ความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนามีมากขึ้นเพียงใด ความจำเป็นที่จะพึงเรียนรู้หรือรู้จักพระพุทธศาสนาในทางที่เป็นแก่นสาร มีคุณประโยชน์ มีคุณลักษณะพิเศษ และในทางที่มีเหตุผล ไม่ใช่เพียงศาสนาที่นับถือสืบๆกันมาตามบรรพบุรุษก็ยิ่งสำคัญเพียงนั้นเพราะปรารภเหตุดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงเกิดขึ้น เป็นหนังสือที่ต้องการจะชี้ให้เพื่อนร่วมชาติ และร่วมศาสนาได้รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผลและหลักฐาน โดยได้พยายามประมวลเอาคุณลักษณะที่ดีเด่นมากล่าวไว้ เพื่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะภูมิใจได้ว่าศาสนาที่เรานับถือนั้นมีความประเสริฐและคุณค่าอันควรเทิดทูน อย่างไร และเพื่อคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนสมัยใหม่ จะได้พิจารณาดูว่าพระพุทธศาสนามีความหมายสำหรับคนสมัยใหม่อย่างไรบ้าง ถ้าพบว่าตนเองยังล้าสมัยกว่าพระพุทธศาสนา จะมีทางทำอย่างไรให้ดำเนินชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาโดยไม่ต้องรู้สึกว่ากระทำไปพอเป็นพิธี หรือตามขนบประเพณี แต่ทำไปอย่างมีเหตุผล
อีกประการหนึ่ง พระพุทธศาสนานั้น ถ้าเราจะเคารพนับถือหรือยกย่องว่าประเสริฐวิเศษก็ยังมีทางจะทำได้ โดยไม่ต้องด่าศาสนาอื่น หรือถือว่าคนในศาสนาอื่นเป็นศัตรู พุทธศาสนิกชนที่ดีย่อมมีใจกว้าง ไม่รังเกียจเบียดเบียนผู้นับถือศาสนาอื่น ไม่จำเป็นต้องหาความดีโดยเหยียบบ่าของคนอื่น และเพราะเหตุนี้ คุณลักษณะคือความเป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ซึ่งรวมลงในคำภาษาอังกฤษว่า “Tolerance” จึงเป็นข้อความที่ชาวตะวันตกสรรเสริญยกย่องพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนไว้เป็นอย่างมาก
ส่วนที่จะกล่าวถึงพระพุทธศาสนาว่า มีคุณลักษณะพิเศษอย่างไรบ้างในบทต่อๆไป ผู้เขียนเห็นเป็นการสมควรเสนอให้รู้จักพระพุทธศาสนาโดยหลักการกว้างๆ พอเข้าใจเค้าโครงหน้าตาไว้ก่อน อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ต้องการเสนอเน้นเป็นพิเศษถึงคุณลักษณะที่ดีเด่นของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น การบรรยายให้รู้จักพระพุทธศาสนาโดยละเอียดทุกแง่ทุกมุม จึงไม่อาจทำได้หมดด้วยหนังสือเล่มเดียวนี้ ผู้เขียนยังไม่อาจรับรองที่จะเขียนหนังสือชุดทางพระพุทธศาสนาให้จบสมบูรณ์ ตามที่เคยนึกหมายไว้ แต่จะพยายามเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ทำได้ บนพื้นฐานแห่งความตั้งใจที่จะเสนอหลักและเกล็ดความรู้ทางพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่ได้นามอย่างหนึ่งว่า “ทนต่อการเพ่ง” ของผู้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล ผู้ไม่เชื่ออะไรอย่างงมงาย
พระพุทธศาสนาคืออะไร
พระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและคำสั่งสอนนี้ ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติเป็นแต่ว่าพระพุทธเจ้าค้นพบแล้วนำมาชี้แจงเปิดเผย พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าสภาพธรรมหรือทำนองคลองธรรมเป็นของมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นหรือไม่ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้สภาพธรรมนั้นๆ แล้วนำมาบอกเล่าให้เข้าใจชัดเจน (ธัมมนิยามสูตร) ความจริงหรือสัจธรรมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาตินี้ จึงเป็นของกลางสำหรับทุกคน และมิใช่สิ่งที่ประดิษฐ์หรือคิดขึ้นตามอารมณ์เพ้อฝัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตราบใดที่พระองค์ยังมิได้ตรัสรู้ความจริงในลักษณะ 3อย่างคือรู้ตัวความจริง รู้หน้าที่อันควรทำเกี่ยวกับความจริงนั้น และรู้ว่าได้ทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ตราบนั้นพระองค์ก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าตรัสรู้แล้ว(ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) ภาษิตนี้แสดงว่าความจริงนั้นพระองค์ได้ลงมือปฏิบัติจนค้นพบประจักษ์แล้ว พระองค์จึงได้นำมาสั่งสอน ฉะนั้นในพระพุทธศาสนาจึงไม่มีคำสั่งสอนชนิดที่เรียกว่า “เดา” หรือ “สันนิษฐาน” ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้...
พระพุทธเจ้าคือใคร
เมื่อกล่าวโดยรากศัพท์คำว่า “พระพุทธเจ้า” ในภาษาไทยเรามาจาก “พุทธ” ในภาษาบาลีซึ่งแปลว่า “ท่านผู้ตรัสรู้” คือรู้ประจักษ์ความจริงอันเป็นเหตุให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง คำว่า “พระพุทธเจ้า” ที่แปลว่า“ท่านผู้รู้”นั้น มีความหมายที่พึงอธิบายได้เป็น 2 ประการคือ
1. ท่านผู้ตรัสรู้ ซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ได้แก่เจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางมหามายา ประสูติก่อนพุทธศก 80 ปี เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษาดืทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราหรือพิมพา เมื่อพระชนมายุ 29 ปี มีพระโอรสองค์หนึ่งชื่อ ราหุล และได้เสด็จออกทรงผนวชเพื่อทรงค้นคว้าสัจธรรมอยู่ถึง 6 ปี จึงได้ตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ 35 ปี ครั้นตรัสรู้แล้วได้ประกาศพระพุทธศาสนาประดิษฐานสังฆมณฑลขึ้นเสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ เผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลาถึง 45 ปี จึงเสด็จดับขันธ์นิพพานเมื่อพระชนมายุ 80 ปี สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมครั้งแรกและปรินิพพาน ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ ซึ่งรัฐบาลอินเดียในปัจจุบันได้พยายามอำนวยความสะดวกในการตัดถนนทำทาง และสร้างที่พักสำหรับผู้จะไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งนั้น ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างบ้าง ศิลาจารึกบ้างเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นบุคคลที่มีตัวจริงในทางประวัติศาสตร์
2. ท่านผู้ตรัสรู้ ซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งศาสดาเอกของโลก ใครก็ตามเมื่อบำเพ็ญบารมี คุณความดีต่างๆ โดยสมบูรณ์แล้ว ก็จะได้ตรัสรู้สัจธรรมเป็นพระพุทธเจ้าประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก กล่าวโดยหลักการแห่งพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามิได้มีเพียงพระองค์เดียวที่เรานับถือในปัจจุบันเท่านั้น แต่มีมากมายนับจำนวนไม่ถ้วนทั้งในอดีตและอนาคต คือตลอดระยะกาลนานไกลนั้น ย่อมมีพระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมเกิดขึ้นเป็นคราวๆ หลักการนี้มองในแง่หนึ่งคล้ายเป็นความเชื่อแบบปรัมปรา แต่มองอีกแง่หนึ่งจะเห็นความจริงชัดขึ้นว่าตำแหน่งพระพุทธเจ้านี้มิได้ผูกขาดตัดตอนไว้เพื่อผู้ใดผู้หนึ่งไว้เฉพาะโครที่ทำความดีไว้มากจนสมบูรณ์ ก็มีโอกาสได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นหลักกลางๆ สำหรับทุกคน และเป็นหลักที่มีเหตุผล เพราะในคนจำนวนมากเมื่อมีความตั้งใจทำความดี สักวันหนึ่งก็คงมีใครที่สามารถบรรลุผลของความดีนั้น
หลักการนี้แสดงว่า การเป็นพระพุทธเจ้ามิใช่การชุบมือเปิบหรือเป็นการได้ดีอย่าลอยๆ ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด และต้องมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอยจึงจะประสบความสำเร็จ อีกประการหนึ่ง มีฝรั่งบางคนเขียนหนังสือกล่าวถึงพระพุทธศาสนาไว้ว่า เป็นศาสนาของมนุษย์ ไม่ใช่ของเทวดา จึงสู้ศาสนาของเขาไม่ได้ ตามความรู้สึกของข้าพเจ้า การที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของมนุษย์และการที่มนุษย์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้เป็นที่น่าพอใจยิ่งนัก เพราะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ประกอบด้วยเหตุผล ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่โลกเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ มนุษย์มักจะมองเรื่องของเทพนิยายเป็นเรื่องไม่มีอะไรจริงจังหรือเป็นเพียงนิทานไป
การที่มนุษย์คนหนึ่งมีความพากเพียรพยายามในการสร้างคุณงามความดีจนประสบผลแห่งความเพียรพยายาม แล้วสั่งสอนชาวโลกตามความจริงที่ค้นพบนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผล และเป็นตัวอย่างจูงใจให้ทุกคนไม่ทอดอาลัยปล่อยชีวิตไปตามบุญตามกรรม พูดง่ายๆก็คือ เป็นตัวอย่างที่คนอื่นๆ อาจปฏิบัติตามได้ ไม่เป็นการผูกขาดสำหรับใครเพียงผู้เดียว
ท่านผู้ตรัสรู้ 3 ประเภท
ท่านผู้ตรัสรู้หรือ “พุทธ” นั้นกล่าวโดยประเภท แบ่งออกเป็น 3 คือ
1.สัมมาสัมพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้ด้วยตนเอง แล้วสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วยประเภท นี้ได้แก่ พระพุทธเจ้า ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก
2.ปัจเจกพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้จำเพาะตน ไม่สามารถตั้งหลักคำสอนขึ้น ประเภทนี้ ได้แก่ท่านผู้บำเพ็ญบารมีรองลงมาจากพระพุทธเ แม้ตัวท่านเองสามารถตรัสรู้ได้ ก็ไม่สามารถตั้งศาสนาขึ้นได้
3.สุตพุทธะ หรือ สาวกพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้ที่อาศัยฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้ชั้นสาวก หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนุพุทธะ แปลว่า ท่านผู้ตรัสรู้ตาม มิใช่ตรัสรู้ด้วยตนเอง...
หลักทั่วไปแห่งพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาสอนหลักทั่วไปไว้ 3 ประการคือ
1.เว้นความชั่ว
2.ประพฤติความดี
3.ชำระจิตใจให้สะอาด
จากหลัก3ประการนี้ จะสังเกตได้ว่าพระพุทธศาสนาสอนหนักเน้นในเรื่องความประพฤติปฏิบัติ ต่างจากศาสนาประเภทธรรมชาติเทวนิยม ที่สอนให้นับถือหรือบูชาเทวดาในธรรมชาติ เช่น ดินน้ำ ไฟ ลม พระจันทร์ พระอาทิตย์ หรือศาสนาประเภทเทวนิยม (Theism) ที่สอนให้เชื่อและมีความจงรักภักดีในพระเป็นเจ้าผู้สร้างโลก
วิธีจัดศาสนาประเภทต่างๆ
ในตำราว่าด้วยวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ได้มีคำอธิบายวิจัดประเภทศาสนาไว้หลายแบบ แต่แบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแบ่งศาสนาทั้งหมดนี้ในโลกออกเป็นพวกใหญ่คือ
1.ธรรมชาติเทวนิยม ศาสนาประเภทที่เชื่อหือบูชาเทวดาประจำธรรมชาติ
2.เทวนิยม ศาสนาประเภทที่เชื่อหรือบูชาเทวดาผู้สร้างโลก
3.อเทวนิยม ศาสนาประเภทที่ไม่เชื่อหรือไม่บูชาเทวดาผู้สร้างโลก
ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะได้อธิบายในรายละเอียดของศาสนาทั้ง 3 ประเภทเหล่านี้ เพื่อเทียบเคียงกับพระพุทธศาสนา ให้ทราบข้อคิดเห็นของพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวถึงศาสนาแต่ละประเภทนั้นๆ เป็นลำดับไป
1.ศาสนาที่บูชาเทวดาประจำธรรมชาติ หรือเชื่อว่าในธรรมชาติต่างๆ เช่นดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นไม้ ภูเขา ตลอดจนดาวนพเคราะห์ มีเทวดาประจำอยู่ ศาสนาประเภทนี้เรียก ธรรมชาติเทวนิยม ศาสนาประเภทนี้ไม่มีศาสดาเจ้าลัทธิเป็นตัวเป็นตนที่มีชื่อเสียงอะไร แต่ก็เป็นความเชื่อถือที่มีอิทธิพลฝังอยู่ในจิตใจของมนุษย์สืบมาจนทุกวันนี้ ชาวอินเดียโบราณ ชาวกรีกและโรมันโบราณ มีความเชื่อถือในเรื่องเทวดาประจำธรรมชาติอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่า พิธีลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน 12 ของไทยก็สืบมาจากความเชื่อของอินเดียโบราณที่ว่ามีเทวดาประจำแม่น้ำ การที่เราเททิ้งของโสโครกหรือถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในน้ำบางโอกาส เป็นการล่วงเกินพระแม่คงคา ถึงปีจึงควรมีการลอยกระทงเป็นการบูชาและขอขมา ในบัดนี้ชาวไทยนับถือศาสนาพุทธโยมีเหตุผลยิ่งขึ้น ความเชื่อถือที่เป็นฝ่ายธรรมชาติเทวนิยมและศาสนาพราหมณ์จืดจางลงไปมาก จึงมีผู้อธิบายเรื่องการลอยกระทงว่าเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวพุทธทำได้โดยไม่กระดากใจ ความเชื่อในเรื่องเทวดาประจำดาวพระเคราะห์ คือพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร เป็นต้นนั้น มีต้องกันทั้งฝ่ายอินเดีย กรีก และโรมัน ในปี พ.ศ. 2497 ผู้เขียนมีโอกาสไปดูเมือง "ปอมเปอี" อันตั้งอยู่ในประเทศอิตาลี เป็นเมืองที่มีภูเขาไฟพ่นถ่านเถ้ากลบทับเมืองของชาวโรมันโบราณ ยังได้เห็นซากโบสถ์ยูปีเตอร์ (พระพฤหัสบดี) ซึ่งถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งปัญญา ความรู้ แม้การที่คนไทยเราถือกันว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครูก็สืบมาแต่ความเชื่อถือทำนองนี้
ท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มีต่อศาสนาประเภทนี้ ปรากฏในพุทธภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งพระใช้เป็นบทสวดมนต์ตามวัดต่าง ๆ อันเป็นใจความได้ว่า “มนุษย์ที่ถูกความกลัวคุกคาม ย่อมยึดถือที่พึ่งต่าง ๆ กันมากมาย เช่น ภูเขา,ป่า,ต้นไม้,เจดีย์ (คำว่าเจดีย์ หมายถึงอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมีแพร่หลายในสมัยก่อนพระพุทธศาสนา และในสมัยพุทธกาล) ที่ซึ่งเช่นนั้นยังไม่ใช่ที่พึ่งอันปลอดโปร่ง อันนับได้ว่าเป็นที่พึ่งชั้นเลิศ พึ่งแล้วก็ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ได้ แต่ผู้ใดนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เห็นอริยสัจ 4 ประการ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้ทุกข์เกิด เห็นความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่พึ่งนั้น จึงเป็นที่พึ่งอันปลอดโปร่ง อันนับได้ว่าเป็นที่พึ่งชั้นเลิศ พึ่งแล้วย่อมพ้นทุกข์ได้”
เมื่อวิเคราะห์ดูคำกล่าวของพระพุทธศาสนาข้อนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาชี้ไปที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตัวปัญญาที่รู้แจ้งประจักษ์ความจริงว่า อะไรเป็นทุกข์ และต้นเหตุของทุกข์แล้วหาทางดับทุกข์ให้ได้ว่า เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง การชี้ไปที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น ก็เห็นได้ว่าเป็นอันเดียวกับการชี้ไปที่ตัวปัญญาเห็นแจ้งความจริง เพราะพระพุทธเจ้าเองก็เคยทรงแสดงว่า “ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั่นชื่อว่าเห็นธรรม” อันบ่งว่าพระพุทธเจ้าไม่อื่นไปจากธรรม ธรรมไม่อื่นไปจากพระพุทธเจ้า ส่วนพระสงฆ์ที่แท้นั้น หมายถึงผู้ตรัสรู้ธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางให้ ที่เรียกว่า อริยสงฆ์ ถ้าไม่ตรัสรู้ธรรมก็ยังไม่จัดเป็นอริยสงฆ์ ตกลงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง 3 ก็รวมลงเป็นหนึ่งได้ คือ รวมลงที่ธรรม การที่จะรู้แจ้งธรรมได้ก็ต้องอาศัยปัญญา และปัญญาที่สูงสุดในทางพระพุทธศาสนานั้น มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองลอย ๆ หากต้องอาศัยเหตุเกิด 3 ประการ การคิดนึก 1 การศึกษาสดับตรับฟัง 1 การลงมือปฏิบัติให้เกิดความรู้แจ้งประจักษ์ในผลนั้น 1 พระพุทธเจ้าเองที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ทรงอาศัยการฝึกฝนอบรมปัญญาในข้อสุดท้าย คือ ลงมือปฏิบัติทดลองอันผ่านการลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานานถึง 6 ปี จึงประสบผลสำเร็จในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นอันสรุปได้ว่า ที่พึ่งชั้นสูงสุดทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่สิ่งภายนอก เช่น ต้นไม้ ภูเขา และสิ่งลึกลับอื่น ๆ แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมตนในทางที่ถูก เพื่อให้เกิดปัญญา ตรัสรู้สัจธรรมอันเป็นเหตุให้พันจากความทุกข์ และปัญญาที่ถูกต้องนั้นเอง จะทำให้เรารู้ว่าพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์มิใช่สิ่งภายนอก หากรวมลงเป็นหนึ่งที่สัจธรรมนั่นเอง
2.ศาสนาที่บูชาเทวดาผู้สร้างโลก คือ เชื่อว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ รวมทั้งตัวโลกต้องมีเทพผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่สร้างขึ้น มนุษย์ทั้งหลายจึงควรจงรักภักดี วิงวอนและขอพรจากพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์ มีอำนาจนั้นศาสนาประเภทนี้เรียกว่า เทวนิยม ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู หรือพราหมณ์ จัดเข้าในประเภทเทวนิยมนี้ เพราะแต่ละศาสนาแม้จะเรียกพระเจ้าไปคนละอย่าง ก็คงรวมลงในความเชื่อว่ามีพระเจ้าสร้างโลกด้วยกัน ตามความรู้สึกของชาวยุโรปซึ่งเคยอบรมกันมาในทางให้เชื่อถือในเรื่องพระเจ้าสร้างโลก ถ้าใครสอนในทางตรงกันข้าม ก็รู้สึกเป็นการเสียหายอย่างร้านแรง ฉะนั้น ฝรั่งที่นับถือพระพุทธศาสนาในยุโรปเมื่อแต่งตำราว่าด้วยพระพุทธศาสนาจึงลังเลเอามาก ๆ ว่าจะกล่าวถึงพระพุทธศาสนาในทางไหนดี ทั้งนี้อาจกลัวจะจูงคนได้น้อย ถ้ากล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็น อเทวนิยม ไม่สอนว่ามีพระเจ้าสร้างโลก อย่างไรก็ตามบางคนก็กล้ากล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพราะถือว่าเป็นเรื่องของการหาเหตุผลใครจะมีความฝังใจอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มีต่อศาสนาประเภทนี้ อาจอธิบายได้ด้วยคำพูดสั้น ๆ ว่า ศาสนาประเภทเทวนิยมเชื่อใน พรหมลิขิต คือ โชคชะตาของมนุษย์เราสุดแต่พระพรหมหรือพระเจ้าจะกำหนดให้ แต่พระพุทธศาสนาเชื่อใน กรรมลิขิต คือ การกระทำของเราเอง สร้างโชคดีโชคร้ายหรือความเจริญความเสื่อมให้แก่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้นในคำสอนทางพระพุทธศาสนา จึงไม่มีที่ให้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าหากสอนให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ สร้างความเจริญให้แก่ตน ด้วยความขยันหมั่นเพียรตามปกติธรรมดานี้เอง ความหนักเน้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงอยู่ที่การเว้นความชั่ว ประพฤติความดีและชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ดังได้กล่าวไว้แล้วในหลักทั่ว ๆ ไปแห่งพระพุทธศาสนา...
อาจมีคำถามขึ้นว่าพุทธศาสนิกชนก็มีการสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยและในบทสวดมนต์บางแห่งก็มีการขอพรเหมือนกัน เรื่องนี้ขอตอบว่า ผู้แต่งบทสวดมนต์ในชั้นหลังได้แทรกลงไปจริง แต่การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนานั้น เรื่องดั้งเดิมเป็นการท่องจำพระพุทธภาษิตหรือคำสั่งสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่บทสวดมนต์ เมื่อแปลออกแล้วจะเป็นเรื่องสอนในทางประพฤติ ปฏิบัติ เช่น มงคลสูตร สอนถึงข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อันเป็นสิริมงคล 38 ประการ กรณียเมตตสูตร สอนถึงการแผ่ไมตรีจิตไปในบุคคลและสัตว์ทุกประเภท อย่าคิดเบียดเบียนประทุษร้าย แม้พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่า ผู้ใดเกาะชายสังฆาฏิของพระองค์ ก็หาชื่อว่าเห็นพระองค์ไม่ ผู้ใดบูชาด้วยเครื่องสักการะต่าง ๆ ก็หาชื่อว่าบูชาพระองค์ด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยมไม่ ผู้ใดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจึงชื่อว่าบูชาพระองค์ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม อันนี้เป็นการแสดงหลักพระพุทธศาสนาอย่างตรงไปตรงมา
เพราะฉะนั้น บทสวดมนต์ทางพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่จึงเป็นข้อความในพระไตรปิฎก อันเป็นหลักคำสอนต่าง ๆ ส่วนที่มีผู้แต่งขึ้นเป็นบทเบ็ดเตล็ดในภายหลังที่มีขอพรต่าง ๆ นั้น เป็นเรื่องเพื่อปลอบใจและทำใจให้สบาย และเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ใช่หลักการใหญ่ทางพระพุทธศาสนาเพราะถึงอย่างไรก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ถ้าบุคคลไม่ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ดีที่ชอบแล้ว ก็จะไม่ได้รับผลที่ดีที่ชอบ การสวดมนต์ที่แสดงถึงหลักความประพฤติปฏิบัติจึงเป็นเพียงการกล่าวถึงตำรายา ยังไม่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ การลงมือประพฤติปฏิบัติจึงเป็นการรับประทานยาซึ่งสำคัญกว่าและจำเป็นกว่า เพราะเป็นเงื่อนสำคัญที่จะให้หายโรคภัยไข้เจ็บอย่างแท้จริง
เป็นอันสรุปว่า พระพุทธศาสนาไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลกและไม่สอนเรื่องการมีฤทธิ์เดชดลบันดาลสร้างสรรค์ของพระเจ้า หากสอนให้มนุษย์สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเองด้วยการกระทำที่ดีที่ชอบของตนเอง
3.ศาสนาที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลก มีชื่อเรียกว่า อเทวนิยม ศาสนาพุทธ, และศาสนาเชนอยู่ในประเภทนี้ ศาสนาประเภทนี้แม้จะมีไม่น้อยกว่าสอง ก็หมายความเฉพาะหลักการใหญ่ที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลกเท่านั้น ส่วนหลักการปลีกย่อย และสาระสำคัญอย่างอื่นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ศาสนาเชน (Jainism) เป็นศาสนาที่ศาสดาชื่อมหาวีระ ตั้งขึ้นหรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าศาสนานิครนถ์ก็ได้ ศาสนานี้ปฏิเสธหรือคัดค้านเรื่องพระเจ้าสร้างโลกไว้รุนแรงมาก ปัจจุบันยังมีผู้นับถืออยู่หลายล้านคนในอินเดีย เป็นศาสนาระหว่างพราหมณ์กับพุทธ ไม่ตรงกับพราหมณ์ในเรื่องสร้างโลก ตรงกับพุทธในเรื่องสอนหลักอหิงสา คือ ไม่เบียดเบียน ไม่ตรงกับพุทธที่ศาสนาเชนสอนเรื่องอัตตา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตา ศาสนาเชนแบ่งออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายนุ่งผ้าขาว (เศวตัมพร) กับนิกายไม่นุ่งผ้า (ทิคัมพร) แปลว่า นุ่งทิศ ที่เรียกว่า ชีเปลือย
พระพุทธศาสนาไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลก แต่มิได้สั่งสอนในลักษณะรุกรานศาสนาอื่น ด้วยเหตุนี้เอง ฝรั่งที่เขียนตำราทางพระพุทธศาสนาบางคนจึงพยายามอธิบายว่า พระพุทธศาสนามิได้เป็นอเทวนิยม และบางคนเพื่อจะตัดปัญหาเสียเลยจึงกล่าวว่า พระพุทธศาสนาไม่เป็นทั้งเทวนิยม (สอนเรื่องพระเจ้าสร้างโลก) ไม่เป็นทั้ง อเทวนิยม (ปฏิเสธเรื่องพระเจ้าสร้างโลก) ซึ่งตามความเห็นของข้าพเจ้าที่จัดพระพุทธศาสนาไว้ในประเภทอเทวนิยมนั้น ก็เห็นว่า เราพูดกันอย่างตรงไปตรงมาดีกว่า เพราะพระพุทธศาสนาไม่ต้องการคนนับถือเพียงเพราะเชื่อหรือไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้าสร้างโลก หากสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล และลงมือปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักศีลธรรมและทางดับทุกข์เป็นประมาณ คนเราไม่จัดว่าดีหรือชั่ว เพราะเชื่อหรือไม่เชื่อในพระเจ้า แต่ดีชั่วเพราะการกระทำ และความประพฤติ และถ้าจะกล่าวกันอีกอย่างหนึ่ง ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่ค่อยต้องการคน ที่จะหันมานับถือโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่หลักธรรมข้ออื่น ๆ ที่สอนไว้ให้พิจารณาและปฏิบัติซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
เป็นอันว่าเรารู้จักวิธีจัดศาสนาต่าง ๆ ในโลกเป็น 3 ประเภทอย่างนี้ เราก็จะรู้ได้ว่าศาสนาประเภทไหนสอนหนักเน้นในเรื่องอะไร พระพุทธศาสนาที่เรานับถือต่างจากศาสนาอื่นอย่างไร ต่อไปนี้ จึงจะกล่าวถึงหลักการสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นลำดับไป...
ลักษณะการสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 3 อย่าง
กล่าวตามแบบแผนทั่วไป การสอนของพระพุทธเจ้าแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ :-
1. ทรงสอนให้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
2. ทรงสั่งสอนมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้
3.ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ที่ผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ
ในที่นี้ข้าพเจ้าประสงค์จะตั้งข้อสังเกตเป็นส่วนตนเอง ในการสอนของพระพุทธเจ้า โดยแบ่งหลักการสอนออกเป็น 3 ประการเหมือนกันคือ:-
1. ทรงสั่งสอนโดยการปฏิวัติ เป็นการ “เปลี่ยน” หลักคำสอนดั้งเดิมของศาสนาพื้นเมืองอย่างกลับหน้ามือเป็นหลังมือ
2. ทรงสั่งสอนโดยการปฏิรูป เป็นการสอนโดยวิธีดัด “แปลง” ของเก่าที่ยังไม่ดีให้ดีขึ้น หรือของเก่ามีความหมายอย่างหนึ่งแต่นำมาแปลความหมายเสียใหม่เพื่อให้ตรงกับหลักเหตุผลยิ่งขึ้น
3. ทรงสั่งสอนโดยตั้งหลักขึ้นใหม่ ที่ยังไม่มีสอนในที่อื่น แต่ก็เป็นไปตามหลักสัจธรรมที่ทรงค้นพบ เพื่อที่จะขยายความแห่งหลักการสอน 3 ประการนี้ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสอธิบายไว้ในที่นี้สักเล็กน้อย
1. การสอนโดยวิธีปฏิวัตินั้น หมายถึง การเปลี่ยนหลักการเดิมที่สอนกันมาทั้งหมด เช่น การสอนให้ฆ่าสัตว์บูชายัญของศาสนาพราหมณ์ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธและสอนในทางตรงกันข้าม ให้มีเมตตากรุณาต่อสัตว์แทน การสอนให้ทรมานตนในการปฏิบัติเพื่อบรรลุคุณธรรมชั้นสูงพระพุทธเจ้าทรงทดลองมาแล้ว เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ ทางสอนให้ใช้วิธีอื่นที่เรียกว่าทางสายกลาง เป็นการอบรมกายวาจาใจในทางประพฤติปฏิบัติที่ชอบแทน การสอนว่ามีอัตตาตัวตนหรือที่เรียกว่าอาตมันเป็นหลักใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ทรงสอนในทางตรงกันข้ามที่เรียกว่า อนัตตาเพื่อไม่ให้ยึดมั่นในตัวตนแทน ในที่นี้ขอพูดแทรกเรื่องการปฏิวัติ (Revolution) สักเล็กน้อย คำนี้ใช้ใกล้กับคำว่าวิวัฒน์ (Evolution) ปฏิวัติหมายถึงการเปลี่ยนอย่างกลับหน้ามือเป็นหลังมือ ส่วนวิวัฒน์หรือวิวัฒนาการ หมายถึง ความค่อย ๆ เจริญขึ้นทั้งในทางธรรมชาติและความเป็นอยู่ของมนุษย์ การสอนศาสนาของพระพุทธเจ้าบางครั้งมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนหลักการที่สอนกันอยู่ดั้งเดิมอย่างตรงกันข้าม ก็ต้องสอนในทำนองนี้ เพื่อจูงให้เข้าใจหลักที่แท้จริงทางพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
2. การสอนโดยวิธีปฏิรูป (Reform) คือ ดัดแปลงของเก่าให้ดีขึ้นโดยอธิบายความหมายใหม่บ้าง โดยให้เหตุผลใหม่บ้าง เช่น คำสอนเรื่องพราหมณ์ว่าได้แก่ผู้ประเสริฐโดยชาติกำเนิด คือ เกิดจากมารดาบิดาอยู่ในวรรณะพราหมณ์ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายใหม่ว่า คนเราไม่เป็นพราหมณ์หรือผู้ประเสริฐเพราะชาติสกุล แต่เป็นผู้ประเสริฐเพราะการกระทำหรือความประพฤติ ศาสนาพราหมณ์สอนว่าให้ลงอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วจะบริสุทธิ์จากบาปได้ พระพุทธศาสนาสอนให้อาบน้ำในแม่น้ำคือศีล ได้แก่ ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันเป็นการอาบที่ตัวไม่เปียกแต่ทำให้บริสุทธิ์สะอาดได้ดีกว่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวต่อไปว่าถ้าใครประพฤติปฏิบัติตนดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ แม้น้ำดื่มในถ้วยก็เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว เรื่องเทวดาจริง ๆ ที่สอนกันอยู่ทั่วไป พระพุทธศาสนาสอนว่าคนเราอาจเป็นเทวดาได้ โดยตั้งอยู่ในคุณธรรม เช่น ความละอายแก่ใจ ความเกรงกลัวต่อบาป เป็นต้น
3. การสั่งสอนโดยตั้งหลักขึ้นใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นในเมื่อพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ตั้งขึ้นในท่ามกลางศาสนาอื่น ถ้าไม่มีอะไรเป็นของตนเองเลยก็ไม่ควรนับเป็นศาสนาที่ตั้งขึ้นใหม่ เพราะการค้นพบความจริงที่ยังไม่มีใครพบ ดังจะเห็นได้ในเรื่องหลักธรรมเรื่องความพ้นทุกข์ที่เรียกว่าอริยสัจ 4 ประการ เป็นหลักธรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ อันแสดงไว้ชัดทั้งเหตุและผล คือ การจะพ้นทุกข์ก็ต้องรู้ว่า อะไรเป็นตัวความทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุของมัน การดับความทุกข์คือดับอะไร และทำอย่างไร หรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ และหลักธรรมเรื่องอริยสัจนี้ พระองค์แสดงว่าได้ปฏิบัติมาแล้วด้วยพระองค์เองจนเกิดผลแล้วจึงได้ทรงนำมาสั่งสอน
จากข้อความที่กล่าวมาในบทนำพอเป็นสังเขปนี้ คงพอทำให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้เข้าใจในพระพุทธศาสนาขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น จะได้กล่าวถึงคุณลักษณะพิเศษแต่ละข้อของพระพุทธศาสนาในบทต่อ ๆ ไป ตามลำดับ
ในท้ายบทนำนี้ขอนำข้อความสั้น ๆ อันว่าด้วยคุณลักษณะพิเศษ 12 ประการแห่งพระพุทธศาสนามากล่าวไว้ เพื่อเป็นบทที่ตั้งในการอธิบายในบทต่อ ๆ ไป...
คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา
1.แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกหมด ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หากอยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริง ๆ
2.พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างแห่งลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยจนทุกวันนี้
3.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้ใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน คือ ไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ และความหลง
4.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุชาติและวงศ์สกุล โดยไม่ตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลต่ำสูง ยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้าม คือ ล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้จะเกิดในสกุลสูง กับได้ว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ
5.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกที่สอนปฏิวัติเรื่องการทำบุญ โดยวิธีฆ่าสัตว์ หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หากสอนให้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แทนการเบียดเบียน และสอนให้หาทางชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดว่าเป็นบุญ
6.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริง ให้สู้หน้ากับความจริง เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย แล้วให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้ รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน โดยชี้ไปที่ความประพฤติปฏิบัติว่าทำคนให้เป็นเทวดาได้
7.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้แก้ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาเศรษฐกิจ สอนให้แก้ความชั่วด้วยดี และสอนให้แก้ที่ตัวเองก่อนโดยไม่คอยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้ว เราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิต ก็ให้หัดแผ่เมตตาในตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
8.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นพระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาและการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสนาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้
9.พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อน ด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทาง ไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล
10. พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้รู้จักพึ่งตัวเองในการประกอบคุณงามความดี ในการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น ไม่สอนให้คิดแต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลักเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม (Law of Karma) อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมนับถือมากขึ้น
11. พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาเดียวในโลกที่กล้าปฏิเสธตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งชาวโลกถือกันว่าเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย (Science of Sciences) โดยได้เสนอหลักการอย่างอื่นที่สูงกว่า แน่นอนกว่าพร้อมทั้งให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจน
12.พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอนตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนที่วิชาวิทยาศาสตร์ของโลกเกิดเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้น
ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาเจริญยั่งยืนมาได้ถึง 2500 ปี หรือร้อยปีที่ 25 ที่เรียกว่า 25 พุทธศตวรรษ โดยนับ พ.ศ. 1 ตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วเป็นต้นมา ถ้าจะนับย้อนหลังเข้าไปถึงระยะเวลา 45 ปีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และเสด็จไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในคามนิคมชนบทราชธานีต่างๆ ด้วย ก็นับได้ว่าพระพุทธศาสนาดำรงมาด้วยดีจนย่างเข้าศตวรรษที่ 26 ได้ 45 ปีแล้ว
เฉพาะในประเทศไทย ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่า พระพุทธศาสนาแพร่มาถึงเมื่อ 2 พันปีล่วงมาแล้ว โดยประดิษฐานที่นครปฐมเป็นเบื้องแรก ก่อน พ.ศ. 500 การค้นพบศิลาสลักเป็นรูปกวางและรูปธรรมจักรอันเป็นเครื่องหมายแห่งการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกหรือปฐมเทศนาเนื้อหาแห่งพระธรรมนั้นมีชื่อเรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อคือพระธรรม)การสลักหินเป็นรูปล้อรถจึงหมายถึงธรรมจักรหรือวงล้อ คือพระธรรมและการสลักรูปกวางก็เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าการแสดงธรรมครั้งแรกนั้นได้กระทำ ณ ป่ากวาง (มิคทายะ แยกเป็น"มิคะ"แปลว่าเนื้อหรือกวาง "ทายะ" แปลว่าป่า จะแปลสั้นๆ ว่าป่าเนื้อหรือป่ากวาง หรือแปลเติมว่าป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อหรือกวางก็ได้ แสดงว่าคนโบราณเมื่อ 2 พันปีเศษมาแล้ว ได้รู้จักความหมายของคำว่า “ป่าสงวน” เป็นอย่างดี)
ก่อนที่จะเกิดการสร้างพระพุทธรูปต่างๆ นั้น มนุษย์ได้สร้างรูปธรรมจักรบ้าง กวางบ้าง พระบาทของพระพุทธเจ้าบ้างเป็นเครื่องหมายในพระพุทธศาสนา โบราณวัตถุที่ขุดพบ ณ บริเวณพระปฐมเจดีย์ แสดงว่าสมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งประเทศอินเดียได้นำพระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยเมื่อ 2 พันปีเศษมาแล้วเวลา 2 พันปีเศษ ไม่ได้ให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยกลายเป็นของโบราณ หรือล้าสมัยแต่ประการใด กลับปรากฏว่าในปัจจุบันนี้ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นโดยลำดับ
จำนวนวัดมีประมาณ 2 หมื่นวัด ภิกษุและสามเณรประมาณ 2 แสนรูป จำนวนผู้สมัครเข้าสอบนักธรรมและธรรมศึกษาประจำปี ซึ่งมีทั้งพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ไม่น้อยกว่า 1 แสน 5 หมื่นมาหลายปีแล้ว พุทธสมาคมและยุวพุทธิกสมาคมพร้อมทั้งเครือสมาคมและสาขาในพระนครและต่างจังหวัด กำลังขยายกิจการอยู่เรื่อยๆ ข่าวการแสดงปาฐกถาสนทนาธรรม และแสดงพระธรรมเทศนาอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เป็นข่าวประจำวันทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ ทางราชการประกาศหยุดราชการในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนไปรักษาศีล ฟังธรรม และบำเพ็ญการกุศล พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศชาติ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา โดยมีประชาชนจำนวนแสนห้อมล้อมรถพระที่นั่งเมื่อเสด็จกลับจากการประกอบพิธี ทางราชการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษเป็นการใหญ่ ประมวลเหตุการณ์เหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากแก้วลงในประเทศไทยมั่นคงเพียงไร
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ประพันธ์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รวบรวม
30/09/53