วันที่ 18 มกราคม 2557 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระวันรัต ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม กรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) เป็นประธานในพิธีปฐมนิเทศผู้เข้ารับการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รุ่นที่ 20/2557 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร
พระศากวงศ์วิสุทธิ์(พระ ดร. อนิล ธมฺมสากิโย)รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้กล่าวถวายรายงานสรุปตวามว่า "สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) คณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ผู้เข้าร่วมพิธีทุกท่าน รู้สึกเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณฯ มาเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รุ่นที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2557 ครั้งนี้
สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ในความอุปถัมภ์ของมหาเถรสมาคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มีการฝึกอบรมพระภิกษุเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อเตรียมพระธรรมทูตที่มีคุณภาพ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความรู้ความสามารถทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่งไปปฏิบัติศาสนกิจประจำวัดต่าง ๆ ในต่างประเทศ
2.เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความสามัคคี มีความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแผ่ในต่างประเทศ และให้มีหลักการสอนในทางเดียวกันให้มากที่สุด
3. เพื่อสนองงานด้านการเผยแผ่ของคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคม
4. เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและรักษาศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก
หลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ใช้เวลาการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 3 เดือน ระหว่างวันที่ 18 มกราคม ถึง 11 เมษายน ศกนี้ โดยแบ่งการฝึกอบรมเป็น 2 ภาคคือ ภาควิชาการ ภาคศึกษาดูงานและปฏิบัติจิตภาวนาในประเทศอินเดีย-เนปาล
นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มการฝึกอบรมทักษะภาษาอังกฤษด้านต่าง ๆ โดยให้มีการประเมินผลด้านภาษาอังกฤษก่อนการจบการฝึกอบรมด้วย
สำหรับผู้บรรยายรายวิชาและวิทยากรพิเศษ ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่าง ๆ อาทิ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนการสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนการฝึกอบรม ได้รับความอุปถัมภ์จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระเถรานุเถระ พระธรรมทูต คณะสงฆ์ธรรมยุตในต่างประเทศ และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย
ด้านสถานที่พักและสถานที่ฝึกอบรมพระธรรมทูตฯ นั้น ได้รับความอนุเคราะห์จาก วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ฝึกอบรมภาควิชาการ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นสถานที่ฝึกภาคศึกษาดูงานและปฏิบัติจิตภาวนาในประเทศอินเดีย-เนปาล ระยะที่ 1 วัดป่าพุทธคยา วัดเนรัญชราวาส รัฐพิหารประเทศอินเดีย เป็นต้น เป็นสถานที่ฝึกภาคศึกษาดูงานและปฏิบัติจิตภาวนาในประเทศอินเดีย-เนปาล ระยะที่ 2
สำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ในรุ่นที่ 20 นี้ มีจำนวน 38 รูป ประกอบด้วยวิทยฐานะ พระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปรียญโท 3 รูป เปรียญตรี 5 รูป แผนกธรรม นักธรรมเอก 36 รูป นักธรรมโท 2 รูป ในจำนวนนี้มีคุณวุฒิสายสามัญ ระดับปริญญาโท 4 รูป ปริญญาตรี 14 รูป และต่ำกว่าปริญญาตรี 19 รูป คาดว่าการฝึกอบรมพระธรรมทูตฯ ครั้งนี้ จะได้ผู้เข้ารับการอบรมเป็นพระธรรมทูตที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความมั่นใจ มีศีลาจารวัตรอันดีงามและความสามัคคี อันจะนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อไป
บัดนี้ งานทุกส่วนและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านพร้อมแล้ว ขอประทานกราบเรียน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ประธานในพิธี ได้โปรดเมตตากล่าวเปิดการฝึกอบรมฯ ให้โอวาทเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ตลอดถึงอุบาสก อุบาสิกา ผู้ถวายการอุปถัมภ์ครั้งนี้โดยทั่วกัน"
จากนั้นสมเด็จพระวันรัตประธานในพิธีปฐมนิเทศได้ประทานโอวาทเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นที่ 20 ประจำปี 2557 สรุปความว่า "ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตทุกท่าน ขอแสดงยินดีที่ท่านทั้งหลายได้ผ่านสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตในครั้งนี้ การฝึกอบรมเพื่อที่จะทำให้เรามองเห็นความดีความชั่วให้ถูกต้อง มนุษย์เรานั้นความชั่วของคนอื่นมักมองไม่ค่อยเห็น ความดีความชั่วคืออะไร หลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสาระสำคัญอยู่ที่โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ" ในเบื้องต้นของการทำงานของพระธรรมทูตต้องแยกดีแยกชั่วให้ได้ มองให้เห็นความดีความชั่ว อย่างมองว่าความชั่วเป็นความดีเช่นการสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบมักจะอ้างว่าการสูบบุหรี่นั้นดี ส่วนผู้ที่ไม่สูบก็จะมองว่าการสูบบุหรี่ไม่ดีจึงไม่สูบ นี่เป็นตัวอย่าง่ายๆ ส่วนเรื่องอื่นๆก็ต้องแยกให้ได้ว่าดีชั่วคืออะไรไปสอนเขาให้รู้จักดี รู้จักชั่ว สอนให้เขาไม่ทำบาปซึ่งตรงกับคำว่า “สพฺพปาปสฺส อกรณํ" จากนั้นจึงสอนให้เขาทำดี ภาษาบาลีแปลว่าการยังกุศลให้ถึงพร้อม คนที่เห็นความชั่วเป็นความดียังมีอยู่มาก พระธรรมทูตต้องเห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว อย่าเห็นดีเป็นชั่วและอย่าเห็นชั่วเป็นดี
ข้อต่อไปคือ “สจิตฺตปริโยทปนํ” อบรมจิตชำระจิตของตนให้สงบ สะอาดบริสุทธ์ ต้องทำไว้ในใจว่าเราไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ไม่ใช่ไปเพื่อประโยชน์ของเรา ต้องแนะนำเขาให้ละชั่ว ทำดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ นี่คืองานสำคัญของพระธรรมทูต
คำสอนต่อไปคือ "อนุปวาโท อนุปฆาโต" อย่าไปด่าเขา อย่าไปทำร้ายเขา เคยมีพระเถระรูปหนึ่งเทศน์ออกวิทยุเกี่ยวกับศาสนาหนึ่งที่ติดคำสอนตามต้นไม้ พระรูปนั้นสั่งให้ลูกศิษย์นำป้ายนั้นลง ถามว่าพระรูปนั้นทำถูกไหม ต้องบอกว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ไม่เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ในต่างประเทศที่พระธรรมทูตจะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น เขานับถือศาสนาอื่นต่างจากเรา หากไปด่าเขาว่าร้ายเขา ถ้าเขาปลดป้ายวัดไล่ออกจากประเทศจะว่าอย่างไร พระธรรมทูตต้องประนีประนอม สอนเฉพาะหลักคำสอนของศาสนาเราอย่าไปด่าศาสนาอื่น
ข้อต่อไปคือ "ปาฏิโมกเข จ สํวโร" อันนี้เป็นของการอบรมตัวเอง เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมตัวเอง สำรวมในพระปาฏิโมกข์ พระสงฆ์ทุกรูปต้องเข้าใจภาระหน้าที่ของตัวเอง ต้องรักษาความประพฤติของตนให้ดี อย่าลืมข้อปฏิบัติของเรา เรื่องนี้พระสงฆ์ต้องทบทวนอยู่แล้วด้วยการลงปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน ต้องสำรวมระวังให้ดี เราเลือกที่จะมาเป็นพระสงฆ์เอง ไม่มีใครเชิญให้เราเข้ามา เมื่อเข้ามาอยู่ในองค์กรแล้วก็ต้องปฏิบัติตามกฏกติกาให้ได้ หากจะมีข้อบกพร่องก็ให้มีน้อยที่สุด
หลักการข้อต่อไปคือ “มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ" เรื่องของการอยู่การฉัน จะอยู่อย่างไรให้เหมาะกับสถานะ ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านหรูๆ ร้านธรรมดาก็ได้ ต้องอยู่ง่าย กินง่าย ไปนั่งฉันกาแฟในร้านหรูๆ สะพายกล้องราคาแพงอย่างนี้ไม่น่าจะเหมาะกับความเป็นพระธรรมทูต พระธรรมทูตต้องมีความประพฤติดี ส่วนความรู้มีบ้างไม่มากนักก็ได้ ถ้าเราไม่มีเขาจะให้ แต่ถ้าเราแสดงว่าเรามีเขาก็จะไม่ให้ หากประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าพระสงฆ์ไม่มีวันอดตาย
อีกข้อหนึ่งคือ "ปนฺตญฺจ สยนาสนํ" อันนี้ก็เป็นการอบรมตัวเอง ต้องอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ที่นั่งที่นอนต้องสมถะสมควรแก่ฐานะ ซึ่งจะเป็นการสร้างศรัทธาความเลื่อมใสให้แก่ประชาชนได้ ศรัทธาปสาทะมาจากความประพฤติ ไม่ใช่มาจากความรู้ แต่ถ้ามีทั้งความประพฤติดีและความรู้ดีนั่นคือสุดยอด แต่ถ้าหากจะเลือกระหว่างความประพฤติกับความรู้ ความประพฤติต้องมาก่อน ส่วนความรู้มาทีหลัง ความรู้จะมีมากเท่าไหร่ก็สู้ความประพฤติดีไม่ได้ พระธรรมทูตจึงพึงสังวรระวังไว้ คนที่มีความประพฤติดีไม่ต้องพูดมากเช่นพระอัสสซิแสดงธรรมแก่พระสารีบุตรซึ่งเป็นคนฉลาด คนที่ฉลาดจะนับถือคนที่มีความประพฤติดี คนที่ผู้คนจะเงี่ยหูฟังต้องเป็นคนที่มีความประพฤติดี ไม่ต้องพูดมากก็ได้ พูดน้อยแต่มีสาระเช่นหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เป็นต้น พูดน้อยแต่ฟังแล้วกินใจ เพราะท่านพูดออกมาจากความจริงจากการประพฤติปฏิบัติดี
หลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วในโอวาทปาฏิโมกข์ พระธรรมทูตต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี หน้าที่ของพระธรรมทูตคือปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นก่อนที่จะออกไปเป็นพระธรรมทูตเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงต้องผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้เป็นผู้มีความประพฤติดีและมีความรู้ดีซึ่งเป็นสาระสำคัญของการฝึกอบรม จงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การที่จะปฏิบัติดีได้ก็ต้องมีการศึกษามีความรู้จึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำอะไรให้มีสมาธิคือความตั้งใจมั่น ตั้งใจแน่วแน่เพื่อที่จะได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ขออนุโมทนาแก่พระเถรานุเถระคณาจารย์ทุกท่านที่ได้มาถวายความรู้แก่พระธรรมทูต ขออนุโมทนาแก่ผู้ที่ให้การสนับทุกภาคส่วน ขออนุโมทนาแก่ผู้มีจิตศรัทธาที่ได้ถวายภัตตาหารแด่พระธรรมทูต ขอให้ทุกท่านจงประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง วันนี้ขอเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมทูต) รุ่นที่ 20 ประจำปีการศึกษา 2557
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รายงาน
19/01/2557