การประชุมคณะสงฆ์ธรรมยุตที่เมืองเดนปาซาร์ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียในช่วงวันที่ 20-24 มิถุนายน 2555 ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ประธานในที่ประชุมได้แก่พระธรรมวราจารย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระธรรมเจติยาจารย์ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร และยังมีพระเถระอีกจำนวนมากเข้าร่วมประชุมด้วย ในฝ่ายของคณะสงฆ์อินโดนีเซียพระปัญญาวราภรณ์ สังฆปาโมกข์คณะสังฆเถรวาทแห่งอินโดนีเซีย และ ดร.เอ โจโก อธิบดีกรมศาสนาพุทธอินโดนีเซียเข้าร่วมประชุมด้วย ประชุมทั้งวันตั้งแต่เช้าจนดึก เพราะมีเรื่องที่จะต้องรับทราบและมีปัญหาอุปสรรคมากที่จะต้องหาทางแก้ไข
การเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียสะดวกสบายมาก ไม่ต้องขอวีซ่า มีเพียงหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออีกอย่างน้อยหกเดือน ซื้อตั๋วเครื่องบินก็ออกเดินทางได้เลย ตั๋วเครื่องบินราคาไม่คงที่ หากจองไว้นานๆอาจจะมีราคาเพียงเจ็ดพันบาท แต่ถ้าหากต้องการเดินทางเร่งด่วนโดยไม่ต้องจองล่วงหน้าอาจจะทะลุถึงสองหมื่นบาท ในทางเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของอุสงค์อุปทาน หากมีคนต้องการมากราคาก็ต้องแพงเป็นธรรมดา
การประชุมจัดขึ้นที่ห้องประชุมรามาด้า คอนแวนซั่น เมืองเดนปาซาร์ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ เนื่องจากสำนักสงฆ์วิสมาสมณะ ยังไม่พร้อมไม่มีห้องประชุมใหญ่พอที่จะรองรับผู้เข้าร่วมประชุมเกือบสองร้อยคน มีพระภิกษุจำนวนถึง 90 รูป เป็นพระสงฆ์ที่จำพรรษาที่ประเทศอินโดนีเซียประมาณ 50 รูป ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) เจ้าหน้าที่สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ตัวแทนพระธรรมทูตไทยจากสี่ทวีปมาจากหลายประเทศเช่นอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป ฮ่องกงไต้หวัน อินเดีย เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กงสุลประจำเกาะบาหลี อธิบดีกรมศาสนาพุทธ อินโดนีเซีย ตัวแทนจากสมาคมชาวพุทธอินโดนีเซีย และพุทธศาสนิกชนทั้งจากประเทศไทยและอินโดนีเซีย
จากรายงานของพระครูประกาศธรรมนิเทศประธานกรรมการบริหารคณะสงฆ์ธรรมยุตอินโดนีเซียสรุปว่า “ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียมีพระสงฆ์ไทยอยู่จำพรรษาจำนวนมากมีหลายนิกาย ในส่วนของคณะธรรมยุตมีวัดและสำนักสงฆ์ไทยสามสิบกว่าแห่ง มีพระธรรมทูตจำนวน 42 รูป นอกจากนั้นยังมีพระสงฆ์อีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เดินทางมาในนามของพระธรรมทูตแต่เดินทางมาเองสร้างวัดเอง
ยังมีคณะสงฆ์ธรรมยุตอินโดนีเซียซึ่งบริหารงานกันเองเป็นหน่วยงานที่ดูแลพระสงฆ์ชาวอินโดนีเซียโดยเฉพาะ แต่ไม่ทราบจำนวนพระสงฆ์ชาวอินโดนีเซียที่แน่นอนว่ามีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ มีวัดของคณะสงฆ์อินโดนีเซียอยู่แทบทุกเกาะ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมนดุต ยอร์กจากาตาร์ วันนั้นสังฆนายกและเลขาธิการของคณะสงฆ์อินโดนีเซียเข้าร่วมประชุมด้วย
พระสงฆ์อีกส่วนหนึ่งซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเข้าในสังกัดของใครคือพระสงฆ์ชาวอินโดนีเซียที่อุปสมบทจากประเทศไทย อยู่จำพรรษาในประเทศไทยได้สักพักก็เดินทางกลับอินโดนีเซีย ต้นสังกัดเดิมเป็นพระสงฆ์ไทย แต่จากสัญชาติและเชื้อชาติก็ต้องบอกว่าเป็นพระสงฆ์อินโดนีเซีย พระสงฆ์ชาวอินโดนีเซียเหล่านี้ก็มักจะคิดว่าตนเองสังกัดคณะสงฆ์ไทย ส่วนคณะสงฆ์อินโดนีเซียก็บอกว่าอยู่ในสังกัดของคณะสงฆ์อินโดนีเซีย พระสงฆ์เหล่านี้มีจำนวนมากขึ้นทุกปี เรื่องนี้ก็อยู่ในวาระของการประชุมซึ่งกำลังหาทางแก้ไขว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ คณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์อินโดนีเซียได้จัดทำกรอบข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศอินโดนีเซีย ในอนาคตคงมีหนทางแก้ไข
ยังมีพระสงฆ์จากประเทศอื่นๆอีกเช่นพม่า ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ทิเบต สรุปว่าในประเทศอินโดนีเซียพระพุทธศาสนามีทุกนิกาย พระสงฆ์มาจากแทบทุกประเทศ ดูเหมือนว่าชาวอินโดนีเซียเองก็รู้จักพระสงฆ์เป็นอย่างดี เดินไปไหนมาไหนมักจะทักทายด้วยคำง่ายๆว่า ”ภันเต” เช่นหากพบตอนเช้าก็จะบอกว่า “เซลามัต ปากี ภันเต แปลว่า สวัสดีตอนเช้าท่านผู้เจริญ”
วาระการประชุมจะเน้นที่การรายงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัญหาอุปสรรค มาตรการการดำเนินการแก้ไข การบริหาร การปกครอง การปฏิบัติศาสนกิจของคณะสงฆ์ไทยในประเทศอินโดนีเซียจากเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ปัญหาจากพระเถรานุเถระและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ทั้งจากประเทศไทยและองค์ทางศาสนาของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันมีอธิบดีกรมศาสนาพุทธเป็นหน่วยงานดูแล ส่วนหน่วยงานอื่นๆก็ได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขเช่นปัญหาเรื่องการขอหนังสือเดินทาง ปัญหาเรื่องวีซ่า เพราะหากจะอยู่ที่อินโดนีเซียนานๆก็ต้องมีวีซ่า ส่วนผู้ที่เดินทางไปไม่เกินหนึ่งเดือนไม่ต้องมีวีซ่า กระทรวงต่างประเทศมีกฎเกณฑ์ในแต่ละเรื่องชัดเจน ต้องทำความเข้าใจให้ดี หนังสือเดินทางก็มีหลายประเภท พระสงฆ์ไทยที่อยู่ในประเทศอินโดนีเซียต้องปฏิบัติตามกฎหมายอินโดนีเซียอย่างเคร่งครัด
ประเทศอินโดนีเซียมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีเกาะประมาณหนึ่งหมื่นเจ็ดพันเกาะ มีเกาะใหญ่ๆห้าเกาะคือเกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะสุลาเวสี เกาะปาปัวและเกาะบอร์เนียว ส่วนเกาะอื่นๆยังมีอีกมาก แต่ละเกาะก็มีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน นับถือศาสนาต่างกัน มีขนเผ่าบางเผ่าที่ประกาศว่าไม่นับถือศาสนาใดเลยก็มีแต่นับถือตามประเพณีที่บรรพบุรุษสืบทอดกันมาเช่าชนเผ่า “บาดุย” ยังนับถือวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด ไม่ติดต่อกับโลกภายนอก แต่กลายเป็นเสน่ห์ที่ผู้คนอยากจะไปชม
เกาะบาหลีหากเทียบกับเกาะอื่นๆในอินโดนีเซียก็เป็นเกาะขนาดเล็ก ประชาชนส่วนมากนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู นอกจากนั้นยังมีศาสนาอื่นๆอีกเช่นอิสลาม คริสต์ พุทธเป็นต้น วัฒนธรรมของเกาะบาหลีจึงผูกพันกับวิถีของฮินดู คนที่นี่ยังรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น ตอนเช้าและตอนเย็นจะเห็นผู้คนทั้งหญิงและชายแต่งชุดประจำเกาะถือเครื่องสักการบูชาไปไหว้ยังศาสนาสถานต่างๆ ที่เรียกว่า “ปูรา” หมายถึงวัดของฮินดูซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไปจำนวนมาก บางคนก็ไปไหว้ศาลประจำบ้านคล้ายๆศาลพระภูมิที่เมืองไทย แต่ภายในมีเทวารักษ์ตามความเชื่อของแต่ละคน คนที่นี่เขาไหว้วันละสามครั้งคือเช้า เที่ยง และเย็น
สำนักสงฆ์วิสมาสมณะ เป็นสำนักสงฆ์ไทยธรรมยุตแห่งแรกที่เกาะบาหลี กำลังก่อสร้างมีอาคารสามหลังเป็นศาลาที่ปฏิบัติศาสนกิจและปฏิบัติธรรมสำหรับพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน อีกหลังหนึ่งเป็นกุฏิที่พักสงฆ์และอีกหลังหนึ่งเป็นที่พักของอุบาสกอุบาสิกา มูลค่าการก่อสร้างน่าจะไม่ต่ำกว่าสองพันล้านรูเปีย คิดเป็นเงินไทยประมาณหกล้านบาท ยังเหลือที่ว่างอีกแห่งหนึ่งอยู่ติดกัน พระอาจารย์คำใส สมโณ ผู้ดำเนินการก่อสร้างบอกว่า “จะเหลือไว้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ในโอกาสต่อไปอาจจะสร้างพระอุโบสถ ตอนนี้ปล่อยให้ว่างไปก่อน”
พระธรรมทูตไทยในประเทศอินโดนีเซียเผยแผ่พระพุทธศาสนากับคนอินโดนีเซียโดยตรง บางวัดในบางเกาะแทบจะไม่มีคนไทยอาศัยอยู่เลย แต่สามารถสร้างที่พักสงฆ์ สำนักสงฆ์ หรือวัดได้โดยอาศัยพลังศรัทธาของคนอินโดนีเซียทั้งหมด ดังนั้นพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในประเทศอินโดนีเซียจึงต้องพูดอ่านเขียนภาษาอินโดนีเซียได้ แทบทุกรูปที่ได้พบมาอยู่ที่ประเทศนี้ไม่นานต่างก็สามารถพูดและสื่อสารกับคนอินโดนีเซียได้ พระธรรมทูตไทยที่เป็นเจ้าอาวาสในประเทศอินโดนีเซียพูดภาษาอินโดนีเซียได้ทุกรูป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
24/06/55
เดนปาซาร์ บาหลี อินโดนีเซีย