ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ประธานคณะ- อนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ๕/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๔ และ ที่ ๒๓๗/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ รายงานเกี่ยวกับกรณีวัดหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีลิขิตแจ้งว่า โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกได้มีหนังสือหารือแนวทางปฏิบัติของนักเรียนและครู ซึ่งกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้นำไปลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยแลนด์ฟิกส์ และลงในเว็บไซต์ลงข่าวทั่วไป ทำให้วัดหนองจอกเกิดความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง โดยแจ้งว่า กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติลงสื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกบริหารงานจัดการ ไม่เด็ดขาดทำให้แตกความสามัคคี ครูพุทธกับครูมุสลิมในโรงเรียนแบ่งเป็นฝักฝ่าย ไม่ทำการสอนนักเรียนเหมือนเช่นเดิม แบ่งแยกความคิดคน ๒ ศาสนา โดยมีทนายความ ๒ คน กับนักเรียนหญิง ๒ คน คลุมผ้าฮิญาบ อ้างว่ากฎหมายให้สิทธิมนุษยชนแก่ทุกคน เจ้าอาวาสวัดหนองจอก จึงได้ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อให้ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน เกิดความสามัคคีสงบสุข และขอให้เรียกผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก และทนายความกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกฎหมายทางพระพุทธศาสนา ว่า ที่ธรณีสงฆ์ที่กระทรวงศึกษาธิการเช่าซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัด หนองจอกเพื่อสร้างโรงเรียน กับกฎหมายการแต่งกายเชิงสัญลักษณ์ทางศาสนา การทำห้องละหมาด เป็นต้น ดังนั้น ในคราวประชุมคณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๕๗/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ได้มีมติให้คณะอนุกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ผลการตรวจสอบมีดังนี้

ข้อเท็จจริง
             วันพฤหัสบดี ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ คณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธ-ศาสนา ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ อนุกรรมาธิการฯ ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการฯ และผู้อำนวยการกลุ่มงานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้เดินทางไปวัดหนองจอก และได้เข้าพบเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พร้อมทั้งพระเลขานุการ วัดหนองจอก และเจ้าคณะแขวงกระทุ่มราย พร้อมทั้งได้เชิญ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก รองผู้อำนวยการฯ และผู้เกี่ยวข้องหารือเพื่อ หาทางแก้ไข โดยได้รับการชี้แจงดังนี้
             เจ้าอาวาสวัดหนองจอก (พระครูบวรคุณาธาร) พร้อมด้วยพระเลขานุการ (พระครูสังฆรักษ์ อนันต์) และเจ้าคณะแขวงกระทุ่มราย (พระครูผาสุกิจโกวิท) ได้แจ้งว่า การอ้างสิทธิการแต่งกายตามหลักศาสนาของชาวมุสลิม โดยอ้างหลักสิทธิตามกฎหมายของกลุ่มทนายความหรือกลุ่มที่อ้างว่ากลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ทางวัดถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของวัด ซึ่งชุมชนวัดหนองจอกอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยมาเป็นเวลาช้านาน การอ้างสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งกล่าวหาว่าวัดหนองจอกก้าวก่ายงานของโรงเรียน เป็นการกล่าวที่ไม่สมควร 
             จากหลักฐานและข้อเท็จจริงซึ่ง นายประพันธ์ หลีสิน ผู้อำนวยการโรงเรียน-มัธยมวัดหนองจอก ได้ชี้แจงพร้อมกับเอกสารที่เกี่ยวข้อง สรุปดังนี้
             เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร (นายเจริญ โต๊ะงิมา) ได้ยื่นหนังสือขอให้นักเรียนหญิง จำนวน ๑๗ คน ที่เรียนอยู่ที่ โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก แต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามคลุมผ้าฮิญาบมาโรงเรียน ซึ่งได้แนบหนังสือร้องขอของผู้ปกครองทั้ง ๑๗ คน มาด้วย ซึ่งโรงเรียนได้ตอบกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครที่ยื่นหนังสือไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ ว่า ไม่สามารถอนุญาตได้ตามระเบียบของโรงเรียน วัฒนธรรมโรงเรียน และความเหมาะสม เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในที่ของวัด ต่อมา วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ยื่นหนังสือขอให้ นักเรียนหญิงแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามอีกครั้ง โดยอ้างหลักศาสนาอิสลาม อ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโรงเรียนได้รับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องและตามอำนาจหน้าที่ แต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ซึ่งเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกตั้งแต่ชั้นมัธยม-ศึกษา ปีที่ ๑ จำนวน ๒ คน ได้แต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม โดยมีสัญลักษณ์เด่นชัดคือ การคลุมผ้าฮิญาบ ซึ่งโรงเรียนได้ขอให้นักเรียนแต่งกายปกติตามระเบียบของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกไปก่อน ระหว่างรอการพิจารณาดำเนินการ และโรงเรียนได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ หารือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม-ศึกษา เขต ๒ (สพม. ๒) เพื่อขอทราบแนวปฏิบัติในระหว่างรอการตอบข้อหารือ/แนวปฏิบัติ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒ นั้น โรงเรียนใช้วิธีเจรจาและให้เกียรติผู้ปกครองนักเรียน กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ และนักเรียน เพื่อบริหารความขัดแย้งดังกล่าว โดย ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกได้เปรียบเทียบให้ผู้ร้องขอทราบว่า ผู้-อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก สมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเทพ- ศิรินทร์ฯ ปทุมธานี (ท.ศ.ป.) เมื่อปี ๒๕๕๐ - ๒๕๕๒ ซึ่งความขัดแย้งในการบริหารงานลำบาก แต่อนุญาตให้ใช้ภาพถ่ายพระพุทธรูปแทนได้ หรือการไม่อนุญาตให้นำพระบรมรูป (รูปปั้น) รัชกาลที่ ๖ มาตั้งเพื่อประกอบพิธีในวันที่เกี่ยวกับลูกเสือ เช่น วันมหาธีรราชเจ้า เป็นต้น โรงเรียนก็ไม่นำมาตั้ง แต่ก็อนุญาตให้ใช้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๖ มาทำพิธีได้ จึงทำให้สามารถบริหารโรงเรียนและอยู่ร่วมกันกับมัสยิด มีการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เข้าใจและมีความสุข ซึ่งการเปรียบเทียบกรณีโรงเรียนเทพศิรินทร์ฯ ปทุมธานี ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับครูที่นับถือศาสนา- อิสลามโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก จำนวน ๑๐ คน ในวันเข้าค่ายคุณธรรมที่มัสยิด อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี และนักเรียนหญิง ๑๑ คน ที่ผู้ปกครองยื่นขอแล้ว เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓
             สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒ ได้ตอบข้อหารือแนวปฏิบัติ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยให้โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (ก.สถ.พฐ.) ของโรงเรียนเพื่อดำเนินการ ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โรงเรียนได้เชิญคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกคำขอ (หมายความว่า นักเรียนทั้ง ๑๗ คน ต้องแต่งกายตามระเบียบของโรงเรียน โดยมีเหตุผลประกอบ คือ ระเบียบของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรมของโรงเรียนวัดหนองจอก ที่เข้าเรียนและจบไปแล้ว ๕๗ รุ่น หรือ ๕๗ ปี) และได้แจ้งสิทธิอุทธรณ์ไปยังนักเรียน ทั้ง ๑๗ คน แล้ว เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตามที่อยู่ที่ ผู้ปกครองทั้ง ๑๗ คน ได้ระบุไว้ในคำขอ
             ส่วนคำสั่งของเจ้าอาวาสวัดหนองจอกที่สั่งให้ครูนักเรียนไม่ต้องแต่งกายแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนานั้น พิจารณาแล้วเนื่องจากกระทบสิทธิของครู ซึ่งต่างจาก นักเรียนที่มีกฎระเบียบอยู่แล้วชัดเจน โรงเรียนได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๒ แล้วเช่นกัน เพื่อทราบแนวปฏิบัติในการดำเนินการต่อไป และในกรณีที่เกิดขึ้น นายวิชัย ธรรมเจริญ ซึ่งเป็นอนุกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประมาณปี ๒๕๔๐ เศษ สมัยรับราชการอยู่ที่กรมการศาสนา ได้มีหนังสือจากเขตบางกะปิ โดยอ้างหนังสือร้องเรียนของ นายสามารถ มะลูลีม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้นได้อ้างนโยบายกระทรวงศึกษาธิการว่า โรงเรียนใดมีนักเรียนผู้นับถือศาสนาอิสลาม จะต้องจัดห้องละหมาดให้ด้วย แต่เจ้าอาวาสวัดเทพลีลาไม่อนุญาต เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในวัดทางพระพุทธศาสนา ดังนั้น จึงขอให้กรมการศาสนา กระทรวง-ศึกษาธิการ ดำเนินการขอให้วัดปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ แต่กรมการศาสนาพิจารณาเห็นว่า กรมการศาสนาไม่มีอำนาจที่จะให้ดำเนินการใด ๆ เพราะวัดเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนวัดและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการใด ๆ ในเขตวัด หรือในที่ธรณีสงฆ์ของวัด เป็นอำนาจของเจ้าอาวาส ซึ่งต้องปฏิบัติไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย และจารีตประเพณี ที่เคยปฏิบัติมา จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังเขตบางกะปิ และเรื่องก็เงียบไป

ข้อพิจารณา
             เนื่องจากการอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องยึดถือการปฏิบัติตามหน้าที่ของคนไทยตามรัฐธรรมนูญด้วย โดยการปฏิบัติตามหลักศาสนา ลัทธิทางศาสนา และ ความเชื่อของตน แต่จะต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีงาม ตลอดถึงไม่กระทบสิทธิของผู้อื่นด้วย ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยม วัดหนองจอกได้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และกรณีที่วัดเทพลีลาไม่อนุญาตให้โรงเรียนมัธยมวัดเทพลีลาจัดห้องละหมาดในเขตวัดเทพลีลามาแล้ว
             คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญในการให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา กรณีการแก้ไขวัดหนองจอกได้เสนอให้คณะสงฆ์วัดหนองจอกได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และให้โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก คณะครู กรรมการสถานศึกษา ได้ถือปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิดและละเมิดสิทธิของวัดในฐานะที่เป็นนิติบุคคล
             ในการนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำรายงานผลกรณีดังกล่าวนำกราบถวายกรรมการมหาเถรสมาคมในการประชุมได้รับทราบ โดยขอเสนอข้อควรปฏิบัติดังนี้
             ๑. โรงเรียนหรือหน่วยราชการใดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ การใช้พื้นที่ต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วิถีไทยและวิถีพุทธ และกฎระเบียบของวัด
             ๒. ให้คณะสงฆ์มีส่วนร่วมในการพิจารณาการแต่งตั้งผู้บริหารของโรงเรียน หรือหน่วยราชการ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์
             ๓. ควรให้พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา หลักคุณธรรม จริยธรรมทุกระดับชั้น
             ๔. โรงเรียนหรือหน่วยราชการใดขอใช้พื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ จักต้องหารือและได้รับความยินยอมจากเจ้าอาวาส และคณะสงฆ์ผู้ปกครองทุกระดับจนถึง เจ้าคณะจังหวัดก่อน
             ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามข้อเสนอที่ควรปฏิบัติทั้ง ๔ ข้อ

ที่มา:http://www.mahathera.org/detail.php?module=news&id=83&title=01

 

 

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก