ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          ปัจจุบันมีการพูดถึงสิทธิมนุษยชนกันมาก บางประเทศถึงกับมีการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง ความเท่าเทียมของมนุษย์นี้มีการกล่าวถึงกันมานาน แต่ในพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนมานานแล้ว อาจกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้ใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายในคือไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ และความหลง

สิทธิมนุษยชนและการเลิกทาส
โดยอาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ


          ประเพณีการมีทาสไว้ใช้ และการซื้อทาสขายทาสนั้นดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วไปในโลก ผู้ที่สนใจในปัญหาเรื่องระบบทาสโดยเฉพาะ ได้แสดงรายละเอียดไว้ในที่หลายแห่งด้วยกัน ในการค้นรายละเอียดเรื่องทาสอันเป็นปัญหาของโลกนี้ ข้าพเจ้าได้อาศัยหนังสือ Encyclopaedia of Social Sciences หนังสือ The New Popular Encyclopaedia กับหนังสือ Encyclopaedia Britannica และบรรดาหนังสือประวัติศาสตร์ รวมทั้งหนังสือกฎหมายเก่า ๆ ประกอบกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้ค้นหลักฐานทั้งวินัยปิฏกและสุตตันตปิฏก
          ในเรื่องที่มาของความเป็นทาส หรือทางที่คนเราจะกลายเป็นทาสนั้น ได้มีผู้ประมวลไว้ว่ามี 5 ประเภท คือ :-
          1.เป็นทาสโดยสายโลหิต คือ พ่อแม่เป็นทาส มีลูก ลูกนั้นก็กลายเป็นทาสด้วย โดยเจ้าของทาสนั้นถือเป็นสมบัติพลอยได้ของตน (Birth)
          2.พ่อแม่แม้ไม่เป็นทาส แต่เพราะยากจนหรือมีความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งขายลูกของตนไปให้เป็นทาสของผู้อื่น (Sale of children by theirfree parents)
          3.มีการสงครามเกิดขึ้น ฝ่ายชนะกวาดต้อนคนไปเป็นทาส (Capture in war)
          4.ทำการโจรสลัด หรือลักพาตัวคนมาเป็นทาส (Piracy or kidnapping)
          5.การค้าทาสที่ทำกันเป็นอาชีพเป็นล่ำเป็นสันทั้งในกรีกและประเทศอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดการนำคนมาเป็นทาส ด้วยวิธีต่าง ๆ อีกเป็นอันมาก (Commerce)
          แต่เมื่ออ่านบทที่  2ของหนังสือเรื่องนี้มาแล้ว เชื่อว่าทุกท่านคงเห็นพ้องกันว่าควรเพิ่มได้อีก 1 ข้อ เป็นข้อที่ 6 คือ การที่คนเป็นหนี้ผู้อื่นแล้วไม่มีทางจะใช้ หรือใช้ได้ไม่ทันตามกำหนด มีกฎหมายของกรีกและโรมันโบราณที่อนุญาตให้เจ้าหนี้เอาลูกหนี้เป็นทาสได้ โดยเฉพาะกฎหมายอันรับรองสิทธิของเจ้าหนี้ ให้นำลูกหนี้เป็นทาสได้นี้ โซลอนได้เป็นผู้ประกาศเลิกล้มเมื่อ 594 ปีก่อน คริสตศก ส่วนกฎหมายของโรมันอันว่าด้วยเรื่องนี้ยังคงอยู่ต่อมาอีกนาน อย่างไรก็ตาม การเลิกกฎหมายกำหนดความเป็นทาส เพราะหนี้สินมิได้หมายความว่าเลิกล้มระบบทาสแบบอื่น เพราะฉะนั้น การซื้อทาสขายทาสจึงคงมีอยู่ทั่วไป
          แต่อันที่จริงยังมีทาสอีก 2ประเภท ซึ่งอาจจัดได้เป็นประเภทที่ 7 และประเภทที่ 8 คือ ประเภทที่ 7 ได้แก่บุคคลผู้สมัครขายตัวไปเป็นทาสผู้อื่น เพื่อนำเงินไปให้มารดาบิดาเป็นการสนองคุณ เพื่อให้มารดาบิดาใช้หนี้ผู้อื่นบ้าง บุคคลบางคนมองไม่เห็นทางว่า ตนเองจะเป็นอยู่ได้อย่างไร เพราะไม่มีอาชีพ ไม่มีทุน เป็นทาสของผู้อื่นยังได้อาศัยเป็นทางเลี้ยงชีพ โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องปากเรื่องท้อง ก็สมัครใจไปเป็นทาสเองบ้าง ประเภทที่ 8 ได้แก่ ทาสกรรมกร (Forced labour) คือผู้ที่ถูกบังคับให้ทำงานแบบทาส ทั้ง ๆ ที่มิได้เป็นทาส อันเป็นเรื่องที่แม้ในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ในหลายประเทศ และเป็นปัญหาที่สหประชาชาติก็พยายามอย่างยิ่งที่จะกำจัดให้หมดไป ความพยายามเหล่านี้ได้ปรากฏผลออกมาอย่างหนึ่ง คือ การประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1938) ซึ่งมีข้อความอันต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การจับกุมตามอำเภอใจ, ระบบทาส, ทาสกรรมกร (Forced labour) เป็นต้น ปรากฏว่า ในการลงมติรับรองประกาศนี้ มีคะแนนรับรอง 48 ประเทศ ไม่มีประเทศไหนคัดค้านเลย มีแต่ประเทศที่งดไม่ออกเสียงบางประเทศ ซึ่งมิใช่ความมุ่งหมายของหนังสือนี้ที่จะระบุว่าประเทศไหนบ้าง

          เมื่อพูดถึงระบบทาสแล้ว ก็ใคร่จะนำท่านผู้อ่านให้ได้ความรู้เบ็ดเตล็ดเรื่องทาสต่อไปอีกสักเล็กน้อยชนชาติเฮบรูโบราณ มีธรรมเนียมให้มีทาสไว้ใช้ได้ แม้จะเป็นชนชาติเดียวกัน แต่เมื่อครบ 7 ปีแล้ว ก็ปลดปล่อยให้เป็นอิสระพร้อมทั้งให้ข้าวของเครื่องใช้รวมทั้งปศุสัตว์ แต่ถ้าทาสนั้นยังพอใจจะอยู่กับนายของตนต่อไป ก็จะได้รับการเจาะหูเป็นที่ระลึกแห่งการอาสาสมัครเป็นทาส การเจาะหูและสวมห่วงหูเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นทาสในสมัยโบราณ
          มีคำกล่าวว่า ทาสในประเทศกรีกได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเจ้าของทาสมากกว่าโรม พวกทาสในกรุงโรมถูกฆ่าตายเสียมากต่อมาก ถ้าทำอะไรไม่ถูกใจผู้เป็นนาย ต่อมาระหว่าง ค.ศ. 86 ถึง 161 อันตรงกับ พ.ศ. 629 ถึง 704 จักรพรรดิอันโตนินุส ปิอุส ได้ประกาศเลิกสิทธิของเจ้าของทาสที่จะประหารชีวิตทาสของตน แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าได้ห้ามทำทารุณกรรมอื่น ๆ หรือไม่ เพราะกฎหมายของโรมันให้สิทธิแก่เจ้าของทาสที่จะแยกคู่ผัวเมียของทาสได้ทั้งเป็นเจ้าของแห่งทรัพย์สินใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่ทาสนั้นด้วย
          อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงสมัยกลาง (ระหว่าง พ.ศ. 1000) เป็นต้นมา ทาสในอังกฤษได้รับสิทธิขึ้น ก็อาจมีบ้านและที่ดินได้โดยต้องเสียค่าเช่า และอาจได้รับอิสรภาพได้โดยเงื่อนไขหลายประการ ในปี ค.ศ. 1807 ตรงกับ พ.ศ. 2350 รัฐสภาอังกฤษได้ลงมติออกกฎหมายห้ามการค้าทาสอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็ได้เจริญรอยตาม แต่ก็ยังมิได้ห้ามการมีทาสไว้ใช้ ซึ่งถือกันว่าเป็นสมบัติหรือสิทธิส่วนบุคคล ต่อมาในปี ค.ศ. 1834 ตรงกับ พ.ศ. 2377 จึงได้ออกกฎหมายเลิกระบบทาสทั้งในอังกฤษและในเมืองขึ้น โดยมีโครงการให้เลิกเด็ดขาดภายในเวลาที่กำหนด และได้ใช้วิธีการละมุนละม่อม คือ ได้ตั้งงบประมาณสำหรับชดเชยแก่เจ้าของทาสถึง 15 ล้านปอนด์ (ประมาณ 750 ล้านบาท) แต่เมื่อจ่ายปรากฏว่าต้องใช้เงินถึง 20 ล้านปอนด์ (หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทในขณะนี้) นับเป็นความเสียสละอย่างสูงที่พึงจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
          ระบบทาสนี้ได้เลิกล้มไปในประเทศฝรั่งเศสและเมืองขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1846 ตรงกับ พ.ศ. 2389 ในประเทศสวีเดน เมื่อ ค.ศ. 1846 ตรงกับ พ.ศ. 2389 ในประเทศเดนมาร์ก ปีเดียวกับประเทศฝรั่งเศส ในประเทศปอร์ตุกัล เมื่อ พ.ศ. 1865 ตรงกับ พ.ศ. 2408 และในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1856 ตรงกับ พ.ศ. 2399

บางศาสนากับระบบทาส
          หนังสือ The New Popular Encyclopaedia กล่าวไว้ว่า ทางการศาสนาคริสต์ มิได้ดำเนินการใด ๆ ที่เลิกล้มระบบทาสเลย การค้าทาสยังคงดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 1,000 ปีในชนชาติที่นับถือศาสนาคริสต์ในยุโรปเกิดขึ้นภายหลังความล่มจมของอาณาจักรโรมัน แต่ก็ได้ยอมรับว่าศาสนาคริสต์มีส่วนช่วยในระบบทาสเลิกล้มไปอยู่เหมือนกัน โดยการสั่งสอนของพระ (ทั้งที่ไม่มีหลักการในคัมภีร์ศาสนา)
          หนังสือเล่มเดียวกันได้กล่าวถึงศาสนาอิสลามว่าระบบทาสได้มีอยู่ในศาสนาอิสลาม โดยคัมภีร์ศาสนานั้นอนุญาตให้มีทาสได้โดยการรบชนะแต่หนังสือนั้นได้กล่าวต่อไปว่าดูเหมือนจะมิใช่ความประสงค์ของพระมะหะหมัดที่จะได้ทาสมาโดยวิธนี้
          วิลเลี่ยม ลินน์ เวสเตอร์มันน์เขียนไว้ในเรื่อง Ancient Slavery ว่าในสมัยโบราณ (ก่อน พ.ศ. ถึง พ.ศ. 1000) มิได้มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อจะเลิกล้มระบบทาส องค์การทางศาสนาหรือแม่ศาสนาคริสต์เองก็มิได้ดำเนินการนี้ การเปลี่ยนท่าทีต่อบุคคลชั้นทาสนั้นได้เกิดขึ้นในรูปแห่งกฎหมาย ซึ่งพระจักรพรรดิ์แห่งโรมันได้กำหนดขึ้น นับได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจของมนุษย์ประการหนึ่ง
          บทความของ วิลเลี่ยม ลินน์ เวสเตอร์มันน์ ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ Encyclopaedia Britannica ค่อนข้างจะโจมตีศาสนาคริสต์ในเรื่องระบบทาสอยู่บ้างสำหรับความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน แม้ข้อห้ามในเรื่องระบบทาสจะมิได้มีบัญญัติไว้ในศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม ผู้เขียนก็เชื่อว่า นักพรตหรือผู้นำในศาสนาทั้งสองนั้น คงจะมีอยู่ไม่น้อยที่มีส่วนช่วยสั่งสอนให้มนุษย์ได้เลิกล้มระบบทาสไปในที่สุดเพราะกล่าวกันด้วยความเป็นธรรมแล้ว บรรดาความไม่ดีไม่งามทั้งหลาย เท่าที่สามัญสำนึกของคนเราพอจะเล็งเห็นได้ นักบวชแห่งศาสนาต่าง ๆ ที่เป็นผู้มีจิตใจสูงก็คงช่วยกันชี้แจงให้ประชาชนพากันงดเว้นบ้างไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ด้วยเหตุนี้แม้ผู้เขียนเป็นพุทธศาสนิกชนก็ไม่ได้มองนักบวชแห่งศาสนาอื่นไปในแง่ร้าย ยิ่งกว่านั้นเมื่อกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาก็จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายมิได้ทรงปฏิเสธความดีของศาสนาใด ๆ ทรงกล่าวไว้เป็นกลาง ๆ ว่า คำสอนของศาสนาต่าง ๆ ที่ตรงกันกับของพระองค์ก็มี ที่ไม่ตรงกันก็มี ทรงสอนถึงความถูกต้องเป็นหลัก ใครก็ตามเมื่อกล่าวถูกต้องก็ทรงรับรองว่าถูก ข้อนี้จึงน่าเป็นเครื่องเตือนใจชาวเรามิให้มองศาสนาอื่นไปในแง่ร้าย หรือเห็นคนนับถือศาสนาอื่นเป็นศัตรูไปหมด บางทีอาจจะเป็นเพราะพระพุทธศาสนามีหลักธรรม ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกศาสนาและทุกลัทธิอย่างนี้ จึงมีชาวยุโรปเปลี่ยนจากศาสนาอื่นมานับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ความพยายามของสันนิบาตชาติ
          เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว ชาติทั้งหลายได้มีการประชุมกันตั้งสันนิบาตชาติขึ้น มีสำนักงานกลาง ณ เมืองเยนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพ และได้ดำเนินกิจการเพื่อล้มระบบทาสที่ยังมีเหลืออยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลก โดยดำเนินการเป็นขั้นๆ ดังนี้
          1.ใช้อนุสัญญา ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) ว่าด้วยการเลิกทาส ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะพยายามให้ได้มาซึ่งการระงับระบบทาสในทุกกรณีรวมทั้งการค้าทาสทางบก และทางทะเลอย่างเด็ดขาด
          2.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญทางการเลิกระบบทาสขึ้น โดยเฉพาะที่เรียกว่า Committee of Experts ในปี 1924 (พ.ศ. 2467)
          3.ได้ใช้อนุสัญญาว่าด้วยระบบทาส (Slavery Convention) ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันรวม 26 ประเทศ
          4.ได้ใช้อนุสัญญาว่าด้วยทาสกรรมกร (Forced Labour Convention) เพื่อขจัดปัญหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานโดยไม่เป็นธรรม ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473)
          5.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยระบบทาสเป็นการถาวร เป็นคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญใน ค.ศ. 1932 คือ ในปี 2475  นั่นเอง
          ด้วยประการฉะนี้ เราจึงเห็นได้ว่ามนุษยชาติได้พยายามเพียงไรในการเลิกล้มสิ่งที่เป็นการกดขี่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก