วันที่ 7 เมษายน 2558 เวลา 13.00 น. พระธรรมเมธาจารย์ รองประธานกรรมการบริหาร สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ผู้แทนเจ้าประคุณ สมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นประธานในพิธีปัจฉิมนิเทศพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมทูต) รุ่นที่ 21/2558 ณ สถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) วัดพระศรีมหาธาตุ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ถวายรายงานความว่า “ในนามสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พระเถรานุเถระ พระภิกษุผู้สำเร็จการฝึกอบรม และผู้เข้าร่วมในพิธีทุกท่าน รู้สึกเป็นพระคุณอย่างสูง ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้รักษาการแทนเจ้า คณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้โปรดมีบัญชาให้พระเดชพระคุณฯ มาเป็นประธานในพิธีปัจฉิมนิเทศ และมอบวุฒิบัตรในครั้งนี้ เกล้าฯ ขออนุญาตรายงานกิจการพระธรรมทูตไปต่างประเทศโดยสังเขป ดังนี้
การดำเนินการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เริ่มจากมหาเถรสมาคมมอบหมายให้กรมการศาสนากับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมจัดการฝึกอบรมขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2509 ณ ตำหนักล่าง วัดบวรนิเวศวิหาร โดยรับพระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งเข้ารับการฝึกอบรม ภายหลังต้องหยุดไป ขณะที่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุดังกล่าว มหาเถรสมาคม จึงดำริให้สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการฝึกอบรมพระภิกษุเพื่อส่งไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
สำหรับการฝึกอบรมฯ ประจำปี 2558 เป็นการฝึกอบรมรุ่นที่ 21 แบ่งการฝึกอบรมเป็น สามภาค คือ ภาควิชาการ ภาคจิตภาวนา และภาคศึกษาดูงานนมัสการสังเวชนียสถานประเทศอินเดีย-เนปาล รวมเวลา 3 เดือน สำหรับคณาจารย์ผู้ถวายความรู้ได้รับความร่วมมือจาก พระเถรานุเถระ พระธรรมทูต คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย คณาจารย์วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) สะพานใหม่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในส่วนของสถานที่ฝึกอบรมได้รับความอนุเคราะห์จากวัดพระศรีมหาธาตุ วัดเฉลิมพระเกียรติราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 4 วัดไทยสิริราชคฤห์ วัดไทยไวสาลี วัดกุสาวดีพุทธวิหาร วัดไทยเชตวันมหาวิหาร วัดไทยสารนาถ วัดเนรัญชราวาส และวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย
ในการดำเนินการครั้งนี้ ได้รับความอุปถัมภ์และสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในนามมหาเถรสมาคม มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์พระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) พระเถรานุเถระ วัด คณะสงฆ์ธรรมยุตในต่างประเทศ และผู้มีจิตศรัทธาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดียิ่ง
สำหรับผู้สำเร็จการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 21 ประจำปี พ.ศ. 2558 นี้ มีจำนวน 51 รูป คาดว่าจะได้พระธรรมทูตผู้มีความสามารถ ทั้งด้านความรู้ ความสามารถ มีอาจาระและศีลาจารวัตร อันดีงาม ความเสียสละ อดทน ตลอดถึงความสมัครสมานสามัคคี และก่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาของชาวพุทธทั่วไป
บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว เกล้าฯ ขอประทานอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรม พระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ขานชื่อผู้สำเร็จการฝึกอบรม เข้ารับวุฒิบัตร และผู้ให้การอุปถัมภ์การฝึกอบรมฯ เข้ารับเกียรติบัตรและของที่ระลึก พร้อมกับขอประทานกราบเรียน พระเดชพระคุณฯ ได้โปรดให้โอวาทแก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติศาสนกิจ เป็นสิริมงคลแก่คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ดำเนินการฝึกอบรม ตลอดถึงอุบาสกอุบาสิกาผู้ถวายการอุปถัมภ์ครั้งนี้โดยทั่วกัน
จากนั้นพระธรรมเมธาจารย์ ประธานในพิธีได้ให้โอวาทสรุปความว่า “พระเถรานุเถระ พระธรรมทูต และขอเจริญพรญาติโยมที่ได้มาร่วมประชุมในงานปัจฉิมนิเทศ ตลอดจนได้ให้การสนับสนุนการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศทุกท่าน
วันนี้พระธรรมทูตได้สิ้นสุดการอบรมตามหลักสูตรแล้ว พระธรรมทูตรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 21 ที่คณะสงฆ์ได้จัดการอบรมพระธรรมทูตเพื่อส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ การฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้นมีหลักสูตรการฝึกอบรม 3 เดือน
การฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้นเป็นงานของคณะสงฆ์ เป็นโครงการที่ทำเพื่อความเจริญของพระพุทธศาสนา ดำเนินตามเจตนารมณ์ที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้แก่พระอรหันต์สาวกจำนวน 1250 องค์ที่มาประชุมกันที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ เมื่อครั้งพุทธกาล เพราะพระอรหันต์เหล่านั้นเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงต้องวางหลักการ อุดมการณ์และวิธีการสำหรับนักเผยแผ่ไว้
ในเบื้องต้นคือจะต้องไม่กล่าวร้าย ไม่กล่าวโทษใคร ต้องสำรวมในพระปาฏิโมกข์ แม้ว่าสมัยนั้นพระสงฆ์ทุกรูปที่มาร่วมประชุมจะเป็นพระอรหันต์ แต่พระพุทธองค์ก็ได้แสดงหลักการของนักเผยแผ่ไว้ เพื่อเป็นธรรมนูญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาว่าจะต้องทำอย่างนี้
เพราะว่าพระสงฆ์ในสมัยนั้นมาจากชนชั้นวรรณะต่างกัน มาจากลัทธิความเชื่อต่างกัน แม้ว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ก็อาจจะยึดตามแนวทางเดิมที่ตนเคยปฏิบัติมาก่อนอยู่บ้าง จึงต้องวางหลักการ วางธรรมนูญว่าสำหรับการประกาศพระพุทธศาสนา จึงแสดงไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์
การที่เราได้มาอบรมเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แม้ว่าจะไปอยู่ในประเทศที่แตกต่างกัน แต่ก็มีแนวทางเดียวกัน ดังที่พุทธเจ้าแสดงไว้ว่า “อนุปวาโท อนุปฆาโต ปาฏิโมกเข จ สํวโร” และต้องยึดหลักสามประการไว้คือ “ไม่ให้ทำชั่ว ให้ทำดี และทำใจให้ผ่องแผ้ว” เป็นแบบอย่างของคณะสงฆ์ไทยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์แต่ละรูปมาจากสถานที่ต่างกัน จึงต้องมีการฝึกอบรมให้มีความเป็นเอกภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
การสอนธรรมะสำหรับพระธรรมทูตจึงต้องมีหลักการ มีรูปแบบอย่างเดียวกัน แม้ว่าจะไปอยู่ในสถานที่ต่างกันก็ตาม ก็ต้องยึดมั่นในหลักการ ต้องสำรวมระวังกิริยาอาการ สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เป็นแบบอย่างที่ดี
บัดนี้ท่านทั้งหลายก็ได้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว ทุกท่านก็จะได้เป็นพระธรรมทูตที่มีความสามารถ จากนี้ต่อไปก็ขอให้ท่านจงมีความวิริยะอุตาสาหะ ที่จะนำคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ให้แก่ประชาชนได้รับรู้ ได้เข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
ตอนนี้พวกท่านทั้งหลายก็ได้ชื่อว่าสำเร็จการการศึกษาแล้วเหมือนนักมวยที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี แต่ก็เป็นเหมือนการซ้อมกับกระสอบทราย ต่อจากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของพวกท่านที่จะแก้ปัญหาบนเวทีแห่งการเผยแผ่ด้วยตนเอง อยู่บนเวทีการจะแพ้หรือชนะก็อยู่ที่พวกท่าน
ผมขออวยพรให้ท่านได้ออกไปประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ด้วยอำนาจของฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และความเพียรพยายามของพวกท่าน ขอให้ทุกท่านมีพละ มีกำลังสิติ มีปัญญา ทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงจงทุกประการ และขอให้มีความเจริญก้าวหน้าในพระพุทธศาสนา ตลอดกาลเป็นนิจเทอญ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รายงาน
08/04/58