พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยจนทุกวันนี้”เราควรจะได้พิจารณากันก่อนว่า คำว่าประชาธิปไตยที่เราแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Democracy นั้น หมายความว่ากระไร ครั้นแล้วจึงค่อยพิจารณากันต่อไปว่า พระพุทธศาสนานับว่าเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยอยู่อย่างไร
พระพุทธศาสนาคือตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
โดยอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ประชาธิปไตยแยกออกเป็นประชากับอธิปไตย แปลว่าประชาชนเป็นใหญ่ เป็นคำที่ถอดได้ใกล้เคียงกับคำอังกฤษมาก คือ คำอังกฤษที่ว่า Democracy นั้น มาจากภาษากรีกว่า Demokratia อีกต่อหนึ่ง ภาษากรีกคำนี้แยกได้ดังนี้ Demos = ประชาชน Kratia = อำนาจ เมื่อแปลรวมกันก็ตรงกับคำอังกฤษว่า People’s Power (อำนาจของประชาชน)คำนิยามของประชาธิปไตยอย่างสั้น ๆ มีอยู่ว่า “ประชาธิปไตยคือรูปการปกครองที่ประชาชนทรงอำนาจสูงสุดและใช้อำนาจนั้นทางผู้แทนของตน” (Democracy is a form of government in which the people retain supreme power and exercise their power through representatives.)
ประเทศกรีกได้ชื่อว่าเป็นที่ให้กำเนิดแก่ลัทธิประชาธิปไตยแห่งแรกของโลก เพราะฉะนั้น คำอังกฤษที่ตรงกับประชาธิปไตยจึงเป็นคำที่มีมูลรากมาจากภาษากรีก
เมื่อสอบดูประวัติศาสตร์ว่า ประชาธิปไตยของกรีกเริ่มต้นเมื่อไรก็จะพบว่านักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ บางคนกล่าวว่า โซลอน (Solon) ผู้เกิดประมาณ 638 ปีก่อนคริสตศก อันเป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกับพระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นบิดาประชาธิปไตยของกรีก บางคนกล่าวว่าคลิสเธนีส (Cleisthenes) ซึ่งเกิดภายหลังโซลอนประมาณร้อยปีต่างหากควรจะชื่อว่าเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยของกรีก แต่ที่รับรองกันว่าประชาธิปไตยของกรีกเจริญมาก คือในสมัยของเปริคลิส (Pericles)อันเป็นสมัยเดียวกับโสเครตีส (Socrates) และเพลโต (Plato) นักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงของกรีก ซึ่งเป็นระยะเวลาถัดมาจากสมัยของคลิสเธนีสไม่ถึง 100 ปีเป็นอันขอสรุปไว้ในชั้นนี้ก่อนว่า ถ้าจะดูเรื่องกำเนิดประชาธิปไตยของกรีก ก็ดูได้เป็น 3 ระยะอันมีเวลาไล่เลี่ยกันหรือห่างกันไม่ถึง 100 ปี คือ ;-
1.ระยะแรกเมื่อ 594 ปีก่อนคริสตศก เมื่อโซลอนแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรีก อันเป็นครั้งแรกที่มีสภาประชาชน (Popular Assembly)
2.ระยะต่อมา เมื่อ 509 ปีก่อนคริสตศก เมื่อคลิสเธนีสแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรีกอีก โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนยิ่งขึ้น
3.ระยะต่อมาเมื่อ 461 ปีก่อนคริสตศก อันนับเป็นยุคทองของกรีก เปริคลีสซึ่งยึดหลักประชาธิปไตยตามแบบคลิสเธนีสได้สร้างเสริมให้ลัทธิประชาธิปไตยตามแบบคริสเธนีสได้เจริญมากที่สุดในยุคนั้น
ทั้งสามระยะนี้มีเวลาใกล้เคียงกันภายใน 300 ปี ระยะแรกเป็นระยะไล่เลี่ยกับพุทธกาล ส่วน 2 ระยะหลังเป็นเหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพาน (พระพุทธเจ้านิพพานเมื่อ 543 ปีก่อน คริสตศก)
เพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องราวชัดเจนขึ้น จะขอเล่าความเป็นไปที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยของกรีกไว้ให้ต่อเนื่องกันทั้ง 3 ระยะ เพื่อจะได้เทียบเคียงกับแนวประชาธิปไตยที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ แต่ก็ไม่พึงลืมว่าอย่างหนึ่งเป็นเรื่องการเมือง อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องศาสนา จะให้เหมือนกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ข้อที่ควรพิจารณาจึงอยู่ที่หลักการ
ในสมัยที่โซลอนแก้รัฐธรรมนูญของกรีกอันเป็นเหตุให้ได้รับเกียรติว่าเป็นบิดาประชาธิปไตยของกรีกนั้น เป็นสมัยที่การปกครองแบบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) คือ กลุ่มชนชั้นสูงเป็นใหญ่ยังครองอำนาจอยู่ทั่วไป คนที่เกิดในตระกูลสูงเท่านั้นจึงจะเป็นชนชั้นปกครองได้ คนยากจนที่เป็นหนี้เป็นสิน ถ้าไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ก็จะถูกนำตัวไปขายเป็นทาส แม้ว่าการเป็นหนี้นั้นในบางครั้งเกิดเพราะความจำเป็น อันเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล โซลอนเป็นผู้ตัดสินใจเลิกกฎหมายหนี้สินไม่ยอมให้เจ้าหนี้เอาลูกหนี้ไปขายเป็นทาสอีกต่อไป อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญของโซลอนก็ยังแบ่งชั้นของคนออกเป็น 4 ชั้นตามรายได้และคนชั้นที่มีรายได้สูงสุดเท่านั้นจึงมีส่วนเป็นผู้บริหารประเทศ
คนที่มีรายได้จากผลิตผลตั้งแต่ปีละ 500 บุเชลขึ้นไป จัดเป็นคนชั้นที่ 1 (แต่ต้องเกิดในตระกูลสูงด้วย)
คนที่มีรายได้จากผลิตผลตั้งแต่ปีละ 300 บุเชลขึ้นไป จัดเป็นคนชั้น 2
คนที่มีรายได้จากผลิตผลตั้งแต่ปีละ 200 บุเชลขึ้นไป จัดเป็นคนชั้นที่ 3
คนที่มีรายได้ต่ำกว่านั้นจัดเป็นคนชั้นที่ 4
(บุเชลเป็นมาตราตวงของอังกฤษ 1 บุเชล เท่ากับ 36 ลิตรเศษ ในสมัยกรีกมิได้ใช้มาตรานี้ เป็นแต่เทียบเคียงให้ดู เมื่อเทียบกับของไทย 1 บุเชล ประมาณข้าวเปลือกเกือบ 2 ถัง (2 ถังเท่ากับ 40 ลิตร)
ในคน 4 ชั้นนี้ ผู้มีสิทธิจะเป็นชนชั้นปกครองโดยได้รับเลือกเป็นขุนนาง (archon) ต้องเป็นคนชั้นที่ 1 ส่วนตำแหน่งต่ำ ๆ คนเพียง 3ชั้น เว้นชั้นที่ 4จึงจะเข้ารับหน้าที่ได้ เป็นอันว่าในสมัยของโซลอนซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนยกย่องให้เป็นบิดาประชาธิปไตยของกรีกนั้น คนจนยังถูกถือเป็นคนชั้นต่ำและไม่มีสิทธิเข้าไปมีส่วนในการรับตำแหน่งใด ๆ ของรัฐ ฉะนั้น นักประวัติศาสตร์บางคนจึงไม่ถือว่า โซลอนเป็นบิดาประชาธิปไตย เพราะยังชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมลัทธิอภิชนาธิปไตย (คนชั้นสูงเป็นใหญ่) อยู่นั่นเอง
ในสมัยเดียวกันนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้สิทธิแก่พระสงฆ์มีอำนาจในการบริหารหมู่คณะ มีสิทธิคัดค้านในเมื่อไม่เห็นด้วย โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็นผู้เกิดในสกุลสูงหรือต่ำ จะเกิดในสกุลมั่งมีหรือยากจน ทุกคนเมื่อเข้ามาบวชแล้วก็มีสิทธิเท่าเทียมกัน และจะต้องเคารพกันตามลำดับบวชก่อนหลัง เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านจึงอาจตัดสินได้เองว่าประชาธิปไตยที่เก่าของกรีกยังเป็นอภิชนาธิปไตยอยู่ แต่ของพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยแท้มาแล้วในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
ในสมัยต่อมาจากโซลอนไม่ถึง 100 ปีที่นักประวัติศาสตร์เพ่งเล็งว่าเป็นสมัยที่ประชาธิปไตยก่อรูปขึ้นในขนาดที่น่าพอใจก็คือ สมัยของคลิสเธนีส ท่านผู้นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ขับลัทธิอภิชนาธิปไตยจากกรุงเอเธนส์และสถาปนาลัทธิประชาธิปไตยขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คลิสเธนีสได้กระทำไปนั้นได้ให้ลัทธิในการออกเสียง (Right to vote) แก่ประชาชนทั้ง 10 เผ่าที่ไม่เป็นทาส (สมัยนั้นยังมีระบบทาส) การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมชนอย่างเสรีได้มีมากขึ้น และที่นับเป็นประวัติอย่างหนึ่งก็คือ คลิสเธนีสได้ตั้งลัทธิออสเตรซิสม์ คือการให้ประชาชนเขียนข้อความลงไปในเปลือกหอยแล้วลงคะแนนโวตเป็นคะแนนลับคนละเปลือก สามารถขับใครต่อใครที่เห็นว่าไม่สมควรออกไปนอกบ้านเมืองได้ โดยถือว่าเสียงไม่ชอบใจ 1 พันเสียงให้เนรเทศได้ 10 ปี แต่อย่างไรก็ตามคนชั้นปกครองก็ยังคงมีอยู่ เป็นแต่ว่าจะนับว่าเป็นคนชั้นที่ 1 ซึ่งมีสิทธิเป็นขุนนาง (archon) ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดในสกุลสูงเพียงมีรายได้เกินปีละ 500 บุเชล หรือประมาณ 900 ถังของไทยก็เป็นคนชั้นที่ 1 ได้
ครั้นมาถึงยุคทองของกรีกอันเป็นยุคที่ถือกันว่าประชาธิปไตยรุ่งโรจน์ที่สุดนั้น ก็คือ ถัดจากสมัยคลิสเธนีสมาไม่ถึง 100 ปี อันเป็นสมัยของเปริคลิส มีคำพรรณนาไว้ว่ากรุงเอเธนส์มีอาณาเขตเล็ก มีพลเมืองน้อย จึงอาจใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบตรง คือ ไม่ต้องเลือกผู้แทน ทุกคนมีสิทธิเข้าประชุมออกเสียงและตัดสินโชคชะตาของประเทศชาติในเรื่องการสงครามหรืออื่นๆ แต่ก็เป็นการยากที่คนทุกคนจะเข้าประชุมในกิจการของประเทศชาติได้หมด เพราะฉะนั้นจึงมีผู้เข้าประชุมเฉพาะผู้ที่สนใจ
ดังกล่าวมานี้จึงเห็นได้ว่าประชาธิปไตยของกรีกนั้นเพิ่งจะเป็นรูปจริงจังในภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วหลายสิบปี ส่วนในสมัยที่นับได้ว่าเป็นยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า คือ ยุคโซลอนนั้นก็ยังเป็นอภิชนาธิปไตยในที่นี้จะได้กล่าวถึงลัทธิประชาธิปไตยที่อาจเห็นได้จากพระพุทธศาสนาตามหลักฐานที่ปรากฏในวินัยปิฎกต่อไป
อนึ่งขอซ้อมความเข้าใจไว้อีกครั้งหนึ่งว่า คำว่า พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยนั้น ได้มุ่งกล่าวเพียงหลักการใหญ่ ๆ หาได้มุ่งกล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ อันเป็นข้อปลีกย่อยไม่ เพราะในรายละเอียดปลีกย่อยนั้น ถึงอย่างไรการปกครองคณะสงฆ์ก็จะต้องมีลักษณะเฉพาะของตนเอง เช่นเดียวกับการที่การปกครองบ้านเมืองย่อมมีปัญหา หรือลักษณะพิเศษแตกต่างออกไปจากทางศาสนาฉะนั้น