ในพระพุทธศาสนาคำหนึ่งที่มักจะกล่าวถึงมากที่สุดคำหนึ่งคือคำว่า "กิเลส"และอีกคำหนึ่งคือคำว่า "ทุกข์" เช่นเพราะคนมีกิเลสจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฎฎสังสาร คนมีกิเลสจึงมีทุกข์ คนมีทุกข์จึงมีปัญหาที่จะต้องคอยแก้ปัญหากันไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องของกิเลสจึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่อะไรคือกิเลส มีความเป็นมาอย่างไร และพระพุทธเจ้าได้แสดงเกี่ยวกับกิเลสไว้อย่างไรนั้น ไปดูพุทธศาสนสุภาษิตที่กล่าวถึงกิเลสในกิเลสวรรค และผู้ที่ละทุกข์ได้ทำไมจึงกลายเป็นวิเศษได้ โปรดดูได้จากพุทธศาสนสุภาษิตหมวดทุกข์
กิเลสวรรคคือหมวดกิเลส
1. สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม.ความกำหนัดเพราะดำริเป็นกามของคน.
สํ. ส. 15/32. อง. ฉกฺก. 22/460.
2. น สนฺติ กามา มนุเชสุ นิจฺจา. กามทั้งหลายที่เที่ยง ไม่มีในมนุษย์.
สํ. ส. 15/31.
3. กาเมหิ โลกมฺหิ น อตฺถิ ติตฺติ. ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ไม่มีในโลก.
ม. ม. 13/412. ขุ. เถร. 26/377.
4. น กหาปณวสฺเสน ติตฺติ กาเมสุ วิชฺชติ. ความอิ่มในกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีเพราะฝนคือกหาปณะ.
ขุ. ธ. 25/40. ขุ. ชา. ติก. 27/102.
5. นตฺถิ กามา ปรํ ทุกฺขํ. ทุกข์ (อื่น) ยิ่งกว่ากาม ย่อมไม่มี.
ขุ. ชา. เอกาทสก. 27/315.
6. นตฺถิ ตณฺหาสมา นที. แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี.
ขุ. ธ. 25/48.
7. อิจฉา โลกสฺมิ ทุชฺชหา. ความอยากละได้ยากในโลก.
สํ. ส. 15/61.
8. อิจฺฉา หิ อนนฺตโคจรา. ความอยากมีอารมณ์หาที่สุดมิได้เลย.
ขุ. ชา. ทุก. 27/94.
9. อิจฺฉา นรํ ปริกสฺสติ. ความอยากย่อมเสือไสซึ่งนรชน.
สํ. ส. 15/61.
10. นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ. ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี.
ขุ. ธ. 25-42,48.
11. โลโภ ธมฺมานํ ปริปนฺโถ. ความโลภเป็นอันตรายแห่งธรรมทั้งหลาย.
สํ. ส. 15/59.
12. อติโลโภ หิ ปาปโก. ความละโมบเป็นบาปแท้.
วิ. ภิ. 3/96. ขุ. ชา. เอก. 27/44.
13. นตฺถิ โมหสมํ ชาลํ. ข่ายเสมอด้วยโมหะ ไม่มี.
ขุ. ธ. 25/48.
14. ภิยฺโย จ กาเม อภิปตฺถยนฺติ. ผู้บริโภคกาม ย่อมปรารถนากามยิ่งขึ้นไป.
ม. ม. 13/411. ขุ. เถร. 26/377.
15. อูนา ว หุตฺวาน ชหนฺติ เทหํ. ผู้บริโภคกามเป็นผู้พร่องละร่างกายไป.
ม. ม. 13/412. ขุ. เถร. 26/377.
16. โภคตณฺหาย ทุมฺเมโธ หนฺติ อญฺเญว อตฺตนํ. ผู้มีปัญญาทราม ย่อมฆ่าตนเองเหมือนฆ่าผู้อื่น เพราะอยากได้
โภคทรัพย์.
ขุ. ธ. 25/63.
17. อวิชฺชานิวุตา โปสา. คนทั้งหลายอันอวิชชาหุ้มห่อไว้.
วิ. จุล. 7/400. องฺ. จตุกฺก. 21/93.
ทุกขวรรคคือหมวดทุกข์
1. นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา. ทุกข์เสมอด้วยขันธ์ไม่มี.
ขุ. ธ. 25/42.
2. สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา. สังขาร เป็นทุกข์อย่างยิ่ง.
ขุ. ธ. 25/42.
3. ทุราวาสา ฆรา ทุกฺขา. เหย้าเรือนที่ปกครองไม่ดี นำทุกข์มาให้.
ขุ. ธ. 25/55.
4. ทฬิทฺทิยํ ทุกขํ โลเก. ความจนเป็นทุกข์ในโลก.
องฺ. ฉกฺก. 22/394.
5. อิณาทานํ ทุกขํ โลเก. การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก.
นัย-องฺ. ฉกฺก. 22/394.
6. ทุกฺขํ อนาโถ วิหรติ. คนไม่มีที่พึ่ง อยู่เป็นทุกข์.
นัย-องฺ. ทสก. 24/27, 31.
7. ทุกขํ เสติ ปราชิโต. ผู้แพ้ ย่อมอยู่เป็นทุกข์.
สํ. ส. 15/122. ขุ. ธ. 25/42.
8. อกิญฺจนํ นานุปตนฺติ ทุกฺขา. ทุกข์ ย่อมไม่ตกถึงผู้หมดกังวล.
ขุ. ธ. 25/44.
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รวบรวม
22/07/53