สำนักพัฒนาคุณธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ จัดประชุมวิพากษ์ร่างแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) ที่โรงแรมรอยัลซิตี้ ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร(วันที่ 11 กันยายน 2555) เขาเชิญตัวแทนจากศาสนาต่างๆ นักวิชากร ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคุณธรรมเข้าร่วมประชุม ในที่ประชุมจึงมีทั้งนักบวชจากหลายศาสนา และฆราวาส ร่วมกันวิพากย์ร่างแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ งานนี้เริ่มต้นตั้งแต่เช้า
ช่วงขณะที่กำลังเดินเข้าโรงแรมรู้สึกใจคอไม่ค่อยดีกลัวว่าจะถูกคนมองในแง่ร้าย แต่พนักงานต้อนรับบอกว่านิมนต์เลยครับหลวงพ่อ มากันหลายรูปแล้ว จึงเบาใจว่าอาตมาไม่ได้เข้าโรงแรมรูปเดียว ยังมีอีกหลายรูปเข้าร่วมในการวิพากย์ครั้งนี้ พักหลังๆการประชุมมักจะจัดที่โรงแรมเพราะมีความสะดวกมากกว่าที่อื่น แต่ก่อนหากเป็นงานเกี่ยวกับทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมมักจะนิยมจัดในวัด เพราะสภาพพื้นที่และบรรยากาศเหมาะที่จะสนทนาเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมจริยธรรม แต่หลายปีมานี้งานประชุมส่วนมากต่างพากันไปจัดในโรงแรม พระสงฆ์จึงต้องเดินเข้าโรงแรมเพื่อเข้าร่วมประชุม
ร่างแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติกำหนดพันธกิจไว้ห้าประการคือ(1) พัฒนาคนให้มีคุณธรรมเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมและมีวิถีชีวิตที่มั่นคงบนพื้นฐานของความเป็นไทย (2) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักในความสำคัญและมีส่วนร่วมในกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม (3) สร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีธรรมาภิบาล เป็นสังคมสมานฉันท์และยั่งยืน (4) พัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้มีประสิทธิภาพในมิติต่างๆ และ (5) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
กำหนดยุทธศาสตร์ไว้สี่ยุทธศาสตร์คือ(1)วางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย (2)สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม(3)สร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้เป็นเอกภาพ(4) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านคุณธรรมสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
กำหนดแผนกุลยุทธไว้อีกสิบหกประการ หากทำสำเร็จตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับนี้สังคมไทยจะมีคุณธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิต อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น สันติสุขในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าประสงค์คือคนไทยยึดถือและปฏิบัติตามคุณธรรมเก้าประการเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตคือมี(1)สติ อดทน อดกลั้น (2)ความซื่อสัตย์สุจริต (3) ขยันหมั่นเพียร (4)ความรับผิดชอบและมีวินัย(5) เมตตา เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (6)ความกตัญญู(7)ความสามัคคี (8)ความยุติธรรม (9) พอเพียง ประหยัดและอดออม
ดูจากคุณธรรมพื้นฐานเก้าประการแล้วอาจจะยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด อย่างเช่นความละอายและเกรงกลัวต่อบาป(หิริ โอตตัปปะ) อันเป็นธรรมคุ้มครองโลกก็น่าจะเพิ่มเข้ามาได้ เพราะหากคนมีความละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาปแล้ว การทำความผิดศีลธรรมจะลดน้อยลง แต่อย่างน้อยคุณธรรมทั้งเก้าก็ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมได้ส่วนหนึ่ง
ปีพุทธศักราช 2550 รัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนพิเศษ 88 ง ประกาศ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2550 ซึ่งได้ให้ความหมายของคุณธรรมไว้ว่า “คุณธรรม” หมายความว่า สิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองใจให้เกลียดความชั่ว กลัวบาป ใฝ่ความดี เป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ เกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบเย็นภายใน และเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย
ในระเบียบสำนักนายกฉบับเดียวกัน ยังได้ให้คำจำกัดความของจริยธรรมไว้ว่า “จริยธรรม” หมายความว่ากรอบหรือแนวทางอันดีงามที่พึงปฏิบัติ ซึ่งกำหนดไว้สำหรับสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงาม ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ความรักสามัคคี ความอบอุ่น มั่นคงและปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
งานนี้สำนักพัฒนาคุณธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมตั้งความหวังไว้อย่างเต็มที่ว่าร่างแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับที่ 1 จะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทย คุณธรรมต้องปลูกฝัง ส่วนจริยธรรมต้องส่งเสริม ต้นไม้หากจะให้มั่นคงแข็งแรงทนต่อกระแสลมแรงได้ต้องปลูกมาตั้งแต่ต้นยังเล็ก มนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกันหากอยากให้คนในสังคมมีคุณธรรมก็ต้องปลูกฝังแต่ยังเด็กค่อยๆพัฒนาขึ้นเรื่อยๆเหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นทีละนิด
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/09/55
รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ http://www.dra.go.th/