เคยมีใครคนหนึ่งบอกว่าการเดินทางเป็นการศึกษานอกสถานที่ในห้องเรียนแห่งประสบการณ์ชีวิตที่กว้าใหญ่ที่สุด เพราะการเดินทางนั้นย่อมได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น หรือบางอย่างแม้เคยเห็นแล้วแต่เมื่ออยู่ในช่วงเวลากาละเทศะที่ต่างกันย่อมได้เห็นความแปลกใหม่ แม้การเดินทางจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิต แต่หากเมื่อใดมีโอกาสเดินทางไปยังประเทศที่ไม่เคยไปก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะคาดเดาไม่ได้ล่วงหน้าว่าสถานที่ที่กำลังจะเดินทางไปนั้นมีอะไรรออยู่เบื้องหน้า
วันหนึ่งขณะที่อยู่บนรถโดยสารไม่ประจำทางในช่วงที่เดินทางกลับจากลุมพินี ประเทศเนปาล อันเป็นสถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สองข้างทางมีทุ่งนากว้างใหญ่ไพศาล บางแห่งชาวนากำลังเก็บเกี่ยวข้าวที่สุกได้ที่ บางคนขนใส่ท้ายรถกำลังกลับบ้าน วันนั้นยังเช้าอยู่ เพราะต้องรีบออกจากลุมพินีก่อนเที่ยงวัน ได้เอ่ยถามพระวิทยากรประจำรถว่า “ทำไมจึงอยู่ได้นานในอินเดีย-เนปาล เพราะหากดูตามสถานที่ภายนอกแล้วไม่ค่อยมีความน่าอภิรมย์เท่าไรนัก”
พระวิทยากรท่านนั้นตอบว่า “ชีวิตพระหากต้องการจะอยู่ได้นานอาจารย์ผมสอนมาอีกทีหนึ่งว่าให้ยึดมั่นในคำสี่คำคือ “เที่ยว ทำ กรรม ศึก” เพียงเท่านี้ก็ทำให้วันเวลาผ่านไปอย่างมีคุณค่าและมีความหมายแล้ว โดยไม่รอให้ถามพระวิทยากรท่านนั้นอธิบายต่อในบัดเดี๋ยวนั้น คงเกรงว่าจะมีคนตีความผิดไปจากความหมายที่ต้องสื่อว่า “คำว่า “เที่ยว” ในที่นี่หมายถึงการไม่อยู่กับที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป เพราะหากอยู่ติดที่มักจะเกิดความเครียด ชีวิตต้องออกเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไปบ้าง หรืออาจจะตีความใหม่ได้ว่า “คำว่าเที่ยว” หมายถึงการเที่ยวกรรมฐานก็ได้ ครูบาอาจารย์ในอดีตที่ได้สั่งสอนหลักธรรมต่างๆส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวธุดงค์กรรมฐานในป่าเขาลำเนาไพร เพื่อค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของเรานี่เอง หลวงพ่อพุทธทาสเคยเขียนเป็นบทกลอนไว้ตอนหนึ่งว่า “จงรู้จักตัวเอง คำนี้หมายว่าค้นพบแก้วได้ ในตัวท่าน หานอกตัวทำไมให้ป่วยการ ดอกบัวบาน อยู่ในเรา อย่าเขลาไป ในดอกบัวมีมณีที่เอกอุตม์ เพื่อนมนุษย์ ค้นหามาให้ได้ การตรัสรู้หรือรู้สิ่งใดใด ล้วนมาจากความรู้ตัวสูเอง” หากมีเวลาโอกาสควรออกเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอก เที่ยวภายในได้ความสงบสุข ส่วนเที่ยวภายนอกได้เห็นความแปลกใหม่
คำว่า “ทำ” ในที่นี้หมายถึง การทำงานไม่ควรอยู่เฉยๆ ใครมีงานอะไรให้ทำให้ทำงานที่ตนชอบหรือที่ตนถนัด เพราะงานคือสิ่งที่ทำให้วันเวลาผ่านไปอย่างมีคุณค่า ควรทำวันให้มีค่า ทำเวลาให้มีคุณ งานอะไรก็ได้ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย บางคนชอบก่อสร้างก็ทำไป บางคนชอบทำบริขารก็ทำไป บางคนชอบเขียนหนังสือกว่าจะได้เป็นเล่มก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปี ทำงานอะไรก็ได้ที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อย่าอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไร ชีวิตต้องก้าวต่อไปด้วยการทำงาน ตอนนั้นคิดถึงเหล่าขอทานทุกเพศทุกวัยที่เชิงเขาคิฌชกูฏ เมืองราชคฤห์ พวกเขายึดอาชีพขอทานจากผู้จาริกแสวงบุญ วันหนึ่งคงได้ไม่กี่รูปี แต่พวกเขาก็ยังอยู่ได้ บางคนช่วยกันทำมาค้าขาย สามีภรรยาคู่หนึ่งยึดอาชีพขายมะขามป้อมซึ่งลูกโตมาก ทำอะไรก็ได้เท่าที่จะทำได้และมีความสุขกับการทำงานชีวิตก็จะผ่านไปอย่างมีความสุขได้ แม้จะเป็นงานเล็กๆในสายตาคนอื่น แต่ก็เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ในจิตใจเรา
คำว่า “กรรม” ในที่นี้หมายถึงกรรมฐาน พระภิกษุสามเณรหรือพุทธศาสนิกชนทิ้งกรรมฐานไม่ได้ เพราะกรรมฐานคือพื้นฐานแห่งความรู้ที่จะทำให้เข้าใจความจริงแท้ของชีวิต ซึ่งตามหลักการของพระพุทธศาสนาความเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา ดังที่แสดงไว้ในอนิจจสูตร (17/42/20) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้” สรุปว่าชาวพุทธไม่ควรทอดทิ้งการปฏิบัติกรรมฐาน โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรทิ้งกรรมฐานไม่ได้ หากทอดทิ้งเมื่อใดโอกาสที่จะลาสิกขากลับไปเป็นฆราวาสเป็นไปได้สูง
รถจอดข้างทางเพื่อเข้าห้องน้ำซึ่งน่าจะเป็นห้องน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมันคือทุ่งนาอันกว้างใหญ่นั่นเอง ชายชราคนหนึ่งกำลังจูงควายตามขอบทาง ไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพชีวิตแบบนี้อย่างสะดวกมากนักเวลาและสถานที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ชายชราจูงควายผ่านมาพอดี จึงยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ ครั้งแรกถ่ายภาพโดยไม่ขออนุญาตหน้าชายคนนั้นจึงบึ้งตึง แต่พอขออนุญาตและให้เงินสิบรูปีและบอกให้ยิ้ม เขาก็ยิ้มอย่างอารมณ์ดี
พอขึ้นรถได้วิทยากรก็ถือโอกาสบรรยายต่อไปว่า คำว่า “ศึก” ในที่นี้หมายถึงการศึกษา พระพุทธศาสนาได้กำหนดธุระในพระพุทธศาสนาไว้สองประการคือคันถธุระคือศึกษาเล่าเรียนและวิปัสสนาธุระการปฏิบัติสรุปว่าเป็นพระต้องเรียนหรือปฏิบัติหรือจะกระทำต้องสองอย่างควบคู่กันไปก็ได้ การจะเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องนั้นต้องศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมตามสมควร จากนั้นจึงนำสิ่งที่ได้ศึกษาไปปฏิบัติก็จะเกิดปฏิเวธอันเป็นผล หรือหากไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอะไร จะศึกษาคัมภีร์โบราณ ตำรับตำราโบราณก็ได้ พระภิกษุบางรูปศึกษาค้นคว้าตำราโหราศาสตร์จนกลายเป็นพระโหราจารย์ที่มีชื่อเสียง บางรูปศึกษาเล่าเรียนจนจบปริญญาเอก เวลาในการศึกษานั้นต้องค่อยเป็นค่อยเป็นค่อยไปรีบร้อน โบราณว่ามีสี่อย่างที่ไม่ควรรีบร้อนคือ “การปฏิบัติธรรม การศึกษา การมีครอบครัว การเดินขึ้นเขา” จะใจร้อนไม่ได้ต้องค่อยเป็นค่อยไป
จากคำถามสั้นๆที่ไม่ได้คาดหวังคำตอบอะไรนัก ถามเพียงเพราะอยากรู้ว่าทำไมจึงสามารถอยู่นิอินเดียดินแดนพุทธภูมิได้หลายปีโดยไม่เบื่อ แต่คำตอบกลับเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายวิทยากรบรรยายยาวเหยียด การได้ฟังคนอื่นพูด นับเป็นการเพิ่มพูนความรู้นอกตำราที่ดียิ่งอย่างหนึ่ง
สองข้างทางจากลุมพินีมุ่งหน้าสู่เมืองพาราณสี ยังเต็มไปด้วยผู้คนที่ทำมาหากิน แม้จะอยู่กันอย่างแออัด สถานที่สกปรกอย่าไรพวกเขาก็อยู่กันได้ ชีวิตหากไม่คิดอะไรมาก ดำรงอยู่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจกินอยู่เท่าที่มีชีวีก็มีสุขได้
หากการเดินทางคือการหาประสบการณ์ชีวิต ประเทศที่อยากไปและไม่เคยได้ไปยังมีหลายประเทศ คงต้องเก็บเงินและหาเวลาในการเดินทางไปเยี่ยมชมความแปลดกใหม่บ้าง กลับมาจากอินเดียมีคนส่งตั๋วเครื่องบินกรุงเทพฯ-ฮ่องกงมาให้บอกว่าขอเชิญไปร่วมงานสงกรานต์ที่วัดฮ่องกงธรรมาราม ฮ่องกง ซึ่งจะจัดในวันที่ 21 เมษายน 2556 เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯตอนเย็นวันที่ 19 เมษายน ได้เวลาออกเดินทางอีกแล้ว ไปทบทวนและศึกษาตามวลีที่พึ่งได้มาจากอินเดียที่ว่า ชีวิตพระจะอยู่ได้นานและอยู่อย่างมีความสุขนั้น ส่วนหนึ่งมาจากวลีสั้นๆสี่คำว่า“เที่ยว ทำ กรรม ศึก”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/04/56