้ปัญหาศีลธรรม
ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่าในบทนี้ทำไมจึงต้องมีประเด็นหลายประเด็นนักน่าจะบทละประเด็นก็จะสะดวกแก่การจำและพิจารณา ขอเรียนว่าบทนี้ทั้งหมดอาจกำจัดความให้เหลือประเด็นเดียวก็ได้ คือ พระพุทธศาสนามีคุณลักษณะพิเศษในการเสนอหลักส่งเสริมศีลธรรมไว้อย่างดียิ่ง ถ้าพิจารณาเพียงประเด็นเดียวนี้ ข้อที่แยกไว้ข้างต้นก็ถือได้ว่าเป็นประเด็นปลีกย่อยในประเด็นใหญ่ อันที่จริงผู้เขียนไม่ประสงค์จะแสดงคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาให้มากมายหลายสิบข้อ จนยากแก่การกำหนดจดจำ อันไหนพอจะรวมเข้าประเภทเดียวกันได้ภายใต้หัวข้อใหญ่ ก็พยายามรวมไว้เป็นข้อเดียวกัน ในหนังสือเล่มนี้ที่ตั้งไว้ 12 หัวข้อก็คิดว่าย่นย่อเหลือเกิน แต่แม้เช่นนั้น ถ้าท่านผู้อ่านจะจำได้เยงไม่กี่ข้อก็เป็นที่พอใจแล้ว ข้อสำคัญเมื่อนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว อย่าให้ถึงกับอธิบายอะไรในเรื่องคุณความดีแห่งศาสนานี้ไม่ได้เอาเสียเลย
1. เรื่องคำสอนที่ไม่มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาที่สำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์ข้อหนึ่ง ในข้อที่สำคัญทั้งหลายก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ว่า ทำอย่างไรจะมีที่อยู่ มีอาหารรับประทาน หรือมีของกลาง คือ เงินไว้จับจ่ายใช้สอยบำบัดความต้องการต่าง ๆ
ถ้าท่านอ่านตำราเศรษฐกิจของฝรั่งหลาย ๆ เล่มจะรู้สึกว่าต่างยืนยันตรงกันข้อหนึ่ง ก็คือ จุดประสงค์ของเศรษฐกิจนั้น ได้แก่ การพยายามบำบัดหรือสนองความต้องการของมนุษย์ (To try to satisfy human wants)
พระพุทธศาสนาได้เสนอหลักทางศีลธรรมที่เนื่องด้วยหลักเศรษฐกิจนี้เป็น 2 ทาง คือ ชั้นต่ำ หลักสนอง กับชั้นสูง หลักบำบัด หลักสนอง หมายถึงการสอนให้ตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ในทางเศรษฐกิจ พยายามยกฐานะของตนให้สูงขึ้นด้วยความขยันหมั่นเพียร และวิธีการอื่น ๆ ส่วนหลักบำบัดนั้นหมายถึงการสอนให้รู้จักบรรเทาความต้องการชนิดรุนแรงที่กลายเป็นความทะยานอยาก อันก่อความทุกข์ให้ คือ ถ้าจะมัวแต่หาทางสนองความอยากอยู่อย่างเดียว อย่างไรก็ไม่รู้จักพอท่านจึงเปรียบความอยากเสมอด้วยไฟ ไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อ หรือแม่น้ำไม่รู้จักเต็ม แม้เราจะเทน้ำลงไปสักเท่าไรก็ตาม เพราะฉะนั้น จึงต้องมีหลักบำบัด หรือบรรเทาความทะยานอยากให้น้อยลงโดยลำดับ อันเป็นทางแก้ทุกข์ได้
คำสอนหลักเศรษฐกิจขั้นต่ำ
หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เห็นได้ว่าเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจส่วนบุคคลและครอบครัว โดยทั่วไป คือ:-
1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน) อันว่าด้วยการสอนให้ตั้งตัวได้ทางเศรษฐกิจ 4 ประการ คือ
(1) ความขยันหมั่นเพียรแสวงหาทรัพย์
(2) การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ หรือรู้จักเก็บออม
(3) การคบเพื่อนที่ดีงาม
(4) การใช้จ่ายพอเหมาะสมแก่ฐานของตน
(พระไตรปิฏก เล่ม 23 หน้า 294)
2. การเว้นอบายมุข (เหตุให้เสื่อมทรัพย์) 4 ประการ คือ :-
(1) ความเป็นนักเลงหญิง
(2) ความเป็นนักเลงสุรา
(3) ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
(4) ความคบคนชั่วเป็นมิตร
(พระไตรปิฏก เล่ม 23 หน้า 296)
ข้อสังเกตสำหรับอบายสุขที่ควรเว้นทั้ง 4 ข้อนี้ ในที่ไหนมีคำว่านักเลง หมายถึงประกอบกรรมนั้นบ่อย ๆ เป็นอาจิณ จนกลายเป็นนักเลงในทางนั้น ๆ
3. สุขของผู้ครองเรือน 4 อย่าง คือ :-
(1) สุขเกิดจากการมีทรัพย์ (จะมีได้ก็ต้องทำมาหากิน)
(2) สุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์ใช้สอย
(3) สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
(4) สุขเกิดจากการประกอบการงานที่ไม่มีโทษ
(พระไตรปิฏก เล่ม 21 หน้า 90)
ในข้อนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญในทางเศรษฐกิจว่า ทำให้เกิดความสุข แต่ก็ต้องเป็นเศรษฐกิจในทางที่ไม่มีโทษ
4. สกุลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่ไม่ได้นาน เพราะเหตุ 4 ประการ คือ :-
(1) ของหายไม่หา
(2) ของชำรุด ไม่ซ่อมแซม
(3) ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่าย
(4) มอบความเป็นใหญ่ในครอบครัวให้แก่หญิง หรือชายผู้ทุศีล คือ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม
หลักนี้แสดงว่าตระกูลอันมั่งคั่งสักเพียงไรก็ตาม ถ้าขาดการรู้หลักเศรษฐกิจและศีลธรรมอันพึงปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ก็จะถึงความพินาศไปในที่สุด
ในที่นี้ผู้เขียนได้เทียบให้ดูว่า หลักเรื่องประโยชน์ปัจจุบันของพระพุทธศาสนา ข้อแรกคือความขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพให้เกิดทรัพย์นั้น ตรงกับหลักเศรษฐกิจข้อแรก คือ Production (ผลิตกรรม) อย่างนัดกันไว้ ทั้ง ๆ ที่วิชาเศรษฐกิจเกิดภายหลังพระพุทธศาสนานับจำนวนพันปี
ส่วนข้อ 2 คือ การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ก็ตรงกับหลักการออมทรัพย์ (Saving) ข้อ 3 คือการรู้จักคบเพื่อนที่ดีงาม ก็เทียบกันได้กับการดำเนินงานในรูปบริษัท หรือสหกรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องเลือกสมาชิกที่ดี แต่โดยปกติแม้ไม่ดำเนินงานในรูปบริษัทหรือสหกรณ์เพียงการครองชีวิตเฉพาะตัว มิตรสหายก็เป็นส่วนสำคัญอยู่มิใช้น้อย ส่วนข้อสุดท้าย คือการใช้จ่ายพอเหมาะสมแก่ฐานะของตนนั้น ในภาษาทางเศรษฐกิจใช้คำว่า Household Budget ซึ่งแปลว่างบประมาณประจำบ้านบ้าง ในส่วนกว้างขวางถึงประเทศชาติ เรียกว่า The Nation’s Economic Budget (งบประมาณเศรษฐกิจแห่งชาติ) บ้าง รวมความแล้วก็เพื่อควบคุมรายจ่ายกับรายรับ ให้สมดุลกัน อันตรงกับศัพท์ทางพระพุทธศาสนาว่าสมชีวิตาในทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน) นั่นเอง
ส่วนหลักคำสอนข้ออื่น ๆ เช่นให้เว้นทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ (อบายมุข) ต่าง ๆ การรู้ว่าความสุขของผู้ครองเรือนมีอะไรบ้าง การจะทำให้สกุลวงศ์ตั้งอยู่ได้นานยั่งยืนจะต้องทำอย่างไรบ้าง อันเป็นเรื่องของการเศรษฐกิจควบคู่กับศีลธรรมนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้มองเห็นแล้วว่าศีลธรรมจะดีได้โดยยาก ถ้าเศรษฐกิจส่วนบุคคลไม่ดี ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนเน้นหนักให้ตั้งตัวให้ได้ในทางเศรษฐกิจ
นอกจากนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำกูฏทันตพราหมณ์ผู้ไปทูลถามปัญหาเรื่องการบูชายัญ พระองค์กลับเตือนพราหมณ์ผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านพราหมณ์อันใหญ่เท่ากับเมืองๆ หนึ่ง ให้จัดปัญหาทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองให้ดีก่อน วิธีปราบโจรผู้ร้ายไม่ใช่ปราบด้วยการฆ่า เพราะจะมีตัวตายตัวแทนอยู่เสมอ แต่ถ้าจัดการเศรษฐกิจให้ดี ให้ทุกคนมีงานทำตามความเหมาะสมแก่ความรู้ความสามารถของตน มีการช่วยเหลือชาวนา พ่อค้าและข้าราชการให้เจริญในหน้าที่และอาชีพของตน บ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข (ดูพระไตรปิฏก เม 9 หน้า 162 และดูข้อความที่ถอดออกเป็นภาษาไทยแล้วเฉพาะเรื่องนี้ในหนังสือของผู้เขียนชื่อ ชุมนุมบันทึกเบ็ดเตล็ดของ ส.ช. หน้า 134)
จากหลักฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เกี่ยวกับเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับศีลธรรมนี้ ย่อมเป็นเครื่องตอบปัญหาได้ดีต่อคำใส่ความของคนบางคนที่ว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้ขยันไว้เป็นข้อแรก ในเรื่องประโยชน์ปัจจุบันอยู่แล้ว
ยิ่งกว่านั้นในบางกรณีพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงคุณธรรมในการประกอบ อาชีพบางอาชีพ เช่น การค้าขายว่าถ้าใครประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ประการแล้วก็จะเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างดี คือ :-
1. เป็นผู้มีตาดี หมายถึง รอบรู้ในการค้าขายสิ้นค้า รู้ทุนรู้กำไร
2. เป็นผู้มีความเพียร หมายถึง เพียรพิจารณากาลเทศะ รู้ทะเลซื้อทำเลขาย ว่าซื้อที่ไหนจะได้ถูก ขายที่ไหนจะได้ราคา แล้วไม่ทอดธุระ
3. รู้จักชอบพอกับคนมาก หมายถึง มีมิตรมีสหายมาก รู้จักทำตนให้เป็นที่นิยม ไว้เนื้อเชื่อใจของคนทั้งหลาย
หลักฐานเรื่องนี้ดูพระไตรปิฎก เล่ม 20 หน้า 146 ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงรู้สึกบ้างไม่มาก็น้อย ในความรอบคอบละเอียดลออแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่ยกมากล่าวไว้หลายเรื่องด้วยกันในที่นี้