เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นประธานในพิธีปฐมนิเทศผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่าง ประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 22/2559 ที่พระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขนกรุงเทพมหานคร วันที่ 7 มกราคม 2559
พระปริยัติสารเวที รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้กล่าวถวายรายงานสรุปความว่า “ในนามของคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) คณะสงฆ์วัดพระศรีมหาธาตุ พระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ และผู้เข้าร่วมพิธี ทุกท่าน รู้สึกเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณฯ มาเป็นประธาน ในพิธีเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) รุ่นที่ 22 ประจำปี พุทธศักราช 2559 ในครั้งนี้
ณ โอกาสนี้ เกล้าฯ ขอประทานกราบเรียนประวัติความเป็นมาของการฝึกอบรมโดยสังเขป ดังนี้ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ในความอุปถัมภ์ของมหาเถรสมาคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการฝึกอบรมพระภิกษุเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้น ตั้งแต่ พุทธศักราช 2538 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อ เตรียมพระธรรมทูตที่มีคุณภาพ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความรู้ความสามารถทั้งในทางโลกและทางธรรม เพื่อส่งไปปฏิบัติศาสนกิจประจำวัดต่าง ๆ ในต่างประเทศ
2.เพื่อ ฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความสามัคคี มีความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแผ่ในต่างประเทศ และให้มีหลักการสอนพุทธธรรมที่สอดคล้องเหมาะสม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
3. เพื่อสนองงานด้านการเผยแผ่ของคณะสงฆ์ และมหาเถรสมาคม และ
4. เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและรักษาศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก
สำหรับ หลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ในครั้งนี้ใช้เวลาในการฝึกอบรม ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง 4 เมษายน รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 3 เดือน โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 3 ภาคคือ ภาควิชาการ ภาคจิตภาวนา และภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย-เนปาล
ด้าน สถานที่พักและสถานที่ฝึกอบรมพระธรรมทูต นั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากวัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ฝึกอบรมภาควิชาการ และภาคจิตภาวนา ส่วนภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย-เนปาล มีวัดเนรัญชราวาส วัดกุสาวดีพุทธวิหาร วัดไทยสิริราชคฤห์ เป็นต้น
สำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ในรุ่นที่ 22 นี้ มีจำนวน 55 รูป ประกอบที่มีด้วยวิทยฐานะ พระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปรียญเอก 1 รูป เปรียญโท 2 รูป เปรียญตรี 7 รูป แผนกธรรม นักธรรมเอก 44 รูป ในจำนวนนี้มีคุณวุฒิสายสามัญ ระดับปริญญาโท 11 รูป ปริญญาตรี 22 รูป และต่ำกว่าปริญญาตรี 22 รูป
คาดว่าเมื่อผู้เข้ารับการพระธรรมทูตเหล่านี้ผ่านการฝึกอบรมพระธรรมทูตฯ ตามหลักสูตรครั้งนี้ จะทำให้ได้พระธรรมทูตที่มีความรู้ ความสามารถ ความมั่นใจ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความเสียสละอุทิศตนในการประกาศเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อไป
อนึ่ง ในโอกาสที่เจ้าประคุณฯ ได้เมตตามาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการปฐมนิเทศ หรือพิธีปัจฉิมนิเทศการฝึกอบรมพระธรรมทูตในแต่ละครั้งที่ผ่านมา และได้เมตตาประทานโอวาทแนวทางการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตนั้น สำนักฝึกอบรมฯ ได้ตระหนักถึงสาระสำคัญ และได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินการฝึกอบรมให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
บัดนี้ งานทุกส่วนและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านพร้อมแล้ว ขอประทานกราบเรียน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้โปรดเมตตากล่าวเปิดการฝึกอบรมฯ และให้โอวาทเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ตลอดถึงอุบาสก อุบาสิกา ผู้ถวายการอุปถัมภ์ครั้งนี้โดยทั่วกัน ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต ประธานในพิธีได้กล่าวเปิดการฝึกอบรมและให้โอวาทสรุปความว่า “ขอถวายนมัสการพระเถระทุกรูป ขอแสดงความยินดีกับท่านผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเป็นพระธรรมทูตไปปฏิบัติ ศาสนกิจในต่างประเทศตามความประสงค์ทุกท่าน การจะเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ต้องได้รับความลำบากในหลายๆด้าน ดังที่เราท่านทั้งหลายได้ทราบกันอยู่แล้ว แต่อาศัยความเสียสละของทุกท่านที่ได้ปฏิบัติศาสนากิจแล้วนั้นจึงดำเนินไปได้ มีความวัฒนาถาวร และมั่นคงดังที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นความเสียสละความสุขส่วนตัวนั้น เป็นหลักใหญ่ เป็นข้อสำคัญของท่านผู้มุ่งจะไปเป็นพระธรรมทูตและเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา ต่อท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง
การที่จะเป็นพระธรรมทูตนั้น ก็ดังที่ทราบแล้วว่าเราจำเป็นจะต้องไปเผยแผ่ศาสนธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าซึ่งรวมเรียกว่าพระศาสนานั้นให้ประชาชนโดยทั่วไปได้มีความรู้ ได้มีความเข้าใจและได้นำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นคุณประโยชน์ ทั้งแก่ตนเอง ทั้งหมู่คณะ ทั้งแก่สังคม ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อพหุชนคือประชาชนที่ร่วมเป้นอยู่เป้นกลุ่มเป็นก้อนใน โลกนี้
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านทั้งหลายจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจใน ศาสนาธรรมอย่างแจ่มชัด อย่างแจ่มแจ้ง คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมท่านผู้ที่จะเดินทางไปเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศ นั้น
วัตถุประสงค์หลักคือให้มีความรู้ มีความเข้าใจในศาสนธรรมนั้น เพื่อที่จะได้นำไปประกาศเผยแผ่ได้อย่างถูกต้อง และมีผลดังที่ต้องการ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการจัดฝึกอบรมนี้ขึ้น การอบรมพระธรรมทูตนั้น ดังที่ท่านได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ หลักใหญ่ๆ พอสรุปได้ความว่า (1) ต้องมีความรู้ เพื่อจะนำความรู้นั้นไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ (2) ต้องมีความประพฤติ (3) ต้องมีความสามารถ น่าจะสรุปลงได้สามประการคือมีความรู้ มีความประพฤติและมีความสามารถ
ความรู้นั้นจะมีเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยการศึกษาเล่าเรียนตามหลักและด้วยการฝึกอบรม ดังที่เราท่านทั้งหลายกำลังทำอยู่นี้ และมีประโยชน์ที่จะได้นำความรู้ความสามารถนั้นไปประกาศ ให้ชาวต่างประเทศหรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ ได้เข้าใจ ให้เกิดศรัทธาความเลื่อมใสนำไปประพฤติปฏิบัติ นั้นเป็นงานสำคัญของการเป็นครู
ความประพฤติก็เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง ผู้ที่จะมีความรู้ไปประกาศแนะนำพร่ำสอนคนอื่นนั้น ตัวเองต้องประพฤติปฏิบัติได้ ประพฤติได้ จึงจะบอกและแนะนำคนอื่นได้ ถ้าตนองไม่มีคุณสมบัติด้านนี้ ไปแนะนำสั่งสอนคนอื่นก็จะไม่เกิดผลตามที่ประสงค์
ส่วน ความสามารถนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง ความสามารถนั้นจะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยการหมั่นทำ หมั่นประพฤติ กิจการใดก็ตามถ้าเราไม่ทำ ไม่ได้ประพฤติ ความสามารถก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้าเราขยันทำ ขยันประพฤติ ทำอยู่ทุกวัน ทำอยู่บ่อยๆ ความสามารถก็เกิดมีขึ้นได้ เพิ่มพูนขึ้นได้
ในสามประการนี้เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ก็มีสิ่งสำคัญอย่างสูงสุดคือความประพฤติ เพราะความประพฤตินั้น เป็นแรงดึงดูดให้บุคคลภายนอกได้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส และศรัทธาความเลื่อมใสนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดความอยากให้เข้ามาหา เข้ามานั่งใกล้ และเข้ามาฟังคำพูดของผู้ที่ตนเกิดศรัทธาความเลื่อมใส จึงเป็นเหตุสำคัญ บุคคลแม้จะมีความรู้ดี ความสามารถดี แต่ว่ามีความประพฤติไม่ดี ก็จะเป็นที่ตั้งของศรัทธาความเลื่อมใสของผู้อื่น เมื่อศรัทธาไม่เกิด ความเลื่อมใสไม่เกิด จะพูดอย่างไร จะแนะนำดีอย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุให้นำไปประพฤติปฏิบัติ ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อฟัง ตัวอย่างที่จะเห็นได้ก็มีอยู่ในพระศาสนานี้ คือพระอัสสชิเถระเจ้า อปุปติสสะหรือท่านพระสารีบุตรจะเข้าไปหา จะเข้าไปพบ ก็เพราะเห็นท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงเกิดศรัทธาเลื่อมใส อยากจะเข้าไปหา อยากจะเข้าไปพบ แม้จะต้องนั่งคอยจนโอกาสว่างก็ยินดีที่จะคอย
เพราะฉะนั้นความประพฤติจึงเป็นหลักสำคัญของผู้ที่จะไปเผยแผ่พระศาสนา หลักของความประพฤตินั้นคือธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงสั่งสอนไว้ เราทั้งหลายต่างก็ได้ศึกษาเล่าเรียนมีความรู้ด้วยกันทุกคน ดังนี้ผู้รายงานว่าผู้ที่เข้ารับการฝึกนั้นจบนักธรรมชั้นเอก เป็นเปรียญธรรมหลายรูป ปริญญาตรี ปริญญาโทก็มี
ข้อปฏิบัติอันเป็นแนวแห่งความประพฤติทุกคนต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นควรจะปฏิบัติอย่างไร ควรจะทำอย่างไร ก็ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยเหตุที่เราอาจจะย่อหย่อนไป เพราะอะไรบางอย่างก็สามารถจะตั้งใจทำให้เคร่งครัดด้วยความมีสติ สัมปขัญญะคอยเตือนตนเองอยู่ประจำ ก็คือมีความสำนึกในฐานะของตนว่า เราเป็นอะไร ควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร ถ้ามีสติสัมปชัญญะคอยเตือนตนอยู่อย่างนี้ ก็จะเคร่งครัดในข้อปฏิบัติซึ่งเราทั้งหลายทราบแล้ว อันเป็นพุทธบัญญํติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แนะนำไว้ เมื่อเคร่งครัดในข้อปฏิบัติก็จะเกิดความเป็นผู้มีความประพฤติดี ประพฤติชอบ เป็นเหตุตั้งมั่นของศรัทธาปสาทะของผู้พบเห็น เป็นเหมือนเหตุยึดเหนี่ยวจิตใจให้เขาได้มีความใคร่ที่จะเข้ามาหา ที่จะเข้ามาพบที่จะเข้ามาสนทนาปราศรัยด้วย ดังพระอัสสชิเถระเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นความรู้ ความสามารถและความประพฤตินั้น ขอให้นึกว่าความประพฤติเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ทุกท่านสามารถจะอบรมตนเองให้ตั้งอยู่ในกฎระเบียบที่พระ พุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เมื่อมีสติความสำนึกให้เกิดขึ้นในทุกขณะ เมื่อเป็นดังนี้ก็จะเป็นพระธรรมทูตที่มีคุณภาพและสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
ส่วนหลักความสามัคคีนั้นก็เป็นข้อที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะในหมู่พระสงฆ์หรือพระภิกษุสามเณรที่เราไปอยู่เท่านั้น สมควรที่จะทำให้เกิดมีขึ้นในประชาชนในประเทศนั้นๆ ตลอดถึงในบุคคลผู้มีศาสนาต่างกัน ไม่ควรจะคิดว่าเราเป็นศาสนาหนึ่ง เขาเป็นศาสนาหนึ่ง ทำอย่างไรถึงจะให้คนที่มีศาสนาต่างกันนั้น ได้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศาสนานั้นจะเป็นศาสนาใดก็ตาม ผมว่าวัตถุประสงค์นั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือต้องการให้ศาสนิกชนเป็นคน ดีด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีมีศาสนาไหนที่ประสงค์จะให้ศาสนิกชนของตนเองเป็นคนเลวเป็นคนชั่ว ล้วนต้องการให้ศาสนิกของตนเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น และความดีที่พระสงฆ์นั้นก็น่าจะเป็นอันเดียวกัน ความดีตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ความดีตามคำสอนของศาสนาอื่นๆ ก็น่าจะเป็นความดีเหมือนกัน เพราะความดีนั้นเป็นสากล ถ้าต่างกันก็ไม่น่าจะใช่ความดี เพราะฉะนั้นทุกศาสนานั้นมุ่งจะให้คนเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าความดีนั้นอาจจะดีมากดีน้อย อันนี้ไม่ไต้องไปพูด ไม่ต้องไปอวดว่าใครดีมากกว่ากัน ถ้าเข้าใจว่าทุกศาสนาต้องการมุ่งไปสู่ความดีด้วยกันทั้งนั้น ก็ไปจุดเดียวกัน ก็ควรจะไปด้วยกันด้วยไม่น่าจะมีอะไรในระหว่างทาง ขอให้ท่านปฏิบัติให้เกิดความสามัคคี เป็นข้อหนึ่งในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
การอบรม พระธรรมทูตที่เกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทุกภาพส่วนเป็นต้นว่ามหาเถรสมาคม องค์กรต่างต่างคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และศรัทธาสาธุชนทั้งหลายที่ให้การอุปถัมภ์ ที่สำคัญก็คือสถานที่จัดการฝึกอบรมนี้ ได้แก่วัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งมีท่านเจ้าอาวาสเป็นประธาน ตลอดจนถึงสถานที่อื่นๆ ในต่างประเทศ ที่มีวัดต่างๆที่ให้การอุปถัมภ์ ดังที่ท่านได้กล่าวนามมานั้น ก็ขออนุโมทนาทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ก็ขอให้การฝึกอบรมพระธรรมทูตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้น ขอให้ท่านผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตได้ตั้งใจรับการอบรมรับความรู้ และตั้งใจสำนึกถึงหน้าที่ของตน ทั้งในส่วนตนเอง ทั้งในส่วนที่จะนำไปเผยแผ่เพื่อประโยชน์แก่มหาชนโดยส่วนรวม ถ้าตั้งใจอย่างนี้ผลสำเร็จก็จะเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของคณะสงฆ์ ขององค์การต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผมขอเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ทุกท่านได้มีความเจริญในศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย กันทุกคน ขออนุโมทนาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
พระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 22 ประจำปี 2559 มีจำนวน 55 รูป ฝึกอบรมภาควิชาการและภาคปฏิบัติที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร และฝึกอบรมภาคศึกษาดูงานที่ประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นเวลา 10 วัน ผู้สนใจจะร่วมเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ติดต่อรายละเอียดได้ที่ พระครูวิลาสสรธรรม โทร. 081-828-1760 พระมหาจามร พรหฺมจาโร โทร. 086-788-9374 พระครูปลัดณัฐพงค์ ยโส โทร. 087-724-8899 และ กองรายได้วัดพระศรีมหาธาตุ โทร 02-521-0311, 02-927-4973.
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)
รายงาน