ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai



พระพุทธเจ้าประทานความเป็นใหญ่แก่สงฆ์
            ในชั้นเดิมเมื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ ๆ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานการอุปสมบทหรือรับคนเข้าหมู่เองต่อมาได้ขยายให้พระสาวกแต่ละองค์ผู้ไปเผยแพร่ศาสนาในทิศทางนั้น ๆ เป็นผู้อนุมัติการอุปสมบทได้ โดยมีพิธีกรรมเพียงให้ผู้ขออุปสมบทเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะก็ใช้ได้ ภายหลังวิธีการนี้ได้ยกเลิกไป และนำไปใช้เฉพาะในการบรรพชาสามเณร (การบวชมีศัพท์เรียกสองอย่าง บวชเป็นพระเรียกอุปสมบท บวชเป็นสามเณรเรียกว่าบรรพชา) ต่อมาเมื่อมีผู้เข้าบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น จนมีปัญหาเรื่องการปกครองเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงเลิกการประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง รวมทั้งเลิกการให้อำนาจแก่พระสาวกซึ่งเป็นเอกชน ทรงบัญญัติให้การอุปสมบทแก่ราธพราหมณ์เป็นคนแรก (วินัยปิฎก เล่ม 4 หน้า 103) เมื่อประมวลความเป็นมาในเรื่องการอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าประทานไว้จึงเป็น 3 ขั้น คือ 
            1.ขั้นแรกทรงอนุมัติให้อุปสมทบด้วยพระองค์เอง เรียก “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” แปลว่า การบวชที่สำเร็จด้วยการที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจงเป็นภิกษุมาเถิด
            2.ขั้นต่อมา ทรงอนุญาตให้พระสาวกเป็นผู้อนุมัติการอุปสมบทโดยให้ผู้ขออุปสมบท (ในวินัยปิฎกเล่ม 4 หน้า 104 พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ผู้ขอบวชเท่านั้นบวชได้ คนที่ไม่ได้ขอบวชไปบวชให้ทรงปรับอาบัติทุกกฎแก่ผู้ให้บวช)    เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่เรียกว่า “ติสรณคมนูสัมปทา” แปลว่า การบวชด้วยการถึงสรณะสาม
            3.ขั้นสุดท้ายที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้คือทรงอนุญาตให้สงฆ์เท่านั้นเป็นผู้อนุมัติการอุปสมบท ที่เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา” แปลว่า การบวชที่ต้องสวดประกาศอันมีการสวดเสนอญัตติด้วยรวมเป็น 4 ครั้ง คือ สวดเสนอญัตติเล่าเรื่องมีผู้ขอบวช 1 ครั้ง แล้วสวดประกาศขอความเห็นชอบโดยเปิดโอกาสให้ทักท้วงได้  3  ครั้ง รวมเป็น  4  ครั้ง

กำหนดจำนวนสงฆ์ 5 ประเภท
            เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่แล้วก็ได้ทรงกำหนดจำนวนไว้ด้วยว่า กิจกรรมแต่ละอย่างย่อมต้องการจำนวนภิกษุมากน้อยกว่ากัน ดังต่อไปนี้
            1.ภิกษุสงฆ์ 4 รูป เรียก จตุวรรค ทำสังฆกรรมได้ทุกชนิด เว้นแต่การบวชพระ การปวารณาซึ่งเป็นพิธีกรรมวันออกพรรษาที่อนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ และการสวดอัพภาน คือ การสวดถอนอาบัติหนักบางข้อ ที่กำหนดให้ใช้พระภิกษุจำนวนมากกว่านั้น
            2.ภิกษุสงฆ์ 5 รูป เรียก ปัญจวรรค ทำปวารณาได้ทำการบวชพระในชนบทชายแดนได้ ทำสังฆกรรมอย่างอื่นได้ เว้นแต่สังฆกรรม 2  อย่าง คือ การสวดอัพภาน และการบวชพระในมัชฌิมชนบทคือชนบทภาคกลางที่มีความเจริญ (ปัจจันตชนบท ชนบทชายแดน มัชฌิมชนบท ชนบทภาคกลางมีกำหนดเขตไว้ครั้งพุทธกาล ในปัจจุบันอนุโลมตามความเจริญและไม่เจริญของท้องที่ถ้าที่เจริญก็ใช้พระ 10 รูปขึ้นไป)
            3.ภิกษุสงฆ์ 10 รูป เรียกว่า ทสวรรค ทำการบวชกุลบุตรในมัชฌิมชนบท คือ ชนบทภาคกลางของอินเดีย และทำสังฆกรรมอื่น ๆ ได้เว้นการสวดอัพภานถอนอาบัติอย่างเดียว
            4.ภิกษุสงฆ์ 20 รูป เรียกว่า วีสติวรรค โดยเจาะจงเพื่อใช้ในการประชุม ซึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สวดถอนอาบัติของภิกษุบางรูป
            5.ภิกษุสงฆ์เกินกว่า 20 รูป เรียก อติเรกวีสติวรรค ใช้ทำสังฆกรรมได้ทุกชนิด(วินัยปิฎก เล่ม 5 หน้า 258)
เงื่อนไขของการกำหนดจำนวนดังกล่าวนี้มีอยู่ว่า กิจกรรมชนิดไหนกำหนดจำนวนอย่างต่ำของสงฆ์ไว้กี่รูป สงฆ์เกินจำนวนนั้นใช้ได้ ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งโดยใช้ถึงประเภทของสังฆกรรมแต่ละชนิดว่า อย่างไหนใช้พระภิกษุสงฆ์เท่าไร ก็อาจกล่าวได้ดังนี้ :-
            1.การทำอุโบสถ คือ สวดปาฏิโมกข์ หรือสวดทบทวนศีลของภิกษุ 227 ข้อ ทุกกึ่งเดือน ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทำได้
            2.การสวดกฐิน คือ สวดประกาศมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยขอความเห็นชอบของพระสงฆ์ทั้งปวง ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทำได้ ในข้อนี้หนังสือซึ่งแต่งขึ้นชั้นหลังพระไตรปิฏก เช่น อรรถกถา กล่าวว่า ต้อง 5 รูปขึ้นไปจึงทำได้ ข้าพเจ้าได้ตรวจดูแล้วไม่มีข้อกำหนดไว้โดยเฉพาะในวินัยปิฏก แม้ที่ว่าด้วยเรื่องกฐินโดยตรง ฉะนั้น จึงถือตามที่กล่าวไว้ในวินัยปิฏก เล่ม 5 หน้า 258 ที่ว่าสงฆ์ 4 รูปทำกรรมได้ทุกชนิด เว้นเพียง 3 อย่าง คือ ปวารณา อุปสมบท และอัพภาน (ผู้ต้องการสอบหลักฐานเรื่องนี้ควรดูวินัยปิฏก เล่ม 5 หน้า 135 เป็นต้นไป และเล่ม 8 หน้า 426 เป็นต้นไปด้วย)
            3.การสวดสมมติต่าง ๆ เช่น สมมติ หรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ เป็นผู้แจกจีวร แจกเสนาสนะ คือ ที่อยู่อาศัย ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทำได้
            4.การปวารณา คือ การบอกอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน ถ้าจะทำเป็นการสงฆ์ ภิกษุตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปจึงทำได้ ทั้งนี้มีเหตุผลว่า เมื่อถือว่าภิกษุ 4 รูปขึ้นไปเป็นสงฆ์ ถ้ามีภิกษุเพียง 4 รูป รูปหนึ่งกล่าวปวารณาจึงเท่ากับอนุญาตแก่บุคคล 3 คน ให้ว่ากล่าวได้ พระพุทธเจ้าให้ถือเป็นการปวารณาต่อบุคคล จะนับว่าเป็นการสงฆ์ได้ก็ต่อเมื่อสงฆ์ผู้รับฟังคำปวารณามีครบ 4 รูป เป็น 5 รวมทั้งผู้ปวารณาหรือจำนวนมากกว่านั้น
            5.การอุปสมบท หรือบวชพระ ถ้าในปัจจันตชนบท คือ ชายแดน หรือเขตที่ไม่มีความเจริญหาพระยาก ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปทำได้ ถ้าในมัชฌิมชนบทหรือในเขตภาคกลางซึ่งในสมัยพระพุทธเจ้ามีกำหนดเขตไว้ อันพอจะหาพระได้ ให้ใช้พระตั้งแต่ 10 รูปขึ้นไป ในเมืองไทยเราซึ่งนับเป็นเขตนอกจากที่กำหนดไว้ในครั้งพุทธกาล ถ้าจะกล่าวตามตัวอักษรพระ 5 รูปขึ้นไปก็ใช้ในการบวชกุลบุตรได้ แต่พระเถระผู้ใหญ่ท่านพิจารณาตามเจตนารมณ์ของพระวินัย ถ้าบวชในเขตจังหวัดพระนครหรือในเมืองที่เจริญ ก็ใช้พระตั้งแต่ 10 รูปขึ้นไป ในเขตกันดารจึงใช้พระน้อยกว่านั้น คือ 5 รูปขึ้นไป
            6.การสวดอัพภาน คือ สวดเพิกถอนอาบัติ ของภิกษุบางรูป ซึ่งต้องทำเป็นการสงฆ์ ใช้ภิกษุตั้งแต่ 20 รูปขึ้นไป
            7.สังฆกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นการสงฆ์ นอกจากที่กล่าวไว้แล้วใช้พระตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปทั้งสิ้น

ข้อกำหนดเรื่องสถานที่ประชุม
            การทำสังฆกรรม คือ การสงฆ์ทุกอย่างต้องมีข้อกำหนดเรื่องสถานที่ประชุม เขตแดนที่ใช้กำหนดที่ประชุม เรียกว่า สีมาสีมาหรือเขตแดนสำหรับกำหนดสถานที่ประชุมนี้ไม่ให้เล็กเกินไปจนไม่อาจให้ภิกษุ 21 รูปนั่งได้ และไม่ให้ใหญ่เกินไปเกิน 3 โยชน์ เล็กเกินไปก็ไม่อาจทำสังฆกรรม ที่ต้องใช้ภิกษุสงฆ์ 20 รูป พร้อมด้วยภิกษุผู้ขอให้สงฆ์จำนวนนั้นประชุมถอนอาบัติให้รวมเป็น 21 รูปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องกำหนดส่วนไม่ให้เล็กกว่านั้น ส่วนที่ใหญ่เกินไปกว่า 3 โยชน์ ก็ยากแก่การที่จะมาประชุมพร้อมกันในที่นัดหมาย และยากที่จะตรวจตราว่าใครมาบ้างไม่มาบ้าง
            วัตถุอันใช้กำหนดเขตสีมา มีภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และแอ่งน้ำ
การที่ต้องมีกำหนดหมายว่าที่ประชุมต้องมีเขตแค่นั้นแค่นี้ก็เพื่อให้ภิกษุทุกรูปผู้อยู่ในเขตนั้นรู้หน้าที่ของตนว่า เมื่อมีการประชุมเกิดขึ้นทุกรูปจะต้องเข้าประชุมทั้งหมด ถ้าไม่เข้าประชุม กรรมนั้นก็ใช้ไม่ได้ และถ้าเป็นกรรมที่มีข้อบังคับให้ทุกรูปต้องเข้าประชุมด้วย ผู้ไม่เข้าประชุมต้องเป็นอาบัติ
            ในกรณีที่ภิกษุผู้อยู่ในเขตสีมา หรือเขตที่ประชุมอาพาธไม่สามารถเข้าประชุมได้ จะต้องมอบฉันทะไปประกาศแก่สงฆ์ผู้ประชุมว่า ผู้นั้นผู้นี้มาไม่ได้เพราะอาพาธ ขอมอบฉันทะ คืออนุมัติให้สงฆ์ทำการประชุมได้ด้วยความยินยอมรับรู้เห็นด้วยของตน และที่ประชุมนั้นเป็นการประชุมฟังปาฏิโมกข์ คือศีล 227 ข้อของพระภิกษุ ถ้าภิกษุรูปใดอาพาธจะต้องบอกบริสุทธิ์ คือมอบให้ภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งไปประกาศแก่สงฆ์ว่าภิกษุรูปที่อาพาธนั้นยังเป็นภิกษุผู้บริสุทธิ์อยู่ การบอกความบริสุทธิ์ของตนนั้น ถ้าไปบอกเองได้ก็ไปเองเมื่อจวนเลิกประชุม ถ้าไปไม่ได้จึงมอบให้ภิกษุรูปอื่นบอกแทน 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก