สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากเมืองปัตนะ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 7ก.ค.ว่า เกิดเหตุระเบิดขนาดไม่รุนแรงหลายครั้งในบริเวณวัดพุทธคยา ในอำเภอคยา รัฐพิหาร ทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็น 1ใน 4ของสังเวชนียสถาน ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันอาทิตย์ ส่งผลให้พระสงฆ์บาดเจ็บ 2รูป แต่อาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ซึ่งรวมทั้งต้นพระศรีมหาโพธ์ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าเป็นที่ตรัสรู้ขององค์พระตถาคต ไม่ได้รับความเสียหาย
นายมานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ออกมาประณามอย่างรุนแรงต่อเหตุระเบิดดังกล่าว โดยระบุว่า การโจมตีศาสนสถานเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามรถอดทน ขณะที่ นายอาร์.พี.เอ็น. ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ของอินเดีย กล่าวว่า ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบในเหตุระเบิดครั้งนี้ และทางการอินเดียกำลังทำการสอบสวนเพื่อตรวจสอบว่าใครเกี่ยวข้องกับเหตุ ระเบิดครั้งนี้
ด้านเอส.เค. ภารัทวัจ เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง กล่าวว่า ประตูด้านหนึ่งของวัดพุทธคยาได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ไม่มีรายงานความเสียหายอื่น ๆ ต่อศูนย์กลางของชาวพุทธแห่งนี้ ส่วนผู้บาดเจ็บที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล คือชาวทิเบตคนหนึ่ง และผู้แสวงบุญอีกคนหนึ่งจากพม่า บาดเจ็บเล็กน้อย
นายอภัยนันทะ ผู้บัญชาการตำรวจรัฐพิหาร เผยว่า ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ ซึ่งเชื่อกันว่า เจ้าชายสิทธัตถะนั่งบัลลังก์ใต้ร่มโพธิ์แห่งนี้ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปี 531ก่อนคริสต์กาล ไม่ได้รับความเสียหาย จากการเปิดเผยของผู้อยู่ในเหตุการณ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า เกิดการระเบิดความดันต่ำไม่รุนแรงนักประมาณ 4 - 8ครั้ง หลังเกิดเหตุได้สั่งการให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นเฝ้าดูแลวัด ขณะที่ เอส.เค.ภารัทวัจ กล่าวว่า
เจ้าหน้าที่ยังพบระเบิดเพิ่มอีก 2ลูกภายในวัด แต่ก็ถอดสลักได้ โดยลูกหนึ่งถูกซุกซ่อนอยู่ใกล้กับพระพุทธรูปขนาดความสูง 24เมตร และกล่าวเพิ่มเติมว่า มีรายงานจากหน่วยข่าวกรองเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการโจมตีวัดพุทธคยา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากกว่านี้
วัดพุทธคยาตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ห่างจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350เมตร เป็น 1ใน 4พุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุดในอินเดีย วัดอยู่ห่างจากเมืองปัตนะ เมืองเอกของรัฐพิหาร ไปทางทิศใต้ประมาณ 110กม. วัดพุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางศาสนาและวัฒนธรรม โดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2545. และยังเป็นสถานที่แสวงบุญที่สำคัญของชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่น ไทยและพม่า แต่เทศกาลแสวงบุญเริ่มในเดือนก.ย. สำหรับในอินเดียแล้ว เหตุการณ์โจมตีชาวพุทธเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ระยะหลังมีความตึงเครียดมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุปะทะกันระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในพม่า ศรีลังกาและบังกลาเทศ
ที่มา:วันอาทิตย์ที่ 7กรกฎาคม 2556 เวลา 18:59 น.