ต้นไม้หลายต้นภายในบริเวณวัดให้ความร่มเย็น ผู้คนผ่านมาผ่านไปได้พักพาอาศัยได้หลบแดดร้อนใต้ร่มเงาของต้นไม้ ฝูงนกทั้งหลายก็ได้เป็นที่อาศัยหลับนอนในเวลากลางคืน ตอนเย็นเย็นๆที่ข้างกุฏิมักจะได้ยินฝูงนกส่งเสียงร้องระงม ฟังดูแล้วเพลิดเพลินใจ เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่มีมายา คิดอย่างไรก็แสดงออกอย่างนั้น เสียงนกร้องทักทายกันแม้จะฟังไม่ออก แต่ก็พอจะเดาสำเนียงได้ว่านกเหล่านั้นคงกำลังคุยกันถึงเรื่องการแสวงหาอาหารและการเดินทางในกลางวันที่ผ่านมา ผู้เขียนเดินทางไปต่างจังหวัดช่วงเสาร์อาทิตย์ พอกลับมาต้นไม้ข้างๆศาลาการเปรียญเหลือแต่ต้น ใบที่กำลังผลิบานหายไปหมด ต้นไม้ถูกตัดกิ่งก้านสาขาออกไป เสียงนกทั้งหลายก็พลันหายสาบสูญไปด้วย
ต้นไม้ไม่มีใบ ก็ไม่มีนก เพราะนกอาศัยใบไม้เป็นที่หลบภัย สอบถามจึงได้ทราบว่า มีคำสั่งให้ตัดกิ่งต้นไม้เพราะบดบังภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าศาลาการเปรียญ แต่คนทำงานคงทำเกินคำสั่ง เพราะคำสั่งบอกเพียงสั้นๆว่าให้ตัดกิ่งที่ไม่จำเป็นบางกิ่งออกไปเท่านั้น แต่คนตัดลงมือตัดทั้งกิ่งและก้าน จนเหลือแต่ต้นไม้ที่ไม่มีใบ คนตัดรับค่าจ้างแล้วก็จากไป ส่วนคนอยู่ก็ต้องคอยตอบคำถามของพุทธศาสนิกชนที่เดินผ่านไปผ่านมาที่มักจะมีคำถามว่า “ตัดต้นไม้ทำไม” หรือบางคนเพียงแต่ส่งคำถามด้วยสายตาในทำนองที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วย
สองสามวันต่อมาจึงมีป้ายขึ้นตามต้นไม้ทุกต้นที่ถูกตัดใบเหล่านั้นว่า “ทำไมตัดต้นไม้” ในป้ายเดียวกันยังมีคำตอบว่า “ตัดเพื่อให้แตกกิ่งใหม่งดงาม” แม้จะตอบคำถามได้ไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็พอทุเลาเบาบางไปได้บ้าง ต้นไม้ยังอยู่ แต่ตัดกิ่งใบเพื่อให้ใบใหม่ได้งอกขึ้นงดงามกว่าเดิม คนที่เดินผ่านไปบางคนยิ้มที่ได้คำตอบ เรื่องนี้ไม่มีใครผิดเพราะคนสั่งก็ต้องการเพียงให้ตัดกิ่งใบบางส่วนเท่านั้น แต่สั่งแล้วก็ไม่ได้อยู่ควบคุมงาน ส่วนคนตัดคงคิดว่าตัดใบทิ้งน่าจะง่ายกว่า ทำงานเสร็จเร็ว รับเงินค่าจ้างแล้วก็จากไป
คำสั่งบางอย่างหากไม่พิจารณาอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ดังที่มีพุทธภาษิตแสดงไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย (25/30/35) ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าแสดงแก่ภิกษุชรากลุ่มหนึ่งความว่า “ท่านทั้งหลายจงตัดป่าอย่าตัดต้นไม้ ภัยย่อมเกิดแต่ป่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายตัดป่าและหมู่ไม้ในป่าแล้ว จงเป็นผู้ไม่มีป่าเพราะกิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าแม้ประมาณน้อยในนารีของนระ ยังไม่ขาดเพียงใด นระนั้นยังมีใจเกาะเกี่ยว ดุจลูกโคผู้ดื่มกินน้ำนม มีเกาะเกี่ยวในมารดาเพียงนั้น ท่านจงตัดความรักของตนเสียดุจบุคคลเด็ดดอกโกมุทอันเกิดในสรทกาลด้วยฝ่ามือ ท่านจงเพิ่มพูนทางสงบอย่างเดียว นิพพานอันพระสุคตทรงแสดงแล้ว”
ได้ฟังคำแรกหากไม่พิจารณาก็ต้องเตรียมมีดและขวานเพื่อตัดต้นไม้ เพราะป่าเกิดจากต้นไม้หลายต้นมารวมกันจึงกลายเป็นป่า แต่ประโยคต่อมาต้องหยุดคิด ทำไมให้ตัดป่าแต่ไม่ให้ตัดต้นไม้
ภิกษุเหล่านั้นในอดีตเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์เคยเป็นกุฎุมพี เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก ในกรุงสาวัตถี เป็นสหายกัน ทำบุญร่วมกัน วันหนึ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วจึงชวนกันออกบวช แต่เพราะความเป็นคนแก่ ไม่สามารถเล่าเรียนธรรมได้ จึงให้คนสร้างบรรณศาลาไว้ในที่สุดวิหารแล้วอยู่รวมกัน แม้เมื่อเที่ยวไปบิณฑบาต โดยมากก็ไปเรือนของบุตรและภรรยาของตนแล้วฉันภัตตาหาร แม้ออกบวชแล้วยังพักอยู่ด้วยกัน อาศัยอาหารบิณฑบาตจากภรรยาเก่าของพระภิกษุรูปหนึ่งเมื่อครั้งที่ยังเป็นฆราวาส ที่คอยส่งอาหารทุกวัน เธอทำอาหารมีรสอร่อย นักบวชชราเหล่านั้นจึงดำเนินชีวิตอยู่อย่างสบายไม่เดือดร้อน
ในหลวงตาเหล่านั้นภิกษุรูปหนึ่งมีภรรยาเก่าชื่อว่านางมธุรปาณิกานางได้มีอุปการะแก่ภิกษุเหล่านั้นแม้ทุกรูป ภิกษุทุกรูปถืออาหารที่ตนได้แล้ว ไปนั่งฉันที่เรือนของนางนั่นแหละ ฝ่ายนางก็ถวายแกงและกับแก่ภิกษุเหล่านั้นตามที่ตนจัดไว้
วันหนึ่งนางมธุปาณิได้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบางอย่าง ภิกษุชราทั้งหลายจึงพากันมาชุมนุมกัน พระภิกษุชราเหล่านั้นประชุมกันในบรรณศาลาของพระเถระผู้สหาย กอดคอกันและกันร้องไห้รำพันอยู่
เรื่องได้ยินถึงพระพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมา ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออาศัยป่า คือราคะ โทสะ และโมหะ จึงถึงทุกข์นี้ การที่พวกเธอตัดป่านั้นเสียควร พวกเธอจักเป็นผู้หมดทุกข์ได้ด้วยอาการอย่างนั้น” จากนั้นจึงได้นำอดีตนิทานมาแสดงแก่ภิกษุชราเหล่านั้นและได้แสดงธรรมมีใจความว่า “จงตัดป่าแต่อย่าตัดไม้” เป็นต้น
ในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 4 หน้า 125 ได้อธิบายขยายความไว้สรุปได้ดังนี้ คำว่า “ป่า”หมายถึง ป่าคือกิเลส” ได้แก่ “ป่าคือราคะ โทสะ และโมหะ” จึงทำให้เกิดทุกข์ ภัยแต่สัตว์ร้ายมีสีหะเป็นต้นย่อมเกิดจากป่าตามปกติฉันใด แม้ภัยมีชาติเป็นต้นย่อมเกิดจากป่าคือกิเลสฉันนั้น
ต้นไม้ใหญ่ชื่อว่าป่า ต้นไม้เล็กที่ตั้งอยู่ในป่านั้นชื่อว่าหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า
หรืออีกนัยหนึ่ง ต้นไม้ที่เกิดก่อนชื่อว่าป่าที่เกิดต่อๆกันมาชื่อว่าหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า กิเลสใหญ่ ๆ อันคร่าสัตว์ไว้ในภพชื่อว่ากิเลสดุจป่า กิเลสที่ให้ผลในปัจจุบันชื่อว่ากิเลสดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า
หรืออีกนัยนึ่ง กิเลสที่เกิดก่อนชื่อว่ากิเลสดุจป่าที่เกิดต่อๆ มาชื่อว่ากิเลสดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า
กิเลสชาตแม้ทั้งสองอย่างนั้นอันพระโยคีพึงตัดด้วยญาณที่สัมปยุตด้วยมรรคที่ 4 เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "จงตัดกิเลสดุจป่าและดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า
หมู่ไม้ที่ตั้งอยู่ในป่า คือกิเลสนั่นถึงมีประมาณนิดหน่อยของนรชน ยังไม่ขาดในนารีทั้งหลาย เพียงใด เขาก็เป็นเหมือนลูกโคตัวยังดื่มน้ำนมมีใจปฏิพัทธ์คือมีจิตข้องในมารดาเพียงนั้น
จงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้ จึงหมายถึงการตัดกิเลสอันเปรียบเสมือนป่า ส่วนต้นไม้มีความหมายอีกนัยหนึ่งคือ “อัตภาพร่างกาย” ซึ่งเป็นเหมือนต้นไม้ เมื่อต้นไม้ยังอยู่ย่อมจะทำให้เกิดป่าได้ เพราะอัตภาพร่างกายอันประกอบด้วยกายและจิตหากไม่ระมัดระวังกิเลสก็เกิดแทรกขึ้นมาได้ทุกเมื่อ ให้ทำลายป่าคือกิเลสแต่ให้รักษาชีวิตคืออัตภาพไว้
ต้นไม้ข้างๆศาลาการเปรียญถูกตัดกิ่งก้านสาขาออกไปหมดยังคงเหลือลำต้นที่ไม่มีใบ แต่เมื่อรากยังมั่นคงต้นไม้นั้นก็สามารถผลิดอกออกใบได้ใหม่อีก ส่วนกิเลสภายในจิตใจของมนุษย์หากไม่ตัด ไม่ทำลายมีแต่จะพอกพูนเพิ่มมากขึ้น หากไม่คอยระมัดระวังกิเลสเหล่านั้นก็จะกัดกร่อนจิตใจจนยากจะไถ่ถอน โลกวุ่นวายในทุกวันนี้เพราะในใจมนุษย์เต็มไปด้วยกิเลส ราคะทำให้เกิดคดีข่มขืน โทสะทำให้เข่นฆ่าทำร้ายกัน ส่วนโมหะทำให้หลงมัวเมาในสิ่งทั้งหลาย เมื่อจิตใจมนุษย์เต็มไปด้วยกิเลส มนุษย์โลกจึงมีปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/01/56