ระบบทาสยังมีอยู่ในโลก
ท่านผู้อ่านหนังสือพิมพ์คงจำได้ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้หนังสือพิมพ์เมืองไทยหลายฉบับได้ตีพิมพ์ข้อความจากสำนักแถลงข่าวต่างประเทศ (พ.ศ. 2500) ซึ่งแสดงว่าระบบทาสยังมีอยู่ในโลกนี้อีกหลายแห่ง
ข่าวนั้นกล่าวว่า ตามถ้อยแถลงของนายฟอกซปิตต์ เลขานุการสมาคมกำจัดประเพณีทาส ซึ่งเป็นสมาคมที่ตั้งมา 150 ปี และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในอังกฤษ ได้ความว่าในปัจจุบันการเอาคนลงเป็นทาสยังเป็นประเพณีที่ชอบด้วยกฎหมายในรัฐอาหรับต่าง ๆ หลายรัฐ เช่น ในเยเมน ซาอุดิอาระเบีย และบริเวณทะเลโอมาน รวมทั้งในแคว้นโมริตาเนียในแอฟริกาเหนือ และในลุ่มน้ำอะมาโซนในอเมริกาใต้ด้วย นายฟิกซปิตต์ชี้แจงว่าไว้ด้วยว่าราคาทาสที่ซื้อขายกันในดินแดนเหล่านั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามเพศตามวัยและเหตุประกอบอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น หญิงทาสที่สูงอายุคงขายกันคนละไม่เกิน 35 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ ทาสชายที่รูปร่างแข็งแรง อาจขายได้ถึง 150 ปอนด์ สำหรับหญิงรุ่น ๆ ที่อายุไม่เกิน 15 ปี จัดว่ามีราคางาม อาจขายได้ถึง 400 ปอนด์ (เป็นเงินไทยประมาณ 20,000 บาท)
ระบบทาสในประเทศไทย
ตามกฎหมายโบราณของไทยอันว่าด้วยลักษณะทาส ได้จัดประเภทของทาสไว้ 7 อย่าง คือ
1.ทาสไถ่มาด้วยทรัพย์ หมายความว่า เป็นทาสของคนอื่นซึ่งมีค่าตัวเท่านั้นเท่านี้ แล้วผู้ใดผู้หนึ่งนำเงินไปไถ่ นำทาสนั้นมาเป็นทาสของตน
2.ลูกทาสเกิดในเรือนเบี้ย หมายความว่า เมื่อมารดาบิดาเป็นทาส ลูกที่เกิดมาก็พลอยเป็นทาสไปด้วย
3.ทาสได้มาแต่ฝ่ายมารดาบิดา หมายความถึง ทาสที่บุคคลได้รับมรดกจากมารดาบิดาของตน
4.ทาสที่มีผู้ให้
5.ทาสอันได้มาด้วยการช่วยกังวลธุระทุกข์แห่งคนอันต้องโทษทัณฑ์
6.ทาสอันได้เลี้ยงไว้ในกาลเมื่อข้าวแพง
7.ทาสที่ได้มาจากการรบศึกชนะ
ประเทศไทยได้ประกาศเลิกทาสในสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ การเลิกทาสมิได้กระทำเด็กขาดลงไปคราวเดียว แต่ได้มีพระราชบัญญัติสลับกับประกาศพระบรมราชโองการเป็นคราว ๆ ไป จนถึงได้ออกพระราชบัญญัติทาสในที่สุด ซึ่งถ้าจะประมวลการดำเนินงานเป็นขั้น ๆ ตามตัวบทกฎหมายก็จะเห็นได้ดังนี้
1.พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาส ลูกไท ออกเมื่อจุลศักราช 1263 โสณสังวัจฉระ สาวนมาส ชุณหปักษ์ นวมีดิถีศุกรวาร (ตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม 2417) กำหนดให้ทาส 7 ประเภท ดังกล่าวข้างต้นที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ส. 1230 (คือ ปี พ.ศ. 2411 อันเป็นปีเสวยราชย์) เป็นต้นไปให้ขึ้นค่าตัวจนถึง 8 ปี ต่อจากนั้นให้ลดลงตามระยะเดือนปีอันตราไว้ในพระราชบัญญัติจนถึงอายุ 21 ปี หมดค่าตัวทั้งชายหญิง รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ
2.หมายประกาศลูกทาส ทำเป็นพระบรมราชโองการ ณ วันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 13 ค่ำ ปีจอ ฉศกจุลศักราช 1236 (ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2417) ให้สลักหลังสารกรมธรรม์ของทาสที่เกิดในปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ. 2411) ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท โดยให้อำเภอกำนันพร้อมกันกับตัวทาส สลักหลังสารกรมธรรม์ไว้เป็นแผนก กับให้ระบุลูกทาสซึ่งติดมากับมารดาบิดาโดยชัดเจน ถ้ามีผู้ไปติดต่อที่อำเภอห้ามเรียกเงินค่าธรรมเนียมใด ๆ และให้รีบสลักหลังสารกรมธรรม์โดยมิชักช้า
3. ประกาศเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ทำเป็นพระบรมราชโองการ ณ วันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1236 (ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม 2417) เป็นการแถลงซ้อมความเข้าใจ ที่มีข่าวว่าเกิดเสียงแสดงความไม่พอใจอยู่ทั่วไป เตือนให้เห็นแก่เมตตากรุณาและความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง พร้อมทั้งชี้แจงวิธีการเลิกซึ่งค่อยเป็นค่อยไป
4. พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 124 (ตรงกับ พ.ศ. 2448) มีข้อกำหนดให้ลูกทาสทั้งปวงได้เป็นไท มิให้มีพิกัดเกษียณอายุดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติลูกทาสลูกไท จุลศักราช 1236 (พ.ศ. 2417) อีกต่อไป บรรดาคนที่เป็นไทอยู่แล้ว หรือทาสที่หลุดพ้นค่าตัวไปแล้ว ต่อไปห้ามมิให้เป็นทาส บรรดาทาสที่มีอยู่ในเวลาออกพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ทาสที่หลบหนี ให้เจ้าเงินลดค่าตัวให้คนละ 4 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน (2448) เป็นต้นไป ถ้าทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ทำสารกรมธรรม์ขึ้นค่าตัวมากกว่าจำนวนค่าตัวในเวลานั้น
ผู้เขียนมีศรัทธาค้นเรื่องนี้ พร้อมทั้งค้นศักราชวันเดือนปีเทียบ พ.ศ. ให้ด้วย ก็เพราะเห็นว่าการเลิกทาสในประเทศไทยต้องผ่านความยากลำบาก ต้องต่อสู่กับเสียงแสดงความไม่พอใจของเจ้านาย ข้าราชการพ่อค้าคฤหบดีซึ่งเป็นนายเงิน อันเคยมีความสะดวกในการใช้ทาส รวมทั้งเสียงไม่พอใจของทาสบางคนผู้ไม่รู้ว่าเมื่อได้รับปลดปล่อยแล้วจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร เพราะเคยชินในการอาศัยคนอื่นกินอยู่มาตลอดหลายชั่วอายุคน ถ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงอ่อนแอกลัวโน่นกลัวนี้แล้ว อย่างไรเสียก็คงทรงทำงานอันมีคุณค่าชิ้นนี้ไม่สำเร็จเป็นแน่ เพราะจะเห็นได้ว่า เพียงการออกกฎหมายกรุยทางเพื่อจะออกพระราชบัญญัติทาส ในที่สุดก็ต้องกินเวลาถึง 31 หรือ 32 ปี
การพยายามปลดเปลื้องข้อผูกมัดความไม่เสมอภาคและความทุกข์ยากต่าง ๆ ของประชาชนนั้น ได้กระทำกันอย่างเป็นชิ้นเป็นอันในสมัยรัชกาลที่ 5 (2411 - 2453) อันที่จริงแม้รัชกาลที่ 5 จะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2411 แต่ในระยะแรกมีผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์มาเริ่มทรงบริหารราชการแผ่นดินโดยเด็ดขาด ก็เมื่อ พ.ศ. 2417 ภายหลังงานบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 อันเป็นเสมือนหนึ่งการประกาศพระราชภาระในการบริหารประเทศชาติโดยตรง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไปงานปลดเปลื้องความเดือดร้อนของประชาชนในรัชกาลที่ 5 นั้น พอที่จะรวบรวมมากล่าวได้ดังนี้ :-
1.คนพลเรือนทุกคนจะอยู่อย่างไม่มีสังคมไม่ได้ ต้องมีสังกัดสักข้อมือเป็นเลขไพร่หลวงบ้าง ไพร่สมกำลังบ้าง เลขทาสบ้าง คนไม่มีสังกัดเรียกว่าคนข้อมือขาว (เพราะไม่มีรอยสัก) ต้องจับสักเป็นไพร่หลวงธรรมเนียมนี้มาเลิกในรัชกาลที่ 5
2.การเกณฑ์แรงใช้ราชการ ผู้ถูกเกณฑ์ไม่ได้อะไรตอบแทนในรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดให้เลิกเสียโดยมาก ถ้าจะมีการเกณฑ์ก็ต้องมีค่าจ้างหรือค่าป่วยการตอบแทน
3.การตัดถนนหนทางหรือการเวนคืนที่ของราษฎรเพื่อใช้ในราชการนั้น สมัยก่อนมิได้ให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของอาคารในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานค่าที่ดินและค่าชดเชยสิ่งก่อสร้างตามควรแก่ราคา
4.ราคาหรือศักดิ์ของคนเรานั้นในสมัยก่อนกำหนดด้วยนา เช่น ศักดินาเท่านั้นเท่านี้ คนมีศักดินาสูงก็ได้เปรียบคนมีศักดินาต่ำ แต่เดิมในการเป็นความกัน ผู้มีศักดินาต่ำกว่า 400 แต่งทนายว่าอรรถคดีแทนตนไม่ได้ จึงเป็นการเสียเปรียบพวกศักดินาสูง ในเวลาเป็นความกันในศาล ผู้มีศักดินาสูง สามารถแต่งทนายได้ฝ่ายเดียว ในรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชบัญญัติให้แต่งทนายได้เสมอหน้ากัน
5.การเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 นั้น มีวิธีการอยู่มากหลาย เช่น ผู้ยังไม่เคยเป็นทาสหรือหลุดพ้นแล้วก็ห้ามไม่ให้ขายตัวเป็นทาส ผู้เป็นทาสอยู่แล้วก็ไม่ยอมให้ขึ้นค่าตัว ทั้งมีการกำหนดให้นายลดค่าตัวเป็นรายเดือน เพื่อเร่งรัดให้หมดทาสโดยเร็ว นอกจากนั้นยังใช้วิธีกำหนดว่า ผู้เกิดสมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าเป็นทาสมาเดิมตามพ่อแม่ ให้พ้นจากเป็นทาสเมื่ออายุครบกำหนดหรือเมื่อวันประกาศใช้พระราชบัญญัติทาส
6.ในคดีที่เป็นอาญาแผ่นดิน ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้รับสารภาพ อันเรียกว่าจารีตนครบาล ในรัชกาลที่ 5 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกเสีย
7.ในรัชกาลที่ 5 ได้มีการพระราชทานงดลงพระราชอาญาเฆี่ยนนักโทษที่ต้องคำพิพากษาให้เฆี่ยนตั้งแต่ 50 ทีลงมาเป็นจำคุกแทน
เรื่องใหญ่ ๆ ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมานี้ เพียงพอที่ประชาชนชาวไทยในรัชกาลที่ 5 จะรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ เพราะฉะนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับพระนามว่าพระปิยมหาราช หรือพระมหาราช ผู้เป็นที่รักของปวงชนนั้น จึงเป็นพระนามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เชื่อว่าผู้มีวิจารณญาณและรักความเป็นธรรมทั้งหลาย แม้จะเกิดไม่ทันในสมัยของพระองค์ท่าน ก็คงเห็นร่วมกันว่า พระองค์ได้ทรงประกอบกรณียกิจปลดแเอกของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นจึงเป็นการสมควรแล้วที่เรายังจัดให้มีงานถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็นการประจำปี
พระพุทธศาสนากับระบบทาส
ในเรื่องพระพุทธศาสนากับระบบทาสนี้ ผู้เขียนขอกล่าวด้วยความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อข้อความในหนังสือพุทธคุณกถาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวิชิรญาณวโรรส อันเป็นข้อความที่ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจและติดตามค้นคว้าหลักฐานในพระไตรปิฏกต่อมา เมื่อลงมือเขียนเรื่องนี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “อนึ่งในครั้งนั้น การขายทาสเช่นไปสงครามจับเชลยมาได้แล้วขายเอาสิน และขายต่อไปอีกดุจสัตว์พาหนะ ยังไม่เห็นกันว่าเป็นดุร้ายและยังไม่มีกฎหมายห้าม สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงห้ามไว้ โดยเป็นกิจอันอุบาสกคือคฤหัสถ์ผู้เคร่งในทางพระศาสนาไม่ควรทำ โดยที่สุดจนทาสสินไถ่ก็มิได้ทรงอำนวยตาม ทรงห้ามมิให้ภิกษุมีทาสเช่นนั้น”
ที่มาในเรื่องพระพุทธศาสนากับระบบทาสนี้ มีทั้งในสินัยปิฏก อันเป็นข้อห้ามสำหรับพระภิกษุ ทั้งในสุตตันตปิฏกอันเป็นข้อแนะนำ ดังจะกล่าวต่อไป