ในประเทศไทยไม่มีความเชื่อเรื่องวรรณะ ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิพัฒนาตัวเองและอาจจะได้รับตำแหน่งทางการบริหารสูงสุดของประเทศได้ ถ้ามีความสามารถเพียงพอ แต่ในประเทศอินเดียความเชื่อเรื่องวรรณะหรือระบบชนชั้นในสังคมนั้นมีมาแต่โบราณกาล คนในแต่ละวรรณะถูกจำกัดด้วยกฎข้อบังคับ ความเชื่อหรือแม้แต่คำสอนที่มาจากศาสนาเอง จนกระทั่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นได้ยกเลิกระบบวรรณะที่คนในยุคนั้นชื่อถือ พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ล้มล้างระบบวรรณะโดยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีศักยภาพสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้เท่ากัน แต่ปัจจุบันระบบวรรณะดูเหมือนจะฝังแน่นในอินเดีย คนอินเดียยังคงมีความเชื่อเรื่องวรรณะมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็เริ่มจะบรรเทาเบาบางลงบ้างแล้ว เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องวรรณะ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ อดีตเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำแหน่งเลขาธิการฯปัจจุบันก็คืออธิการบดี ได้เขียนไว้ในคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาว่าด้วยการเลิกแบ่งชั้นวรรณะ ขอเชิญอ่านและวิเคราะห์ตามสบาย
บทที่ 4
คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา:การเลิกแบ่งชั้นวรรณะ
โดย....อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุชาติและวงศ์สกุล โดยไม่ตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลต่ำสูง ยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้าม คือ ล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้จะเกิดในสกุลสูง กับได้ว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ
ก่อนที่จะกล่าวถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สอนให้เลิกชั้นวรรณะ ผู้เขียนเห็นเป็นการสมควรนำเรื่องต่าง ๆ ที่ปรากฏในวรรณคดีทางพระพุทธศาสนามาเล่าไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาว่า ในอินเดียโบราณการถือชั้นวรรณะได้เป็นไปอย่างรุนแรงเพียงไร
เรื่องแรก เป็นเรื่องของคนชั้นจัณฑาล ที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามและถูกทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะเหตุไปปรากฏตัวให้คนชั้นสูงเห็น แต่กลับหาทางเอาชนะครอบครัวนั้นด้วยวิธีบ่งหนามด้วยหนาม กล่าวคือ
ชายคนหนึ่งมีนามว่า มาตังคะ เป็นคนมีรูปร่างน่าเกลียด อาศัยอยู่ในกระท่อมที่ใช้หนังสัตว์มามุงบังกันลมแดดนอกพระนคร ชายคนนั้นเกิดในตระกูลจัณฑาล คือ ตระกูลที่พ่อแม่หรือบรรพบุรุษเป็นคนต่างวรรณะกัน เช่น ในวรรณะทั้ง 4 คือ กษัตริย์ (นักรบ) พราหมณ์ (นักพิธีกรรม) แพศย์ (พ่อค้า) และศูทร (กรรมกร) ผู้เกิดในวรรณะใดวรรณะหนึ่งแล้วไปสมสู่อยู่กินกับคนในวรรณะอื่นที่ต่ำกว่ากษัตริย์หรือพราหมณ์ เกิดบุตรธิดาออกมาก็ถือกันว่าเป็นคนจัณฑาล เป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของคนทั้งหลาย และขนาดถือกันว่าเป็นคนเสนียดจัญไรเพราะเหตุที่เกิดในสกุลจัณฑาลอย่างนั้น นายมาตังคะจึงประกอบอาชีพอะไรไม่ได้นอกจากขอทาน
วันหนึ่งมีการประกาศนักขัตฤกษ์ซึ่งจะมีการรื่นเริงดื่มสุรากัน คนที่มั่งมีก็จะเตรียมอาหารและสุราบรรทุกเกวียนไปเลี้ยงกันอย่างรื่นเริงธิดาเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อ นางทิฏฐมังคลิกา ซึ่งมีวรรณะเป็นพราหมณ์มหาศาล (คำว่าพราหมณ์หมาศาล หมายความว่า พราหมณ์ที่เป็นเศรษฐี) เป็นคนมีรูปร่างงดงามมาก อายุเพิ่งเจริญวัยได้ประมาณ 15 หรือ 16 ปี สั่งให้เตรียมเกวียนบรรทุกของเคี้ยวของบริโภคเพื่อจะไปในงานรื่นเริง ตนเองขึ้นสู่ยานเทียมด้วยม้าขาวล้วน ออกเดินทางแวดล้อมด้วยบริวารไปในพระนคร มีคนคอยขับไล่คนชั้นต่ำไม่ให้ใกล้กรายไปในบริเวณนั้น
นายมาตังคะ ซึ่งเป็นคนจัณฑาลก็ถือไม้ที่มีลักษณะคล้ายเกราะสำหรับเคาะให้มีเสียงดัง เมื่อเข้าไปในกลุ่มคนซึ่งใช้ได้ผลถึง 2 ประการ คือเป็นการประกาศให้คนทั้งหลายรู้ว่ากำลังขอทาน ใครมีเมตตาจิตก็จะได้ให้ทาน และในขณะเดียวกันก็เป็นการบอกเล่าไปในตัวว่า คนจัณฑาลมาแล้ว ผู้ที่ถือเคร่ง ที่ไม่เข้าใกล้คนจัณฑาลก็จะได้ออกห่าง หรือไม่ตำหนิว่าไม่บอกกล่าว เดินเข้าไปใกล้เขาทำไม ระเบียบสังคมของคนในสมัยก่อนเป็นเช่นนั้น คือ คนชั้นต่ำจะต้องพยายามหลบหลีกไม่เข้าไปใกล้คนชั้นสูงและไม่ไปหยิบจับอะไรของคนอื่น
ขณะที่นายมาตังคะกำลังเคาะโปก ๆ เดินไปอยู่ก็พอดีขบวนเกวียนของธิดาเศรษฐีผ่านมา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ขับไล่คนชั้นต่ำ เผอิญนางเหลือบไปเห็นนายมาตังคะเข้า ก็ถามว่านั่นใคร เมื่อทราบว่าเป็นคนจัณฑาล ทั้งรูปร่างก็น่าเกลียดด้วย ประกอบกับนางเป็นคนถือโชคลางในเรื่องเช่นนี้ คือถือว่าเมื่อเห็นคนเสนียดจัญไรแล้วจะไม่มีความเจริญ จึงสั่งให้ขบวนเกวียนหันกลับไม่ไปในงานนักขัตฤกษ์ตามที่ตั้งใจไว้ พร้อมทั้งได้เรียกน้ำหอมมาล้างตาแก้เสนียดทันทีการกลับของธิดาเศรษฐีเป็นเหตุให้คนเป็นอันมากพลาดหวัง เพราะตนจะได้ดื่มเหล้ารับประทานอาหารมีรสโดยไม่ต้องเสียเงินทอง เมื่อเจ้ามือกลับเสียเช่นนี้ก็เท่ากับนักขัตฤกษ์ไม่มีความหมายอะไรสำหรับพวกตนเลย จึงพากันโกรธแค้นนายมาตังคะ ช่วยกันทำร้ายนายมาตังคะด้วยใช้ก้อนดินขว้างจนสลบไป และเข้าใจว่าตายจึงช่วยกันหามไปทิ้งที่กองขยะเอาขยะกลบไว้
นายมาตังคะฟื้นจากสลบลุกขึ้นสะบัดแขนขาให้หายงง และนึกทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะได้ว่าตนถูกประชาทัณฑ์เพราะไปปรากฏกายให้ธิดาเศรษฐีซึ่งเป็นคนสกุลพราหมณ์มองเห็นหน้า แต่นายมาตังคะเป็นคนเจ้าเหตุเจ้าผลและเป็นตัวของตัวเองคนหนึ่ง จึงคิดว่า จะจัดการเรื่องนี้ให้ได้และให้สาสมกับการที่ตนถูกข่มเหงโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอด้วย จึงไปเที่ยวถามคนทั้งหลายเป็นการแสร้งถามเพื่อให้เกิดเหตุผลขึ้นในหมู่ประชาชนว่า ประตูเมืองนี้ทำให้สำหรับคนในตระกูลพราหมณ์เท่านั้น หรือว่าทำไว้สำหรับคนทั่วไป คำตอบจากคนทั้งหลายก็เป็นอันเดียวกันว่าทำไว้สำหรับคนทั่วไป
พอได้คำตอบอย่างนี้ นายมาตังคะก็ประกาศทันทีว่า ข้าพเจ้ามาขอทานทางประตูเมืองที่สร้างไว้สำหรับคนทุกคนผ่านเข้าออกได้ แต่ข้าพเจ้าก็ถูกทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะเหตุที่ธิดาเศรษฐีเห็นข้าพเจ้าแล้วรังเกียจ ขอมหาชนทั้งหลายจงทราบตั้งแต่บัดนี้ไปว่า ข้าพเจ้าจะไปนอนขวางประตูบ้านเศรษฐีผู้เป็นพราหมณ์บิดาของนางผู้นั้น ถ้าไม่ได้ธิดาเศรษฐีมาเป็นภริยา ข้าพเจ้าจะไม่ลุกขึ้น
การที่นายมาตังคะตัดสินใจทำเช่นนี้ ก็เพราะตามประเพณีมีอยู่ว่า ถ้าคนจัณฑาลมานอนตายที่ประตูเรือนของใคร โดยจงใจอดข้าวอดน้ำให้ตายแล้ว คนที่อยู่ในบ้านเรือนบริเวณนั้นโดยรอบนับไปจากบ้านนั้น 7 บ้าน จะต้องเป็นคนจัณฑาลไปด้วยหมด เมื่อนายมาตังคะใช้วิธีนี้ก็ทำให้คนในบริเวณนั้นทุกทิศที่นับไปได้ 7 บ้านจากบ้านกลาง คือบ้านของเศรษฐีพลอยเดือดร้อนไปหมด โดยเฉพาะที่บ้านเศรษฐีเองซึ่งเป็นต้นเรื่องเดือดร้อนมากที่สุด
ในที่สุดเศรษฐีก็ตกลงใจสั่งคนให้นำทรัพย์ไปให้เป็นสินน้ำใจแก่นายมาตังคะกากณึกหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมาก และสั่งให้บอกว่า จะให้น้ำมันทาตัวแล้วขอให้ไปเสียธรรมเนียมใช้น้ำมันทาเท้าทาตัวนั้น ผู้เขียนไม่เคยเห็นเองในอินเดีย แต่ในวรรณคดีที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชาวอินเดียโบราณ เช่นเมื่อแขกไปใครมาถ้าเป็นการเดินทางมาจากที่ไกล เจ้าบ้านมักเอาน้ำมันมาต้อนรับให้ใช้ทาเท้าทาตัว ไม่เชิงว่าใช้เป็นเครื่องสำอาง แต่อาจเป็นเครื่องช่วยแก้เมื่อยหรือเพื่อสบายเนื้อสบายตัวของคนที่เคยใช้ก็เป็นได้ แม้ภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่อเดินทางไกลก็ใช้เหมือนกัน
นายมาตังคะปฏิเสธยืนคำเดียวว่า ต้องได้ธิดาเศรษฐีจึงจะยอมไป พราหมณ์ผู้เศรษฐีสั่งเพิ่มทรัพย์ให้เป็นสองกากณึกจนถึง 1 มาสก (ประมาณ 1 เฟื้อง) เพิ่มขึ้นเป็น 1 บาท (5 มาสก) แล้วเพิ่มให้เป็นกึ่งกหาปณะ (2 บาท) แล้วเพิ่มเป็น 1 กหาปณะ (4 บาท) จนถึง 100 กหาปณะ เป็นอันว่าราตรีได้ผ่านไปจนสว่าง นายมาตังคะก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนใจ รุ่งเช้าภริยาเศรษฐีมาอ้อนวอนขอโทษแล้วเพิ่มเงินให้เป็นพันกหาปณะ (4 พันบาท) ก็ไม่ยอม เพิ่มขึ้นไปถึงแสนกหาปณะก็ยังไม่ยอม นายมาตังคะยังคงนอนนิ่งอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งล่วงไปถึง 4 วัน คนก็มาล้อมดูและโจษจันกันต่าง ๆ กลายเป็นข่าวใหญ่และเป็นเรื่องเป็นเรื่องตายของคนหลายครอบครัวที่ใกล้เคียงบ้านเศรษฐีผู้นั้น เพราะถ้านายมาตังคะตายไปเมื่อไรคนในริเวณนั้นก็จะกลายเป็นคนจัณฑาลไปหมด ซึ่งถือกันว่าเป็นการสูญเสียที่สำคัญที่สุดในชีวิต
บรรดาคนที่ไปรุมล้อมดูนั้น บางคนก็เอาใจช่วยนายมาตังคะก้มลงกระซิบที่หูว่า เขาอดทนกันตั้งหลายปียังสำเร็จสิ่งประสงค์ได้ แกอุตส่าห์ทนไปอีก 2 - 3 วันก็คงจะได้ธิดาเศรษฐีครั้นล่วงมา 7 วัน ประชาชนที่อยู่ในบ้านใกล้เคียงซึ่งล้วนเป็นคนเกิดในสกุลพราหมณ์ ก็พากันไปบังคับเศรษฐีให้ยอมมอบธิดาให้แก่นายมาตังคะ เพราะการดื้อดึงของเศรษฐีจะพลอยให้พวกตนถึงความวิบัติไปด้วยเศรษฐีไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จำเป็นต้องมอบธิดาให้พร้อมทั้งมอบข้าวของให้ออกจากบ้านไปเป็นอันว่า นายมาตังคะ คนจัณฑาลได้ชัยชนะคนชั้นพราหมณ์และได้ธิดาเศรษฐีไปเป็นภริยาเรื่องนี้เก็บจากอรรถกถามาตังคชาดก เล่ม 7 หน้า 1 เป็นต้นไป กับอรรถกถาอัคคิภารทวาชสูตร ภาค 1 หน้า 234 ซึ่งเล่าเรื่องเดียวกัน แต่ข้อปลีกย่อยต่างกันบ้างเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าคงทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพความวุ่นวาย เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะในครั้งนั้นได้ดี
เรื่องที่ 2 เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าเอง คือวันหนึ่งในฤดูหนาวหิมะตก พระพุทธเจ้าทรงห่มผ้าคลุมพระเศียรนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง พราหมณ์คนหนึ่งชื่อสุนทริกะ ภารทวาชะ เดินเข้าไปใกล้ พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงฝีเท้าจึงทรงลดผ้าคุลมพระเศียรลง พราหมณ์ถามว่า ท่านเป็นคนชาติอะไร เกิดในสกุลหรือวรรณะอะไร พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านอย่าถามถึงชาติเลย จงถามถึงความประพฤติดีกว่า”ทั้ง ๆ ที่พระองค์อาจตอบได้โดยไม่ต้องเกรงการดูหมิ่นว่า พระองค์เป็นชาติกษัตริย์ แต่เพื่อจะเตือนสติพราหมณ์ให้เห็นว่า ความประพฤติสำคัญกว่าเรื่องชาติสกุล จึงทรงตอบไปอย่างนั้นนี้จากสุนทริกสูตร พระสุตตันตปิฏก เล่ม 15 หน้า 245
เรื่องที่ 3 เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าเองเหมือนกัน มีเล่าไว้ในอัมพัฏฐสูตร มีฆนิกาย เล่ม 9 ห้า 114 แสดงถึงความเป็นผู้หยิ่งในวรรณะของมาณพคนหนึ่งชื่ออัมพัฎฐะ ไปถามพระพุทธเจ้าในเรื่องวรรณะ พระองค์ทรงอาศัยความรู้ทางประวัติศาสตร์ ตรัสตอบมาณพผู้นั้นให้เห็นว่า แต่เดิมต้นสกุลของมาณพผู้นั้นเป็นคนใช้ของเจ้าศากยะ นอกจากนั้นในข้อที่มาณพผู้นั้นถือว่า ตนเป็นคนเกิดในสกุลพราหมณ์ จึงดูหมิ่นคนที่เกิดในสกุลอื่น ๆ นั้น พระพุทธเจ้าทรงพิสูจน์ให้ฟังด้วยเหตุผลว่า ทั้งในสายมารดาหรือในสายบิดาจารีตประเพณีก็ยังถือว่ากษัตริย์สูงกว่า เช่น ขัตติยกุมารได้กับสตรีสกุลพราหมณ์มีบุตรออกมา บุตรนั้นย่อมได้ที่นั่งและได้น้ำดื่มในพวกพราหมณ์ แต่ไม่ได้อภิเษกเป็นกษัตริย์ เพราะยังไม่บริสุทธิ์ทางฝ่ายมารดา พราหมณ์กุมารได้กับสตรีสกุลกษัตริย์ มีบุตรออกมา บุตรนั้นย่อมได้ที่นั่งและได้น้ำดื่มในพวกพราหมณ์ แต่ไม่ได้อภิเษกเป็นกษัตริย์ เพราะยังไม่บริสุทธิ์ทางฝ่ายบิดา อันสรุปได้ว่าบุตรที่เกิดจากพ่อแม่ผสมวรรณะกัน ระหว่างกษัตริย์กับพราหมณ์นั้นเข้าพวกพราหมณ์ได้ แต่จะอภิเษกเป็นกษัตริย์ไม่ได้ ต้องบริสุทธิ์ในวงศ์กษัตริย์ล้วน ๆ กับอีกข้อหนึ่ง ทรงถามให้ตอบว่า พราหมณ์ที่ถูกขับไล่จากหมู่พราหมณ์ ถูกโกนศีรษะประจานแล้ว จะได้ที่นั่งและดื่มน้ำในพวกพราหมณ์ด้วยกันอีกหรือไม่ อัมพัฏฐะมาณพตอบว่าไม่ได้ จึงตรัสถามต่อไปว่า กษัตริย์ที่ถูกขับออกจากหมู่กษัตริย์ถูกโกนศีรษะประจานแล้วจะได้ที่นั่งและน้ำดื่มในพวกพราหมณ์หรือไม่ อัมพัฏฐะตอบว่าได้ ซึ่งเป็นอันยอมรับว่า โดยจารีตประเพณีกษัตริย์ไม่ถูกรังเกียจเหมือนพวกวรรณะอื่น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงเหตุผลทางวรรณะให้มาณพผู้นั้นคลายทิฏฐิมานะแล้ว จึงทรงแสดงเรื่องวิชชาคือความรู้และจรณะ คือ ความประพฤติที่จะทำให้บุคคลสูงขึ้นได้ โดยไม่ต้องเกรงข้อบกพร่องเรื่องชาติชั้นวรรณะและเป็นการเตือนไปในตัวด้วยว่า อัมพัฏฐะมาณพมีความรู้และความประพฤตินั้นแล้วหรือยัง เป็นอันว่าทรงชี้ให้มาณพนั้นสำนึกตัวว่า ครั้งแรกที่ยกตนข่มพระองค์ในเรื่องชาติชั้นวรรณะ จนกระทั่งพระองค์ทรงพิสูจน์ให้เห็นความความรู้ความประพฤติสำคัญกว่า เพราะการถือตัวของมาณพนั้น แม้จะพิสูจน์โดยจารีตประเพณี ก็ยังมีจุดอ่อนที่อาจต่ำกว่าวรรณะอื่นในบางกรณี จากข้อความในสูตรนี้ทำให้ได้สุภาษิตเป็นภาษาบาลีบทหนึ่งว่า ขตฺติโย เสฏโฐ ชเนตสฺมึ เย โคตฺตปฺปฏิสาริโน
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส.
แปลว่า ในหมู่คนที่เดือดร้อนเรื่องถือโคตร กษัตริย์นับเป็นผู้ประเสริฐสุด แต่ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติย่อมเป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์
สุภาษิตนี้แสดงว่า ตามจารีตประเพณีในการถือชั้นวรรณะ กษัตริย์ นับว่าเป็นผู้ที่มีวรรณะสูง แต่ตามหลักความจริง คนที่ประกอบด้วยความรู้ดี และความประพฤติดี ย่อมเป็นผู้สูงสุดทั้งในเทวดาและในมนุษย์ (แสดงว่า ถ้าเทวดาไม่ดี ก็สู้มนุษย์ที่ดีไม่ได้)
เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวงศ์ศากยะซึ่งเป็นญาติของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เชือดคอเอาเลือดล้างแค้นกันจริง ๆ เพราะเหตุเรื่องการดูหมิ่นกันเนื่องด้วยวรรณะมีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ครองแคว้นโกศล มีอาณาเขตการปกครองควบคุมไปถึงแคว้นกาสีและแคว้นสักกะด้วย คือ แคว้นสักกะซึ่งมีนครหลวงชื่อว่ากบิลพัสดุ์นั้นอยู่ใต้อำนาจของแคว้นโกศล แต่ตามที่ปรากฏในวรรณคดีบาลีไม่ปรากฏว่า กษัตริย์ทางกบิลพัสดุ์ต้องส่งส่วยอะไรหรือต้องถูกบีบคั้นอย่างไรบ้าง
พระเจ้าปเสนทิโกศลมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและใกล้ชิดถึงขนาดที่ไปเฝ้าในบางครั้งก็ไปจับข้อพระบาทของพระพุทธเจ้านวดเฟ้นด้วยความเคารพรักอย่างสนิทพระราชหฤทัย แต่เพื่อจะให้สนิทสนมมากกว่าเดิม จึงได้ทรงส่งทูตไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ขอเจ้าหญิงในราชวงศ์ศากยะมาอภิเษกเพื่อจะได้เป็นทองแผ่นเดียวกันยิ่งขึ้น ซึ่งตามประเพณีอินเดียโบราณการมีมเหสีหลายองค์ถือเป็นเรื่องธรรมดา
ทางฝ่ายกรุงกบิลพัสดุ์ กษัตริย์วงศ์ศากยะซึ่งมีชื่อเสียงในทางถือตัวเรื่องชาติสกุลจัด ก็มีการประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เพราะไม่ต้องการให้เจ้าหญิงในวงศ์ของตนไปร่วมสกุลกับพระเจ้าปเสนทิโกศล โดยพยายามหาทางออกอย่างดีที่สุด มีปัญหาว่าถ้าไม่ยอมร่วมสกุลกับคนอื่นแล้วเจ้าศากยะจะทำอย่างไร ตอบว่า เจ้าศากยะก็แต่งงานกันในระหว่างญาติของตน โดยส่วนใหญ่ นอกจากจะผสมกันในวงศ์ศากยะด้วยกันแล้ว ยังมีอีกราชวงศ์หนึ่งที่แต่งงานสับกันไปสับกันมากับราชวงศ์ศากยะ คือวงศ์โกลิยะ เจ้าศากยะไม่รังเกียจวงศ์นี้ เพราะต้นวงศ์เป็นเชฏฐภคินีของพี่น้อง 4คู่ที่มาตั้งวงศ์อยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ คือพี่น้องสี่คู่แต่งงานกันเอง ส่วนพี่ใหญ่เป็นหญิงได้แต่งงานกับกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง ณ กรุงเทวทหะตั้งโกลิยวงศ์สืบมา
ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มหานามศากยะได้เสนอว่า ตนได้หญิงรับใช้เป็นภริยาคนหนึ่ง มีบุตรชื่อวาสภขัตติยา ควรจะส่งนางวาสภขัตติยาไปให้ ซึ่งจะไม่เสียงวงศ์ศากยะแต่ประการไร ที่ประชุมเห็นชอบด้วย จึงได้ส่งนางวาสภขัตติยาไปเป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล โดยบอกว่าเป็นธิดาของมหานามศากยะนางวาสภขัตติยา ได้มีโอรสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล 1 องค์ ชื่อวิฑูฑภะ เมื่อโตขึ้นได้เล่าเรียนศิลปวิทยาและได้รับสถาปนาเป็นขุนพลหรือตำแหน่งเสนาบดีของแคว้นโกศล1 ในขณะที่วิฑูฑภะรุ่นหนุ่มใคร่จะไปเยี่ยมญาติทางมารดา จึงขออนุญาตนางวาสภขัตติยาเพื่อการนี้ นางจึงลอบส่งข่าวไปกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อให้รู้ไว้ล่วงหน้า เพราะในสายตาของราชวงศ์ศากยะทางกรุงกบิลพัสดุ์นั้น วิฑูฑภะเท่ากับเป็นคนชั้นต่ำ ไม่ควรร่วมที่นั่งไม่ควรร่วมวงบริโภคอาหารด้วยทีเดียว
การประชุมอย่างเคร่งเครียดเกิดขึ้นในกรุงกบิลพัสดุ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเตรียมการรับรองวิฑูฑภะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เพื่อให้มีปัญหาเรื่องไม่สบายใจน้อยที่สุด ตกลงกันว่าถ้าจะให้เจ้านายที่มีอายุน้อยกว่าวิฑูฑภะอยู่ต้อนรับด้วยก็จะต้องไหว้วิฑูฑภะ ซึ่งเป็นการเสียเกียรติ จึงหาทางส่งเจ้านายอายุน้อยไปเสียยังเขตชนบท เหลือไว้แต่ที่สูงอายุกว่า จะได้เป็นฝ่ายรับไหว้อย่างเดียว
เมื่อคณะของวิฑูฑภะเยี่ยม วิฑูฑภะก็พบแต่คนมีอาวุโสสูงกว่าตนทั้งสิ้น จึงต้องไหว้เขาเรื่อยไป การเยี่ยมเยียนครั้งนี้คงไม่ได้ผลอะไรนัก เพราะฝ่ายต้อนรับคงชาเย็น และปั้นหน้าเข้าหา ไม่ได้ต้อนรับด้วยความจริงใจแต่ประการไร ในที่สุดวิฑูฑภะก็เดินทางกลับพอวิฑูฑภะออกเดินทาง เจ้าศากยะก็เกณฑ์บ่าวไพร่ให้เอานมสดมาล้างที่นั่งของวิฑูฑภะ เพื่อไล่เสนียดทันที พวกบ่าวไพร่ล้างไปก็ด่าไปว่าไม่ควรมาให้ตนลำบากเลย นอกจากนั้นยังด่าว่าเป็นลูกทาสีด้วยเผอิญคนของวิฑูฑภะลืมของไว้ ย้อนกลับมาเอาของคืนไป ได้เห็นได้ยินเหตุการณ์นั้นเข้า จึงนำเรื่องไปบอกวิฑูฑภะ ซึ่งได้ยังความเคียดแค้นให้เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง วิฑูฑภะถึงกับลั่นวาจาออกมาว่า ถ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อไร จะยกทัพมาฆ่าพวกศากยะให้หมด แล้วจะเชือดคอเอาเลือดล้างแผ่นกระดานที่เคยถูกล้างด้วยนมสดนั้นให้จงได้
ต่อมาเมื่อวิฑูฑภะได้รับราชสมบัติสมใจนึก ก็ยกทัพมา แต่พอพบพระพุทธเจ้าระหว่างทาง ก็ยกทัพกลับด้วยความเคารพ พระพุทธเจ้าทรงปรากฏพระองค์ระหว่างทางที่วิฑูฑภะยกทัพผ่านถึง 3 ครั้ง วิฑูฑภะก็ยกทัพกลับถึง 3 ครั้ง ในครั้งที่ 4 มิได้เสด็จมาเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของกรรมจะแก้ไขแทนกันไม่ได้ วิฑูฑภะจึงยกทัพไปรบ จับเจ้าศากยะเชือดคอ เอาเลือดในลำคอล้างแผ่นกระดานนั้นได้สมปรารถนา
ผลกระทบกระเทือนอันเนื่องมาจากข่าวเรื่องเจ้าศากยะยกธิดาซึ่งเกิดจากทาสี ให้เป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็มีอยู่บ้าง ในชั้นแรกพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบก็ทรงพระพิโรธสั่งให้ตัดเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ ที่เคยให้แก่นางวาสภขัตติยาและวิฑูฑภะ คงให้เครื่องใช้เครื่องบริโภคแบบทาสเท่านั้น
ต่อมาเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์จึงทรงชี้แจงสกุลทางบิดาสำคัญกว่าทางมารดา โดยทรงนำประวัติศาสตร์เรื่องพระเจ้ากัฏฐวาหนะผู้เป็นบุตรหญิงตัดฟืน แต่หญิงนั้นได้เป็นมเหสีของพระเจ้าพาราณสี พระเจ้ากัฏฐวาหนะก็ได้ครองราชย์ในกรุงพาราณสี เป็นพระกษัตริย์สำคัญองค์หนึ่งสืบมา พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงโปรดพระราชทานเครื่องราชูปโภคแก่นางวาสภขัตติยาและวิฑูฑภะดังเดิม และการตั้งวิฑูฑภะให้เป็นเสนาบดีก็กระทำในภายหลังเหตุการณ์นั้น
ความวุ่นวายอันเกี่ยวกับการถือชั้นวรรณะที่เกิดแก่ราชวงศ์ศากยะนี้ใกล้กับสมัยปรินิพพานมาก แสดงว่าถ้าราชวงศ์ศากยะเชื่อฟังหลักธรรมของพระพุทธเจ้าและตัดทิฐิมานะให้ลดหย่อนลงไปบ้าง ก็จะไม่ประสบความพินาศถึงปานนั้น
อนึ่ง เพื่อความชัดเจนของเรื่อง ผู้เขียนขอชี้แจงอีกเล็กน้อยว่าจากวรรณคดีทางพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าบุคคลต่างชั้นวรรณะกันนี้ มีความรู้พิเศษในเรื่องชาติชั้นวรรณะของตน ชนิดที่ปกปิดเป็นความลับสืบสกุลกันทีเดียว เช่นคนเกิดในตระกูลกษัตริย์ เมื่อตกไปอยู่ในที่ใดก็ตามถ้าจะแสดงตัวว่าเป็นกษัตริย์ บางครั้งก็ต้องใช้ความรู้ที่เรียกว่าขัตติยมายา หรือที่ใคร่จะใช้คำว่า royal etiquette คือเมื่อพูดกันในระหว่างกษัตริย์ด้วยกันก็รู้กันได้ตลอด บางครั้งปรากฏว่า คนเกิดในตระกูลจัณฑาลปลอมตัวไปเป็นพราหมณ์เล่าเรียนศิลปวิทยาร่วมกับศิษย์อื่น แล้วเผลอพูดภาษาพิเศษของคนจัณฑาลออกมา พวกเพื่อน ๆ ฟังไม่รู้เรื่องจึงสงสัย สืบสวนก็จับได้ว่าเป็นคนวรรณะต่ำปลอมตัวมา เรื่องแรกเกี่ยวกับการพิสูจน์วรรณะกษัตริย์ ปรากฏในเรื่องนางสามาวดีอรรถกถาธรรมบท ตอนมารดาพระเจ้าอุเทนสอบถามดาบสซึ่งเป็นกษัตริย์ไปออกบวช นางอยู่บนกิ่งไม้ ดาบสจะรับลงมา นางไม่ยอมให้ถูกตัว ต่อเมื่อทราบว่าเป็นกษัตริย์จึงยอมให้พาลง ส่วนเรื่องหลังที่คนจัณฑาลปลอมไปปนพวกพราหมณ์นั้น ปรากฏในอรรถกถาจิตตสัมภูตชาดก วีสตินิบาต ภาค 7 หน้า 21
หลักธรรมที่สอนให้เลิกถือชั้นวรรณะ
1. ในสุนทริกสูตร (สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 15 หน้า 246) พระพุทธเจ้าตรัสตอบสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ผู้ถามพระองค์ว่าชาติอะไร พระองค์ตรัสตอบว่าจงอย่าถามถึงชาติเลย จงถามถึงความประพฤติดีกว่า ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ในลำดับต่อไปทรงแสดงหลักธรรมและเหตุผลว่า“ไฟย่อมเกิดได้จากไม้ (ทุกชนิด) ผู้รู้แม้เกิดในตระกูลต่ำ แต่เป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้กันความชั่วด้วยความละอาย มีสัตย์ ฝึกตน ก็เป็นคนอาชาไนยได้”
2. ในสีลวีมังสชาดก (ปัญจกนิบาตชาดก สุตตันตปิฏก เล่ม 27 หน้า 175) ให้หลักธรรมเปรียบเทียบระหว่างศีล กับชาติชั้นวรรณะไว้ โดยแสดงภาษิตของพราหมณ์คนหนึ่งว่า“เราสงสัยว่า ศีล (การประพฤติกายวาจาเรียบร้อย) ประเสริฐกว่าหรือสุตะ (ความรู้ที่เกิดจากการเรียน การฟัง) ประเสริฐกว่าแล้วเราก็หายสงสัยด้วยคิดเห็นว่าศีล ประเสริฐกว่าสุตะ”“ชาติและวรรณะเป็นของเปล่า ศีลต่างหากที่เป็นของสูงสุด ถ้าไม่มีศีลแล้ว สุตะ จะไม่มีประโยชน์อะไร”“เป็นกษัตริย์ แต่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เป็นพ่อค้าแต่ไม่อาศัยธรรม คนเหล่านั้นย่อมละโลกทั้งสอง (คือ โลกสวรรค์ และโลกมนุษย์) เข้าถึงทุคติ” “กษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์, ศูทร, คนจัณฑาล” ที่ทำหน้าที่สัปเหร่อ หรือคนรับใช้ที่ล้างส้วมก็ตาม ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ย่อมเสมอกันในไตรทิพย์ (คือในเทวโลก หรือกล่าวตามหลักธรรมคนเหล่านี้ชื่อว่ามีคุณธรรมของเทวดาเสมอกัน)”“พระเวทก็ตาม ชาติสกุลก็ตาม พวกพ้องก็ตาม มิใช่เพื่อสัมปรายภพ ศีลที่บริสุทธิ์ของตนต่างหากนำความสุขในสัมปรายภพมาให้”
3. ในกัณณกัตถลสูตร (มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ สุตตันตปิฏก เล่ม 13 หน้า 517) พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า “วรรณะทั้ง 4 คือ กษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์ และศูทร ถ้ามีคุณธรรมแล้วก็ชื่อว่าเสมอกัน โดยทรงเปรียบว่าถ้าจะนำไม้สาละ ไม้มะม่วง ไม้มะเดื่อที่แห้งมาเผาไฟ ผล คือ เปลวไฟ สีของไฟและแสงไฟที่เกิดขึ้น ก็จะไม่ต่างอะไรกัน”
4. ในอัคคัญญสูตร (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สุตตันตปิฏก เล่ม 11 หน้า 87) พระพุทธเจ้าตรัสกับวาเสฏฐะและภารทวาชะพราหมณ์ ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า การที่พวกพราหมณ์ ยกย่องวรรณะของตนเท่านั้นว่าเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พวกพราหมณ์เป็นผู้บริสุทธิ์ พวกอื่นไม่บริสุทธิ์นั้น เพราะมิได้ระลึกถึงเรื่องเก่า แท้จริงที่พวกพราหมณ์ว่า พวกตนเกิดจากปากพรหม เป็นโอรสของพรหมนั้นก็ไม่จริง เพราะพราหมณ์ทุกคนก็เกิดมาจากมารดาที่เป็นพราหมณี ต้องตั้งครรภ์ คลอดจากช่องคลอด ต้องดื่มนมไม่มีอะไรเป็นพิเศษกว่าคนประเภทอื่นทุกคนไม่ว่าเกิดในวรรณะไหน ก็อาจประกอบทางแห่งอกุศล คือ ทุจริตกายวาจาได้ด้วยกัน อาจงดเว้นทางแห่งอกุศลมีสุจริตกายวาจาใจได้ด้วยกันครั้นแล้วทรงแสดงเรื่องเก่า ที่เป็นเหตุแบ่งชั้นวรรณะว่า ในชั้นแรกเป็นการแบ่งตามหน้าที่เข้าทำนอง Division of labour ในทางเศรษฐกิจ กล่าวคือใครทำหน้าที่อะไรก็แบ่งประเภทไปตามนั้น แต่มาภายหลังเข้าใจผิด ถือเป็นเหตุดูหมิ่นเหยียดหยามกันไป และในที่สุดทรงสรุปว่า“ดูก่อนวาเสฏฐะ และภารทวาชะ ธรรมะเป็นของประเสริฐสุดในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต”
5. ในมธุรสูตร (มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัฌฌาสก์ สุตตันตปิฏก เล่ม 13 หน้า 429) แสดงการโต้ตอบของพระมหากัจจายนเถระ พระอรหันตสาวกผู้ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดารกับพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ผู้ไปถามพระเถระถึงมติของพราหมณ์ในเรื่องวรรณะ ที่ว่าพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐ พระเถระจึงแสดงเหตุผลเป็นข้อ ๆ ดังนี้ :-
1.) ในวรรณะ 4 เหล่านี้ วรรณะเหล่าใดเป็นผู้มั่งมี วรรณะเดียวกันและวรรณะอื่น ย่อมเข้าเป็นสาวกของวรรณะนั้น
2.) วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าสู่อบาย เสมอกันหมดไม่มีพิเศษ
3.) วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เสมอกันหมดไม่มีเว้น
4.) วรรณะใดทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม (ล่วงภริยาผู้อื่น) วรรณะนั้นต้องรับราชอาชญาเหมือนกันหมดไม่มีเว้น
5.) วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้น ย่อมได้รับความนับถือ ได้รับการบำรุง และได้รับคุ้มครองรักษาเสมอกันหมดไม่มีเว้น
พระเจ้ามธุรราช ตรัสสรรเสริญภาษิตของพระเถระ และปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธศาสนิกชน แต่ครั้งนั้นพระบรมศาสดานิพพานแล้ว จึงได้แต่ตรัสว่า ถ้าพระองค์ทรงได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่ใด แม้ไกลเท่าไกลพระองค์จะเสด็จไปเฝ้าให้จงได้ พระผู้มีพระภาคปรินิพพานเสียแล้ว พระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคผู้แม้ปรินิพพานแล้วนั้นกับพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
จากประวัติและหลักที่กล่าวมานี้ จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงยืนหยัดสู้กับทิฐิมานะ ในเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะของคนในครั้งนั้นอย่างไร ทรงพยายามที่จะให้คนเห็นความสำคัญของความประพฤติตามศีลธรรมว่า มีคุณค่ายิ่งไปกว่าติดในเรื่องชั้นวรรณะ พร้อมทั้งได้ทรงทำตัวอย่างให้ดูในพระธรรมวินัยนี้ ใครมาบวชก่อนก็ได้รับความเคารพของคนมาบวชทีหลังผู้แม้เกิดในสกุลสูงกว่าในปัจจุบันประเทศอินเดีย ได้ใช้รัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิแก่คนทุกวรรณะเสมอกัน และได้มีคนที่ถูกเหยียดหยามเพราะเหตุเกิดในวรรณะต่ำหลายแสนคน ขอปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชน (พ.ศ. 2499) เพราะเลื่อมใสว่าพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ไม่มองข้ามคนชั้นที่ถูกเหยียดยาม แต่ได้ช่วยยกฐานะขึ้นให้สูงเท่าเทียมกับคนในวรรณะอื่น ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงเกิดในวรรณะกษัตริย์ ไม่ต้องมีปมด้อยที่จะต่อสู้เพื่อพระองค์เองในเรื่องวรรณะ แต่ก็ทรงชี้แจงสั่งสอนให้คนเห็นความจริงมาแต่ในสมัยของพระองค์
ในสุนทรพจน์ต่าง ๆ ของผู้นำประเทศอินเดีย เรามักจะได้ฟังคำสรรเสริญอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าได้ประทานแสงสว่างให้อินเดียไว้นานมาแล้ว เมื่อการแบ่งชั้นวรรณะ แต่อินเดียเพิ่งจะปฏิบัติได้ในทางนิตินัย เมื่อมีรัฐธรรมนูญนี้เอง ส่วนทางพฤตินัยนั้นใครจะรู้ว่าเมื่อไรอินเดียจึงจะชำระล้างความยึดถือเก่าแก่นี้ให้หมดไปได้
โลกยิ่งยกย่องสมภาพและภราดรภาพในหมู่มนุษย์มากเพียงไร หลักธรรมเรื่องนี้ของพระพุทธศาสนาก็ยิ่งเด่นขึ้นในสายตาของผู้ต้องการเหตุผลมากเพียงนั้น
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แต่ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน รวบรวม
21/10/53