อีกไม่กี่ปีประเทศในแถบอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวโดยมีคำขวัญสำคัญว่า “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม” การรวมตัวกันเพื่อความเป็นหนึ่ง มีจุดสำคัญร่วมกันสามด้านคือการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การเมืองมีระบอบเดียวคือประชาธิปไตย เศรษฐกิจเน้นที่ทรัพยากรและความชำนาญของแต่ละประเทศ ในส่วนของประเทศไทยมีจุดเด่นในการพัฒนาคือการท่องเที่ยวและการบิน ในส่วนของสังคมวัฒนธรรมเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในด้านศาสนาคงรวมกันยาก เพราะแต่ละประเทศมีศาสนาต่างกัน การที่จะให้ประเทศในเอเชียหันมานับถือศาสนาเดียวเหมือนกัน ยังมองไม่เห็นทาง ศรัทธาและความเชื่อของแต่ละประเทศคงเปลี่ยนกันไม่ได้ง่ายๆ ประชาคมอาเซียนจะรวมตัวกันอย่างเป็นทางการในปีพุทธศักราช 2558
ประชาคมอาเซียนซึ่งมีซื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ASEAN Community เป็นการรวมตัวของชาติใน Asean 10 ประเทศ คือไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา บรูไน มีการแบ่งความร่วมมือออกเป็นสามเสาหลักคือ(1)ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (2)ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (3)ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
แต่ละด้านมีจะมีโครงสร้างการทำงานในรูปแบบของคณะมนตรี ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอีกคนคือประธานอาเซียน และเลขาธิการอาเซียน ปัจจุบันมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย การบริหารใช้กฎบัตรอาเซียน ซึ่งเขียนกำหนดไว้ครอบคลุมเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียนคือการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ด้านการเมืองและเศรษฐกิจเข้าใจยากคงต้องหาเวลาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แต่ในด้านสังคมและวัฒนธรรม มีการจัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนโดยสรุปไว้หกหัวข้อคือ (1)การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (2)การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม (3) สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (4) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (5)การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และ (6) การลดช่องว่างทางการพัฒนา
หากดูตามแผนงานแล้ว ไม่มีการพูดถึงศาสนาโดยตรงแต่แทรกอยู่ในสังคมและวัฒนธรรม คงต้องปล่อยให้ประชาชนเลือกนับถือศาสนาของตนเอง การนับถือศาสนานั้นบังคับกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของศรัทธา เป็นเรื่องของการสั่งสมอบรมจากบรรพบุรุษ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความเชื่อต่างกัน ก็ต้องนับถือศาสนาต่างกัน แม้จะศาสนาต่างกัน มีวัฒนธรรมต่างกัน มนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้
วันนั้นมีธุระที่บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม นักศึกษาคนหนึ่งถามว่า “อาจารย์เดินทางไปประเทศในแถบอาเซียนครบทุกประเทศหรือยังครับ เดือนนี้มีโครงการจะเดินทางไปต่างประเทศไหมครับ”
เป็นคำถามที่ดีเหมาะกับยุคสมัย หลวงตาไซเบอร์ฯเดินทางไปต่างประเทศปีละไม่กี่ครั้ง ด้วยเหตุผลสองประการคือไม่ค่อยมีเงิน และไม่ค่อยมีเวลา เรื่องเงินเป็นข้อจำกัดสำคัญ คนไม่มีเงินจะเดินทางไปต่างประเทศคงลำบาก เพราะต้องเดินทางโดยเครื่องบินเป็นส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็ต้องหลักหมื่นบาทขึ้นไป ยกเว้นแต่จะมีตั๋วฟรีมีคนนิมนต์ให้ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งก็ยากอีกนั่นแหละ หากไม่มีผลประโยชน์ ก็ไม่มีใครเขาอยากเชิญ
ประเทศที่เดินทางไปบ่อยที่สุดคืออินเดีย ดินแดนพุทธภูมิ ไปโดยไม่มีเหตุผล เพราะหากมีเงินค่าตั๋วเครื่องบินก็ซื้อตั๋วขึ้นเครื่องไปได้เลย คนอินเดียก็ไม่มีคำถามว่า ภันเต(คำเรียกนักบวช)เหล่านี้มาทำอะไรที่อินเดีย เพราะภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างเชื่อกันว่า “ชมพูทวีป” หรือ ดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดียในปัจจุบันคือถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา แม้ว่าปัจจุบันบ้านเกิดพระพุทธเจ้าคือ “ลุมพินี” จะอยู่ในประเทศเนปาล แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะทั้งอินเดียและเนปาลพร้อมที่จะต้อนรับชาวพุทธอยู่แล้ว การไปอินเดียจึงเหมือนการไปเยี่ยมบ้านเกิดคือพระพุทธศาสนา จะไปปีละกี่ครั้งก็ต้องดูว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ เงินสมัยนี้หายากด้วยสิ
มาพิจารณาทบทวนความทรงจำว่ามีประเทศไหนบ้างในแถบเอเชียที่ไปมาแล้วและยังไม่ได้ไป ประเทศที่เคยเดินทางไปแล้วมีอยู่เพียงไม่กี่ประเทศคือลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์เคยเดินทางผ่านเพราะต้องเปลี่ยนเครื่อง ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นเดินทางไปญี่ปุ่น มีเหตุขัดข้องเครื่องบินแวะพักที่ฟิลิปปินส์ประมาณสี่ชั่วโมง จึงนั่งรถเล่นรอบสนามบิน จะว่าไปก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก แต่จะว่าไม่เคยไปก็ไม่ใช่เพราะไปมาแล้วจริง
อีกประเทศหนึ่งคือเวียดนาม วางแผนมาสามปีแล้ว แต่ติดขัดทุกที ปีนี้ก็มีแผนไว้ตอนปลายปี แต่ทางทีมงานบอกว่ายังหาตั๋วเครื่องบินไม่ได้ คงไม่ได้ไปอีกตามเคย แต่ตั้งใจไว้ว่าก่อนปีพุทธศักราช 2558 ที่อาเซียนจะรวมเป็นประชาคมอย่างเป็นทางการคงต้องไปเยือนสักครั้ง
มาเลเซียแม้จะอยู่ติดกับประเทศไทย แต่ก็ไม่เคยเดินทางไป อย่าว่าแต่มาเลเซียเลย ภาคใต้ตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไปก็ยังไม่ค่อยได้เดินทางไปมากนัก โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากไม่จำเป็นก็ไม่อยากไป
อีกประเทศหนึ่งคือบรูไน ประเทศที่อยู่ใกล้กับอินโดนีเซีย เดินทางอินโดนีเซียหลายครั้งแต่ก็ยังไม่มีโอกาสไปเยือนบรูไนมาก่อน
ในแต่ละประเทสมีจุดเด่นต่างกัน หากอยากไปดูศิลปวัฒนธรรมซึ่งยังมีลักษณะของความเก่าก็ต้องไปกัมพูชา พม่า และอินโดนีเซีย
ส่วนประเทศสิงคโปร์นั้นไม่เคยคิดอยากจะไป เพราะมองไม่เห็นว่าประเทศเล็กๆแห่งนี้จะมีอะไรน่าสนใจ สิงคโปร์ถูกกำหนดให้เป็นจุดเด่นของประชาคมอาเซียนด้านเศรษฐกิจคือสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเจริญก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เขาเล่ากันว่าบ้านเมืองสะอาด มีระเบียบ ทันสมัยซึ่งไม่ใช่สิ่งที่อยากจะไปดู แต่อย่างน้อยการได้ทัศนาด้วยตาตนเองก็เป็นประสบการณ์ตรงอย่างหนึ่ง โบราณว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น”
บางครั้งประเทศที่ไม่อยากไปก็มีคนอยากให้ไป จู่ๆก็มีเพื่อนภิกษุรูปหนึ่งโทรศัพท์มาถามว่าอยากไปสิงคโปร์ไหม ถ้าอยากไปส่งสำเนาหนังสือเดินทางมาด่วน จากนั้นอีกสามวันก็ได้รับตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพฯ-สิงคโปร์หนึ่งที่นั่ง เขาบอกเพียงสั้นๆว่าพระที่นิมนต์ไว้ขาดหนึ่งรูป หลวงตาไซเบอร์ฯจึงเหมือนได้ของขวัญปีใหม่โดยการไปร่วมงานที่สิงคโปร์ งานอะไรยังไม่ทราบ แต่ข่าวแว่วๆว่างานฉลองพระอุโบสถวัดไทยในสิงคโปร์ งานอะไรก็ช่างเถอะมีตั๋วเครื่องบินมาถึงมือแล้วคงต้องเดินทาง ปีนี้เวียดนามคงต้องพักไว้ก่อน ไปสิงคโปร์กลับมาค่อยว่ากัน อย่างน้อยก็จะได้เป็นดูให้เห็นกับตาว่าสิงคโปร์เจริญจริงหรือไม่ ประชาชนของประเทศนี้เขาอยู่กันอย่างไร ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นอย่างไร การเดินทางคือประสบการณ์ของชีวิต สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ได้เวลาออกเดินทางไปเยือนสิงคโปร์แล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/12/55