อนึ่งในขณะที่นั่งประชุมกันอยู่ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีธุระเช่นเสร็จกิจจะลุกออกไปจากที่ประชุมต้องให้ฉันทะ คือ อนุญาตให้สงฆ์ทำกรรมต่อไป โดยความยินยอมของตนก่อน มิเช่นนั้นเป็นอาบัติ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีการพูดขึ้นได้ในภายหลังว่า สงฆ์ทำไปโดยภิกษุรูปนั้นรูปนี้ไม่เห็นด้วย
การที่ภิกษุผู้อยู่ในเขตสีมา เมื่อถึงเวลาทำสังฆกรรมที่มีข้อกำหนดให้ทุกรูปขาดไม่ได้ เช่น ฟังปาฏิโมกข์และปวารณา จะขาดประชุมได้เฉพาะในกรณีเดียวคือเจ็บไข้ ติดธุระอื่น ๆ อ้างไม่ได้เลย ถ้าติดธุระอื่น ๆ อยู่นอกเขตสีมาไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าละเลยหน้าที่ คือ เมื่อครบ 15 วันที่จะต้องเข้าประชุมฟังสวดปาฏิโมกข์หรือปวารณา แต่ไถลไปไหน ๆ เสียต้องอาบัติ
ในกรณีที่เป็นสังฆกรรมไม่บังคับ เช่น การอุปสมบทกุลบุตร การกฐิน หรือการประชุมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ ภิกษุจะไม่เข้าประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่อยู่ในเขตสีมา ถ้าอยู่ภายในเขตสีมาแล้วไม่เข้าประชุมกรรมนั้นเชื่อว่าไม่เป็นอันทำ
สิทธิของภิกษุผู้เข้าประชุม
ภิกษุผู้เข้าประชุมในกิจการของสงฆ์ทุกรูปมีสิทธิแสดงความคิดเห็น ทั้งในทางค้านและในทางเห็นด้วย โดยปกติเมื่อถามความคิดเห็นของที่ประชุม ถ้าเห็นด้วยให้ใช้วิธีนิ่ง ถ้าไม่เห็นด้วยให้คัดค้านขึ้น ในกรณีที่มีผู้คัดค้านขึ้นก็จะต้องมีการทำความเข้าใจกันจนกว่าจะยอมเห็นด้วย ถ้าปรากฏว่า ภิกษุผู้คัดค้านยังคงยืนกรานไม่เห็นด้วยการอุปสมบทซึ่งเป็นการรับสมาชิกใหม่เข้าสังฆมณฑลก็ดี การให้ผ้ากฐินก็ดี ย่อมไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่ามติของที่ประชุมต้องถือมติเอกฉันท์ คือเห็นพร้อมกันทุกรูปแต่ก็พึงเห็นว่าการใช้มติเอกฉันท์มิได้เป็นไปในทุกกรณี กล่าวคือ มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ก็ต้องหาทางระงับโดยวิธีจับฉลากหรือที่ตรงกับการลงคะแนน เพื่อดูว่าเสียงข้ามากไปทางไหน ก็ตัดสินให้เป็นไปตามเสียงข้างมากนั้น วิธีนี้เรียกว่า เยภุยยสิกา คือ ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
เท่าที่เล่ามานี้ ท่านผู้อ่านคงมองเห็นความเป็นประชาธิปไตยของพระพุทธศาสนามาโดยลำดับต่อไปนี้ จะแสดงตัวอย่างการสวดประกาศที่ให้สิทธิออกเสียงแก่ผู้เข้าประชุม การสวดประกาศแบ่งออกเป็น 2 อย่าง อย่างหนึ่งเสนอญัตติ 1 ครั้ง สวดขอความเห็นชอบ 1 ครั้ง เรียกว่า ญัตติทุติยกรรม แปลว่า กรรมที่มีญัตติเป็นที่ 2 หรือเป็น 2 ครั้งทั้งข้อเสนอญัตติ อีกอย่างหนึ่งเสนอญัตติ 1 ครั้ง สวดขอความเห็นซ้ำ ๆ กัน 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม แปลว่ากรรมที่มีญัตติเป็นที่ 4 หรือเป็น 4 ครั้งทั้งข้อเสนอญัตติ
การสวดประกาศโดยทั่วไปเป็นข้อเสนอญัตติ 1 ครั้ง ขอความเห็นชอบ 1 ครั้งที่เรียกว่าญัตติทุติยกรรมโดยมาก ต่อเมื่อเป็นเรื่องใหญ่ เช่น การรับคนเข้าหมู่ที่เรียกว่า อุปสมบท การลงโทษภิกษุผู้ประพฤติมิชอบ 7 อย่าง มีตัชชนียกรรมเป็นต้น การยกโทษเมื่อภิกษุนั้นประพฤติตนดีขึ้นแล้ว การสวดสมมติ คือแต่งตั้งภิกษุให้เป็นผู้สอนนางภิกษุณี และอื่น ๆ ที่ต้องมีการสวดขอความเห็นซ้ำ ๆ ถึง 3 ครั้ง ก็เพื่อให้มีเวลาพิจารณาได้รอบคอบ ส่วนเรื่องที่สำคัญน้อยลงไปสวดขอความเห็นชอบเพียงเสนอญัตติแล้ว สวดเพียงครั้งเดียวก็พอตัวอย่างคำสวดขอความเห็นชอบที่มีข้อเสนอญัตติ 1 ครั้ง ขอความเห็นชอบ 1 ครั้งที่เรียกว่า ญัตติทุติยกรรมเฉพาะในเรื่องให้ผ้ากฐิน
“ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดขึ้นแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ“ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดขึ้นแก่สงฆ์ให้ผ้าผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ย่อมชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงนิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ผ้ากฐินผืนนี้สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ย่อมชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยประการอย่างนี้”
ตัวอย่างคำสวดขอความเห็นชอบ
ที่มีข้อเสนอญัตติ 1 ครั้ง ขอความเห็นชอบ 3 ครั้งเรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม
เฉพาะในเรื่องการให้อุปสมบทแก่กุลบุตร“ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์ฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ (ผู้มุ่งจะบวช) ของท่านผู้มีชื่อนี้ (ระบุชื่ออุปัชฌาย์ผู้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์) บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรม (ข้อขัดข้องต้องห้าม) ทั้งหลาย บาตร จีวร ของเขาครบแล้ว ผู้มีชื่อขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ นี้เป็นญัตติ
“ท่านผู้เจริญ ! ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย บาตร จีวรของเขาครบแล้ว ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
“ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่ 2 ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ ฯลฯ ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
“ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่ 3 ท่านผู้เจริญ ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ ฯลฯ ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
“ผู้มีชื่อนี้ สงฆ์อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ย่อมชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยประการอย่างนี้”
ข้อแย้งเรื่องประชาธิปไตยเก่าแก่
ถ้าจะมีคำแย้งว่าข้อที่กล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลกนั้นขอแย้งด้วยประวัติศาสตร์ที่ว่า ในสมัยพุทธกาลนั้นเองมีลัทธิประชาธิปไตยอยู่แล้วในอินเดีย ดังจะเห็นได้เช่นการปกครองแคว้นวัชชี ซึ่งมีนครหลวงชื่อกรุงเวสาลีนั้น มีลิจฉวีสภาคือ สภาของเจ้าลิจฉวีมีการประชุมแบบสภาผู้แทนราษฎรเหมือนกัน หรือการปกครองของมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราและเมืองปาวา ก็เป็นไปในรูปมีสภาประชุมฟังความเห็นคนข้างมากเหมือนกัน เมื่อเป็นอย่างนี้จะว่าพระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยอันเก่าแก่ที่สุดอย่างไร
ขอตอบว่าการปกครองของเจ้าลิจฉวี และมัลลกษัตริย์เหล่านั้นหาใช่ประชาธิปไตยไม่ แต่เป็นอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) คือ มีกลุ่มชนชั้นสูงเป็นใหญ่ โดยการผูกขาดว่าจะต้องเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ลิจฉวี และวงศ์มัลละเท่านั้น ประชาชนทั่วไปหามีส่วนเป็นผู้ออกเสียงในสภานั้นไม่ แม้ประวัติของประชาธิปไตยในยุคทอของกรีกเอง เท่าที่เราสอบได้จากชีวประวัติของนักปราชญ์คนสำคัญ เช่น โสเครตีส (Socrates) เพลโต (Plato) และแอริสตอเติล (Aristotle) ก็เป็นยุคหลังพุทธปรินิพพาน กล่าวคือ พระพุทธเจ้านิพพานก่อนโสเครตีสเกิดประมาณ 75 ปี ก่อนเพลโตเกิดประมาณ 115 ปี และก่อนแอริสตอเติลเกิดประมาณ 159 ปี และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เท่าที่พบในชาวกรีกนั้นเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน เราอาจจะดูได้จากการที่โสเครตีสถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายด้วยยาพิษด้วยคำตัดสินดังนี้ :-
“โสเครตีสเป็นผู้มีความผิดอันเนื่องจากอาชญากรรม คือประการแรกเพราะไม่บูชาเทวดาทั้งหลายที่ชาวเมืองบูชา แต่กลับแนะนำให้รู้จักเทวดาอื่นของตนเอง ประการต่อไป ก็เพราะทำให้เยาวชนเสื่อมเสีย การลงโทษที่กำหนดให้คือ ความตาย” (ดูหนังสือ Great Philosophers หน้า 7 และ New Popular Encyclopaedia เล่ม 13 หน้า 182 คอลัมน์ 2)
จากหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงว่าในขณะที่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนากำลังได้เสวยสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุม โดยไม่มีเลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกว่าเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่นั้น ประชาธิปไตยของกรีกได้ฆ่าคนที่สำคัญยิ่งคนหนึ่งของโลก ซึ่งแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเสรี
จึงขอเสนอให้ท่านผู้อ่านได้วินิจฉันเรื่องนี้เอาเองว่า หลักประชาธิปไตยที่ปรากฏในพระพุทธศาสนานั้น มีข้อที่น่าสนใจและเห็นเป็นลักษณะพิเศษได้อย่างไร
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
แก้ไขปรับปรุง 06/10/53