พุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแต่ละวันไม่เคยว่างเว้นจากผู้คน ที่เดินทางสัญจรมาจากสถานที่ต่างๆเพื่อสักการะสถานที่เป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานสำคัญของพระพุทธศาสนา มิใช่เพียงแต่ชาวพุทธเท่านั้น แม้คนอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก็ยังเดินทางมาเพื่อที่จะได้เห็นกับตาสักครั้ง หากใครที่เป็นชาวพุทธที่มีศรัทธาแรงกล้า ในช่วงชีวิตหนึ่งควรเดินทางไปถวายสักการะเจดีย์พุทธคยาสักครั้ง
ผู้เขียนได้เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานในอินเดียหลายครั้ง สถานที่สำคัญทั้งสี่แห่งคือสถานที่ประสูติที่ลุมพินี สถานที่ตรัสรู้ที่พุทธคยา สถานที่แสดงปฐมเทศนาที่สารนาถ และสถานที่ปรินิพพานที่กุสินารา ต่างก็มีผู้คนจำนวนมาก แต่ที่มากที่สุดมีหลากหลายประเภทอยู่ที่พุทธคยา สถานที่แห่งนี้เป็นที่รวมของพลังศรัทธาของมหาชนจริงๆ
ชาวทิเบตไม่เลือกเพศเลือกวัยมักจะมีวิธีแสดงความเชื่อที่แตกต่างจากชาวพุทธชาติอื่นๆ เพราะเขาใช้วิธีการกราบแบบอัฏฐางคประดิษฐ์ กราบแต่ละครั้งนอนราบไปทั้งตัว ค่อยๆก้าวที่ละก้าวหรือยืนนิ่งค่อยๆยกมือขึ้นเหนือศีรษะและนอนราบยังพื้นดิน โดยไม่ได้สนใจใส่ใจกับคนอื่นๆ ทุกคนต้องหลีกทางให้หรือไม่ก็ยืนมองอย่างสนใจ
ผู้เขียนก็ชอบมองเพราะทึ่งในศรัทธาความเชื่อของชาวทิเบตเหล่านั้น แม้จะพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่จากสีหน้า กิริยาท่าทางทุกคนมีความเป็นมิตรจึงถ่ายภาพได้อย่างสบายอารมณ์เพราะไม่ได้ใช้แสงแฟ็ชไปรบกวนความสงบของพวกเขา ยืนอยู่ในที่ห่างไกลจากนั้นก็ค่อยๆถ่ายภาพไปเรื่อยๆ
ชาวทิเบตเป็นประชาชนที่น่าเห็นใจถึงจะมีประเทศก็เหมือนไม่ใช่ประเทศ ปัจจุบันเป็นเขตปกครองตนเองแห่งหนึ่งในประเทศจีน ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถอาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าเป็นประเทศของตน จึงต้องเดินทางมาอาศัยประเทศอื่นอยู่ มีรัฐบาลพลัดถิ่นตั้งอยู่ที่เมืองธัมมศาลา ดินแดนที่เต็มไปด้วยภยันตรายแผ่นดินไหว ความหนาว และภัยสงคราม บางวันต้องวิ่งหลบกระสุนปืนที่ไม่รู้ว่าสาดกระหน่ำมาจากฝ่ายไหน
คนทิเบตจึงมักจะมีที่อาศัยสองแห่งหากอากาศหนาวก็หลบหนาวมาที่เมืองอื่นเช่นเดลี พาราณสี แต่ถ้าเมืองเดลีอากาศร้อนก็หลบร้อนไปที่อากาศกำลังเย็นสบายเช่นธัมมศาลาหรือเมืองในบริเวณหุบเขาอื่นๆเรียกว่าหากหนาวก็หนี หากร้อนก็หลบ วิถีชีวิตเป็นไปดั่งนี้ แต่ทว่าพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาวัชรยานแบบทิเบตไม่เคยคลอนแคลนมั่นคงหนักแน่นดุจขุนเขา
เห็นคนทิเบตครั้งใด มักจะย้อนหวนกลับไปคิดถึงชายหนุ่มทิเบตคนหนึ่งประกอบอาชีพขับรถรับจ้างระหว่างเดลีและเมืองธัมมศาลา เขาเช่าบ้านพักอยู่กับครอบครัวที่มาชนู กาติลา ชายฝั่งแม่น้ำยุมนา หรือที่คนอื่นๆนิยมเรียกว่า “ทิเบตแคมป์” ชายหนุ่มคนนั้นแม้จะทำงานหนัก แต่ก็ยังทำหน้าที่ของชาวพุทธได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ตื่นขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้า พอถึงช่วงเย็นก็ยังสวดมนต์ก่อนนอน
ผู้เขียนมีความคุ้นเคยกับชายหนุ่มคนนั้นมาก ชายหนุ่มคนนั้นเล่าความเชื่อให้ฟังว่า “สักวันหนึ่งพระพุทธเจ้าจะมาปรากฎกายให้เห็นและผมก็จะไปอยู่กับพระพุทธเจ้า วันนี้พระองค์ยังไม่เสด็จมาแต่ผมไม่เคยเปลี่ยนความเชื่อยังมีความศรัทธามั่นคง ความเชื่อนี้ทำให้ผมมีชีวิตอยู่มาได้อย่างมีความสุข ชื่อของเขาคือ ดร.ลอบซัง วังยัล
เขาเคยอธิบายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในทิเบตให้ฟังหลายครั้ง และยังหาหนังสือมาให้อ่านอีกหลายเล่ม จึงพอมีข้อมูลทั้งตามเอกสารและคำบอกเล่าพอสรุปเรื่องนิกายและพระพุทธเจ้าของพระพุทธศาสนาในทิเบตได้ดังนี้ พระพุทธศาสนาในทิเบตมีสี่นิกายแต่ละนิกายมีความเชื่อแตกต่างกันดังที่มีปรากฏในหนังสือ “Buddhism in Tibet โดย Donald S. Lopez, Jr. รวมพิมพ์ใน Companion Encyclopedia of Asian Philosophy พิมพ์ในปีคริสตศักราช 1997) ดังนี้
1. นิกายญิงมาปะ (Rnin-ma-pa ) ให้กำเนิดโดยท่านคุรุปัทมะสัมภวะ ภิกษุชาวแค็ซเมียร์ กษัตริย์ตริซอง เด็ทเซ็น ได้อาราธนาไปวางรากฐานพระพุทธศาสนาในทิเบต ระหว่างพุทธศักราช (1308-1363) ท่านได้ตั้งคณะสงฆ์ชาวทิเบตขึ้น มีการแปลพุทธธรรมและบทบัญญัติต่างๆเป็นภาษาทิเบต เมื่อท่านมรณภาพแล้วได้มีคณาจารย์สืบต่อกันเรื่อยมา เป็นพุทธศาสนาแบบตันตระ (Tantra) สวมหมวกแดง เครื่องแต่งกายสีแดง
2. นิกายการยุดปะ ((Bka-rgyud-pa) ก่อตั้งโดยท่านนาโรปะ ( Naropa พ.ศ.1555-1642 ) ภิกษุชาวอินเดีย นิกายนี้นิยมสีขาวในการประกอบพิธีบางครั้งพระจะห่มผ้าสีขาว กำแพงวัด วิหารล้วนนิยมสีขาว จึงมักนิยมเรียกนิกายนี้ว่า นิกายขาว (white Seet) พระในนิกายนี้ที่โด่งดังมากที่สุดรูปหนึ่งคือท่านมิราเลปะ (Milarepa) ผู้ประพันธ์ A Hundread Thousand Songs) ซึ่งบางตอนของบทเพลงตามนี้ ร. บุญโญรส ได้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในชื่อ ธรรมคีตาของมิลาเรปะ
3. นิกายศากยะ (Sa-skya-pa) ก่อตั้งโดยท่านอติษะ(Atisa พ.ศ. 1536-1593) ชาวอินเดีย นิกายนี้มีความเชื่อว่าสัจธรรมของพระโพธิสัตว์สามารถจะบรรลุได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาตามลำดับขั้น ต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัดและหมั่นศึกษาพุทธธรรมอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังเน้นที่การประสานงานระหว่างอาจารย์ลูกศิษย์สัจธรรมจนกลายเป็นหนึ่งเดียว
4. เกลุกปะ (Dge-lugs-pa) ก่อตั้งโดยท่านซองขปะ (Tson kha-pa พ.ศ. 1890-1962)ภิกษุชาวทิเบต ซึ่งปฏิรูปมาจากคำสอนของท่านอติษะ แห่งนิกายศากยะ เมื่อเริ่มก่อตั้งเรียกว่าคาแดมปะ (Kha-dam-pa) ซึ่งเน้นหนักที่มายาศาสตร์ ท่านซองขะปะนักบุญชาวทิเบตได้ปฏิรูปนิกายนี้เสียใหม่ โดยเน้นที่ความเป็นเลิศทางศีลธรรมและสติปัญญา พระในนิกายนี้นิยมเรียกว่าพระหมวกเหลือง
ส่วนความเชื่อในพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธศาสนาแบบทิเบตเชื่อกันว่ามีพระพุทธเจ้าหกพระองค์จำแนกตามต้นตระกูลของพุทธสกุล ชื่อของต้นสกุลแห่งพุทธเจ้าคือไวโรจนะ,อักโศภยะ,อโมฆสิทธิ,รัตนสัมภวะ,อมิตาภะและวัชรสัตว์ นอกจากนี้พุทธตันตระยังมีชื่อเรียกแทนอย่างอื่นด้วย ตัวอย่างเช่นเหวัชรตันตระมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “พรหมา” เป็นต้น ในหนังสือ The Buddhist Tantras Light on Indo-Tibetan Esotericism โดย Alex Way Man อธิบายตันตระสกุลไว้ดังต่อไปนี้
1.พุทธไวโรจนะ เรียกว่า “พรหมา” ในภาษาทิเบตคือ สัน รกยัส แปลจากภาษาสันสกฤตว่า "พุทธะ" เพราะพระองค์ทำลายกิเลสและหลุดพ้นจากกิเลสนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นในภาษาธิเบต ซัน ปะ (พรหมา) มีความหมายเหมือนกับนิรวาณะ ตามชื่อใช้ในความหมายว่านิรวาณ คือไม่คงอยู่กับการกำหนดหมาย (อปรทิฐิตนิรวาณ)
2.อักโศภย เรียกว่า วิษณุ เหตุผลสำหรับการใช้คำนี้คือ อักโศภย บัญญัติขึ้นจากคำว่า “การรู้ธรรมธาตุ” ความรู้นี้หมายถึงการเข้าสู่ความจริงแห่งธรรมชาติภายใน(สวภาวะ) ซึ่งแผ่ซ่านไปในสรรพสิ่งทั้งมวล
3.อโมฆสิทธิ มีชื่อว่าศิวะ เพราะมีธรรมชาติของ "ความรู้ในการปฏิบัติตามหน้าที่" (กฤตยานุษฐานญาณ) พระองค์ทรงใช้ความดีทางโลกิยวิสัยและโลกุตตระกับสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างเป็นปรกติ
คำว่าสรวะใช้กับรัตนสัมภวะ เพราะโดยทั่วไปแล้ว “สมรรถนะของความรู้”(สมตาญาณ)
พระองค์บัญญัติความเสมอภาคเพื่อความเข้าใจเต็มเปี่ยมในธรรมชาติของสิ่งทั้งมวล
4.อมิตาภะ คือตัตวะ เพราะพระองค์บัญญัติส่วนของ “ความรู้ที่แยกแยะ”(ปรัตยเวกสนญาณ) ซึ่งหยั่งรู้ความจริง (ตัตตะ) และด้วยความสุขอันบริสุทธิ์ประดุจท้องนภา
5.วัชรสัตว์ หมายถึงวิพุทธะ(ผู้เบิกบาน) เพราะพระองค์ทรงเบิกบานในการสาธยาย "การเกิดที่ยิ่งใหญ่น่ายินดี” (สหชนันทะ) ขณะที่หยั่งรู้อย่างเต็มเปี่ยม วัชรสัตว์นั้นประยุกต์ใช้กับบรรพบุรุษพุทธะอื่นๆได้อย่างเหมาะสม แน่นอนว่าคำว่า “ก่อน-เกิด” หมายถึงการเกิดในรูปกาย
ความหมายของพุทธะในฐานะต้นสกุล ที่แสดงตัวอย่างโดยการกำหนดธาตุต่างๆตามแนวปฏิบัติภายใต้อาณาจักรของแต่ละสิ่งตามลำดับตัวอย่างเช่น สนัก ริม เชน โม ของซองขะปะ อ้างถึงผลงานและคำอธิบาย 6 กลุ่มของอุปัตติกรรม(ระยะของการให้กำเนิด) ในอนุตตรโยคะตันตระ สรุปได้ดังต่อไปนี้
1.ไวโรจนะพิจารณาถึงพระราชวังซึ่งเป็นเพราะพระองค์มีรูปขันธ์ทางวัตถุเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าของตถาคต
2.วัชรสัตว์ความรักใคร่ต่อเทพบิดรมารดา เพราะเป็นความหมายของพระเจ้าหลังจากกำเนิดโดยวงแห่งผู้มีความรักเพื่อก่อให้เกิด “ความสัญลักษณ์ (สมยจักร)หมายถึงมีตัวตน” (นิรมิต) จากโพธิจิตการตรัสรู้ที่ปรากฏชัดแจ้ง 5 ประการของบิดามารดา คู่ของเทพที่(อภิสัมโพธิ)และกำเนิดในวงจรแห่งความรู้ เป็นบริวาร(ญาณจักกะ)
3.อักโศภยะการอภิเษกโดยการแนะนำของพระองค์เป็นเนื้อแท้เทวีแห่งปัญญาทั้ง 8 องค์
ของพิธีอภิเษกด้วยน้ำ
4. อมิตาภะ ความเพลิดเพลินของอาหารทิพย์ เพราะพระองค์เป็นวาจาสายฟ้า ซึ่ง(อมฤตะ) ทำให้อิ่มเอิบใจ
5.อโมฆสิทธิเครื่องสักการะ เพราะพระองค์เป็นต้นสกุลของกรรมสกุล ดังนั้นจึงมีพลังเหนือกว่า
เครื่องสักการะที่ถวายต่อพุทธะทั้งหลายและกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ของสรรพสัตว์ที่มีชีวิต
6. รัตนสัมภวะ การสรรเสริญ (การยกย่อง)เพราะการสรรเสริญคือการยกย่องบุญกุศลในเวลาบุญเกิดขึ้นทางกาย วาจา ใจ รัตนสัมภวะจึงเป็นบุญกุศลของสิ่งเหล่านั้น
ดร.ลอบซัง วังยัล เคยเล่าให้ฟังว่า “พระพุทธเจ้าของผมคือรัตนสัมภวะ ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านจะมาปรากฎให้ผมเห็นก่อนสิ้นลมหายใจ ผมจึงสวดมนต์อ้อนวอนเพื่อพระองค์ท่านทุกวัน” ดอกเตอร์หนุ่มคนนั้นทำในสิ่งที่เชื่อ จึงสวดมนต์อ้อนวอนเพื่อให้พระรัตนสัมภวะมาปรากฎกายให้เห็น
สำหรับพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยมีความเชื่อไปอีกแบบ พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว ที่เหลืออยู่คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และพุทธศาสนิกชนจึงเป็นพุทธสาวกผู้ปฏิบัติตามจึงศึกษาคำสอนเพื่อจะได้บรรลุธรรมตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้แล้ว ส่วนทิเบตเป็นพระพุทธศาสนาแบบวัชรยาน เชื่อในความมีอยู่ของพุทธภาวะ จึงมีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ในลักษณะของตรีกายคือนิรมานกาย (กายเนื้อ) ธรรมกาย (กายธรรม) และสัมโภคกาย (กายทิพย์)
เจดีย์พุทธคยายังคงโดดเด่นตั้งตระหง่านสงบนิ่ง บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์มีพุทธศาสนิกชนเข้าไปสักการะไม่ขาดสาย พุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกต่างก็ทำการสักการะสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเชื่อของตน พุทธศาสนิกชนคนทิเบตยังคงกราบด้วยอัฏฐางคประดิษฐ์เวียนขวารอบพระเจดีย์ บางคนเล่าให้ฟังว่าลามะบางรูปกราบด้วยวิธีนี้ตลอดวันและหลายวันติดต่อกัน ศรัทธาความเชื่อแม้จะเปลี่ยนแปลงไปตามคำสอนของแต่ละนิกาย แต่ชาวพุทธมีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
25/01/56