สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) นิมนต์ไปบรรยายในหัวข้อ “เทคโนโลยีเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” ให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูต ที่สถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)รุ่นที่ 19 ประจำปีพุทธศักราช 2556 วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร กำหนดเวลาในช่วงบ่ายสองโมงถึงห้าโมงเย็น จึงไปก่อนเวลาเตรียมหัวข้อในการบรรยายที่ห้องพักสำหรับวิทยากร
ขณะที่กำลังตรวจสอบหัวข้อและสาระในการบรรยายก็มีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้ามาหาแสดงคารวธรรมตามธรรมเนียมแล้ว พระธรรมทูตรูปนั้นก็ถามว่า “ท่านอาจารย์สบายดีหรือครับ” หันไปมองก็จำได้ว่าท่านเป็นพระธรรมทูตจำพรรษาที่ต่างประเทศในแถบยุโรป เคยพบเห็นท่านที่วัดดอลาร์น่าวนาราม เมืองบลูแลงเง่ ประเทศสวีเดน ในช่วงที่ผู้เขียนเดินทางไปร่วมประชุมคณะสงฆ์แห่งสหภาพยุโรปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554
พอได้โอกาสจึงถามว่า “มาเมื่อไหร่ ที่สวีเดนเป็นอย่างไรบ้างครับ”
พระธรรมทูตรูปนั้นจึงเริ่มสาธยายสรุปความได้ว่า “หนาวครับที่อาณาบริเวณวัด หิมะตกขาวโพลนไปหมด แม่น้ำที่อยู่ติดวัดที่เคยใช้จัดแข่งเรือปีที่ท่านอาจารย์เดินทางไปนั้นกลายเป็นน้ำแข็ง สามารถเดินเล่นได้ ช่วงนี้อยู่ที่สวีเดนลำบากครับ เพราะหนาวมาก ออกไปไหนมาไหนไม่ค่อยได้ ต้องใช้เครื่องทำความร้อนปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่มนุษย์จะอยู่ได้ คนสวีเดนคงไม่เท่าไหร่เพราะคุ้นเคยกับสภาพอากาสดี แต่สำหรับคนไทยที่ไม่คุ้ยเคยกับอากาศหนาว ทุกข์ทรมานมากครับ อีกอย่างค่าไฟฟ้าแพงมาก หากเปิดใช้ทุกห้อง วัดก็รับค่าใช้จ่ายไม่ไหว”
“เรื่องของการดำเนินชีวิตและเรื่องของอาหารการฉันอยู่กันอย่างไร”
“ดำเนินชีวิตปรกติครับทำวัตรเช้าสวดมนต์เย็น บางรูปออกไปสอนบรรยายธรรมตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆในสวีเดน ที่สำคัญต้องพูดภาษาสวีดิชได้ครับ ส่วนเรื่องอาหารการเป็นอยู่ไม่มีปัญหาครับ ชาวบ้านเข้านำอาหารมาส่งเป็นอาทิตย์ครับ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา และมีพ่อครัวคอยทำอาหารถวายพระไม่ขาดครับ ที่ลำบากคืออากาศหนาวนี่แหละ”
“ช่วงนี้พระธรรมทูตที่สวีเดนส่วนหนึ่งจึงเดินทางหนีอากาศหนาว ส่วนมากจะมาที่เมืองไทย รอให้อากาศที่ยุโรปบรรเทาเบาบางลง คงจะเป็นหลังเดือนเมษายนโน่นแหละครับจึงจะกลับไปพบกันอีกครั้ง”
วัดดอลาน่าวนารามตั้งอยู่กลางหุบเขา อยู่ห่างไกลจากชุมชนเมือง หากจะเดินทางไปก็ต้องอาศัยรถยนต์โดยสารซึ่งมีวิ่งจากตัวเมืองไปยังชุมชนแห่งนั้นเช้าไปเย็นกลับ หรือใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง บริเวณรอบๆวัดเป็นเหมืองแร่ บางแห่งเลิกกิจการไปแล้วกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังมีบางแห่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ หากเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน แม้อากาศจะหนาวแต่ก็ยังมีแดด ไม่ถึงกับมีหิมะปลกคลุม อากาศกำลังดีหนาวกำลังพอดี
เมื่อถามว่าได้เดินทางไปฟินแลนด์บ้างหรือไม่
พระธรรมทูตรูปนั้นบอกว่า “ไปครับผมอยู่ทั้งสองวัดทั้งวัดดอลาน่า สวีเดนและ วัดพุทธธรรม เมืองตูรกู ประเทศฟินแลนด์ เพราะบางครั้งหากพระธรรมทูตที่วัดไม่มีก็ต้องไปช่วยกัน ที่ฟินแลนด์อากาศก็หนาวเย็น มีหิมะตกหนักเหมือนกัน หน้าที่ของพระสงฆ์ไทยส่วนหนึ่งจึงหมดไปกับการโกยหิมะออกจากทางเข้าวัด ไม่อย่างนั้นหิมะอาจจะท่วมวัดก็ได้”
ประเทศฟินแลนด์ดินแดนแห่งโทรศัพท์มือถือชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง เมื่อปีพุทธศักราช 2554 ช่วงเดือนพฤษภาคมเคยเดินทางไปร่วมงานเปิดวัดไทยธรรมยุตแห่งแรกคือ “วัดพุทธธรรม” ตอนนั้นแม้อากาศจะหนาวแต่ก็พออยู่ได้ แต่หากไปช่วงนี้คงไม่สะดวก วัดพุทธธรรมตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาริมป่าสนที่ยังรักษาความสมดุลของธรรมชาติไว้ได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนวัดไทยอีกแห่งหนึ่งคือ “วัดพุทธาราม” ตั้งอยู่ในราวป่ารอบๆเป็นทุ่งนา บรรยากาศร่มรื่น ทั้งสองวัดสร้างในนามองค์กรชาวพุทธฟินแลนด์ คนไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศฟินแลนด์มีจำนวนพอสมควร จึงได้สร้างวัดเพื่อจะได้ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เป็นศูนย์จิตใจของคนไทย ในช่วงวันหยุดจะพากันมาจัดกิจกรรมที่วัด ฟังเทศน์ อภิปรายธรรม หรือทำบุญตามประเพณีไทย วัดไทยจึงไม่เคยว่างเว้นจากพุทธศาสนิกชน
พระธรรมทูตรูปนั้นเดินไปกราบครูบาอาจารย์และทักทายพระธรรมทูตทั้งหลาย พอตอนเย็นผู้เขียนบรรยายเสร็จ จึงได้พบกันอีกครั้งที่ห้องพักสถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ท่านเข้ามาหาพร้อมกับพระธรรมทูตจากประเทศอื่นๆ ช่วงนั้นมีพระธรรมทูตไทยที่ไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศหลายรูปเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย เช่นวัดไทยเวโรน่า อิตาลี วัดพุทธบารมี เยอรมัน และยังมีอีกหลายประเทศที่จำชื่อวัดไม่ได้เช่นนอร์เวย์ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์เป็นต้น พระธรรมทูตเหล่านี้มีประสบการณ์ตรงในการทำหน้าที่ในต่างประเทศ สถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)จึงได้นิมนต์พระธรรมทูตจากต่างประเทศได้มีโอกาสถวายความรู้แก่ผู้รับการฝึกอบรมพระธรรมทูต เรียกว่าเป็นคำแนะนำจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เป็นวิธีการสอนแบบพี่สอนน้อง
พระธรรมทูตจากสวีเดนถามว่า “อาจารย์ครับไม่รู้ผมคิดถูกหรือคิดผิดที่เลือกเป็นพระธรรมทูตไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ แทนที่จะอยู่จำพรรษาที่เมืองไทย พอผมกลับมาอีกทีเพื่อนผมได้เลื่อนสมณศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆาธิการเป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าอาวาส แต่ผมอยู่ต่างประเทศนานๆกลับมาเมืองไทยกลับไม่มีที่อยู่”
จึงบอกว่า “มนุษย์เรานั้นมักจะได้อย่างเสียอย่างจะได้โดยส่วนเดียวโดยไม่มีอะไรเสียเลยนั้นหายาก ในพระไตรปิฎกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้แสดงโทษและประโยชน์ของการอยู่กับที่นานๆและโทษของการเดินทางไกลไว้ ดังที่แสดงไว้ในทีฆจาริกสูตรที่ 1 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/221/264) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษของภิกษุผู้ประกอบการเที่ยวไปนานการเที่ยวไปไม่มีกำหนดห้าประการคือ(1)ย่อมไม่ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง (2)ย่อมไม่เข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว (3) ย่อมไม่แกล้วกล้าด้วยสิ่งที่ได้ฟังแล้วบางประการ (4) ย่อมได้รับโรคเรื้อรังอย่างหนัก (5)ย่อมไม่มีมิตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษของภิกษุผู้ประกอบการเที่ยวไปนาน การเที่ยวไปไม่มีกำหนดห้าประการนี้แล”
การเดินทางไกลมิใช่จะมีแต่โทษยังมีประโยชน์มีอานิสงส์ในการเดินทาง ดังที่แสดงต่อไปว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเที่ยวไปมีกำหนดพอสมควรห้าประการนี้คือ (1)ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง (2) ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว (3) ย่อมแกล้วกล้าด้วยสิ่งที่ได้ฟังแล้วบางประการ (4) ย่อมไม่ได้รับโรคเรื้อรังอย่างหนัก (5) ย่อมมีมิตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเที่ยวไปมีกำหนดพอสมควรห้าประการนี้แล”
จะมองอะไรต้องมองทั้งสองด้านทั้งด้านที่มีโทษและด้านที่มีประโยชน์ การที่ท่านทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนา และได้รักษาศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไว้ได้ย่อมเป็นผู้ทำหน้าที่พระธรรมทูตได้ดีแล้ว จึงบอกท่านว่า “หากหมดหน้าหนาวหิมะหลอมละลายแล้ว ท่านต้องกลับวัดที่ยุโรปไปทำหน้าที่พระธรรมทูตต่อไป ส่วนตัวผมไม่มีโอกาสได้อยู่จำพรรษาในต่างประเทศ เพียงแต่เป็นผู้ผ่านทางเท่านั้น ผมเป็นประเภทตรงกันข้ามกับท่านคืออยู่ติดที่นานเกินไป”
อากาศหนาวที่เมืองไทยผู้คนชอบใจเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศแห่งความเย็นในสถานที่อันสงบ ผู้คนบางพื้นที่กำลังรอผ้าห่มกันหนาว แต่ที่ยุโรปความหนาวเป็นเรื่องที่ต้องอดทน เพราะหนาวที่นั่นมีแต่หิมะ ไม่รู้ใครเคยบอกไว้ว่า “พระเจ้าให้ความหนาวกับทวีปในแถบยุโรป อเมริกา แต่ก็ให้ปัญญาสำหรับมนุษย์จะได้อยู่กับความหนาวได้ ส่วนที่เมืองไทยพระเจ้าให้ธรรมชาติอันงดงามอากาศไม่หนาวไม่ร้อนเกินไปอยู่อย่างสบาย แต่ทว่ากลับให้ความขัดแย้งมาด้วย คนไทยจึงมีหลายกลุ่มในยามศึกช่วยกันรบ พอเวลาสงบก็หาเรื่องทะเลาะกัน”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
30/01/56